fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2563

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนพฤศจิกายน 2563

 

 

สัมมาวาจา กับ รัฐอำมหิต

 

โดย สนิทสุดา เอกชัย 

“วันนี้เยาวชนเสี่ยงโดนจับ เสี่ยงตาย เพื่อที่สังคมจะได้พูดความจริงได้ แต่เรากลับบอกว่ามีปัญหา เพราะพูดไม่เพราะ พูดจาบจ้วง ต้องปรับการสื่อสาร”

“ใครกันแน่ที่มีปัญหา เยาวชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หรือผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรง”

เมื่อความต่างของอุดมการณ์ทำให้หลายคนบอกว่า เด็กรุ่นใหม่หยาบคายก้าวร้าว ต้องปรับการสื่อสารเสียใหม่ สนิทสุดา เอกชัย เขียนถึงการเจรจากับ ‘รัฐอำมหิต’ ที่ภาษาดอกไม้อาจใช้ไม่ได้ผล และถ้อยคำสุภาพก็เป็นเพียงส่วนเดียวของสัมมาวาจา

“การฟังซึ่งกันและกันอาจได้ผลในระดับที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ต่างกันนัก และในครอบครัวก็ยังมีความรักและห่วงใยเป็นพื้นฐาน กับเพื่อนหรือญาติก็ยังมีความเกรงใจกันอยู่บ้าง แต่ถ้าคิดว่าสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับรัฐ อาจต้องผิดหวัง”

“เพราะอำนาจของรัฐกับผู้เรียกร้องผิดกันราวฟ้ากับดิน รัฐจึงไม่ต้องเกรงใจอะไรทั้งสิ้น เพราะรัฐที่เป็นอยู่คือรัฐที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู รัฐที่มีอาวุธในมือ รัฐที่พร้อมจะข่มขู่ คุกคาม เข่นฆ่า เพื่อรักษาอำนาจตนเอง”

 

‘ช่าง’ หัวประชาธิปไตย : อาชีวะไม่ใช่แค่การ์ดม็อบ

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“มีน้องผมคนหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรให้ทำจะหงุดหงิด ‘ผมอยากทำพี่ ผมอยากมีส่วนร่วม’ จนต้องบอกให้ไปยืนคุมตรงไหนสักที่ หรือให้ไปโบกรถ มีคนแบบนี้เยอะนะ เดินไปถามคน พี่ให้ผมช่วยยืนกั้นรั้วไหม พี่เดินแจกข้าวไหวเปล่า ผมแบกน้ำได้นะพี่ หลายคนก็บ่น ‘กลับแล้วนะ งอน ไม่มีอะไรให้ทำเลย’ คือเขาอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยเหมือนกัน

“เขาไม่ได้ต้องการเข้าไปอยู่ในกลุ่มหลักหรืออยู่ติดแกนนำ เขาต้องการแค่ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ คนที่สำคัญกับเขาในงานไม่ใช่คนที่ขึ้นพูดหรือคนที่มีชื่อเสียง แต่เป็นลุงแก่ๆ หรือน้องตัวเล็กๆ ในม็อบ”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปรู้จักนักเรียนอาชีวะในม็อบ เบื้องหลังการต่อสู้ทางการเมืองคืออะไร และพวกเขามีความคิดความฝันอย่างไร

 

ดีลควบรวม ‘ซีพี’ กับ ‘เทสโก้ โลตัส’ : รัฐประหารทางเศรษฐกิจที่ยังมาไม่ถึง?

 

โดย กนกนัย ถาวรพานิช

ทำไมการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส จึงน่ากังวล?

การควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ ถือเป็นการควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ ในระดับสากล การควบรวมกิจการครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการควบรวมกิจการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในระดับประเทศ ดีลนี้นับเป็นการควบรวมกิจการในธุรกิจค้าปลีกคดีแรกๆ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าโดยตรง

ไม่ว่าจะพิจารณาจากขนาดของการควบรวมและผลกระทบที่อาจตามมา สังคมไทยควรให้ความสนใจกับกรณีศึกษานี้อย่างยิ่ง

กนกนัย ถาวรพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง เขียนถึงข้อกังวลที่มีต่อการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ ซึ่งสะท้อนว่ารัฐอาจไม่ได้คุ้มครองเสรีภาพทางเศรษฐกิจการเมืองอย่างที่พึงกระทำ

 

Exclusive โจชัว หว่อง “ความหวัง คือผลลัพธ์จากการลงแรงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม”

 

โดย  ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

“ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนฮ่องกง ทุกคนล้วนทนทุกข์อยู่กับการกดขี่จากระบอบเผด็จการที่ไม่เคารพประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในห้วงเวลาแบบนี้ เราต้องแสดงเอกภาพ ภราดรภาพ และสนับสนุนการลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการของคนรุ่นใหม่”

เสียงของโจชัว หว่องไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อฮ่องกงเท่านั้น เขาทวีตสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยทั่วทุกมุมโลก และยิ่งอุณหภูมิการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ในไทยร้อนระอุขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการและการถูกรัฐใช้อำนาจกดปราบร้อยรัดความรู้สึกร่วมระหว่างฮ่องกง ไทย และไต้หวันเข้าด้วยกันภายใต้ #MilkTeaAlliance เขาทวีตสนับสนุนการประท้วงในไทยหลายทวีต รวมทั้งยังออกไปแสดงพลังหน้าสถานกงสุลใหญ่ ณ ฮ่องกงหลังวันสลายการชุมนุม

ในวันที่เส้นทางสู่ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยขวากหนาม 101 ต่อสายตรงสนทนากับ โจชัว หว่อง ว่าด้วยการรักษา ‘ความหวัง’ ในวันที่มืดมิด แสงสว่างจากพลังของคนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหว ไปจนถึงภราดรภาพและภาพซ้อนทับของการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกง

“ผู้คนมักบอกว่ามองไม่เห็นความหวัง แต่ที่จริงแล้วความหวังคือผลลัพธ์ตามมาจากการมีส่วนร่วมลงแรงเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม”

“บางครั้งพวกเราเหนื่อย เราอ่อนแรง มีวันที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างเพราะพ่ายแพ้ระหว่างทางเส้นทางการต่อสู้ แต่เรารู้ดีว่าฮ่องกงยังมีคนรุ่นใหม่และเพื่อนร่วมทางที่เชื่อเหมือนกับเรา แม้จะรู้อยู่ในใจว่ากำลังต่อกรอยู่กับเผด็จการที่ทรงพลังที่สุดในโลกก็ตาม ผมต้องเชื่อมั่นในทีมและทุกคนที่ร่วมสู้ด้วย”

“คนทุกเจเนอเรชันมีความพิเศษของตัวเอง พลังคนรุ่นใหม่ก็พิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะที่ว่าเป็นพลังหลักในการกดดันเผด็จการ แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งต่อความกล้าหาญสู่คนรุ่นต่อๆ ไปกำลังกลายเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องเอาชนะมันให้ได้”

“การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการต่อสู้ดิ้นรนอันแสนยากลำเข็ญเหน็ดเหนื่อย และเป็นสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด” “มันเป็นการต่อสู้ในระยะยาว แม้ว่าเราอาจไม่ชนะทุกสมรภูมิ แต่เชื่อว่าเราจะชนะสงครามเพื่อประชาธิปไตยได้”

 

การประท้วงทางการเมือง VS ทำลายของสาธารณะ

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

“ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการถกเถียงเรื่อง vandalism และความหยาบคาย คือการมองให้เห็นและเข้าใจให้ได้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากความปั่นป่วนภายใน การถูกกดทับ การปิดปากห้ามพูด ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ความพยายามถือไม้เรียวกระหนาบเด็กของผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า มันก็กลายเป็นแรงอัดอั้นที่ระเบิดออกมาเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน”

คอลัมน์ TREND RIDER สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เขียนถึงการพ่นสี ขีดเขียน หรือทำลายทรัพย์สินในพื้นที่สาธารณะที่เป็นมากกว่าเพียงแค่ความวุ่นวายและอาชญกรรม

“เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง vandalism ที่ดูคล้ายเป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการพ่นสี การขีดเขียน การสาดสีใส่พื้นที่สาธารณะ การใช้คำหยาบคาย การ ‘เปิดโปง’ หรือ ‘ผลักเพดาน’ ประเด็นที่เรียกร้องจนทำให้คนทั่วไปเกิดอาการ ‘ช็อก’ มากขนาดไหน จึงแสดงให้เราเห็นไปพร้อมกันว่า สังคมหรือเมืองแห่งนั้นกำลังเกิดความผิดปกติเชิง ‘ระบบ’ อยู่”

“เมื่อผู้คนไม่มีที่ทางแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตัวเอง พวกเขาไม่ได้รับเชิญไปร่วมในงานเลี้ยงใหญ่ ตกแต่งประดับประดาสวยงาม และมีผู้มีอำนาจออกมารับฟังความคิดเห็นของพวกเขา ความคิดเห็นเหล่านี้ย่อมสำแดงออกมาผ่านพื้นที่ที่คาดไม่ถึง และยิ่งถูกกดเหยียดมากเท่าไหร่ การสะท้อนโต้ตอบออกมาก็จะยิ่งรุนแรงและหยาบคายมากเท่านั้น”

“ในหม้อต้มน้ำที่มีแรงดันสูง เราจะพยายามเอาฝาปิด อัดมันไว้ แล้ว ‘สั่ง’ น้ำไม่ให้เดือด โดยไม่ย้อนไปจัดการกับ ‘ต้นเหตุ’ จากไฟที่กำลังลุกโหมส่งความร้อนเข้าไปในน้ำได้หรือ”

 

ประเทศไทยในกับดักเทคโนโลยีปานกลาง : เมื่อนรกเป็นของเราและสวรรค์เป็นของคนอื่น

 

โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

“หากกับดักรายได้ปานกลางเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับทุกคน การจะสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับเทคโนโลยี ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก… แล้วทำไมแนวร่วมดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้นในไทย?”

คำตอบอยู่ที่จุดไหนของระบบเศรษฐกิจไทย? แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ชวนวิเคราะห์สาเหตุสำคัญที่ไทยยังคงติดกับดัก ‘รายได้ปานกลาง’ และ ‘เทคโนโลยีปานกลาง’ ซึ่งไม่ได้เกิดจากแค่การจัดทำนโยบายที่ผิดพลาด หรือวิกฤตเศรษฐกิจเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

Start-Up: ให้มันเริ่มใหม่ที่รุ่นเรา

 

โดย จักรกริช สังขมณี

“…การทำงานล่วงเวลาหรือการเอางานกลับมาทำต่อที่บ้าน การยอมก้มหัวให้กับผู้บังคับบัญชาในการทำงาน การยอมไปกินดื่มกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานจนดึก และการภักดีต่อองค์กรเพื่อการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นสิ่งที่คนรุ่นเจเนอเรชัน X อย่างพ่อของซอดัลมี ถูกเรียกร้องจากสังคมให้ต้องก้มหน้าเผชิญในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่ใช่วิถีที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลอย่างซอดัลมีและเพื่อนๆ ในวัยเดียวกับเธอ ยินดีจะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มันอีกต่อไป”

คอลัมน์ #ชาติพันธุ์ฮันกุก ตอนใหม่ จักรกริช สังขมณี เขียนถึงซีรีส์ Start-up สะท้อนชีวิตของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีที่แสวงหาแนวทางการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ไปจนถึงการพยายามหลีกหนีจากค่านิยมการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่อยู่ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “แชบอล” (재벌)

“เกาหลีใต้พัฒนาจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษ 1950 จนกลายมาเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจลำดับที่ 4 ในเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้ในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการชี้นำของรัฐ (state-led industrialization) ของประธานาธิบดีพัคชองฮี …ซัมซุง (หรือ ซัมซอง – 삼성 ในภาษาเกาหลี) กลุ่มธุรกิจแชบอลซึ่งมีขนาดของรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีในทุกวันนี้ เป็นตัวอย่างของผลผลิตจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการชี้นำของรัฐดังกล่าว”

“คนที่เกิดในเจเนอเรชั่น X และ baby boomers มักจะปลูกฝังและคาดหวังให้ลูกหลานของตนเข้าทำงานในแชบอลเมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษา คนรุ่นใหม่ที่ละทิ้งเส้นทางของการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ และเลือกที่จะเริ่มต้นประกอบธุรกิจของตนเอง มักถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นปัจเจกไร้พวกพ้อง และไม่เป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ ค่านิยมทางสังคมดังกล่าวมีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าออกมาริเริ่มประกอบการธุรกิจใหม่ๆ ของตนเอง”

“ในเกาหลี การศึกษาในระดับมัธยมมักเน้นไปที่การเรียนและการท่องจำเพื่อการสอบแข่งขัน การทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปที่เป้าหมายหนึ่งเดียว ในขณะที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเน้นไปที่การพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะเน้นการสร้างผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์และแหวกแนว ระบบการศึกษาดังกล่าวมักจะทำให้ผู้เรียนเชื่องต่อระบบของแชบอล”

“ในซีรีส์ Start-up ซอดัลมีในวัยเด็กได้เรียนรู้ว่า “บางทีการได้เตร็ดเตร่บ้างก็ไม่เห็นเป็นไร บางทีการแล่นเรือโดยไร้แผนที่ก็ยอดเยี่ยมได้เหมือนกัน” ข้อความดังกล่าวของเธอชวนให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีคิดนอกกรอบการศึกษาที่มักครอบงำความคิด ตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานที่เรียกร้องการดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่สังคมและครอบครัววางเอาไว้”

 

ทำไมอเมริกันชนจำนวนมากยังคงเลือกทรัมป์

 

โดย ดวงยิหวา อุตรสินธุ์

แม้โดนัล ทรัมป์จะพ่ายแพ้ต่อโจ ไบเดนในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2020 แต่ทรัมป์ยังได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปี 2016 กว่า 8 ล้านเสียง

ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับตัวเขาจำนวนมาก จนทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า เพราะอะไรคนอเมริกันหลายล้านคนยังคงเลือกโดนัลด์ ทรัมป์

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ พาไปรู้จักกลุ่มคนที่ยังเลือกทรัมป์ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคร่าวๆ คือ กลุ่มที่จงรักภักดีต่อพรรครีพับลิกัน, กลุ่มคนขาวที่อยู่กระจัดกระจายตามย่านชนบท, กลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง และกลุ่มคนที่เพิ่งย้ายถิ่นเข้าไปอาศัยในอเมริกา

เหตุผลเบื้องหลังการ ‘เลือก’ คืออะไร พวกเขามองการเมืองอเมริกาแบบไหน และมีอุดมการณ์อะไรขับเคลื่อนการตัดสินใจเหล่านี้

 

“ทำไมเราจะยืนข้างประชาชนไม่ได้” : คุยกับ ‘ข้าราชการปลดแอก’

 

โดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และ สมคิด พุทธศรี 

“เราเป็นข้าประชาชน ควรทำเพื่อประชาชน แต่ทั้งที่มีเหตุการณ์ปราบปรามขนาดนี้ ทางหน่วยงานยังมีคำสั่งห้ามข้าราชการไปชุมนุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น อ้างว่าต้องทำตาม พ.ร.ก.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เราก็อัดอั้น ไม่เข้าใจว่าเป็นข้าราชการแล้วต้องถอดความเป็นประชาชนทิ้งเหรอ มันไม่ถูก”

อีกหนึ่งเสียงที่ดังกังวานบนโลกออนไลน์และชวนให้คนหยุดรับฟัง คือเสียงจากเหล่าข้าราชการที่สะท้อนถึงปัญหาในระบบปัจจุบันภายใต้ชื่อกลุ่ม ข้าราชการปลดแอก – Free Thai Civil Servant

ในฐานะฟันเฟืองชิ้นสำคัญของระบบบริหาร พวกเขาเห็นภาพกระบวนการทำงานและแนวคิดเรื่องการเมืองส่วนหนึ่งจากที่ทำงาน ซึ่งชวนให้ขบคิดและตั้งคำถามต่อรัฐบาล ต่อโครงสร้างราชการ ต่อกฎระเบียบและวาทกรรมในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมถึงต่อสถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทในสังคมข้าราชการไทยไม่มากก็น้อย

พวกเขาส่งต่อคำถามนั้นไปสู่ประชาชน เปิดเผย วิพากษ์ปัญหาของระบบอย่างตรงไปตรงมาบนโลกโซเชียลฯ และยอดไลก์เรือนหมื่นในเพจเฟซบุ๊กราชการปลดแอกก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นปัญหาในระบบซึ่งสั่งสมมาเนิ่นนานเช่นเดียวกัน

เย็นวันหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจตามหน้าที่ 101 ชวนกลุ่มข้าราชการปลดแอก ถอดหมวกข้าราชการ สวมจิตวิญญาณนักเคลื่อนไหว นั่งสนทนาถึง ‘แอก’ ที่ต้องแบกบนบ่าประหนึ่งอินทรธนู ตำแหน่งแห่งที่ของข้าราชการในประเด็นการเมือง ความฝันและความหวังที่อยากเห็นระบบราชการดีกว่าเดิม

 

ถอดรหัสแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน: ยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร ชวนทำความรู้จักกับ ‘ยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน’ แนวคิดที่เป็นหัวใจของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของจีน และสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจจีน 3 ประการด้วยกัน

“เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ชะงัก ทางรอดของจีนก็คือ หันกลับมาพึ่งตลาดภายในของตนที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร ในอดีตคนจีนยังยากจนไม่มีกำลังซื้อ แต่วันนี้คนจีนรวยขึ้นและพร้อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในปี ค.ศ.2017 ตลาดชนชั้นกลางของจีนมีขนาดใหญ่แซงหน้าสหรัฐฯ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจีนจะขายตลาดสหรัฐฯ 300 ล้านคนไม่ได้ดังเดิม แต่ในจีนมีชนชั้นกลางใหม่ 600 ล้านคนมาทดแทน”

“ [แต่] จีนจะยังคงเดินหน้าเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ กล่าวคือ จีนจะไม่ปิดประเทศหรือเน้นเศรษฐกิจภายในเพียงอย่างเดียว ข้อนี้สะท้อนวิธีคิดของจีนที่มักเลือกทั้งสองทาง ไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่จีนเป็นประเทศที่มีทั้งส่วนผสมทั้งของทุนนิยมและสังคมนิยม ทั้งการรวมศูนย์อำนาจและกระจายอำนาจ ทั้งการลอกเลียนและการสร้างนวัตกรรม”

“มีคำกล่าวว่าในยุค 5 ปีถัดจากนี้ จีนจะเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น ‘ผู้ขาย ขาย ขาย’ มาเป็น ‘ผู้ซื้อ ซื้อ ซื้อ’ จากเดิมที่จีนจัดแต่มหกรรมการส่งออก (Export Expo) ให้ผู้ประกอบการทั่วโลกมาเดินเลือกซื้อของจากจีนส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ต่อไปนี้จีนจะเริ่มจัดมหกรรมการนำเข้า (Import Expo) ให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกนำสินค้าของตนมาขายในตลาดจีน และใช้การนำเข้าเป็นตัวเร่งกระบวนการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ภายในประเทศจีนด้วย”

 

คณพศ แย้มสงวนศักดิ์: สามัญสำนึกของนักเรียนฝังหมุดคณะราษฎร 2563

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“ตอนรัฐประหาร 2557 ผมอยู่ ป.4 วันนั้นผมงงว่ามันมีรัฐประหารได้ยังไง จากนั้นผมก็ไล่อ่านไปเรื่อยๆ ว่าบ้านเมืองเราเกิดอะไรขึ้น คนเสื้อแดงถูกกระทำมาอย่างไร กปปส. ออกมาชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำไม ผมตามอ่านเยอะมาก”

“แต่จุดพีกคือวันหนึ่งผมไปกินข้าวกับกลุ่มครูที่โรงเรียน เขาเป็นอนุรักษนิยมขวาจัดมาก เขาคุยกันว่าเขาเห็นด้วยที่คนเสื้อแดงถูกยิงตาย และถูกอุ้มหาย เขาพูดเชียร์ให้ยิงทิ้งให้หมด พวกเห็นต่างต้องฆ่าให้หมด วันนั้นผมก็งงว่าอะไรวะเนี่ย (หัวเราะ)”

คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในวันที่ 21 ก.ย. 2563 ขณะกำลังเรียนอยู่ ม.4

เขาร่วมกับบรรดานักศึกษา อาทิ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ฯลฯ ก่อการฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ลงกลางสนามหลวง (สนามราษฎร) ตอนย่ำรุ่ง 20 ก.ย. ซึ่งชุมนุมข้ามคืนมาตั้งแต่ 19 ก.ย.

อะไรทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและมายืนอยู่ตรงจุดบันทึกประวัติศาสตร์ นั่นเป็นคำถามหนึ่ง

อย่างที่ทราบกันดี คนหนุ่มสาวอออกมาตะโกนขับไล่รัฐบาลเผด็จการเต็มท้องถนน ยืดเยื้อยาวนาน เขาไปทุกเหตุการณ์ ทั้งในนามมวลชน สลับกับนำปราศรัย

คนหนุ่มอายุ 16 ติดตามอ่านประวัติศาสตร์การเมืองมาพอสมควร แต่ยังไม่เคยเจอความรุนแรงกับตัวเอง

ค่ำวันที่ 16 ต.ค. ขณะจับไมค์ไล่ประยุทธ์อยู่บนรถขยายเสียงที่แยกปทุมวัน กองกำลังตำรวจระดมยิงน้ำ-แก๊สน้ำตาใส่จนพวกเขาแตกกระเจิง

วันต่อมาขณะกำลังจะไปร่วมชุมนุมต่อ เขาถูกตำรวจนอกเครื่องแบบควบคุมตัวไป สน.ปทุมวัน ยึดโทรศัพท์และกดดันให้เลิกปราศรัยทางการเมือง ก่อนจะติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน

ถามว่ากลัวไหม ฝ่อไหม เปล่าเลย กลับเป็นสองเหตุการณ์ที่ทำให้เขายิ่งอยากสู้ต่อ – เข้าทางสำนวนอันแหลมคมของ Pablo Neruda กวีชาวชิลี ว่า “You can cut all the flowers but you cannot keep Spring from coming.”

ความที่คณพศตื่นแล้ว ลุกขึ้นยืนแล้ว คืนวันที่ 25 ต.ค. ที่แยกราชประสงค์ เขาขึ้นไปปราศรัยถึงเหตุการณ์ตากใบ ในโอกาสครบรอบ 16 ปี ชี้ชวนให้มวลชนเห็นถึงโศกนาฏกรรมที่รัฐไทยทำกับประชาชน และเรียกร้องให้มีกระบวนการยุติธรรม – เพื่อยุติวงจรอำมหิตที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในรุ่นพวกเขา

ทั้งสิ้นทั้งปวง อะไรคือแรงผลักดันในใจให้เขาเปล่งเสียงสู่สาธารณะ ทั้งต่อการเมืองไทย ครอบครัว และอนาคตของตัวเอง

 

โต๊ปเหลือง ฮิญาบเหลือง: เข้าใจมุสลิมในสังคมไทยผ่านปรากฏการณ์มุสลิมปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 

โดย อสมา มังกรชัย

“แม้ชาวบ้านจะมองว่าอำนาจรัฐไม่ชอบธรรมและไม่ไว้ใจรัฐ แต่เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยที่พวกเขามักจะแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากอำนาจรัฐที่รังแกประชาชน มิหนำซ้ำยังมองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นอีกอำนาจอันทรงพลังที่มีอยู่จริงในสังคมไทย”

อสมา มังกรชัย ชวนทำความเข้าใจสังคมมุสลิม ผ่านปรากฏการณ์ที่ชาวมุสลิมจำนวนหนึ่งออกมาสวมเครื่องแต่งกายสีเหลืองประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

“มุสลิมสายอนุรักษนิยมที่เรียกว่า ‘คณะเก่า’ และสายที่ขนามนามตนเองว่าเป็นสายที่อ้างอิงหลักการตามขนบของนบีมูฮัมหมัด หรือที่เรียกกันว่า ‘สายใหม่’ ทั้งสองกลุ่มนี้มีทัศนะแย้งกันหลายเรื่องทางศาสนา แต่แทบไม่แตกต่างกันมากนักต่อท่าทีที่มีต่อผู้รู้ และไม่นับว่าผู้รู้ทางศาสนาหรือชนชั้นนำทางศาสนาของทั้งสองสายได้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมกับรัฐและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจไปแล้ว”

“…หลายคนอยากให้สำนักจุฬาราชมนตรีวางตัวเป็นกลางแบบที่ไม่แสดงออกทางการเมืองใดๆ แต่หลายคนก็ยังคงมั่นใจว่าด้วยการอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจ และการทำนุบำรุงศาสนาอิสลามจะดำรงสืบต่อไป ดังที่กล่าวไว้ว่าเพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

 

มองปัญหาการ ‘บูลลี่’ แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย 

“การบูลลี่สะท้อนวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (unaccountability) เพราะบูลลี่คือการละเมิด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือคำพูด และส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ บูลลี่จึงเป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดคนอื่น ที่สำคัญคือ การบูลลี่ส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนกระทำไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ”

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการบูลลี่กันแบบ ‘ไทยๆ’ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องโครงสร้างและวัฒนธรรมไทยที่สัมพันธ์กับการบูลลี่ ปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียนและทางไซเบอร์ ไปจนถึงลักษณะเฉพาะของภาษาที่เข้ามามีบทบาทในการบูลลี่

“เราเห็นเรื่องหนึ่งที่ชัดมากๆ คือ การที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) รังแกคนกลุ่มน้อย (minority) โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่เรามองเห็นได้ชัดด้วยตา…ผมคิดว่า ตรงนี้มาจากค่านิยมไทยที่เราชอบให้ทุกคนเหมือนกัน (conformity) คืออยากให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถ้ามองลึกลงไป อีกด้านของความคิดแบบนี้คือการที่เราไม่เคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือคนอื่น ไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเป็นรากฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย”

“เรามีภาษาที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น เรียกคนที่เกลียดว่าเพื่อนรัก และอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาคนไทยด่า ชอบด่าแรงๆ แต่หน้ายิ้มๆ ไม่งั้นก็พูดให้เดาเอาเอง แต่หน้าออกชัดมาก หรือไม่ก็ด่าผ่านอีโมจิแทน เช่น บอกว่า “ไม่ฉลาดเลย” ตามมาด้วยอีโมจิรูปดอกไม้ ตรงนี้ก็แสดงถึงความสับสนอยู่ เพราะอยากด่าแต่ไม่อยากให้ใครรู้ อยากจะพูดแรงๆ แต่กลัวว่าแรงไป เดี๋ยวจะมีคนมาหาว่าเราเป็นคนไม่ดี ก็อยากจะซอฟต์ลง

เราก็เห็นความพยายามรักษาสมดุลตรงนี้อยู่ ซึ่งเราทำผ่านการใช้วจนภาษากับอวัจนภาษา สุดท้ายก็เลยผสมกันออกมาเป็นการประชดประชัน การเสียดสี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาแบบหนึ่ง”

 

ตำรวจประชาธิปไตย : ฟังเสียงคนใน ปฏิรูปตำรวจให้เคียงข้างประชาชน

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ วจนา วรรลยางกูร

ในช่วงเวลาที่ความชอบธรรมของตำรวจถูกท้าทาย ท่ามกลางความคับข้องใจว่า เหตุใด ‘คำสั่งนาย’ จึงใหญ่กว่าหลักเหตุผล ไม่ใช่ตำรวจทุกนายจะยอมทนรับสภาพนี้

101 สัมภาษณ์พิเศษ ‘ตำรวจประชาธิปไตย’ ในฐานะ ‘คนใน’ ผู้เชื่อว่าตำรวจไทยดีกว่านี้ได้ และเชื่อว่าการปฏิรูปตำรวจแยกไม่ออกกับการสร้างประชาธิปไตยในสังคม

“ตำรวจต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นพลเรือน มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เก่งกาจด้านวิชาตำรวจและกลยุทธ์ตำรวจ เป็นมิตรและเข้าใจประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้ได้ ประชาชนจะรักตำรวจเลย

“แต่ถ้าคุณยังรับใช้อำนาจ รับใช้รัฐบาล ไม่เห็นหัวประชาชน ยังไงประชาชนก็ไม่มีวันรัก ไม่มีทางไว้ใจ ก็จะไม่ชอบคุณโดยธรรมชาติ แล้วคุณทำตัวคุณเอง ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ไม่รู้ว่าที่สอนๆ มามันผิด มันเป็นอำนาจนิยม แต่เขาไม่รู้ว่ามันคืออำนาจนิยม และไม่รู้ว่าใช้อย่างนี้มันผิด”

 

จดหมายถึง สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

 

โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขียนจดหมายถึงสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน เมื่ออ่านบทความเรื่อง ‘ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง!’ ที่สรวงมณฑ์เขียน

วรพจน์โต้แย้งและตั้งคำถามในหลายประเด็น ทั้งเรื่อง ‘การเมืองเรื่องมายา’ และคำว่า ‘Empathy’ ที่สรวงมณฑ์เลือกใช้

ในตอนท้าย พี่เขียนว่า…

“ท่ามกลางสถานการณ์ร้อน ­ยิ่งต้องแสดงออกซึ่งคว­ามเอาใจใส่ความรู้สึกข­องกันและกัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าสถานการณ์ทาง­การเมืองจะเดินไปสุดที่จุดไหน แต่ก็อย่าให้ครอบครัวต้องมามีรอยร้า­วทำร้ายความรู้สึกกันเ­ลย

“การเมืองเป็นเรื่องมาย­า ครอบครัวสิของจริง !­”

ยืนยันตามเหตุผลและเรื่องเล่าที่เขียนมาทั้งหมด ข้อนี้ ผมเห็นแย้ง

ครอบครัวสิของจริง ถูกต้องครับ ส่วนการเมืองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องจริง แต่ยังเจ็บจริง ตายจริงอีกด้วย

ในมุมของผม เราควรจะลบๆ ลืมๆ หรือขว้างทิ้งลงถังขยะไปได้แล้วนะครับ กับวาทกรรมหรือถ้อยคำเก๋ๆ ทำนอง–เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง

บ้า มายงมายาที่ไหนกัน

มัวโรมานซ์ และท่องจำคำลวงโลกพวกนี้ไว้นานวัน มันทำให้ตรรกะเราอ่อนแอ

มายาวาทกรรมในสังคมไทยมีมากมายเหลือเกินครับ ผมนับเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ที่ต้องช่วยกันทำลายล้างบางให้สิ้นซาก เพื่อกุลบุตรกุลธิดาของเราจะได้ก้าวเดินบนอารยะวิถี เพื่อกุลบุตรกุลธิดาและคนหนุ่มสาวของยุคสมัยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินอ้อม

 

ฉากทัศน์นโยบายต่างประเทศของไบเดน : เมื่ออเมริกาต้องนำโลก

 

โดย จิตติภัทร พูนขำ

“ชัยชนะของ โจ ไบเดน จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลายเป็น ‘ความหวัง’ ให้แก่คนอเมริกันและผู้คนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในระบอบการเมืองอเสรีประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

กระนั้นก็ดี ความท้าทายขนานใหญ่ในการเมืองโลกวันนี้ก็ทำให้รัฐบาลใหม่ของไบเดนที่กำลังจะเข้ามาทำงานหลังวันที่ 20 มกราคม 2021 ไม่มีช่วงเวลาของการ ‘ฮันนีมูน’ อันหวานชื่นมากนัก”

จิตติภัทร พูนขำ ชวนสำรวจแนวโน้มทิศทางและฉากทัศน์ของนโยบายต่างประเทศของ โจ ไบเดน ว่าจะมีหน้าตาและนัยต่อการเมืองโลกอย่างไร รวมถึงพิจารณาแนวโน้มของนโยบายต่างประเทศไบเดนในประเด็นเฉพาะที่สำคัญบางประเด็น

“ไบเดนมองว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้อง ‘แข็งกร้าวกับจีน’ มิเช่นนั้นแล้ว จีนก็จะยังคงดำเนินนโยบายที่ ‘ขโมย’ เทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และยังใช้มาตรการอุดหนุนต่างๆ นานาเพื่อที่จะสนับสนุนบรรษัทแห่งชาติของตนเองอย่างไม่เท่าเทียม…เราน่าจะเห็นแนวโน้มของการแข่งขันทางด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังคงมีความเข้มข้นและตึงเครียดอย่างต่อเนื่องอีกสักระยะหนึ่ง”

“มีความเป็นไปได้ที่ไบเดนอาจจะไม่ได้ใช้ชื่ออินโด-แปซิฟิกเหมือนเช่นทรัมป์ แต่สาระสำคัญของแนวคิดอินโด-แปซิฟิกจะยังคงอยู่ต่อไป นั่นคือ ในด้านหนึ่ง คือการธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจนำของสหรัฐฯ ในภูมิภาคจะยังคงเป็นแนวนโยบายต่างประเทศหลักของไบเดน ซึ่งก็จะเป็นความต่อเนื่องของเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ มาตั้งแต่อย่างน้อยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้น”

 

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

“แม้ว่าเราจะไปร้องเพลง I hear too สุดท้ายเราก็พยายามพูดเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไม่เคยมีใครรับฟัง สิ่งที่เราทำอาจฟังดูเหมือนก้าวร้าว แต่ทางออกที่พวกเราเห็นคือการแก้ไขในระดับโครงสร้างที่ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อนักการเมือง แต่ทำเพื่อทุกคนในสังคมนี้จริงๆ” — ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co

“ความเท่าเทียมอาจอยู่ไกลกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่ประชาธิปไตยเป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะพาสังคมไปสู่ความเท่าเทียม อย่างในอเมริกา ที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้ก็มาจากการเรียกร้องและการออกกฎหมายเพื่อสิทธิของผู้หญิง การเมืองจึงสำคัญกับความเท่าเทียม ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจมาสนใจจริงๆ ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” — สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่ม Spring Movement

“กลุ่มนักเรียนเลวไปพบรัฐมนตรีที่หน้ากระทรวง เสียงของเราก็ไปถึงเขานะ เขารับฟัง ยินดีแก้ไขให้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คนภายใต้การบังคับบัญชาของเขา ครูในหลายๆ โรงเรียนไม่ได้ปฏิบัติตาม กลายเป็นปัญหาโครงสร้าง เกิดเป็นคำถามว่า ทำไมข้าราชการที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงถึงไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ออกมาจากกระทรวงเอง” — ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว

“อยากให้สังคมล้มเลิกความคิดที่ว่าความเป็นไทยและความเป็นคนไทยที่ดีมีความหมายตายตัว คือต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพียงอย่างเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อภูมิหลังของหลายๆ คนแตกต่างกัน แต่ละคนก็จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปด้วย ถ้าเราสามารถเข้าใจในจุดนี้ก็จะเห็นว่าความเห็นต่างคือความสวยงามของสังคมประชาธิปไตย” — อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน คือ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co, สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่ม Spring Movement, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว, อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

 

จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789

 

โดย อติเทพ ไชยสิทธิ์

“การกดขี่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่สถานการณ์ปฏิวัติในประเทศเสมอไป ส่วนใหญ่ การที่ชนชั้นล่างไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ในแบบแผนเก่าๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติ แต่เป็นเพราะชนชั้นนำจะต้องไม่สามารถควบคุมและปกครองด้วยแบบแผนเก่าๆ ได้อีกต่อไปแล้วอีกด้วย”

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เล่าถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และเหตุการณ์การเขียนฎีการ้องทุกข์จากประชาชนทั่วอาณาจักรส่งถึงกษัตริย์เพื่อเรียกร้องการปฏิรูป

“กาเย เดอ โดเล-อองซ์ (Cahier de doléances) คือ “ฎีการ้องทุกข์” ซึ่งกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 มีพระราชโองการให้ชายที่มีที่พำนักเป็นหลักแหล่งและมีอายุมากกว่า 25 ปีบริบูรณ์จากทั่วราชอาณาจักรมีส่วนช่วยกันประมวลคำร้องทุกข์ในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือนมีนาคม”

“ฎีการ้องทุกข์ดังกล่าว เปรียบเสมือนบันทึกที่สะท้อนความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่ และสะท้อนผลประโยชน์ รวมทั้งความขัดแย้งของแต่ละชนชั้นในขณะนั้น ความไม่พอใจกลายเป็นข้อเรียกร้องในฎีการ้องทุกข์ให้มีการปฏิรูปสังคมฝรั่งเศสขนานใหญ่”

“แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกให้เรารู้ว่าเสียงเรียกร้องเหล่านั้นไม่ได้สำเร็จลงในระบอบเก่าของฝรั่งเศส เพราะเพียงไม่ถึง 3 เดือนนับตั้งแต่การทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์แก่กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ก็เกิดการทลายคุกบาสตีย์ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้นเสียก่อน”

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองของความไม่เจริญสักที

 

โดย ฉัตร คำแสง

ฉัตร คำแสง เขียนถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองของนโยบายสาธารณะเพื่อหาคำตอบว่า เราจะทำให้นโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนมีความเป็นไปได้ทางการเมืองได้อย่างไร

“หากความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจสามารถขยายออกได้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมฉันใด ความเป็นไปได้ทางการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะตายตัวฉันนั้น กล่าวคือ ‘นวัตกรรมทางการเมือง’ ที่มาเปลี่ยนสมมติฐานของ ‘ผลประโยชน์’ ล้วนกระทบกับความเป็นไปได้ทางการเมืองทั้งสิ้น”

“… การปฏิรูปที่ต้องมีคนเสียประโยชน์หมายถึง การปฏิรูปในสภาวะที่ทรัพยากรถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ (Pareto efficient allocation) อยู่แล้ว การขยับปรับเปลี่ยนจึงมีคนมีทั้งคนได้และคนที่ต้องเสียประโยชน์”

“แต่หากเรากำลังพูดถึงปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งมีอยู่เต็มระบบ แปลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิรูปที่อย่างน้อยมีบางคนได้ประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องมีใครเสียประโยชน์”

 

ปีเดือนเคลื่อนผ่าน ดอกไม้บานแล้วโรยรา In The Mood For Love

 

โดย ‘นรา’

“มันเป็นช่วงเวลาที่ชวนให้รู้สึกปั่นป่วนใจ เธอก้มหน้าต่ำลง เปิดโอกาสให้เขาได้ชิดใกล้ แต่เขาก็ไม่ไหวติงทำสิ่งใด เพราะปราศจากความกล้า ดังนั้นเธอจึงหันหลังแล้วเดินจากไป”– In the Mood for Love

‘นรา’ เล่าถึง In the Mood for Love ภาพยนตร์ฮ่องกงผลงานมาสเตอร์พีซของหว่องกาไว ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยาย Intersection ของหลิวอี้ชาง

 

Highlight เด่น วิเคราะห์การเมือง จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020

 

การเมืองสหรัฐ 4 ปีใต้ทรัมป์ เท่ากับ “วิกฤต” แล้วทางออกอยู่ตรงไหน

 

โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ประมวลสภาวะการเมืองสหรัฐอเมริกา 4 ปีภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเท่ากับ “วิกฤต” – แล้วอะไรคือทางออกจากวิกฤตนี้

คำถามคืออเมริกาจะมีหนทางอะไรในการแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ … อเมริกาได้เปรียบกว่าไทย ตรงที่เขามีท่อระบายอากาศหรือเขื่อนกั้นน้ำเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของความขัดแย้งก่อนที่มันจะระเบิดออกมาอย่างไร้ทิศทางและการควบคุม

นั่นคือภาระหน้าที่ของระบบการเลือกตั้งที่ให้พลเมืองที่มีคุณสมบัติทุกคนสามารถใช้สิทธิในการแสดงความต้องการของแต่ละคนอย่างอิสระเสรีในการตัดสินว่าใครควรเป็นประธานาธิบดีของพวกเขา ด้วยการเสนอแนวทางและนโยบายที่ตรงใจผู้เลือกตั้ง ง่ายและไม่ซับซ้อนอะไร ไม่ต้องจ้างสถาบันจอร์จ วอชิงตันมาช่วยคิดว่าจะหาทางแก้วิกฤตการเมืองอย่างไร

ใช่ ระบบการเลือกตั้งคือเครื่องมือในการลดความขัดแย้งและวิกฤตของการเมืองในประเทศ ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐและฉีกรัฐธรรมนูญ

แต่จะทำอย่างนั้นได้ อเมริกาต้องไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทุกห้าปีสิบปี ต้องไม่ล้มพรรคการเมือง ไม่ตัดสิทธิของนักการเมือง ไม่โทษประชาชนว่ายังไร้การศึกษาและไม่อาจเลือกคนดีเข้ามาได้ เหนืออื่นใดกองทัพต้องอยู่ภายใต้อำนาจบริหารปกครองของฝ่ายพลเรือน ไม่มีอำนาจและสถาบันใดที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้

 

101 Round Table: อ่านการเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020

 

โดย กานต์ธีรา ภูริวิกรัย 

เลือกตั้ง 2020: ชะตากรรมของสหรัฐอเมริกาและโลกในอนาคต

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 คือ การเลือกตั้งพิพากษาผลงาน 4 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี และชี้ชะตาอนาคตการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน | พรรคเดโมแครตจะรักษาสภาผู้แทนราษฎรและยึดวุฒิสภาคืนจากพรรครีพับลิกันได้หรือไม่ | ผลการเลือกตั้งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมการเมืองอเมริกัน | อเมริกาและโลกจะเดินต่อไปอย่างไร

วิเคราะห์อนาคตการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลก โดยสามผู้ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาแบบเกาะติด ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

“ทุกวันนี้ สังคมอเมริกันขวามากขึ้น คือถ้ามองเผินๆ โครงสร้างทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาจดูซ้าย แต่ในเนื้อผ้าของสังคมจริงๆ คือขวา ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราจะเห็นกลุ่ม Hispanic ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวบอก พวกเขามีแนวโน้มเอียงไปทางเดโมแครต เพราะเดโมแครตเป็นพรรคที่เอาเงินมาช่วยประชาชนหรือคนชั้นล่าง แต่ถ้าในเชิงอุดมการณ์ทางศาสนา กลุ่ม Hispanic เป็นอนุรักษนิยมโดยจิตวิญญาณ ดังนั้น ไม่ว่าทรัมป์จะชนะหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ สังคมอเมริกันมีความอนุรักษนิยมมากขึ้น เดโมแครตจึงต้องไตร่ตรองด้วยว่า จะใช้หลักการของตัวเองนำ หรือจะเดินตามเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนของประเทศจริงๆ”

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่เราเห็นกลไกการเลือกตั้งละเอียดมาก แต่ละรัฐก็มีรายละเอียดปลีกย่อยหรือกฎระเบียบต่างกันไป ตรงนี้ทำให้รู้สึกถึงความสำคัญของระบบการเลือกตั้ง ซึ่งที่อื่นอาจจะเป็นพิธีกรรม แต่ในสหรัฐฯ ผมว่ามันครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วม เป็นการเคลื่อนไหวด้วย คือใครชอบใครก็จะไปรณรงค์หาเสียง ตั้งแคมป์ เป็นอาสาสมัคร ทุ่มทุนกันเหมือนเป็นผู้สมัครเอง และ state rights ของเขาแรงมาก รัฐบาลจะไปยุ่งไม่ได้เลย”

“ในภาพรวม สิ่งที่สะท้อนการเมืองไทยอย่างหนึ่งคือ ไทยกับสหรัฐฯ เหมือนจะเดินคู่ขนานกันไป มีอะไรให้เปรียบเทียบได้เยอะมาก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เหลื่อมล้ำสูงมาก หรือจะเป็นเรื่องความแตกต่างของเจเนอเรชัน วัย จุดยืนทางอุดมการณ์ ของผู้นำอำนาจนิยม ความท้าทายว่าจะประนีประนอมกันได้ไหม นี่เป็นภาพสะท้อนการเมืองไทยที่ดีมาก”

 

สามคำเลือกตั้งสหรัฐ 2020 : Mail-In Voter / Rust Belt (Again!) / Omaha

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

ปกป้อง จันวิทย์ เก็บตกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020 การเลือกตั้งครั้งนี้มีอะไรน่าสนใจที่ชวนให้บันทึกไว้บ้าง

 

ปาฏิหาริย์จอร์เจียแบบไบเดนสไตล์ โอกาสสอบซ่อมคุมสภาสูงของเดโมแครต

 

โดย ปกป้อง จันวิทย์

การเมืองอเมริกายังไม่จบ ปาฏิหาริย์การเมืองที่จอร์เจียทำให้เดโมแครตมีโอกาสสอบซ่อมชิงเสียงข้างมากในวุฒิสภาต้นปีหน้าอย่างไม่คาดคิด

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนพฤศจิกายน 2563

 

ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม: สำรวจเส้นทางและอุปสรรคของสิทธิการทำแท้ง

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ และปรางชณา ภัทรนรากุล

“เวลาเราไปประชุมที่ไหนชอบมีคนถามแบบท้าทายว่า ถ้าทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายแล้วคนจะแห่กันไปทำแท้งละสิ เราเจอคำถามนี้มาทั้งชีวิต เราได้แต่ตอบไปว่า คุณคงเข้าใจผิดอะไรบางอย่างนะ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจทำแท้งไม่ใช่เรื่องสนุกสนาน เขาผ่านการคิดและความทุกข์มามาก มันเจ็บปวดทั้งกายและใจ เคยฟังเพลงนี้ไหม Til it happens to you, you don’t know, How it feels…”

“ความพยายามหนึ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่สำเร็จ คือการตั้งคลินิกรับปรึกษาปัญหาท้องที่โรงบาลราชวิถีในปี 2537 โดยตั้งชื่อตามละครชื่อดังในสมัยนั้นว่า ‘คลินิกดาวพระศุกร์’ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือทัศนคติส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอาจยังไม่เห็นด้วย จึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อ ดังนั้นภายใน 1 ปีจึงมีผู้ใช้บริการแค่ 1,000 กว่าราย เนื่องจากไม่ได้ช่วยอะไรและยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย จนในที่สุดก็ต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนไปรับบริการ” — ทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK)

“เวลาให้คำปรึกษาถ้าเขาเชื่อว่าบาป ก็เชื่อไป แต่คำถามที่เราตอบได้คือ ชีวิตเขาจะแย่จากบาปกรรมนี้ไหม ก็จะบอกไปว่า มีผู้หญิงมากมายที่ทำแท้งแล้วชีวิตเขาก็ดีไปตามลำดับ มีที่ผู้หญิงเคยทำแท้งแล้วชีวิตแย่ลง เพราะทุกคนมีขึ้นมีลงนะ ไม่ว่าจะเคยทำหรือไม่เคยทำ แต่การทำแท้งไม่ได้ทำให้รูปร่างหน้าตาน้องเปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้มีอะไรแปะหน้าผากหรือขี่คอน้องอยู่”

“หน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทำให้ทุกๆ คนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียทางร่างกายและชีวิต รัฐต้องทำหน้าที่นี้ แต่ตอนนี้คุณกำลังละเลย ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิอยู่ ถ้ารัฐมีคอนเซ็ปต์ว่ายุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของสุขภาพที่ทุกๆ คนต้องรู้ เหมือนการบอกว่า มาออกกำลังกายกันเถอะ จะได้แข็งแรง อย่ากินน้ำตาลเยอะ เดี๋ยวเป็นเบาหวาน ก็ต้องพูดด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยนะ ไปทำที่โรงพยาบาลได้” — นิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรม ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ และแอดมินเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’

101 สนทนากับผู้ทำงานด้านสิทธิในการทำแท้ง ทัศนัย ขันตยาภรณ์ และ นิศารัตน์ จงวิศาล ถึงเส้นทางการขับเคลื่อนการทำแท้งถูกกฎหมายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประสบการณ์จริงและบางเรื่องราวที่ได้สัมผัสจากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง พร้อมกับเจาะลึกอุปสรรครอบด้านที่ขัดขวางสิทธิการทำแท้งถูกกฎหมายในประเทศไทย

 

In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“หนูไม่ได้อยากไปชุมนุมแต่หนูอยากไปช่วยคน หนูจะเข้าไปที่เต็นท์พยาบาล แล้วบอกเขาว่าอาสามาช่วย”

“แค่เรื่องรูกระสุนที่ฝ่ายความมั่นคงโกหกเรื่องเดียว แม่ของกมนเกดยอมรับว่ามันได้เปลี่ยนตัวตนไปทั้งชีวิต เพราะการตายของลูกกำลังถูกอำพราง”

บทสนทนาระหว่างพะเยาว์ อัคฮาด และกมนเกด อัคฮาด แม่ผู้ยืนหยัดเรียกร้องความยุติธรรมหลังความตายของลูกสาวที่เคยยืนหยัดทำหน้าที่อาสาพยาบาลในแดนสังหารจนจากไปก่อนวัยอันควร

ธิติ มีแต้ม เขียนถึงบทสนทนานี้ในความเงียบงันของสังคมไทยที่การพูดเรื่องคนตายจากเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นของแสลงหูของผู้มีอำนาจ

เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 มีคนตายถึง 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน อาจเปลี่ยนชีวิตประชาชนไปเป็นหมื่นเป็นแสนครอบครัว แต่ข้อเท็จจริง ณ วันนี้คือยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งผู้ปฏิบัติการถึงผู้สั่งการสักคนเดียวที่ถูกดำเนินคดี

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์นี้มา 8 ปีแล้ว คลับคล้ายจะย่ำรอยประวัติศาสตร์การสลายการชุมนุมตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19 ถึงพฤษภาฯ 35 หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้

ยิ่งเมื่อผ่านรัฐประหาร 57 มาครบ 4 ปี จะไปถามหากระบวนการยุติธรรมจากที่ไหน เมื่อแม้แต่แม่ของเหยื่อผู้เสียชีวิตยังถูกลิสต์ให้เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างและกลุ่มเป้าหมายจากฝ่ายความมั่นคง

“เธอเชื่อว่าในปี 2553 ถ้ามีคนนามสกุลชินวัตรถูกยิงสักคน การนิรโทษกรรมอย่างสุดโต่งจะไม่มีทางเกิดขึ้น”

“ฝ่าย กปปส. ที่เสียชีวิต เขาเชื่อว่าพวกเสื้อแดงต้องการล้มเจ้า เป็นความคิดที่ฝังหัวเขามาตลอด เราบอกพี่ใจเย็นๆ ลูกหนูถูกยิงตายแล้วยังถูกหาว่าเป็นพวกล้มเจ้าด้วย สุดท้ายเขายอมรับว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริง พี่เขาก็บอก อ้าว ทำไมมาใส่ร้ายกัน ประชาชนเป็นแค่เหยื่อทางการเมือง”

“อนุสาวรีย์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองในประเทศนี้ไม่ได้มีไว้ให้คนจำเป็นบทเรียนว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่เอาไว้ให้ผู้มีอำนาจเลียนแบบว่าสามารถฆ่าประชาชนได้โดยไม่มีความผิด”

 

หญิงผู้ครองใจป๋วย: 100 ปีชาตกาล มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์

 

โดย กษิดิศ อนันทนาธร

“ผมคิดว่าถ้าอาจารย์มีภรรยาไม่ใช่แหม่มคนนี้ อาจารย์คงเป็นคนดีไม่มากเท่านี้” – อรัญ ธรรมโน ลูกศิษย์และลูกน้องของป๋วย อึ๊งภากรณ์

กษิดิศ อนันทนาธร เล่าเรื่องราวของ มาร์เกรท สมิธ อึ๊งภากรณ์ หญิงผู้ครองใจและอยู่เคียงข้างบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อนถึงวาระ 100 ปีชาตกาลของเธอ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นี้

“มาร์เกรทเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แน่วแน่ในความคิด และกล้าหาญ เห็นได้ชัดจากการต่อต้านสงคราม ที่เธอไม่ยอมทำงานช่วยแนวหลังในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเลือกไปทำงานสังคมสงเคราะห์แทน

“อาจกล่าวได้ว่า เธอต่อต้านสงครามจนตลอดชีวิต ดังเมื่อปี 2546 มาร์เกรทในวัย 84 ปี ก็ไปร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามอิรัก”

“เธอรักเมืองไทย และอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายปี แต่เกลียดทหารเผด็จการที่มักแทรกแซงการเมืองไทย เกลียดการทุจริตคอรัปชั่น และการที่ผู้น้อยต้องหมอบคลานต่อผู้ใหญ่”

“เธอไม่เชื่อในศาสนา และเกลียดความงมงายทุกรูปแบบ เช่น ที่บ้านซอยอารีย์ เธออยากรื้อศาลพระภูมิทิ้ง แต่ก็ให้อิสระแก่ลูกๆ ทั้งสามว่าควรให้เรียนรู้เรื่องศาสนาต่างๆ แล้วตัดสินใจเองว่าจะสมาทานสิ่งใด”

“หลังจากป๋วยเส้นเลือดในสมองแตกในปี 2520 และฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่เขาก็เขียนเองไม่ได้ คือ คิดคำไม่ออก แต่ลอกได้ งานเขียนที่เป็นลายมือของป๋วยด้วยมือซ้ายในช่วงหลัง หลายอย่างเธอร่างให้แล้วให้ป๋วยเขียนตาม”

 

The Royal Affair | ข่าวเมาท์ราชวงศ์อังกฤษ | ควันหลงจาก The Crown

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

:: Spoiler Alert ::  Tomorn Sookprecha พาไปขุดค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีมูลจากข่าวเมาท์ซุบซิบของราชวงศ์อังกฤษ ระหว่างควีนเอลิซาเบธและเจ้าชายฟิลิป อันเป็นที่มาของซีรีส์เรื่องดัง The Crown

เรื่องเมาท์ก็เรื่องหนึ่ง เรื่องในซีรีส์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะเป็นสายเมาท์ตัวจริง ก็ต้องมีหลักฐานที่แม่นยำมากพอ ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องซุบซิบที่ว่าจะมีมูลให้สุนัขมาอึแค่ไหน ห้ามพลาด!

 

จอน อึ๊งภากรณ์ : ถึงเวลาคืนอาวุธให้ประชาชน

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

23 มกราคม 2561 ทหารฟ้องร้องดำเนินคดีตัวแทนเครือข่าย People Go Network 8 คน โดยอ้างว่าเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ในการออกประกาศ/คำสั่งจำนวนมาก รวมเกินกว่า 500 ฉบับ ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม 24 องค์กร แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” ล่ารายชื่อของประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร (หลังการเลือกตั้ง) เพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จำนวน 35 ฉบับ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล กองบรรณาธิการ 101 คุยกับ “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในเครือข่ายที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกมารณรงค์แคมเปญนี้ ว่าทำไมประชาชนควรร่วมกันลงชื่อเพื่อปลดอาวุธ คสช. และทวงสถานการณ์ปกติกลับคืนมา

 

รายการและคลิปวิดีโอยอดนิยม เดือนพฤศจิกายน 2563

 

101 Round Table “การเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020”

 

โดย The101.world

101 ชวนคุณติดตามการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะกำหนดชะตากรรมของสหรัฐอเมริกาและโลกในอนาคต

“การเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020” – รายการวิเคราะห์ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งสำคัญที่สุดในการเมืองสมัยใหม่ — โดนัลด์ ทรัมป์ vs โจ ไบเดน ใครจะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ในอีกสี่ปีข้างหน้า

นี่คือการเลือกตั้งพิพากษาผลงาน 4 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี และชี้ชะตาอนาคตการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน | พรรคเดโมแครตจะรักษาสภาผู้แทนราษฎรและยึดวุฒิสภาคืนจากพรรครีพับลิกันได้หรือไม่ | ผลการเลือกตั้งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมการเมืองอเมริกัน | อเมริกาและโลกจะเดินต่อไปอย่างไร

วิเคราะห์อนาคตการเมืองสหรัฐและการเมืองโลกกันสดๆ ในรายการพิเศษ 101 Round table ค่ำวันเลือกตั้ง

โดยสามผู้ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาแบบเกาะติด
– ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
– ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

 

101 Policy Forum #8: อนาคตนโยบายป้องกันการผูกขาด : บทเรียนจากกรณีควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส

 

โดย The101.world

101 Policy Forum เปิดเวทีถกเถียงเรื่องนโยบายสาธารณะที่มีความหมายกับชีวิตของผู้คนและสังคม

เพราะเราเชื่อว่า นโยบายสาธารณะเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน และนโยบายที่ดีมาจากการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของสังคม ไม่ใช่เฉพาะช่วงเลือกตั้ง และไม่ใช่แค่ในสภา

สำหรับเดือนนี้ ถก-คิด-ถาม-ตอบกันเรื่องอนาคตของนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดของประเทศไทย ผ่านกรณีศึกษาการควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัส

พบกับ

พรนภา เหลืองวัฒนากิจ ผู้บริหาร (Partner) บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด

ผศ.ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย)

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

หลักเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่ควรจะเป็นเรื่องการควบรวมกิจการคืออะไร | ดีลควบรวมกิจการระหว่างซีพีกับเทสโก้ โลตัสให้บทเรียนอะไรกับสังคมไทย | อนาคตของการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกและรักษาประโยชน์ของสาธารณะควรเป็นอย่างไร | ก้าวต่อไปของนโยบายส่งเสริมการแข่งขัน-ป้องกันการผูกขาดไทยควรเดินไปทางไหน | ประเมินการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อย่างไร | ฯลฯ

 

101 One-On-One Ep.193 “จับตาเลือกตั้งท้องถิ่นไทย” กับ ณัฐกร วิทิตานนท์

 

โดย 101 One-on-One

การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนธันวาคม 2563 นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 และเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความแหลมคมของการเมืองระดับชาติ

หลังถูกแช่แข็งมานาน อะไรคือโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งท้องถิ่นไทย การเมืองภาพใหญ่ส่งผลต่อท้องถิ่นอย่างไร ท้องถิ่นมีนัยสำคัญต่อการเมืองภาพระดับชาติแค่ไหน และอนาคตของการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร

สนทนาเพื่อตั้งโจทย์กับ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

 

101 One-On-One Ep.195 In Mind’s Mind คุยความคิดกับ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

 

โดย 101 One-on-One

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร 2563 ถูกจับตามองอย่างมากในการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนครั้งนี้

เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ และขึ้นปราศรัยในหลายเวทีประท้วง จนถูกพูดถึงในวงกว้างเมื่อถูกตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย บุกจับในยามวิกาลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 หลังนำมวลชนเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันรัฐบาล

หลังได้รับการประกันตัวออกมาไม่นาน มายด์เดินทางไปพร้อมมวลชนเพื่อยื่นหนังสือถึงทูตเยอรมนี และอ่านข้อเรียกร้องต่อหน้ามวลชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

นอกจากความคิดความอ่านทางการเมืองแล้ว เธอมีความคิดต่อเรื่องอื่นๆ ในชีวิตอย่างไร เบื้องหลังรอยยิ้มและคำพูดบนเวทีปราศรัย เธอมีมุมมองต่อโลกอย่างไร และอะไรคือภาพสังคมที่เธอใฝ่ฝันถึง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save