fbpx
คณพศ แย้มสงวนศักดิ์: สามัญสำนึกของนักเรียนฝังหมุดคณะราษฎร 2563

คณพศ แย้มสงวนศักดิ์: สามัญสำนึกของนักเรียนฝังหมุดคณะราษฎร 2563

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในวันที่ 21 ก.ย. 2563 ขณะกำลังเรียนอยู่ ม.4

เขาร่วมกับบรรดานักศึกษา อาทิ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ฯลฯ ก่อการฝังหมุดคณะราษฎรใหม่ลงกลางสนามหลวง (สนามราษฎร) ตอนย่ำรุ่ง 20 ก.ย. ซึ่งชุมนุมข้ามคืนมาตั้งแต่ 19 ก.ย.

อะไรทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและมายืนอยู่ตรงจุดบันทึกประวัติศาสตร์ นั่นเป็นคำถามหนึ่ง

อย่างที่ทราบกันดี คนหนุ่มสาวอออกมาตะโกนขับไล่รัฐบาลเผด็จการเต็มท้องถนน ยืดเยื้อยาวนาน เขาไปทุกเหตุการณ์ ทั้งในนามมวลชน สลับกับนำปราศรัย

คนหนุ่มอายุ 16 ติดตามอ่านประวัติศาสตร์การเมืองมาพอสมควร แต่ยังไม่เคยเจอความรุนแรงกับตัวเอง

ค่ำวันที่ 16 ต.ค. ขณะจับไมค์ไล่ประยุทธ์อยู่บนรถขยายเสียงที่แยกปทุมวัน กองกำลังตำรวจระดมยิงน้ำ-แก๊สน้ำตาใส่จนพวกเขาแตกกระเจิง

วันต่อมาขณะกำลังจะไปร่วมชุมนุมต่อ เขาถูกตำรวจนอกเครื่องแบบควบคุมตัวไป สน.ปทุมวัน ยึดโทรศัพท์และกดดันให้เลิกปราศรัยทางการเมือง ก่อนจะติดต่อให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน

ถามว่ากลัวไหม ฝ่อไหม เปล่าเลย แต่เป็นสองเหตุการณ์ที่ทำให้เขายิ่งอยากสู้ต่อ – เข้าทางสำนวนอันแหลมคมของ Pablo Neruda กวีชาวชิลี ว่า “You can cut all the flowers but you cannot keep Spring from coming.”

ความที่คณพศตื่นแล้ว ลุกขึ้นยืนแล้ว คืนวันที่ 25 ต.ค. ที่แยกราชประสงค์ เขาขึ้นไปปราศรัยถึงเหตุการณ์ตากใบ ในโอกาสครบรอบ 16 ปี ชี้ชวนให้มวลชนเห็นถึงโศกนาฏกรรมที่รัฐไทยทำกับประชาชน และเรียกร้องให้มีกระบวนการยุติธรรม – เพื่อยุติวงจรอำมหิตที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในรุ่นพวกเขา

ทั้งสิ้นทั้งปวง อะไรคือแรงผลักดันในใจให้เขาเปล่งเสียงสู่สาธารณะ ทั้งต่อการเมืองไทย ครอบครัว และอนาคตของตัวเอง

 

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

 

อะไรพาคุณไปอยู่ในจุดของประวัติศาสตร์ย่ำรุ่ง 20 ก.ย. 2563

ผมไปช่วยงานพี่ๆ ที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 19 พอช่วงเย็นก็เข้าไปช่วยอยู่หลังเวทีทั้งคืน เลือกที่จะนอนหลังเวทีไปเลย คืนนั้นเป็นการปราศรัยไปเรื่อยๆ สลับกับดนตรี พอตอนเช้าผมเพิ่งรู้ว่ามีการวางแผนกันว่าจะทำการฝังหมุดคณะราษฎรที่สนามหลวง พี่ๆ เขาคุยกันว่าจะให้ใครเป็นคนถือหมุดดี คงเพราะด้วยความที่ผมเป็นนักเรียนคนเดียวที่อยู่ตรงนั้น และใส่ชุดนักเรียนด้วย พวกพี่ๆ ก็เลือกผม

 

ใส่ชุดนักเรียนค้างคืน ?

ครับ ชุดเดียวใส่สองวันเลย เพราะไม่ได้เตรียมมาเปลี่ยน ไม่มีจังหวะให้เปลี่ยนด้วย

 

จิตใจวินาทีนั้นพร้อมออกหน้า ?

ใช่ครับ ความรู้สึกส่วนตัวผมพร้อมออกหน้าอยู่แล้ว ไม่ได้ตกใจอะไรกับภารกิจที่ทำไป และตอนนั้นก็เป็นการโหวตกันด้วยว่าจะเอาใครดี ข้อสรุปคือที่เลือกเป็นนักเรียนก็เพราะว่าอนาคตการต่อสู้ต้องเป็นของรุ่นนักเรียนต่อไป เหมือนรับไม้ต่อ

 

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

 

หลังจากเหตุการณ์วันนั้น เจอแรงเสียดทานยังไงบ้าง

พอกลับมาบ้านก็ทะเลาะกันหนักเลยครับ (หัวเราะ) ที่บ้านผมเสียงจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ผมมีแม่คนเดียวที่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ ส่วนพี่กับพ่อไม่มีใครเห็นด้วยเลย ผมถูกกดดันให้เลิกแสดงความคิดเห็น เลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาอยากให้อยู่เงียบๆ

ปัญหาก็คือที่บ้านผม แม่ผมไม่ค่อยมีพาวเวอร์ คนที่มีพาวเวอร์จริงๆ คือพ่อกับพี่ แล้วพ่อก็เป็นคนให้เงินผมทุกวันนี้ด้วย พอผมออกไปเคลื่อนไหวก็โดนตัดเงิน เขาไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าตัดเงินทำไม แต่ผมเข้าใจได้ (หัวเราะ)

ครอบครัวฝั่งพ่อก็กดดันด้วยการโทรมาบอกให้ผมหยุด เพราะเขาคิดว่าการเมืองมันอันตราย เขากลัวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการดันเพดานที่สูงมาก เขากลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับครอบครัว เขาให้เหตุผลว่าเขาอาจถูกคุกคามพ่วงไปด้วยได้

 

แล้วแม่กับพ่อคุยกันไหม

แม่กับพ่อเพิ่งมาคุยกันเรื่องการเมือง แต่ก็เถียงกัน เพราะแม่เห็นด้วยกับผม แม่เข้าใจว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่สามารถหยุดได้แล้ว

เมื่อก่อนที่บ้านเข้าใจแค่ว่าผมเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็นการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นเล็กมาก พอเป็นประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เขาเลยกลัว

 

คุณอธิบายกับที่บ้านยังไง โดยเฉพาะฝั่งพ่อที่ไม่เห็นด้วย

ผมบอกว่าไม่สามารถจะหยุดได้แล้ว ถ้ารัฐจะโจมตีหรือหาคดีมาให้จริงๆ รัฐจะทำกับผมแค่คนเดียว รัฐจะไม่ทำกับครอบครัว ผมให้เหตุผลไปแบบนี้

 

หมายความว่าคุณพร้อมพาตัวเองออกมา เพื่อไม่ให้ครอบครัวต้องลำบากด้วย ?

พร้อม แต่ตอนนี้เริ่มดีกันขึ้นมาแล้วครับ เหตุผลก็คือพอเวลาผ่านไปและเขาเห็นว่ารัฐคุกคามเด็กๆ มากขึ้น เขาก็เข้าใจมากขึ้น แต่ยังไม่ได้มาสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนี้จากที่เคยห้ามออกไปชุมนุม ก็ไม่ห้ามแล้ว

 

ที่ผ่านมา ที่บ้านคุยเรื่องการเมืองกันบ้างไหม

เอาจริงๆ ผมคุยเรื่องการเมืองแค่กับแม่คนเดียว คนอื่นๆ ก็เหมือนจะเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหา แต่ก็เลือกที่จะอยู่เฉยๆ ดีกว่าเพราะกลัวได้รับผลกระทบ จริงๆ ที่บ้านผมก็ไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ เหมือนเป็นครอบครัวคนกรุงเทพฯ ที่ต่างคนต่างทำงาน เจอกันก็ตอนวันหยุดหรือว่าตอนเย็น

 

คุณสนใจการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่ตอนประถมแล้วครับ ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง ผมเริ่มอ่านตั้งแต่การเลิกทาสของอเมริกา อ่านเกี่ยวกับสงครามโลก อ่านปฏิวัติฝรั่งเศส อ่านโฉมหน้าศักดินาไทย อ่านจนปวดตาเพราะว่าเป็นไฟล์ PDF (หัวเราะ) แล้วก็อ่านเรื่อง ‘สามัญสำนึก’ (Common Sense) ของโธมัส เพน

ตอนรัฐประหาร 2557 ผมอยู่ ป.4 วันนั้นผมงงว่ามันมีรัฐประหารได้ยังไง จากนั้นผมก็ไล่อ่านไปเรื่อยๆ ว่าบ้านเมืองเราเกิดอะไรขึ้น คนเสื้อแดงถูกกระทำมาอย่างไร กปปส. ออกมาชัตดาวน์กรุงเทพฯ ทำไม ผมตามอ่านเยอะมาก

แต่จุดพีกคือวันหนึ่งผมไปกินข้าวกับกลุ่มครูที่โรงเรียน เขาเป็นอนุรักษนิยมขวาจัดมาก เขาคุยกันว่าเขาเห็นด้วยที่คนเสื้อแดงถูกยิงตาย และถูกอุ้มหาย เขาพูดเชียร์ให้ยิงทิ้งให้หมด พวกเห็นต่างต้องฆ่าให้หมด วันนั้นผมก็งงว่าอะไรวะเนี่ย (หัวเราะ)

 

 

คำพูดของครูวันนั้นมีผลกับคุณอย่างไร

มันทำให้ผมอ่านมากขึ้น หาความจริงมากขึ้น ผมเข้าห้องสมุดมากขึ้น ซื้อหนังสืออ่านมากขึ้น และทำให้ผมเข้าใจสังคมการเมืองในวันนี้มากขึ้น

 

แล้วเพื่อนๆ ล่ะ มีคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยกันไหม

ที่เรียนมัธยมด้วยกันตอนนี้ก็มีบ้าง มีคนที่มาช่วยซัปพอร์ตเบื้องหลัง ไม่ได้ออกหน้า เพราะเขาไม่อยากให้ที่บ้านรู้ ครอบครัวหลายคนเป็นข้าราชการ ผมเข้าใจพวกเขา

 

จากคนที่สนใจเฉพาะประเด็นการศึกษา ขยับมาเรื่องโครงสร้างสังคมได้ยังไง

ตอนนั้นผมไปเข้ากลุ่ม ‘การศึกษาเพื่อความเป็นไท’ เขาประกาศรับสมัครสมาชิกเพิ่ม ผมเลยไปกรอกแบบฟอร์มสมัคร แล้วก็ไปสัมภาษณ์ ผมตอบเป็นเรียงความเลย เขาถามว่าคิดเห็นยังไงกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน ทรรศนะของคุณต่อการศึกษาไทยเป็นยังไง

ผมตอบไปยาวมาก จำไม่ค่อยได้แล้ว แต่สรุปประมาณว่าปัญหาการศึกษาไทยเป็นปัญหาเชิงระบบ มีความเป็นอำนาจนิยมสูงมาก ตั้งแต่ครู นักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย ชั้นผู้ใหญ่ เป็นเหมือนกันหมด เป็นระบบที่มีจารีตเยอะมาก ทั้งเรื่องการเคารพธงชาติ การหมอบกราบ นักเรียนไม่สามารถนั่งโต๊ะเดียวกับครูได้ เดินผ่านครูต้องก้มหัว ไหนจะการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ทั้งการตัดผม โกนหนวด ตัดเล็บ ลักษณะรองเท้า สีรองเท้า มันค่อนข้างจำกัดสิทธิทางร่างกายมาก กระเป๋าต้องเป็นแบบเดียวเท่านั้น เรื่องหลักสูตรเก่าคร่ำครึมาก เน้นให้เราเรียนเพื่อสอบ มันเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้อยากพัฒนาเด็ก ไหนจะความน่าเบื่อของการเรียนการสอนอีก เยอะมากครับ

ครูที่ก้าวหน้าก็มีนะครับ แต่ความที่ครูนั้นไม่ได้อยู่กับเราตลอด แล้วเขาก็สอนอยู่ในระบบ เขาเลยไม่สามารถจะใช้วิธีการสอนที่แตกต่างได้มาก

 

เหมือนหยดน้ำในทะเล ?

ใช่ สุดท้ายต่อให้เขามีแนวคิดใหม่ๆ ต่อให้เขาเป็นคนหัวก้าวหน้า เข้าใจการเมือง แต่เขาก็จะถูกระบบการศึกษาไทยกลืนกินเข้าไปอยู่ดี

พอระบบเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะในโรงเรียนมันยากมาก เพราะว่าโรงเรียนก็ต้องตามกระทรวงอยู่ดี ผมรู้สึกว่าไม่รู้จะไปไล่แค่รัฐมนตรีทำไม เพราะถ้าเปลี่ยนคนใหม่ก็ขึ้นอยู่กับระบบเก่าอยู่ดี มันไม่มีผลอะไรเลย ถ้าต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนที่ระบบ แล้วค่อยเอาคนที่มีความคิดดีจริงๆ เข้ามาทำงาน

 

แปลว่าไม่เชื่อเรื่องตัวบุคคล ?

ใช่ ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ต่อให้เอาคนที่ดีจริงๆ เข้ามาในเวลานี้ เขาจะถูกโครงสร้างบีบอยู่ดี แต่ถ้าโครงสร้างดี ต่อให้คนไม่เก่งมาก เขาก็จะถูกโครงสร้างบีบให้เก่งได้

ผมเคลื่อนไหวเรื่องศึกษามาปีกว่ารู้สึกว่ากระทรวงไม่ได้ฟังเราจริงๆ เหมือนเราเรียกร้องไปที่ปลายเหตุ ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ ก็คือแก้รัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นี่คือการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ทำให้โครงสร้างมีความเท่าเทียม ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเสมอภาค

เหมือนที่ผมปราศรัยเรื่องตากใบเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 16 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบพอดี ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็มีโอกาสใช้ความรุนแรงกับประชาชนเหมือนกัน แต่ฝ่ายเชียร์ทักษิณไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราอยากได้ประชาธิปไตย เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกฝ่าย และข้ามตัวบุคคลไปให้ได้

การที่รัฐทำกับประชาชนอย่างเลวร้ายในครั้งนั้นเป็นความเจ็บปวดของสังคมไทย และยิ่งทำให้กองทัพมีอำนาจในพื้นที่ชายแดนใต้มากขึ้น รัฐสามารถแทรกแซงภาคใต้ได้อย่างสมบูรณ์ ประชาชนที่นั่นอยู่ภายใต้การควบคุมตลอดเวลา ผมอยากบอกว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล เหตุการณ์ดังกล่าวต้องถูกชำระ ต้องมีความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย ถ้าเราอยากมีประชาธิปไตย นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องเรียกร้องด้วย

 

ทบทวนตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหว เคยคิดเผื่อไหมว่าอาจจะถูกปราบรุนแรง ประเมินสถานการณ์ยังไงบ้าง

ผมว่ากรณีแย่ที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพดานการต่อสู้ต่างกันไป เช่น บางคนพ่อแม่เป็นข้าราชการ พ่อแม่เป็นทหาร เขาก็ไม่สามารถที่จะเปิดหน้าได้ ไม่สามารถเปิดเผยชื่อจริงได้ ก็ต้องทำงานเบื้องหลังไป แม้ว่าอยากช่วยมากแค่ไหนก็ตาม

สำหรับผม ถ้ารัฐจะทำจริงๆ ก็คงใช้วิธีอุ้มหายเหมือนที่ผ่านมา ถ้าเกิดรัฐประหารจริง เราคงต้องแยกย้ายกัน อาจจะรีบหาทางลี้ภัยหรือเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุด

ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ที่เป็นนักศึกษาที่เคยโดนจับหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ จากการที่ออกมาประท้วงครบ 1 ปีรัฐประหาร เมื่อปี 2558 เขาบอกว่าให้ประเมินความเสี่ยงไว้สูงที่สุด เพราะว่าโอกาสที่จะเกิดมันมี แล้วเราจะได้รับมือถูก ถ้าเราไม่คิดเผื่อไว้ เราจะรับมือไม่ถูก

 

 

เคยคุยเรื่องแบบนี้กับที่บ้านไหม

เคยครับ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แม่ก็บอกว่าทำใจไว้แล้ว ซึ่งจริงๆ เราไม่มีทางรู้หรอกว่ารัฐจะทำอะไรเราเมื่อไหร่ เราแค่ต้องเรียนรู้หาทางรักษาความปลอดภัยให้มากที่สุด

ผมรู้สึกว่าม็อบรุ่นผมมีความออร์แกนิกมาก ผมไม่ได้รู้จักแกนนำทุกคน และผมคิดว่ามวลชนพร้อมที่จะช่วยกันตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ม็อบรุ่นผมพยายามเรียนรู้เรื่องนี้อยู่ ไม่ใช่เพื่อจะไปตอบโต้อะไรกับคนที่จะมาทำร้ายเรา แต่เป็นการฝึกเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกทำร้าย

 

รู้สึกยังไงที่ต้องคิดเรื่องแบบนี้ตั้งแต่อายุ 16

เพราะมันอาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ผมไม่ได้กลัว เพราะผมเชื่อว่าคนที่จะใช้ความรุนแรงจะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเขาไม่ได้เป็นพวกคนดีจริงๆ แบบที่อ้างกัน การกระทำรุนแรงจะทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง

 

ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่หลายคนมักบอกว่ามีความหวังกับคนรุ่นใหม่ คุณรู้สึกแบบนั้นไหม ตัวเองมองความจริงที่เป็นยังไง

จริงๆ ผมก็มีความหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นผมมองว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้โดยวิธีที่สันติ แต่อาจจะต้องใช้เวลานาน

 

มองเห็นเงื่อนไขในการต่อสู้ครั้งนี้ยังไงบ้าง เช่น รัฐสภาตอนนี้คาดหวังได้ไหม โดยเฉพาะฝ่ายค้าน

พูดตามจริง ผมว่าค่อนข้างพึ่งไม่ได้ ฝ่ายค้านทำอะไรผู้มีอำนาจไม่ได้เลย แม้จะเล่นหนักๆ แต่ก็เป็นพียงส่วนน้อยในสภา ถ้าเกิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ตามข้อเรียกร้องคือประยุทธ์ต้องลาออก แต่มันยากมากที่เขาจะลาออก

อย่างตอน ส.ส. เพื่อไทย กรีดแขน ก็ทำได้แค่เชิงสัญลักษณ์ แต่มันไม่ได้ไปขยับในพวกชนชั้นนำจริงๆ แค่ครั้งหนึ่งเคยมีคนกรีดเลือดในสภา ก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่ามี ส.ส. กรีดเลือดในสภา

การกรีดเลือดมันเป็นความแค้นในใจของเขา เป็นความเครียด ความโกรธที่มีต่อรัฐบาลชุดนี้ แปลว่าเขาสุดทนแล้วจริงๆ ที่เจอรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องกรีดเลือด

ก่อนหน้านี้มีพรรคอนาคตใหม่ แต่พอโดนยุบไปเสียงโหวตฝ่ายค้านก็ลดลง ทุกวันนี้ก็ยังมีคดีถือหุ้นสื่ออีก ความหวังในสภาก็ลดลง แต่ทั้งหมดมันเหมือนเราต่อสู้ในกติกาของเขา ยังไงสภาก็ต้องเดินไปตามเกมของเขา

ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องสู้นอกกติกาของเขา ที่คุมทั้งทหาร ตุลาการ ตำรวจ ทุกฝ่ายอยู่ฝ่ายโน้นหมดเลย โอกาสจะชนะในกติกาของเขามันไม่มี และการลงถนนเป็นทางเดียวที่เราจะสู้ได้

 

พลังคนรุ่นใหม่เองล่ะ จุดแข็งคนพูดเยอะแล้ว มองเห็นจุดอ่อนอะไรบ้าง

จุดอ่อนของพวกเราตอนนี้คือเรื่องของครอบครัว บางคนครอบครัวเป็นข้าราชการ เป็นทหาร เป็นตำรวจ ครอบครัวตัวเองที่ถูกกดดัน

อีกเงื่อนไขสำคัญคือเพราะเรายังเป็นเยาวชนอยู่ ยังไม่สามารถหาเงินได้เองพอที่จะออกมาใช้ชีวิตเอง เงื่อนไขทางกฎหมายยังอยู่ในการคุ้มครองของพ่อแม่เป็นหลัก แต่บางคนไม่มองเป็นจุดอ่อน เพราะครอบครัวเขาสู้ไปด้วยกัน ตรงนี้ในมุมกลับก็เป็นจุดแข็ง

อีกจุดหนึ่งคือฝั่งเรามีความเป็นปัจเจกสูงมาก ตรงนี้ผมไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสีย ข้อดีคือทำให้ขบวนการมีแนวคิดที่หลากหลาย มีการเรียกร้องในประเด็นยิบย่อยเยอะมาก แต่ข้อเสียคือพอหลากหลายแล้วก็ทะเลาะกันเองบ่อยมาก ในทวิตเตอร์มีเรื่องให้ตีกันได้ทุกวัน

 

 

แล้วมันมีผลต่อขบวนใหญ่ยังไง

บางทีมันเหนื่อยครับ ปวดหัว (หัวเราะ)

ผมยกตัวอย่างนะ บางคนเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยไม่ต้องมีศาสนาก็ได้ แต่บางคนเห็นว่าต้องมี บางคนเห็นด้วยกับการเคารพเพลงชาติ บางคนไม่เห็นด้วย บางคนก็เห็นด้วยกับชุดนักเรียน บางคนไม่เห็นด้วย แต่ว่าทุกคนอยากเห็นประชาธิปไตย

อย่างคนที่เชื่อในการมีชุดนักเรียนเพราะเขามองว่า สังคมจะสามารถแยกออกได้ว่าคนไหนเป็นนักเรียน และยังสามารถใช้ในพิธีการของโรงเรียนเพื่อความขลังของสถาบันนั้นๆ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าแนวคิดนี้เป็นประชาธิปไตยที่ค่อนไปทางอนุรักษนิยม

ถามว่ามีผลต่อขบวนใหญ่ยังไง คือมันแสดงให้เห็นว่าเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมันไม่มีใครคิดเหมือนกันหมด ตีกันตลอดเวลา แต่ว่าข้อเสียคือมันลดทอนพลังด้วยกันเอง เหนื่อย แต่ก็เป็นสีสันครับ

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ ในภาพใหญ่จะชนะยังไง

ผมคิดว่าเรามีเอกภาพชัดเจนอยู่ที่ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ทุกคนเห็นด้วยหมดว่าประยุทธ์ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตราบใดที่มีเอกภาพนี้เรามีโอกาสชนะ

 

คิดยังไงที่ถูกมองว่าเป็นพวกล้มเจ้า เป็นเด็กก้าวร้าว หยาบคาย

วิธีการง่ายๆ ผมคิดว่าเราจะต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน มาดูกันว่าข้อเสนอพวกเราที่พูดอยู่ว่าปฏิรูปไม่ใช่ปฏิวัติจะไปล้มเจ้าได้อย่างไร การที่สถาบันฯ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนศรัทธา ไม่มีใครโหนเอาสถาบันฯ มาโจมตีกัน การใช้งบประมาณตรวจสอบได้เพราะเป็นภาษีของประชาชน แบบนี้ไม่มีตรงไหนจะไปล้มได้เลยครับ

เราอยากทำให้สถาบันฯ ศักดิ์สิทธิ์กว่าที่เป็นอยู่จริงๆ เหมือนที่อังกฤษหรือประเทศอื่นๆ ที่มีสถาบันฯ เขาเจริญได้ และสถาบันฯ ก็อยู่ได้ ไม่สลายไปไหน ผมว่าเราอธิบายเรื่องนี้ได้เสมอ

บางคนบอกว่าสถาบันฯ ก็อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่จริงๆ ควรอยู่เหนือการเมืองไปเลย ไม่ใช่มีการเซ็นรับรองการรัฐประหารแบบที่ผ่านมา การทำแบบนี้ที่ผ่านมาไม่ได้อยู่เหนือการเมืองนะครับ แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ต่อไปถ้ามีการรัฐประหาร ให้ทหารรับผิดชอบเอง กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบ

ส่วนประเด็นก้าวร้าว ผมคิดว่าคนที่มองเราแบบนี้เป็นคนชั้นกลางขึ้นไปมากๆ มองว่าการชุมนุมต้องเรียบร้อยน่ารัก ไม่มีคำหยาบคาย ไม่มีการพ่นสีสเปรย์

ถามว่าให้เราเดินมาเรียก “คุณประยุทธ์ คุณลาออกนะครับ” แบบนี้ผมว่าไม่ใช่สันติวิธี แต่มันอินโนเซนส์มากกว่า เพราะเขามองไม่เห็นอำนาจที่กดเราไว้ เขามองว่าเรามีอำนาจเท่าประยุทธ์ เพราะฉะนั้นควรพูดดีๆ แต่อย่าลืมว่าเรากำลังต่อสู้กับเผด็จการอยู่นะครับ

 

ผู้ใหญ่หลายคนที่กำลังเชียร์คนรุ่นใหม่มักบอกว่า เขาอาจอยู่ไม่ถึงวันเห็นประชาธิปไตย คุณคิดว่าคนรุ่นคุณจะได้เห็นไหม

เอาจริงๆ ผมก็ไม่รู้นะครับ เพราะถ้ารัฐจะปราบจริงๆ เราก็ตายแน่ ถ้าอยากจะปราบ ผมคิดว่าผู้มีอำนาจต้องคิดมากกว่าที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save