fbpx
“ทำไมเราจะยืนข้างประชาชนไม่ได้” : คุยกับ ‘ข้าราชการปลดแอก’

“ทำไมเราจะยืนข้างประชาชนไม่ได้” : คุยกับ ‘ข้าราชการปลดแอก’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ในสายธารการเคลื่อนไหว ใต้ร่มขบวนการใหญ่ภาคประชาชน คือความหลากหลายของผู้คนที่ออกมาชูธงบอกเล่าปัญหาของกลุ่มตนเองยึดโยงกับประเด็นทางการเมือง

นักเรียนกับการศึกษา, LGBTQ+ กับความเท่าเทียมทางเพศ, ตัวแทนจากชายแดนใต้กับความรุนแรงตลอดสิบกว่าปีในบ้านเกิด ฯลฯ นอกเหนือจากประเด็นที่ปรากฏอยู่บนท้องถนน อีกหนึ่งเสียงที่ดังกังวานบนโลกออนไลน์และชวนให้คนหยุดรับฟังไม่แพ้กัน คือเสียงจากเหล่าข้าราชการที่สะท้อนถึงปัญหาในระบบปัจจุบันภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘ข้าราชการปลดแอก

ในฐานะฟันเฟืองชิ้นสำคัญของระบบบริหาร พวกเขาเห็นภาพกระบวนการทำงานและแนวคิดเรื่องการเมืองส่วนหนึ่งจากที่ทำงาน ซึ่งชวนให้ขบคิดและตั้งคำถามต่อรัฐบาล ต่อโครงสร้างราชการ ต่อกฎระเบียบและวาทกรรมในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ รวมถึงต่อสถาบันกษัตริย์ที่มีบทบาทในสังคมข้าราชการไทยไม่มากก็น้อย

พวกเขาส่งต่อคำถามนั้นไปสู่ประชาชน เปิดเผย วิพากษ์ปัญหาของระบบอย่างตรงไปตรงมาบนโลกโซเชียลฯ และยอดไลก์เรือนหมื่นในเพจเฟซบุ๊กราชการปลดแอกก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็นปัญหาในระบบซึ่งสั่งสมมาเนิ่นนานเช่นเดียวกัน

เย็นวันหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นภารกิจตามหน้าที่ 101 ชวนกลุ่มข้าราชการปลดแอก ถอดหมวกข้าราชการ สวมจิตวิญญาณนักเคลื่อนไหว นั่งสนทนาถึง ‘แอก’ ที่ต้องแบกบนบ่าประหนึ่งอินทรธนู ตำแหน่งแห่งที่ของข้าราชการในประเด็นการเมือง ความฝันและความหวังที่อยากเห็นระบบราชการดีกว่าเดิม

 

เมื่อการปราบปรามของรัฐ คือฟางเส้นสุดท้าย

 

ทำไมข้าราชการถึง ‘ขี้กลัว’? หน่วยงานใดที่ยุบทิ้งได้? งานราชการมั่นคงจริงหรือไม่?

เบื้องหลังหลากประเด็นหลายคำถามที่เสนอต่อสาธารณะผ่านเพจข้าราชการปลดแอกนับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือการร่วมกันคิดร่วมกันทำของเหล่าข้าราชการที่มาจากต่างตำแหน่งต่างหน่วยงาน –บ้างเป็นคนเก่งระดับหัวกะทิ บ้างก็เป็นอดีตนักเรียนทุนรุ่นใหม่ บ้างมาจากองค์กรที่ทันสมัย บ้างก็มาจากหน่วยงานชิดใกล้รัฐบาล หากว่ากันด้วยอายุก็มีแต่ข้าราชการรุ่นใหม่ที่ยังไฟแรง คนที่ผ่านงานมาระดับหนึ่งและยังตัดสินใจว่าควรต้องไปต่อไหม ไปจนถึงข้าราชการระดับชำนาญการที่โอกาสปักหลักในระบบอาจเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าออกไปเริ่มต้นใหม่

อะไรคือจุดเริ่มต้นของการรวมตัว?

“มันเป็นช่วงหลังวันที่ 16 ตุลาคมที่อิมแพคมากๆ” ตู่ (นามสมมติ) หนึ่งในแอดมินเพจข้าราชการปลดแอกเล่าย้อนความ เขายังจำได้ดีว่าความรู้สึกเมื่อรับชมไลฟ์เหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองที่แยกปทุมวันครั้งนั้นเป็นอย่างไร”

“วันนั้นผมรู้สึกว่าไม่เหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่เหมือนภาพยนตร์ฉากหนึ่ง การดูไลฟ์ทำให้เราเหมือนได้ไปอยู่แนวหน้า ได้สัมผัสประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นๆ ทั้งที่เรายังอยู่ที่บ้าน มันตื่นตาตื่นใจ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือผมรู้สึกว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น”

“ด้วยความที่ผมติดตามข่าวการชุมนุมมาตลอด และคิดมานานว่าเราควรจะทำอะไรบางอย่าง ผมตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ในฐานะที่เราเป็นข้าราชการ มีสถานะค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่นๆ”

ตู่เริ่มสืบค้นว่าในอดีตมีข้าราชการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบไหนและอย่างไร จนกระทั่งได้เจอ ‘แรงบันดาลใจ’ จากข่าวการชุมนุมของ กปปส. ที่มีการเชิญชวนข้าราชการออกมา ‘ปลดแอก’ จากระบอบทักษิณ หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ซึ่งมีคนไม่น้อยเห็นดีเห็นงามด้วย)

“ผมเห็นข่าวเมื่อปี 2557 พูดถึงการปลดแอกข้าราชการ ก็คิดว่าในเมื่อก่อนยังทำกันเลย เราก็น่าจะทำอะไรได้บ้าง เลยตั้งเพจ ‘ข้าราชการปลดแอก’ ขึ้นมาและพยายามหาคนใกล้ตัวมาร่วมทำด้วยกัน”

ป้อม (นามสมมติ) คือคนแรกๆ ที่ถูกตู่ชักชวนมาเป็นแอดมินเพจและตกลงตอบรับอย่างง่ายดาย เพราะเขาเองก็รู้สึกสะท้อนใจจากเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคมไม่ต่างกัน

“วันที่ฉีดน้ำน่ะครับ ตอนนั้นเราคิดว่า เดี๋ยวนะ คำว่าข้าราชการน่ะ หมายความว่าคุณต้องรับใช้ประชาชน ตำรวจเองก็ถือเป็นข้าราชการ แต่คุณกลับทำร้ายประชาชน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีสัญญาณความรุนแรงเลย ผู้ชุมนุมมามือเปล่า หลายคนยังเป็นแค่เด็ก คุณจำเป็นต้องสร้างความหวาดกลัวให้พวกเขาขนาดนี้เลยเหรอ นี่ทำให้เราค่อนข้างเฮิร์ต” ป้อมว่า

“เราเป็นข้าประชาชน ควรทำเพื่อประชาชน แต่ทั้งที่มีเหตุการณ์ปราบปรามขนาดนี้ ทางหน่วยงานยังมีคำสั่งห้ามข้าราชการไปชุมนุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น อ้างว่าต้องทำตาม พ.ร.ก.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เราก็อัดอั้น ไม่เข้าใจว่าเป็นข้าราชการแล้วต้องถอดความเป็นประชาชนทิ้งเหรอ มันไม่ถูก”

การกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นชนวนให้ ป๊อก (นามสมมติ) ตัดสินใจเข้ามาร่วมวงเป็นแอดมินเพจอีกคนเช่นกัน โดยสำหรับเขาแล้ว เหตุการณ์วันนั้น “เป็นเหมือนจุดขาดจุดหนึ่งที่เกือบทำให้ออกจากราชการ”

“ส่วนตัวอยู่ในหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดรัฐบาล ทำให้ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองสูง กึ่งๆ จะเป็น unspoken rule ไม่สามารถแสดงความเห็นเรื่องการเมืองได้เลย เพราะถ้าพูดอาจจะกระทบบทบาทหน้าที่ของเราได้” ป๊อกกล่าว

“เราอึดอัดและต้องเซนเซอร์ตัวเองสูงมากในโซเชียลมีเดีย เวลาทำงานก็ต้องไม่เอามุมมองส่วนตัวไปมองทุกเรื่องที่เข้ามา และต้องมืออาชีพที่สุด ทั้งที่ลึกๆ แล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับรัฐบาลประยุทธ์ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และทัศนคติของข้าราชการประจำที่โอนเอียงเข้าหาระบบอำนาจนิยม”

เมื่อการปราบปรามไม่อาจทำลายความเข้มแข็งของขบวนการ แต่สร้างสุมเชื้อไฟให้ใครหลายคนลุกขึ้นสู้อย่างเปิดเผย

ข้าราชการปลดแอก จึงเป็นผลผลิตที่งอกเงยจากการฉีดน้ำของรัฐในวันนั้นนั่นเอง

 

เงียบเพราะเป็นกลาง? – หลากความเห็นต่อการเมืองของข้าราชการ

 

การวางตนเป็นกลางและการ ‘ห้าม’ แสดงความเห็นทางการเมืองดูเหมือนจะเป็นกฎเหล็กสำหรับข้าราชการมาเนิ่นนาน บางคนกล่าวว่ามีไว้เพื่อให้ข้าราชการทำงานกับทุกรัฐบาลอย่างราบรื่น ไม่มีอคติส่วนตัวมาเจือปน บางคนก็อ้างว่าการแสดงความเห็นขัดแย้งต่อรัฐอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ทำให้เจริญก้าวหน้าช้ากว่าคนอื่นๆ

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด สุดท้ายข้าราชการส่วนใหญ่มักเลือกลงเอยด้วยความเงียบ ทำให้ดูราวกับว่าคนกลุ่มนี้ ‘ลอยตัว’ อยู่เหนือการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความเป็นไปใดๆ หรือเลวร้ายที่สุด คือถูกตีความว่าเห็นด้วยกับการกระทำของรัฐ

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คน ‘วงใน’ อาจต้องเผชิญแรงตึงเครียดอย่างหนัก อย่างเช่นป๊อก ซึ่งทำงานในหน่วยงานใกล้ชิดรัฐบาล

“เราเซนเซอร์ตัวเองหนักมาก และอยู่ใต้บรรยากาศแห่งความกลัวตลอด” ป๊อกเผย “ทุกคนต่างสงวนท่าทีในเรื่องการเมือง เพราะวัฒนธรรมและบทบาทหน้าที่บังคับให้สงวนท่าที บางคนอาจจะมีหลุดออกมาบ้าง แต่เราจะไม่มีการถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจังในที่ทำงานเลย

“เฟซบุ๊กเราจะระมัดระวังการแอดคนที่ทำงานมาก จะมองตากันจนมั่นใจว่าคนนี้ไม่ใช่สลิ่มถึงค่อยรับแอดทีละคนอย่างช้าๆ ทุกโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถาบันต้องหยุดคิดก่อนเสมอ”

“จริงๆ โดยทั่วไป เราสามารถแสดงความออกเรื่องการเมืองได้ ไม่ได้มีระเบียบสั่งห้าม แค่ต้องไม่บอกชื่อหน่วยงานที่เราสังกัดแค่นั้น” ตู่อธิบายเสริม

“แต่ปัญหาคือเราสวมทั้งหมวกข้าราชการและหมวกประชาชน บางครั้งก็ยากที่จะสับเปลี่ยนหมวกแยกตัวตนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ต่อให้เราพยายามแสดงออกในนามของตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งเราก็เป็นข้าราชการ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงเลือกไม่แสดงความเห็นของตัวเองออกสื่อ”

ทว่า ขณะที่หน่วยงานของป๊อกตกอยู่ภายใต้ความเงียบ ที่ทำงานของป้อมกลับเปิดโอกาสให้พูดคุยเรื่องการเมืองได้อย่างคึกคัก

“ในที่ทำงานของเราค่อนข้างเสรี คุยกันได้ อย่างครั้งหนึ่งเพจของหน่วยงานเคยแชร์โพสต์คำพูดของประยุทธ์เกี่ยวกับการเมืองจากส่วนกลาง แล้วเรามองว่าไม่โอเค ถ้าแชร์นโยบายรัฐก็ว่าไปอย่าง เลยไปบอกรุ่นพี่ที่เป็นสลิ่มดูแลเพจว่าเราไม่ควรทำแบบนี้ หลังจากนั้นเพจก็ไม่แชร์โพสต์เกี่ยวกับการเมืองจากส่วนกลางอีกเลย แสดงว่าเขาเองก็รับฟังเรา

“ในทางกลับกัน ก็มีรุ่นพี่มาเตือนเราเวลาไปม็อบว่าให้ระมัดระวัง อย่าให้กระทบกับงาน เรารู้สึกว่าถึงจะเห็นต่างแต่ก็ยังพูดคุยกันได้” ป้อมเล่า เพราะอยู่ในตำแหน่งข้าราชการมานานพอตัว ทั้งยังคลุกคลีกับวงคนทำงานที่เปิดกว้างให้พูดคุย ทำให้เขาเห็นภาพขั้วความคิดทางการเมืองที่แตกต่างไปตาม ‘เจเนอเรชัน’ อย่างมีนัยสำคัญ

“ถ้าเป็นคนมีอายุหน่อย จะมีความเป็นสลิ่มเยอะ เขาจะยังมองไม่ออกว่าการเมืองมีปัญหาอย่างไร สถาบันมายุ่งอะไรกับการเมือง บางคนก็ไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองมากมาย ขณะที่เจนวายตอนต้นถึงกลางมักรู้สึกว่าขอแค่ฉันเป็นเด็กดี เดินตามกรอบที่วางไว้ก็จะมีชีวิตที่มั่นคง ไม่ทันมองว่ายังมีเพื่อนร่วมชาติที่ยังลำบาก ยังมีความบิดเบี้ยว ความอยุติธรรมอยู่ในสังคม”

“แต่ถ้าเราคุยกับคนอายุ 20 ต้นๆ ถึง 20 ตอนปลาย จะเห็นว่าเขามีความเข้าใจที่ต่างกันเลย หลายคนไปม็อบแม้จะโดนห้าม สามารถหาข้อมูลเสพได้เอง มองภาพออกว่าสถาบันเชื่อมโยงกับแต่ละเครือข่ายสังคมอย่างไร ระบบอำนาจนิยมครอบอยู่อย่างไร เขากล้าพูดว่าสถาบันเป็นปัญหา และมองเห็นปัญหาส่วนอื่นๆ ในประเทศด้วย” ป้อมแจกแจง

ป๊อกเองก็เห็นด้วยว่าวัยเป็นตัวแปรที่ใช้คาดเดาความเห็นทางการเมืองของข้าราชการได้ “คนที่มีอายุ อยู่ในระดับหัวหน้า แม้จะเป็นคนเก่ง แต่ก็มีแนวโน้มเป็นสลิ่ม ซึ่งเราคิดว่าเป็นเพราะเขามีภาพอุดมคติของสังคมไทยไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ เขาคิดว่าคนควรพอเพียง สถาบันจะช่วยให้ชาติพัฒนาจากประสบการณ์ที่เขาเห็นว่าไทยรอดจากการเป็นคอมมิวนิสต์และพัฒนาเป็นประเทศชั้นกลางบนในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้ามองแบบเป็นธรรมก็เข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วไง”

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องชนชั้นและสวัสดิการความมั่นคง ก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ข้าราชการบางส่วนไม่สนใจการเมืองเท่าที่ควร “ชนชั้นกลางถึงกลางบนเป็นกลุ่มคนที่สบายดีอยู่แล้ว คิดว่าประเทศไทยเป็นแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว จึงไม่แฮปปี้กับคนที่จะมาดิสรัปต์”

“เมื่อคนเหล่านี้มารับราชการ ก็มีความมั่นคงของข้าราชการเพิ่มขึ้นมาอีก เขายิ่งคิดว่าชีวิตมั่นคงดี การแข่งขันต่างๆ ในสังคมไม่ได้ยากเกินความพยายาม ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศนี้ไม่ได้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม คนที่อยู่ต่ำกว่าพวกเขาแข่งขันได้ยากกว่ามาก เรียกได้ว่าสวัสดิการข้าราชการเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าราชการบางส่วนอยากรักษาระบบแบบนี้ไว้” ป๊อกให้ความเห็น (ประเด็นนี้เคยถูกหยิบยกมาชวนคิดชวนคุยในเพจข้าราชการปลดแอกเช่นกันว่า แท้จริงแล้วสวัสดิการข้าราชการต่างๆ ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงอยู่แล้วหรือเปล่า? ไม่แน่ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมคือส่วนหนึ่งที่ทำให้งานราชการถูกมองว่ามั่นคงและสวัสดิการดีก็เป็นได้)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามว่าสุดท้าย ‘ความเป็นกลาง’ ส่งผลดีต่อระบบหรือตัวข้าราชการมากน้อยแค่ไหน ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมสงวนท่าทีแล้วหรือไม่ คนที่น่าจะอึดอัดมากที่สุดอย่างป๊อก กลับเชื่อว่า ข้าราชการจำเป็นต้องรักษาความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาทำงานให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

“โดยหลักการแล้ว รัฐบาลมีที่มาจากประชาชน ดังนั้นข้าราชการจึงมีหน้าที่ทำงานให้รัฐบาลที่รับใช้ประชาชนอีกทีหนึ่ง ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องข้าราชการถือตัวว่ารู้ดีกว่าประชาชน มองว่านักการเมืองเป็นพวกหวังแค่ผลประโยชน์และคะแนนเสียง จึงมักเขียนคำแนะนำเชิงนโยบายทำให้รัฐบาลทำงานได้ยาก ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น เราต้องรักษาความเป็นกลางเพื่อทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลให้ได้

“แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เราไม่เห็นด้วย แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ขัดขวางไม่ทำตาม การสู้ ก็ควรสู้นอกเวลางาน ยกเว้นว่ารัฐบาลออกนโยบายที่มีผลทางการเมืองระดับเปลี่ยนระบบ เปลี่ยนให้ดุลอำนาจข้างใดข้างหนึ่งได้เปรียบ กดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเป็นแบบนั้นข้าราชการต้องคานอำนาจเท่าที่คานได้” ป๊อกกล่าวอย่างจริงจัง

ส่วนตู่เลือกยิ้ม และตอบว่า “ผมไม่ได้เชื่อเรื่องความเป็นกลางเท่าไหร่ตั้งแต่ต้น”

“ผมว่าคนเราเลือกข้างอยู่เสมอ แต่ด้วยความที่เป็นข้าราชการ ก็อาจต้องเลือกว่าจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกต่อสาธารณะ หลายคนรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่เลือกจะไม่พูด ประเด็นสำคัญกว่าเป็นกลางหรือไม่ คืออยากให้เข้าใจว่าพวกเราไม่ได้เพิกเฉยต่อเรื่องต่างๆ ในสังคม”

“เราต้องตั้งหลักให้ได้ว่าหน้าที่ของข้าราชการคือการรับใช้ประชาชน ถ้านโยบายของรัฐบาลเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ จะรัฐบาลไหนเราก็คุยกันได้” ป้อมตอบสบายๆ “อย่างเราไม่ชอบรัฐบาล คสช. แต่นโยบาย คสช. เอาเข้าจริงก็ไม่ได้แย่ไปหมดทุกเรื่อง บางเรื่องก็โอเค เราเลยคิดว่าคนทำงานไม่จำเป็นต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองจากใจจริงก็ได้ ขอแค่มีเป้าหมายทำเพื่อประชาชนเหมือนกันก็พอ”

 

‘สถาบันกษัตริย์’ เรื่องต้องห้ามในระบบราชการ

 

“รู้ไหมครับว่าเรามีมุกตลกอย่างหนึ่งในที่ทำงาน คือการเป็นข้าราชการ รับจ้างฆ่าคนอาจไม่โดนให้ออก แต่ถ้าเหยียบโดน ม.112 เมื่อไร เด้งแน่นอน”

เสียงหัวเราะและเรื่องเล่าของป้อมซีเรียสขึ้น และพาวงสนทนาเคลื่อนมาสู่ประเด็นแหลมคมกว่าเดิม คือความเห็นของข้าราชการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจาก ‘มุกตลก’ กึ่งเล่นกึ่งจริงข้างต้น ก็สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นเรื่องสถาบันฯ เป็นหนึ่งในหัวข้อต้องห้ามของแวดวงราชการ ใครก็ตามที่หยิบยกมาเริ่มต้นวิพากษ์ จะมีบทสรุปไม่ค่อยสวยงามนักในเส้นทางอาชีพนี้

“ก่อนหน้านี้ เคยมีเพื่อนที่ทำงานคนหนึ่งโพสต์เฉี่ยวๆ ถึงสถาบันฯ บ่อย สุดท้ายก็ถูกเรียก ถูกสอบวินัย และให้ออกจากราชการ ถือเป็นคนเดียวเลยนับตั้งแต่ชีวิตการทำงานของเราที่มีคนถูกให้ออก” ป้อมกล่าวต่อ จากเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านมาถึงปัจจุบัน ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีเขาก็เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อม็อบคนรุ่นใหม่ทลายเพดานต้องห้าม ทำให้ประเด็นสถาบันฯ กลายเป็นหัวข้อถกเถียงได้ในสังคมไทย – แพร่หลายมาถึงกลุ่มคนวงในส่วนหนึ่ง

“เราดีใจที่ผ่านไปไม่กี่ปีก็สามารถคุยเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผย กระทั่งในที่ทำงานของเราตอนนี้ก็คุยกันได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามอีกต่อไป ต้องขอบคุณความใจถึงของคนรุ่นใหม่ด้วยว่าไม่กลัวที่จะพูด ซึ่งเราหวังว่าความกล้าของพวกเขาจะแทรกซึมเข้าไปในระบบราชการมากกว่านี้” ที่ป้อมบอกว่า ‘มากกว่านี้’ เพราะในตอนนี้ข้าราชการยังไม่สามารถแสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่นเวลาเขาโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องดังว่า ก็มักจะมีผู้ใหญ่หวังดีฝากมาเตือนเป็นประจำ

“เขาบอกว่ามัน ‘อาจจะ’ มีผลกระทบต่อความก้าวหน้า” ป้อมยิ้มว่า “แต่การจงรักภักดีไม่เท่าคนอื่นก็ไม่ควรถือเป็นความผิด และถ้าสถาบันฯ เป็นปัญหา ก็ควรพูดกันตรงๆ”

สถาบันฯ เป็นปัญหาต่ออะไร? อย่างแรกที่ป้อมมองเห็นคือเรื่องการเมือง “วันที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เราใส่เสื้อสีแดงไปทำงาน ผู้ใหญ่ที่เชียร์ประชาธิปัตย์เดินมาแสดงความยินดีด้วย มันทำให้เราคิดว่าการเมืองก็เหมือนกีฬา เราสามารถมีวัฒนธรรมที่แซวเรื่องการเมืองกันเหมือนเรื่องบอลแมนยู-ลิเวอร์พูลได้ แต่ทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าสถาบันฯ ยังมีผลต่อการเมืองอยู่ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ การเมืองจะเป็นเรื่องของพรรคการเมืองสองพรรคหรือหลายพรรค ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองกับสถาบันฯ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้”

ส่วนอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ คือสถาบันฯ เข้ามามีบทบาทแนบชิดในระบบราชการ โดยทั้งสามคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าข้าราชการแทบจะถูกบังคับให้รักและเชิดชูสถาบันฯ แบบไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบบางข้อที่เขียนระบุอย่างชัดเจน หรือกระทั่งวัฒนธรรมในองค์กร

“มีบางเรื่องที่เจาะจงมากว่าเป็นข้าราชการต้องโอเคกับสถาบันฯ ต้องคิดดีต่อสถาบันฯ เท่านั้น มันทำให้เราตั้งคำถามว่าระบบราชการตอนนี้ถูกครอบงำด้วยสถาบันฯ มากเกินไปหรือเปล่า มันควรนึกถึงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่สถาบันฯ หรือเปล่า” ป้อมกล่าว

“ความคิดแบบนี้ทำให้ข้าราชการที่ไม่ได้เป็นฝั่งอนุรักษนิยมหรือรักสถาบันฯ ถูกจับตามองมากกว่า จนแสดงความเห็นเรื่องนี้ได้ยากหรือไม่ได้เลย เพราะอาจจะได้รับการส่งเสริมค้ำจุนจากคนระดับหัวหน้าที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายสถาบันฯ น้อยลง ต้อง ‘อยู่ให้เป็น’ ถึงจะอยู่ได้”

เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ หรือ Network Monarchy เป็นเครือข่ายสังคมที่อยู่ในระบบราชการมาอย่างยาวนาน ป๊อกอ้างว่าข้าราชการประจำบางส่วนในหน่วยงานด้านยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศมักเป็นหนึ่งในเครือข่ายเหล่านี้ พวกเขาเกาะกุมเหนียวแน่น และมีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางนโยบายบริหารงานราชการต่างๆ “เป็นโครงสร้างราชการแบบไม่เป็นทางการซึ่งแทรกอยู่ในโครงสร้างที่เป็นทางการ” ป๊อกนิยามไว้อย่างนั้น

“ข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานรัฐแบ่งคร่าวๆ ออกเป็นสองกลุ่ม หนึ่งคือเส้นทางข้าราชการ (Career Bureaucrat) ของแท้ เลื่อนขั้นมาจากระดับ C3 ส่วนอีกกลุ่มเป็นข้าราชการที่เลื่อนขั้นจากผลงานกึ่งอำนาจและเครือข่าย กลุ่มหลังนี้จะย้ายส่วนราชการบ่อย ย้ายทีก็เลื่อนตำแหน่งเร็วเหมือนติดลิฟต์

“การที่ตัวระบบราชการเชื่อมกับ Network Monarchy ถึงแม้จะไม่ได้เชื่อมตรงเป๊ะ แต่เชื่อมมาเป็นทอด ก็ทำให้สถาบันฯ และเครือข่ายโดยรอบมีอำนาจชี้นำนโยบายสาธารณะได้ บางครั้งก็ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมาพร้อมค่านิยมในระบบราชการที่ปลูกฝังว่าข้าราชการต้องรับใช้สถาบันฯ ที่ช่วยดูแลประชาชนอีกที ไม่ใช่การให้ข้าราชการรับใช้ประชาชนโดยตรง”

ป๊อกยังเสริมอีกว่า แม้ว่าการนำตัวแทนจากเครือข่ายสถาบันฯ นั่งในตำแหน่งสำคัญจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงราชการ แต่เขาสังเกตว่าเริ่มมีมากขึ้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ชวนให้คนฟังอดสงสัยไม่ได้ว่าเมื่อเป็นแบบนี้ กลุ่มข้าราชการระดับสูงจะคิดเห็นต่อพลเอกประยุทธ์อย่างไรกัน?

“คนที่เป็น Network Monarchy ไม่ได้มองว่าประยุทธ์เก่งเลยนะ” ป๊อกยิ้มเล็กน้อย “แต่เขาเข้าใจว่าประยุทธ์กำลังปกป้องอะไรอยู่” เขาเสริมว่าบางครั้ง ข้าราชการประจำบางส่วนก็กลับชื่นชอบรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมากกว่ารัฐบาลที่มาจากคะแนนเสียงประชาชนเสียอีก

“เพราะคนที่มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรี บางครั้งก็ไม่ค่อยรู้อะไรเท่าไหร่ สุดท้ายข้าราชการจะเป็นคนแนะนำ ทำให้ข้าราชการรู้สึกว่าตนเองมีพลัง ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่คนทำงานอาจรู้สึกว่าโดนรัฐมนตรีสั่ง โดนบีบไม่ให้แสดงความเห็นมาก”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ป๊อกและป้อมยืนยันว่าระบบราชการยังคงเลือกคนตามผลงาน (Merit-based) อยู่ แม้จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ แต่หลายคนที่นั่งบนตำแหน่งสำคัญก็นับว่ามีความสามารถเป็นที่ยอมรับ – หรืออย่างน้อยก็มีทักษะดึงคนเก่งๆ มาร่วมงานกับตนเองได้

“เพียงแต่ว่าข้าราชการเหล่านี้มักจะเขียนคำเสนอแนะเชิงนโยบายปฏิบัติงานที่มีความเป็นข้าราชการสูง คือไม่ได้เลวร้าย แต่ ‘กลัวโกง’ เสียจนมีข้อจำกัดข้อห้ามเต็มไปหมด จนสุดท้ายปฏิบัติจริงไม่ได้”

 

ระเบียบและวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการปฏิรูป

 

คำถามต่อเนื่องกันมาคือในเมื่อคนทำงานมองเห็นปัญหาจากระบบเครือข่ายข้าราชการระดับสูงแล้วสามารถทำอะไรได้บ้างหรือไม่ ระบบราชการเปิดโอกาสให้ ‘ลูกน้อง’ เสนอความเห็นแย้งกับ ‘หัวหน้า’ ได้มากน้อยแค่ไหน?

ทั้งสามสบตากัน และให้คำตอบว่า ‘ได้’ แต่ ไม่ใช่ในเวลาประชุมทางการ

“ห้องประชุมของข้าราชการ คือเคลียริ่งเฮาส์ ไม่ใช่ที่แสดงความเห็น การแสดงความเห็นเกิดขึ้นนอกห้องประชุม ทุกอย่างถูกเคลียร์ก่อนและหลังการประชุมเสมอ อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่เราจะไม่ฉีกหน้าผู้ใหญ่ ทำให้การประชุมของข้าราชการแทบไม่ใช่การประชุม” ป๊อกกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากป้อม

“อย่างที่ว่า ห้องประชุมไม่หักหน้ากันอยู่แล้ว จุดที่จะโต้เถียงกันค่อนข้างเยอะคือก่อนเข้าห้องประชุม ซึ่งหน่วยงานเราค่อนข้างทันสมัย ทำให้ข้าราชการเด็กๆ กล้าออกความเห็นกับผู้ใหญ่กันค่อนข้างมาก แต่ก็มีบางแห่งที่เราเห็นว่าคนยังพับเพียบไม่กล้าแย้ง” ป้อมว่า

“อย่างผมก็คอยรับคำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยแย้งอะไรมาก” ตู่ในฐานะที่เป็นข้าราชการอายุน้อยสุดในกลุ่มเอ่ย ซึ่งป๊อกเองก็แชร์ว่าไม่ใช่หัวหน้าทุกคนที่จะยอมรับฟังแต่โดยดี

“ถ้าเราไม่เห็นด้วย การแย้งก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและนิสัยของแต่ละคน ถ้าคนที่สั่งจะเอาแน่ๆ และมีอิทธิพลมาก เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าคนสั่งเป็นคนเปิดกว้างในระดับหนึ่ง เราก็อาจจะแย้งได้บ้าง แต่การแย้งนั้นก็ต้องใช้หลักเหตุผล ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเขาเองเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากคำแนะนำของเรา แบบนั้นเขาถึงฟัง”

“เราต้องฉีกกรอบตรงนี้ทิ้ง เพื่อให้ประเทศไปได้ไกลมากกว่านี้” ป้อมพูด เขายอมรับว่าตนไม่ได้ขัดใจแค่วัฒนธรรม ‘ถนอมน้ำใจ’ กันในที่ประชุมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพิธีรีตองต่างๆ เช่น การร่ายวาระ การแนะนำผู้เข้าร่วมประชุม แถมยังใช้ภาษาทางการมากเกินไป ไม่ได้ ‘เนื้อ’ ที่ต้องการสักที ทั้งหมดทั้งมวลควรถึงเวลาปรับเปลี่ยนได้แล้ว

ระบบราชการควรปรับเปลี่ยนเรื่องใดอีก? คำตอบจากวงข้าราชการปลดแอกที่อาจแทนใจใครหลายคน คือขั้นตอนและรายละเอียดมากมายของงานเอกสาร ทั้งการรอเซ็นเอกสารจากหัวหน้าหลายทอด ใช้เวลาเดินเรื่องนาน ไปจนถึงต้องเล็งว่าตราครุฑควรห่างจากกระดาษกี่เซนติเมตร ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ชวนให้คนทำงานเกิดอาการ ‘หมดไฟ’ และถูกกลืนความกระตือรือร้นแรกเริ่มหายไปกับระบบ

“รายละเอียดบางอย่างเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าไร้สาระ มันไม่ได้มีความหมายต่อการทำงานขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ทำและระบบ พอเราจำต้องอยู่กับงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน มันทำให้เราแปลกแยกจากตัวเราเอง ทำให้เราหมดไฟ” ตู่ออกความเห็น และป้อมก็คิดไม่ต่างกัน

“ผู้ใหญ่ที่เราเคารพบอกว่าหนังสือราชการเป็นหน้าตาของหน่วยงาน แต่สำหรับเรา คำว่าหน้าตาของหน่วยงานคือไม่ควรสะกดผิด เรียบเรียงเข้าใจง่าย เนื้อหาถูกต้อง แค่นี้ก็น่าจะเกินพอ ไม่จำเป็นต้องแข่งกันเรื่องรูปแบบเป๊ะเหนือเป๊ะขนาดนั้น” ป้อมกล่าว พร้อมเล่าเสริมว่าเคยมีคนทำงานเสนอเรื่องการทำหนังสือราชการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินงาน “แต่สุดท้ายมันก็อาจจะดูใหม่เกินไปสำหรับผู้ใหญ่บางคน ไอเดียนี้เลยไม่โดนซื้อ ทั้งที่ถ้าทำได้จริงจะมีคุณูปการต่อระบบราชการมาก ตอนนี้คนเสนอเองก็ย้ายไปทำงานเอกชนแล้ว ระบบมันทำลายไฟของคนจริงๆ”

“เราควรตั้งคำถามกับกฎระเบียบนะว่าจุดประสงค์คืออะไร มันยังโอเคในโลกปัจจุบันอยู่ไหม คนที่อยู่มานานมีข้อเสียคือเราจะเริ่มชินกับสิ่งที่ไม่ควรชิน อย่างเรื่องรายละเอียดยิบย่อยในงานเอกสาร มันเหมือนส่วนหนึ่งของเราโดนกลืนไปกับระบบ ไปกับแบบแผน ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องที่ควรชินเลย”

สำหรับตู่ สิ่งที่ทำให้ข้าราชการรุ่นใหม่อย่างเขาเข้าไปในระบบแล้วแทบจะหมดไฟ ไม่ใช่แค่ความเคยชิน แต่เป็นเพราะบรรยากาศแห่งความกลัว

“จากประสบการณ์คือเรารู้สึกกลัว กลัวการแย้งผู้ใหญ่ กลัวเรื่องการทำหนังสือ เรื่องระเบียบอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เพราะไม่รู้เลยกลัวทำผิด

“ที่สำคัญคือหลายคนกลัวที่จะทำ แม้ทุกคนเห็นด้วยว่าควรจะเปลี่ยน แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร จะมีกระบวนการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ความไม่รู้ทำให้เกิดความกลัวปกคลุมระบบ และเราอยู่ใต้ความกลัวมานาน เมื่อสั่งสมในตัวเราเรื่อยๆ ก็จะเริ่มชินชา ซึมๆ หมดไฟไป”

 

อย่างไรก็ตาม ในระบบที่ชวนให้คนหมดไฟ กลุ่มข้าราชการปลดแอกก็ยังไม่หมดหวัง

พวกเขาเชื่อว่าอย่างน้อยๆ การออกมานำเสนอเรื่องราวและปัญหาของระบบราชการ เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะแนวทางแก้ไข คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการพูดคุยเรื่องการเมือง วิธีคิดในการทำงาน ไปจนถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ

“สำหรับตอนนี้ เราพยายามนำเสนอปัญหาในระบบ สะท้อนมุมมองของข้าราชการที่ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐทำในตอนนี้ และอยากจะจุดประกายให้ข้าราชการคนอื่นๆ กล้าออกมาแสดงความเห็น” ป้อมเป็นตัวแทนกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของกลุ่มข้าราชการปลดแอก

ตั้งใจว่าจะทำต่อไปอีกนานแค่ไหน? ไม่มีใครรู้ แต่พวกเขาก็เตรียมใจจะต่อสู้ในระยะยาวจนกว่าจะปลด ‘แอก’ ของข้าราชการสำเร็จในสักวัน

“เราตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าการปลดแอกของข้าราชการไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น” ตู่ทิ้งท้าย

“การปลดแอก ปฏิรูป เปลี่ยนแปลงระบบราชการไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในปีสองปี มีหลายเรื่องที่ต่อให้ใช้เวลาทั้งชีวิตก็อาจจะยังไม่เปลี่ยน แต่ถ้ายังมีชีวิต เราก็อยากทำไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นข้าราชการแล้วก็ตาม”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save