fbpx
Exclusive โจชัว หว่อง “ความหวัง คือผลลัพธ์จากการลงแรงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม”

Exclusive โจชัว หว่อง “ความหวัง คือผลลัพธ์จากการลงแรงเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม”

 ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปี 2014 โลกรู้จัก โจชัว หว่อง ในฐานะโฉมหน้าของการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกง หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘ขบวนการร่ม’

ณ เวลานั้น เขาคือ ‘พลังคนรุ่นใหม่’ ที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก

แม้ว่าการต่อสู้บนท้องถนนจะจบลงในวันที่ 79 ด้วยการสลายการชุมนุมที่เขตคอสเวย์เบย์และข้อเสนอกฎหมายเลือกตั้งผู้แทนที่ไม่น่าพอใจนักจากปักกิ่ง แต่เส้นทางการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ไม่ราบเรียบเช่นนี้ คือสัญญาณว่าการต่อสู้ยังคงอีกยาวไกล และจะไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสู้กับมหาอำนาจเผด็จการอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลังจากนั้น โจชัวถูกตัดสินจำคุกหลายครั้งจากคดีในการชุมนุมประท้วง

6 ปีถัดมา ฮ่องกงตกอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง พรรคเดโมซิสโตที่โจชัวก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในสนามการเมืองรัฐสภามีอันเป็นต้องยุบไป ซ้ำร้าย เขาและผู้สมัครสายประชาธิปไตย 11 คนยังถูกแบนไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งสมัชชานิติบัญญัติแห่งฮ่องกง แต่แม้ในวันที่เขาบอกว่า “เหมือนฝันร้าย” โจชัวยังคงต่อสู้บนเส้นทางสายประชาธิปไตยเพื่อเสรีภาพของฮ่องกงต่อไปด้วยความหวัง หากเปิดดูทวิตเตอร์ของเขา จะพบว่าเขายังเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์อยู่เกือบตลอดเวลา

เสียงของโจชัวไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อฮ่องกงเท่านั้น เขายังทวีตสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยทั่วทุกมุมโลก และยิ่งอุณหภูมิการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ในไทยร้อนระอุขึ้นหลังการจับกุมสมาชิก ‘คณะราษฎร 2563’ การสลายการชุมนุมในช่วงกลางเดือนตุลาฯ และการนัดแฟลชม็อบทั่วไทยตลอดปลายเดือนตุลาคม ภาพการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบเผด็จการและการถูกรัฐใช้อำนาจกดปราบร้อยรัดความรู้สึกร่วมระหว่างฮ่องกง ไทย และไต้หวันเข้าด้วยกันภายใต้ #MilkTeaAlliance เขาทวีตสนับสนุนการประท้วงในไทยหลายทวีต รวมทั้งยังออกไปแสดงพลังหน้าสถานกงสุลใหญ่ ณ ฮ่องกงหลังวันสลายการชุมนุม นี่คือหนึ่งในข้อความจากป้ายประท้วงของเขา

“#StandwithThailand ผมขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนนะครับ พวกเราชาวฮ่องกงเป็นกำลังใจให้ผู้ประท้วง พวกเราจะร่วมกันต่อสู้กับเผด็จการ และผ่านมันไปด้วยกัน พวกเราจะยืนเคียงข้างคนไทย

ในวันที่เส้นทางสู่ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยขวากหนาม 101 ต่อสายตรงสนทนากับ โจชัว หว่อง ว่าด้วยการรักษาความหวังในวันที่มืดมิด แสงสว่างจากพลังของคนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหว ไปจนถึงภราดรภาพและภาพซ้อนทับของการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยและฮ่องกง

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

 

ตอนนี้คุณเป็นอย่างไรบ้าง

วันพรุ่งนี้ (3 พ.ย.) ผมต้องไปฟังศาลพิจารณาคดีตอน 9 โมงครึ่ง ผมมองว่ารัฐพยายามใช้อำนาจตุลาการเป็นอาวุธลดทอนเสียงของผู้ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ และแน่นอนว่าการใช้อำนาจตุลาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่ไทยด้วยเหมือนกัน

 

เห็นคุณทวีตเกี่ยวกับขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเยอะมาก ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเท่านั้น แต่คุณยังทวีตสนับสนุนการเคลื่อนไหวหลายๆ ที่ทั่วโลก รวมทั้งในไทยด้วย

ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนฮ่องกง ทุกคนล้วนทนทุกข์อยู่กับการกดขี่จากระบอบเผด็จการที่ไม่เคารพประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ในห้วงเวลาแบบนี้ เราต้องแสดงเอกภาพ ภราดรภาพ และสนับสนุนการลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการของคนรุ่นใหม่

 

อีกหนึ่งอย่างที่คุณทวีตถึงบ่อยๆ คือ ‘พันธมิตรชานม’

พันธมิตรชานมคือพันธมิตรทางการเมืองแบบหลวมๆ แค่คุณไม่ยอมก้มหัวให้จีนหรือระบอบเผด็จการอำนาจนิยม คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรได้ไม่ว่าคุณจะมาจากไทย ฮ่องกง หรือไต้หวันก็ตาม

อีกอย่างหนึ่ง แฮชแท็กนี้ยังทำให้เห็นว่าการเมืองภาคประชาชนระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ชาวเน็ตเองก็มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง กดดันชนชั้นนำทางการเมืองได้

 

เมื่อสักครู่คุณพูดถึงภราดรภาพ ทำไมภราดรภาพจึงสำคัญในเวลาเช่นนี้

พวกเราอาจมาจากคนละประเทศ ผ่านประวัติศาสตร์คนละชุด มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็จริง แต่ที่เราต้องเผชิญร่วมกันคือเผด็จการที่ก้าวร้าว ใช้อำนาจข่มขู่ ไม่ยอมถอย เหมือนอย่างที่จีนกำลังใช้นโยบายการทูตแบบ Wolf Warrior ภราดรภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผมหวังว่าการเสริมสร้างภราดรภาพร่วมกันจะช่วยให้เสียงของพวกเราดังขึ้น และไม่ถูกกลบให้เงียบหายไป

 

คุณเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่คุณยังเป็นนักเรียน อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณอุทิศชีวิตไปกับการต่อสู้ตั้งแต่ยังอายุน้อย ทั้งๆ ที่ช่วงวัยรุ่นควรเป็นเวลาที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน

ผมเกิดที่ฮ่องกง ใช้ชีวิตในฮ่องกง ผมรัก ผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ ความหวังของผมคือการเห็นคนรุ่นใหม่ต่อจากนี้ไปมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ แทนที่อนาคตของพวกเขาจะถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ

คุณอาจเลือกลุกขึ้นมาสู้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ แต่ทำไมคุณถึงลุกขึ้นมาสู้ตอนที่ยังอายุน้อย มันมีข้อดีไหม

การออกมาเคลื่อนไหวตอนอายุยังน้อยมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อดีคือเราได้แสดงพลัง ส่งเสียงของพวกเราเองโดยไม่ต้องผ่านใคร เพราะผมเชื่อว่าคนรุ่นต่อๆ ไปสมควรที่จะได้รับสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราต้องแสวงหาความร่วมมือจากคนทุกรุ่น ไม่ใช่แค่เพียงในหมู่คนรุ่นใหม่เหมือนอย่างตอนที่ผมออกมาเคลื่อนไหวสมัยมัธยมเท่านั้น ตอนที่ฮ่องกงประท้วงเมื่อปี 2019 ผู้ประท้วงอายุน้อยที่สุดที่ถูกจับอายุเพียงแค่ 11 ปีเท่านั้น ส่วนผู้ประท้วงอายุมากที่สุดที่ถูกจับอายุสูงสุดอยู่ที่ 84 ปี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ คนรุ่นมิลเลเนียล หรือคนเจนฯ Z ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน ทุกคนล้วนหนีจากการกดขี่ของเผด็จการไม่ได้ การแสวงหาภราดรภาพในหมู่คนทุกรุ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

ที่ไทยเรามักพูดเสมอว่า “พลังคนรุ่นใหม่คือพลังบริสุทธิ์”

คนทุกเจเนอเรชันมีความพิเศษของตัวเอง พลังคนรุ่นใหม่ก็พิเศษเช่นกัน โดยเฉพาะที่ว่าเป็นพลังหลักในการกดดันเผด็จการ

แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลง ส่งต่อความกล้าหาญสู่คนรุ่นต่อๆ ไปกำลังกลายเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องเอาชนะมันให้ได้

ผมหวังว่าคนรุ่นต่อๆ ไปจะมีพลังและก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น เหมือนอย่างที่ความมุ่งมั่นและความกล้าหาญของคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2000 ทำให้ผมประทับใจมาก

 

ตอนนี้สังคมไทยกำลังแตกเป็นสองเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น ที่ฮ่องกงเคยมีประสบการณ์เช่นนี้บ้างไหม แล้วคุณจัดการความไม่เข้าใจระหว่างกันอย่างไร

คนรุ่นใหม่ต้องทุ่มเทและให้เวลาไปกับการโน้มน้าวคนรุ่นก่อนให้อยู่ข้างเดียวกับเรา เพราะไม่ว่าจะเด็กหรือแก่ จะเห็นต่างกัน ทุกคนก็ยังเป็นคนในประเทศเดียวกันอยู่ดี

การโน้มน้าวต้องใช้เวลาและความพยายามเพื่อสร้างสัมพันธ์กับพวกเขาในชีวิตประจำวันของทุกๆ วัน กว่าจะเข้าใจและยอมเปลี่ยนมายืนอยู่ข้างเรา

 

มีอะไรที่เราเรียนรู้จากพลังมวลชนฮ่องกงได้ไหม

ถ้าพูดในเชิงปฏิบัติ เชื่อว่าแต่ละประเทศมีความต่าง มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะกรณีของไทยที่มีประสบการณ์ในการประท้วงหลายครั้งในอดีต โมเดลแบบฮ่องกงอาจนำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สู้เมื่อตอนที่คุณพร้อม

 

ว่ากันว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เกมม้วนเดียวจบ แต่เป็นเกมที่ต้องเล่นหลายตา

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการต่อสู้ดิ้นรนอันแสนยากลำเข็ญเหน็ดเหนื่อย และเป็นสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด

พวกเราสู้มานาน แต่เผด็จการอำนาจนิยมยักษ์ใหญ่อย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังไม่หายไปจากโลก คอยกัดกร่อนความเชื่อของเราอยู่ดี ก่อนหน้านี้ การต่อสู้กับเผด็จการเป็นแค่เรื่องในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ต่อจากนั้นก็เป็นคิวของฮ่องกงกับไต้หวัน ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของทั้งเอเชีย รวมถึงไทยด้วย เพราะจีนกำลังขยายอำนาจผ่านนโยบาย Belt and Road Initiative

มันเป็นการต่อสู้ในระยะยาว แม้ว่าเราอาจไม่ชนะทุกสมรภูมิ แต่เชื่อว่าเราจะชนะสงครามเพื่อประชาธิปไตยได้

 

แน่นอนว่าตลอดเส้นทางการต่อสู้ มีทั้งช่วงเวลาที่สว่างไสวและช่วงเวลาที่มืดมน คุณจัดการกับความกลัวและความผิดหวังอย่างไร

บางครั้งพวกเราเหนื่อย เราอ่อนแรง มีวันที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างเพราะพ่ายแพ้ระหว่างทางเส้นทางการต่อสู้ แต่เรารู้ดีว่าฮ่องกงยังมีคนรุ่นใหม่และเพื่อนร่วมทางที่เชื่อเหมือนกับเรา แม้จะรู้อยู่ในใจว่ากำลังต่อกรอยู่กับเผด็จการที่ทรงพลังที่สุดในโลกก็ตาม ผมต้องเชื่อมั่นในทีมและทุกคนที่ร่วมสู้ด้วย

 

คุณเคยกล่าวไว้ว่าฮ่องกงใต้ร่มเงากฎหมายความมั่นคงเปรียบเสมือนฝันร้าย คุณหล่อเลี้ยงความหวังเอาไว้อย่างไร

สิ่งที่เราเรียนรู้จากการสู้ในปี 2019 คือ เราต้องต้านเผด็จการต่อไป ต้องไม่ลังเลที่จะลงมือต่อสู้ เพราะการกระทำเสียงดังกว่าคำพูด

ผมเชื่อว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจและภราดรภาพจะช่วยเสริมให้ทุกคนร่วมสู้ต่อไปด้วยกันได้อย่างหนักแน่นมากขึ้น

 

คุณเคยเขียนไว้ว่า “ความหวังจะยังอยู่ต่อไปได้ตราบเท่าที่เรายังฝันและสู้เพื่อมัน”

ผู้คนมักบอกว่ามองไม่เห็นความหวัง แต่ที่จริงแล้วความหวังคือผลลัพธ์ตามมาจากการมีส่วนร่วมลงแรงเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

 

ในขณะที่โลกตะวันออกกำลังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตย เรากลับเห็นประชาธิปไตยในโลกตะวันตกกำลังถอยร่น ทำไมประชาธิปไตยยังคงมีความหมายอยู่

การที่ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกตกต่ำลง ไม่ได้ลดทอนให้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพของเราหมดความหมายลงเลยแต่อย่างใด โดยเฉพาะในเมื่อรัฐบาลของเราไม่ได้มาจากอำนาจของประชาชน หนำซ้ำยังคุกคามเสรีภาพของผู้คนอีกด้วย

 

แล้วการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีความหมายอะไรสำหรับคุณ คุณนิยามมันอย่างไร

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหมายความว่า เราควรเป็นเจ้าของบ้านที่เราอาศัยอยู่อย่างแท้จริง

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save