fbpx
จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789

จดหมายถึงพระมหากษัตริย์: เสียงเรียกร้องให้ปฏิรูป ก่อนการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างใหญ่หลวงหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการทลายคุกบาสตีย์ (Prise de la Bastille) ในวันที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือเหตุการณ์ที่ผู้ชายชาวฝรั่งเศสมากถึงร้อยละ 70-80 ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงผ่านการประมวลคำร้องทุกข์ถึงกษัตริย์ลุยส์ที่ 16

การประมวลคำร้องทุกข์นี้ เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสังคมฝรั่งเศสที่ชนชั้นนำกำลังมีความแตกแยก ชนชั้นสูงคือพระและอภิชน[1]รวมตัวกันเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลส่วนกลางของราชสำนัก ในขณะที่ชนชั้นกำเนิดใหม่อย่างพวกกระฎุมพี (bourgeoisie) แม้จะมีอำนาจทุนแต่กลับปราศจากอำนาจทางการเมืองที่จะต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา ชนชั้นล่างที่เป็นอิสระจากระบบศักดินาและมีความตื่นตัวทางการเมือง (เช่น แรงงานจนในเมือง ช่างฝีมือเล็กๆ และเจ้าของร้านค้า) พากันหลั่งไหลจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่และปารีสเพื่อหางานทำ ชนชั้นล่างที่ยังอยู่ใต้ระบบศักดินา (เช่น ชาวนาติดที่ดิน) ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยพระและอภิชนเจ้าที่ดิน อีกทั้งความอยู่รอดก็ขึ้นอยู่กับผลผลิตที่อิงกับดินฟ้าอากาศ ก็เพิ่งผ่านพ้นฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสมาได้ไม่นาน[2]

ฎีการ้องทุกข์ หรือที่เรียกว่า “กาเย เดอ โดเล-อองซ์” (Cahier de doléances) แห่งปี ค.ศ.1789 จึงเป็นบันทึกที่สะท้อนความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่ และสะท้อนผลประโยชน์ รวมทั้งความขัดแย้งของแต่ละชนชั้นในขณะนั้น ความไม่พอใจกลายเป็นข้อเรียกร้องในฎีการ้องทุกข์ให้มีการปฏิรูปสังคมฝรั่งเศสขนานใหญ่

แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกให้เรารู้ว่าเสียงเรียกร้องเหล่านั้นไม่ได้สำเร็จลงในระบอบเก่าของฝรั่งเศส (Ancien Régime) เพราะเพียงไม่ถึง 3 เดือนนับตั้งแต่การทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์แก่กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 ก็เกิดการทลายคุกบาสตีย์ขึ้นเสียก่อน

การปะทุขึ้นของสถานการณ์ปฏิวัตินำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสอย่างสุดขั้ว ที่สำคัญ เป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสนี่เองที่ทำให้ข้อเรียกร้องในฎีการ้องทุกข์ส่วนใหญ่บรรลุผล

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปสำรวจบริบทของเหตุการณ์และความสำคัญของหนึ่งในเอกสารทางการเมืองที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส เรื่องราวของฎีการ้องทุกข์ หรือ กาเย เดอ โดเล-อองซ์ (Cahier de doléances) แห่งปี ค.ศ.1789

 

(1)
โหมโรงของการปฏิวัติ: เมื่อฉันทามติของ ‘ระบอบเก่า’ เริ่มแตกสลาย

 

“พวกชนชั้นนำเริ่มการปฏิวัติ แต่เป็นชนชั้นล่างที่บรรลุการปฏิวัติ”[3]

ฟรองซัวส์-เรเน เดอ ชาโตบริอองด์ (ค.ศ.1849)

 

คำถามว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด เป็นคำถามที่คลาสสิกคำถามหนึ่ง แต่การปฏิวัติไม่ใช่การกระทำอันรวบรัดที่เราจะสามารถระบุลงไปได้อย่างชัดเจนว่า ทุกๆ อย่างเริ่มขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งของกาลเวลา การปฏิวัติคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่ซับซ้อนยาวนาน การปฏิวัติคือการทำลาย การแปรเปลี่ยน และการสังเคราะห์แบบแผนทางสังคมและคนในสังคมขึ้นใหม่

แต่หากถามว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ปฏิวัติ สภาวะที่ความขัดแย้งทางสังคมของกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ปะทุออกมาจนเห็นได้ชัด สภาวะที่ ‘ฉันทามติ’ ในระเบียบแบบแผนเดิมเริ่มพังทลาย สำหรับการปฏิวัติฝรั่งเศส เราอาจย้อนไปได้ถึงเหตุการณ์ที่เรียกว่า “การก่อกบฏของอภิชน” [4] (Révolte nobiliaire) ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1787-1788 หรือเพียงราวปีเดียวก่อนการทลายคุกบาสตีย์

การก่อกบฏของอภิชนเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลส่วนกลางของราชสำนักและชนชั้นสูงทั้งที่เป็นฆราวาสและพระ ชนชั้นที่กุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจในระบอบเก่าของฝรั่งเศสนี้เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ได้ผลกระทบจากนโยบายแก้ไขสภาวะฝืดเคืองด้านการคลังของรัฐบาลซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามเจ็ดปี (ค.ศ.1756–1763)[5] และการเข้าร่วมสงครามปฏิวัติอเมริกันในปี ค.ศ.1778

เพื่อแก้ไขสภาวะฝืดเคืองด้านการคลัง อาน โรแบร์ต์ ฌาคส์ ตูร์โกต์ (Anne Robert Jacques Turgot) เสนาบดีกองบัญชีกลาง (Comptroller-General) และที่ปรึกษาด้านการคลังของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ได้เสนอแนวทางหลายประการ แต่มีนโยบายสำคัญ 2 ประการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างรัฐบาลส่วนกลางและชนชั้นสูง นั่นคือ 1.) การยกเลิกระบบเก็บภาษีแบบแบ่งแยกตามฐานันดร โดยให้เก็บภาษีชนิดใหม่ที่อิงตามขนาดที่ดินจากประชาชนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น (la subvention territoriale) และ 2.) การขยายฐานภาษีของอากรสแตมป์

นโยบายเก็บภาษีชนิดใหม่ที่อิงตามขนาดที่ดินโดยไม่มีข้อยกเว้น หมายความว่าชนชั้นสูงคือพระและอภิชนเจ้าที่ดินซึ่งมีที่ดินเป็นจำนวนมากและเคยได้รับการยกเว้นภาษีจะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกันกับคนทั่วไป ในขณะที่นโยบายขยายฐานภาษีของอากรแสตมป์จะส่งผลกระทบให้หัวหน้าสมาคมอาชีพต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ[6] ต้องรับภาระทางภาษีมากขึ้น

แม้ข้อเสนอของตูร์โกจะได้รับความนิยมในหมู่นักการคลังสมัยนั้น กระทั่งนักการคลังที่ไม่เห็นด้วยกับตูร์โกต์ก็ยังเชื่อว่าการปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีจะเป็นหนทางเดียวที่แก้ไขสภาวะขาดดุลการคลังของฝรั่งเศสได้[7] แต่ข้อเสนอนี้กลับทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นสูงอย่างพระและอภิชนเจ้าที่ดิน รวมทั้งชนชั้นกลางระดับบนอย่างหัวหน้าสมาคมอาชีพ เมื่อรัฐบาลส่วนกลางของราชสำนักต้องการบังคับใช้นโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี ก็จะถูกต่อต้านจากคณะปาเลอมองต์ (Parlement) [8] ซึ่งเป็นที่ประชุมของอภิชนโดยตลอด

คณะปาเลอมองต์มีทั้งส่วนกลางและระดับภูมิภาค พวกเขามีอำนาจวินิจฉัยตัดสินคดีความต่างๆ และยังมีอำนาจรองรับนโยบายของรัฐบาลให้เป็นกฎหมายในที่ประชุมที่เรียกว่า “ลี เดอ ฌูสติส” (lit de justice) ซึ่งมีกษัตริย์เป็นองค์ประธาน การขัดขวางของคณะปาเลอมองต์ ทำให้รัฐบาลของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ไม่สามารถบังคับใช้นโยบายปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีได้

เสนาบดีกระทรวงการคลังคือ ชาร์ลส์ อเล็กซองด์ร์ เดอ คาลอน (Charles Alexandre de Calonne) จึงเสนอให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาชนชั้นสูง (Assemblée des notables) ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1787 โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากเชื้อพระวงศ์ พระและอภิชนที่กษัตริย์เป็นผู้เลือกมาเอง และใช้เป็นแรงกดดันให้คณะปาเลอมองต์ต้องยอมทำตามความต้องการของรัฐบาล แต่กลายเป็นว่าสมาชิกของสภาชนชั้นสูงเองก็ต่อต้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีเช่นกัน รัฐบาลราชสำนักจึงตัดสินใจปิดประชุมสภาชนชั้นสูงซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์และชนชั้นสูงบานปลายยิ่งขึ้นไปอีก คณะปาเลอมองต์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาครวมตัวกันดื้อแพ่งกับรัฐบาล มีการชุมนุมประท้วงและการจลาจลในย่านชนชั้นสูงหลายแห่งในปารีส

วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1787 คณะปาเลอมองต์ยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลส่วนกลางของกษัตริย์ว่าทางออกเดียวของความขัดแย้งนี้คือการเรียกประชุมสภาฐานันดรทั่วไป (États généraux) อันประกอบด้วยพระ อภิชน และฐานันดรที่ 3 หรือสามัญชน เพียง 2 เดือนต่อมา เสนาบดีกระทรวงการคลังคนใหม่คือ เอเตียน ชาร์ลส์ เดอ โลเมนี เดอ เบรียน (Étienne Charles de Loménie de Brienne) ได้บรรลุข้อตกลงที่ประนีประนอมกับชนชั้นสูงโดยสัญญาว่าจะให้มีการประชุมสภาฐานันดรทั่วไปในปี ค.ศ.1792 แลกกับการอนุมัติเงินกู้ 420 ล้านลีฟร์ (livres)[9] เป็นเวลา 5 ปี

ถึงกระนั้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นสูงและรัฐบาลส่วนกลางของกษัตริย์ก็ยังไม่จบสิ้น วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ.1788 หนึ่งในเสนาบดีของกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 คือ เครเตียง ฟรองซัวส์ เดอ ลามวนญง เดอ บาวีลล์ (Chrétien François de Lamoignon de Bâville) ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางด้วยการยกเลิกคณะปาเลอมองต์ และแทนที่ด้วยศาลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์ ข้อเสนอนี้ทำให้เกิดการจลาจลอย่างรุนแรงทั่วปารีสและเมืองแรนส์ (Rennes) รวมทั้งการจลาจลที่เมืองเกรอโนบล์ (Grenoble) ในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ.1788 เรียกว่าเหตุการณ์ “วันแห่งกระเบื้อง” (Journée des Tuiles) เนื่องจากประชาชนเอากระเบื้องมุงหลังคาปาใส่ทหารที่ถูกส่งมาสลายการจลาจล

เหตุการณ์จลาจลที่เมืองเกรอโนบล์นำไปสู่การประท้วงของประชาชนด้วยการรวมตัวประชุมฐานันดรทั่วไปขึ้นเองที่ปราสาทวีซีลล์ (Château de Vizille) ในแคว้นโดฟีเน (Dauphiné) ประกอบด้วยพระ 50 คน อภิชน 165 คน และฐานันดรที่ 3 อีก 276 คน พวกเขาเรียกร้องให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 มีพระบรมราชโองการกำหนดเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไประดับชาติโดยด่วน

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1788 รัฐบาลส่วนกลางของกษัตริย์ยอมถอยด้วยการปลดลามวนญง เดอ บาวีลล์ออกจากตำแหน่งเสนาบดี และแต่งตั้งฌาคส์ เนกเกร์ (Jacques Necker) ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนให้เป็นเสนาบดีกระทรวงการคลังคนใหม่ รวมถึงยกเลิกความพยายามปฏิรูประบบยุติธรรม อีกสองวันต่อมา กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ยอมรับข้อเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไปในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1789

การประชุมสภาฐานันดรทั่วไปในปี ค.ศ.1789 จะเป็นการปลดปล่อยพลังทางการเมืองของฐานันดรที่ 3 หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส แกนนำของนักปฏิวัติที่จะมีบทบาทสำคัญในภายหลัง เช่น ดองตง (Danton) หรือ โรแบสเปียร์ (Robespierre) ล้วนมาจากฐานันดรที่ 3 ทั้งสิ้น

หลังการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไป ความขัดแย้งอย่างกว้างขวางภายในชนชั้นนำในช่วงของการก่อกบฏของอภิชน ค.ศ.1787-1788 จะถูกแทนที่ด้วยความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจารีตประเพณี (กษัตริย์ พระ และอภิชน) กับฐานันดรที่ 3 ผู้ต้องการมีอำนาจทางการเมืองทางการในฐานะตัวแทนคนส่วนใหญ่ของฝรั่งเศส

และนี่เองคือจุดที่ฉันทามติเดิมของระบอบเก่าของฝรั่งเศสไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

 

(2)
ประชาชนต้องการอะไร? ฎีการ้องทุกข์แห่งปี ค.ศ.1789

 

กาเย เดอ โดเล-อองซ์ (Cahier de doléances) คืออะไร? มันคือ “ฎีการ้องทุกข์” ซึ่งกษัตริย์ลุยส์ที่ 16 มีพระราชโองการในวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1789 เนื่องในโอกาสเรียกประชุมสภาฐานันดรทั่วไป (États généraux)[10] ให้ชายที่มีที่พำนักเป็นหลักแหล่งและมีอายุมากกว่า 25 ปีบริบูรณ์จากทั่วราชอาณาจักรมีส่วนช่วยกันประมวลคำร้องทุกข์ในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือนมีนาคม

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นทั้งในคฤหาสน์ ในอาราม ในสมาคมอาชีพ และในที่พักรายทาง แบ่งแยกไปตามฐานันดรทั้ง 3 ในห้วงเวลานี้เองที่คนเกือบทั้งฝรั่งเศสได้มีส่วนร่วมทางการเมือง นักประวัติศาสตร์ประมาณไว้ว่ามีผู้ชายราว 5 ล้านคนจากประชากรฝรั่งเศสในขณะนั้นเกือบ 27 ล้านคน ที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการประมวลฎีการ้องทุกข์นี้[11]

คำถามสำคัญก็คืออะไรเป็นสาเหตุให้กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ริเริ่มกระบวนการทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ให้คนฝรั่งเศสได้มีส่วนร่วมมากขนาดนี้? ทั้งที่กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 สามารถเรียกประชุมสภาฐานันดรทั่วไปตามข้อเสนอของชนชั้นสูงโดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้มีการประมวลฎีการ้องทุกข์จากทั่วราชอาณาจักรแต่อย่างใด

หากเรามองความสัมพันธ์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในช่วงก่อนการเรียกประชุมสภาฐานันดรทั่วไป เราย่อมเห็นว่าในขณะนั้น รัฐบาลส่วนกลางของราชสำนักกำลังมีความขัดแย้งกับพระและอภิชนอย่างกว้างขวางจากนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษี เป็นไปได้หรือไม่ที่ราชสำนักอาจต้องการอาศัยแรงกดดันจากสามัญชน (ผู้ที่ในขณะเดียวกันก็ถูกเอารัดเอาเปรียบจากทั้งพระและพวกอภิชนเจ้าที่ดิน) เพื่อบรรลุการปฏิรูปดังกล่าว?

ในเดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี ค.ศ.1789 ฎีการ้องทุกข์ชั้นต้นจากทั่วฝรั่งเศสที่มีมากถึงราว 60,000 ฉบับ ถูกรวบรวมโดยข้าราชการด้านกฎหมายและการปกครองส่วนภูมิภาคที่เรียกว่าบายีอาจชั้นรอง (bailliages secondaires) ที่มีอยู่ราว 1,200 แห่งทั่วราชอาณาจักร[12] สำนักงานในชั้นรองนี้ยังทำหน้าที่คัดลอกหรือตรวจทานความถูกต้องอีกครั้ง เพราะผู้ที่ร่างเอกสารในชั้นต้นนั้นอาจเป็นคนที่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น

จากนั้นเอกสารชั้นต้นทั้งหมดจึงถูกส่งไปยังสำนักงานบายีอาจชั้นสูง (bailliages principaux) ซึ่งมีอยู่ราว 400 แห่ง ข้าราชการเหล่านี้ทำหน้าที่เรียบเรียงสรุปและส่งฎีการ้องทุกข์ชั้นสุดท้ายไปยังผู้แทนของแต่ละฐานันดร ในท้ายที่สุด ตัวแทนของแต่ละฐานันดรทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ชั้นสุดท้ายที่มีอยู่ 12 ฉบับ รวมเป็น 36 ฉบับแก่กษัตริย์ลุยส์ที่ 16 ในพระราชพิธีเปิดสภาฐานันดรทั่วไป ณ เมืองแวร์ซาย (Versailles)

โดยภาพรวมแล้ว ฎีการ้องทุกข์เหล่านี้มีลักษณะปฏิรูป พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้โค่นล้มระบบเดิมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมแต่อย่างใด เช่น พวกอภิชนเรียกร้องว่าตำแหน่งราชการควรมาจากความดีความชอบหรือจากสายเลือด ไม่ใช่เพราะใช้เงินซื้อมา พวกพระที่เป็นสามัญชนเรียกร้องให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสมณศักดิ์ซึ่งเดิมสงวนไว้สำหรับพระที่เป็นอภิชนเท่านั้น ในขณะที่พวกสามัญชนเรียกร้องให้มีการจัดสวัสดิการหรือสังคมสงเคราะห์สำหรับประชาชน ลดการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน และบังคับใช้การเก็บภาษีอย่างเสมอภาคกัน[13]

ฎีการ้องทุกข์เหล่านี้ยังมีเนื้อหารวมไปถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูประบบราชการของราชอาณาจักร เช่น การสร้างระบบชั่ง ตวง วัดที่เป็นมาตรฐาน[14] การสถาปนารัฐธรรมนูญที่การใช้อำนาจและการสืบราชบัลลังก์มีความชัดเจน และระบบการศึกษาแห่งชาติภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กชายและหญิง หรือแม้แต่ข้อเรียกร้องทางสังคมที่ก้าวหน้าอย่างการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถหย่าสามีได้ เป็นต้น

แต่ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้เขียน คือฎีการ้องทุกข์ที่มาจากฐานันดรที่ 3 ซึ่งก็คือสามัญชนคนส่วนใหญ่ของสังคม ข้อเรียกร้องของพวกเขาอาจเรียบง่าย แต่สะท้อนมาจากสภาพความเป็นอยู่โดยแท้จริง

ฌอง โฌเรส (Jean Jaurès) นักการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญของฝรั่งเศสและผู้บุกเบิกประวัติศาสตร์สามัญชน (history from below) ด้วยการอภิปรายถึงความสำคัญทางการเมืองของฎีการ้องทุกข์แห่งปี ค.ศ.1789 เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์สังคมนิยมของการปฏิวัติฝรั่งเศส” (L’Histoire socialiste de la Révolution française)[15] ถึงตัวอย่างของ ฎีการ้องทุกข์จากหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปารีสชื่อ “แวร์ส์” (Vaires) ฎีการ้องทุกข์ฉบับนี้ขึ้นต้นด้วยการบรรยายสภาพความเป็นอยู่ดังนี้ว่า

“ที่หมู่บ้านแห่งนี้มีคนประกอบอาชีพอิสระ 16 คน ชาวนา 2 คน คนในหมู่บ้านทั้ง 18 คน มีแค่คนเดียวที่มีบ้านและที่ดินขนาด 6 ไร่ คนที่เหลืออาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กๆ เรียบง่าย ไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว ควาย หรือไก่ ทุกอย่างที่ดำรงชีวิตต้องซื้อหาเอาทั้งสิ้น โปรดมองดูความทุกข์ยากของพวกเราเถิด!”

ข้อเรียกร้องที่ตามมาสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของพวกเขาอย่างยิ่ง

ขอให้มีการจัดตั้งกองทุนด้วยเงิน 100 ลีฟร์ จัดหาครูสำหรับสอนศาสนาและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแก่ลูกหลานของพวกเรา ส่วนที่เหลือใช้เป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหม้าย เด็กกำพร้า และคนป่วย รวมทั้งใช้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของคนในชุมชนในยามฉุกเฉิน เช่น ให้มีการเก็บกักน้ำ หรือกรณีที่เกิดเพลิงไหม้”

ฎีกาฉบับนี้ไม่ได้จบลงเพียงแค่การเรียกร้องสวัสดิการเท่านั้น แต่พวกเขายังยืนยันด้วยว่าชาวบ้านมี ‘สิทธิส่วนรวม’ (collective rights) เหนือทรัพยากรในป่าของชุมชนซึ่งกำลังถูกยึดครองโดยอภิชนเจ้าที่ดินราวกับเป็นสมบัติส่วนตัว จนพวกเขาต้องเลี่ยงไปถางป่าขุดดินที่เต็มไปด้วยหินเพื่อเปลี่ยนที่ดินคุณภาพต่ำให้เป็นพื้นที่ทำกิน

ข้อความในฎีการ้องทุกข์สะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้านจากชุมชนเล็กๆ แห่งนี้เข้าใจเป็นอย่างดีว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิตลูกหลานของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ พวกเขาเรียกร้องสวัสดิการเพื่อดูแลช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า และท้ายที่สุดพวกเขาตระหนักถึงสิทธิ์ในการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ์อันชอบธรรมเหนือคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ

ความตื่นตัวทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นผลของความไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ที่แพร่กระจายไปทั่วฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ พวกเขาอาจไม่ได้อ่านหนังสือปรัชญาอย่างวอลแตร์ หรือรุสโซ แต่พวกเขาเริ่มรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสังคมในแบบที่เป็นอยู่นั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้อีกต่อไป

หลังการเปิดประชุมสภาฐานันดรทั่วไปเพียงไม่ถึง 3 เดือน ก็เกิดการทลายคุกบาสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 การปลดปล่อยพลังทางการเมืองของฐานันดรที่ 3 จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของชนชั้นนำก็ตาม ได้นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส

การปฏิวัติฝรั่งเศสตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ตามฎีการ้องทุกข์แห่งปี ค.ศ.1789 อย่างที่ระบอบเก่าไม่สามารถบรรลุได้ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม การที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ฟ้องหย่า การศึกษาแห่งชาติภาคบังคับที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย การยกเลิกอภิสิทธิ์และฐานันดรศักดิ์ ระบบมาตรฐานชั่ง ตวง วัด การปฏิรูปกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วฝรั่งเศส และโครงการสวัสดิการของรัฐ ล้วนเกิดขึ้นจากการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งสิ้น

บางทีความไม่พอใจของคนในสังคมอาจเป็นได้แค่ “การปฏิรูปฝรั่งเศส” ถ้าชนชั้นนำในยุคนั้นสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่อาจจะเป็นอย่างที่เลนินเคยกล่าวไว้ว่า

“การกดขี่เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะหนักหนาสาหัสเพียงใด ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่สถานการณ์ปฏิวัติในประเทศเสมอไป ส่วนใหญ่ การที่ชนชั้นล่างไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ในแบบแผนเก่าๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติ แต่ชนชั้นนำจะต้องไม่สามารถควบคุมและปกครองด้วยแบบแผนเก่าๆ ได้อีกต่อไปแล้วอีกด้วย” [16]

 

อ้างอิง

[1] อภิชน (nobility) คือชนชั้นในระบอบเก่าของฝรั่งเศส ประกอบด้วยอภิชนเจ้าที่ดินซึ่งสืบทอดการถือครองที่ดินจากบรรพบุรุษและมีอิทธิพลในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และอภิชนขุนนางซึ่งทำงานราชการที่แม้จะมีการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด แต่ก็มีการขายตำแหน่งอภิชนประเภทนี้อยู่มากในระบอบเก่าของฝรั่งเศส

[2] ฤดูหนาวครั้งใหญ่แห่งปี ค.ศ. 1788-1789 (Grand Froid, L’hiver 1788-1789) คือความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศในฝรั่งเศสที่อุณหภูมิต่ำติดลบมากถึง 7 – 20 องศาเซลเซียส เหตุการณ์นี้นำไปสู่การขาดแคลนผลผลิตและอาหาร หรือ ทุพภิกขภัย (famine) และภาวะข้าวยากหมากแพงในช่วงปี ค.ศ.1789

[3] « Les patriciens commencèrent la Révolution, les plébéiens l’achevèren » จาก Mémoires d’outre-tombe โดย François-René de Chateaubriand (1849)

[4] อ่าน George Rudé. (1967). The Crowds in the French Revolution. 1st Edition. Oxford University Press. (Part II บท “The Revolutionary Crowd in Action III: Prelude to Revolution”)

[5] สงครามเจ็ดปี (ค.ศ. 1756–1763) คือความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิบริเตนและฝรั่งเศสเรื่องข้อพิพาทดินแดนและอิทธิพลเหนืออาณานิคมในทวีปอเมริกา ความเพลี่ยงพล้ำของฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปีที่ฝรั่งเศสสูญเสียดินแดนอาณานิคม เช่น แคนาดา และลุยส์เซียนาบางส่วนให้กับอังกฤษ ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจเข้าร่วมสงครามปฏิวัติอเมริกันเพื่อสนับสนุนเอกราชของชาวอาณานิคมจากจากจักรวรรดิบริเตนในเวลาต่อมา

[6] ในระบอบเก่า การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะช่างฝีมือต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้สังกัดของสมาคมอาชีพ (Corps de métiers) ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐ

[7] อ่าน TJ. Sargent and FR. Velde. (1995). Macroeconomic Features of the French Revolution. Journal of Political Economy. Vol. 103, No. 3, pp. 474-518

[8] สมาชิกคณะปาเลอมองต์ประกอบด้วยชนชั้นอภิชนที่สืบทอดฐานันดรศักดิ์ตามสายเลือด พวกเขามีอิสระจากกษัตริย์เพราะบริบททางประวัติศาสตร์ของทวีปยุโรปที่ชนชั้นอภิชนต่อสู้คานอำนาจกับกษัตริย์และรัฐบาลจากส่วนกลางอยู่ตลอดเวลา ในทางปฏิบัติ กษัตริย์ไม่มีสิทธิ์ขาดในการบังคับใช้กฎหมายหากไม่ได้รับความเห็นพ้องของคณะปาเลอมองต์

[9] ลีฟร์ (livre) คือหน่วยเงินในระบอบเก่าของฝรั่งเศส จากตารางแนบท้าย 7 ใน George Rudé. (1967). The Crowds in the French Revolution. หน้า 251. ทำให้เราทราบว่าค่าแรงของกรรมกรในปารีสอยู่ที่ราว 25-30 ซู (sous) ต่อวัน ในขณะที่เงิน 1 ลีฟร์ (livre) มีค่าเท่ากับ 20-30 ซู

[10] สภาฐานันดรทั่วไป (États généraux) มีผู้แทนทั้งหมด 1,139 คน ประกอบด้วยอภิชน (270 คน) พระ (291 คน) และสามัญชน (578 คน)

[11] อ่าน Pierre Serna​. Que demande le peuple? : Les cahiers de doléances de 1789. หน้า 8-9. « Que​ demande le peuple? » เป็นสำนวนเก่าแก่ที่ย้อนไปได้ถึงสมัยโรมัน​ ในปัจจุบันเป็นสำนวนที่มีความหมายว่า​ “จะเอาอะไรอีกถึงจะพอใจล่ะ?” ปิแอร์ แซร์นา (Pierre Serna) เป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสแห่งซอร์บอน เขาอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้กับ ฌอง โฌเรส (Jean Jaurès) ในฐานะที่เป็นคนริเริ่มให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาและเรียบเรียงกาเย เดอ โดเล-อองซ์ (Cahier de doléances) ซึ่งเก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุ​ของรัฐสภา เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1903

[12] ในระบอบเก่าของฝรั่งเศส ราชสำนักจะแต่งตั้งข้าราชการที่เรียกว่า “บายี” (Bailli) มีอำนาจดูแลเขตการปกครองทางกฎหมายที่เรียกว่า “บายีอาจ” (Bailliage) – อันที่จริงในแคว้นเบรอตาญ (Bretagne) และภาคใต้ของฝรั่งเศสจะมีชื่อเรียกระบบนี้อีกแบบหนึ่ง แต่ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงเนื่องจากเป็นรายละเอียดมากเกินไป

[13] «Les habitant se plaignent d’être surchargés de taille, capitation et autres impôts[…] Pour remplacer tous ces impôts supprimés, le gouvernement établirait un impôt unique, en nature ou en argent, en y faisant contribuer les ecclésiastiques et les nobles qui doivent être assujettis comme le Tiers-État. » (ชาวชุมชนร้องเรียนว่าพวกเขาได้รับภาระจากภาษีที่ดิน ภาษีรายหัว และภาษีแบบอื่นๆ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีประเภทเดียวในรูปของสิ่งของหรือแรงงาน หรือในรูปของเงิน เพื่อแทนที่ภาษีซึ่งจะถูกยกเลิกเหล่านี้ และทำให้พระและอภิชนต้องจ่ายภาษีเช่นเดียวกันกับฐานันดรที่ 3) บางส่วนของฎีการ้องทุกข์จาก Valencay

[14] « Enfin, demander qu’il y ait mêmes poids et mesures pour tout le royaume et que l’on tienne plus exactement à la main la vérification desdits poids et à la police qui doit s’observer dans les bourgs et villages relativement bonne ordre. » (“ท้ายที่สุด เราเรียกร้องให้มีมาตรฐานชั่ง ตวง วัดเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มีผู้รับผิดชอบตรวจสอบความแม่นยำของมาตรฐานเหล่านี้โดยละเอียดยิ่งขึ้น และมีตำรวจคอยตรวจตราการใช้มาตรฐานดังกล่าวในเมืองและในหมู่บ้านให้เป็นไปอย่างถูกต้อง) บางส่วนของฎีการ้องทุกข์จาก Chennevières-sur-Marne

[15] อ่าน Jean Jaures. L’Histoire socialiste de la Révolution française. Tome I, La Constituante (1789-1791). หน้า 335-339.

[16] อ่าน Vladimir Lenin. (1913). May Day Action by the Revolutionary Proletariat.

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save