fbpx
Start-up: ให้มันเริ่มใหม่ที่รุ่นเรา

Start-up: ให้มันเริ่มใหม่ที่รุ่นเรา

จักรกริช สังขมณี เรื่อง

 

YouTube video

 

คอลัมน์ชาติพันธุ์ฮันกุกชิ้นนี้ ผมอยากจะเขียนถึงซีรีส์ Start-up ซึ่งกำลังฉายอยู่ในเวลานี้ ในบทความก่อนหน้านี้ผมมักพูดอยู่เสมอว่า ภาพยนตร์และซีรีส์ของเกาหลีที่ผลิตออกมาสู่สายตาของผู้ชมเพื่อความบันเทิงนั้น จำนวนไม่น้อยมักจะแฝงเอาไว้ด้วย “คอนเทนต์” ที่มีวาระทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญ นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันและความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง คอนเทนต์ดังกล่าวยังทำหน้าที่ในการสร้างระบบคุณค่าและอุดมคติใหม่ๆ ให้กับผู้คนในสังคมด้วย

ซีรีส์ Start-up ก็เป็นหนึ่งในคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว ที่ซึ่งคอนเทนต์ในสื่อบันเทิงได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันวาระทางสังคม ในบทความนี้ ผมจะชี้ให้เห็นว่าซีรีส์ Start-up มีส่วนสำคัญในการสะท้อนความสัมพันธ์ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม และสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อตอบรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร

Start-up บอกเล่าเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความฝันในการพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซอดัลมี หญิงสาวผู้จบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เธอไม่มีโอกาสในการเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเพราะต้องออกมาหางานทำ และดูแลย่าของเธอที่ประกอบกิจการร้านขายฮ็อตดอกเล็กๆ งานพาร์ทไทม์ที่เธอพอจะทำได้นั้น ไม่ว่าจะมุ่งมั่นพยายามขนาดไหนก็ไม่ได้นำมาซึ่งชีวิตที่ดีและความมั่นคงในอาชีพให้กับเธอ นัมโดซาน ชายหนุ่มผู้มีความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์และการคำนวน แต่กลับกลายเป็นคนตกงาน เขาก่อตั้งบริษัทขนาดเล็กร่วมกับ คิมยงซาน และ อิชอลซาน เพื่อนอีกสองคนในชื่อ “ซัมซานเทค” แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการหาผู้ลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่พวกเขาพัฒนาขึ้น ฮันจิพยอง เด็กกำพร้าผู้กลายมาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ได้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างผู้ประกอบหน้าใหม่ในวงการสตาร์ทอัพของเกาหลี และรวมไปถึง วอนอินแจ ลูกเลี้ยงของนักธุรกิจใหญ่ ที่ต้องการพิสูจน์ความสามารถของตนเองโดยหันหลังให้กับต้นทุนและเครือข่ายทางสังคมที่ตนเองมี ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีบทบาทในความสัมพันธ์ที่ร่วมกันบ่มเพาะซัมซานเทคให้เป็นสตาร์ทอัพที่มีชีวิตและเติบโตขึ้นมาได้

 

ซอดัลมี ลูกจ้างชั่วคราวที่ไร้ความก้าวหน้า

 

การต่อสู้ดิ้นรนในโลกของความเป็นจริง และการแข่งขันของพวกเขาในสังเวียนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นที่มาของเรื่องราวที่โลดแล่นและลึกซึ้ง สะท้อนให้เห็นทั้งข้อจำกัดทางสังคมและอาชีพที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญ ที่เหนือไปกว่านั้น ซีรีส์ Start-up ยังชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อการแสวงหาแนวทางของการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ และการพยายามหลีกหนีจากค่านิยมและรูปแบบการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่อยู่ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่เรียกว่า แชบอล (재벌)

ระบบแชบอลเคยเป็นกลไกสำคัญที่นำพาให้เกาหลีใต้กลายมาเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจระดับต้นๆ ของโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนในเกาหลีจนถึงทุกวันนี้ แต่กระนั้น ระบบแชบอลที่ว่านี้จะยังคงเป็นคำตอบสำหรับการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ และตอบรับต่อรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจของเกาหลีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตหรือไม่?

 

จาก “ซัมซุง” สู่ “ซัมซาน”

 

เกาหลีใต้พัฒนาจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษ 1950 จนกลายมาเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจลำดับที่ 4 ในเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้ในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการชี้นำของรัฐ (state-led industrialization) ของประธานาธิบดีพัคชองฮี

ซัมซุง (หรือ ซัมซอง – 삼성 ในภาษาเกาหลี) กลุ่มธุรกิจแชบอลซึ่งมีขนาดของรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีในทุกวันนี้ เป็นตัวอย่างของผลผลิตจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการชี้นำของรัฐดังกล่าว ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตมาจากธุรกิจอุตสาหกรรมเคมี เครื่องจักรกล และอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางที่ว่านี้เกิดจากการที่รัฐให้การสนับสนุนทั้งในแง่เงินทุนและในเชิงนโยบายกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันในระดับโลก ผลจากนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจรายย่อยและผู้ประกอบการใหม่ๆ ในประเทศ ในการเข้ามามีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจโดยรวมของเกาหลี

เมื่อเกาหลีใต้เริ่มมีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับแชบอล ตลอดจนอำนาจและประสิทธิภาพที่แท้จริงของของแชบอล เริ่มถูกตั้งคำถามโดยประชาสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพต่อการปรับตัวของแชบอลกลับถูกท้าทายอย่างไม่ทันตั้งตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 1997 ซึ่งส่งผลให้กว่าหนึ่งในสามของแชบอลในเกาหลีต้องปิดตัวลง และเกิดสภาวะผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก ในช่วงปี 1998-1999 อัตราการว่างงานกระโดดจากร้อยละ 2.5 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 7-8

เกาหลีได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะกลายมาเป็นทางเลือกในการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ เช่น การแสวงหาตลาดอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมคอนเทนต์และวัฒนธรรม การให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมให้เกิดตลาดแรงงานแบบยืดหยุ่น การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจแทนการเน้นไปที่การบริหารองค์กรแบบเดิม ตลอดจนการเปิดให้บริษัทเงินร่วมลงทุน (venture capital) ได้เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนด้านเงินทุนกับผู้ประกอบการ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนจากรัฐและสถาบันการเงินแต่เดิม[1]

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้กลายมาเป็นแหล่งจ้างงานที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสัดส่วนการจ้างงานมากกว่าร้อยละ 50 แซงหน้าจำนวนแรงงานในบริษัทขนาดใหญ่ และยังคงขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

 

“ซัมโพ” เจเนอเรชั่น

 

การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแชบอลแบบ “ซัมซุง” ไปสู่เศรษฐกิจที่มีผู้ประกอบการใหม่ๆ อย่างสตาร์ทอัพ “ซัมซาน” ที่เราเห็นในซีรีส์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผลมาจากแรงผลักดันของสภาพสังคมที่บีบคั้น ซึ่งคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียล (millennials) ต้องเผชิญด้วย

คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือ เจเนอเรชัน Y หมายถึงคนที่เกิดในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1980s ถึงต้น 2000s ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปีในปัจจุบันนั่นเอง คนรุ่นมิลเลนเนียลเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 1997 และสภาวะซบเซาของธุรกิจหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจแบบแชบอลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หากแต่วางอยู่บนความเปราะบางของระบบเส้นสายพวกพ้องและการอุปถัมภ์จากรัฐนั้น พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้นำมาซึ่งความยั่งยืน คนรุ่นมิลเลนเนียลเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการมองเห็นสภาวะล้มละลายและการปิดกิจการจำนวนมาก การลดขนาดขององค์กรภาคธุรกิจและระบบราชการ การปลดคนงานในโรงงานและสำนักงาน ตลอดจนปัญหาทางสังคมที่เกิดจากมายาภาพทางเศรษฐกิจ และความล้มเหลวของระบบสวัสดิการในภาคธุรกิจ สภาวะดังกล่าวนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันครอบครัวและการฆ่าตัวตายอย่างกว้างขวาง

บทเรียนหนึ่งที่คนรุ่นนี้ได้เรียนรู้จากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ก็คือการไม่ผูกโยงตนเองเข้ากับองค์กรธุรกิจอย่างเอาเป็นเอาตาย พวกเขาเลือกที่จะแสวงหาหนทางของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น คนเหล่านี้เริ่มมองความสำเร็จของตนเองที่ไม่ได้ยึดโยงกับการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรขนาดใหญ่อย่างเช่นคนรุ่นก่อนหน้า[2] ตำแหน่งในลำดับการบังคับบัญชาในแชบอลอาจจะมีความหมาย และเป็นหน้าเป็นตาสำหรับคนรุ่น baby boomers และเจเนอเรชั่น X เช่นเดียวกับค่านิยมของการมีพวกพ้องและเส้นสาย แต่สำหรับคนรุ่นมิลเลนเนียลแล้ว พวกเขาเริ่มมีมุมมองที่ต่างออกไป

การสำรวจของ Deloitte ในเกาหลีพบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลรู้สึกภักดีต่อนายจ้างน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ โดยที่ร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะออกจากงานปัจจุบันภายใน 5 ปี และมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาจะอยู่เกิน 10 ปี กับนายจ้างปัจจุบัน[3]

 

คนสองเจเนอเรชั่นกับวัฒนธรรมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

 

คนรุ่นมิลเลนเนียลพร้อมจะให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกและความพอใจของตนเองเป็นหลัก วัฒนธรรมในองค์กรธุรกิจแบบเก่า ไม่ว่าจะเป็นการอุทิศตนในการทำงานเพื่อองค์กรอย่างไม่คิดชีวิต อย่างการทำงานล่วงเวลาหรือการเอางานกลับมาทำต่อที่บ้าน การยอมก้มหัวให้กับผู้บังคับบัญชาในการทำงาน การให้ความสำคัญกับส่วนรวมและพวกพ้องอย่างการยอมไปกินดื่มกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานจนดึก และการภักดีต่อองค์กรเพื่อการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนรุ่นเจเนอเรชัน X อย่างพ่อของซอดัลมี ถูกเรียกร้องจากสังคมให้ต้องก้มหน้าเผชิญในฐานะที่เขาเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่ใช่วิถีที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียลอย่างซอดัลมีและเพื่อนๆ ในวัยเดียวกับเธอ ยินดีจะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มันอีกต่อไป[4]

แม้ว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลเลือกที่จะแสวงหาแนวทางของการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพในรูปแบบใหม่ๆ ที่ขยับออกไปจากการทำงานในแชบอลมากขึ้น แต่กระนั้นสภาวการณ์ของการทำงานที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากการแข่งขันที่สูงก็ทำให้คนรุ่นนี้เผชิญกับความยากลำบาก

ในปีนี้คนที่เกิดในปี 1997 จะมีอายุครบ 23 ปี พวกเขาเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยและกำลังหางานในสังคมที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ในช่วงมัธยม ชีวิตของพวกเขาถูกใช้ไปกับการเรียนหนังสือ และการติวนอกเวลาอย่างหนักเพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยเรียกร้องการทุ่มเทให้กับการเรียน การหารายได้เพื่อจุนเจือตนเองและการศึกษา และการพัฒนาตนเองเพื่อให้พร้อมกับการออกมาเป็นแรงงานในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ตั้งแต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 1997 เป็นต้นมา การว่างงานของคนรุ่นใหม่มีอัตราเพิ่มมากขึ้น จากแต่เดิมที่อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 5-7 เพิ่มมาเป็นร้อยละ 9-15 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ตัวเลขจากการสำรวจของ OECD พบว่า ในปี 2020 อัตราการว่างงานของเยาวชนเกาหลีอยู่ที่ร้อยละ 11.5[5] อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของรัฐบาลเองซึ่งนับรวมจำนวนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ที่ตั้งใจจะเข้าสู่ตลาดแรงงานแต่ยังไม่ได้เริ่มหางานทำเข้าไปด้วย พบว่าอัตรากึ่งว่างงานของเยาวชนในช่วงกลางปี 2020 คิดเป็นร้อยละ 25.6 หรือหนึ่งในสี่ของแรงงานทั้งหมด ตัวเลขดังกล่าวเป็นสัดส่วนของการไม่มีงานทำที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะหดตัวของเศรษฐกิจและการลดอัตรากำลังของบริษัทจำนวนมาก จากการสำรวจโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลีชี้ว่า ร้อยละ 41.3 ของบริษัทขนาดใหญ่ระบุว่าพวกเขาจะไม่รับสมัครพนักงานใหม่ในช่วงเวลาอันใกล้นี้[6]

การเสียเวลาช่วงวัยรุ่นไปกับการติวหนังสือเพื่อสอบแข่งขัน และการใช้ช่วงวัยเริ่มต้นของการเป็นผู้ใหญ่ไปกับการหางานและการอุทิศตนให้กับการทำงาน ทำให้คนรุ่นมิลเลนเนียลสูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต ไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นดังกล่าวในเกาหลีมักจะเรียกตัวเองว่าเป็น ซัมโพเจเนอเรชั่น (삼포세대) “ซัมโพ” หมายถึงการต้องสละซึ่งสามสิ่งในการใช้ชีวิตของพวกเขา นั่นคือ การมีแฟน การแต่งงาน และการมีบุตร[7] นั่นเอง

 

สามเกลอซัมซาน ตัวอย่างของซัมโพเจเนอเรชั่น

 

แม้ว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลจะต้องละทิ้งและสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง แต่พวกเขาก็เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ จากการพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทรัพยากรใหม่ๆ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือของการสร้างตัวตนและช่องทางในการเติบโตให้กับพวกเขามากขึ้น นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะสร้างอนาคต และทลายพันธนาการของสังคมแบบเดิมลง ผ่านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การทำงาน และอัตลักษณ์ทางสังคมแบบใหม่ในรูปแบบของสตาร์ทอัพ

 

สังคมการเมืองของสตาร์ทอัพ

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพซึ่งเน้นไปที่การใช้นวัตกรรมทางธุรกิจ เทคโนโลยี หรือแนวคิดการบริหารจัดการใหม่ๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของคนเกาหลีเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากผลประโยชน์ในแง่ของรายได้แล้ว มีแนวโน้มว่าสตาร์ทอัพจะกลายมาเป็นแหล่งสร้างงานซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้ในอนาคต

จากการจัดอันดับสภาวะโดยรวมที่เอื้อต่อการประกอบการธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของปี 2020 โดย World Bank เกาหลีถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก การจัดอันดับดังกล่าวพิจารณาระบบนิเวศของประเทศในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเริ่มทำธุรกิจ การจ้างแรงงาน การขอใบอนุญาต การเข้าถึงสาธารณูปโภค การได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อและเงินลงทุน รวมไปถึงมาตรการ กฎระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล[8] อันดับที่น่ายินดีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนปรัชญาและยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเน้นไปที่การสร้างผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจเชิงเทคโนโลยี และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั่นเอง

การปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ประกอบการและบริษัทใหม่ๆ เปิดตัวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางจำนวนของผู้ประกอบการที่มากขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่มีช่วงอายุอยู่ในวัย 20 หรือ 30 ปี กลับมีสัดส่วนที่ลดลง ในช่วงต้นปี 2000 สัดส่วนของผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่คิดเป็นร้อยละ 55 แต่จากการสำรวจในปี 2011 พบว่าสัดส่วนของผู้ประกอบการในช่วงวัยดังกล่าวกลับลดฮวบลงเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น[9] แม้ว่าเกาหลีจะมีสภาวะโดยรวมที่เอื้อต่อการประกอบการและการริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ แต่กระนั้น ก็มีปัจจัยทางสังคมบางอย่างที่ทำหน้าที่ฉุดรั้งไม่ให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการได้อย่างเต็มตัว

อุปสรรคในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่หันมาริเริ่มพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก ได้แก่ค่านิยมและความคุ้นชินทางวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ที่ให้คุณค่ากับผู้ที่ทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แชบอลได้กลายมาเป็นหนึ่งในสถาบันทางสังคมที่สำคัญของเกาหลี แชบอลเป็นสถาบันที่มีอำนาจทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนการสร้างอุดมคติทางสังคมในเกาหลี การเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือการได้มีลูกหลานทำงานอยู่ในแชบอลนั้นนับว่ามีเกียรติ เป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวและเครือญาติ เพราะมันหมายถึงความสามารถและประสิทธิภาพของบุคคล การมีความมั่นคงและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ ตลอดจนการมีพวกพ้องและเส้นสายทางสังคมที่มาพร้อมกับเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการเมืองของบริษัทนั่นเอง

คนที่เกิดในเจเนอเรชั่น X และ baby boomers จึงมักจะปลูกฝังและคาดหวังให้ลูกหลานของตนเข้าทำงานในแชบอลเมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษา คนรุ่นใหม่ที่ละทิ้งเส้นทางของการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ และเลือกที่จะเริ่มต้นประกอบธุรกิจของตนเอง มักถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นปัจเจกไร้พวกพ้อง และไม่เป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ ค่านิยมทางสังคมดังกล่าวมีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าออกมาริเริ่มประกอบการธุรกิจใหม่ๆ ของตนเอง

 

ครอบครัวของนัมโดซาน ที่คาดหวังความสำเร็จของลูกชายในองค์กรขนาดใหญ่

 

ระบบการศึกษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลายมาเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ[10] ในเกาหลี การศึกษาในระดับมัธยมมักเน้นไปที่การเรียนและการท่องจำเพื่อการสอบแข่งขัน การทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปที่เป้าหมายหนึ่งเดียว ในขณะที่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเน้นไปที่การพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าที่จะเน้นการสร้างผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์และแหวกแนว ระบบการศึกษาดังกล่าวมักจะทำให้ผู้เรียนเชื่องต่อระบบของแชบอล แสวงหาความมั่นคงในอาชีพ มีแผนที่เส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงใดๆ ทั้งในชีวิตและในภาคธุรกิจ

ในซีรีส์ Start-up ซอดัลมีในวัยเด็กได้เรียนรู้ว่า บางทีการได้เตร็ดเตร่บ้างก็ไม่เห็นเป็นไร บางทีการแล่นเรือโดยไร้แผนที่ก็ยอดเยี่ยมได้เหมือนกัน ข้อความดังกล่าวของเธอชวนให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีคิดนอกกรอบการศึกษาที่มักครอบงำความคิด ตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานที่เรียกร้องการดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่สังคมและครอบครัววางเอาไว้ ตลอดจนการใช้เวลาช่วงวัยรุ่นไปกับการเรียนหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว การได้ลองเดินออกนอกเส้นทางได้พาเธอไปสู่พื้นที่ของแรงบันดาลใจใหม่ๆ และความอิ่มเอมใจในแบบที่เธอไม่เคยพบเจอมาก่อน

ซอดัลมีในวัยทำงานได้เรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตในเส้นทางเดิมๆ ไม่มีวันจะยกระดับชีวิตของเธอเองให้ดีไปกว่าที่เป็นอยู่ได้ เธอเปรียบการใช้ชีวิตแบบเดิมในทุกๆ วันว่าเหมือนกับการขึ้นลิฟต์ระดับล่างที่ไม่มีทางจะพาเธอขึ้นไปยังชั้นสูงๆ ของอาคารได้ หนทางเดียวของการที่ชีวิตจะดีขึ้น ก็คือต้องลงและเปลี่ยนไปขึ้นลิฟต์ชั้นสูง สามารถพาเธอขึ้นไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่ซึ่งภูมิหลังทางการศึกษา อายุ และที่มาทางสังคม จะไม่ถูกนำมาเป็นตัวกำหนดความสามารถและความสำเร็จของเธอ แต่กระนั้น การเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากระบบความคิดและค่านิยมแบบเดิมๆ ก็ต้องการการตัดสินใจที่กล้าหาญ หากไม่มีผู้ที่คอยผลักดันอยู่ข้างหลัง ไม่มีพื้นที่รองรับความล้มเหลว คนรุ่นใหม่ก็คงไม่กล้าเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือสนุกกับการทดลองอะไรใหม่ๆ ได้

 

พี่เลี้ยง ผู้ไกวชิงช้า และกระบะทราย

 

ในเกาหลี บทบาทของรัฐในการผลักดันสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยการการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาตั้งแต่ปี 1986 นอกจากนี้ ในปี 1996 รัฐบาลได้จัดตั้ง Small and Medium Business Administration เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการนโยบายด้าน SME โดยเฉพาะ และมีการเปิดสำนักงานในระดับภูมิภาคเพื่อผลักดันผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ ในปี 2017 ที่ผ่านมา หน่วยงานดังกล่าวได้รับการยกระดับขึ้นเป็นกระทรวงภายใต้ชื่อกระทรวงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพ (Ministry of SMEs and Startups)

กระทรวงดังกล่าวไม่เพียงผลักดันนโยบายการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเท่านั้น แต่ยังเน้นการปลุกปั้นธุรกิจประเภทสตาร์ทอัพซึ่งเน้นไปที่นวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ในปี 2018 ที่ผ่านมา หน่วยงานกลางของรัฐบาลระบุว่ามีการระดมเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ แม้แต่หน่วยงานในรัฐบาลระดับท้องถิ่นอย่าง Seoul Metropolitan Government ก็มีแผนในการระดมเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และบล็อกเชน กว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์ภายในปี 2020[11]

ในปี 2020 เกาหลีมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นทั้งหมด 12 แห่ง สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นคือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นดังกล่าวดำเนินธุรกิจทั้งในรูปแบบการให้บริการ e-commerce platform พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร แอปพลิเคชันด้านการเงิน แอปพลิเคชันการใช้บริการแชร์รถยนต์ ธุรกิจที่พักอาศัยสำหรับนักเดินทาง แพลตฟอร์มแฟชันออนไลน์ ธุรกิจด้านเครื่องสำอางค์ ไปจนถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ[12] ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพในเกาหลีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเกาหลีกำลังกลายมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจใหม่ๆ ของโลก ที่รวมเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการจัดการ การเชื่อมโยงกับวิถีการบริโภคและการใช้ชีวิตแบบใหม่ และจุดเด่นจากคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี มาผนวกเข้าด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ขณะนี้เกาหลีอยู่ในอันดับที่ 4 ในบรรดาประเทศที่มียูนิคอร์นสตาร์ทอัพมากที่สุด ตามหลังจีน สหรัฐ และอินเดีย

 

พี่เลี้ยงในฐานะส่วนหนึ่งของ startup incubator

 

ความสำเร็จและโอกาสในการพัฒนาสตาร์ทอัพเกาหลีนั้นเกิดจากการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐที่เน้นไปที่การสร้างศูนย์บ่มเพาะ หรือ incubators ด้านเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ตอบรับกับรูปแบบการประกอบการธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระดับโรงเรียน กระทรวงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพยังทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อลดภาษีและผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจใหม่ นอกจากนี้ หน่วยงานเอกชนยังเข้ามาช่วยเหลือด้านการลงทุน อบรม และสร้างเครือข่าย หรือที่รู้จักกันในนาม accelerators มีการจัดเวทีแข่งขันแบบ Hackathon ในหลายเวที และแน่นอนว่า ซีรีส์ Start-up ก็เป็นหนึ่งในแรงเสริมสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างทัศนคติใหม่ๆ ให้ผู้คนในสังคมได้รู้จักและคุ้นเคยกับสตาร์ทอัพมากขึ้น

 

 

ให้มันเริ่มใหม่ที่รุ่นเรา

 

สังคมเกาหลีไม่ต่างจากสังคมอื่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบของประสบการณ์ วิถีชีวิต ความนึกคิด และความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ มักมีแรงกดดันจากสังคมแบบเก่าที่ถือครองอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนค่านิยมแบบเดิมๆ ที่ยังคงตีกรอบสังคมและความคิดของพวกเขาไว้

ซีรีส์ Start-up เป็นอีกหนึ่งผลงานบันเทิงที่สะท้อนพลังของผู้ผลิตสื่อคอนเทนต์ของเกาหลีในการสร้างสรรค์อุดมคติสังคมแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นบันไดให้คนรุ่นต่อไปไต่ขึ้นไปค้นหาโอกาสและสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าวันนี้ ผมอยากชวนให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้ได้ชมซีรีส์เรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจเท่านั้น หากแต่ Start-up ยังเป็นเรื่องของพลวัตสังคมที่กำลังสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้กับคนรุ่นต่อไป ได้ “start” to grow “up” ในแบบที่ให้โอกาสและเหมาะสมกับพวกเขานั่นเอง

 

อ้างอิง  

[1] Song Jesook. 2007. “‘Venture Company’, ‘Flexible Labor’, and the ‘New Intellectual’: The Neoliberal Construction of Underemployed Youth in South Korea” Journal of Youth Studies 10(3): 331-351.

[2] Suzuki, Sotaro. “South Korea millennials bring change to hard-driving work culture” Nikkei Asia, 18 Oct 2020.

[3] Gibson, Jenna. “South Korean Millennials’ Attitudes About the Future

[4] Moon, Grace. “The young Koreans pushing back on a culture of endurance”  Worklife, 9 Jan 2020. และ Kim, Arin. “A case for Korean millennials in the workplaceThe Korea Herald, 10 Jan 2020.

[5] https://data.oecd.org/unemp/unemployment-rate-by-age-group.htm#indicator-chart

[6] Lee, Claire. “Youth unemployment: Policy changes must address growing frustrations of young job seekersThe Korea Herald, 10 Sept 2020.

[7] Chong, Kelsey. “South Korea’s Troubled Millennial GenerationCalifornia Management Review, 27 Apr 2016.

[8] World Bank. 2020. Doing Business 2020. Washington, DC: World Bank. [https://openknowledge.worldbank.org/bitstream/handle/10986/32436/9781464814402.pdf]

[9] Ng, Tiffany. “Promoting youth entrepreneurship in South Korea

[10] Schoof, Ulrich. 2006. Stimulating youth entrepreneurship : barriers and incentives to enterprise start-ups by young people. Geneva: International Labour Office.

[11] Pearson Korea. 2018. “Why Stratups are coming to Korea for Business?

[12] John. “List of the Top 10 Korean Startup Unicorns – As of 2020Seoulz, 25 Sept 2020.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save