‘นรา’ เรื่อง
1
“สำหรับผม เพลงไม่เพียงหมายถึงเฉพาะแค่อารมณ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงเสียงด้วย ผมมาฮ่องกงตอนอายุห้าขวบ และสิ่งแรกที่ทำให้ผมประทับใจคือเสียงของเมืองนี้ ซึ่งแตกต่างจากเซี่ยงไฮ้โดยสิ้นเชิง”
– หว่องกาไว
花樣的年華 (อ่านว่า Hua Yang De Nian Hua ในสำเนียงจีนกลาง และ Fa yeung din nin wah ในสำเนียงกวางตุ้ง) เป็นชื่อเพลงฮิตเมื่อปี 1946 จากหนังเรื่อง Chang Xiang Si ร้องโดยโจวเสวี่ยน (Zhou Xuan 1918-1957) นักร้องและดาราสาวชาวเซี่ยงไฮ้ เจ้าของสมญา golden voice ที่โด่งดังมากช่วงปี 1930-1940
54 ปีต่อมา ชื่อนี้ถูกตัดทอนออกไปหนึ่งคำ กลายเป็น 花樣年華 และนำมาใช้เป็นชื่อในพากย์ภาษาจีนของหนังเรื่อง In the Mood for Love ผลงานมาสเตอร์พีซของหว่องกาไว พร้อมๆ กับที่ตัวบทเพลงก็ถูกนำมาใช้ประกอบฉากสำคัญช่วงท้ายเรื่อง (เพลงที่เปิดในรายการวิทยุ มีช่วงอินโทรเป็นทำนอง Happy Birthday) เพื่ออธิบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร รวมทั้งเน้นย้ำถึงแง่มุม ‘ถวิลหาอดีต’ ของฮ่องกงต้นทศวรรษ 1960
花樣的年華 ยังเป็นชื่อหนังสั้น (หรือ Music Video) ปี 2001 ซึ่งรวบรวมภาพจากหนังฮ่องกงในอดีตจำนวนมาก ที่เชื่อกันว่าสูญหายหรือชำรุดเสื่อมสภาพไปแล้ว (และเพิ่งมีการค้นพบ) นำมาร้อยเรียงประกอบกับบทเพลง โดยหว่องกาไวเป็นคนเลือกฟุตเทจทั้งหมด และตัดต่อลำดับภาพโดยวิลเลียม จาง (จางสูผิง)
ชื่อเพลงนี้แปลตรงตามตัวอักษรได้ว่า Age of Flowers แต่ถ้าแปลแบบมุ่งเอาความหมาย น่าจะใกล้เคียงกับ Golden Years เนื้อหาคำร้องกล่าวถึงความทรงจำสวยงามเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่ ‘อันเป็นที่รัก’ ซึ่งเปลี่ยนแปลงผิดแผกจากเดิมไปตามกาลเวลา และไม่หวนย้อนกลับคืนมาอีก
2
“…เขาจดจำหลายปีที่หายลับล่วงเลยไปนั้น ราวกับมองผ่านบานหน้าต่างเต็มไปด้วยฝุ่นจับ อดีตกลายเป็นสิ่งที่เขาแลเห็นได้ แต่ไม่อาจจับต้อง สรรพสิ่งที่เขาเพ่งจ้อง ล้วนพร่าเลือนและไม่แจ่มชัด…”
– In the Mood for Love
หว่องกาไวนิยมทำหนังแบบด้นสด ปราศจากบทภาพยนตร์ ปล่อยให้ความคิดฉับพลันค่อยๆ เกิดขึ้นขณะถ่ายทำ รวมทั้งทดลองถ่ายเผื่อเหตุการณ์หลายๆ แบบหลายๆ พล็อตในฉากเดียวกัน แล้วจึงค่อยเลือกเฟ้นนำมาใช้จริงช่วงขั้นตอนตัดต่อ ขณะที่นักแสดงเอง (และทีมงานอื่นๆ ทั้งหมด) ก็ไม่รู้เค้าโครงเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไร ขึ้นต้นลงท้ายเช่นไร ทราบแต่เพียงบุคลิกนิสัยพื้นฐานของตัวละครเท่านั้น
กล่าวอีกแบบ นี่เป็นกระบวนการวิธีทำหนัง ซึ่งในเบื้องต้น ไม่มีใคร (แม้กระทั่งตัวหว่องกาไวเอง) ล่วงรู้เลยว่าเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร? มีเนื้อเรื่องเค้าโครงเช่นไร? ด้วยว่าเรื่องราวนั้นจะค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยระหว่างการถ่ายทำ และมามีรูปทรงจับต้องมองเห็นได้ถนัดชัดตาเมื่อถึงขั้นตอนตัดต่อ
วิธีการทำงานของหว่องกาไวมักนิยมการรื้อทิ้งและแก้ใหม่ สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปได้เรื่อยๆ แทบว่าไร้ที่สิ้นสุด จนตัวเขาเองและทีมงานต้องใช้การส่งหนังเข้าร่วมฉายตามเทศกาลต่างๆ เป็นกำหนดเส้นตาย เพื่อตีกรอบบังคับตัวเอง กระนั้นก็มักจะเสร็จทันอย่างหวุดหวิดจวนเจียนในนาทีสุดท้าย (แบบยังอยากแก้อีก แต่จำใจต้องวางมือ) เสมอมา
นี่ยังไม่นับรวมถึง การปราศจากแผนหรือพิมพ์เขียวแน่ชัด ส่งผลให้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละเปลาะ
เงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้หนังของหว่องกาไว ก่อนลงมือถ่ายทำ มีแนวโน้มจะเป็นหนังอย่างหนึ่ง ครั้นสำเร็จเสร็จสิ้น กลับกลายเป็นหนังที่แตกต่างผิดไกลจากความคิดแรกเริ่มจนสุดกู่
อย่างไรก็ตาม หว่องกาไวไม่ได้ทำหนังจากความว่างเปล่า เขามีเมล็ดพันธุ์ความคิดจำนวนหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว และค่อยๆ ประคบประหงมมันในระหว่างการถ่ายทำ จนกระทั่งเติบโตงอกงามแบบกลายพันธุ์เป็นอื่น
สำหรับ In the Mood for Love หนึ่งในเมล็ดพันธุ์ความคิด ปรากฏให้เห็นผ่านเครดิตหลังหนังจบ ถัดจากชื่อของหว่องกาไวในฐานะผู้กำกับและเขียนบท ลำดับถัดมาคือคำขอบคุณเป็นพิเศษต่อหลิวอี้ชาง
3
“ยุคสมัยนั้นได้ผันผ่านเป็นอดีตแล้ว ไร้ซึ่งสิ่งใดที่เคยมีอยู่อีกต่อไป”
– In the Mood for Love
8 มิถุนายน 2018 หลิวอี้ชาง (เหล่าอีเชิง ในสำเนียงกวางตุ้ง) ถึงแก่กรรมขณะอายุ 99 ปี เป็นข่าวใหญ่และยังความโศกเศร้าแก่ชาวฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการหนังสือพิมพ์และแวดวงวรรณกรรม กับการสูญเสียสื่อมวลชน, คอลัมนิสต์, นักแปล และนักเขียนผู้มีส่วนสำคัญในการบุกเบิกวางรากฐานให้กับวรรณกรรมสมัยใหม่ของฮ่องกง
วาระนั้น หว่องกาไวโพสต์ลงใน twitter เพื่อแสดงความอาลัยและแสดงการคารวะว่า “ความทรงจำทั้งปวงล้วนเศร้าหมอง” เป็นข้อความที่นำมาจากนิยายปี 1963 เรื่อง The Drunkard ของหลิวอี้ชาง (ได้รับการนำมาดัดแปลงเป็นหนังในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2010 โดยเฟร็ดดี หว่อง)
สองศิลปินต่างวัยคู่นี้ เกี่ยวโยงรู้จักกันตั้งแต่ครั้งที่หว่องกาไวยังเป็นนักเรียน และเขียนเรื่องส่งนิตยสารที่หลิวอี้ชางเป็นบรรณาธิการ ผลงานของเด็กหนุ่มผ่านการพิจารณาได้ลงตีพิมพ์ แต่ที่น่าประทับใจและชวนจดจำไม่รู้ลืมมากยิ่งกว่าก็คือ หลิวอี้ชางเขียนจดหมายตอบ บรรจุถ้อยคำให้กำลังใจมาเต็มเปี่ยม
หลายปีต่อมา เมื่อหว่องกาไวกลายเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ เรื่องสั้นชื่อ Intersection ของหลิวอี้ชาง ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำหนังเรื่อง In the Mood for Love
4
“…เมื่อมองเงาสะท้อนของตนเองในกระจก ชุนอวี้ไป่พบว่าริ้วรอยบนหน้าผากลึกขึ้น และมีผมหงอกเพิ่มขึ้น ที่นี่คือร้านเสื้อผ้า ด้านหนึ่งของหน้าต่างโชว์หน้าร้านมีกระจกเงาบานแคบยาว ชุนอวี้ไป่มองเงาในกระจกนั้นอย่างเชื่องช้า มองภาพของตัวเองคราใด เขาก็อดไม่ได้ที่จะหวนรำลึกถึงเมื่อครั้งยังหนุ่ม…”
– จากเรื่อง Intersection โดย หลิวอี้ชาง
หลิวอี้ชางเป็นนามปากกาที่ผู้คนรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจริงของหลิวถงอี้ เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1918 ที่เซี่ยงไฮ้ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นในปี 1941 จากนั้นก็เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าว จนถึงปี 1948 ก็อพยพมาอยู่ที่ฮ่องกง
งานหลักของหลิวอี้ชางคือการเขียนคอลัมน์ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ช่วงที่งานชุกสุด เขาเคยเขียนงานเยอะถึง 13 ชิ้น ตลอดระยะเวลาร่วมๆ 60 ปี เขาเขียนหนังสือเฉลี่ยประมาณวันละ 18,000 คำ
หลิวอี้ชางเขียนนิยายและเรื่องสั้น โดยอาศัยเวลาว่างหลังเลิกงานหนังสือพิมพ์ ด้วยจุดมุ่งหมายง่ายๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจและสร้างความบันเทิงให้แก่ตนเอง
งานวรรณกรรมของหลิวอี้ชางได้รับการยกย่องว่าแปลกใหม่ ทันสมัย และสร้างสรรค์ หลิวอี้ชางเป็นนักเขียนฮ่องกงคนแรกๆ ที่บุกเบิกนำเอาเทคนิค ‘กระแสสำนึก’ มาใช้เพื่ออธิบาย ‘ความคิด-ความในใจ’ ของตัวละคร
หนึ่งในผลงานที่ยกย่องว่าเป็นมาสเตอร์พีซของหลิวอี้ชาง คือเรื่องสั้นชื่อ Duidao (แปลว่า ตรงกันข้าม) เขียนเมื่อปี 1972 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะพิเศษของแสตมป์ที่เรียกกันว่า Tête-bêche (ภาษาฝรั่งเศสอ่านออกเสียงว่า เท็ท-เบ็ช)
ความหมายตรงตามตัวอักษรของ Tête-bêche คือ “จากหัวถึงหาง” คำศัพท์ดังกล่าวใช้เรียกขานแสตมป์คู่ 2 ดวงพิมพ์ติดกัน และมีรายละเอียดเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นตำแหน่งที่กลับหัวกลับหางสวนทางกัน
ในเวลาต่อมา เรื่องสั้น Duidao ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Intersection และแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อ Tête-bêche
เรื่องสั้นดังกล่าวเล่าถึง ‘วันหนึ่งในชีวิต’ ของตัวละครสองคน คือ ชายวัยกลางคนชื่อชุนอวี้ไป่ ซึ่งเป็นชาวเซี่ยงไฮ้ที่ลี้ภัยมาอยู่ฮ่องกงต้นทศวรรษ 1950 และหญิงสาววัยรุ่นชื่ออาซิง ซึ่งเป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิด
ทั้งสองพำนักอาศัยในห้องเช่าอพาร์ตเมนต์เดียวกัน เฉียดสวนไปมาเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นคนแปลกหน้าต่อกัน
เรื่องสั้นเล่าสลับไปมาระหว่างความคิดคำนึงของทั้งคู่ เมื่อพบเจอเหตุการณ์ สถานที่ และผู้คน (ซึ่งเป็นจุดตัดที่ชีวิตคู่ขนานของทั้งสองมาบรรจบพบกัน) แต่สิ่งที่ผิดแผกคือ ทุกสิ่งที่ผ่านตา ทำให้ชุนอวี้ไป่นึกย้อนไปถึงวันคืนในอดีต ทั้งสมัยที่ยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่ในเซี่ยงไฮ้, ช่วงระยะปีแรกที่เพิ่งมาถึงฮ่องกงอันเงียบสงบ ด้วยความหวังว่าจะได้พบกับชีวิตที่ดีกว่า ต่างจากปัจจุบัน ซึ่งเขากลายเป็นชายวัยกลางคนที่อยู่โดดเดี่ยวโดยลำพัง ฐานะยังคงยากจน ใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมแออัดอึกทึกและเร่งรีบ มิหนำซ้ำยังแปลกแยกเปลี่ยวเหงา
ตรงกันข้ามกับอาซิง วัยอ่อนเยาว์ทำให้เธอมีอดีตและความทรงจำไม่มากนัก และปัจจุบันอันน่าเบื่อหน่าย โดดเดี่ยว ทำให้เธอหลีกหนีความจริงสู่การจินตนาการถึงอนาคตสวยหรูต่างๆ นานา
เรื่องราวใน In the Mood for Love ไม่มีอันใดเฉียดใกล้กับการนำเรื่องสั้น Intersection มาดัดแปลงเป็นหนัง แต่ในความแตกต่างเป็นคนละเรื่อง ก็มีแรงบันดาลใจที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นคือ ความเป็นเพื่อนบ้านของตัวละครหลัก, การเล่นกับรายละเอียดของความเหมือนและความแตกต่างตรงข้ามแบบเส้นขนาน, จุดตัดที่เชื่อมโยงคู่ตัวละครเข้าหากัน, การเล่าตอกย้ำเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา, การรำลึกอดีตไปยังห้วงเวลาขณะหนึ่งอันสวยงาม ซึ่งผ่านพ้นไม่หวนคืน, มุมมองต่ออนาคตข้างหน้าที่เต็มไปด้วยความหวั่นกังวล ไม่มั่นใจ และที่สำคัญคือ อารมณ์เปล่าเปลี่ยวเดียวดายของตัวเอกทั้งสอง
5
เจ๊าโม๋หวัน : ผมเอง…ถ้าหากมีตั๋วเพิ่มมาอีกหนึ่งใบ คุณจะไปกับผมมั้ย?
ซูไหล่เจิน : ฉันเอง…ถ้าหากมีตั๋วเพิ่มมาอีกหนึ่งใบ คุณจะพาฉันไปด้วยมั้ย?
– In the Mood for Love
In the Mood for Love เล่าถึงความรัก ‘ผิดที่ผิดเวลา’ ที่ฮ่องกง ปี 1962 ระหว่างเจ๊าโม๋หวันกับซูไหล่เจิน (คุณนายฉั่น) ทั้งสองย้ายมาอยู่ห้องเช่าติดกันในวันเดียวกัน เป็นเพื่อนบ้านที่เจอหน้าค่าตากันเนืองๆ ขณะเดินขึ้นลงบันไดสวนกัน, แวะซื้อแวะกินบะหมี่ร้านเดียวกันในยามค่ำคืนอยู่บ่อยครั้ง มีเหตุให้พูดคุยทักทายกันบ้างแบบรักษามารยาทตามประสาคนเพิ่งรู้จักกัน
เวลาผ่านไป เจ๊าโม๋หวันพบว่า ภรรยาของตนมีพฤติกรรมผิดสังเกต กลับบ้านดึกยิ่งกว่าปกติที่ดึกอยู่แล้ว และมีเหตุธุระจำเป็นสารพัดสารพันไม่อยู่บ้านนานวัน รวมถึงพิรุธปลีกย่อยอีกหลายสิ่งอย่าง จนทำให้ชายหนุ่มตระหนักว่า เธอนอกใจมีชายอื่น (สามีของซูไหล่เจิน)
เช่นเดียวกัน ซูไหล่เจินก็เริ่มระแคะระคายว่า พฤติกรรมระยะหลังๆ ของสามีห่างเหิน ไม่ชอบมาพากล และทิ้งร่องรอยหลักฐานเล็กๆ น้อยๆ จนสิ้นสงสัยว่า เขาปันใจให้หญิงอื่น (ภรรยาของเจ๊าโม๋หวัน)
เพื่อนบ้านทั้งสองจึงนัดหมายพบเจอ เริ่มต้นด้วยการพูดจาเฉไฉเรื่องเล็กน้อยไม่สลักสำคัญ จากนั้นก็ค่อยๆ ระบายความลับคับใจปรับทุกข์ (ที่ไม่อาจเล่าสู่เอ่ยปากกับใครอื่น) แก่กันและกัน
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับเคลื่อนเข้ามาชิดใกล้ ใช้เวลาร่วมกันอยู่บ่อยครั้ง และโดยที่ไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัว วันหนึ่งทั้งสองมาตระหนักแก่ใจอีกครั้งแล้วพบว่า ต่างตกหลุมรักอีกฝ่ายไปแล้ว
ความรัก ‘ผิดที่ผิดเวลา’ นั้น สาธยายได้ว่า ฮ่องกงในยุคสมัยนั้นยังมีความเป็นชุมชนใกล้ชิด การพบปะพูดจาใดๆ ต่อกันระหว่างคู่รักต้องหลบเร้นจากสายตารู้เห็นของเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการติฉินนินทา
โดยนัยนี้ ฮ่องกงจึงเป็นสถานที่นับเข้าข่ายอุปสรรคต่อความรัก
นอกจากสถานที่จะไม่ใช่แล้ว เวลายังไม่ได้เช่นกัน เวลาในแง่นี้ หมายถึงทั้งการพบเจอกันล่าช้าสายเกินไป ต่างฝ่ายต่างมีคู่หมั้นคู่หมายอยู่ก่อนแล้ว และยังหมายถึงเวลาในแง่ยุคสมัยต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งค่านิยมและศีลธรรมไม่เอื้อให้รักต้องห้ามต่อสามีภรรยาผู้อื่น (รวมถึงการหย่าร้างเลิกรา) เป็นเรื่องถูกทำนองคลองธรรม
ปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้ In the Mood for Love กลายเป็นเรื่องรักบาดใจก็คือ เมื่อเจ๊าโม๋หวันกับซูไหล่เจิน มีทีท่าว่าจะซ้ำรอยคู่รักนอกใจของตนเอง ทั้งเขาและเธอต้องรบราขับเคี่ยวระหว่างการทำตามแรงปรารถนากับการยับยั้งชั่งใจอยู่ตลอดเวลา และน้ำหนักความเป็นไปได้ก็โน้มเอียงพลิกผันสลับไปมาระหว่างทั้งสองทาง
กระทั่งเมื่อเจ๊าโม๋หวันสดับทราบแก่ใจดีถึงความ ‘เป็นไปไม่ได้’ และตัดสินใจรับงานใหม่ที่สิงคโปร์ในปี 1963 เพื่อให้ไกลห่างจากความรักต้องห้าม ซูไหล่เจินก็เดินทางตามมา โทรศัพท์หาเขา เกือบจะได้พบกันอีกครั้ง และลงเอยด้วยความสุขสมหวัง
แต่ในนาทีชี้ขาดตัดสิน ฝ่ายหนึ่งก็สะกดกลั้นตัดใจนิ่งเงียบ และนั่นนำไปสู่การพรากจากกันถาวร
6
“มันเป็นช่วงเวลาที่ชวนให้รู้สึกปั่นป่วนใจ เธอก้มหน้าต่ำลง เปิดโอกาสให้เขาได้ชิดใกล้ แต่เขาก็ไม่ไหวติงทำสิ่งใด เพราะปราศจากความกล้า ดังนั้นเธอจึงหันหลังแล้วเดินจากไป”
– In the Mood for Love
แก่นเรื่องหลักของ In the Mood for Love มีความเหลื่อมซ้อนปนกัน ระหว่างเรื่องรักในยุคสมัยและสภาพแวดล้อม รวมถึงเงื่อนไขปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย และความทรงจำถึงคืนวันสวยงามที่ผ่านพ้นล่วงเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ฮ่องกงในภาพที่ไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน
ความแยบยลของประเด็นแรกอยู่ที่วิธีเล่าแบบให้ตัวละครซ่อนเร้นความในใจอยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงคราวต้องเปิดเผยแสดงความรู้สึกเบื้องลึก ก็สะท้อนผ่านการที่ตัวเอกทั้งสอง เสแสร้งแสดงเหตุการณ์สมมติตนเองเป็นภรรยา-สามีของอีกฝ่าย
แง่มุมที่น่าสนใจและเปิดกว้างชวนให้ผู้ชมตีความอย่างเป็นอิสระ ไม่มีคำตอบตายตัวในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การอ่านจับความหมายว่ามุ่งสะท้อนประเด็นเนื้อหาใด? แต่เป็นการอ่านความคิดและเหตุผลต่อการกระทำของตัวละครที่หนังไม่ได้เปิดเผยแสดงออกมา ว่าเขาและเธอทำสิ่งต่างๆ ตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ด้วยเหตุผลกลใด
In the Mood for Love เข้าฉายบ้านเราอย่างเป็นทางการครั้งแรก คล้อยหลังจากที่สร้างเสร็จเนิ่นนานถึง 20 ปี
กาลเวลาน่าจะมีส่วนอย่างยิ่ง ทำให้น้ำหนักประเด็น ‘ถวิลหาอดีต’ ในหนังเรื่องนี้โดดเด่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อครั้งแรกฉาย ทั้งความทรงจำเปี่ยมกลิ่นอายรันทดงดงามตรึงใจจากเหตุการณ์ในหนัง และความทรงจำของผู้ชมที่มีต่องานชิ้นนี้ในฐานะหนังคลาสสิก
ในเรื่องสั้น Intersection ของหลิวอี้ชาง เรื่องราวจบลงตรงที่
“เมื่อชุนอวี้ไป่ตื่นนอนในเช้าวันถัดมา เขาเดินไปยืนสูดอากาศที่ริมหน้าต่าง เห็นนกกระจอกตัวหนึ่งบินมาเกาะอยู่เบื้องหน้า เพียงชั่วครู่นกกระจอกอีกตัวก็บินมาเกาะใกล้ ๆ นกทั้งสองต่างเหลียวมองกันและกัน
พลันนกตัวหนึ่งก็โผบินสู่ทิศตะวันออก ขณะที่นกอีกตัวมุ่งไปยังทิศตะวันตก”