fbpx
In Mind’s mind คุยความคิดกับ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

101 One-on-One Ep.195 In Mind’s mind คุยความคิดกับ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

 

::LIVE:: 101 One-on-One Ep.195 In Mind’s mind คุยความคิดกับ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และหนึ่งในแกนนำคณะราษฎร 2563 ถูกจับตามองอย่างมากในการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนครั้งนี้

เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ และขึ้นปราศรัยในหลายเวทีประท้วง จนถูกพูดถึงในวงกว้างเมื่อถูกตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย บุกจับในยามวิกาลเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 หลังนำมวลชนเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันรัฐบาล

หลังได้รับการประกันตัวออกมาไม่นาน มายด์เดินทางไปพร้อมมวลชนเพื่อยื่นหนังสือถึงทูตเยอรมนี และอ่านข้อเรียกร้องต่อหน้ามวลชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

นอกจากความคิดความอ่านทางการเมืองแล้ว เธอมีความคิดต่อเรื่องอื่นๆ ในชีวิตอย่างไร เบื้องหลังรอยยิ้มและคำพูดบนเวทีปราศรัย เธอมีมุมมองต่อโลกอย่างไร และอะไรคือภาพสังคมที่เธอใฝ่ฝันถึง

 

:: สลายชุมนุม 17 พ.ย. เพิ่มความโกรธบนถนน  ::

 

 

จุดประสงค์หลักของการเดินขบวนไปรัฐสภาวันที่ 17 พ.ย. คืออยากให้มีการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน แต่เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเราอยากให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้กระบวนการของรัฐสภา เราอยากให้นำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ตามกลไกของรัฐธรรมนูญและกลไกของสภา แต่สิ่งที่รัฐบาลหรือใครก็ตามที่สั่งรัฐบาลทำกับเรา ทำให้เห็นชัดเจนว่าเขาไม่ได้ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการทางสภา เมื่อข้อเรียกร้องของประชาชนพูดในสภาไม่ได้ ก็ต้องพูดบนท้องถนน

สิ่งที่รัฐสภาทำให้เห็นคือการเมินเฉยและมันน่ากลัว ประชาชนนับแสนรายชื่อที่รับรองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาหวังว่าจะได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจ เพราะมีหลายเรื่องที่ประชาชนอยากให้เปลี่ยนแปลง เหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย. ระหว่างที่ประชาชนถูกฉีดน้ำ ถูกโล่กระบอง กระสุนยาง แล้วสมาชิกรัฐสภาหนีไปไหน เหลือ ส.ส. ไม่กี่คน การลงมติก็ไม่เกิดขึ้น ทำเห็นถึงความเมินเฉยและไม่ใส่ใจประชาชน ส.ส.ต้องเป็นคนที่ใส่ใจประชาชนมากที่สุด ส่วนคณะรัฐบาลเรายังเข้าใจได้เพราะเขามีรากเหง้าจากเผด็จการ แต่ส.ส.ที่มาจากประชาชน ต้องเห็นแก่ประชาชนเป็นอันดับแรก ประชาชนมาด้วยความยากลำบากขนาดนั้นทำไมเขาหนีกลับ

เรารับไม่ได้กับการสลายการชุมนุมวันที่ 17 พ.ย. เราต้องส่งเสียงบอกตำรวจหรือรัฐบาลว่าสิ่งที่ทำไม่ถูกต้องเลย และไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น เหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย. หนักหน่วงมาก โดนทั้งแก๊สน้ำตาผสมน้ำ แก๊สน้ำตาแบบยิงและแบบโยน การ์ดม็อบก็เป็นนักศึกษาและประชาชนที่มีแต่มือเปล่า แก๊สน้ำตาที่ผสมในน้ำยิ่งไปย่ำน้ำที่เจิ่งนองมันยิ่งคลุ้งขึ้นมา ขนาดเราไม่โดนฉีดตรงๆ โดนแค่ไอที่ระเหยจากพื้นยังหายใจติดขัด แล้วคนที่โดนตรงๆ จะเป็นอย่างไร

การกระทำของเจ้าหน้าที่วันที่ 17 พ.ย. ไม่ว่าคำสั่งมาจากใคร แต่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้อุณหภูมิการเมืองเพิ่มขึ้น เขาคิดผิดมากที่สลายการชุมนุมเพราะตอนนี้ประชาชนโกรธมาก คนที่มีความคิดเห็นต่างจากเราเขาก็รับไม่ได้กับการสลายการชุมนุม

เพื่อนอาชีวะของเราโดนยิงสองคน คนหนึ่งโดนที่ท้อง คนหนึ่งโดนที่ขา เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างไรจึงควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วปล่อยให้ม็อบชนม็อบ ทั้งที่เจ้าหน้าที่มีเยอะขนาดที่สามารถต้านแนวประชาชนที่เดินไปสภาได้ แต่ไม่สามารถกั้นประชาชนสองฝั่งได้ เป็นคำถามว่าเจ้าหน้าที่จงใจให้เกิดการปะทะหรือเปล่า แล้วมีการตรวจสอบไหมว่าคนสวมเสื้อเหลืองที่ถือมีดถือปืนเป็นใคร เจ้าหน้าที่กระตือรือรือร้นที่จะหาความจริงไหม เราจะเห็นได้ตั้งแต่กรณีนักศึกษารามคำแหงแล้ว

อย่างนี้จะไม่ให้ประชาชนโกรธได้อย่างไร สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำเมื่อวันที่ 17 พ.ย.เกินกว่าเหตุจริงๆ

ส่วนประชาชนที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง เราอยากบอกว่าอย่าเห็นการทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องบันเทิง มีคนที่เป็นผู้ถูกกระทำแล้วเขาอาจสูญเสียทั้งความรู้สึกในจิตใจ ได้รับผลกระทบทางร่างกาย แล้วทางสังคมเราไม่รู้ว่าเขาโดนอะไรบ้าง บ้านเมืองเราสามารถคุยกันได้ด้วยเหตุผล โดยไม่จำเป็นต้องเกิดการปะทะและการใช้ความรุนแรง เรายังสามารถพูดคุยในภาษาที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่ายได้

 

:: เลิกซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม ::

 

 

การที่เราร่วมจัดม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ และมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เวทีแรก เพราะเราเห็นปัญหาของบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยมานานแล้วและเกิดข้อสงสัยจำนวนมาก แต่ไม่สามารถหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในที่สาธารณะได้ คนทั่วไปก็พูดในที่ลับหรือซุบซิบนินทา ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าเกิดปัญหาและต้องแก้ไข ทำไมเราไม่พูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริง ยิ่งเราซุกปัญหาไว้เรื่อยๆ ปัญหาจะยิ่งกองจนนูน แล้วเราจะแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าแก้ตั้งแต่เนิ่นๆ เราจะแก้ได้แน่นอน และปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ถ้ามีใครเห็นว่าเราเข้าใจอะไรผิดก็มาพูดคุยชี้แจงกันว่าเหตุผลของคุณคืออะไร แล้วเราจะชี้แจงเหตุผลของเราด้วย จะได้รู้ว่าส่วนที่เราพอจะยอมรับกันได้คือแค่ไหน แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรโดยที่ต่างฝ่ายต่างเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แก้ไขเท่าที่ยอมรับกันในสังคมก็ได้แต่ต้องเกิดการพูดคุยกันอย่างจริงใจ

ถามว่าประชาชนที่ออกมาจะเปิดรับฟังความเห็นต่างได้ไหม จะเห็นได้ว่ามีพี่เสื้อเหลืองที่เทิดทูนสถาบัน แต่ไม่ชอบคุณประยุทธ์ก็มาร่วมม็อบกับเรา แล้วทุกคนต้อนรับอย่างดี เพราะนี่คือหนึ่งเสียงในสังคมประชาธิปไตย หลักการประชาธิปไตยคือหากเราอยากแสดงความคิดเห็นของเราก็ต้องเคารพความคิดเห็นของคนอื่นเช่นเดียวกัน

การที่เราใช้ธีมแฮรี่เพราะการพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประเด็นแหลมคมและพูดยากในครั้งแรก เลยเลือกธีมแฮรรี่มาลดโทน และธีมแฮรี่มีกระทรวงเวทมนต์ มีการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสมในหนัง และมีคนที่คุณก็รู้ว่าใคร การใช้ธีมแฮรี่ทำให้คนที่อาจยังไม่สนใจการเมืองหันมามองได้ว่า แฮรี่ก็ใช้เรียกร้องประชาธิปไตยได้เช่นกัน

 

:: การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคือเส้นทางตลอดชีวิต ::

 

 

ในปี 2558 ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร เราเห็นข่าวนักศึกษาทำกิจกรรมหน้าหอศิลป์ เขาเพียงแค่ไปยืนมองนาฬิกาเพื่อรำลึกวันเวลาครบรอบการรัฐประหาร แต่พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่อุ้มออกไปทีละคน เราหดหู่มาก เกิดคำถามว่าทำไมเขาโดนอย่างนี้ แล้วเราทำอะไรได้บ้างในประเทศนี้ นอกจากนี้หลังการรัฐประหารที่บ้านเราเจอปัญหาเศรษฐกิจ แม่เราค้าขาย พ่อทำรับเหมาก่อสร้าง รัฐประหารส่งผลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ลูกค้าประจำบอกแม่ว่าเงินไม่พอมาซื้อแล้วนะ คนรากหญ้าหาเช้ากินค่ำยิ่งได้รับผลกระทบ คนทำงานแลกค่าแรงวันละ 300 บาทจะอยู่อย่างไร เราเกิดคำถามแล้วพบว่าทุกอย่างในชีวิตเราเกี่ยวข้องกับการเมืองและแก้ไขได้ด้วยการเมือง

ปี 2559 เราไปติดป้ายต้านรัฐประหารที่มหาวิทยาลัย แล้วป้ายโดนปลดไวมาก นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ในตอนนั้น ค่อยๆ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ตกผลึกกับตัวเอง และค่อยๆ ขยับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยด้วยตัวเอง

จนถึงวันนี้ตัวตนเราก็ยังคงเป็นเราเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มมากขึ้นคือความมั่นใจในอุดมการณ์และหลักการณ์ที่ยึดมั่น ก่อนหน้านี้อาจมีเสียกำลังใจบ้าง ช่วงที่เราเริ่มติดป้ายแล้วแจกใบปลิวไปเขาก็โยนทิ้ง เราเสียกำลังใจแต่คิดว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นเวลาของประชาชน วันหนึ่งคนจะเข้าใจถึงสิทธิของตัวเอง พอมาถึงตอนนี้มันคนละเรื่องเลย เรามั่นใจมากขึ้นในหลักการที่เรายึดมั่นว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย อะไรที่เป็นความจริงประจักษ์แจ้งในแผ่นดินนี้แล้วใครหน้าไหนก็เอามันลงไม่ได้ การพูดของเราจึงต้องยึดมั่นความจริง

เราชอบอ่านคอมเมนต์ใต้ข่าว เราอ่านสิ่งที่เขาตำหนิแล้วมองว่าทำไมเขาว่าเรา แล้วสิ่งนั้นเราควรแก้ไขไหม ทำให้เราได้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง เพราะคนที่ชอบก็จะชมเรา แต่อีกฝ่ายที่ไม่ชอบเขามีคำด่า เช่น พูดแล้วดูกลวง หลักการไม่แน่น หรือพูดดีแต่เลือกฝั่งผิด เราเห็นความหลากหลาย แล้วอะไรที่อุดรอยรั่วได้เราก็เอากลับมาพัฒนาตัวเอง

เมื่อก่อนเราแค่อยากเรียนจบเป็นวิศวกร ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ในวันนี้เราเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิไตยสามารถทำได้ตลอด และเราไม่มีวันหยุดมันได้ในฐานะพลเมืองไทย เราไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะทำงานอะไร แต่คิดว่าจะทำงานต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยควบคู่ไปได้เสมอ เรายังจับตาการทำงานของรัฐบาลได้แม้เราเป็นวิศวกร ตอบได้อย่างมั่นใจว่าในอนาคตเราคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไปจนสิ้นสุดชีวิต วันนี้เราเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การออกมาเลือกตั้งหรือออกมาชุมนุม แต่คือการเข้าใจว่าเรามีสิทธิอะไรบ้างในประเทศนี้ และเข้าใจว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของใคร

หวังว่าอีกสิบปีเราจะเห็นประชาธิปไตยที่มั่นคง ก่อนหน้านี้เราอาจตอบได้ไม่เต็มปาก แต่ช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเชื่อว่าอีกสิบปีเราจะเห็นการเมืองที่มั่นคงได้

 

:: พัฒนาการของมวลชน ::

 

 

ช่วง 3-4 เดือนนี้นอกจากเปลี่ยนชีวิตเราแล้วยังเปลี่ยนกระแสสังคมให้เป็นมูฟเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ ก่อนหน้านี้หลายคนเมินหน้าหนีเรื่องประชาธิปไตยและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ ณ วันนี้ เราเองก็เกินคาด ตลอดเวลาที่เราสู้มาแต่แรกเราหวังว่าวันหนึ่งประชาชนต้องตื่นรู้ แล้ววันนั้นก็มาถึง ประชาชนตื่นรู้ในสิทธิและอำนาจของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ ทุกคนสามารถมาพูดในประเด็นของตัวเอง สื่อสารประเด็นที่อยากเรียกร้องได้

ข้อเรียกร้องสามข้อของพวกเราเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อการปกป้องประชาธิปไตย แต่การตื่นรู้ในสิทธิของตัวเองเป็นการก่อตัวของประชาธิปไตยที่เราสามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ และเขาจะเกิดมาโดยเข้าใจว่าเขามีสิทธิแค่ไหนในประเทศนี้

การที่ประชาชนตระหนักรู้สิทธิของตัวเองเกิดขึ้นยากมาก แต่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือน วันนี้ทุกคนเข้าใจสิทธิของตัวเองและรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง แต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน ทุกคนมีประเด็นของตัวเอง เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ กระแสมาแล้วคงตีให้กลับไปไม่ได้แล้ว

การประท้วงของพวกเรายังอยู่ในช่วงที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่เคยมีการชุมนุมรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อนในอดีต การชุมนุมที่ทุกคนเป็นแกนนำและมีประเด็นที่หลากหลาย ตอนนี้เรากำลังเรียนรู้และฝึกฝนการเรียกร้อง  คนรู้ว่าตัวเองมาพูดประเด็นของตัวเองได้ ทำให้เราไปถึงจุดที่ทนไม่ไหวเร็วขึ้น แล้วเราจะจัดการมันด้วยความรู้และความสร้างสรรค์ ตอนนี้มีการพัฒนาและคนเรียนรู้เร็วมาก เป็นแบบแผนที่ทำให้การชุมนุมอยู่ในรูปในรอยมากขึ้น

วันนี้เราอาจเหนื่อยบ้าง ต้องยุ่งยากวิ่งขึ้นศาลรายงานตัวแต่ละคดี แต่เป็นสิ่งที่เราทำใจไว้อยู่แล้ว เราได้เห็นความหวัง ได้เจอมิตรภาพ เราเคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเด็กช่างจะหยุดตีกันเพื่อมาปกป้องประชาชนที่มาไล่รัฐบาล เราได้รู้มุมมองใหม่ๆ ของสังคม ฝึกควบคุมตัวเอง ต้องอดกลั้นจากการกระทำของรัฐบาล การชุมนุมทุกครั้ง หลายคนได้อะไรกลับบ้านเสมอ เป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เราไม่เคยได้เจอ เมื่อเจอแล้วเราต้องเก็บเกี่ยวสิ่งรอบข้างกลับไปคิดให้มากที่สุด

 

:: การเมืองในสภาต้องทำความเข้าใจประชาชน ::

 

 

วันที่ดีเบตกับคุณปารีณา (ไกรคุปต์) ตื่นเต้นมาก การพูดคุยกับคุณปารีณาทำให้ได้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนยังไม่เข้าใจว่าการชุมนุมของประชาชนเกิดขึ้นเพื่ออะไรและเรียกร้องอะไรมาบ้าง ที่ผ่านมามีวาทกรรมที่เราเห็น เช่น เด็กพวกนี้ล้มเจ้า เด็กพวกนี้โดนล้างสมอง เด็กพวกนี้ถูกชักใยถูกจูงจมูก มีการใส่ร้ายผู้ชุมนุมในรัฐสภา ทำให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาไม่มีความเข้าใจการชุมนุมของประชาชนเลย แต่มาวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก หลายเรื่องที่พูดออกมาไม่เป็นความจริง

ถ้าคุณบอกว่าตัวเองเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ แต่คุณไม่ได้มีอำนาจเหนือประชาชนคนอื่น ในทางตรงข้ามแล้วคุณรับเงินเดือนจากประชาชน หากจะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของประชาชนหรือสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง คุณควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนที่จะพูดไหม ไม่อย่างนั้นการพูดของคุณจะไม่มีน้ำหนัก แล้วใครจะฟัง

สมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่เข้าใจอะไรเลย ถ้าเข้าใจจริงเขาจะไม่พูดแบบนี้ เราเก็บเอาประเด็นเหล่านั้นมาตกผลึกมากขึ้นว่าเสียงที่เขาพูด สิ่งที่เขาวิจารณ์ หรือพยายามสร้างความเกลียดชังให้คนในสังคม นอกจากไม่ถูกต้องแล้วยังไม่ควรไปให้ราคาด้วยซ้ำ

 

:: สี่ปัจจัยสู่การเมืองมั่นคง ::

 

 

เราอยากเห็นประเทศไทยมีการเมืองที่มั่นคง มีสี่ปัจจัยที่ทำให้มั่นคงได้

1. รัฐธรรมนูญที่เข้มแข็ง ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนเจตจำนงของประชาชน และดำรงอยู่เพื่อประชาชน จะทำให้เราไว้วางใจได้ว่าเครื่องมือบริหารประเทศของเรามีประสิทธิภาพมากพอไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา

2. ประชาชนที่ตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเอง ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาประชาชนก็จะจับตาและคอยตรวจสอบ

3. รัฐบาลที่รู้หน้าที่ รัฐบาลต้องเข้ามาเพื่อบริหารประเทศเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และประชาชนต้องเป็นคนเลือกรัฐบาลเข้ามา หากรัฐบาลไม่ได้ทำงานเพื่อประชาชนก็ควรออกไป คณะรัฐบาลต้องเตือนตัวเองว่าพวกคุณรับเงินจากประชาชน ไม่ได้มีอำนาจเหนือประชาชน เลิกเอาคำว่าผู้ทรงคุณวุฒิมายกตัวเองให้เหนือกว่าประชาชนได้แล้ว ทุกบาททุกสตางค์นั้นประชาชนไว้ใจว่าคุณจะทำงานเพื่อเรา

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจก็สามารถเอาเวลาไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ของประเทศได้ในช่วงเวลาสี่ปีของแต่ละวาระ

4. ห้ามเกิดการรัฐประหารอีก การเมืองจะมั่นคงได้ต้องไม่มีการบั่นทอนประชาธิปไตย การรัฐประหารคือการที่คนกลุ่มหนึ่งใช้กำลังมายึดอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญยึดอำนาจมาเป็นของตัวเอง นี่คือเผด็จการ ทำไมถึงมีคนยอมรับการประพฤติที่เป็นเผด็จการได้อยู่ หากอยากเห็นการเมืองไทยที่มั่นคง การรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก และต้องไม่มีใครเซ็นรับรองการรัฐประหารด้วย

ถ้าการเมืองมั่นคงเราจะเห็นการพัฒนาด้านอื่น รัฐบาลจะมีเวลามากพอในการพูดคุยถกเถียงเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเทียว การส่งเสริมอาชีพ การกระจายรายได้ การเยียวยาต่างๆ

บ้านเมืองเรามีปัญหาเยอะมาก ตอนนี้เราพูดเรื่องประชาธิปไตยเยอะเพราะเป็นใจความสำคัญของสังคมนี้ จึงเป็นจังหวะดีที่จะพูดเรื่องประชาธิปไตยแล้วขยายไปพูดถึงปัญหาอื่นๆ เมื่อทุกคนตระหนักรู้ถึงสิทธิของตัวเอง

เราเองก็สนใจเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องแรงงาน ตั้งแต่มีโควิดแรงงานถูกเลิกจ้างเยอะมาก แล้วรัฐบาลเยียวยาทั่วถึงไหม ประชาชนได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการที่รัฐบาลกู้เงินแล้วประชาชนก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาทั่วถึง ปัญหาในประเทศนี้มีมากมาย เราสามารถจัดการได้ โดยเริ่มแรกรัฐบาลต้องทำงานเพื่อประชาชนก่อน

MOST READ

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

Media

6 Aug 2020

Innerscape Ep.6 เป็นครูศิลปะแบบไหนที่ไม่ทำให้เด็ก ‘กลัว’ ศิลปะ

Innerscape ศิลปะบนผืนใจ ตอนใหม่ ชวนคุยเรื่อง ‘ครูศิลปะ’ ผู้เชื่อมโยงระหว่างเด็กและศิลปะ ตัวแปรสำคัญที่อาจกำหนดว่า ศิลปะจะถูกระบายไปถึงผืนใจของเด็กหรือไม่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

6 Aug 2020

Media

13 Jul 2021

PRESSCAST EP.21 : เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ชวน ‘วศินี พบูประภาพ’ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ผันตัวมาสู่เส้นทางนักข่าวสังกัด workpointTODAY คุยประสบการณ์และภาพวงการสื่อที่เธอมองเห็น

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

13 Jul 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save