fbpx
จอน อึ๊งภากรณ์ : ถึงเวลาคืนอาวุธให้ประชาชน

จอน อึ๊งภากรณ์ : ถึงเวลาคืนอาวุธให้ประชาชน

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557  มีการใช้อำนาจพิเศษ ออกประกาศและคำสั่งมาแล้วห้าร้อยกว่าฉบับ เพื่อบังคับใช้อำนาจตามนโยบายของ คสช.

ผลจากประกาศและคำสั่งจำนวนหนึ่ง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การห้ามชุมนุมทางการเมือง การควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน การไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ป่า การปฏิรูประบบการศึกษาและสาธารณสุข ฯลฯ

กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคม 24 องค์กร แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” ล่ารายชื่อของประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎร (หลังการเลือกตั้ง) เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ จำนวน 35 ฉบับ อาทิ

– คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารเรียกตัวประชาชนมารายงานตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่ตั้งขอกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน พร้อมยกเว้นความรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งห้ามประชาชนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ตัวอย่างกรณีล่าสุดคือ การดำเนินคดีกับ 8 แกนนำเครือข่ายผู้จัดกิจกรรม We Welk เดินมิตรภาพ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561)

– ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/ 2557 กำหนดให้คดีบางประเภทของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

– การดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ทำให้มีการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านหลายพันคนที่ถูกกล่าวหาว่ารุกพื้นที่ป่า ฯลฯ

101 คุยกับ จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หนึ่งในเครือข่ายที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกมารณรงค์แคมเปญนี้ เพื่อถามถึงที่มาที่ไปของโครงการ แนวปฏิบัติในการดำเนินการ เป้าหมายที่วางไว้ ไปจนถึงมุมมองต่ออนาคตสังคมไทย ในฐานะคนที่ทำงานเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิเสรีภาพมายาวนาน

 

ที่มาที่ไปของแคมเปญ “ปลดอาวุธ คสช. – ทวงคืนสถานการณ์ปกติ” คืออะไร

ตอนนี้รัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว และเรากำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูเหมือนกับว่าเรากำลังกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แต่ปรากฏว่ายังมีการใช้อำนาจตามคำสั่งและประกาศคสช. ที่มีอยู่ห้าร้อยกว่าฉบับ เช่นเดียวกับการใช้มาตรา 44 ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับหัวหน้าคสช. อยู่

นี่เป็นการข้ามระบบกฎหมายปกติของสังคม และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คำสั่งและประกาศหัวหน้าคสช. บางฉบับ กลับระบุว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ซึ่งเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดเจน

อีกข้อที่เห็นชัดคือ ระบบกฎหมายของประเทศไทย ให้หลักประกันต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดไว้หลายประการ เช่น ต้องมีข้อกล่าวหาที่ชัดเจน ถ้าถูกจับกุมก็ต้องมีทนายความ ต้องมีหมายศาล ฯลฯ แต่การบังคับใช้คำสั่งและประกาศของคสช. กลับข้ามขั้นตอนเหล่านี้ทั้งหมด เช่น ถ้าเห็นใครเป็นศัตรูก็สามารถเข้าไปจับกุมได้เลย ไม่ต้องมีหมายเรียกหรือหมายจับ การจับกุมแล้วพาเข้าค่ายทหารโดยไม่แจ้งญาติพี่น้องหรือผู้เกี่ยวข้องว่านำไปที่ไหน หรือบังคับให้มีการสอบสวนในค่ายทหารโดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย บางครั้งมีการขอรหัสส่วนตัวเพื่อเข้าไปค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้มันขัดต่อหลักกฎหมายทั้งในประเทศไทยและหลักสากล ในเรื่องของการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ แต่ คสช. สามารถใช้อำนาจพิเศษเพื่อข้ามขั้นตอนเหล่านั้น

ยังไม่รวมประกาศและคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อหลักประกันเรื่องสิทธิของชุมชน เช่น การจัดทำโครงการที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการรวบรัดขั้นตอนให้สั้นลงและกีดกันการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่

จากแถลงการณ์ของเครือข่ายที่ประกาศออกมา ระบุให้ยกเลิกประกาศ/คำสั่งทั้งสิ้น 35 ฉบับ จากห้าร้อยกว่าฉบับ ทำไมต้องเป็น 35 ฉบับที่ว่านี้ 

ตอนแรกในส่วนของ iLaw จะยกเลิกเฉพาะประกาศ/คำสั่งที่กระทบต่อสิทธิพลเรือน และสิทธิทางการเมือง แต่เมื่อได้ปรึกษากับภาคเอกชนและเครือข่ายชุมชนต่างๆ ซึ่งเสนอว่าควรยกเลิกประกาศ/คำสั่งที่กระทบต่อสิทธิชุมชนด้วย เพราะมันกระทบต่อเขาโดยตรง จึงได้ข้อสรุปออกมาเป็น 35 ฉบับ

ทั้งนี้ แม้ประกาศ/คำสั่งทั้ง 35 ฉบับที่ว่ามาจะถูกยกเลิก ก็ไม่ได้แปลว่าสังคมไทยจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยทันที แต่นี่คือข้อเรียกร้องเบื้องต้นเพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่งที่กระทบต่อประชาชนมากที่สุดก่อน

 

เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คืออะไร        

เป้าหมายจริงๆ ของเราคือ ต้องการให้ประชาชนที่อยากเห็นระบอบประชาธิปไตย อยากเห็นการกลับมาสู่ระบบนิติธรรม เกิดความรู้สึกว่าเขาสามารถมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่จุดนั้นได้ เราต้องการมากกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ ยิ่งมากยิ่งดี อันนี้คือเป้าหมายหลัก

ผมเชื่อว่าตอนนี้มีประชาชนจำนวนมากที่อยากแสดงออกว่าพวกเขาไม่พอใจคสช. ไม่ชอบระบบเผด็จการทหาร อยากเห็นการกลับมาสู่สภาวะปกติในด้านของกฎหมายต่างๆ แต่ถ้าพวกเขาจะออกมาเดินขบวนหรือชุมชุม เขาอาจรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าไม่พร้อม เราจึงอยากเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมได้ โดยการลงชื่ออย่างเป็นทางการในการเสนอกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าของ

เราอยากจะกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวและมีบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่รออย่างสิ้นหวัง หรือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม เราอยากให้ประชาชนกลับมามีความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเจ้าของประเทศ

 

หมายความว่า การรณรงค์ให้ยกเลิกประกาศ/คำสั่งคสช. เป็นแค่กระบวนการระหว่างทางเท่านั้น ไม่ใช่ปลายทาง

ใช่ เพราะการบรรลุความสำเร็จในแง่ของการยกเลิกคำสั่ง/ประกาศจริงๆ นั้น มันไม่มีหลักประกันว่าจะสำเร็จไหม เพราะเราต้องพึ่งพาสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งการที่จะไปสู่จุดนั้นได้ ก็ต้องรอให้มีเลือกตั้งก่อน และในอดีตที่ผ่านมา เท่าที่เคยมีการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายประชาชนต่อสภา ส่วนใหญ่สภาก็มักจะไม่รับ ด้วยเหตุผลทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งสุดท้ายร่างกฎหมายเหล่านั้นก็จะตกไป

ที่จริงเราเถียงกันเยอะว่าจะเสนอสนช. เลยดีไหม แต่มันก็ขัดแย้งในตัว เพราะ สนช. ก็แต่งตั้งโดยคสช. อีกที สุดท้ายจึงมีมติว่าจะไม่เสนอสนช. แต่จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็เกิดความขัดแย้งอีกแบบหนึ่งคือ คำสั่ง/ประกาศเหล่านี้ควรยกเลิกก่อนมีการเลือกตั้ง แต่กลับต้องไปรอหลังเลือกตั้ง อะไรทำนองนี้

ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวังเบื้องต้นคือการสร้างแรงกดดันให้เกิดการยกเลิกมากกว่า ถ้าประชาชน สื่อมวลชน พร้อมใจกันเรียกร้อง มันก็เป็นไปได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยปลอดภัย และได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ

 

ในมุมของอาจารย์ มีคำสั่งไหนที่น่าเป็นห่วงและลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุด

สำหรับผม คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 เป็นเรื่องของการตัดสิทธิทางการเมืองทุกประการ ตั้งแต่ห้ามการชุมนุมเกินห้าคน และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจับกุม ควบคุมตัวบุคคลไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ไม่ต้องมีข้อกล่าวหา สามารถพาบุคคลนั้นไปยังที่ไหนก็ได้เพื่อทำการสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการได้รับการคุ้มครองด้วย อันนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุด และขัดต่อปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

อีกฉบับที่ร้ายแรงคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีบางประเภทของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร จริงๆ แล้วเรื่องของกฎอัยการศึกกับการใช้ศาลทหาร มีไว้สำหรับใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น เช่น ถ้ามีคนทำผิดในขณะที่ประเทศไทยกำลังทำสงครามกับประเทศอื่น แล้วความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการ ก็สามารถเอาขึ้นศาลทหารเพื่อตัดสินโดยเร็วได้ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะอย่างนั้นเลย แต่เราก็ยังเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

จากที่อาจารย์บอกว่า การบังคับใช้คำสั่ง/ประกาศของคสช. ตอนนี้ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญในหลายส่วนด้วยกัน หมายความว่าคสช. ใช้อำนาจโดยละเลยรัฐธรรมนูญหรือเปล่า

ไม่เชิง เพราะเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่เอื้อให้ใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญได้ ก็คือการใช้มาตรา 44

 

พูดง่ายๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดไม่มีความหมาย คสช. ยังคงใช้อำนาจได้เต็มที่

ใช่ เขามีอำนาจเด็ดขาด อำนาจสูงสุดคือมาตรา 44 ตราบใดที่ยังมีมาตรา 44 กฎหมายมันไม่เป็นกฎหมาย มันหมายความว่าบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ นึกกฎหมายขึ้นมาก็สามารถออกได้เลย อันนี้ขัดหลักการกฎหมายทั่วโลกที่กลุ่มคนไม่กี่คนสามารถทำกฎหมายให้มีผลบังคับได้เลย

 

ในมุมของอาจารย์ ทางออกหรือทางลงของปัญหานี้คืออะไร

ทางลงของปัญหาคือประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สุด

ความหมายของผมคือ แม้สุดท้ายจะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าประกาศ/คำสั่งของคสช. รวมถึงการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงอยู่ ก็ขัดกับการเข้าถึงระบอบประชาธิปไตยอยู่ดี

 

หลังเลือกตั้ง ประกาศ/คำสั่งต่างๆ จากยุคคสช. ก็ยังคงอยู่

ใช่ ประกาศ/คำสั่งต่างๆ ยังอยู่หมด ปัจจุบันเรายังมีประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่สมัยก่อนโน้นค้างอยู่เลย เพราะถ้าเขาถือว่ามันเป็นกฎหมายแล้ว มันจะยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อผ่านมติสภา น่าแปลกที่กฎหมายพวกนี้ตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งตั้งกันแบบง่ายๆ แต่เวลายกเลิกกลับต้องผ่านมติสภา

ผมเชื่อว่าสภาจะต้องยกเลิกคำสั่ง/ประกาศคสช. ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว โดยธรรมเนียมต้องทำอยู่แล้ว แต่คำถามคือเขาจะยกเลิกอันที่ร้ายแรงหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เรากังวล และอย่างน้อยเราอยากได้หลักประกันว่าเขาจะให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของเรา

พูดง่ายๆ ว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นประชาธิปไตย เช่น องค์ประกอบของวุฒิสภาที่เปิดช่องทางให้คนนอก รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คสช. สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกลไกควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งหมดขัดกับหลักประชาธิปไตยแน่นอน

แม้แต่กฎหมายพรรคการเมืองก็ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะไม่เอื้อให้พรรคการเมืองของประชาชนเข้าสู่สนามได้ มันมีสารพัดเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในอนาคต ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจภายนอก สามารถควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ พูดง่ายๆ ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างจริงจัง ประเทศไทยถึงจะเป็นประชาธิปไตยได้มากพอสมควร

ถามว่าสุดท้ายจะแก้ได้อย่างไร ผมคิดว่ามันต้องเกิดภาวะที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ ยังห่างไกลมากจากจุดนั้น

แต่ถามว่าในอดีตมันเคยเกิดขึ้นไหม มันเคยเกิดหลังปี 2535 ช่วงที่พลเอกสุจินดา (คราประยูร) จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วประชาชนทั่วประเทศยอมรับไม่ได้ จึงลุกขึ้นต่อต้าน จนในที่สุดพลเอกสุจินดาก็ต้องลงจากตำแหน่งอย่างรวดเร็ว

ผมเชื่อว่าหลังเลือกตั้ง จะเกิดการยื้อกันพอสมควร ระหว่างคนที่อยากให้สังคมกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย กับกลุ่มที่อยากจะคงไว้ซึ่งประชาธิปไตยแบบครึ่งใบหรืออะไรทำนองนั้น แต่ผมคิดว่าโดยธรรมชาติของพรรคการเมืองทั้งหลาย เขาไม่อยากอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาก็จะพยายามแก้รัฐธรรมนูญ พยายามใช้กลไกต่างๆ เพื่อดึงบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ระบบปกติ

สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับประชาชนด้วยว่า จะมีท่าทีอย่างไร ถ้าประชาชนนิ่งเฉย โอกาสเปลี่ยนแปลงก็ยาก แต่ถ้าประชาชนแสดงออกว่าต้องการกลับมาเป็นเจ้าของประเทศจริงๆ มันก็เป็นไปได้ ทั้งหมดนี้ผมหมายถึงการแสดงออกโดยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง

 

สถานการณ์ตอนนี้ ใกล้เคียงกับปี 2535 แค่ไหน

ยัง (ตอบทันที) ยังไม่ใกล้เลยในความคิดผม มันใกล้ในแง่ที่ว่าคสช. อยากอยู่ในอำนาจต่อ นี่คือสิ่งที่คล้ายกัน

แต่ที่ไม่คล้ายเลยคือ มันยังไม่มีกระแสประชาชนสูงเหมือนสมัยนั้น ยังไม่มีกระแสต่อต้านแรงขนาดนั้น อาจมีการวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นจะทำให้มีผลเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งอาจเป็นเพราะคนในสังคมไทยตอนนี้ ยังมีความขัดแย้งทางความคิดกันอยู่มาก เป็นความขัดแย้งที่สั่งสมนานเป็นสิบปี

สิ่งที่พอจะเห็นความหวังบ้างตอนนี้ ก็คือคนหลายกลุ่มที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร หรือไม่คัดค้านรัฐประหาร ตอนนี้เขาเริ่มไม่พอใจ เริ่มมีท่าทีที่ถอยห่างจากคสช. แล้ว

 

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คนที่ไม่เห็นด้วยคสช. แม้จะมีไม่เยอะ แต่ก็มีไม่น้อย

ก็มีบ้าง แต่ถ้าพูดถึงแนวโน้มโดยทั่วไปในสังคมไทยขณะนี้ กระแสประชาธิปไตยยังไม่เข้มข้นเท่าไหร่ ยังไม่ใช่กระแสหลัก ซึ่งแง่หนึ่งก็เป็นปรากฏการณ์คล้ายๆ กันทั่วโลก กระแสหมุนกลับไปฝั่งขวา หมุนกลับไปสู่อำนาจนิยม อย่างที่เห็นว่าหลายประเทศตอนนี้จะชอบผู้นำที่เด็ดขาด เช่น ทรัมป์ของสหรัฐฯ ดูแตร์เตของฟิลิปปินส์  หลายประเทศตอนนี้มีรัฐบาลที่ค่อนข้างจะรวบอำนาจ แม้จะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีการรวบอำนาจมากขึ้น

 

สังคมไทยจะไปต่ออย่างไรในภาวะแบบนี้ มีความหวังบ้างไหม

สังคมไทยยังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะ แต่ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งของประเทศไทย ก็คือระบบการศึกษา เรายังมีระบบการศึกษาที่ยัดเยียดความคิดให้กับเด็กและเยาวชนจนโต เน้นการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่ส่งเสริมให้มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง แต่ส่งเสริมให้เชื่อตามข้อมูลที่ระบบการศึกษากำหนดมา ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเข้าใจเรื่องของสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ

เรายังมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยม มีความคิดแบบเชื่อฟัง เชื่อในระบบ ใครมีอำนาจก็เชื่อฟัง แต่ไม่รู้จักตั้งคำถาม นี่เป็นอุปสรรคใหญ่มาก และจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

ฉะนั้นถ้าถามตรงๆ ผมมองว่าภาวะที่เราไม่เป็นประชาธิปไตยจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน เพียงแต่ช่วงนี้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผ่อนคลายด้านสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มีผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสุดท้ายก็จะต้องร่วมมือหรือทำงานตามกรอบของกลุ่มอำนาจเดิมในระดับหนึ่งอยู่ดี

ขณะนี้ยังไม่เห็นแสงปลายอุโมงค์ เพียงแต่มันสว่างขึ้นนิดหน่อย จากเดิมที่มืดจนมองไม่เห็นอะไรเลย

 

แล้วถ้ามองไปยังการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนทั้งหลาย ซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมระดับหนึ่ง อาจารย์มองเห็นความหวังจากกลุ่มก้อนเหล่านี้แค่ไหน

เครือข่ายภาคประชาชนมีทั้งเก่าและใหม่ อย่างเครือข่ายที่มาร่วมล่ารายชื่อกับพวกเรา ส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายเก่าทั้งนั้น เครือข่ายใหม่ๆ จะเป็นพวกคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งพวกนี้ก็ขยันขันแข็งเหมือนกัน แต่ยังเป็นส่วนน้อยของกลุ่มตัวเอง

พูดง่ายๆ ว่าเยาวชน คนรุ่นใหม่ หรือบัณฑิตรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยยังมีจำนวนน้อย และยังไม่เป็นที่ยอมรับของคนรุ่นเดียวกันโดยทั่วไป ต่างจากสมัย 14 ตุลาฯ ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษามีพลังจริงๆ และนับเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนส่วนน้อย นี่คือข้อแตกต่างสำคัญ

 

แล้วเครือข่ายเก่าๆ ยังพอฝากความหวังได้ไหม

เครือข่ายเก่ามีอยู่หลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัย 2535 ซึ่งบางกลุ่มก็มาร่วมกับกปปส. ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเวลาต่อมา แล้วก็เรียกร้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่พอมาในยุคคสช. เขาก็เริ่มเห็นแล้วว่า คสช. เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ

อย่างกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านโรงไฟฟ้าทางภาคใต้ จากเดิมที่เคยเข้าร่วมกับกปปส. พอมีรัฐประหารจริงๆ เขาก็ไม่ได้ชอบ ไม่ได้เห็นด้วย แล้วหลายคนก็เคยถูกควบคุมตัว

ช่วงที่ผ่านมา คนไทยมีปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมเรียกว่า อาการหมกมุ่นกับเรื่องเดียว เช่น เกลียดทักษิณขึ้นสมอง ไม่ก็รักทักษิณสุดขั้ว ซึ่งสุดท้ายทำให้มองไม่เห็นปัญหา

ผมว่าเราลืมทักษิณดีกว่า แล้วมาเริ่มต้นจากคำถามใหม่ร่วมกันว่า เราอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน ถ้าถามแบบนี้ ผมคิดว่าคำตอบของคนแต่ละเฉดสี ไม่น่าจะต่างกันเท่าไหร่ แล้วทำไมเราไม่มาช่วยกันทำให้เกิดสังคมแบบนั้น

การที่เราจะสามารถร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตยได้ในที่สุด เราจำเป็นต้องก้าวข้ามเงื่อนปมเหล่านี้ไป ซึ่งจริงๆ มันควรก้าวข้ามมานานแล้ว

 

เพียงแต่ว่ามันยังติดอยู่กับ…

ติดกับเรื่องเก่าๆ ตอนนี้สังคมของเราต้องการพลังจากประชาชนมากกว่า ซึ่งการสร้างสังคมแบบที่ว่านั้น มันควรมีพรรคการเมืองของประชาชน แต่เราไม่มี

เมื่อกี้ที่ถามว่ามีทางเลือกไหม ผมคิดว่าในอนาคตถ้าเรามีพรรคการเมืองของประชาชน มันจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก ซึ่งเร็วๆ นี้คงยังไม่มี เพราะกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่เปิดโอกาสให้มี

ที่ผมเสนอแบบนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกือบทั่วโลกเกิดจากพรรคการเมืองภาคประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพรรคแรงงาน แรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วพรรคการเมืองเหล่านั้นก็จะนำขับเคลื่อนโดยนโยบายที่ประชาชนมีส่วนร่วม นำไปสู่การสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน อะไรทำนองนี้เป็นต้น

แต่เท่าที่ผ่านมา เราไม่มีพรรคการเมืองแบบนั้น เรามีแต่พรรคการเมืองแบบอุปถัมภ์ คือวางบทบาทเป็นผู้ให้ จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้กับประชาชน ไม่ได้ตั้งต้นจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

  

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เราไม่มีพรรคการเมืองแบบนั้น

เพราะเราไม่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งแบบต่างประเทศ เราไม่มีสหภาพแรงงานที่ใหญ่โตและมีพลังมากพอ เราไม่มีองค์กรของเกษตรกรที่เข้มแข็งพอจะตั้งพรรคการเมือง ส่วนพวกเอ็นจีโอทั้งหลายก็ไม่กล้าตั้งพรรคการเมืองอีก เพราะกลัวจะถูกมองเป็นฝ่ายการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง ซึ่งขัดกับหลักของเอ็นจีโอที่ควรทำงานกับทุกฝ่ายได้ สุดท้ายพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชนจริงๆ จึงเกิดขึ้นยาก

 

มีแนวทางไหนที่พอจะเป็นไปได้ไหม

ปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยได้ คือเราต้องมีระบบการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และเป็นประชาธิปไตย ซึ่งคสช. ก็ทำลายสิ่งนี้ไปด้วยเหมือนกัน

ถ้าเรามีระบบปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง มันจะเกิดพรรคการเมืองท้องถิ่นขึ้นมา ทำหน้าที่เรียกร้องและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจน แล้วพรรคการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ก็มารวมตัวกันอีกที เพื่อส่งผู้แทนในระดับประเทศ ถ้าใช้วิธีแบบนี้ก็พอเป็นไปได้

แต่ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดวันนี้พรุ่งนี้หรอก คงใช้เวลานานอยู่ แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่พอมองเห็นได้ เพราะเวทีการเมืองท้องถิ่นเป็นเวทีที่เอื้อให้คนที่มีจิตใจรักประชาธิปไตยเข้าไปมีบทบาทได้ ปัญหาคือตอนนี้ คสช. พยายามทำลายระบบการปกครองท้องถิ่นไม่ให้เดินหน้า โดยไม่สนว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร กระทบกับโครงสร้างสังคมแค่ไหน

ผมคิดว่าหนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญในยุคนี้ และเป็นข้อเรียกร้องที่จะมีคนเข้าร่วมเยอะ คือการเรียกร้องให้กลับมาสู่ระบบการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

 

ช่วงหลังมานี้ สังเกตว่า คสช.เริ่มมีแผลออกมาให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องนาฬิกาของประวิตร มองแง่นี้อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ดี และเริ่มตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการตรวจสอบรัฐบาล หรือไม่

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ยิ่งปกครองนาน ก็จะยิ่งเผยด้านไม่ดีออกมา

แต่สิ่งสำคัญในกรณีของคสช. คือประชาชนเรียนรู้ว่าตรวจสอบไม่ได้ ถึงจะเห็นจะๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาอยู่เหนือกฎหมาย องค์กรอิสระก็ไม่กล้าแตะต้อง ปปช. ก็ไม่กล้าแตะต้อง ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รับรองว่าป่านนี้ต้องมีข้อเรียกร้องให้ลาออก หรือไม่ก็ต้องถูกปปช. สอบอย่างจริงจัง นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนเห็นชัดว่าพวกนี้อยู่เหนือกฎหมาย แตะต้องไม่ได้

 

หลังการเลือกตั้ง อาจารย์มองว่ากลุ่มที่ขึ้นมาจะเป็นกลุ่มเดิมไหม ประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้หรือเปล่า 

ถ้าคสช. ฉลาด เขาจะไม่เอาประยุทธ์ขึ้นมา อันนี้พูดจริงๆ นะ เพราะมีแต่จะเสียกับเสีย ประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบสภาแบบนั้นได้ ต้องเข้าใจว่าการที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีของคสช. ได้ เพราะมีอำนาจเด็ดขาด มีพรรคพวกหนุนหลัง ไม่ต้องไปเถียงกับใคร

แต่ในสภา เขาต้องไปเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งผมว่าเขาจะยิ่งหัวเสียหนักกว่าเดิม และไม่เป็นผลดีกับเขาแน่ๆ ถ้าคสช. ฉลาด เขาจะไม่เอาประยุทธ์ขึ้นมา แต่จะเอาคนประวัติดีๆ ขึ้นมาแทน ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาฉลาดหรือเปล่า (ยิ้ม)

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save