fbpx
หญิงผู้ครองใจป๋วย: 100 ปีชาตกาล มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์

หญิงผู้ครองใจป๋วย: 100 ปีชาตกาล มาร์เกรท อึ๊งภากรณ์

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า เบื้องหลังชีวิตของมหาบุรุษย่อมมีผู้หญิงข้างกายเป็นคนสำคัญของชีวิต ที่ใครๆ อาจไม่ได้นึกถึง

อรัญ ธรรมโน ลูกศิษย์และลูกน้องของป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงเมียของป๋วยไว้ได้อย่างน่าคิดว่า “ผมคิดว่าถ้าอาจารย์มีภรรยาไม่ใช่แหม่มคนนี้ อาจารย์คงเป็นคนดีไม่มากเท่านี้” 

ส่วนลูกน้องของป๋วยอีกคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ตั้งข้อสังเกตคล้ายกันว่า สมัยก่อนเพื่อนของป๋วยเคยเปรยกับเขาว่า ป๋วยกับตนก็เรียนเมืองนอกมาเหมือนๆ กัน กลับมาทำงานพร้อมๆ กัน แต่ทำไมป๋วยถึงไปได้ไกลกว่าตน  ลูกน้องของป๋วยผู้นี้ตอบว่า “เป็นเพราะอาจารย์ป๋วยมีป้ามาร์เกรทเป็นเมีย”

ขณะที่ ป๋วย สามีของเธอเป็นที่รู้จักไม่เพียงแต่ในเมืองไทย หากยังได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาล (พ.ศ. 2559) แต่เรื่องราวของเธอก็แทบไม่เป็นที่ปรากฏเลย จนเธอตายจากไปอย่างเงียบๆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 ในประเทศอังกฤษ

ในวาระ 100 ปีชาตกาลของเธอ (18 พฤศจิกายน 2562) จึงอยากชวนให้กลับมาอ่านเรื่องราวของ มาร์เกรท สมิธ อึ๊งภากรณ์ ผู้หญิงสามัญที่ไม่ธรรมดา คนที่อยู่เคียงข้างบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ด้วยคุณงามความดีอย่างป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา

 

Margaret Smith Ungphakorn (18 พฤศจิกายน 2462 - 27 มีนาคม 2555)
Margaret Smith Ungphakorn (18 พฤศจิกายน 2462 – 27 มีนาคม 2555)

กำเนิดและครอบครัว

มาร์เกรท[1] สมิธ อึ๊งภากรณ์ (Margaret Smith Ungphakorn) เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2462 ที่ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวที่มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน พ่อของเธอทำงานในบริษัทค้าหุ้น เป็นครูสอนศาสนานิกายกระแสรองที่ปฏิเสธความหรูหรา เป็นนักอนุรักษ์นิยมที่รักชาติ เขาเลือกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative) เสมอ และเคยเป็นทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้แม่ของเธอต่อต้านสงคราม และเป็น “เควกเกอร์” (Quaker) ในช่วงท้ายของชีวิต

มาร์เกรทเติบโตในกรุงลอนดอน ใกล้ๆ แม่น้ำเทมส์ ในวัยเด็กมักไปเล่นตามสวนและทุ่งในย่านนั้นจนรู้จักดอกไม้ธรรมชาติหลายชนิด จนทำให้เธอเป็นคนรักธรรมชาติ

เธอเข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีเซนต์พอลส์ ซึ่งตอนนั้นมีอาจารย์เป็นเฟมินิสต์ และครูเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อเธอเป็นอย่างมาก

คนรักของป๋วย

ป๋วยกับมาร์เกรทพบกันที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ป๋วยเรียนเศรษฐศาสตร์ ขณะที่เธอเรียนสังคมวิทยา

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และป๋วยตัดสินใจเป็น “ทหารชั่วคราว” ทำงานเสรีไทยผ่านการเป็นทหารบกในกองทัพของอังกฤษ ทั้งสองจึงต้องพรากจากกันอยู่ระยะหนึ่ง

เพื่อนเสรีไทยของป๋วย อย่าง ทศ พันธุมเสน (บุตรชายพระยาทรงสุรเดช) บันทึกไว้อย่างน่ารักในหนังสือ กบฏกู้ชาติ (2531) ว่า

ในบรรดาเสรีไทยสายอังกฤษที่อยู่ในพระนครในช่วงปลายปี 2488 ผมเชื่อว่ามีป๋วยคนเดียวที่ใจจดจ่ออยู่กับผู้หญิงอังกฤษ เขาได้รับมอบภารกิจสำคัญจากผู้นำขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ให้ร่วมคณะผู้แทนไทยไปเจรจากับทางการอังกฤษ เมื่อเขาได้รับทุนเล่าเรียนชั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ทั้งรัฐบาลไทยและทางการอังกฤษก็ตอบแทนความดีความชอบของเขาเป็นพิเศษ โดยอนุมัติให้เขากลับไปศึกษาต่อก่อนเสรีไทยคนอื่นๆ

“เมื่อป๋วยกลับไปถึงอังกฤษในปลายปี 2488 ก็มิได้ขวนขวายเรื่องการทำปริญญาเอกเป็นอันดับแรก แต่ก่อนอื่นได้รีบรวบรัดแต่งงานกับ มาร์เกร็ท สมิธ ตอนนั้นป๋วยอายุ 30 ปี เรื่องของหัวใจยังสำคัญกว่าเรื่องของสมองซึ่งตื้อต่อเนื่องมาเต็มประดา จึงต้องตื้อคู่ตุนาหงันเสียก่อน”

ทศยังกล่าวถึงความรักของป๋วยและมาร์เกรทไว้ด้วยว่า “ผมคิดว่า ความรักระหว่างป๋วยกับ มาร์เกร็ท สมิธ เป็นรักแท้ที่ไร้อุปสรรค และดูจะราบรื่นเสมือนผิวน้ำไร้ระลอก เมื่อเขาแต่งงานกัน พ่อตาพูดอย่างภูมิใจว่า ‘I couldn’t have a better son-in-law.’

รูปคู่ของทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพหน้าช่องบรรจุอัฐิที่ระเบียงคดวัดปทุมคงคา ตลาดน้อย เยาวราช
รูปคู่ของทั้งสอง ซึ่งเป็นภาพหน้าช่องบรรจุอัฐิที่ระเบียงคดวัดปทุมคงคา ตลาดน้อย เยาวราช

สันติวิธี: ต่อต้านสงคราม

มาร์เกรทเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง แน่วแน่ในความคิด และกล้าหาญ เห็นได้ชัดจากการต่อต้านสงคราม ที่เธอไม่ยอมทำงานช่วยแนวหลังในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเลือกไปทำงานสังคมสงเคราะห์แทน เธอเคยต้องขึ้นศาลในกรณีนี้ ดีที่ศาลเชื่อว่าเธอยึดมั่นในสันติวิธีจากมโนธรรมสำนึกจริงๆ จึงไม่ต้องโทษ ขณะที่เพื่อนของเธอบางคนก็ติดคุก เพราะศาลไม่เชื่อว่าเป็นพวกสันติวิธีจริงๆ

และอาจกล่าวได้ว่า เธอต่อต้านสงครามจนตลอดชีวิต ดังเมื่อปี 2546 มาร์เกรทในวัย 84 ปี ก็ไปร่วมประท้วงเพื่อต่อต้านสงครามอิรัก

จอนสะท้อนตัวตนของคุณแม่ว่า เป็น “คนที่ปฏิเสธการใช้อาวุธทุกชนิด การใช้ความรุนแรงทุกชนิด ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม”

ครอบครัวของป๋วยกับเธอ

หลังจากแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2489 และป๋วยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก LSE แล้ว มาร์เกรทก็เดินทางมาใช้ชีวิตในประเทศไทยที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน ต้องมาเรียนภาษาไทยจนอ่านและพูดได้

มาร์เกรทกับป๋วย มีลูกชาย 3 คน คือ จอน ไมตรี (ปีเตอร์) และใจ

ตอนมาเมืองไทยเธอลำบากในการปรับตัวพอสมควร แต่มีการประนี­ประนอมกันเยอะระหว่างเธอกับป๋วย เช่น มาร์เกรทไม่เชื่อเรื่องการมีคนใช้ในบ้าน ตอนเด็กๆ แม่ไปไหนก็นั่งรถเมล์ ไปไหนก็หิ้วลูกไป แต่ต่อมาต้องประนีประนอม เพราะในที่สุดก็มีคนมาช่วยงานบ้าน แต่ไม่ได้ให้นอนอยู่ที่บ้าน และให้เงินเดือนค่อนข้างดีตามหลักการของเธอ

นอกจากนี้ ลูกชายคนโตของครอบครัวอย่าง จอน เห็นว่าน่าจะมีข้อตกลงระหว่างพ่อกับแม่ว่า มาร์เกรทจะอยู่ที่ไทยกับป๋วยตอนทำงาน แต่เมื่อไหร่ที่เกษียณจะไปอยู่อังกฤษด้วยกัน เพราะเธอเป็นคนที่ไม่ค่อยจะเข้ากับแวดวงเพื่อนของป๋วยเท่าไหร่นัก ทั้งที่ทำงานและเพื่อนของป๋วยด้วยความคิดและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

ส่วนเพื่อนสนิทของป๋วยที่คุยกับมาร์เกรทรู้เรื่อง เพราะมีความคิดในทางสังคมนิยมเหมือนกัน คือ พร้อม วัชระคุปต์ ก็เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในปี 2515

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2515)
“พร้อมเป็นคนหนึ่งที่มาร์เกรทรู้สึกสนิทชิดชอบมาก เพราะพูดซื่อๆ และมีความคิดเห็นเรื่องความมีความจนตรงกัน มาร์เกรทก็อาลัยพร้อมอยู่ไม่น้อย” – ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2515) อ่านเรื่องของพร้อมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.the101.world/prom-vajragupta/

“การมีภรรยานั้นเป็นการเสี่ยงโชค…”

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยกล่าวถึงเมียไว้ในปาฐกถาเรื่อง เหลียวหลัง แลหน้า (2519) ว่า

“การมีภรรยานั้นเป็นการเสี่ยงโชค ยิ่งมีเมียต่างชาติยิ่งต้องระวังมาก เพราะความยากลำบากในการครองเรือนปกติก็มีอยู่มากแล้ว ยิ่งผัวเมียต่างชาติต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ก็ยิ่งยากมากหลายเท่า อาศัยความรักซึ่งกันและกัน ความดีต่อกัน ความเอาใจใส่ทะนุถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน ความรอบคอบที่จะไม่นำเรื่องวัฒนธรรมของครอบครัวซึ่งต่างกันมาเป็นอุปสรรคของชีวิต เหล่านี้กับอาศัยความดี ความซื่อสัตย์ ความมัธยัสถ์ ความที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม จึงกล่าวได้ว่าชีวิตครอบครัวมีความสุขมากพอใช้

“ความอบอุ่นในครอบครัว มีอานิสงส์มาถึงลูก เพราะทำให้ลูกเมื่อได้รับความอบอุ่นก็มีปัญหาน้อย แม้ว่าจะเป็นลูกครึ่งชาติอย่างที่ปากตลาดเขาเรียกกัน ลูกของเราทั้ง 3 คน คุณพระช่วยให้ไม่ประพฤติสำมะเลเทเมาอย่างลูกคนอื่นเขาประสบกัน ต่างก็มีสติปัญญาได้เรียนจบขั้นปริญญาของมหาวิทยาลัยในอังกฤษทั้งนั้น และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่มีใครเสพยาเสพติดให้โทษ ไม่มัวเมาในกามคุณ ไม่หลงใหลในอบายมุขนานาประการ เป็นผู้ที่เชื่อในอหิงสา ความไม่ประทุษร้ายต่อใครๆ รักความสัตย์สุจริต รักสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และเลื่อมใสในการบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน คุณสมบัติของลูกนี้ ทั้งในการศึกษา ความประพฤติ และนิสัยสันดาน เขาได้มาจากแม่ของเขาเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมียผมยอมเสียสละอยู่กับลูกๆ ทั้งๆ ที่มีความรู้สอบได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางสังคมวิทยา ทำอาหารเอง ซักผ้าเอง ทำงานบ้านเอง สอนหนังสือให้ลูกบ้างในเวลาเตรียมตัวไปต่างประเทศ ต่อเมื่อลูกๆ โตกันแล้ว จึงได้ออกนอกบ้านไปทำงานสังคมสงเคราะห์ทั้งในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี และในประเทศอังกฤษ”

อย่างไรก็ดี จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายคนโตตั้งข้อสังเกตว่า ป๋วยเป็นคนที่มีความอดทนสูง เพราะมาร์เกรทไม่ใช่คนที่อยู่ด้วยง่าย แต่ป๋วยก็สามารถปรับตัวอยู่กับเธอได้โดยไม่ทะเลาะกัน มาร์เกรทจะยอมป๋วยในแง่การทำงาน และป๋วยก็จะยอมเธอทุกอย่างเรื่องการใช้ชีวิตในครอบครัว

ป๋วยกับมาร์เกร์ท เมื่อกลับมาเยี่ยมเมืองไทย แวะไปเยี่ยมหาท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพื่อนร่วมเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศสของป๋วย ที่บ้านซอยสวนพลู เมื่อเดือนเมษายน 2532
ป๋วยกับมาร์เกร์ท เมื่อกลับมาเยี่ยมเมืองไทย แวะไปเยี่ยมหาท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพื่อนร่วมเรียนพิเศษภาษาฝรั่งเศสของป๋วย ที่บ้านซอยสวนพลู เมื่อเดือนเมษายน 2532

ผู้หญิงในชีวิตของป๋วย

ในบทความ ผู้หญิงในชีวิตของผม-แม่ ป๋วยเขียนทิ้งท้ายถึงเมียของเขาไว้ว่า เมื่อป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “เมียผมมีความเดือดร้อนมากอยู่ข้อหนึ่ง คือมีคนแปลกหน้าไปหาที่บ้านแล้วเอาของขวัญของกำนัลไปให้เสมอ ถ้าผมอยู่บ้านละก็สะดวกหน่อย เพราะผมปฏิเสธเองได้ นอกจากจะเป็นคนรู้จักกันสนิทเป็นเพื่อนกันและของขวัญก็เล็กน้อย ก็รับเอาไว้ เพราะไม่ใช่ของกำนัลสินบน เราปฏิบัติกันอย่างนี้ตลอดมา

แล้วก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้เมื่อ “วันปีใหม่ปีหนึ่ง เผอิญผมไม่อยู่บ้าน มีพนักงานธนาคารเราคนหนึ่ง (ซึ่งเดี๋ยวนี้ลาออกไปแล้ว) นำเอากระเช้าผลไม้ไปให้ทีหนึ่งแล้ว ผมก็บอกว่าอย่าเอามาอีกเลย ขอบคุณมาก เขาก็บอกว่าเขานำมาด้วยความนับถือจริงๆ ในโลกนี้เขานับถืออยู่ ๒ คน ผมเป็นคนหนึ่งในสองนั้น ผมก็ขอบใจแล้วบอกว่านับถือไว้ในใจก็ได้ ปีหน้าอย่านำมาอีกเลย มาถึงปีที่จะเกิดเหตุเมียผมรับหน้าที่ปฏิบัติอย่างเคย คือขอให้เอาของขวัญนั้นกลับไปเสีย พูดเป็นภาษาฝรั่ง พนักงานคนนั้นก็เซ้าซี้อยู่นั่นแหละ เมียผมนึกว่าไม่เข้าใจภาษาอังกฤษจึงใช้ภาษาไทยแทน แต่ภาษาไทยของเมียผมใครๆ ก็รู้ว่าจำกัดมาก คือพูดได้ว่า “ไปซิ-ไปซิ”  พนักงานคนนั้นก็โกรธหาว่าขับไล่ แล้วเลยผูกใจเจ็บพยาบาทตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้”

นักสังคมนิยมประชาธิปไตย

มาร์เกรทเป็นนักสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นสังคมนิยมจากการอ่านหนังสือ และนับถือเบอร์ทรันด์ รัสเซล (Bertrand Russel) มาก

สมัยเป็นนักศึกษา เธอได้รับอิทธิพลจากเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายซ้ายของพรรคแรงงาน แม้เธอจะไม่ใช่มาร์กซิสต์ แต่ในช่วงแรกก็ไม่ยอมเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน เพราะเห็นว่ายังซ้ายไม่พอ โดยเพิ่งมาเป็นสมาชิกพรรคในช่วงบั้นปลาย เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์และพวก อย่างไรก็ตาม เธอมักพูดว่าโทนี่ แบลร์ ทำลายพรรคแรงงาน (Labour)

บางทีในทางการเมือง เธอก็หัวรุนแรงเหมือนกัน เธอมักเขียนลงหนังสือพิมพ์เป็นประจำในเรื่องการเมือง และเป็นเช่นนั้นจนบั้นปลายชีวิต คือมีความคิดทางการเมืองชัดเจน เช่น ผิดหวังกับพรรคแรงงานมาก บอกว่าตอนนี้พรรคนี้กลายเป็นพรรคทุนนิยมไปแล้ว

นอกจากนี้ มาร์เกรทยังมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับรายได้เกินรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ เพราะไม่ยอมเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ในประเทศอีกด้วย นี่คงส่งอิทธิพลต่อเธอบ้างเหมือนกัน

เธอเกลียดแนวคิดเสรีนิยมแบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา เธอคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และบ่นว่า “พวกใส่ซูด” คุมอำนาจเพื่อความโลภ แม้เชื่อเรื่องความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน ซึ่งระยะหลังเธอเห็นว่าพรรคแรงงานมีนโยบายที่ขัดกับหลักการของพรรค

อิทธิพลต่อป๋วย

เป็นที่ทราบกันว่า เรื่องสังคมนิยมก็ดี เรื่องสันติวิธีก็ดี ป๋วยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเมียอยู่ไม่น้อย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเป็นข้ออ้างให้ป๋วยเป็นคนซื่อตรงได้อีกด้วย ดังบันทึกของป๋วยเองที่เล่าไว้ว่า

“จอมพล สฤษดิ์ ถึงแม้ว่าจะโกรธเคืองผมเมื่อ พ.ศ.2496 ก็คงจะหายโกรธแล้ว และคงจะเห็นว่า ผมเป็นคนซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน จึงได้ให้ความไว้วางใจในเรื่องตำแหน่งหน้าที่ราชการ จอมพลสฤษดิ์ได้พูดกับผม 2–3 ครั้งว่า คุณป๋วย ผมรู้ดอกว่าบ้านของคุณเป็นเรือนไม้เล็กๆ อยู่ไม่สบาย เอาไหม ผมจะสร้างตึกให้อยู่อย่างสบาย ผมก็ตอบท่านว่าขอบพระคุณ แต่ผมอยู่สบายแล้ว ไม่เคยบ่นว่าไม่สบายเลย  ครั้นท่านเซ้าซี้หนักเข้า ก็เลยพูดทีเล่นทีจริงว่า เมียผมเขาไม่ชอบอยู่ตึก ถ้าท่านสร้างตึกให้ก็จะเข้าอยู่ไม่ได้

ขณะที่ลูกชายคนโตเห็นว่า คุณแม่มีอิทธิพลต่อความคิดคุณพ่อสูง โดยเฉพาะการต่อต้านคอร์รัปชั่น และการใช้ชีวิตเรียบง่าย รวมถึงความคิดเรื่องสันติวิธี และความเท่าเทียม

แม้กระทั่งความคิดที่ปรากฏในบทความ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน อันโด่งดังของป๋วย ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะได้รับอิทธิพลจากมาร์เกรทมาไม่น้อย เพราะบทความชิ้นนี้เขียนขึ้นในปี 2516 อันเป็นช่วงท้ายๆ ของการทำงานของป๋วยแล้ว

เรื่องเมืองไทย

เธอรักเมืองไทย และอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลาหลายปี แต่เกลียดทหารเผด็จการที่มักแทรกแซงการเมืองไทย เกลียดการทุจริตคอรัปชั่น และการที่ผู้น้อยต้องหมอบคลานต่อผู้ใหญ่

จอนเล่าว่า ในวัยเด็ก “คุณแม่เล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย เรื่องการโกงกินของเผด็จการทหาร แต่แม่ไม่เล่าเหมือนการสอน เช่น ตอนไปกินบะหมี่ มีจอมพล ประภาส จารุเสถียร มากินด้วย แม่ก็เล่าว่าคนนี้มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ แล้วก็เป็นคนที่โกงกินเยอะ แม่จะเล่าว่าคนไหนคอร์รัปชั่นบ้าง คิดว่าแม่ผิดหวังกับสังคมไทย”

ต่อมา มาร์เกรททำงานด้านสังคมเคราะห์เป็นอาชีพ เพราะเรียนจบทางด้านนี้มา โดยทำงานที่ศูนย์แม่และเด็กที่สาทร ทำงานในพื้นที่สลัมคลองเคย ซึ่งในสมัยนั้นคนที่ทำแบบนี้เป็นอาชีพมีน้อย

ป๋วยกับมาร์เกรทที่ Wimbledon Common, London พ.ศ. 2538 (ถ่ายโดย ไมตรี ปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์)
ป๋วยกับมาร์เกรทที่ Wimbledon Common, London พ.ศ. 2538 (ถ่ายโดย ไมตรี ปีเตอร์ อึ๊งภากรณ์)

ความสนใจ

เธอไม่เชื่อในศาสนา และเกลียดความงมงายทุกรูปแบบ เช่น ที่บ้านซอยอารีย์ เธออยากรื้อศาลพระภูมิทิ้ง แต่ก็ให้อิสระแก่ลูกๆ ทั้งสามว่าควรให้เรียนรู้เรื่องศาสนาต่างๆ แล้วตัดสินใจเองว่าจะสมาทานสิ่งใด

เธอรักการอ่านหนังสือ สนใจประวัติศาสตร์ และประเด็นทางสังคม รวมถึงรักดนตรีของบีโทเฟน

งานเขียนของมาร์เกรท

ในด้านงานหนังสือ ทั้งคู่เคยจัดพิมพ์หนังสือด้วยกันเรื่องหนึ่ง คือ เรียงความบางเรื่อง ซึ่งพิมพ์เรื่อง ทหารชั่วคราว และ การปกครองแบบรัฐสภาในประเทศบริเทน เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก สรรค์ ยุทธวงศ์ น้องเขยของป๋วย เมื่อปี 2496

สำหรับงานเขียนของเธอเอง ป๋วยเคยแปลงาน 2 เรื่องของเมียเป็นภาษาไทย คือ การสงเคราะห์ประชาชนในประเทศอังกฤษ และ การสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำมาจัดพิมพ์ไว้เป็นภาคผนวกในหนังสือ ปัญหาพลเมือง (2559) ของป๋วย

นอกจากนี้ หลังจากป๋วยเส้นเลือดในสมองแตกในปี 2520 และฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่เขาก็เขียนเองไม่ได้ คือ คิดคำไม่ออก แต่ลอกได้ งานเขียนที่เป็นลายมือของป๋วยด้วยมือซ้ายในช่วงหลัง หลายอย่างเธอร่างให้ แล้วให้ป๋วยเขียนตาม สมมติว่ามีคนส่งข้อความส่งจดหมายมาให้ป๋วย เธอจะเป็นคนเขียนตามภาษาเธอเอง เพราะมาร์เกรทพอจะเขียนภาษาไทยได้ ขอบคุณสำหรับจดหมายอะไรประมาณนั้น แล้วป๋วยก็จะลอกตาม เพราะคิดเองไม่ได้ คิดเป็นประโยคออกมาไม่ได้ แต่เขาก็รู้ว่ากำลังเขียนอะไรอยู่ คือต้องเห็นตัวหนังสืออยู่ตรงหน้าจึงจะนึกออก บางทีก็ปีเตอร์เขียนบ้าง จอนเขียนบ้าง ให้คุณพ่อลอกตาม เพราะฉะนั้นที่เป็นลายมือแบบสั่นๆ อันนั้นคือป๋วยลอกตาม

จดหมายที่ป๋วยเขียนด้วยมือซ้าย ส่งไปถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2526  ในภาพจะเห็นว่าล่างสุดมีลายมือของมาร์เกรทว่า “and Margaret”
จดหมายที่ป๋วยเขียนด้วยมือซ้าย ส่งไปถึงท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เมื่อทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2526  ในภาพจะเห็นว่าล่างสุดมีลายมือของมาร์เกรทว่า “and Margaret”

ชีวิตที่ไม่มีป๋วย

หลังจากป๋วยถึงแก่อนิจกรรมในปี 2542 แล้ว มาร์เกรทก็ขายทาวน์เฮาส์เล็กๆ 2 ชั้น ย่าน Southfields ชานกรุงลอนดอนที่เคยพำนักกับป๋วย แล้วย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์ใกล้ๆ กัน เพราะเธอไม่มีรายได้เลยหลังป๋วยถึงแก่อนิจกรรม มาร์เกรทขายบ้านหลังนั้น แล้วเอาส่วนหนึ่งไปซื้ออพาร์ตเมนต์ ส่วนที่เหลือก็เอาไว้ใช้จ่ายจนกระทั่งเธอตายจากไป

นอกจากนี้ เมื่อป๋วยถึงแก่อนิจกรรมแล้ว มาร์เกรทก็ทิ้งของป๋วยหมด อาจจะเป็นความรู้สึกของเธอว่ายิ่งเห็นของอาจจะทำให้ยิ่งคิดถึง เธอเลยจัดการเอาไปทิ้งหรือให้คนอื่นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่เธอทำมาตั้งแต่สมัยที่แม่ของเธอหรือพี่สาวของเธอตายจากไป มาร์เกรทก็จะเก็บของบางอย่างไว้เป็นที่ระลึก แล้วทิ้งที่เหลือไป

ก่อนมาร์เกรทลับเลือนหาย

หลังจากที่มาร์เกรทตายจากไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 มีการเผาศพของเธอ แล้วนำอัฐิมาบรรจุไว้เคียงข้างอัฐิของป๋วยที่วัดปทุมคงคา ย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของป๋วย

นับเป็นการปิดฉากของชีวิต “หญิงผู้ครองใจป๋วย” ผู้นี้

แต่นั่นมิได้หมายความว่า เรื่องราวชีวิตและความคิดของเธอจะสูญสลายไปด้วย ตราบเท่าที่โลกนี้ ยังมีคนที่สนใจสิ่งที่เรียกว่าสันติประชาธรรม และความรัก.

ช่องบรรจุอัฐิที่ระเบียงคดวัดปทุมคงคา ตลาดน้อย เยาวราช
ช่องบรรจุอัฐิที่ระเบียงคดวัดปทุมคงคา ตลาดน้อย เยาวราช

ที่มา

– จอน อึ๊งภากรณ์, ฟัง คิด ถามเรื่องป๋วย (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 3-22.

– ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของ “สันติวิธี” (กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), น. 59.

– ทศ พันธุมเสน. กบฏกู้ชาติ (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2531), น. 327-328.

– ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “ปรีดี พนมยงค์,” ใน คนที่ผมรู้จัก (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 153.

– ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “เหลียวหลัง แลหน้า,” ใน อัตชีวประวัติ: เหลียวหลัง แลหน้า (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลยธรรมศาสตร์, 2559), น. 104-157.

ประชาไท. “ ‘มาร์กาเร็ต’ ภรรยาป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสียชีวิตแล้ว–บทบันทึกจากลูกชายคนเล็ก ‘ใจ อึ๊งภากรณ์’,” เข้าถึงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562

[1] ผู้เขียนเลือกเขียนชื่อ Margaret เป็นภาษาไทยว่า “มาร์เกรท” ตามตัวอักษรที่ปรากฏบนช่องบรรจุอัฐิของเธอ.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save