fbpx
สามคำเลือกตั้งสหรัฐ 2020 : mail-in voter / Rust Belt (again!) / Omaha

สามคำเลือกตั้งสหรัฐ 2020 : mail-in voter / Rust Belt (again!) / Omaha

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

สงครามยังไม่จบ 

 

กองเชียร์เดโมแครตที่ถอดใจไปตั้งแต่คืนวันเลือกตั้ง เพราะเห็นคะแนนโดนัลด์ ทรัมป์ นำห่างที่เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน คงไม่ได้ฉุกคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ ที่ผ่านมา

นอกจากเป็นศึกชี้ชะตาทรัมป์แล้ว นี่เป็นการเลือกตั้งกลางวิกฤตโรคระบาดใหญ่ ด้านหนึ่ง คนตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมหาศาล เพื่อส่งเสียงพิพากษาทรัมป์ในหลายเรื่อง อีกด้านหนึ่ง คนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าและลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์กันอุ่นหนาฝาคั่งแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะทางฝั่งเดโมแครต ส่วนฝั่งทรัมป์เชียร์ให้ประชาชนออกมาโหวตที่คูหากันมากๆ ในวันเลือกตั้งจริง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 140 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ 230 ล้านคน รอบนี้ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายน 2020 ก็มีผู้ออกมาออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วร่วม 100 ล้านคน ประมาณ 60% ลงคะแนนทางไปรษณีย์ อีก 40% ลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง คาดว่าผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 อาจสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 150-160 ล้านคนเลยทีเดียว

การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมการเมืองระดับรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง ดังนั้น กฎหมายเลือกตั้งแต่ละรัฐจึงแตกต่างกัน ครั้งนี้เราเห็นหลายรัฐปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด บางรัฐอย่างแคลิฟอร์เนียส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งทุกคนโดยไม่ต้องส่งใบคำร้องขอ รัฐ 34 แห่งอนุญาตให้ผู้ใช้สิทธิ์ใช้บัตรลงคะแนนล่วงหน้าได้เลยโดยที่ไม่ต้องยื่นชี้แจงเหตุผล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้สิทธิ์ให้มากที่สุด

หลายรัฐทยอยนับคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง แล้วค่อยประกาศผลในวันลงคะแนน ผลคะแนนจึงออกมาทันใจ เช่น ฟลอริดา แต่กฎหมายของหลายรัฐก็ห้ามเปิดซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกตั้งในวันจริง บางรัฐนับคะแนนเสียงคนลงคะแนนที่คูหาในวันเลือกตั้งก่อน แล้วจึงนับคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ในวันรุ่งขึ้น เช่น เพนซิลเวเนีย เป็นต้น

ดังนั้น คะแนนเสียงในเพนซิลเวเนียหลายล้านเสียงทางไปรษณีย์จึงยังไม่ได้ถูกนับในวันเลือกตั้ง ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ศาลสูงสุดของเพนซิลเวเนียอนุญาตให้บัตรลงคะแนนที่ส่งไปรษณีย์ประทับตราวันเลือกตั้งเดินทางมาถึงทางการได้ภายใน 3 วันหลังวันเลือกตั้ง การนับคะแนนจนครบถ้วนสมบูรณ์จึงต้องรอถึงวันศุกร์

ส่วนที่มิชิแกนและวิสคอนซินก็คล้ายกัน แม้คะแนนบางส่วนจะเริ่มนับกันในวันเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่เสร็จในวันเดียว

เมื่อถึงเช้าวันใหม่ เมื่อบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ถูกนับมากขึ้นๆ คะแนนของไบเดนจึงเริ่มแซงทรัมป์ที่มิชิแกนและวิสคอนซิน และระยะห่างของคะแนนที่เพนซิลเวเนียก็ลดลงเรื่อยๆ เพราะผู้ใช้สิทธิ์ทางไปรษณีย์หรือ mail-in voter ที่นั่นเลือกไบเดนมากกว่าทรัมป์ในอัตราส่วน 80:20 เลยทีเดียว ในรัฐอื่นๆ mail-in voter ก็มีแนวโน้มลงคะแนนให้พรรคเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน เช่น มิชิแกน สัดส่วน 70:30 แอริโซนา 55:45 หรือนอร์ทแคโรไลนา 52:47 เป็นต้น

ใครที่ตัดชื่อโจ ไบเดน ทิ้งเร็วเกินไปในวันเลือกตั้ง โปรดใจเย็นมากขึ้นอีกนิด เพราะคุณปู่วัยย่าง 78 ปี ผู้มีโอกาสเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกที่อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มักจะเครื่องติดช้าอยู่เสมอ เมื่อคราวการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตก็ทีหนึ่งแล้ว ต้องรอถึงสนามเลือกตั้งอันดับ 4 ที่เซาท์แคโรไลนา ถึงคว้าชัยได้ แล้วหลังจากนั้นก็ไม่หันหลังกลับอีกเลย

 

จับตาตุลาการภิวัตน์ เวอร์ชั่น ‘ทรัมป์’ 

 

ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ผลโพลส่วนใหญ่ชี้ว่าคะแนนนิยมทั่วประเทศของทรัมป์ตามหลังไบเดนประมาณ 8-10% นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ต่างก็ชี้ว่า ไบเดนเป็นต่อทรัมป์ น่าจะสามารถทวงคืนรัฐตัดสินเมื่อปี 2016 อย่างมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซินได้ [ทั้งสามรัฐ ทรัมป์ชนะฉิวเฉียด 0.23% (10,000 เสียง จากผู้ใช้สิทธิ์ 4.8 ล้านเสียง) 0.72% (44,000 เสียง จาก 6.2 ล้านเสียง) และ 0.77% (23,000 เสียง จาก 3 ล้านเสียง) ตามลำดับ] และยังมีลุ้นสูสีในฟลอริดา จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา ไอโอวา โอไฮโอ แอริโซนา กระทั่งยังกล้าแอบลุ้นในรัฐที่เคยสีแดงจัดอย่างเท็กซัสอีกด้วย

หลายเดือนก่อนเลือกตั้ง เมื่อรู้ว่าตนตกเป็นรอง ทรัมป์ก็เริ่มออกลายโจมตีทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง เนื้อความโดยสรุปไม่มีอะไรมากไปกว่า เขาต้องชนะเลือกตั้งขาดลอยแน่นอน ถ้าแพ้แปลว่าถูกโกง – โกงจากไหน? ก็จากระบบลงคะแนนทางไปรษณีย์นั่นไง!

ทรัมป์สร้างกระแสป่วนเลือกตั้ง โดยแสดงท่าทีว่าอาจจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งถ้าตัวเองแพ้ และไม่เคยรับปากเรื่องการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติผ่านกลไกการเลือกตั้ง จนคำถามที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ยินในการเมืองอเมริกันก็เกิดขึ้น นั่นคือ ถ้าทรัมป์ไม่ยอมออกจากทำเนียบขาวจะทำยังไงกันดี!

ทรัมป์ขู่มาตลอดว่า ถ้าตัวเองมีแววแพ้เลือกตั้งจะอาศัยศาลสูงสุดสหรัฐให้ความเป็นธรรม ด้วยหวังพึ่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่ตนตั้งเข้าไปถึง 3 คน จาก 9 คน จนฝ่ายอนุรักษนิยมครองอำนาจนำในศาลสูงสุดได้ถึง 6:3 เสียง ผู้พิพากษาคนล่าสุดที่ทรัมป์เสนอชื่อใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนในการรับรอง และสาบานตนรับตำแหน่งก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน เพื่อแอบหวังจะเพิ่มองค์คณะที่จะตัดสินเข้าข้างตัวเองในอนาคต (อ่าน “การเมืองเรื่องศาลสูงสุด” ได้ ที่นี่)

หมากกลการเมืองในวันเลือกตั้งของทรัมป์ คือ ยุให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันด้วยตัวเองมากๆ ในวันเลือกตั้งจริงแบบไม่ต้องกลัวโควิด ต่างจากเดโมแครตที่ผลักดันให้คนใช้สิทธิ์เลือกตั้งทางไปรษณีย์ (เราจะเห็นผู้สมัครสองพรรครับมือโควิดแตกต่างกัน ทรัมป์ไม่ใส่หน้ากาก ไบเดนใส่หน้ากาก / ทรัมป์เดินสายปราศรัยหาเสียงโดยระดมมวลชนจำนวนมากตลอดเวลา ส่วนไบเดนเก็บตัวอยู่ที่บ้านและหาเสียงออนไลน์ในช่วงต้น ในช่วงหลังก็ปราศรัยแบบ social distancing เช่น ให้คนขับรถเข้ามาฟัง หรือหาเสียงกลุ่มไม่ใหญ่มาก และอย่าลืมว่า สุดท้ายทรัมป์ติดโควิด!)

นอกจากนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทรัมป์โจมตีทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งทางไปรษณีย์ตลอดว่าเป็นรูปแบบของการโกงเลือกตั้ง ทั้งที่ตัวเองก็ลงเลือกตั้งทางไปรษณีย์ที่ฟลอริดา!

ภาพที่ทรัมป์วาดไว้คือ ในวันเลือกตั้งจริง ตอนนับคะแนนช่วงต้น ทรัมป์จะดูเหมือนเป็นผู้ชนะ เพราะหลายรัฐยังไม่ได้นับคะแนนทางไปรษณีย์ แล้วเขาก็จะออกมาประกาศชัยชนะตอนดึก โดยไม่สนใจว่ายังมีคะแนนเสียงตกค้างไม่ได้นับอีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็จะพยายามส่งเสียงให้หยุดนับคะแนนได้แล้ว เพราะบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นการขโมยผลเลือกตั้ง ฝ่ายตรงข้ามโกงคะแนนมาทั้งนั้น ซึ่งเป็นการกล่าวหาลอยๆ แบบไม่มีหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น จนทวิตเตอร์ต้องติดป้ายเตือนว่าเป็นข้อความที่สร้างความขัดแย้งและอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ครั้งหนึ่งทรัมป์บอกว่า เขาเรียกว่า ‘วัน’ เลือกตั้ง (election ‘day’) ไม่ใช่ ‘สัปดาห์’ เลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งควรจะต้องรู้ผลกันในคืนนั้นเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้! และในอดีต ผลเลือกตั้งสมบูรณ์ก็ใช้เวลา ถ้าสูสีมากก็ไม่สามารถตัดสินได้ในวันเดียว

ทรัมป์สู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยทุกกระบวนท่า หลายกระบวนท่าเป็นความพยายามใช้กลไกรัฐกีดกันการลงคะแนนของประชาชน ทำให้ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งลำบากขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น บางรัฐเปิดให้มีตู้รับบัตรลงคะแนนแค่ไม่กี่แห่งในพื้นที่ บางรัฐกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ต้องแสดงเอกสาร บางรัฐกำหนดให้ผู้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้าต้องมีลายเซ็นพยานยืนยันด้วย

กรณีหนึ่งที่ถูกจับตามองเกิดขึ้นในรัฐสมรภูมิที่สำคัญที่สุดอย่างเพนซิลเวเนีย สภาของรัฐเพนซิลเวเนียอนุญาตให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์ได้ แต่ต้องส่งมาถึงทางการก่อนสองทุ่มของวันเลือกตั้ง หลายคนก็คัดค้านเพราะถ้าเขาลงคะแนนในวันเลือกตั้งและจัดส่งในวันนั้น บัตรอาจจะเดินทางไปถึงไม่ทัน เลยมีคนร้องต่อศาลของเพนซิลเวเนีย ศาลก็ตัดสินให้ยอมรับบัตรที่ประทับตราส่งในวันเลือกตั้งที่เดินทางมาถึงภายในสามวัน เนื่องจากเป็นการปกป้องสิทธิของผู้เลือกตั้งในสถานการณ์โรคระบาด ทางการของรัฐกลับไม่เห็นด้วย อ้างว่าอำนาจกำหนดกติกาเลือกตั้งไม่ใช่ศาล แต่เป็นสภาของรัฐ จึงร้องไปที่ศาลสูงสุดสหรัฐ สุดท้ายศาลสูงสุดสหรัฐเปิดโอกาสให้รอบัตรเลือกตั้งได้สามวัน กรณีคล้ายๆ กันเกิดขึ้นที่นอร์ทแคโรไลนา ซึ่งยอมรับบัตรเลือกตั้งที่เดินทางมาถึงล่าช้าได้เก้าวัน

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่เท็กซัส มีกรณีที่เปิดให้ผู้ใช้สิทธิ์ขับรถไดร์ฟทรูเข้าไปส่งบัตรเลือกตั้งได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่คนรีพับลิกันก็ไปฟ้องศาลว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ให้นำคะแนน 130,000 คะแนนในหน่วยนั้นมานับ (ซึ่งเป็นฐานเสียงของเดโมแครต) สุดท้ายศาลเท็กซัสตัดสินว่าทำได้

กรณีเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ฝั่งทรัมป์พยายามทำลายความชอบธรรมของกระบวนการเลือกตั้ง และอาจจะใช้ช่องทางกฎหมายและศาลเข้าไปสู้กับเจตจำนงของประชาชน ตั้งแต่ขอให้ศาลสั่งหยุดนับคะแนน ไปจนถึงใช้เหตุผลทางเทคนิคกฎหมายต่างๆ เพื่อไม่ให้คะแนนเสียงบางเสียงถูกนับ เช่น จับผิดตรวจลายเซ็นว่าเหมือนกันไหม บัตรลงคะแนนในซองเล็กถูกปิดซองถูกต้องไหม

ทั้งที่โดยหลักการเลือกตั้งที่เป็นธรรม คะแนนเสียงของประชาชนทุกคนต้องมีความหมาย

 

แล้วก็เป็น Rust Belt (อีกครั้ง), ไม่ใช่ Sun Belt

 

แล้ววันเลือกตั้งก็มาถึง

ทรัมป์ฟื้นคืนชีพ พลิกผลโพลได้อีกครั้ง จนหลายคนคิดว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย 4 ปีที่แล้ว

หลายรัฐที่คาดว่าไบเดนอาจจะพลิกเอาชนะได้ ทรัมป์ก็ยังสามารถรักษาฐานเสียงสมัยปี 2016 เอาไว้ได้ รัฐแรกที่ถูกจับตามากที่สุดหลังปิดหีบก่อนคือ ฟลอริดา ทรัมป์ชนะ 3% ต่อมาคือ จอร์เจียกับนอร์ทแคโรไลนา ไบเดนทำได้สูสี แต่ก็ยังดีไม่พอ ทรัมป์นำที่จอร์เจีย 1.8% และนอร์ทแคโรไลนา 1.4% สองรัฐนี้ยังนับคะแนนไม่จบ แต่มีโอกาสเป็นของทรัมป์สูง ได้แต่ลุ้นว่าแอตแลนตาจะพาไบเดนถึงฝั่งฝันในจอร์เจียได้ไหม ส่วนนอร์ทแคโรไลนายังต้องหวังพึ่งคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ที่จะส่งตามมาอีกหลายวัน

ด้านเท็กซัส ไอโอวา และโอไฮโอ ยังกุมสภาพเป็นของทรัมป์ได้ ด้วยคะแนนนำ 6% 7% และ 8% ตามลำดับ

ฝ่ายไบเดน แย่งชิงพื้นที่ของทรัมป์มาได้แค่แอริโซนา ขณะนี้นำอยู่ 3%

ก่อนการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์บอกว่า ถ้าการเลือกตั้ง 2016 รัฐที่กำหนดผู้ชนะคือ Rust Belt หรืออดีตรัฐอุตสาหกรรมที่ยุคปัจจุบันเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เช่น เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน ซึ่งทรัมป์แย่งชิงฐานเสียงของกลุ่มคนทำงานผิวขาวในรัฐเหล่านั้นไปจากเดโมแครตได้สำเร็จในครั้งก่อน คราวนี้พระเอกที่กำหนดผู้ชนะน่าจะเป็นกลุ่ม Sun Belt หรือรัฐทางใต้จากตะวันออกถึงตะวันตกที่อากาศร้อนอบอุ่น เศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองอยู่ในช่วงขาขึ้น ไบเดนพยายามแย่งชิงคะแนนเสียงในรัฐเหล่านี้ โดยเฉพาะฟลอริดา เท็กซัส แอริโซนา จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา ถ้าทำได้เป็นกอบเป็นกำ ถนนสู่ทำเนียบขาวก็สดใส แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้ต่ำกว่าคาด

กลายเป็นว่ารัฐชี้ขาดในสนามเลือกตั้ง 2020 ก็ยังคงเป็น Rust Belt เหมือนครั้ง 2016

สนามเลือกตั้งสุดท้ายที่ทั้งโลกจับตามองคือ เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน อยู่นั่นเอง

แต่ในอีกซีกหนึ่งของประเทศ สนามเลือกตั้งเล็กๆ ที่ไม่มีใครจับตามองแห่งหนึ่ง อาจจะเป็นสนามที่ส่งมอบทำเนียบขาวให้ไบเดนโดยไม่มีใครคาดคิด

‘เนบราสกา’ — รัฐที่มีคะแนน electoral college 5 เสียง เป็นหนึ่งในสองรัฐที่ไม่ได้ใช้ระบบ ‘ผู้ชนะกินรวบ’ (Winner-take-all) ผู้ชนะคะแนนรวมของรัฐจะได้คะแนน 2 เสียง และผู้ชนะในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตของรัฐ (มี 3 เขต) จะได้คะแนนเขตละ 1 เสียง เนบราสกาเป็นรัฐสีแดงของรีพับลิกัน คะแนนเสียงทั้งรัฐ ทรัมป์ชนะขาด 17% แต่ไบเดนดันเอาชนะได้ในเขตเลือกตั้งที่ 2 ของเนบราสกา

ได้ electoral college มาหนึ่งเสียง!

แต่หนึ่งเสียงนี้อาจทำให้ไบเดนสามารถชนะเลือกตั้งได้ โดยไม่ต้องพึ่งคะแนนจากเพนซิลเวเนีย

ถ้าไบเดนเอาชนะในรัฐวิสคอนซินและมิชิแกนได้ แม้แพ้ที่เพนซิลเวเนีย เขาจะได้คะแนน electoral college รวม 270 เสียงพอดี! ชนะคะแนนทรัมป์ 270 ต่อ 268 เสียงในการเลือกตั้งที่สูสีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

และเมืองที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะของไบเดนที่เนบราสกาก็คือ โอมาฮา (Omaha)

เป็นเมืองเดียวกันที่ส่งมอบหนึ่งเสียงเดียวกันให้บารัค โอบามา เมื่อครั้งลงชิงชัยสู้ศึกทำเนียบขาว จนผู้คนแซวกันว่า Omaha คือ Obama-ha ไปแล้ว

และคราวนี้ Omaha ก็กลายเป็น Joe-maha — เป็นหนึ่งเสียงที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่า จนอาจประเมินค่ามิได้

…………………………………..

 

ชวนชมบทวิเคราะห์การเลือกตั้งสหรัฐ 2020 โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และปกป้อง จันวิทย์ ได้ ที่นี่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save