fbpx
In the Name of the Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด

In the Name of the Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

– 1 –

แสงส้มนวลจากโคมไฟเพดานบ้าน ช่วยปรับโทนแดดระอุก้าวร้าวจากข้างนอกให้ดูอบอุ่นขึ้น แมวขนปุย 3-4 ตัววิ่งเล่นกันอย่างซุกซน บางตัวขึ้นไปซุกบนตักเจ้าของบ้าน ทำหน้าออดอ้อนวอนให้เกาคาง

แววตาของผู้เป็นแม่เป็นประกาย เธอเพ่งมองไปที่ลูกสาวในชุดนักเรียนพยาบาลที่ยืนพิงผนังอยู่ รอยยิ้มของสาวแรกรุ่นผู้เป็นความหวังของครอบครัวดูสว่างไสว ทั้งคู่กำลังคุยอะไรกันในความเงียบ

อาจจะไถ่ถามว่าวันนี้ลูกเรียนหนักไหม หรือแม่เป็นอย่างไรบ้าง สุขภาพแข็งแรงดีไหม, ไม่รู้ อาจไม่มีใครได้ยินว่าทั้งคู่คุยอะไรกันนอกจากเธอทั้งสอง

8 ปีมาแล้วที่พะเยาว์ อัคฮาด คิดถึงลูกสาว แต่เธอทำได้แค่นั่งมองใบหน้าของผู้เป็นดวงใจในกรอบรูปจากโซฟาเก่า ลูกสาว-กมนเกด อัคฮาด ผู้ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ในขณะช่วยชีวิตคนอื่นที่กำลังวิ่งหลบห่ากระสุนที่สาดใส่เข้ามาในวัด-เขตอภัยทาน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

“ทั้งชีวิตที่เหลือของแม่ จะอยู่เพื่อรอคนฆ่าและคนสั่งฆ่าลูกถูกดำเนินคดี” พะเยาว์สบตาลูกสาว พูดเสียงนิ่งเรียบ

พะเยาว์ อัคฮาด

– 2 –

ครอบครัวอัคฮาดมีทั้งหมด 5 คน กมนเกดเป็นลูกสาวคนโตของแม่และพ่อ และมีน้องชายอีก 2 คน บ้านย่านลาดกระบังที่พะเยาว์กับครอบครัวอยู่ปัจจุบันห่างจากบ้านเก่าไม่กี่เมตร ก่อนตาย-กมนเกดเคยออกปากว่าจะหาเงินซื้อให้ครอบครัว เพราะอยากให้พวกเขาอยู่สบายขึ้นกว่าหลังเก่า แต่นับเป็นหนึ่งในหลายๆ ฝันของเธอที่สูญสลายไปพร้อมร่าง ก่อนที่ผู้เป็นแม่จะกอบกู้ฝันของลูกสาวกลับมาใหม่ ตัดสินใจซื้อโดยใช้เงินเยียวยาที่ได้จากรัฐในปี 2554

“พอเกดตาย เจ้าของบ้านหลังนี้เขาฝันเห็นเกดมาดุเขาว่า บอกแล้วใช่ไหมว่าไม่ต้องประกาศขาย เดี๋ยวหนูจะซื้อเอง ในฝันเขายังเห็นเกดจับป้ายประกาศขายเหวี่ยงทิ้ง ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร พอเช้ามาเจ้าของบ้านเดินออกไปหน้าบ้าน ป้ายที่เขาเขียนประกาศขายกระเด็นไปอยู่กลางถนน จากนั้นเขาก็เลิกประกาศขายและเก็บไว้รอขายให้เรา แม่เพิ่งรู้ว่าเกดก็ดุใช่ย่อย” พะเยาว์เล่าพลางหัวเราะที่แอบนินทาลูกสาวตัวเอง

– 3 –

กมนเกดเกิดที่กรุงเทพฯ วันที่ 26 เมษายน 2528 ถ้ากระสุนปืนไม่ปรี่เข้ามาพรากชีวิตเธอไป ปีนี้เธอจะมีอายุ 33 ปี

พะเยาว์บอกว่า สมัยที่กมนเกดยังเล็ก เธอเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อหรือง๊องแง๊งให้เธอเดือดร้อนใจ บ้านอัคฮาดเรียกกมนเกดว่า ‘หมูอ้วน’ เพราะเป็นคนเจ้าเนื้อตั้งแต่เล็ก

หมูอ้วนในวัยเด็กวิ่งเล่นอยู่หน้าบ้านไม่คลาดสายตาแม่ เธอไม่มีโอกาสได้เดินห้างฯ หรูหรือเรียนพิเศษเหมือนลูกคนรวย เพราะครอบครัวมีฐานะไม่ค่อยดี ยึดอาชีพค้าขายเป็นหลักให้พอส่งลูกเรียนครบทั้ง 3 คนได้

จนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมต้น หมูอ้วนของพะเยาว์เริ่มขยับจากอ้อมอกแม่ไปสู่อ้อมกอดเพื่อนมากขึ้น

“เขาเป็นคนรักเพื่อน รักทั้งคนแก่และเด็ก เวลาเห็นคนลำบาก เขาจะพูดเสมอว่าอยากช่วย เพราะขี้สงสารคน ตอน ม.ต้น เขามีเพื่อนทำอาสาป่อเต็กตึ๊ง เขาก็สนใจติดสอยห้อยตามเพื่อนไป บางทีหายไปเป็นวันๆ เพราะไม่กล้าบอกแม่ว่าไปทำอะไร แต่จริงๆ คือเขาไปช่วยคนเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่เขาไม่บอกเพราะคิดว่าแม่จะเป็นห่วง”

ชีวิตในรั้วโรงเรียนชั้นมัธยมต้นของกมนเกดต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากเธอรู้สึกว่าฐานะทางบ้านไม่ค่อยมีเงิน เลยไม่อยากเป็นภาระ เธอตัดสินใจไปเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน แต่เมื่อครอบครัวเริ่มมีเงินเก็บ เธอจึงย้ายไปเรียนต่อเกี่ยวกับผู้ช่วยพยาบาล และเข้าทำงานต่อที่โรงพยาบาลเอกชน

พะเยาว์บอกว่า โรงพยาบาลเขาให้เลือกได้ว่าจะทำงานแผนกไหน ลูกสาวเลือกแผนกอุบัติเหตุและเด็ก เธอประกาศว่าถ้าไม่ได้ทำ 2 แผนกนี้จะไม่ทำ และเมื่อแผนกที่เธอมุ่งมั่นมีใจเลือกกลับไม่มีโควตาให้ เธอจึงย้ายไปทำงานที่โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ และอาสาประจำห้องผ่าตัดในฐานะผู้ช่วยพยาบาล

“เรารู้ว่าเขาเป็นคนกล้าและชอบทางนี้ เราไม่เคยเห็นว่าเขาอยากทำอะไรอย่างอื่นนอกจากอยากเป็นพยาบาล พ่อของเขาเคยบอกตอนลูกเรียนจบอนุปริญญาใหม่ๆ ว่าให้เรียนต่อจนจบปริญญาแล้วค่อยทำงานก็ได้ แต่เขาตอบพ่อว่าปริญญาเอาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ชีวิตป่วยคนรอไม่ได้”

–  4 –

ปี 2547 คลื่นสึนามิกวาดชีวิตและทรัพย์สินผู้คนไปอย่างไม่ไยดี รัฐบาลไทยประกาศหาเจ้าหน้าที่พยาบาลที่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ศพได้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่กมนเกดร่ำเรียนและฝึกปรือมา

แม่อาสาพยาบาลสาวบอกว่า ลูกสาวเธอได้เรียนกับ พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ พวกเขาเรียกกันว่าอาจารย์นาย และเธอก็ตัดสินใจอาสาลงไปในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยศพ

กมนเกดก่อนลงใต้ยังมีชื่อตามบัตรประชาชนว่าพรชนก พะเยาว์บอกว่าหลังจากนั้นลูกสาวเปลี่ยนมาใช้ชื่อกมนเกดด้วยตัวเอง และไม่มีใครรู้เหตุผลถึงที่มา รู้เพียงว่าเธอชอบชื่อนี้

“ตอนที่เขาลงไปเราไม่รู้ ประเทศไทยไม่เคยเจอสึนามิมาก่อน ช่วงนั้นเราได้ยินข่าวตลอดว่าให้ระวังอาฟเตอร์ช็อก พอลงไปถึงเขาก็โทรศัพท์กลับมาหาแม่ พอเรารับสาย ถามลูกคำแรกว่าวันนี้ออกเวรหรือเปล่าลูก จะกลับบ้านกี่โมง เขาบอกไม่กลับหรอกแม่ ตอนนี้หนูอยู่ใต้ มาช่วยโรงพยาบาลพิสูจน์ศพ พอเราได้ยินก็โมโห แต่เขาก็หัวเราะแหะๆ”

เธอบอกแม่ว่าไม่ต้องกลัว เธออยู่กันหลายคน ทำงานกันเป็นทีม มีคนตายเยอะมาก เธอต้องช่วยพวกเขาเพราะว่าญาติเขารออยู่ พะเยาว์เข้าใจคำอธิบายของลูกสาวครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งยังเป็นความห่วง แน่นอนว่าถ้ากมนเกดบอกเธอก่อนว่าจะลงไป เธออาจหมดสิทธิ์

ผ่านไปราวสองอาทิตย์ ลูกสาวพะเยาว์กลับมาถึงบ้าน เธอหยิบเหล็กที่หมอใช้กดลิ้นที่เธอใช้มาให้แม่ดู

“ปกติจะเป็นเหล็กแบนๆ แต่ของเขานี่คดงอเป็นมังกรเลย เขาบอกว่าที่มันงอเพราะใช้งัดฟันศพออกมาตรวจพิสูจน์ว่าเป็นศพใคร เจ้าหน้าที่จะได้ติดต่อญาติให้มารับศพได้ถูก พอเขาเล่าจบ เราก็เอ่ยปากบอกเขาว่า คราวหลังถ้าจะไปให้บอกแม่หน่อยนะ แม่เป็นห่วง เขาบอกแม่ไม่ต้องพูด หนูเป็นคนของแผ่นดิน ตอนนั้นเราได้ยินยังตกใจว่าทำไมลูกพูดคำนี้”

พะเยาว์ทบทวนตัวเอง ด้วยเพราะเป็นชาวบ้านทั่วไป วินาทีที่เธอได้ยินนั้น เธอตอบตัวเองได้ว่า “ลูกเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราไปห้ามเขาไม่ได้” การที่ลูกสาวได้ทำในสิ่งที่รัก พะเยาว์บอกตัวเองว่าเมื่อเป็นความสุขของลูก เธอก็จะไม่ห้ามอีก

– 5 –

พะเยาว์ทำมาค้าขายมาหลายสิบปี ตั้งแต่ข้าวแกงถึงขายดอกไม้ พอปี 2549 เกิดรัฐประหาร ที่ทำงานของกมนเกดได้รับผลกระทบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องปลดพนักงานออก แต่กมนเกดตัดสินใจลาออกเองก่อน เพราะเธอคิดว่าถึงอยู่ไปวันหนึ่งก็ต้องออกอยู่ดี

พอลูกสาวชิงออกมาแล้ว เธอมาอธิบายความฝันกับแม่ว่าเธอตั้งใจไปสอบเข้าเรียนเป็นผู้ช่วยพยาบาลของกองทัพบก พะเยาว์ถามลูกสาวคำถามแรกว่าค่าเทอมแพงหรือไม่ กมนเกดตอบว่าเทอมละ 60,000 บาท เรียนเพียง 1 ปี

“เขาถามเรา แม่ส่งได้ไหม เราก็บอกเรื่องเรียนไม่มีปัญหา แต่หนูมั่นใจใช่ไหมว่าจะสอบได้ เป็นหนี้เป็นสินแม่ไม่ว่า ถ้าหนูอยากเรียนและเอาจริง เขาบอกเขามั่นใจมาก มั่นใจขนาดแอบไปซื้อใบสมัครมาก่อนแล้ว”

พะเยาว์ อัคฮาด

– 6 –

เดือนเมษายน 2553 ระหว่างรอสอบในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า กมนเกดช่วยแม่ขายดอกไม้ที่ตลาดปากซอยบ้าน รวมทั้งช่วยไปซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ขณะที่เธอนั่งรถเมล์ผ่านราชดำเนิน เห็นคนเสื้อแดงเรือนพันเรือนหมื่นชุมนุมอยู่กลางถนน เธอกลับมาบ้านและเล่าให้แม่ฟังว่า เธอเดินเข้าไปดูในที่ชุมนุม เห็นคนแก่กับเด็กเยอะมาก คนป่วยก็เยอะ เห็นแล้วสงสาร แม้จะมีเต็นท์พยาบาล แต่ไม่น่าเพียงพอในการดูแลคนมหาศาลขนาดนั้น

ลูกสาวเริ่มออกปากถามแม่ว่า “ถ้าขายดอกไม้ไม่ยุ่งมาก หนูขอไปช่วยพวกเขาได้ไหม” ด้วยความที่ยังห่วง พะเยาว์ถามลูกสาวว่าจะไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงหรือเปล่า เธอตอบแม่ว่า “หนูไม่ได้อยากไปชุมนุมแต่หนูอยากไปช่วยคน หนูจะเข้าไปที่เต็นท์พยาบาล แล้วบอกเขาว่าอาสามาช่วย” พะเยาว์ได้ยินคำยืนยันของลูกแล้วค่อยสบายใจ เพราะเส้นทางของลูกสาวได้ตัดสินใจเป็นพยาบาลแล้ว

ในขณะที่ยังรอสอบ กมนเกดได้รับการชักชวนจากญาติให้ไปทำงานที่บริษัทเอกชนแถวราชดำเนิน เธอคิดดูแล้วถ้าที่ทำงานใกล้ที่ชุมนุม และยังสามารถพักกับเพื่อนใกล้ที่ทำงานได้ ก็น่าจะสะดวกกว่าเดินทางไปกลับระหว่างลาดกระบัง-ราชดำเนิน เธอขอแม่อีกครั้งว่าเมื่อเงื่อนไขเป็นเช่นนี้ เธออาจจะกลับบ้านอาทิตย์ละครั้งแทน

“เราก็ไม่ว่าอะไร ความใฝ่ดีของลูกเราคือเขารักเพื่อนมนุษย์ ใครที่เขาเห็นว่ากำลังแย่ เขาช่วยได้เขาก็จะช่วย” พะเยาว์มองตาลูกสาวด้วยรอยยิ้ม พลางลูบหัวไอ้หมูหยอง-หมาอีกตัวของครอบครัวอัคฮาด

– 7 –

“10 เมษายน 2553 มีคนตาย” พะเยาว์เห็นข่าวและรีบโทรหาลูกสาวที่อยู่ในที่ชุมนุม กมนเกดพูดผ่านโทรศัพท์ให้แม่ฟังว่า “ไม่ต้องห่วง หนูช่วยคนอยู่”

ผู้เป็นแม่ยังไม่สิ้นสงสัย ถามลูกสาวอีกว่าอันตรายไหม เธอได้รับคำตอบจากหัวแก้วหัวแหวนว่า “หนูเป็นอาสาพยาบาล ไม่มีใครมายุ่งกับหนูหรอกแม่ มันเป็นหลักสากล ในสงครามเขาก็จะไม่ยุ่งกับหมอหรือพยาบาล” พะเยาว์ค่อยใจชื้นขึ้นมาบ้างกับคำอธิบายของลูกสาว เธอมั่นใจว่าลูกกำลังช่วยคนอื่นอยู่

กมนเกดกลับมาบ้านในวันที่ 12 เมษายน พะเยาว์เพ่งพินิจสภาพร่างกายลูกสาวเธอว่ายังปกติดีไหม สายตาผู้เป็นแม่ละเอียดเสมอเมื่อสำรวจลูกสาวตัวเอง เธอผิดสังเกตที่ขาของลูกที่เป็นแผล แต่ไม่ถึงขั้นฉกรรจ์

“เราเป็นคนไม่พูดมาก มองหน้าเขาสักพัก เขาก็บอกว่าหนูโดนลูกหลงสะเก็ดระเบิด” พะเยาว์บอกอีกว่า การกลับบ้านครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่กมนเกดได้เล่นน้ำสงกรานต์กับน้องชายของเธอ และพอสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ เธอก็กลับเข้าไปเป็นพยาบาลใหม่ ตอนนั้นพะเยาว์ยังไม่ได้ซึมซับการเมือง และไม่เข้าใจเหตุผลของการชุมนุมว่าอะไรทำให้ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เธอทำได้เพียงบอกลูกสาวว่าให้ระวังตัวมากกว่านี้

“เรามองหน้าลูกนาน แต่ไม่เห็นแววความกลัวของเขาเลย เข้าใจว่าคงเป็นเพราะสายเลือดเหมือนแม่ที่ต้องดิ้นรนทำงานหาเงินส่งลูกเรียน”

– 8 –

19 พฤษภาคม 2553 พะเยาว์ก็เหมือนหลายๆ คนที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และติดตามเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองครั้งใหญ่ได้แต่เพียงในทีวี ที่เน้นรายงานเฉพาะห้างฯ เซ็นทรัลเวิล์ดถูกเผา เธอแทบไม่เคยรู้ว่านอกจากมีประชาชนตายในวันที่ 10 เมษายนแล้ว พอเข้าเดือนพฤษภาคมก็มีประชาชนถูกยิงตายเป็นว่าเล่นติดต่อกันเป็นอาทิตย์

ข่าวทีวีรายงานว่ารัฐบาลและกองทัพเตรียมประกาศเคอร์ฟิวในช่วงค่ำ ขณะที่พะเยาว์กำลังเก็บร้านขายดอกไม้ ความเป็นห่วงลูกทำให้เธอโทรหาลูกอย่างไม่ลังเลเหมือนช่วงแรกที่ลูกขอให้เชื่อมั่นในตัวลูกกับการเป็นอาสาพยาบาล พะเยาว์พูดผ่านโทรศัพท์ไปว่า “กลับบ้านเถอะ แม่เป็นห่วง”

แม่ค้าขายดอกไม้ไม่ได้เห็นหน้าลูกสาวนานร่วมเดือนตั้งแต่สงกรานต์ เธอเล่าว่าระหว่างที่คุยโทรศัพท์เสียงปืนดังเข้ามาตลอด

“เราบอกเขาว่าในข่าวเห็นแกนนำมอบตัวแล้วทำไมยังยิงกันอยู่ เขาก็บอกว่าหนูก็ไม่รู้เหมือนกันแม่ แต่ตรงที่หนูอยู่ยิงกันไม่หยุดเลย เราก็เลยถามว่าหนูอยู่ที่ไหน เขาบอกหนูอยู่หน้าวัดปทุมฯ ก็เลยบอกลูกไปว่าวันนี้เขาเคอร์ฟิวหนึ่งทุ่มนะลูก กลับบ้านได้ไหม หรือถ้ากลับไม่ทันให้หลบอยู่ในวัดนะ ไม่ต้องออกไปไหน แล้วตอนเช้าค่อยกลับมาหาแม่ เขาก็บอกว่าได้จ้ะ สักพักเดี๋ยวเขาบอกแค่นี้ก่อนนะแม่มีคนเจ็บ เราคิดแค่ว่าคงหมายถึงคนเจ็บทั่วไป ไม่คิดว่าจะมีคนถูกยิง”

แม่ค้าขายดอกไม้วางสายจากลูกสาวเสร็จ หันไปมองหน้าพ่อของลูกโดยไม่พูดอะไร เขากำลังจะออกไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าว “พ่อเขาบอกว่าเดี๋ยวลูกกลับมาพรุ่งนี้ จะได้มีกับข้าวไว้ทำกินกัน”

ฟ้ามืดสนิทแล้ว พะเยาว์นั่งอยู่ท่ามกลางเสียงรายงานข่าวทางทีวีซ้ำไปซ้ำมาถึงเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เธอไม่มีสมาธิตั้งใจฟัง เพราะจดจ่ออยู่กับลูกสาว-หวังให้กลับบ้านมาอย่างปลอดภัย แต่แค่ถอนหายใจเดียวเสียงโทรศัพท์ก็ดึงพะเยาว์ออกจากความหวังกลับสู่ความจริง

“น้องสะใภ้โทรบอกว่าเพื่อนของหมูอ้วนโทรมาบอกว่าหมูอ้วนโดนยิง เราก็เลยโมโห บอกสวนกลับไปว่าฉันเพิ่งคุยกับลูกเมื่อ 6 โมงเย็นนี่เอง เอาเบอร์มาเดี๋ยวฉันจะโทรไปหา ล้อเล่นกันแบบนี้ไม่ได้ พอได้เบอร์มาเราก็โทรไป ได้ยินเสียงผู้ชายกำลังร้องไห้ เขาบอกว่าแม่ครับ เกดถูกยิง เราก็ถามถามว่าส่งโรงพยาบาลหรือยัง แต่เขาพูดไปร้องไห้ไป เราฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ตอนนั้นมันเหมือนสมองเรายังไม่รับ เรายังตะคอกเขากลับไปว่าพูดอะไรส่งเดชได้ไง”

ความคิดสุดท้ายของพะเยาว์หลังวางสายจากชายนิรนาม คือความคิดว่า “ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้”

– 9 –

แน่นอน, พะเยาว์หลอกตัวเองต่อไปอีกหลายชั่วโมง จนกระทั่งเช้ามืด เธอลองโทรกลับไปหาชายนิรนามคนนั้น แต่ไร้สัญญาณการตอบรับ เธอจึงโทรไปที่วัดปทุมฯ และมีพระมารับสาย

“เราถามหลวงพ่อว่าที่วัดมีคนตายใช่ไหมคะ หลวงพ่อบอกใช่โยม มี 6 ศพ เราถามอีกมีผู้หญิงไหมคะ หลวงพ่อบอกมีโยม เป็นผู้หญิง 1 ศพ เลยบอกหลวงพ่อว่าเดี๋ยวดิฉันจะเข้าไปที่วัดนะคะ ศพผู้หญิงอาจเป็นลูกของดิฉัน หลวงพ่อสวนกลับมาเลยว่าโยมไม่ต้องมาตอนนี้ มันอันตราย เขายังไม่หยุดยิงกันเลย คนในไม่ได้ออก คนนอกก็เข้าไม่ได้”

พะเยาว์ไม่สนคำเตือนของพระ เธอเปลี่ยนเสื้อผ้าคว้ากระเป๋าออกไปปากซอยบ้านเพื่อเรียกรกแท็กซี่ให้ไปส่งที่วัดปทุมฯ เพื่อจะได้พบลูกสาว แต่ไม่มีแท็กซี่สักคันที่เปิดรับให้เธอขึ้น “ทุกคันพูดเหมือนกันหมดว่าไปไม่ได้ ถ้าไปก็โดนยิงตาย”

ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวต่อไปอีกวัน แต่ยาวนานนับสิบปีที่ยังไม่ได้เจอหน้าลูก วันรุ่งขึ้นพะเยาว์เปิดข่าวทีวีเห็นหมอพรทิพย์เข้าไปในวัดปทุมฯ เพื่อตรวจพิสูจน์สาเหตุ ภาพทีวีแพนไปทั่วบริเวณวัด กระทั่งเธอเห็นเสื่อที่คลุมศพไว้ ข้อเท้าหนึ่งศพโผล่ออกมานอกเสื่อ

“ใช่แล้ว นั่นลูกเราเอง” พะเยาว์หลุดออกจากการหลอกตัวเองได้สำเร็จ

เธอตั้งใจฟังเพื่อตามสถานการณ์ต่อว่าเจ้าของข้อเท้านั้นจะถูกพาร่างไปที่ไหน ข่าวยังรายงานต่อไปว่าเจ้าหน้าที่จะนำศพทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เธอโทรไปถามและทราบความว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่ให้มาวันนี้ เพราะต้องผ่าชันสูตรศพก่อน

“เขาบอกคุณมาวันนี้ไม่มีประโยชน์ ค่อยมารับศพพรุ่งนี้ทีเดียว พอวันต่อมาไปรับศพ เรายังไม่ได้เข้าไปดู น้องชายกมนเกดเข้าไปถามหมอว่าพี่สาวผมถูกยิงกี่นัด หมอก็ตอบแบบไม่มองหน้าว่าสองนัด น้องชายเขาถามต่ออีกว่าแล้ววิถีกระสุนล่ะครับหมอ แต่เราบอกลูกว่าอย่าเพิ่งถามเลย ต้องรีบพาพี่ไปวัดเพราะว่าพระคอยอยู่”

– 10 –

งานสวดศพกมนเกดคืนแรก มีชายชาวต่างชาติคนหนึ่งใช้ไม้เท้าพยุงตัวเดินเข้ามาในวัด เขาให้ใครสักคนพามาเมื่อรู้ว่าอาสาพยาบาลถูกยิงตาย ส่วนตัวเขาที่เดินกระย่องกระแย่งก็เพราะถูกยิงที่ขาเช่นเดียวกัน เขาเข้ามาที่ศาลาสวดศพ และแจ้งความประสงค์กับพะเยาว์ว่าตั้งใจมาขอดูรูปกมนเกดที่หน้าโลงศพหน่อย

“พอเขาเห็นรูป เขาชี้บอกใช่เลย คนนี้แหละที่ช่วยชีวิตเขาตอนเขาถูกยิงที่หน้าวัดแล้วเข้าไปในเต็นท์เพื่อขอความช่วยเหลือ และน้องเกดก็ช่วยปฐมพยาบาลแล้วพาเข้าไปหลบในวัด”

อีก 2 วันต่อมาฝ่ายความมั่นคงแถลงกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ คนแถลงบอกกมนเกดโดนยิง 2 นัด ไม่มีหัวกระสุนอยู่ในตัว ระหว่างที่พะเยาว์ดูข่าวอยู่ที่วัด เธอได้ยินจากปากอาสากู้ภัยคนหนึ่งซึ่งที่เป็นคนนำศพกมนเกดไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจว่า กมนเกดไม่ได้ถูกยิงแค่ 2 นัด

“เราบอกสัปเหร่อให้เปิดโลงทันที แล้วก็ดูกันเลย มันไม่ใช่แค่ 2 นัดตามที่เขาแถลง มีรูกระสุนบนตัวลูกสาวเราถึง 11 รู พรุนไปหมดเลย แปลว่าคนยิงต้องตั้งใจยิงแบบไม่ให้เขาหนีไปไหน เขาไม่สนใจว่าลูกเราเป็นผู้หญิงหรือเป็นพยาบาล เขาไม่ได้มองลูกเราเป็นคน”

พะเยาว์ อัคฮาด

– 11 –

จากที่เคยเป็นคนธรรมดาไม่ได้สนใจสังคมการเมือง แค่เรื่องรูกระสุนที่ฝ่ายความมั่นคงโกหกเรื่องเดียว แม่ของกมนเกดยอมรับว่ามันได้เปลี่ยนตัวตนไปทั้งชีวิต เพราะการตายของลูกกำลังถูกอำพราง

“ไม่ว่าพวกนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามจะใส่ความการตายของลูกเราอย่างไร ทั้งว่าลูกเราเป็นชายชุดดำบ้าง เป็นผู้ก่อการร้ายบ้าง เผาบ้านเผาเมืองบ้าง คำพูดเหล่านี้มันดึงจิตใต้สำนึกของเราออกมาว่าเมืองไทยนี่ป่าเถื่อน ลูกเราถูกฆ่าแล้วยังถูกใส่ร้ายอีก”

เหตุการณ์สังหารโหดที่วัดปทุมฯ ค่อยๆ ถูกเปิดเผยจากมุมมองของคนที่หนีตายมากขึ้น พะเยาว์เล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ตอนลูกเราถูกยิงมาเล่าให้ฟัง ขณะนั้นกมนเกดสวมเสื้อกาวน์สีขาวช่วยเหลือคนที่วิ่งเข้ามาหลบกระสุนในเต็นท์ที่หน้าวัดปทุมฯ เธอถอดเสื้อให้ผู้หญิงคนดังกล่าวใส่เพราะเขากำลังกลัวจนตัวสั่น

ส่วนกมนเกดสะพายกระเป๋ากาชาดไว้ข้างหลัง ห้อยซองใส่เงินกับตรากาชาดเล็กๆ ไว้ข้างหน้า ตอนที่เธอเป็นศพแล้ว คงมีใครสักคนเอากระเป๋าไปวางไว้ที่หัวศพ เมื่อหมอพรทิพย์เข้าไปเปิดดู ก็พบเครื่องมือปฐมพยาบาลทั่วไป หาใช่เครื่องกระสุนหรืออาวุธสงครามไม่

“กฎกติกาสากลที่ว่าห้ามละเมิดพื้นที่หน่วยแพทย์ใช้ไม่ได้ในประเทศไทย แม้แต่วันที่ไปรับศพลูก เรายังเห็นทหารเดินถือปืนแต่สวมปลอกแขนกาชาด นี่หรือกองทัพไทย พอจัดการงานศพเสร็จ เราบอกกับครอบครัวตั้งแต่นี้เป็นต้นไปต้องรู้ว่าใครฆ่าลูกเรา”

ผ่านไป 2 เดือน คำถามที่แม่อยากรู้ไม่มีใครตอบ เธอกับลูกชายบุกไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผู้เป็นเจ้าของคดี เธอเอาครกกับสากกะเบือไปด้วย เป็นครั้งแรกที่พะเยาว์ออกมาเรียกร้องในที่สาธารณะ

“วันนั้นเดินดุ่มๆ ไปเหมือนคนบ้า และบอกตัวเองว่าต่อไปต้องพึ่งตัวเอง ใครมาช่วยก็ยินดี ใครไม่ช่วยก็ไม่ขอร้อง ลูกชายถือสากกระเบือ เราถือครก ตั้งใจเอามาให้อธิบดี DSI เพื่อบอกว่าผ่านมาหลายเดือนแล้วทำไมยังเงียบเป็นเป่าสาก ส่วนครกเอามาถามคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าหาเครื่องจะตำได้หรือยัง หรือมัวแต่หาไอ้โน่นไอ้นี่ไม่ไปถึงไหนสักที ทหารที่อยู่หน้า DSI เห็น กรูเข้ามาถ่ายรูปเรากันใหญ่ เราชี้หน้าบอกฉันไม่กลัวพวกคุณหรอกนะ”

– 12 –

รอคอยอยู่ 3 ปี วันที่ 6 สิงหาคม 2556 คำพิพากษาศาลอาญาในการไต่สวนสาเหตุการตายของ 6 ศพออกมาระบุว่า ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ศาลยังระบุอีกว่าผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯ ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และกรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว

พะเยาว์พร้อมครอบครัวของเหยื่ออีกหลายสิบชีวิตต่างดีใจคิดว่าความยุติธรรมเริ่มเป็นผลมากขึ้น จากนั้นเธอกับพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ (พ่อน้องเฌอ-สมาพันธ์ ศรีเทพ ซึ่งถูกยิงตายก่อนหน้ากมนเกดเพียง 4 วันจากเหตุการณ์เดียวกัน) และทนายอานนท์ นำภา เอาแฟ้มคดีที่อัยการสรุปสำนวนส่งฟ้องศาลต่อผู้กระทำผิดมาดูด้วยกัน

“เราติดใจคำฟ้องของอัยการ ทำไมถึงมีแค่อภิสิทธิ์และสุเทพ แล้วกองทัพไปไหน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการไปไหน ทำไมถึงมีแต่คนสั่งการเพียงสองคน ทำไมทหารที่ยิงลูกเราถึงไม่ถูกศาลฟ้องด้วย ทำไมล่ะ แม่อยากรู้ว่าใครเป็นคนฆ่าลูกเราไม่ได้เหรอ” พะเยาว์พูดกับกมนเกดที่ยังยืนยิ้มอยู่ข้างผนังอย่างนั้นมาเนิ่นนาน

– 13 –

คำพิพากษาไต่สวนสาเหตุการตายของกมนเกดเปรียบเหมือนแรงฮึดลูกใหญ่ให้ผู้เป็นแม่ แม้อัยการจะสั่งฟ้องอย่างมีข้อครหา แต่หลังจากนั้นไม่นาน พะเยาว์บอกว่า ทนายที่ทำคดีให้มาบอกเราว่า “เขาต้องหยุดแล้ว เพราะถูกสั่งให้หยุด เราก็เอาไม่เข้าใจ เขาบอกต้องหยุดเพราะว่ากำลังจะมีการนิรโทษกรรมทุกคนที่เกี่ยวข้อง”

จากแรงฮึดที่ช่วยให้พะเยาว์มีความหวัง เมื่อได้ยินคำว่านิรโทษกรรมเข้าไป เธอบอกว่ารู้สึกเหมือนลูกโป่งถูกปล่อยลม ปลิวไปไร้ทิศทาง ทำให้เธอย้อนนึกถึงวันที่ได้ไปพบทักษิณ ชินวัตร ที่กัมพูชาในช่วงสงกรานต์ 2555 ซึ่งเธอไม่คิดว่าการนิรโทษกรรมที่เริ่มพูดกันตั้งแต่ช่วงนั้นกำลังจะกลายเป็นความจริง

“เราได้ไปเจอทักษิณที่กัมพูชาเพราะมีคนเสื้อแดงชวนไป เขาจัดเวทีกันใหญ่โต พอทักษิณปรากฏตัว เราก็ไปบอกกับคนเฝ้าเวทีว่าแม่ของน้องเกดขอขึ้นไปหน่อยสิ เขาก็ให้ขึ้นไปเลย พอทักษิณหันมาหา เราก็ยกมือสวัสดี เราบอกท่านคะ ดิฉันขออะไรหน่อยได้ไหม ที่เวทีเสียงค่อนข้างดัง ก็เลยคุยกันแบบกระซิบข้างหู เราบอกว่า ท่านคะ ดิฉันไม่เอานิรโทษกรรมเหมาเข่งนะคะ ทักษิณก็ผงะมองหน้าเรา เรายิ้มยกมือไหว้แล้วก็เดินลงไป”

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามผลักดันนิรโทษกรรมอย่างสุดกำลัง ทำให้พะเยาว์คิดว่าบรรดานักการเมือง ทหาร ชนชั้นนำของประเทศนี้ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน เมื่อถึงจุดแตกหักและอยากกลับมาประนีประนอมกัน พวกเขาจะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือต่อรอง

พอไปย้อนดูไปร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ที่รัฐบาลจะเอา เขาย้อนไปนิรโทษฯ ตั้งแต่ปี 2547 พะเยาว์สงสัยว่าทำไมต้องย้อนไปไกลขนาดนั้น เสื้อเหลืองก็ยังไม่มี เสื้อแดงก็ยังไม่มี แต่ตอนนั้นทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

“พวกคุณไปทำอะไรกันไว้ เราไม่ใช่คนเรียนมาสูง ไม่ใช่คนที่เข้าใจการเมืองอะไรมาก แต่เราเรียนจากความเจ็บปวดที่ถูกกระทำทั้งจากฝ่ายเผด็จการและฝ่ายที่อ้างประชาธิปไตย ลูกเราเป็นเหยื่อสองต่อ ถูกยิงตายแล้วยังเป็นเหยื่อในการต่อรองทางการเมืองอีก”

พะเยาว์ถามว่าคนอย่างทักษิณได้บทเรียนไหม ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยได้บทเรียนไหม ไม่มีใครรู้ แต่เธอเชื่อว่าในปี 2553 ถ้ามีคนนามสกุลชินวัตรถูกยิงสักคน การนิรโทษกรรมอย่างสุดโต่งจะไม่มีทางเกิดขึ้น

พะเยาว์ อัคฮาด

– 14 –

หลังจากนั้น แม่น้องเกด-พ่อน้องเฌอ ก็เดินเครื่องชนรัฐบาล และไม่สนใจว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนนิรโทษกรรมจะต่อว่าอย่างไร พวกเธอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับญาติผู้เสียหายขึ้นมา ซึ่งต่างไปจากฉบับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ตรงที่ฉบับญาตินี้ขอให้มีการนิรโทษฯ ระดับประชาชนที่มีคดีการเมืองติดตัวก่อน แต่ไม่นิรโทษฯ ให้ระดับแกนนำและผู้สั่งการ

“แต่ถึงแบบนี้เรายังถูกเอาไปบิดเบือนว่าแม่น้องเกดไม่ไยดีกับประชาชนที่ยังติดคุก ถ้าหากดันร่างนี้ผ่านจะทำให้ประชาชนที่ติดคุกอยู่หมดสิทธิ์ออก ทั้งๆ ที่ในร่างกฎหมายก็เขียนชัดเจน แต่ไม่มีใครอ่าน แม้แต่แกนนำเสื้อแดงที่อ้างประชาธิปไตยทุกวันก็ยังเอาไปบิดเบือน”

พะเยาว์และญาติเหยื่ออีกส่วนหนึ่งที่ถูกมองเป็นแกะดำของชาวเสื้อแดงส่วนใหญ่ เดินสายเอาร่างฯ ฉบับญาตินี้ไปยื่นให้ทุกพรรคการเมือง

“พรรคเพื่อไทยเขาไม่รับ เราก็เข้าใจได้ พอมีงานรำลึกหลังจากนั้นมา พวกประชาธิปัตย์ได้ทีเหมือนบอลเข้าทางตีน ถามญาติคนเสื้อแดงที่ตายว่า เอ้า ไหนว่าเอานิรโทษกรรมเหมาเข่ง แล้วมารำลึกอะไรกันอีก ยอมกลืนเลือดเหรอ เราก็เฉย พูดอะไรไม่ออก”

“สังคมไทยไม่เคยสำนึกถึงคนตายในเหตุการณ์ทางการเมืองเลย เพราะถ้าสำนึกกันจริงๆ มันจะไม่เละเทะมาจนถึงทุกวันนี้” พะเยาว์ตั้งคำถามต่อว่า เป็นไปได้อย่างไรที่จะนิรโทษกรรม ทั้งที่ยังไม่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการถูกดำเนินคดี และที่น่าเจ็บใจมากที่สุดสำหรับเธอ คือการได้ยินจากปากคนที่สูญเสียญาติพี่น้องในเหตุการณ์ว่า ให้อภัยคนที่ฆ่าเถอะ เราต้องมีเมตตา

“โอ้โห เราพูดไม่ออก เพราะเมตตากันแบบนี้ไม่ใช่เหรอ ประวัติศาสตร์มันถึงซ้ำรอยกันมาเสมอ”

– 15 –

22 พฤษภาคม 2557 พะเยาว์อยู่ที่เวที นปช. ถนนอักษะกับลูกชาย เธอรู้อยู่แล้วว่ามีกฎอัยการศึก แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีรัฐประหารตามมา

“ช่วง 4 โมงเย็น ลูกชายขึ้นไปพูดบนเวที เราดูถ่ายทอดสดที่เวทีของ กปปส. เห็นทหารเอารถบัสมารับชาวบ้าน ดูแลอย่างดี เรารู้ว่าเดี๋ยวเขาคงเอารถบัสมารับประชาชนออกไปจากที่นี่เหมือนกัน แต่ยังไม่ทันได้เตรียมตัวกลับ เสียงปืนรัวมาเลย ทหารเดินถือปืนเข้ามา ทุกคนใส่แว่นดำ ปิดหน้าปิดตา สั่งประชาชนให้หมอบกับพื้น ส่วนแกนนำกับลูกชายถูกควบคุมตัวขึ้นรถไป”

แต่พะเยาว์ไม่กลัว เธอชี้หน้าบอกทหารให้แกนนำเขาประกาศบอกประชาชนก่อนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ส่วนจะจับแกนนำไปก็แล้วแต่ แต่อย่ารังแกประชาชน พวกเขายังยืนต่อคิวรับข้าวกันอยู่เลย

“ทหารคนที่เราบอกเป็นผู้พัน เขาบอกได้ครับ” พะเยาว์บอกผู้พันคนนั้นพูดสุภาพ แต่ในมือยังถือปืน

เมื่อลูกชายพะเยาว์ถูกคุมตัวขึ้นรถทหารไป เธอกับนักข่าวลุกตามไป เพื่อหวังจะทราบสถานที่ควบคุมตัว แต่ทหารหาญบอกอย่าตาม ความที่พะเยาว์ยืนยันจะตามไป เธอจึงต้องลงไปนอนหมอบเมื่อเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด

รัฐประหารวันพฤหัส พอวันศุกร์ความหวาดกลัวก็เริ่มปกคลุมราวกับเมฆทะมึน เพราะ คสช. ออกคำสั่งเรียกให้ประชาชนเข้าไปรายงานตัว ลูกชายของพะเยาว์ถูกจับไปก่อนแล้ว เธอโทรไปที่เบอร์ของ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คสช. ตามที่มีการประกาศไว้ทางทีวี แต่ไม่มีใครรับสาย

“ไลน์ไปก็ไม่ตอบ” พะเยาว์บอกเธอส่งข้อความไปถามรัวๆ หลังจากโทรไม่ติด

– 16 –

24 พฤษภาคม 2557 พะเยาว์บอกเธอปุเลงๆ ไปที่สโมสรกองทัพบกตรงเทเวศร์ พอไปถึงข้างหน้า เธออาศัยเดินตามนักข่าวเข้าไป

“พอเปิดประตูเข้าไป โอ้โห ทั้งนักข่าว ทั้งทหารเต็มไปหมด เราก็มองหาวินธัยก่อนอันดับแรก วินธัยเหมือนกำลังจะยกแก้วดื่มกาแฟ เงยหน้ามาเห็นเรา เขารีบหันหลังเดินหนี เลยตะโกนว่าเดี๋ยวสิวินธัย จับลูกฉันไปทำไม ลูกฉันอยู่ที่ไหน นักข่าวก็หันกล้องมาที่เราทันที แล้ววินธัยก็เปลี่ยนบทกะทันหัน บอกเราว่าได้ครับๆ แม่นั่งรอก่อน สักพักเดียว สห.หญิง 2 คนเดินเอาปืนอูซี่มาแนบแขนเรา ประกบซ้ายขวา บอกให้ออกไป เราก็บอกวินธัยจะนั่งรอตรงนี้ เพราะทหารจับลูกฉันไป ถ้าเขาไม่ให้ฉันนั่ง ฉันไม่หน้าด้านนั่งหรอก วินธัยที่มองมาจากไกลๆ ทำท่าส่งสัญญาณให้ สห.หญิงรู้ประมาณว่ามึงอย่าไปยุ่งกับเขา”

แม่ของกมนเกดถูกพาเข้าไปในห้อง สักพักก็มีทหารระดับนายพลมาบอกเธอว่า ตามหลักแล้วถ้าลูกหายต้องไปแจ้งความกับตำรวจ เธอจึงบอกกลับไปว่าเธอเห็นกับตาว่าทหารจับไปจากถนนอักษะ แล้วจะให้ไปแจ้งตำรวจที่ไหน

“เราตบโต๊ะดังปังเพราะคุมอารมณ์ไม่อยู่ ถ้าไม่บอกว่าลูกฉันอยู่ที่ไหน ต่อไปนี้ฉันจะมาที่นี่ทุกวัน นายพลบอกเดี๋ยวเราจะรีบติดต่อให้นะครับ”

– 17 –

“ประเทศนี้จะทำอะไรต้องขออนุญาตก่อน เว้นเรื่องเดียวคือตอนยิงลูกฉันตาย” พะเยาว์ อัคฮาด บอกหลังจากที่เธอพยายามจัดรำลึกถึงความตายของลูกสาว และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันมาตลอดตั้งแต่รัฐประหาร 2557

มากกว่านั้น พะเยาว์ยังบอกว่าฝ่ายความมั่นคงส่งทหารมาหาที่บ้านสม่ำเสมอ เธอได้รับคำอธิบายว่าเธอเป็นกลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มเป้าหมาย แม้จะพอเข้าใจได้ในกลุ่มแรก เพราะลูกสาวเธอถูกยิงตายและผลการตายก็ชัดเจนว่ามาจากทหาร อีกทั้งการเรียกร้องความยุติธรรมของเธอก็เปิดเผยมาตลอด แต่ในกรณีการถูกแขวนป้ายให้เป็นกลุ่มเป้าหมาย เธอเข้าใจไม่ได้

“ลูกสาวถูกยิงตาย พอรัฐประหารเสร็จคดีความหยุดชะงักหมด ทหารที่เกี่ยวข้องได้ดิบได้ดี เป็นผู้มีบารมีในสังคม ส่วนอภิสิทธิ์-สุเทพ ในฐานะคนสั่งการถูกยกฟ้อง ส่วนเรากลายเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป้าหมายที่ผู้มีอพนาจอยากกำจัดทิ้งเหรอ มันเกิดอะไรขึ้น” พะเยาว์ถามเสียงดัง

แม่กมนเกดยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สังคมไทยทุกครั้งที่มีความรุนแรง จะต้องมีรัฐประหารตามมา เหมือนผูกปิ่นโตกันไว้ แล้วซ่อนความจริงไว้ในปิ่นโต สูงไม่รู้ตั้งกี่ชั้น

“ประเทศนี้ไม่มีทางเหมือนเดิมแล้ว จะให้เราไปยกโทษให้คนที่ฆ่าลูกเราโดยไม่มีการดำเนินคดี เป็นไปไม่ได้ เรารู้สึกว่าวันหนึ่งถ้าเกิดมีน้ำป่าซัดมา เราจะอยู่ได้ เพราะเราไม่เคยทรยศการตายของลูก”

คณะกรรมการปรองดองโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถูกตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหาร พะเยาว์เข้าไปเป็นอนุกรรมการ แน่นอนว่าเธอถูกคนด่าว่าเข้าไปรับใช้เผด็จการ

“แต่เขาไม่เคยมาถามว่าเข้าไปเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะอยากปรองดอง เราอยากได้ความจริง แล้วอยากรู้ว่าพวกข้างในเขาคิดหรือคุยอะไรกัน เราคิดแบบชาวบ้านธรรมดาว่าถ้ามีโอกาสก็ควรได้ยินได้หูตัวเอง”

สิ่งแรกที่พะเยาว์เสนอคือให้บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายลองเข้าไปในเรือนจำเพื่อคุยกับผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกสี ถ้าคิดว่าประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง ก็ควรไปรับฟังเขากับตัวเองจะดีที่สุด

“ในกรรมการปรองดอง ยังมีบรรดาญาติๆ ของฝ่าย กปปส. ที่เสียชีวิตด้วย เขาเชื่อว่าพวกเสื้อแดงต้องการล้มเจ้า เป็นความคิดที่ฝังหัวเขามาตลอด เราบอกพี่ใจเย็นๆ ลูกหนูถูกยิงตายแล้วยังถูกหาว่าเป็นพวกล้มเจ้าด้วยเนี่ย เพราะผังล้มเจ้าที่ ศอฉ. เคยเอาออกมาใส่ความประชาชน แต่สุดท้ายเขาออกมายอมรับว่าผังล้มเจ้าไม่มีจริง แค่แต่งขึ้นมา พี่เขาก็บอก อ้าว เป็นอย่างนี้เองเหรอ ทำไมมาใส่ร้ายกัน เขาเริ่มยอมรับและเปิดใจคุยกับเราได้ สุดท้ายเขาบอกเองว่าประชาชนเป็นแค่เหยื่อทางการเมือง”

สุดท้าย พะเยาว์บอกว่ากรรมการปรองดองทั้งหมดเห็นด้วยว่าประชาชนที่มีคดีทางการเมืองควรหลุดจากคดี และได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม ส่วนพวกแกนนำเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและผู้สั่งการก็ต้องแขวนไว้เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะถูกจะผิดต้องดำเนินคดีไป แต่เธอบอกว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาด้วย หลังจากนั้นไม่นาน  สปช. ก็ถูกยุบทั้งหมด ข้อเสนอคล้ายลูกโป่งที่ลอยหายไปกับสายลม

พะเยาว์ อัคฮาด

– 18 –

“เรารู้ว่าพวกทหารก็ต้องการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ไม่ต่างจากที่ทักษิณต้องการ” พะเยาว์ตั้งคำถามถึง คสช.ว่า ตอนปี 2553 ที่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิตระหว่างมีการปะทะกันในที่ชุมนุม ทำไม คสช. ไม่พยายามพิสูจน์หาความจริงให้นายทหารผู้นี้ แต่กลับโทษชายชุดดำที่ไม่มีใครรู้จัก ทำไม คสช. ไม่พยายามตามจับมาลงโทษให้ได้ หรือการตายของ พ.อ.ร่มเกล้า จะเป็นการตายเปล่า

นายทหารที่อยู่ในกรรมการ ศอฉ. ในปี 2553 ปัจจุบันแปลงร่างมาเป็น คสช. บางคนตอนนี้มีตำแหน่งเป็นถึงองคมนตรี

“จะอยู่สูงแค่ไหน เราเชื่อว่าหนีความจริงไม่พ้นหรอก” พะเยาว์บอกตัวเองว่า เธออยู่ได้อีกไม่กี่ปีก็ต้องตาย แต่ก่อนตาย ขอให้ได้จุดธูปบอกลูกสาวหน่อยว่าความยุติธรรมมีจริง

คดีอาญามีอายุความถึง 20 ปี ตอนนี้ผ่านไป 8 ปีแล้ว เวลาที่เหลือสำหรับพะเยาว์ไม่มีใครสรุปได้ว่าน้อยหรือมาก

“อยากจะรู้เหมือนกันว่าสังคมไทยจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกไหม ถ้ารุ่นลูกรุ่นหลานคุณถูกทหารยิงตายไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น บางคนมาถามเราว่าอยากสร้างอนุสาวรีย์ให้ลูกสาวไหม เราบอกไม่ต้องการ ถ้าทำอย่างนั้น ให้สร้างรอบสนามหลวงสำหรับคนตายในประวัติศาสตร์ทุกคนก็คงไม่มีที่พอ เผลอๆ ต้องสร้างรอบกรุงเทพฯ”

พะเยาว์บอกว่า อนุสาวรีย์ที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองในประเทศนี้ไม่ได้มีไว้ให้คนจำเป็นบทเรียนว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่เอาไว้ให้ผู้มีอำนาจเลียนแบบว่าสามารถฆ่าประชาชนได้โดยไม่มีความผิด

ถ้า 8 ปีที่ผ่านมาของพะเยาว์ คือ การก้าวไปข้างหน้าเพื่อเรียกหาความยุติธรรมให้ลูกสาวของเธอในทุกๆ วัน เธอก็คงจะเดินมาถึง 2,920 ก้าวแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าเธอต้องเดินอีกกี่ก้าว เพื่อให้กมนเกดเป็นศพสุดท้ายของความขัดแย้งทางการเมืองไทย

– 19 –

19 พฤษภาคม 2553 เป็นวันแรกในการเปิดสอบผู้ช่วยพยาบาลของกองทัพบก แต่กมนเกดไม่ได้ไปสอบ เธอกำลังช่วยเหลือคนบาดเจ็บและคนหนีตายอยู่ในวัดปทุมฯ

แม่ของเธอบอกว่า ความฝันสุดท้ายของกมนเกดคือการได้ลงไปเป็นผู้ช่วยพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้มีชีวิตต่อเพื่อเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง

และแม้ความจริงจะเป็นเช่นนั้น แต่รอยยิ้มของกมนเกดยังสว่างไสวอยู่ในกรอบรูปไม่จืดจาง พะเยาว์มองใบหน้าลูกสาวเนิ่นนาน ดวงไฟสีส้มนวลสะท้อนผ่านดวงตาของผู้เป็นแม่ คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นเปลวเพลิง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023