fbpx

มองปัญหาการ ‘บูลลี่’ แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

วัยรุ่นวัยเรียนเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่า เป็นช่วงที่ ‘สุดๆ’ ของชีวิต ทั้งใช้ชีวิตโลดโผนกับเดอะแก๊ง หัวใจสลายครั้งแรก หรือรู้สึกว้าวุ่นเพราะอยู่ในวัยที่จะโตก็ไม่ใช่ จะเด็กก็ไม่เชิง ทำให้คราใดที่พูดถึงชีวิตวัยรุ่น หลายคนจะมีเรื่องเล่าพรั่งพรูออกมาไม่รู้จบ ทั้งสุขและเศร้าเคล้ากันไป

อย่างไรก็ดี ช่วงชีวิตวัยรุ่นของใครบางคนกลับมีเรื่องเศร้ามากกว่าเรื่องสุข เมื่อช่วงเวลาที่พวกเขาควรจะได้เติบโต ค้นหาตัวตน และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ กลับกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวด เมื่อต้องเจอกับการรังแก แกล้งกัน หรือที่เรามักเรียกติดปากว่า ‘บูลลี่’ โดยเฉพาะการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน

“เด็กมันแค่หยอกเล่นกัน อย่าทำให้เสียบรรยากาศเลย” “อ้วนเป็นหมูเลยนะเธอ” “หน้าปลอมจัง ไปทำหน้ามาหรือเปล่า” และอะไรอีกมากมายที่หลายคนต้องพบเจอ ก่อเกิดเป็นบาดแผลที่แม้อาจไม่ปรากฏให้เห็นทางกาย แต่จารอยู่ในใจอย่างไม่มีวันเลือน ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่อาจก่อให้เกิดการบูลลี่ รวมถึงทำให้การบูลลี่เกิดขึ้นได้อย่างไร้พรมแดน

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เป็นหนึ่งคนที่ทำงานศึกษาเกี่ยวกับการบูลลี่ โดย ‘โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล’ ของธานีและคณะ ไม่เพียงฉายภาพการบูลลี่กันของเด็กไทย แต่ยังเปิดให้เห็นรากของปัญหาที่แท้จริงที่ถูกซ่อนไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็งอย่างยาวนาน

101 สนทนากับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับปัญหาการบูลลี่กันในสังคมไทย ไล่เรียงตั้งแต่โครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่สัมพันธ์กับการบูลลี่ ปัญหาการรังแกกันในโรงเรียนและการรังแกกันผ่านไซเบอร์ (cyberbullying) ไปจนถึงลักษณะเฉพาะของภาษาที่เข้ามามีบทบาทในการบูลลี่ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ให้ยั่งยืน

 

 

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในภาษาไทย คำพูดที่ใช้อธิบายพฤติกรรมทางลบที่ฝ่ายหนึ่งกระทำต่ออีกฝ่ายหนึ่งจะมีหลายคำ เช่น หยอกล้อ กลั่นแกล้ง หรือรังแก ซึ่งแต่ละคำอาจถูกใช้ในความหมายที่คลุมเครือและไม่ค่อยชัดเจน แล้วเราจะนิยามอย่างไรว่าการกระทำนั้นๆ เข้าข่ายการรังแก หรือการบูลลี่ (bully) กัน

ในภาษาไทยยังไม่มีการแปลคำว่าบูลลี่ชัดๆ งานวิจัยที่ผ่านมาจึงมักจะใช้คำ 2 คำ คือคำว่า ‘แกล้ง’ และ ‘รังแก’ แต่สองคำนี้ก็ยังไม่ได้ตรงกับคำว่าบูลลี่เสียทีเดียว เพราะถ้าเราใช้คำว่า ‘แกล้ง’ หรือ ‘แกล้งกัน’ และไปสำรวจว่ามีเด็กแกล้งกันมากแค่ไหน ก็จะเจอมหาศาลเลย ที่ผ่านมาพบเกินกว่าร้อยละ 90 เพราะเด็กทุกคนน่าจะเคยแกล้งกันอยู่แล้ว เนื่องจากการหยอกล้อหรือล้อเลียนเรื่องส่วนตัวเป็นรูปแบบหนึ่งของความกันเองและสนิทสนมในค่านิยมของวัฒนธรรมไทย แต่พอไปใช้คำว่า ‘รังแก’ ก็ดูจะเป็นคำทางลบ และคนจะนึกไปถึงเรื่องที่รุนแรงมากๆ คนจำนวนหนึ่งก็จะไม่อยากตอบว่า ตัวเองเคยโดนรังแก อันนี้ก็เป็นวัฒนธรรมไทยอีก ที่เราไม่อยากพูดเรื่องลบๆ ของตัวเองให้คนอื่นฟังเพราะจะดูไม่ดี เราเลยเจอจำนวนคนที่ถูกรังแกน้อยกว่าความเป็นจริง หากใช้คำนี้จะพบเพียงประมาณร้อยละ 50-60 แต่ก็ยังมากอยู่ แต่พอใช้คำว่า ‘บูลลี่’ ก็จะใกล้เคียงรังแก แต่จะปนการแกล้งกันด้วย

เวลาเราดูคำพวกนี้ในวรรณกรรม (literature) ก็จะไม่ค่อยตรงเสียทีเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นการรังแก แกล้งกัน หรือบูลลี่ คนกระทำอาจจะทำแบบเดียวกันทั้งหมด แต่สิ่งที่แตกต่างไปคือความรู้สึกของคนโดนกระทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราโดนใครกระทำแล้วรู้สึกแย่ เสียใจ รู้สึกไม่ดีหรือไม่พอใจ นี่คือการบูลลี่แล้ว ถ้าจะจำแนกให้ชัดๆ ก็คือ เวลาใช้คำว่าแกล้งกัน คนโดนอาจจะไม่ค่อยเสียใจ หรืออาจจะรู้สึกสนุกด้วยซ้ำ แต่บูลลี่คือต้องรู้สึกเสียใจ พอโดนรังแกก็คือเสียใจมากๆ ที่น่าสนใจคือ หลายครั้งการแกล้งกันคือการบูลลี่ แต่คนถูกแกล้งสับสนว่าควรจะยอมรับการแกล้งในฐานะของเพื่อนสนิทที่ทำกันได้ หรือควรจะโกรธดี มันสะท้อนว่า เราไม่ได้สอนให้เด็กเคารพสิทธิของตนเองและผู้อื่นเท่าที่ควร

อย่างไรก็ดี ถ้าถามว่าตอนนี้จะเทียบว่าบูลลี่ใกล้กับคำไหนในภาษาไทยมากที่สุด ผมคิดว่าใกล้กับคำว่า ‘รังแก’ มากกว่า เพราะรังแกเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อความรู้สึกอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในระยะหลัง เราเริ่มเห็นคนที่รู้สึกว่าตนเองถูกกระทำ หรือถูกทำให้เสียใจเริ่มกล้าออกมาพูดมากขึ้นเพราะมีโลกออนไลน์ ซึ่งผมคิดว่าในอนาคต คำว่าบูลลี่กับรังแกจะมีความใกล้กันมากขึ้น

 

เราพออธิบายได้ไหมว่า ทำไมในภาษาไทยถึงไม่มีคำแปลที่ตรงกับคำว่า ‘บูลลี่’ แบบชัดๆ

ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจ (psychological sue) เวลาเกิดการกระทำอะไรที่กระทบจิตใจผู้อื่น แต่ถ้าเป็นตะวันตก เขาจะฟ้องร้องกันได้ถ้าเกิดการบูลลี่กัน แต่ในไทยไม่เคยมีเรื่องนี้ เพราะเราอาจจะสนใจกันแต่พฤติกรรมภายนอก ความบาดเจ็บภายนอก หรือความเสียหายที่ประเมินได้ โครงสร้างทางสังคมก็เลยไม่ได้ถูกทำให้สนใจเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

อีกส่วนหนึ่งเพราะคนไทยมีค่านิยมว่า ต้องเก็บความรู้สึกไว้ พอดีใจมากคนก็จะมองว่าออกหน้าออกตาเกินไป ถ้าเสียใจมากก็โดนมองว่าเว่อร์เกินไปไหม พูดให้ชัดคือ คนไทยชอบคนที่อยู่กลางๆ เหมือนกับคนอื่น ถ้าโดนบูลลี่หรือละเมิด แล้วไปฟ้องร้องเอาความ คนจำนวนหนึ่งก็จะมองว่า เรื่องแค่นี้เอง

 

อาจารย์มองว่า การบูลลี่กันสะท้อนภาพอะไรในสังคม

ผมว่ามี 2 ประเด็น ข้อแรกคือ การบูลลี่สะท้อนวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ (unaccountability) เพราะบูลลี่คือการละเมิด ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือคำพูด และส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ บูลลี่จึงเป็นการใช้อำนาจที่ละเมิดคนอื่น ที่สำคัญคือ การบูลลี่ส่วนใหญ่เกิดจากการที่คนกระทำไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เช่น ถ้าเกิดขึ้นในโรงเรียน อาจจะเป็นครูบูลลี่เด็ก หรือเพื่อนที่รวยกว่า แข็งแรงกว่า หรือกลุ่มใหญ่กว่า บูลลี่เพื่อนอีกคนหนึ่งก็ได้

ข้อที่สอง การบูลลี่สะท้อนวัฒนธรรมต่างตอบแทน (reciprocity) คนไทยมีความคิดว่า “บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ” เราเคยทำวิจัยแล้วพบว่า บูลลี่ไม่ได้เกิดมาลอยๆ แต่เกิดจากการหยอกล้อกันไปมาจนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ในด้านหนึ่งแปลว่า เธอให้อะไรฉันมา ฉันจะคืนให้เยอะกว่า ถ้าเธอทำดีกับฉัน ฉันจะรักเธออย่างยิ่ง ไม่ว่าเธอผิดหรือถูกฉันก็จะช่วย แต่ถ้าเราโดนรังแก เราก็จะเอาคืนเธอหนักขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แล้วถ้ามองไปถึงภาพโครงสร้างสังคมไทย โครงสร้างของเราเป็นแบบไหนถึงทำให้เกิดการบูลลี่กัน

สังคมไทยมีโครงสร้างของการไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย พูดง่ายๆ คือ ไม่มีวัฒนธรรมเรื่อง accountability ทำให้ยากที่จะเอาผิดใครสักคนที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ต้องพิสูจน์แล้วพิสูจน์อีก และยิ่งอีกฝ่ายมีอำนาจมากกว่าเรา เขาอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้มีอำนาจเท่ากัน ถ้าคิดจะหาข้อมูลหรือตรวจสอบว่าเกิดการกระทำผิดจริงหรือไม่ก็อาจไม่มีข้อมูลอีก

ถ้าพูดให้ชัดเจนขึ้น ลองนึกภาพว่าเราถูกครูบูลลี่ เราจะเอาผิดครูได้อย่างไร สุดท้ายเขาจะถูกลงโทษจริงๆ เหรอ ในเมื่ออำนาจในโรงเรียนไม่มีอะไรผูกโยงกับนักเรียนเลย หรือถ้าถูกกลุ่มเพื่อนด้วยกันบูลลี่ คนไหนในเหตุการณ์จะอยากให้ข้อมูลบ้าง และกลับมาเรื่องเดิมว่า จะเอาผิดได้ไหมอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปดูการบูลลี่ในโรงเรียน จะเห็นว่าการบูลลี่เกิดขึ้นผ่านโครงสร้างอำนาจนิยมที่ไม่ได้มาพร้อมกับ accountability เมื่อมาอยู่ในโรงเรียนที่เด็กอยู่ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ เด็กก็จะชินกับความรู้สึกที่ว่า คนมีอำนาจสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ทุกคนเลยอยากมีอำนาจ เพราะวันหนึ่งพอเรามีอำนาจ เราก็ทำแบบนี้กับทุกคน ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกอะไร เพราะทุกคนก็เคยกระทำและถูกกระทำแบบนี้มาหมด มันก็วนกันอยู่แบบนี้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความอดทนต่อการถูกกระทำจากอำนาจก็เป็นอีกคุณค่าหนึ่งในสังคมไทยมาตลอด

เมื่อเป็นเช่นนี้ พอเด็กเรียนจบและโตขึ้น อำนาจที่แฝงด้วยความไร้ความรับผิดชอบจึงเป็นที่โหยหา แนวทางหนึ่งก็คือการมีพรรคพวกรวมกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะระหว่างคนที่มีอำนาจด้วยกัน อำนาจรวมกับอำนาจก็ยิ่งไม่ต้องรับผิดชอบเป็นทวีคูณ และนำไปสู่อำนาจในการควบคุมสังคมและการเมืองในที่สุด

 

 

เราพูดได้ไหมว่า โรงเรียนเป็นสถานที่แรกที่บ่มเพาะความคิดแบบอำนาจนิยมให้กับเด็ก

ได้ครับ ต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเราไปดูโครงสร้างจะเห็นว่า โรงเรียนเป็นโครงสร้างหลักของอำนาจนิยมที่เข้มแข็งมาก เพราะความเป็นครูได้รับสิทธิพิเศษทางสังคม ทั้งอำนาจที่เป็นทางการ มีคนให้เกียรติ มีดุลยพินิจในการตัดสินใจ ถ้าสมมติสอนเด็กไม่ดี เด็กก็แทบจะไม่มีโอกาสพูดอะไร และอำนาจที่ไม่เป็นทางการด้วย เช่น การสร้างสำนึกบุญคุณ การเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม

เมื่อสองส่วนนี้ประกอบกันจึงกลายเป็นโครงสร้างอำนาจนิยมที่เข้มแข็ง ผมว่าโครงสร้างนี้อาจจะเข้มแข็งมากกว่าที่เราคิด เผลอๆ การที่เด็กออกมาเคลื่อนไหวในระดับประเทศอาจจะมีโอกาสแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าแก้ปัญหาในโรงเรียนอีก เพราะเวลาอยู่ในโรงเรียน ครูรู้ว่าเราเป็นใคร จึงอาจจะบูลลี่และลงโทษเราได้

เมื่อเป็นแบบนี้ โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ แต่โรงเรียนคือกระบวนการ learning by doing ที่สอนเรื่องการใช้และเคารพสิทธิ รวมไปถึงการใช้อำนาจและความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับอำนาจนั้นด้วย

 

ถ้าโรงเรียนไทยมีปัญหา แล้วโรงเรียนในตะวันตกมีปัญหาคล้ายกันบ้างไหม

ในตะวันตกก็มีปัญหาระหว่างนักเรียนกับนักเรียนเยอะอยู่ โดยเฉพาะเด็กรวยรังแกเด็กที่มีฐานะยากจน หรือในทางกลับกัน เด็กที่ฐานะยากจนรวมกันเป็นกลุ่มทำร้ายคนรวยกว่าก็มี แต่จากการสำรวจ เราแทบไม่ค่อยเจอสถานการณ์แบบที่ว่าในไทยนะ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงเรียนในไทยแบ่งกลุ่มนักเรียนตามฐานะไปแล้ว อย่างถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนก็อาจจะมีเด็กที่พ่อแม่มีฐานะประมาณเดียวกันหรือมีความคล้ายกันอยู่ โรงเรียนนานาชาติก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือแม้แต่โรงเรียนรัฐเองก็มีเกรดตามฐานะ เรียกได้ว่า ในโรงเรียนหนึ่งๆ เรามีความหลากหลายของฐานะของเด็กไม่ห่างกันมากเท่าไหร่ ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีนะครับ

 

ในไทย ถ้าไม่นับเรื่องรายได้อย่างที่อาจารย์บอกไป การที่เรามักติดภาพว่า เด็กที่ถูกบูลลี่มักเป็นเด็กตัวเล็ก เด็กเรียนเก่ง หรือเด็กหน้าห้อง จริงๆ แล้วความคิดแบบนี้จริงเท็จประการใดบ้าง

ตอนที่ผมทำวิจัย ความคิดแบบนี้เป็นสมมติฐานแรกๆ เหมือนกัน เพราะสมัยรุ่นผมเด็กๆ จะมีอารมณ์ประมาณว่าคนที่ตัวใหญ่กว่ารังแกคนที่ตัวเล็กกว่า แต่พอทำวิจัยจริงๆ เราเห็นเรื่องหนึ่งที่ชัดมากๆ คือ การที่คนกลุ่มใหญ่ (majority) รังแกคนกลุ่มน้อย (minority) โดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่เรามองเห็นได้ชัดด้วยตา เช่น คนผมหยิก ผิวคล้ำ หรือแม้กระทั่งเด็กมุสลิมที่ต้องคลุมผม

ผมคิดว่า ตรงนี้มาจากค่านิยมไทยที่เราชอบให้ทุกคนเหมือนกัน (conformity) คืออยากให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และถ้ามองลึกลงไป อีกด้านของความคิดแบบนี้คือการที่เราไม่เคารพสิทธิของคนกลุ่มน้อยหรือคนอื่น ไม่ยอมรับความแตกต่าง ซึ่งเป็นรากฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้น ค่านิยมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะทำให้เราเป็นพวกเดียวกัน ช่วยเหลือกัน แต่ก็ช่วยกันเฉพาะในกลุ่มของเรา ส่วนคนนอกกลุ่ม นอกจากจะไม่ช่วยหรือกีดกันแล้วก็อาจจะทำร้ายเขาอีก ค่านิยมแบบนี้เลยเหมาะกับวิถีชุมชนแบบในอดีต

พอมองลงมาที่ภาพย่อย การสำรวจพบว่า การรังแกยุคใหม่จะไม่ใช่แบบที่คนตัวใหญ่รังแกคนตัวเล็ก แต่เป็นคนที่รวมกลุ่มกันมากกว่า ตอนที่เราทำวิจัยพบว่า การบูลลี่จะมีลักษณะที่คน 3-4 คนรวมกันรังแกคนใดคนหนึ่ง มันเลยคือความเป็นกลุ่ม และไม่ว่าจะผิดหรือถูก เขาก็จะรวมกลุ่มกันรังแก ตรงนี้ก็ถอดมาจากโครงสร้างสังคมในภาพใหญ่

 

เมื่อมองการบูลลี่ในโรงเรียน นอกจากครูจะเป็นคนที่บูลลี่นักเรียนโดยตรงแล้ว หลายครั้งเราพบว่า ครูไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดการบูลลี่ แต่การกระทำบางอย่างของครูกลับส่งเสริมให้เกิดการบูลลี่ทางอ้อมโดยที่ครูเองก็อาจจะไม่รู้ตัว เช่น การเปรียบเทียบเด็ก ถ้าเป็นเช่นนี้ ครูควรจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองอย่างไร

ถ้าจะพูดให้แฟร์กับครู ผมว่าเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะครูก็เติบโตมาในวัฒนธรรมแบบที่เห็นว่าบูลลี่เป็นเรื่องเล็ก และรู้สึกว่ามันเป็นการแกล้งกัน เสียใจไม่นานก็หายไป ครูเลยอาจจะแยกยากว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการบูลลี่หรือไม่ และนอกจากจะแยกได้ยากแล้ว ครูอาจจะมองด้วยซ้ำว่าเป็นการทำให้บรรยากาศของห้องมีความสุข คือมองในแง่บวกไปแทน

ถ้าเรามองไปในอนาคต ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมีแนวปฏิบัติ (code of conduct) บางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการบูลลี่ บอกเลยว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ อีกอย่างคือ การให้ความรู้เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะครูบางคนอาจไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แค่อยากสนุก ตลก แต่เขาไม่รู้ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง เช่น สมัยก่อนมีการล้อเพศที่สาม มองว่าเป็นเรื่องสนุก ไม่ค่อยมีใครรู้สึกผิด เพราะไม่มีใครรู้ว่าผิดหรือถูก แต่ปัจจุบัน คนก็เริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเรารับทราบแนวที่พึงปฏิบัติมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว การสร้างการยอมรับในความหลากหลายก็คงใช้เวลานาน เพราะสังคมเราเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด

 

 

อาจารย์บอกว่า เรามักเจอการบูลลี่ในโรงเรียน แล้วถ้าเป็นที่บ้าน สมมติว่าพ่อแม่ล้อเลียนลักษณะทางกายภาพบางอย่างของลูก เช่น อ้วน คล้ำ ผมหยิก หรืออะไรทำนองนี้ แบบนี้นับเป็นการบูลลี่ได้ไหม

ได้นะครับ แต่ในความเป็นจริงอาจจะพบน้อย เพราะถ้าลูกเริ่มโต พ่อแม่รู้แล้วว่าเรียกแบบนี้ลูกจะเสียใจ ตามหลักแล้วเขาน่าจะหยุดเรียกนะ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ด้วย Punch Up เคยทำเรื่องการบูลลี่ ซึ่งในเมืองไทย เป็นเรื่องยากมากที่จะดูว่าคำไหนเป็นคำที่ใช้ในการบูลลี่ โดยเฉพาะในกรณีที่คำๆ นั้นเป็นคำแบบที่ไม่ได้ตั้งใจด่าขนาดนั้น สมมติผมบอกว่า “คุณนี่ฉล๊าดฉลาด” หรือ “นี่เป็นการกระทำที่ฉลาดเว่อร์ๆ เลยนะ” อันนี้คือผมตั้งใจด่าหรือชมก็ไม่รู้แน่ชัดใช่ไหม ถ้าคนๆ นั้นฉลาดจริงเขาก็คงรู้สึกว่าชมแหละ ถ้าไม่ใช่ก็อาจจะรู้สึกว่าโดนด่า ทั้งที่เป็นคำว่า ‘ฉลาด’ เหมือนกัน การใช้คำ ซึ่งจะด่าหรือชม เลยกลายเป็นการสื่อสารที่รับรู้กันเฉพาะคนสองคน หรือภายในกลุ่มหนึ่งๆ ด้วย

ถ้ากลับมาที่คำถาม สมมติแม่เรียกลูกว่า ‘ไอ้ลูกหมู’ อันนี้ก็ไม่แน่อีกว่าลูกจะเสียใจไหม ถ้าแม่เรียกอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้าเพื่อนเรียกก็อาจจะรู้สึกอีกแบบ และผมคิดว่าโดยรวม แม่น่าจะเข้าใจลูก และควรหยุดถ้ารู้ว่าลูกเสียใจ

 

แสดงว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาด้วย?

ใช่ครับ เป็นลักษณะเฉพาะของภาษาในฝั่งเอเชีย ตรงนี้คล้ายกับเวลาเราคุยกับเพื่อนสนิทว่า “เพื่อนรักแกมาแล้วนะ” ทั้งๆ ที่เกลียดคนนั้นมากนั่นแหละ เพราะในวัฒนธรรมไทย ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องใหญ่ คำที่เราใช้ไม่ได้แค่สื่อสารความหมายของคำ แต่ใช้สื่อสารความรู้สึกด้วย

ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เวลาเราสื่อสารกัน เราจะสื่อสารทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในตะวันตก เขาสื่อสารตรงไปตรงมา สมมติเราฟังคนตะวันตกพูดอะไรสักอย่างแล้วก้มหน้าก้มตาจดอย่างเดียว กลับบ้านไปอ่านก็รู้เรื่องตามนั้น  แต่ถ้าเราฟังคนเอเชียพูดแล้วก้มหน้าก้มตาจด แทบจะไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วเขาจะบอกอะไร สำคัญหรือไม่ไม่รู้ เวลาเราคุยกับคนเอเชียจึงต้องมองหน้าเขาไปด้วยว่า อันนี้จริงจัง ไม่จริงจัง ชมหรือตำหนิ เช่น ถ้าผมต้องการตำหนิคุณ ผมอาจไม่ใช้คำด่า และใช้คำธรรมดา หรือบางทีใช้คำเสมือนชมด้วย แต่สีหน้าผมคือด่าชัดเจน ดังนั้น การก้มหน้าก้มตาจดข้อความอย่างเดียวจึงไม่ช่วยให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อ

 

ฟังดูเหมือนว่า การสังเกตสีหน้าท่าทางของอีกฝ่ายจะมีผลมากในการสนทนากัน โดยเฉพาะกับคนไทยหรือคนแถบเอเชีย แต่ถ้าเป็นการสนทนาผ่านทางโลกดิจิทัลที่เราไม่เห็นสีหน้าท่าทางของคู่สนทนา อวัจนภาษาจะส่งผลอย่างไรบ้าง

อวัจนภาษาส่งผลผ่าน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ถ้าเป็นคนใกล้ชิดย่อมรู้กันเองอยู่แล้ว สมมติบอกว่า “เพื่อนรักแกมาแล้วนะ” ก็รู้แล้วว่าเพื่อนคนนี้แกเกลียดแน่ กับอีกเรื่องคือ อวัจนภาษาในเมืองไทยจะถูกแสดงผ่านอีโมจิ (Emoji) หรือคำต่างๆ เช่น ถ้าพูดว่า “โกรธเขาจังเลย งุงิงุงิ” ก็รู้แล้วว่าไม่ได้โกรธ และมีความส่วนตัวซ่อนอยู่ แต่ถ้าบอกว่า “คิดถึง” และมีอีโมจิรูปงูพิษ อันนี้ก็อาจจะแปลเป็นอีกความหมายไปเลย ภาษาแบบ tag หรืออีโมจิจะทำหน้าที่แทนอวัจนภาษา

เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าคนไทยหรือแม้แต่คนเอเชียนิยมใช้สติกเกอร์ อีโมจิ หรือคำอะไรพวกนี้ แต่ตะวันตกจะไม่ค่อยเข้าใจ สมมติเราบอกว่า “เดี๋ยวเจอกัน” และส่งอีโมจิดอกไม้ไป 3 ดอก เขาอาจจะงงว่าคืออะไร ส่งดอกไม้มาทำไม ซึ่งก็ไม่มีอะไรไง เราแค่อยากส่งความรู้สึกบางอย่างไป

 

เราจะเห็นว่าในปัจจุบัน การบูลลี่กันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกกายภาพ แต่ย้ายมาอยู่ในโลกดิจิทัลมากขึ้น การรังแกกันผ่านไซเบอร์ (cyberbullying) เริ่มกลายเป็นประเด็นที่หลายคนตระหนักถึง แล้วตัวอวัจนภาษาหรืออีโมจิ สติกเกอร์ สัญลักษณ์ต่างๆ จะเข้ามามีส่วนในการรังแกผ่านไซเบอร์ด้วยไหม

มีส่วนครับ อย่างที่บอกไปแล้วว่าเรามีภาษาที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม เช่น เรียกคนที่เกลียดว่าเพื่อนรัก และอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาคนไทยด่า ชอบด่าแรงๆ แต่หน้ายิ้มๆ ไม่งั้นก็พูดให้เดาเอาเอง แต่หน้าออกชัดมาก หรือไม่ก็ด่าผ่านอีโมจิแทน เช่น บอกว่า “ไม่ฉลาดเลย” ตามมาด้วยอีโมจิรูปดอกไม้ ตรงนี้ก็แสดงถึงความสับสนอยู่ เพราะอยากด่าแต่ไม่อยากให้ใครรู้ อยากจะพูดแรงๆ แต่กลัวว่าแรงไป เดี๋ยวจะมีคนมาหาว่าเราเป็นคนไม่ดี ก็อยากจะซอฟต์ลง เราก็เห็นความพยายามรักษาสมดุลตรงนี้อยู่ ซึ่งเราทำผ่านการใช้วจนภาษากับอวัจนภาษา สุดท้ายก็เลยผสมกันออกมาเป็นการประชดประชัน การเสียดสี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางภาษาแบบหนึ่ง

 

การรังแกกันผ่านไซเบอร์ของไทยมีลักษณะอย่างไร

ถ้าเป็นในเด็ก การบูลลี่มักจะเกิดจากการบูลลี่ทางกายภาพก่อน แล้วจึงย้ายไปสู่ทางไซเบอร์ ขณะเดียวกัน คนที่ถูกบูลลี่อาจจะสู้กลับไม่ได้ในโลกจริง เพราะมีเพื่อนน้อยกว่าหรืออ่อนแอกว่า ก็ย้ายไปเอาคืนทางไซเบอร์แทน หมายความว่าไซเบอร์กำลัง empower ความเท่าเทียมของการบูลลี่ให้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่เคยเอาคืนไม่ได้

 

 

อาจารย์เป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์สถาบัน แล้วเราจะนำมุมมองแบบเศรษฐศาสตร์สถาบันเข้ามาอธิบายเรื่องการบูลลี่กันได้อย่างไร

การรังแกกันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ สัตว์ที่แข็งแรงกว่าต้องข่ม ซึ่งจริงๆ การข่มก็มีความสำคัญกับการเรียงลำดับตามโครงสร้างอำนาจหรือชนชั้นของสัตว์ เพราะตัวที่แข็งแรงที่สุดจะต้องเป็นผู้ปกครองสัตว์ทั้งกลุ่มเพื่อทำให้กลุ่มรอด แต่ถ้าเราเลือกสัตว์ที่ไม่ได้แข็งแรงที่สุดไปเป็นหัวหน้า สัตว์ทั้งฝูงก็อาจจะไม่รอดได้

เมื่อขยับมามองเรื่องบูลลี่ จะเห็นว่าบูลลี่อาจเป็นสัญชาตญาณแบบหนึ่ง ตรงนี้จะนำไปสู่โจทย์ใหญ่ในสังคมคือ สังคมนั้นสร้างโครงสร้างที่จะพาเราก้าวพ้นการใช้สัญชาตญาณสัตว์ไหม เพราะมนุษย์ที่ประเสริฐกว่าสัตว์ควรมีการเรียงโครงสร้างที่ดีกว่าการใช้อำนาจแบบละเมิดหรือรุนแรง หรือมีสถาบันทางสังคมที่จะสอนให้เราเคารพความแตกต่างหลากหลายได้หรือเปล่า ตรงนี้ก็วัดความสามารถของสถาบันทางสังคมในประเทศ โดยเฉพาะการศึกษา ที่จะต้องเริ่มสอนเด็กให้เคารพความแตกต่างและมีความรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจมากขึ้น นั่นคือการไม่ยอมรับการบูลลี่

 

แล้วถ้าเป็นประเทศไทย?

ก็ตามนั้นแหละครับ (หัวเราะ)

จริงๆ ผมว่าทุกอย่างสอดรับกันหมดนะ ทั้งโครงสร้างการเมืองกับสังคม ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ ผมสนใจเรื่องโครงสร้างทางการเมืองกับสังคมก่อน เราเห็นวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อคนในกลุ่มกับคนนอกกลุ่มไม่เหมือนกัน เห็นการใช้อำนาจและความรุนแรงแบบไม่ต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ก็คือการใช้สัญชาตญาณนั่นแหละ

ประเด็นคือ เราพยายามแก้ไขปัญหาพวกนี้มานานแล้ว แต่ทำไมไม่สำเร็จสักที บางคนก็บอกว่า เราต้องเริ่มในเด็ก นี่เป็นข้อเสนอที่ฟังมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ยังไม่เกิดอะไรขึ้นสักที พอเข้าไปศึกษาจริงๆ ถึงพบว่า โครงสร้างอำนาจนิยมเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มีการใช้อำนาจของคนในโรงเรียน หรือมีการรวมกลุ่มเพื่อใช้อำนาจบางอย่างในการทำร้ายหรือละเมิดโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้เพราะอีกฝ่ายมีพวกเยอะกว่า และพอเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ก็กลับมาสู่ชุดความคิดว่า ฉันทำได้ ฉันจะเอาคืน และฉันจะยังทำต่อไป เราเลยได้การเมืองแบบที่เป็นอยู่และแก้ไขไม่ได้สักที เพราะเราบ่มเพาะมันมาตั้งแต่เด็ก

 

สถาบันครอบครัวไทยเข้มแข็งพอไหมที่จะสร้างเด็กที่เคารพสิทธิมนุษยชน หรือเข้าใจความแตกต่างหลากหลายขึ้นมาได้

ผมว่าโจทย์อยู่ตรงนี้ ถามว่าสถาบันครอบครัวเข้มแข็งไหมก็จะมีตัวชี้วัดมากมาย แต่ตอนหลัง เราจะเห็นภาพของเด็กที่เชื่อมกับสถาบันครอบครัวน้อยลงเพราะพ่อแม่ต้องทำงาน เมื่อมีลูก สิ่งที่พ่อแม่จำนวนมากคาดหวังคือ เมื่อไหร่ลูกจะเข้าโรงเรียน เพราะตนเองจะได้ไปทำงานและให้คุณครูเป็นคนคอยดูแลลูก จะเห็นว่าเด็กอายุไม่กี่ขวบก็เข้าโรงเรียนกันแล้ว ลองคิดดูสิว่า ในชีวิตเด็กคนหนึ่ง ถ้าไม่นับเวลานอน เด็กอยู่กับครูเยอะกว่าพ่อแม่เสียอีก

ผมไม่ปฏิเสธนะว่า สถาบันครอบครัวสอนเรื่องบางอย่างที่โรงเรียนสอนไม่ได้ เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือการปฏิบัติกับคนในครอบครัว นี่คือหน้าที่ของครอบครัว แต่ในเรื่องของอำนาจ หรือการเคารพสิทธิผู้อื่น ส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของครู เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนกับเด็กคนอื่น เลยต้องดูว่าครูจะสอนให้เด็กปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร หรือจะตอบสนองต่ออำนาจของครู รุ่นพี่ หรือเพื่อนยังไง

 

ถ้าพูดถึงการแก้ปัญหาการรังแกกันผ่านไซเบอร์โดยนำกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ อาจารย์คิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะมีกฎหมายดังกล่าว และถ้าไทยบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้จริงๆ จะมีประสิทธิภาพพอหรือไม่ในการจัดการเรื่องนี้

ผมได้ยินว่ามีคนพยายามเสนอเรื่องนี้อยู่นะ แต่ไม่แน่ใจว่าไปถึงไหนแล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์จะเน้นไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งก็ทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก สมมติว่าเด็กป.6 ไปบูลลี่เด็กป.4 แล้วเราจะลงโทษเด็กยังไง ให้ออกจากโรงเรียน ถูกปรับ ลงโทษพ่อแม่หรือเด็ก อันนี้คือความยาก

ในความเห็นของผม มีอีกวิธีหนึ่งที่เราหวังได้และเกิดขึ้นได้เร็วกว่าด้วยคือ การมีแนวปฏิบัติ (code of conduct) เกี่ยวกับบูลลี่ เพราะตอนนี้ทุกคนไม่รู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ แต่ผมว่าเราหวังกับคนรุ่นใหม่ได้ อย่างเรื่องการพูดคำหยาบ เราไม่ได้มีกฎหมายเรื่องนี้ แต่ทุกคนรู้ว่า การพูดคำหยาบเป็นสิ่งไม่ดี การทำแบบนั้นแบบนี้เป็นสิ่งไม่ดี ถ้ามีแนวคิดแบบนี้กับเรื่องบูลลี่ ผมคิดว่าเราจะเห็นคนช่วยกันต่อต้านคนที่ใช้คำพูดไม่ดีกับคนอื่นด้วย

ถ้ามองในภาพรวม ผมคิดว่าเรายังขาดวัฒนธรรมพลเมืองในโลกออนไลน์ (online civic culture) เพราะตอนนี้เรามีโลก 2 โลก คือโลกทางกายภาพ (physical) ซึ่งทุกคนรู้ว่าเราควรจะมีวิถีปฏิบัติอย่างไร แต่พอเป็นโลกออนไลน์หรือโลกดิจิทัล หลายคนไม่รู้ว่าควรปฏิบัติยังไง บางคนก็ปฏิบัติรุนแรงเพราะไม่ต้องแสดงตัวตนจริงๆ ออกมา

 

อาจารย์คิดว่า เราจะเริ่มต้นแก้ปัญหาการบูลลี่กัน ทั้งทางกายภาพและทางไซเบอร์อย่างไรให้ยั่งยืน

ผมว่ามีสองประเด็น ข้อแรกคือ ถ้าเราดูโลกออนไลน์ เราจะเห็นว่าคนมีความเท่าเทียมกันอยู่ ไม่ว่าจะรวย จน สูง เตี้ย หรือยังไง ลักษณะพวกนี้มองเห็นได้ไม่ชัดเหมือนในโลกกายภาพ การรวมกันในโลกออนไลน์จึงเป็นการรวมกลุ่มตามความสนใจหรือคุณค่าอะไรบางอย่างมากกว่าความเหมือนทางกายภาพ ซึ่งอย่างน้อย มันเปิดพื้นที่ถกเถียงและทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม คนรุ่นใหม่จึงต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้โดยช่วยกันสร้างวัฒนธรรมออนไลน์ขึ้นมา เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีวัฒนธรรมดังกล่าว และยังถูกครอบงำโดยอำนาจที่สอดรับกับวัฒนธรรมแบบเก่า วัฒนธรรมแบบใหม่จึงเกิดขึ้นได้ยาก

แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เด็กลงมา ผมว่าโรงเรียนสำคัญ แต่ในอนาคต เนื้อหาที่เราเรียนในโรงเรียนอาจจะมีความหมายน้อยลง เพราะสื่อออนไลน์มีเนื้อหาที่ทันสมัย หลากหลายและครอบคลุมมากกว่า แต่ทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมและสมดุลน่าจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกับสังคมเราเอง

พูดให้ง่ายหน่อยคือ ผมว่าเราควรมีความหวังกับอนาคตนะ ผมเคยบอกคนอื่นบ่อยๆ ว่า โลกเราดีขึ้นทุกวัน และเด็กรุ่นใหม่นี่แหละคือความหวังในการสร้างโลกใหม่ ซึ่งที่จริงก็คือโลกในอนาคตของพวกเขาเองแหละครับ

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save