fbpx
‘ช่าง’ หัวประชาธิปไตย : อาชีวะไม่ใช่แค่การ์ดม็อบ

‘ช่าง’ หัวประชาธิปไตย : อาชีวะไม่ใช่แค่การ์ดม็อบ

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

“ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ทำให้เด็กอาชีวะเลิกตีกัน” ประโยคทีเล่นทีจริงนี้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย

ถามว่าเป็นเพราะนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างเฉียบขาดหรือ? ก็คงไม่ แต่ถ้าไปถามเด็กอาชีวะหลายคน พวกเขาจะตอบตรงกันว่า เพราะพวกเขามีหัวใจเดียวกัน คือหัวใจประชาธิปไตย

ภาพของการ์ดอาชีวะที่มาช่วยดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมแพร่หลายในสื่ออย่างรวดเร็ว หลายเสียงชื่นชมว่านี่คือการออกมาแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ แต่ก็ยังมีบางเสียงกังวลว่ากลุ่มนักเรียนอาชีวะจะเข้ามาทำให้ขบวนการประท้วงเสียหรือไม่

ภาพความรุนแรงที่ปรากฏในหน้าสื่อมายาวนานหลายสิบปี สร้างภาพจำว่าอาชีวะเท่ากับความรุนแรงและการทะเลาะวิวาท และยิ่งเมื่อกลุ่มอาชีวะขว้างปาสิ่งของใส่รถบรรทุกน้ำที่การชุมนุมวงเวียนใหญ่ วันที่ 17 ตุลาคม 2563 ก็ยิ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มากขึ้น จนกลุ่มฟันเฟืองธนบุรีต้องออกแถลงการณ์ขอโทษผ่านเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นก็มีความระมัดระวังในการดูแลความปลอดภัยไม่ให้เกิดความรุนแรงในการประท้วง และยิ่งต้องไม่ใช่ความรุนแรงที่เกิดจากเด็กอาชีวะ

มองลึกลงไปใต้แววตาแข็งกร้าวและท่าทีห้าวหาญ หัวจิตหัวใจของพวกเขาเป็นอย่างไร ความคิดทางการเมืองของพวกเขาเป็นแบบไหน ปัญหาอะไรที่พวกเขาเผชิญอยู่ และพวกเขาคิดอะไรตอนที่กำลังเดินลาดตระเวนในที่ชุมนุม 101 ชวนพวกเขานั่งขัดสมาธิพูดคุย โดยมีชาเขียวเป็นเครื่องดื่มย้อมใจตลอดบทสนทนา

 

 

ฟันเฟืองธนบุรี – ฟันเฟืองประชาธิปไตย

 

“เรามีกระบวนการที่รู้กันของเด็กช่าง ไปถึงม็อบปุ๊บ ดูท่าเดินก็รู้ว่าคือเด็กช่าง ต่อให้เป็นคนเรียบร้อยใส่แว่น เราก็รู้ เหมือนผีเห็นผี ก็มีการชักชวนกันเข้ามา” ยักษ์ ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี เล่าถึงการรวมกลุ่มของเด็กอาชีวะในม็อบให้ฟัง

ยักษ์ออกมาแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่สมัย นปช. ก่อนหน้านั้นมีกลุ่มฟันเฟืองประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จุดประสงค์เรียบง่ายคือเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มฟันเฟืองธนบุรีในปี 2556 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจัดการ เพราะการติดต่อสื่อสารยังไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้

“เราเป็นเพียงกลุ่มนัดพบกันระหว่างคนที่เรียกร้องสิ่งเดียวกัน สถานที่รวมกันคือที่ชุมนุม แรกๆ เหมือนไปนัดเจอเพื่อนที่เรียนช่างเหมือนกัน แต่มาตอนนี้พอเจอเด็กอาชีวะตามม็อบ ก็เข้าไปคุยกันจนเกิดการขยายกลุ่ม สมาชิกเดิมเป็นร้อยคนอยู่แล้ว ก็ขยายไปไกลมากขึ้น” ยักษ์ย้อนอดีตให้ฟัง

นอกจากกลุ่มฟันเฟืองธนบุรีแล้ว ยังมีกลุ่มทางนครปฐม สมุทรปราการ ปทุมธานี รามคำแหง ฯลฯ ที่ยักษ์ไล่ชื่อได้ไม่หมด เมื่อพวกเขามาเจอกันที่ม็อบ แม้จะรู้ว่าอยู่คนละกลุ่มแต่ก็พูดคุยประสานงานกันได้อย่างไม่มีปัญหา ตอนนี้มีเด็กอาชีวะที่ออกมาร่วมชุมนุมประมาณ 3,000 คนจากการประเมิน กว่าครึ่งหนึ่งคือคนที่อาสาทำงานช่วยม็อบ เช่น เป็นการ์ด ช่วยส่งอาหาร ดูแลการจราจร ฯลฯ

“เรารวมกันเป็นจุดเดียวเพื่อง่ายต่อการประสานงาน ถามว่าคนที่นั่งเล่น เดินเอ้อระเหยอยู่ได้ช่วยไหมถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เขาช่วยนะ แป๊บเดียวก็วิ่งเข้ามาช่วยแล้ว เขาอาจรอบางอย่างอยู่ ยังไม่ถึงเวลาของเขา เลยนั่งเล่น บทยังไม่มา” ยักษ์เล่าไปหัวเราะไปถึงบทบาทการช่วยเหลือม็อบของเด็กอาชีวะ แม้บุคลิกของเด็กอาชีวะหลายคนจะดูไม่สนใจอะไร แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาอยากช่วยงานเต็มกำลัง

“มีน้องผมคนหนึ่ง ถ้าไม่มีอะไรให้ทำจะหงุดหงิด ‘ผมอยากทำพี่ ผมอยากมีส่วนร่วม’ จนต้องบอกให้ไปยืนคุมตรงไหนสักที่ หรือให้ไปโบกรถ มีคนแบบนี้เยอะนะ เดินไปถามคน พี่ให้ผมช่วยยืนกั้นรั้วไหม พี่เดินแจกข้าวไหวเปล่า ผมแบกน้ำได้นะพี่ หลายคนก็บ่น ‘กลับแล้วนะ งอน ไม่มีอะไรให้ทำเลย’ คือเขาอยากมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วยเหมือนกัน

“เขาไม่ได้ต้องการเข้าไปอยู่ในกลุ่มหลักหรืออยู่ติดแกนนำ เขาต้องการแค่ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ คนที่สำคัญกับเขาในงานไม่ใช่คนที่ขึ้นพูดหรือคนที่มีชื่อเสียง แต่เป็นลุงแก่ๆ หรือน้องตัวเล็กๆ ในม็อบ”

ในส่วนของการ์ดม็อบมีการแบ่งทีมอย่างเป็นระบบ แต่ละทีมมีหัวหลัก แล้วค่อยแยกเป็นทีมย่อย แต่ละทีมย่อยก็มีสมาชิกทีมที่แบ่งกันเดินตรวจตรา ผลัดกันเดินดูแลความเรียบร้อย ความแตกต่างของแต่ละทีมสังเกตได้จากเครื่องแบบ

“ที่น้องทำได้อย่างนี้ เพราะเป็นสิ่งที่พวกผมทำกันตอนเรียน เพราะวันสถาปนาโรงเรียนเราต้องเฝ้าโรงเรียน ใครแปลกๆ ผ่านมาก็จะรู้สึกไว เป็นประสบการณ์สอนกันมา ในม็อบน้องผมก็จะเดินตรวจอย่างนี้ ถ้ามีคนท่าทางแปลกๆ ก็วอร์หรือโทรศัพท์คุยกัน”

ยักษ์บอกว่าทักษะการลาดตระเวน การแย่งปืน หรือการยืนล้อมแบบยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องที่สอนกันมาปกติจากรุ่นพี่ในโรงเรียนอาชีวะ เพราะต้องเตรียมรับมือกับเหตุทะเลาะวิวาทที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาแม้แต่ตอนยืนรอรถเมล์กลับบ้าน แต่ถึงแม้จะมีทักษะที่ติดตัวมา ก็ใช่ว่าจะทำงานลุล่วงไปโดยง่าย ความกดดันหน้างานมีให้จัดการมากจนนับไม่ไหว

“น้องผมเจอหลายอย่างที่กดดันในที่ชุมนุมนะ ตั้งแต่เรื่องกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือเรื่องโวยวาย น้องที่เป็นเฮดแต่ละทีมก็เครียด ทำไมเป็นอย่างนี้วะ ก็ร้อยพ่อพันแม่ เราห้ามเขาไม่ได้หรอก เราก็จัดที่ให้เขา จบเลย หลังๆ ก็ปวดหัวน้อยลง

“บางพื้นที่เรามีน้ำและอาหารไม่พอ น้องเล่าให้ฟังว่า เห็นบางคนยังไม่ได้กินน้ำเลย นักเรียน คนแก่ เขาก็หิวน้ำกัน น้องผมก็ต้องขับรถไปซื้อ ใครมาขอก็ให้ พอเห็นหลายอย่างน้องก็กดดันและเครียด แต่ว่าใจมันไปแล้ว ให้ทำไง หยุดไม่ได้”

ยักษ์บอกว่านอกจากความกดดันหน้างานในการจัดการเรื่องความสะดวกแล้ว สิ่งที่กดดันที่สุดอีกเรื่องคือความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

“พอมีกระแส่ต่อต้านม็อบ น้องกลัวว่าคนจะกลับบ้านไม่ปลอดภัย มันห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเองนะ บางทีมีคนท่าทางแปลกๆ ขับรถผ่านไปมา เราควบคุมไม่ได้เลย แม้แต่ตำรวจเองก็ควบคุมไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเหมือนกัน เราไม่อยากให้มีคนเจ็บ โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆ เด็กมัธยมต้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่น้องผมไปช่วยกันด้วยนะ แล้วอาชีวะที่ไปไม่ได้มีแค่ผู้ชาย แต่มีผู้หญิงด้วย ก็ช่วยกันดูแล”

 

 

การช่วยเหลือกันของกลุ่มเด็กอาชีวะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และประเด็นที่คนให้ความสนใจกันมากคือการรวมกลุ่มกันของคู่อริ แต่น่าแปลกที่เมื่อรวมกันในการชุมนุมแล้วพวกเขากลับทำงานด้วยกันอย่างสันติ ยักษ์บอกว่า ถ้าเป็นก่อนหน้านี้คงทะเลาะกันไปแล้ว แต่มาถึงตอนนี้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน เรื่องรบราจึงถูกพักไว้ก่อน “ถ้ามีกระทบกระทั่งกัน เราใช้วิธีคุย หรือถ้ามีการยั่วยุจากมือที่สาม เราก็ต้องห้ามกัน อย่าหลงไปตามการปลุกปั่น”

เป้าหมายเดียวกันที่ว่าคือการเรียกร้องประชาธิปไตย พวกเขาเห็นตรงกันว่าความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในประเทศนี้มีมากเกินไป จนพวกเขาไม่อาจอยู่เฉย

“น้องผมที่ออกมาชุมนุมเห็นว่าประเทศนี้อยุติธรรม ช่องว่างเงินเดือนระหว่างตำแหน่งปฏิบัติงานกับตำแหน่งผู้บริการห่างกันเกินไป ทั้งที่สัดส่วนงานก็พอๆ กัน เขาก็รู้สึกว่านี่ไม่เป็นธรรมแล้ว บางคนรู้สึกว่าทำงานหนักแทบตาย แต่ทำไมไม่มีความมั่นคงเลย ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้ ก็เลยเริ่มออกมากัน น้องที่ยังเรียนอยู่ก็พูดกันว่า ‘พี่ ผมจบมา ไม่มีอะไรการันตีอนาคตผมเลยนะ ผมก็ต้องออกมาสิ’ ทุกคนเห็นตรงกัน”

“เด็กอาชีวะกับมัธยมต่างกันที่วิถีชีวิต แต่ความคิดเหมือนกันเลย เด็กมัธยมที่ออกมาก็มองมุมเดียวกัน คือไม่มีอะไรการันตีชีวิตเขา เขารู้สึกไม่มั่นคง ก็เลยออกมา” ยักษ์เล่า

ก่อนหน้าที่จะเข้าเรียน ปวช. ยักษ์เคยเรียนมัธยมปลายมาก่อน เขารู้สึกชัดเจนว่าการเรียนอาชีวะไม่ได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งที่เขาก็เป็นเด็กที่มีความคิดความฝันคนหนึ่ง

“สมัยอยู่ ม.ปลาย คนให้คุณค่าอีกอย่างหนึ่ง เอาแค่เดินในตลาด คนก็จะมองว่าเด็กโรงเรียนนี้เป็นเด็กเรียน แต่พอเราเปลี่ยนไปใส่ช็อปเดิน คนก็เริ่มมองแบบอย่ามาใกล้ร้านฉัน บางคนมีสะกิดบอกว่า น้องๆ ข้างหน้ามีพวกอีกโรงเรียนอยู่ ให้ระวัง ผมก็สงสัยว่าทำไมตอนเรียน ม.ปลาย ไม่เห็นมีคนพูดแบบนี้

“สังคมให้คุณค่าว่าพวกผมเป็นเด็กไปตีกันน่ะ ไม่ใช่เด็กที่ไปเรียนเพื่อไปทำงาน มองว่าไม่มีอนาคตหรอก พอสังคมมองแบบนี้ แทนที่เด็กเหล่านี้จะได้ทุกอย่างที่เป็นธรรมกับเขา แทนที่เขาจะได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติ ไม่ใช่เดินไปเจอชักปืนยิงใส่เลย นี่เป็นเรื่องไม่ปกตินะ แต่พอสังคมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ก็กระทบความมั่นคงในชีวิตเขาตั้งแต่สมัยเรียนยันทำงานเลย”

ยักษ์บอกว่าพอค่านิยมสังคมเป็นแบบนี้ ก็กระทบไปถึงการออกแบบหลักสูตรและงบประมาณที่ลงมาในโรงเรียนอาชีวะ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กอาชีวะด้วย

“อาจจะมีคนที่ปากบอกว่า ไม่ใช่นะ เด็กอาชีวะเป็นอนาคต ถ้าเป็นอนาคตจริง เขาต้องปฏิบัติกับเด็กอาชีวะเหมือนที่ปฏิบัติกับเด็ก ม.ปลาย ซึ่งนี่ไม่ใช่ ในระดับโลกมีงานแข่งขันฝีมือวิชาชีพเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยได้ส่งไป พอเป็นโอลิมปิกวิชาการลงข่าวหน้าหนึ่ง แต่ของเด็กอาชีวะลงหน้าสาม มันชัดเจนมาก”

ยักษ์อธิบายว่า ภาพความรุนแรงที่ฝังอยู่กับเด็กอาชีวะถูกสื่อขับเน้นจนเกินจริง – จริงอยู่ที่มีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหมู่นักเรียนอาชีวะ แต่ใช่ว่าที่อื่นจะไม่เกิดความรุนแรง เขามองภาพในอนาคตว่าควรจะเปลี่ยนสังคมให้มีความรุนแรงน้อยลง และแน่นอนที่กลุ่มอาชีวะเองก็มีเป้าหมายแบบนั้นด้วย พวกเขาวางแผนเริ่มต้นจากการร่วมมือในการประท้วงครั้งนี้

“น้องอาชีวะเขาคุยกันไว้แล้วครับว่าเรื่องที่ต้องทำหลังจากการประท้วงคือการลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของอาชีวะ เพราะถ้าลบภาพลักษณ์ได้ คนในสังคมน่าจะให้ค่าเรามากกว่านี้ ก็อาจจะเริ่มจากเตะบอลด้วยกันก่อน แล้วค่อยขยับไปทำเรื่องใหญ่กว่านั้น”

ในตอนท้ายของการพูดคุย เราถามถึงความหวังที่จะชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ ยักษ์ตอบชัดเจนว่า “เรามีหวัง แต่ต้องใช้พลังงานอย่างสูง เราต้องขยายเสียงต่อไป ไม่ใช่ว่ามาวันสองวันแล้วกลับบ้าน แต่เราต้องออกมาเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่งานระยะสั้น ไม่ใช่งานที่จะทำแล้วสำเร็จโดยง่าย”

“แนวหน้าก็ต้องมี แต่แนวหลังก็สำคัญ”

 

อาชีวะ ไม่เท่ากับ ความรุนแรง

 

“หนูไปแฟลชม็อบครั้งแรกตอนพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ แล้วก็ร่วมม็อบมาเรื่อยๆ มีที่ไหนไปหมดเลย มันมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข อยากให้เขาฟังเสียงของเรา หนูเลือกลงถนน เพราะเสียงของหนูมีค่า” ข้าว – ณัฐชา พัฒนะ นักเรียนวิจิตรศิลป์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการออกมาแสดงออกทางการเมือง

ข้าวในวัยย่าง 18 ปี สนใจการเมืองอย่างจริงจังเข้มข้น ในวันที่ม็อบนักเรียนเลวจัดขึ้นครั้งแรก ข้าวสวมชุดอาชีวะเข้าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักเรียนมัธยม แต่พอได้ฟังการปราศรัยเรื่องระบบการศึกษา ข้าวก็ตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่มีการพูดถึงปัญหาของเด็กอาชีวะ ทำให้ข้าวตัดสินใจก่อตั้งกลุ่ม ‘อาชีวะปะทะเผด็จการ’ ขึ้นมา เป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำงานร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว โดยชักชวนเพื่อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย

“จุดประสงค์ของกลุ่มคือ หนึ่ง ลบภาพจำอาชีวะเท่ากับความรุนแรง อาชีวะไม่จำเป็นต้องเป็นแค่การ์ดอย่างเดียว แต่สามารถเป็นผู้ปราศรัย หรือเป็นผู้ที่มีศักยภาพเชิงวิชาการได้ และสอง เราอยากลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสายสามัญและสายอาชีพ” ข้าวบอก

ในช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเมื่ออาชีวะมาร่วมกับม็อบ อาจทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทและนำพาม็อบไปสู่ความรุนแรงได้ ข้าวมองประเด็นนี้ว่าขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและสถาบันที่ปลูกฝังด้วย

“ไม่จำเป็นเลยที่อาชีวะจะต้องเท่ากับความรุนแรง เพราะวิทยาลัยหนูก็ไม่มีระบบโซตัส ไม่มีการรับน้องที่มีความรุนแรง วิทยาลัยหนูก็เป็นอาชีวะ แต่ห่างไกลจากคำว่ารุนแรงมาก ไม่มีเรื่องชกต่อยหรือพกพาอาวุธเลย”

ข้าวคือนักเรียนศิลปะที่สนใจเรื่องการเมืองสังคม เธอเล่าว่าในวิทยาลัยอาชีวะยังมีบางส่วนที่ไม่ตื่นตัวทางการเมือง แต่ก็เริ่มมีการตื่นรู้ เปิดใจรับฟังปัญหา แต่ยังเป็นส่วนน้อยอยู่ที่กล้าออกมาลงถนน ส่วนมากยังเป็นกระบอกเสียงในโซเชียลมีเดียมากกว่า ข้าวบอกว่า แม้ช่วงหลังคนจะออกมาชื่นชมเรื่องที่นักเรียนอาชีวะออกมาต่อสู้ทางการเมือง แต่ข้าวเองก็ยังมีเรื่องติดค้างในใจ

“เป็นเรื่องดีนะคะที่คนออกมาชื่นชม แต่ก็ยังมีภาพจำที่ว่าอาชีวะต้องเป็นการ์ดอยู่ดี”

จบประโยคของข้าว ก็มีเสียงแสดงความเห็นด้วยจาก อิ่ม – แทนเทพ ทัพแสง นักเรียนช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระรามหก ดังขึ้นมาเสริม

“ใช่ครับ อาชีวะไม่จำเป็นต้องเป็นการ์ด และไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะผู้ชายด้วย” อิ่มว่า แล้วพูดต่อ

“ทุกวันนี้สังคมก็ยังมองว่าอาชีวะเท่ากับเด็กที่เรียนช่างกล ช่างก่อสร้าง ชอบใช้ความรุนแรงมาเป็นการ์ด มากกว่าที่เขาจะมองว่าอาชีวะก็คือเด็กพาณิชย์ เด็กศิลปะ หรือเด็กทุกคนที่เรียนสายอาชีพ ไม่ว่าจะผู้หญิง ผู้ชาย LGBTQ ทุกคนก็คือเด็กอาชีวะ

“อาชีวะก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ อาชีวะเป็นใครก็ได้ที่เรียนสายอาชีพ ที่กล้าออกมาแสดงออก รวมถึงคนที่ไม่ได้ออกมาเป็นการ์ดแต่เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุม ทุกคนก็มีคุณค่าในตัวเองครับ” อิ่มพูด

 

 

ข้าวกับอิ่มเคยเป็นการ์ดในการชุมนุมช่วงต้นๆ รวมถึงวันที่มีการฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ด้วย และตัดสินใจทำการ์ดครั้งสุดท้ายในวันที่มีการเดินไปทำเนียบรัฐบาล

“ตอนแรก หนูก็ยังโอเคกับการทำการ์ด เพราะช่วงแรกๆ การ์ดผู้หญิงมีน้อย แล้วหนูก็เป็นเฟมินิสต์ด้วย เลยอยากทำให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถทำการ์ดได้นะ แต่หนูลืมประเด็นเรื่องอาชีวะไม่เท่ากับการ์ดออกไป พอมีการ์ดอาชีวะออกมาเรื่อยๆ ก็ทำให้คิดว่ามันผิดจุดประสงค์ของเรา เลยตัดสินใจเลิกทำ แต่เราก็ยังทำบทบาทอื่นๆ ได้” ข้าวเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัดสินใจเลิกเป็นการ์ดเพื่อยืนยันแนวคิดของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น ข้าวและอิ่มก็ไม่ได้มองว่าอาชีวะที่มาเป็นการ์ดจะทำผิดอะไร เพียงแต่ทุกคนมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และไม่อยากให้สังคมคิดว่าอาชีวะจะเป็นการ์ดได้เท่านั้น

อิ่มกับข้าวอยู่ร่วมในกลุ่มต่อสู้ทางการเมืองเดียวกัน และมองปัญหาของอาชีวะและปัญหาของประเทศคล้ายกัน อิ่มบอกว่าภาพฝันที่เขาอยากเห็นคือการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับโรงเรียนอาชีวะมากกว่านี้

“ผมอยากเห็นสังคมที่อาชีวะไม่ทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องของความต่างของเสื้อช็อป หรือความต่างของสถาบัน อยากเห็นสังคมที่โรงเรียนอาชีวะไม่มีระบบโซตัส อยากเห็นสังคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับโรงเรียนอาชีวะ สนับสนุนครุภัณฑ์ให้โรงเรียนอาชีวะสามารถผลิตบุคลากรที่ดีต่อประเทศชาติให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้”

ส่วนข้าวมองการต่อสู้ครั้งนี้ว่า ไม่แน่ใจว่าจะชนะหรือไม่ แต่ก็หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

“หนูรู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมากจะน้อย ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่นอน แล้วหนูอยากเห็นสังคมที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตยจริงๆ มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจริงๆ แล้วก็อยากให้รัฐบาลให้ค่ากับเด็กอาชีวะมากกว่ามองว่าเราเป็นเด็กที่ต่อ ม.ปลายไม่ได้ ถึงมาเรียนสายอาชีพ

“ส่วนตัวหนูเรียนศิลปะ อยากให้รัฐบาลให้ค่ากับงานศิลปะมากกว่านี้ รวมถึงระบบโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะขนส่งสาธารณะ ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา อยากให้ดีขึ้นจริงๆ”

ทั้งข้าวและอิ่มมีความฝันความหวังของตัวเอง อิ่มอยากเรียนต่อด้านวิศวกรรมยานยนต์ ส่วนข้าวอยากเรียนศิลปะต่อ พร้อมๆ กับการเรียนเรื่องกฎหมายและปรัชญาด้วย แต่ข้าวบอกว่ายังติดปัญหาที่ว่าระบบการศึกษาบังคับให้ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ทั้งที่ควรจะเลือกได้มากกว่านี้

เพราะเหตุนี้ข้าวและอิ่มจึงทำงานร่วมกับกลุ่มนักเรียนเลว และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ทั้งวางแผนว่าจะมีการจัดชุมนุมร่วมกับทั้งสองกลุ่ม เช่นเดียวกับที่พร้อมสนับสนุนการชุมนุมใหญ่ที่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองในประเด็นใหญ่ด้วย

“ถ้าประเทศดีที่โครงสร้างจริงๆ เราจะได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่มีความพร้อมทำงาน มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาระบบการศึกษาจริงๆ ก็ต้องเริ่มที่โครงสร้าง ถ้าเรารื้อโครงสร้างได้ เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีตามมาด้วย” ข้าวพูด

ในอนาคตของการชุมนุมประท้วง พวกเขาคิดว่ารูปแบบม็อบน่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น และกลุ่มอาชีวะจะมีส่วนร่วมในหลายรูปแบบขึ้นด้วย

“ตอนนี้มีม็อบนักเรียนแล้ว มีม็อบกลุ่มสหภาพแรงงานแล้ว ในภายภาคหน้าผมอยากเห็นม็อบที่อาชีวะมารวมตัวกันจากหลายสถาบัน แล้วก็ดำเนินการในเรื่องข้อเรียกร้องสองข้อ คือลดภาพจำว่าอาชีวะเท่ากับความรุนแรง และลดความเหลื่อมล้ำของสายสามัญกับสายอาชีพ” อิ่มพูด

ก่อนจบบทสนทนา อิ่มทิ้งท้ายว่า “อาชีวะควรจะได้ส่งเสียงของตัวเองมากกว่าแค่การเป็นการ์ด”

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save