fbpx
จดหมายถึง สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

จดหมายถึง สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ผมอ่านที่พี่เขียนเรื่อง–ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง!

อ่านซ้ำๆ หลายรอบ เพื่อทำความเข้าใจ ‘สาร’ และความคิดของพี่ให้ชัดแจ้ง

ที่เห็นด้วยก็มีแหละครับ แต่หลักๆ พบว่าเราคิดเห็นแตกต่างกันไกล ซึ่งแท้จริงก็ธรรมดา เราเกิดมาคนละชีวิต คิดเหมือนกันบ้าง คิดต่างกันบ้าง มันเป็นสัจจะแสนสามัญ เพียงแต่ว่า ต่อประเด็นดังกล่าวผมเห็นว่าน่าสนใจ และมีนัยสำคัญมากพอที่เราควรได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน

พี่จั่วหัวว่า ‘ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง’ และวางบรรทัดสุดท้ายว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องมายา ครอบครัวสิของจริง’ อ่านแล้วชวนสับสนอยู่พอสมควร ตกลงเอายังไงแน่ เพิ่งพูดว่าการเมืองทำให้ครอบครัวสะบั้น อีกแป๊บเดียวบอก–การเมืองเป็นเรื่องมายา

สรุปว่า ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมืองจริงไหม

สรุปว่า การเมืองเป็นเรื่องมายาหรือเปล่า

ถ้าเป็น ‘มายา’ อย่างที่พี่ว่า มันจะมีน้ำยาไปทำให้ครอบครัวสะบั้นสั่นคลอนได้ยังไง

ตรงกันข้าม ถ้ามันมีน้ำยา มีพลังอำนาจ สามารถเคลื่อนเขย่า กัดกร่อน บ่อนทำลาย ความรักความผูกพันในครอบครัวได้ แปลว่าการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องมายาแล้วมั้งพี่

นี่เป็นประเด็นที่ผมอยากแลกเปลี่ยน คัดค้าน โต้แย้ง

พี่เป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

พี่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา

พี่เป็นคอลัมนิสต์ ‘พ่อแม่ลูกปลูกรัก’ อยู่ใน Manageronline

สักครั้งสักหน พี่น่าจะเคยผ่านตาเรื่องอากง ครับ–อากง เอสเอ็มเอส หรือ อำพล ตั้งนพกุล จำเลยคดี 112 ที่สุดท้ายป่วยตายในคุก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2012 โดยเขายังยืนยันความบริสุทธิ์และความจงรักภักดีของตนจนวาระสุดท้าย

จากเรือนจำ ศพถูกนำมาตั้งไว้หน้าศาลอาญา และแห่ไปหน้าอาคารรัฐสภาในเช้าวันรุ่งขึ้น ให้ความตายส่งเสียงบอกผู้มีอำนาจว่ายอมรับความจริงเสียที และหาเวลาหันมามองปัญหาเรื่องนี้บ้าง

ผลคือว่างเปล่า

เขาอาจยังมีชีวิต ถ้าได้ประกันตัวออกมารักษาพยาบาล แต่ขอประกันตัวไป 8 ครั้ง ก็สูญเปล่า

กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ใช้อยู่ตอนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระบอบรัฐสภาแบบปกติ แต่บัญญัติขึ้นหลังรัฐประหารเลือด 6 ตุลาคม 1976 ซึ่งนอกจากล้อมปราบประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว คณะรัฐประหารยังได้ออกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 1976 เพิ่มโทษสูงสุดจาก 7 ปี เป็น 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่มีโทษขั้นต่ำ 3 ปี

ตัวบทเต็มๆ ว่าไว้แบบนี้ครับ

มาตรา 112 — ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในนักวิชาการที่เห็นว่าทั้งที่มาของกฎหมายและบทลงโทษไม่ชอบธรรม จึงเสนอให้แก้ไข ถูกแฝดพี่น้อง สุพจน์-สุพัฒน์ ศิลารัตน์ บุกทำร้ายเขากลางวันแสกๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พี่ว่า นี่เป็นการเมืองหรือเรื่องส่วนบุคคล

แล้วบาดแผลบนร่างกายของใครคนหนึ่งเป็นมายาหรือเปล่า

แล้วความตายล่ะ

พี่ก็เป็นเมีย เป็นแม่ เหมือน รสมาลิน ตั้งนพกุล ซึ่งเป็นเมีย เป็นแม่ พี่เคยได้ยินเรื่องเล่าของเขาและเธอบ้างไหม

การงานจิปาถะ พี่อาจจะยุ่ง ไม่เป็นไร ผมจะเล่าให้ฟัง

“ตำรวจเข้ามา ป้าก็ตกใจ เพราะว่าเราอยู่สงบๆ ไม่คิดว่าจะมีเรื่อง”

“คดีอะไร ตอนนั้นยังไม่รู้เลย เพิ่งมาเข้าใจทีหลัง”

“ก็แกส่งเอสเอ็มเอสไม่เป็น คนแก่ป่วยๆ คนหนึ่งที่วันๆ เล่นกับหลาน จะเอาเบอร์เลขานุการส่วนตัวคุณอภิสิทธิ์มาจากไหน”

“ไม่ใช่ตัวป้าที่เข้าไปหาการเมือง แต่การเมืองเข้าหาตัวป้าแล้ว”

ที่เรือนจำ ญาติผู้ต้องขังมีเวลาเยี่ยม 20 นาที มีอะไรต้องรีบพูด

“เมื่อก่อนแกพูดเก่ง มีโปรเจ็กต์เยอะ วางแผนว่าถ้าออกไปได้จะไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ แต่หลังจากศาลสั่งจำคุก 20 ปี จิตใจแกทรุด หงอยไปเลย ป้าบอกว่าเดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้วนะ หลานรออยู่ แกทำหน้าเจื่อนๆ บอกไม่ต้องพูดแล้ว”

19 กุมภาพันธ์ 2012 รสมาลินเดินทางไปหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ตั้งแต่แปดโมงเช้า เพื่อร่วมอดอาหารเป็นเวลาหนึ่งวัน เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้สามี และนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

เช้าวันรุ่งขึ้น รสมาลินและทีมทนาย พร้อมด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย 7 คน อาทิ บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์, พวงทอง ภวัครพันธุ์, ยุกติ มุกดาวิจิตร ใช้ตำแหน่งทางวิชาการ รวมหลักทรัพย์กว่า 2 ล้านบาท ยื่นขอประกันตัว อำพล ตั้งนพกุล

ศาลไม่อนุญาต เพราะเป็นคดีร้ายแรง และไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

เมื่อไร ไม่รู้ เมื่อไรก็เมื่อนั้น แต่รสมาลินหวังว่าสักวันสามีของเธอจะได้กลับบ้าน

“ขอแค่เพียงกลับมาตัวเป็นๆ ก็พอ”

ฟังเธอพูด–ขอแค่เพียงกลับมาตัวเป็นๆ ก็พอ

ก็นั่นแหละครับ ความหวังระดับเจียมเนื้อเจียมตัว ความหวังกระจอกงอกง่อย สิ้นหวัง สามเดือนให้หลังจากวันที่รสมาลินอดอาหารและยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 6 สามีของเธอก็จากไป

ทิ้งผู้หญิงชราคนหนึ่งให้จมอยู่กับอดีตน้ำตา และคำถามว่าทำไม ทำไม

ผมเล่าให้พี่ฟังคร่าวๆ เลือกเอาเฉพาะประเด็นที่ควรพูด อยากรู้จัก รสมาลิน ตั้งนพกุล ละเอียดกว่านี้ พี่ไปหาซื้อหนังสือ ‘รักเอย’ และ ‘รักสามัญ’ มาอ่าน ครับ–แม้เป็นมือใหม่และไม่เคยฝันใฝ่จะเป็นนักเขียน แต่ที่สุดแล้ว ตัวหนังสือและเรื่องเล่าอาจเป็นทางเดียวที่พอบรรเทาความทุกข์ของเธอได้บ้าง

พี่เขียนว่า…

“ผู้คนในยุคนี้มีสิ่­งที่ขาดหายไป คือ Empathy ­ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา­ เป็นการนึกถึงความรู้­สึกและพยายามทำความเข้­าใจผู้อื่น คือการที่เราสามารถเข้าใจและเอาค­วามคิด ความรู้สึก อารมณ์และมุมมองของอีกฝ่ายมาอยู่ในมุมมองของเร­าเองได้”­

พี่เขียนอีกว่า…

“พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มด้วยการนำทักษะ Empathy ­การเห็นอกเห็นใจผู้อื่­น ด้วยการยอมรับฟังลูกด้วยท่าทีที่­จริงใจ ต้องเปิดใจกว้า­ง วางอคติ และพยายามทำ­ความเข้าใจ อาจตั้งคำถามเพื่อให้ลูกอธิบายถึ­งเหตุผลและความคิดเห็น­ของเขา เพื่อเป็นตัวอย่าง และให้คำแนะนำลูกด้­วยว่าควรเป็นนักฟังที่­ดีด้วย การฟังอย่างรอบ­ด้านมีความสำคัญมาก ไม่ใช่เลือกที่จะฟัง หรื­อฟังเฉพาะคนที่เราชอบ ­ควรบอกลูกว่าการฟังเป็­นพื้นฐานของทุกเรื่อง โดยเฉพาะท่ามกลางความขัดแย้ง การรับฟังอย่าง­รอบด้านมีความสำคัญมาก”

พี่เน้นประเด็น…

“พยายามให้ลูกใช้ทั­กษะรอบด้าน

ทั้งเรื่องก­ารฟัง ดู อ่านอย่างรอบ­ด้านแล้วก็จะนำมาสู่ขั้นคิดวิเคราะห์ได้ เพราะเรื่องบางเรื่องต้องใช้ข้อมู­ล ข้อเท็จจริง มิใช่คว­ามรู้สึก หรือความคิดเ­ห็น”

ผมชูป้ายไฟให้เลย เห็นด้วยในทุกประการ

ยิ่งอ่านก็ยิ่งซาบซึ้ง อยากกดติดตาม ขอเป็นเอฟซี

“พ่อแม่ได้แสดงความรักที่เหมาะสม แสดงให้ลูกไ­ด้รับรู้ว่าพวกเขาสำคั­ญ และสนับสนุนให้เขาได้แสดงความสามารถ ได้เรียนรู้โลก ได้ฝึกการใช้ชีวิต และปลูกฝังให้เขารู้จักให้เกียรติคนอื่นหรือเปล่า

“เพราะเมื่อพวกเขาได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเหมาะสม­ เขาจะรักตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และเมื่­อเขารักตัวเองเป็น สิ่งที่ตามมาจะ­ทำให้ลูกรู้จัก ‘การให้’ และส่งต่อความรักให้คน­อื่นเป็น เขาจะคิดถึงค­นรอบข้าง ซึ่งเป็นจุดเ­ริ่มต้นที่ดีของการทำใ­ห้เด็กมี Empathy เพราะการคิดถึงคนอื่นจ­ะทำให้เกิดการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา­’

“ที่สำคัญ­ การสอนเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเราที่ดีที่­สุด คือการทำตัวเป็นแบ­บอย่างที่ดี เมื่อลูกเห็นพ่อแม่แสดง Empathy ­เด็กๆ จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นของพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะทำตาม”

เห็นด้วย และมีคำถามแทรก

คำฮิตของยุคสมัย Empathy คำหนึ่งนี้ พี่ให้ความหมายและมีขอบเขตแค่ไหน อยู่เพียงในรั้วบ้าน อ้อมแขนของเพื่อน แฟนคลับ หรือเลยไปถึงผู้เห็นแตกต่างในทางการเมือง รวมกระทั่ง ‘เหยื่ออธรรม’ อย่างกรณีอากง

ผมไม่รู้หรอกว่าพี่คิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยว่าเขาเป็นเหยื่ออธรรม หรือว่า ก็สมควรแล้ว

เมื่อพี่เขียนเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา พี่แสดงความเห็น พี่อบรมสั่งสอนลูกเรื่องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเน้นย้ำเรื่องการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ผมก็ต้องถามสิ ว่าชะตากรรมอากงสมควรได้รับ Empathy ไหม แล้วครอบครัวของต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ล่ะ

เรื่องมันเยอะนะครับ มันใช้พื้นที่ ใช้เวลา ถ้าจะไล่เรียงสืบค้นนำมาแจกแจงทั้งหมด ณ ขณะนี้ เอาง่ายๆ ชัดๆ อีกสักเคสก็แล้วกัน

กรณี วัฒน์ วรรลยางกูร

ทั้งผมและพี่เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เรื่องมันก็ยี่สิบกว่าปีมาแล้วละ เวลาผ่านไปมิใช่น้อย แต่ก็ไม่นานเกินกว่าจะจำ ว่าบรรณาธิการตอนนั้นคือ คำนูณ สิทธิสมาน และคอลัมนิสต์คนหนึ่ง ในช่วง พ.ศ.หนึ่ง ก็คือ วัฒน์ วรรลยางกูร

นวนิยาย ‘ฉากและชีวิต’ น่ะครับพี่ ยังพอจำได้ไหม

สรุปเร็วๆ ว่าต่อให้ไม่สนิทคุ้นเคย ก็ย่อมต้องรู้จักชื่อ ในฐานะคนร่วมชายคา อยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์เดียวกัน

ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเชื่อถือ ศรัทธา เราต่างมีพระเจ้าคนละองค์ หรือใครจะไม่เชื่อ ไม่มี ไม่เอา ไม่มีปัญหาละครับ

ประเด็นก็คือรัฐประหาร พฤษภาคม 2014 ชื่อ วัฒน์ วรรลยางกูร ถูกฉายขึ้นจอทีวี

คสช. เรียกไปรายงานตัว

เขาปฏิเสธ ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนของพวกเผด็จการ

เมื่อมันอยู่ไม่ได้ เขาเลือกทางหนี จากอุษาคเนย์ หนึ่งปี สองปี สามปี… นาทีนี้สู่แผ่นดินยุโรป

คำนูณ สิทธิสมาน สามีของพี่ ติดบัญชีรายชื่อ (ที่จริงก็ติดมาตลอด ตั้งแต่รัฐประหาร 2006) ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา

และก็แน่นอน–ตามฟอร์ม เขาโหวตให้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นักเขียนถูกเพิกถอนสิทธิ์หนังสือเดินทาง ถูกอายัดบัญชีเงินฝาก อยู่บ้านต่อไปไม่ได้ ต้องตัดใจ ยอมกลืนเลือด ทิ้งลูกชายลูกสาวไว้ข้างหลัง ขณะบรรณาธิการได้ยศตำแหน่ง กินเงินเดือนเรือนแสน เหนืออื่นใดคือ มีส่วนโดยตรงในการรับรองความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร

ทหารมีน้ำยาเหรอครับ ถ้าไม่มีคนหนุนหลัง ให้ท้าย

ทหารทำได้เหรอครับ ถ้าเนติบริกรไม่โอบอุ้ม วิญญูชนปฏิเสธ แข็งขืน และประณามการใช้ปืนปกครองประเทศ

ไม่ตลกไปหน่อยเหรอพี่ คนหนึ่งได้ดีเพราะประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกคน–ก็เพราะประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาจึงจำต้องพลัดพรากถิ่นฐานมาตุภูมิ

พี่เป็นคนเขียนหนังสือ สามีพี่ก็เป็นคนเขียนหนังสือ (‘คนจุดโคม’ ไงครับ ผมอ่านมาตั้งแต่สมัยยังเป็นคอลัมน์ใน ‘ผู้จัดการ’ งานแต่งของพี่ ผมก็ไป และได้รับหนังสือที่ระลึก ‘เจ้าชายน้อย’ ของ อ็องตวน เดอ แซงแต็กซูเปรี ที่พิมพ์พิเศษขึ้นมาเพื่อวาระมงคลนี้) ชั่วๆ ดีๆ ในนามนักข่าวนักเขียน คนทำงานวงการสื่อสารมวลชนด้วยกัน พี่จะไม่เห็นด้วยกับผมจริงๆ เหรอครับว่า free speech เป็นเสาเอกของวิชาชีพ

เอาให้เคลียร์นะครับ ระหว่างข้อกล่าวหาว่าคนทำผิดกฎหมาย หรือกฎหมายต่างหากที่ผิด

ผิดก็แก้ไขสิ ผิดก็เขียนใหม่ ไม่ใช่ไล่ล่าจับขังผู้คนบริสุทธิ์ เรื่องตื้นๆ แค่นี้ เฮ้ย พี่เป็นดอกเตอร์นะเว้ย พี่ต้องรู้ ผมมั่นใจว่าพี่ต้องรู้ และมองไม่ต่างกัน

วัฒน์ วรรลยางกูร อยู่บ้านไม่ได้เพราะเขียนหนังสือ เพราะคิด เพราะพูด

ด้วยความเคารพนะครับ Empathy ได้ยินถ้อยคำนี้จากปากพี่แล้วผมเจ็บ

อีกบางตอน พี่เขียน–กรณีถ้าลูกชายลูกสาวของบ้านไหนจะไปร่วมม็อบที่กำลังคุกรุ่นร้อนฉ่าอยู่ตอนนี้…

“ชี้ให้ลูกเห็นว่า สิ่งที่ลูกทำในวันนี้มันอาจ­จะส่งผลกระทบในอนาคต

อ­าจยกตัวอย่างข่าวสารใน­อดีตที่เคยเกิดขึ้น ว่าบางคนก็โดนอดีตตามไปหลอกหลอนปัจจุบัน จนทำให้­เสียโอกาสอะไรบ้างในชี­วิต”

ถูกต้องเลยครับพี่

ผ่านมาสี่สิบกว่าปี การล้อมปราบเมื่อรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 1976 ยังตามหลอกหลอน วัฒน์ วรรลยางกูร และเพื่อน มาจนวันนี้ (ว่างๆ เราหาเวลามาคุยกันไหม ว่าใครเป็นคนสั่ง คนฆ่า ส่วนนิทรรศการ 6 ตุลาฯ เวอร์ชั่น on site เมื่อเดือนก่อน พี่ได้ไปดูหรือเปล่า ทำดีนะครับ ถ้าพลาด ก็หาโอกาสดูในเน็ตได้)

ถูกต้องเลยครับพี่ รัฐประหาร พฤษภาคม 2014 หลอกหลอนและไล่ล่า วัฒน์ วรรลยางกูร และเพื่อน อยู่จนถึงนาทีนี้

เสียโอกาสอะไรบ้างในชีวิตน่ะเหรอ–บางทีผมก็เบื่อว่ะพี่ที่จะพูด จะตอบ

ขออนุญาตถามกลับดีกว่า พี่ว่าฝ่ายลิ่วล้อลูกหาบรัฐประหารเขาได้อะไร

ในตอนท้าย พี่เขียนว่า…

“ท่ามกลางสถานการณ์ร้อน ­ยิ่งต้องแสดงออกซึ่งคว­ามเอาใจใส่ความรู้สึกข­องกันและกัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าสถานการณ์ทาง­การเมืองจะเดินไปสุดที่จุดไหน แต่ก็อย่าให้ครอบครัวต้องมามีรอยร้า­วทำร้ายความรู้สึกกันเ­ลย

“การเมืองเป็นเรื่องมาย­า ครอบครัวสิของจริง !­”

ยืนยันตามเหตุผลและเรื่องเล่าที่เขียนมาทั้งหมด ข้อนี้ ผมเห็นแย้ง

ครอบครัวสิของจริง ถูกต้องครับ ส่วนการเมืองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องจริง แต่ยังเจ็บจริง ตายจริงอีกด้วย

ในมุมของผม เราควรจะลบๆ ลืมๆ หรือขว้างทิ้งลงถังขยะไปได้แล้วนะครับ กับวาทกรรมหรือถ้อยคำเก๋ๆ ทำนอง–เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง

บ้า มายงมายาที่ไหนกัน

มัวโรมานซ์ และท่องจำคำลวงโลกพวกนี้ไว้นานวัน มันทำให้ตรรกะเราอ่อนแอ

มายาวาทกรรมในสังคมไทยมีมากมายเหลือเกินครับ ผมนับเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง ที่ต้องช่วยกันทำลายล้างบางให้สิ้นซาก เพื่อกุลบุตรกุลธิดาของเราจะได้ก้าวเดินบนอารยะวิถี เพื่อกุลบุตรกุลธิดาและคนหนุ่มสาวของยุคสมัยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินอ้อม

ผมไม่ลืมหรอกนะครับ ทุกอย่างยังจดจำ สว่างไสว และขอบคุณเสมอ ที่พี่รับผมเข้าทำงานประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร GM BUSINESS ไม่มีพี่ ไม่มีมือที่หยิบยื่นโอกาสให้ในวันนั้น ก็เดาไม่ได้เลยว่าชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตกงาน จะมีชะตากรรมอย่างไร

สามารถกระเสือกกระสนดิ้นรนเดินทางมาถึงการมีชีวิตอยู่ในวันนี้หรือเปล่า

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

ผมตระหนักดี และบางส่วนที่เขียนวันนี้ มันไม่ใช่การแตะไปที่ตัวพี่เพียวๆ หากครึ่งควบคาบเกี่ยวกับบทบาทสามีภรรยา กับสมาชิกวุฒิสภานาม คำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งก็เป็นอดีตหัวหน้าของผมเช่นกัน

คนนอนอยู่เตียงเดียวกัน บางเรื่องบางมุม จะบอกว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่เกี่ยว ก็คงยาก

ยิ่งในฐานะของนักสื่อสารมวลชนที่เป็น public figure

ผมยินดีมากที่พี่ปลุกเร้าและเทคแคร์เรื่อง Empathy นั่นทำให้ผมเศร้า เมื่อพี่โพสต์ภาพครอบครัวสุขสันต์ ไม่ได้อิจฉานะพี่ ตรงกันข้าม ผมยินดีด้วยมากๆ เลย สายใยสัมพันธ์ในครอบครัวพี่น่ารักจริงๆ งอกงามเติบโตจริงๆ แต่นั่นทำให้ผมยิ่งคิดถึงครอบครัวของคนอื่นๆ ที่เขาและเธอก็ควรได้อยู่ด้วยกัน สัมผัสกอดรัดบอกรักกันได้ทุกๆ วัน ครอบครัวอื่นๆ ที่เขาและเธอควรมีเงิน มีเวลา มีโอกาสแสวงหาความรู้ ความรื่นรมย์ได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

ความรักของพี่เท่านั้นหรือที่สมควรได้รับการโอบกอด

รั้วบ้านพี่เท่านั้นหรือที่มีสิทธิเสรีภาพ..

พี่มีลูก ผมก็มีลูก พี่จำได้เนาะ ตอนนี้เด็กผู้หญิงคนนั้นอายุยี่สิบห้าแล้วครับ

Empathy สำคัญ และจำเป็นต่อสังคมของเราอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่ ก็อย่างที่ผมว่ามาทั้งหมด เมื่อพี่เลือกที่จะพูดมันออกมา ผมก็ปรารถนาจะเห็น ‘ความหมายที่แท้’ และ ‘ขอบเขตอันกว้างไกลเกินกว่าครอบครัวเพื่อนฝูงของตัวเอง’

ไม่งั้นมันก็โมฆะ ไม่งั้นมันก็มีพื้นที่ละเว้น และเป็นคน ‘ดีแต่พูด’ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าพี่เป็นคนแบบนั้น

เท่าที่เห็นมานาน เท่าที่ทำงานด้วยกัน เท่าที่เคยร่วมเดินทางขึ้นภูเขาภาคเหนือในฤดูหนาวปี 1997

ผมไม่เชื่อ

ด้วยความเคารพรัก

วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ปล. สถานะตำแหน่ง ‘สมาชิกวุฒิสภา’ เขาเรียกว่านักการเมืองนะครับ ยิ่งสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจรัฐประหารเปิดช่องไว้ให้นี่โคตรการเมือง การเมืองเอาเปรียบมากๆ ด้วยครับ การเมืองไม่ยุติธรรม ยุวชนเยาวชนเรือนหมื่นเรือนแสนเขาถึงออกมาไล่ไงครับ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่พวกเขาและเธอยืนยันให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save