fbpx
โต๊ปเหลือง ฮิญาบเหลือง: เข้าใจมุสลิมในสังคมไทยผ่านปรากฏการณ์มุสลิมปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์

โต๊ปเหลือง ฮิญาบเหลือง: เข้าใจมุสลิมในสังคมไทยผ่านปรากฏการณ์มุสลิมปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์

อสมา มังกรชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ภาพของเหล่าชาวมุสลิมในชุดโต๊ปเหลือง ฮิญาบเหลือง บ้างสวมฮิญาบลายธงชาติคล้ายมวลสมาชิก กปปส. ณ หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 สร้างข้อวิวาทะทางการเมือง ศาสนา ทั้งในหมู่ชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมอย่างกว้างขวาง แม้จะมีชาวมุสลิมจำนวนไม่มากที่เข้าร่วมงานดังกล่าว แต่ในเหล่าคนมุสลิมเองก็มีจำนวนไม่น้อยที่วิพากษ์ว่าสำนักจุฬาราชมนตรีได้แสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสมในการจัดงานดังกล่าว และได้นำองค์กรทางศาสนาเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเต็มตัว

จากสถานการณ์ดังกล่าวเรามองเห็นประเด็นของชุมชนมุสลิมในสังคมไทย ดังต่อไปนี้

 

ราชูปถัมภ์ ความอุปถัมภ์แห่งพระราชา

 

จากข่าวในเว็บไซต์บีบีซีไทย[1] ประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี อธิบายถึงการสำนึกในบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทยว่า พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อศาสนบุคคล ศาสนสถาน และศาสนบัญญัติ กล่าวคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ให้มุสลิมจำนวนมาก ด้านศาสนสถาน ทรงรับมัสยิดเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนด้านศาสนบัญญัติ ได้ทรงมีพระราชดำริให้แปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ นายประสานอ้างคำสอนของอิสลามที่ว่า “ใครก็ตาม ถ้าไม่สำนึกในบุญคุณของมนุษย์ ก็เท่ากับว่าไม่ได้สำนึกในบุญคุณของอัลเลาะห์…สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการต่อเรา หน้าที่ของมุสลิมก็คือจะต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ก็คือขอบคุณหรือที่เราเรียกว่าจงรักภักดีนั่นเอง”

คำอธิบายของนายประสานสอดคล้องกับเรื่องเล่าหลักของสังคม (Grand Narrative) ผ่านตำราเรียน สื่อสารมวลชน การนำเสนอของบรรดาผู้คนในสังคมไทยในช่วงรัชกาลที่ผ่านมาหลายสิบปี หากนายประสานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจะเชื่อในเรื่องเล่าหลักนี้ และคิดว่าการแสดงความจงรักภักดีเป็น “ความดี” ชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่ม กปปส. และไทยภักดี ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร

อย่างไรก็ดี  สำนึกของความจงรักภักดีของมุสลิมจำนวนหนึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวบางประการ กล่าวคือมุสลิมในสังคมไทยมีสำนึกว่าตนเองเป็นคนกลุ่มน้อยที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่น มีพลังอำนาจน้อยกว่า นอกจากนี้มุสลิมในสังคมไทยยังมีสำนึกความเป็นชุมชนร่วมกันสูง ทั้งในฐานะของคนกลุ่มน้อยและชุมชนทางจินตนาการที่มีฐานศรัทธาร่วมกัน

ในขณะที่คนจีนจำนวนมากในสังคมไทยมีแนวคิดซาบซึ้งในพระบรมโพธิสมภารจากประวัติศาสตร์บรรพบุรุษเสื่อผืนหมอนใบและวิธีคิดเชิงคุณธรรมเรื่องความกตัญญู[2] มุสลิมในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกชื่นชมขอบคุณสถาบันกษัตริย์ผู้อุปถัมภ์สถาบันและองค์กรทางศาสนาอิสลาม และมองว่าการมีอยู่ของสถาบันเหล่านี้ เช่น สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นเกียรติ เป็นศักดิ์ศรีของคนมุสลิม มุสลิมได้รับการรับรอง ยืนยัน รับประกันในสิทธิเสรีภาพทางศาสนา โดยการรับประกันสิทธิเสรีภาพทางศาสนานี้มาจากความสัมพันธ์เชิงราชูปถัมภ์ กล่าวคือได้รับการอุปถัมภ์จากพระราชา เป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไม่เท่าเทียมกันหรือระบบอุปถัมภ์

และเป็นระบบอุปถัมภ์ที่สังคมมุสลิมคุ้นชินเป็นอย่างดี

 

ระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมในสังคมมุสลิมไทย

 

สังคมมุสลิมในประเทศไทยมีรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในชีวิตประจำวันสูงมาก เครือข่าย พวกพ้อง ดำรงอยู่ในโลกแห่งหน้าที่การงานและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และบางครั้งก็ปะปนจนแยกไม่ออก เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมย่อยของตนเอง  ตัวอย่างได้แก่ความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องมุสลิมในสถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร  ในยุคที่ไม่มีแอปพลิเคชันหาอาหารฮาลาล เครือข่ายบุคคลคือตัวช่วย ไม่นับการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ร่วมกันที่คนต่างศาสนาไม่ได้ร่วมด้วย

สำนึกของกลุ่มย่อยที่ด้อยอำนาจยังปรากฏร่องรอยในเรื่องเล่าเชิงประสบการณ์ ผู้เขียนมักจะได้ยินคนสามจังหวัดเล่าว่า สมัยก่อนมุสลิมเราไม่ค่อยมีใครได้เรียนหนังสือสูงๆ, สมัยก่อนมุสลิมเราไม่ค่อยได้เป็นข้าราชการ, ไม่ค่อยมีหมอที่เป็นมุสลิม

สำนึกแบบคนกลุ่มน้อยนี้ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ของเซเลบมุสลิมในสังคมมุสลิมรุ่นใหม่ มุสลิมหนุ่มสาวที่หล่อสวย ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ มีฐานะการงานดี เป็นแพทย์หรือนักเรียนนอก จะเป็นที่จับตา เป็นสตาร์และไอดอลในสังคมมุสลิม  เพราะพวกเขานำเสนอภาพความสำเร็จและสถานะที่สูงส่ง เป็นภาพตัวแทนของสังคมมุสลิมในสังคมที่ใหญ่กว่าอย่างมีสถานะทัดเทียมกัน

สิ่งที่เหล่ามุสลิม wanna be และผู้อยู่ในระดับบนของโครงสร้างอำนาจสังคมไทยมีเหมือนกันคือ การมุ่งหวังเลื่อนชั้นอำนาจทางสังคมให้สูงขึ้นภายใต้โครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ พวกเขาไม่ได้ต้องการความเท่าเทียมหรือเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจแต่อย่างใด

ในสังคมมุสลิมมีมิติของชั้นอำนาจสูง แนวคิดเรื่องการเชื่อฟังผู้นำและการให้เกียรติผู้นำทำให้บางครั้งอำนาจกลายเป็นเหมือนวัตถุที่ถูกถือครอง ในบางครั้งเราไม่ได้คิดเรื่อง การกระจายอำนาจหรือการใช้อำนาจร่วมกันได้ดีนัก ความต้องการปกครองตนเองของของคนชายแดนใต้จำนวนหนึ่งไม่ได้คิดถึงการกระจายอำนาจสู่ประชาชน ให้ประชาชนรากหญ้าร่วมคิดร่วมสร้างอาณาจักรในฝัน แต่พวกเขาหลายคนมีความเป็นชาตินิยมมลายูสูงมากกว่าความเป็นนักประชาธิปไตย กล่าวคือพวกเขาคิดถึงการเป็นอิสระจากรัฐไทย โดยที่อำนาจการปกครองโยกย้ายจากมือผู้กุมอำนาจรัฐไทยเข้าสู่ชนชั้นนำมลายู จินตนาการสู่การปกครองโดยวิถีอิสลามที่มีผู้นำและผู้รู้ทางศาสนาร่วมเป็นแกนกลางของการตัดสินใจ

มิติหนึ่งที่สำคัญในสังคมมุสลิมคือ อำนาจของผู้รู้และอำนาจของความรู้แห่งอิสลามที่ไม่ได้แยกจากกัน

แม้ว่าในยุคปัจจุบัน ความรู้จะอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์และมีทัศนะที่หลากหลายกระจัดกระจายจนเกิดอุลามาอฺเฟซบุ๊ก เกิดสายคิดใหม่ๆ ทางศาสนาที่ไม่อิงอาศัยทัศนะจากสำนักจุฬาราชมนตรี หรือผู้รู้อาวุโสในสถาบันศาสนาเดิมและแนวทัศนะจารีตนิยม แต่สังคมมุสลิมยังให้ความสำคัญกับผู้รู้ทางศาสนาอย่างมาก โดยเป็นทั้งเกียรติและมิติของความศักดิ์สิทธิ์

มุสลิมสายอนุรักษนิยมที่เรียกว่า ‘คณะเก่า’ และสายที่ขนานนามตนเองว่าเป็นสายที่อ้างอิงหลักการตามขนบของนบีมูฮัมหมัด หรือที่เรียกกันว่า ‘สายใหม่’ ทั้งสองกลุ่มนี้มีทัศนะแย้งกันหลายเรื่องทางศาสนา แต่แทบไม่แตกต่างกันมากนักต่อท่าทีที่มีต่อผู้รู้ และไม่นับว่าผู้รู้ทางศาสนาหรือชนชั้นนำทางศาสนาของทั้งสองสายได้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมกับรัฐและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจไปแล้ว เราจึงไม่เห็นท่าทีเชิงวิพากษ์ระบบใดในรัฐจากเหล่าผู้นำที่คร่ำหวอดในการต่อรองแบบยกหูโทรศัพท์คุยมากกว่าการต่อสู้แบบเปิดหน้าชน

ด้วยทรรศนะทางศาสนาและโลกประจำวันที่ไม่ได้แยกจากกัน ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนมากยอมรับในสถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจมาอย่างยาวนานและเป็นองค์ราชูปถัมภ์ศาสนาอิสลามในสังคมไทย ผ่านองค์กรสถาบันทางศาสนาที่สำคัญคือ สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งมีโครงสร้างลงลึกถึงระดับชุมชนย่อยผ่านคณะกรรมการมัสยิดประจำชุมชน

ภายใต้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ผูกกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้อธิบายหรือผู้สอนตัวบททางศาสนา องค์กรศาสนาอย่างสำนักจุฬาราชมนตรีมีสถานะของการได้รับอุปถัมภ์  โครงสร้างนี้ไม่ได้แตกต่างมากนักจากมหาเถรสมาคม รวมถึงอำนาจจัดการกิจการศาสนาต่างๆ ที่มี

มุสลิมไทยรุ่นเก่าส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์แบบที่คณะราษฎรหรือคนรุ่นใหม่ตั้ง ทั้งด้วยขนบของศาสนาในการยอมรับอำนาจของผู้นำ อิทธิพลของ Grand Narrative ในสังคมไทย ด้วยวัฒนธรรมอุปถัมภ์และอำนาจนิยม รวมไปถึงการตกอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจเช่นนี้มานานจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และประกอบกับประเทศมุสลิมหลายต่อหลายแห่งก็มีระบบกษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจมากน้อยแตกต่างกันไป

สิ่งที่คนนอกอาจจะประหลาดใจก็คือ หลายครั้งจะมีข้อถกเถียงกล่าวอ้างในสังคมมุสลิมว่าประชาธิปไตยไม่ใช่วิถีอิสลาม แต่อาจจะไม่ค่อยเห็นใครตั้งคำถามที่ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์อย่างถอนรากและมั่นอกมั่นใจเหมือนการปฏิเสธประชาธิปไตย

‘รายอกีตอ’[3] ราชาของพสกนิกรชายแดนใต้

 

ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ซึ่งราษฎรมีปัญหากับอำนาจรัฐมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์ระยะไกลและใกล้ แต่ผู้ร้ายในสายตาชาวบ้านคือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจปราบปรามอย่างทหาร ตำรวจ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมโยงบทบาทสถาบันกษัตริย์กับอำนาจปราบปรามโดยรัฐแต่อย่างใด ยังไม่นับการลงพื้นที่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 การมีพระสหายเป็นชาวบ้านในพื้นที่ มีเรื่องราวน่าประทับใจมากมายที่ถูกเล่าซ้ำให้ฟังกัน

ภายใต้อำนาจรัฐที่รังแกประชาชน ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อว่าคนที่ถูกจับในคดีความมั่นคงส่วนใหญ่เป็นแพะ การบังคับให้สูญหายและซ้อมทรมานมีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านจะมองว่าอำนาจรัฐไม่ชอบธรรมและไม่ไว้ใจรัฐ แต่เป็นเรื่องน่าคิดไม่น้อยที่พวกเขามักจะแยกสถาบันกษัตริย์ออกจากอำนาจรัฐที่รังแกประชาชน มิหนำซ้ำยังมองว่า สถาบันกษัตริย์เป็นอีกอำนาจอันทรงพลังที่มีอยู่จริงในสังคมไทย

ผู้เขียนเคยคุยกับผู้ได้รับผลกระทบด้วยหมายคดีความมั่นคงคนหนึ่ง เขาได้ต้อนรับแขกแปลกหน้าใส่ชุดราชปะแตนสีขาวที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของสมาชิกราชวงศ์ในวัง จะพาเขาไปเข้าเฝ้าในวังที่กรุงเทพมหานคร ชายแปลกหน้าผู้นี้ให้ข้อเสนอว่า ด้วยพระราชอำนาจและบารมี เขาและพวกจะได้รับการปลดหมายและช่วยเหลือให้คืนสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย ไร้มลทิน แต่ผู้ได้รับผลกระทบคนนี้ลังเลกับการยอมติดตามไปด้วย ด้านหนึ่งเขาหวังในอำนาจเชิงอุปถัมภ์อันทรงพลัง แต่อีกด้านหนึ่งเขาระแวงว่าจะเป็นแผนอุ้มที่ทำให้เขาไม่ได้กลับบ้านอีกต่อไป

 

การต่อรองของมุสลิมและสิ่งหลักที่พวกเขากังวล

 

ในขณะที่ชาวบ้านระดับล่างมีการต่อรองอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน คนชายแดนใต้บางคนเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่มีการเก็บเงินนักเรียนที่พูดภาษามลายูในชั้นเรียนของโรงเรียนไทย พี่สาวคนหนึ่งเล่าถึงอดีตสามสิบกว่าปีที่แล้วในแถวหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ เธอและเพื่อนๆ แกล้งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบผิดๆ เนื่องจากคุณตาสอนว่าเพลงนี้ผิดหลักศาสนาเรื่องหลักศรัทธา มุสลิมร้องเพลงนี้ไม่ได้ ในบางพิธีกรรมที่ขัดหลักศาสนา บางคนอาจจะเออออเข้าร่วมไปด้วย แต่บางคนก็จะหาข้ออ้างปลีกตัวออกมา

การต่อรองแบบเล็ดลอดจากการกำกับนี้เป็นทักษะที่มุสลิมจำนวนมากมี พวกเขาไม่จำเป็นต้องโต้แย้ง อธิบายความคิดหรือโลกทัศน์ของเขาให้แก่คนนอกชุมชนศรัทธา แต่นั่นคือก่อนการมาของแพลตฟอร์มดิจิทัล

แพลตฟอร์มดิจิทัลได้สลายหรือสะเทือนขอบเขตของพรมแดนการสื่อสารข้ามกลุ่มวัฒนธรรม การพูดเรื่องราวทางด้านศาสนาไม่ได้จำกัดวงเฉพาะผู้ศรัทธา เพราะเพื่อนเฟซบุ๊กต่างศาสนาก็เห็นข้อความด้วย ที่น่าตลกคือเราจำนวนมากแยกกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนไทย คนต่างชาติ แต่เราไม่แยกกลุ่มมุสลิมกับไม่ใช่มุสลิมจากกัน

แพลตฟอร์มดิจิทัลและกระแสไหลบ่าของการสื่อสารแบบโลกแบนได้ทำให้มุสลิมต้องพูดและยืนยันตนเองแตกต่างไปจากเดิม

สิ่งที่มุสลิมจำนวนมากให้ความสำคัญคือ สิทธิ เสรีภาพ ในการปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ และการรักษาตัวตนทางด้านศาสนาไว้ พวกเขาบางคนกลัวว่ากระแสการหลั่งไหลของวัฒนธรรมอื่นจะทำให้การเป็นผู้ศรัทธาที่ดีงามเสียไป พวกเขาบางคนจึงต่อต้านเกย์เลสเบียนด้วยเหตุผลว่าผิดหลักศาสนา พวกเขากัดฟันกรามเพื่อยืนกรานหลักการข้อนี้ ในขณะที่อาจเพิกเฉยกับปัญหาอื่นและความอยุติธรรมอื่น เช่น เยาวชนติดยา เพราะมันไม่ได้มาในนามของวิถีวัฒนธรรมอื่น แต่เป็นปัญหาภายในสังคมมุสลิมเอง ทั้งนี้ พวกเขาจำนวนมากกลัวคำว่า ‘รัฐเซคคิวลาร์’ เพราะกลัวว่าจะเป็นแบบฝรั่งเศสที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใส่ฮิญาบในสถานที่ราชการ และกลัวว่าศาสนาตนเองจะถูกล้อและทำลายเกียรติ ความกลัวนี้มีพลังมากพอจะทำให้พวกเขาแสดงตัวแบนสินค้าฝรั่งเศสมากกว่าจะประณามการฆาตกรรมในนามของอิสลาม

ดังนั้น คำถามหนึ่งในตอนนี้ที่มุสลิมส่วนใหญ่กำลังกังวลคือ การที่สถาบันทางศาสนาแสดงบทบาททางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหนักเป็นผลดีหรือผลเสียต่อสังคมมุสลิมมากกว่ากัน

ครั้งหนึ่ง มุสลิมเองก็มีความเห็นที่ขัดแย้งในเรื่องการรับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาของ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล ลูกชายของท่านจุฬาราชมนตรี มุสลิมบางคนไม่เห็นด้วยกับการรับใช้เผด็จการ บางคนเห็นว่าเป็นความจำเป็นเพราะเมื่อโครงสร้างอำนาจเป็นเช่นนี้ การมีมุสลิมอยู่ในโครงสร้างอำนาจจะดีและปกป้องกิจการศาสนามากกว่า (ความเห็นในเชิงต่อรองในวิถีของอำนาจนี้เป็นแนวคิดหลักสำหรับหลายๆ กรณี) บางคนเชื่อว่าเป็นสภาวะจำยอม ซากีย์ไม่ได้มีความเต็มใจในเรื่องนี้

ท่าทีของสำนักจุฬาราชมนตรีและผู้ทรงอำนาจในสังคมมุสลิมไทย ณ ขณะนี้ ก็นำไปสู่คำถามที่คล้ายกัน สิ่งที่มุสลิมส่วนใหญ่กังวลคือความอยู่รอดของสถาบันฯ ในฐานะองค์กรทางด้านศาสนาที่คงศักดิ์และสิทธิ์บางประการ หลายคนอยากให้สำนักจุฬาราชมนตรีวางตัวเป็นกลางแบบที่ไม่แสดงออกทางการเมืองใดๆ แต่หลายคนก็ยังคงมั่นใจว่าด้วยการอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจ และการทำนุบำรุงศาสนาอิสลามจะดำรงสืบต่อไป ดังที่กล่าวไว้ว่าเพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์

 

คณะราษฎรมุสลิม  ความเป็นธรรมมาก่อนการอุปถัมภ์ทางศาสนา

 

ภายในสังคมมุสลิมมีความหลากหลาย แง่มุมที่คลี่ให้เห็นข้างต้นคือการอธิบายเหตุผลของปรากฏการณ์การรวมพลังใส่โต๊บเหลืองและฮิญาบเหลืองเพื่อปกป้องสถาบัน แต่ก็มีชาวมุสลิมอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์การรวมพลังดังกล่าว พวกเขาไม่ได้คิดว่าประชาธิปไตยไปกันไม่ได้กับอิสลาม พวกเขาหลายคนปวดหัวกับเพื่อนร่วมศาสนาที่ให้ความเห็นว่าการไปชุมนุมทางการเมืองผิดหลักการศาสนา เพราะเป็นการปะปนกันของหญิงชายโดยไม่จำเป็น พวกเขาเรียกพี่น้องร่วมศรัทธาตนเองว่า ‘มุสลิ่ม’ เมื่อมีการอ้างตัวบทศาสนาในการเชื่อฟังสนับสนุนผู้นำหรือสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา และพวกเขาเชื่อว่าถ้ามีสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิทธิทางศาสนาของเขาจะได้รับการคุ้มครอง และเป็นการคุ้มครองที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจเชิงบารมีจากแหล่งอำนาจพิเศษใด.

 

อ้างอิง

[1] https://www.bbc.com/thai/thailand-54884566

[2] ศ.เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ใน “เจ๊กสยามหันขวาหาจีน” 

[3] รอยอกีตอ Raya Kita เป็นภาษามลายูแปลว่า ราชาของเรา

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save