fbpx

ถอดรหัสแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน: ยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดประชุมคณะกรรมกลางของพรรคครั้งสำคัญเพื่อพิจารณาทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ของจีน (ปี ค.ศ.2021-2025) โดยแผนพัฒนาฉบับใหม่นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการยกร่าง และเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของสภาประชาชนแห่งชาติของจีนในช่วงต้นปีหน้า

ตอนนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่แผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีน เป็นที่ทราบกันดีว่าแผน 5 ปี ของจีนมีความสำคัญสูงมาก เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายและการทำงานของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น บางคนถึงกับกล่าวติดตลกว่า แผนพัฒนาสำคัญกว่ารัฐธรรมนูญจีนเสียอีก หรือบางคนก็เรียกว่าเป็นเสมือนรัฐธรรมนูญเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเมื่อประกาศแล้ว นโยบายของหน่วยงานใดห้ามขัดหรือแย้งกับแนวทางของแผนดังกล่าว

ครั้งนี้ยังน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะแผนพัฒนาฉบับใหม่ร่างขึ้นภายใต้บริบทความท้าทายมหาศาลต่ออนาคตของจีน ทั้งวิกฤตโควิด ซึ่งปัจจุบันลามเป็นวิกฤตระดับโลก ทั้งปัญหาที่สังคมจีนก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนเข้าขั้นสงครามเย็นยุคใหม่ และไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะชื่อไบเดนหรือทรัมป์

ในการประชุมได้มีการพูดถึงแนวคิดที่เป็นหัวใจของแผนพัฒนาฉบับใหม่ นั่นก็คือ แนวคิด ‘ยุทธศาสตร์สองหมุนเวียน’ (Dual Circulations) ซึ่งมีคำอธิบายว่า อาศัยเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นแกนหลัก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกเป็นสองหมุนเวียน สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจจีน 3 ประการด้วยกัน

หนึ่ง จีนกำลังเปลี่ยนมาเน้นเศรษฐกิจภายในเป็นแกนหลัก แตกต่างจากในยุคอดีตที่จีนเน้นการเติบโตโดยการส่งออก (Export-oriented growth) ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก และพาให้จีนประสบความสำเร็จ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ชะงัก ทางรอดของจีนก็คือ หันกลับมาพึ่งตลาดภายในของตนที่มีขนาดใหญ่มโหฬาร ในอดีตคนจีนยังยากจนไม่มีกำลังซื้อ แต่วันนี้คนจีนรวยขึ้นและพร้อมจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ในปี ค.ศ.2017 ตลาดชนชั้นกลางของจีนมีขนาดใหญ่แซงหน้าสหรัฐฯ ดังนั้น ถึงแม้ว่าจีนจะขายตลาดสหรัฐฯ 300 ล้านคนไม่ได้ดังเดิม แต่ในจีนมีชนชั้นกลางใหม่ 600 ล้านคนมาทดแทน

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้แก่ เมื่อช่วงต้นเดือนที่แล้ว ผมฟังรายการจีนที่แนะนำผู้ประกอบการจีนซึ่งทำธุรกิจรับจ้างแบรนด์สหรัฐฯ ผลิตของส่งไปขายที่สหรัฐฯ และกำลังได้รับผลกระทบหนักเพราะสงครามการค้าและวิกฤตโควิดในสหรัฐฯ คำแนะนำที่ผู้ประกอบการท่านนี้ได้จากนักวิเคราะห์กลยุทธ์ก็คือ ให้เปลี่ยนจากรับจ้างแบรนด์ฝรั่งผลิตหันมาสร้างแบรนด์ของตนเองสำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ เปลี่ยนเป้าหมายจากขายตลาดสหรัฐฯ มาเป็นขายตลาดจีน

ศาสตราจารย์หลินอีฟู แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า การเน้นเศรษฐกิจภายในเป็นแกนหลักยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ในปี ค.ศ.2006 สัดส่วนของการส่งออกต่อเศรษฐกิจจีนทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 35.4% แต่ในปี ค.ศ.2019 ปรับลดลงเหลือเพียง 17.4% เท่านั้น ที่เหลือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 82.6% ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก

สอง จีนจะยังคงเดินหน้าเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ กล่าวคือ จีนจะไม่ปิดประเทศหรือเน้นเศรษฐกิจภายในเพียงอย่างเดียว ข้อนี้สะท้อนวิธีคิดของจีนที่มักเลือกทั้งสองทาง ไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่จีนเป็นประเทศที่มีทั้งส่วนผสมทั้งของทุนนิยมและสังคมนิยม ทั้งการรวมศูนย์อำนาจและกระจายอำนาจ ทั้งการลอกเลียนและการสร้างนวัตกรรม ในแผนฉบับใหม่นี้ จีนก็จะเล่นเกมเศรษฐกิจทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจระหว่างประเทศควบคู่กันไป

การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกจะเป็นตัวสร้างอำนาจต่อรองและอิทธิพลของจีนในเวทีโลกด้วย สาเหตุที่จีนกลายมาเป็นมหาอำนาจในทุกวันนี้ เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้น จากมุมมองของจีน การเชื่อมโยงกับต่างประเทศไม่เพียงตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ แต่ยังตอบโจทย์การเมืองระหว่างประเทศด้วย

สาม การเชื่อมโยงกับภายนอกจะอาศัยตลาดภายในของจีนเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยง กล่าวคือ ไม่ใช่จีนส่งออกไปขายภายนอกอย่างเดียว แต่หันมาส่งเสริมให้ภายนอกส่งของมาขายตลาดจีนและพึ่งพาตลาดจีนมากขึ้น มีคำกล่าวว่าในยุค 5 ปีถัดจากนี้ จีนจะเริ่มเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น ‘ผู้ขาย ขาย ขาย’ มาเป็น ‘ผู้ซื้อ ซื้อ ซื้อ’ จากเดิมที่จีนจัดแต่มหกรรมการส่งออก (Export Expo) ให้ผู้ประกอบการทั่วโลกมาเดินเลือกซื้อของจากจีนส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ต่อไปนี้จีนจะเริ่มจัดมหกรรมการนำเข้า (Import Expo) ให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกนำสินค้าของตนมาขายในตลาดจีน และใช้การนำเข้าเป็นตัวเร่งกระบวนการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมใหม่ภายในประเทศจีนด้วย

ในขณะที่พลังการบริโภคในประเทศต่างๆ ยังไม่ฟื้นจากวิกฤตโควิด ตลาดจีนซึ่งเริ่มกลับมาเติบโตและตัวเลขการบริโภคเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ย่อมกลายเป็นตลาดสำคัญและเป็นตลาดเป้าหมายของธุรกิจทั่วโลกที่ต้องการเสถียรภาพและการเติบโต ศาสตราจารย์จางจุน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟูตั้น ถึงกับกล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามตีตัวออกห่างจากจีน ประเทศอื่นก็คงไม่ทำตามสหรัฐฯ  “เพราะโลกอาจจะต้องพึ่งพาจีนมากกว่าที่จีนจะต้องพึ่งพาโลก”

ในแผนพัฒนาฉบับใหม่ของจีนจึงจะมีหลายภาคเศรษฐกิจที่จีนจะค่อยๆ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อเชื่อมโยงบริษัทต่างชาติเข้าสู่ตลาดจีน รวมทั้งจีนจะส่งเสริมการเชื่อมโยงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลการค้าออนไลน์ ทำให้มีการพัฒนาหยวนดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์การค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ เมื่อจีนเป็นผู้ซื้อ จีนย่อมสามารถเป็นคนกำหนดเกม มาตรฐานสินค้า รวมทั้งสกุลเงินที่ใช้ได้

จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘ตลาดภายในของจีน’ เป็นหัวใจของแผนพัฒนาฉบับใหม่ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์จีนเชื่อมโลกรอบใหม่อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ รายละเอียดนโยบายการพัฒนารอบใหม่ของจีนจึงต้องตอบโจทย์การขยายอุปสงค์ (demand) ภายในประเทศและปลดปล่อยพลังการบริโภค ด้วยการเดินหน้าสร้างและเชื่อมโยงเมือง แก้ไขปัญหาความยากจนเพื่อเพิ่มจำนวนชนชั้นกลาง ยกระดับรายได้และพัฒนาสวัสดิการให้แก่ประชาชน ทั้งหมดก็เพื่อส่งเสริมให้คนจับจ่ายใช้สอยและบริโภค

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าว่า เพื่อนอาจารย์ชาวจีนของท่านอธิบายเหตุผลเบื้องหลังที่จีนใช้คำว่า ‘หมุนเวียน’ ในนโยบายเศรษฐกิจว่า คำนี้สะท้อนวัฒนธรรมความคิดของจีนเรื่องการหมุนเวียนพลังลมปราณภายในและภายนอก ซึ่งพลังลมปราณจะสมบูรณ์ได้นั้น ภายในต้องแข็งแกร่งและมีภายนอกเป็นตัวเสริม โดยอาศัยภายในเป็นตัวเชื่อมภายนอก ที่สำคัญคือ จะทิ้งไม่ได้ทั้งสองหมุนเวียน

ท่ามกลางความท้าทายมหาศาลทั้งภายในและภายนอกประเทศ หากยุทธศาสตร์สองหมุนเวียนถูกขับเคลื่อนสำเร็จ ย่อมเป็นการฟื้นพลังลมปราณเศรษฐกิจจีนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังโควิด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020