fbpx

สัมมาวาจา กับ รัฐอำมหิต

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

ก้าวร้าว หยาบคาย จาบจ้วง ถ้าไม่ลดเพดานความก้าวร้าวลงบ้าง อย่าหวังเลยว่าจะมีการพบกันครึ่งทาง และถ้ายังคงดื้อ ยังจาบจ้วงให้อีกฝ่ายโกรธมากขึ้นไปอีก ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ก็ต้องโทษความก้าวร้าวของตนเอง

ถ้าใครมาพูดอย่างนี้ให้ได้ยิน ขอเถียงหัวชนฝา

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้บาดลึกยิ่งกว่าครั้งใดที่ผ่านมา เพราะ “เด็กเมื่อวานซืน” ไม่ได้แค่ท้าทายรัฐบาลเผด็จการและวัฒนธรรมอำนาจนิยม แต่กล้าตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ จนมีการตัดลูก ตัดญาติ ตัดมิตร แตกร้าวไปทุกหย่อมหญ้า

เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางอุดมการณ์ ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่ทนไม่ไหวกับระบบที่ผุพังฉ้อฉลจนไม่เห็นอนาคต กับคนรุ่นเก่าที่ทั้งตกใจ โกรธ และกลัวจับจิต เพราะรู้สึกว่าระบบคุณค่าความเชื่อที่ยึดถือมาตลอดชีวิตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน กำลังโดนทำลายต่อหน้าต่อตา

จะเชื่อมความต่างนี้ได้อย่างไร

หลายคนพูดว่า ไม่ว่าจะขัดแย้งอย่างไรก็ต้องจบด้วยการเจรจา เพราะฉะนั้นฝ่ายเรียกร้องจำเป็นต้องปรับการสื่อสารใหม่ ต้องมีวิธีพูดใหม่เพื่อให้ที่มีพื้นที่ในการพูดคุยกันได้กับอีกฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้งรุนแรง หลีกเลี่ยงการเสียเลือดเนื้อ

บอกว่าเป็นเรื่องยุทธวิธี

ฟังดูดี แต่ก็ไม่เห็นด้วยเช่นก้น

ถามจริงๆ การใช้ภาษาดอกไม้จะช่วยให้ฝ่ายที่มีอำนาจไม่ใช้ความรุนแรง หรือการพูด “ดีๆ” จะทำให้บ้านเมืองปฏิรูปพ้นระบอบเผด็จการ ช่วยให้การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเป็นจริงได้

เราเชื่อเช่นนั้นจริงๆ หรือ

ในความสัมพันธ์ระดับครอบครัว เครือญาติ หรือเพื่อนฝูง การฟังซึ่งกันและกัน การอดทนกับความเห็นที่ขัดใจเรา การอดออมคำพูดที่อาจทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่เราให้คุณค่า การฟังการอดกลั้นเช่นนี้ช่วยสร้างพื้นที่ในการพูดคุยให้อยู่ร่วมกันได้ต่อไป เป็นสิ่งที่พึงกระทำ

ความคิดทางการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา แต่ครอบครัวและมิตรภาพเป็นของมีค่าในชีวิต เราควรระมัดระวังเก็บรักษาไว้

การฟังซึ่งกันและกันอาจได้ผลในระดับที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ต่างกันนัก และในครอบครัวก็ยังมีความรักและห่วงใยเป็นพื้นฐาน กับเพื่อนหรือญาติก็ยังมีความเกรงใจกันอยู่บ้าง แต่ถ้าคิดว่าสามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับรัฐ อาจต้องผิดหวัง

เพราะอำนาจของรัฐกับผู้เรียกร้องผิดกันราวฟ้ากับดิน รัฐจึงไม่ต้องเกรงใจอะไรทั้งสิ้น เพราะรัฐที่เป็นอยู่คือรัฐที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู รัฐที่มีอาวุธในมือ รัฐที่พร้อมจะข่มขู่ คุกคาม เข่นฆ่า เพื่อรักษาอำนาจตนเอง

ถึงจะพูดจาภาษาดอกไม้ ใช้เหตุและผลอย่างไรก็ไม่ได้ผล เพราะรัฐแบบนี้ไม่ได้ต้องการฟัง แต่ต้องการกดให้อยู่ใต้อำนาจ

วิธีประคับประคองสันติในครอบครัวจึงใช้ไม่ได้ในระดับรัฐ ด้วยเหตุผลสั้นๆ เพราะรัฐนี้เป็นรัฐอำมหิต

ถ้าอยากให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุย มีวิธีเดียว ต้องแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 มาตรา 116 และกฎหมายอีกหลายอันที่คุกคามคนเห็นต่าง หลังจากนั้นค่อยมาพูดถึงวิธีการพูดคุย การเรียกร้องให้ “พูดดีๆ” โดยยังอยู่ใต้กรงเล็บของกฎหมายเผด็จการเหล่านี้ เป็นการก้าวข้ามขั้นตอน อย่ามาหลอกกันดีกว่า

การแก้กฎหมายนี้แท้จริงจะเป็นคุณกับฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ ต้องถามว่าทุกวันนี้ที่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดโต้ “คำกล่าวหา” ต่างๆ ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และด้วยเหตุและผล เพราะการทำเช่นนั้นจำเป็นต้องอ้างถึงสิ่งที่กลัวว่าจะโดนตีความว่าละเมิด 112 ใช่หรือไม่

ปลดล็อคเสีย และสังคมก็จะได้มีโอกาสฟังข้อมูลอีกด้านให้ได้คิดพิจารณา ไม่ใช่มีแต่การโต้ตอบด้วยอารมณ์อย่างที่เป็นทุกวันนี้

การเน้นเรื่องท่าทีและคำพูดนี้ทำให้นึกถึงคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องสัมมาวาจา คนส่วนใหญ่นั้น พอพูดถึงสัมมาวาจาก็มักจะติดอยู่แค่การพูดดีๆ พูดเพราะๆ ไม่ใช้คำหยาบหรือพูดส่อเสียด

พูดดีๆ ย่อมดีกว่าพูดหยาบคายอยู่แล้ว แต่การใช้ถ้อยคำสุภาพเป็นแค่ส่วนเดียวของสัมมาวาจา

สาระสำคัญของสัมมาวาจาคือการพูดความจริง พูดถูกที่ถูกกาลเวลา พูดเพราะมีความจำเป็นต้องพูด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้า และพูดด้วยความปรารถนาดีต่อคนที่เราจะส่งสารด้วย

ถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้ครบ คือสิ่งที่พูดเป็นความจริง พูดเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น พูดด้วยความปรารถนาดีต่ออีกฝ่ายอย่างจริงใจ ถึงเวลาที่ควรต้องพูด ก็จำเป็นต้องพูด แม้อาจจะเป็นภัยต่อตนเองก็ตาม

สัมมาวาจาจึงไม่ใช่แค่เรื่องถ้อยคำสุภาพ แต่เป็นเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าหาญที่จะพูดความจริง แม้ภัยจะถึงตัวก็ต้องทำ

ก่อนหน้านี้สังคมตกอยู่ใต้ความกลัว ใต้ความเงียบ ไม่กล้าพูดความจริง เราบอกตัวเองว่าพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องพูด พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง เราบอกตัวเองว่าเราทำตามหลักสัมมาวาจาแล้ว แท้จริงเราหลอกตัวเอง ที่เราไม่พูดเพราะเรากลัว

วันนี้เยาวชนเสี่ยงโดนจับ เสี่ยงตาย เพื่อที่สังคมจะได้พูดความจริงได้ แต่เรากลับบอกว่ามีปัญหา เพราะพูดไม่เพราะ พูดจาบจ้วง ต้องปรับการสื่อสาร

ใครกันแน่ที่มีปัญหา เยาวชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หรือผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรง

ถ้าจะเอาสัมมาวาจาเป็นตัวตั้ง เราควรถามว่าใครที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงและประทุษวาจา เยาวชนที่หมดความอดทนอดกลั้นกับรัฐที่ฉ้อฉลจนระเบิดออกมา หรือระบบอำนาจที่อยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ หน้าไหว้หลังหลอก สับปลับไปวันๆ ระบบที่ผิดศีลทุกข้อทุกประการ ระบบที่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจโกหก คดโกง รังแกคนบริสุทธิ์ อุ้มฆ่า คุมขังคนที่เรียกร้องความยุติธรรม

ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับรัฐที่ใช้ความรุนแรง แต่ตั้งคำถามกับคนที่ต่อสู้ เรากำลังหลงเดินตามเกมของรัฐอำมหิต คือโยนความผิดให้คนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

สัมมาวาจาเน้นความจริง เราจึงต้องตั้งคำถามด้วยว่า สิ่งที่เราเชื่อกันนั้น อะไรเป็นความจริง อะไรเป็นมายาคติ

คุณอาจจะพูดด้วยคำพูดสุภาพ แต่สิ่งที่คุณชวนเชื่อว่าเป็นความจริงนั้นอยู่บนรากฐานของมายาคติที่กดทับ กีดกัน รังแกผู้อื่น เราควรจะยอมรับความจริงของคุณไหม

อุดมการณ์หลักของเมืองไทยคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ลองพิจารณาดูว่าอุดมการณ์นี้จริง หรือควรเป็นจริงหรือ

ชาติในอุดมการณ์นี้ คือชาติที่เป็นของคนที่มีเชื้อชาติไทยเท่านั้น

ศาสนาในอุดมการณ์นี้ คือศาสนาพุทธที่มีฐานะเหนือกว่าศาสนาอื่น

ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่บนจุดยอดสุดของปิรามิดอุดมการณ์นี้ ได้เป็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะล่วงละเมิดไม่ได้

ชาติในอุดมการณ์นี้ เชื่อว่าคนเชื้อชาติไทยเท่านั้น คนนอกไม่ควรเท่าเทียม หรือมีสิทธิมีเสียงเหมือนเจ้าของประเทศ

ชาติแบบนี้เป็นชาติที่กีดกัน รังแกผู้คนที่ไม่อยู่ในมายาภาพของความเป็นไทย เป็นชาติที่เหยียดชาติพันธ์ุดั้งเดิมในท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมาอย่างยาวนาน

ชาติแบบนี้เป็นชาติที่เอื้อต่อสันติภาพที่เราต้องการหรือ

ในความเป็นจริงนั้น คนไทยไม่ใช่เจ้าของดินแดนนี้ ก่อนที่กลุ่มคนที่พูดภาษาไทยจะอพยพมาจากทางใต้ของจีน ดินแดนนี้มีชุมชน มีเมือง มีคนพื้นเมืองอยู่มาก่อนเป็นพันๆ ปีแล้ว

สุวรรณภูมิอยู่ในเส้นทางการค้าทางทะเลมาแต่โบราณ การค้าต่างแดนได้นำผู้คนหลายชาติหลายภาษาหลายวัฒนธรรม ซึ่งได้นำความรู้ เทคโนโลยี และศาสนาความเชื่อหลากหลายใหม่ๆ เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม ผนวกกับความเชื่อของคนพื้นเมืองดั้งเดิม กลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สร้างให้ดินแดนนี้รุ่งเรืองทางการค้าและการเมือง และเมื่อศูนย์กลางการค้าได้เติบโตเป็นอาณาจักร ก็ยังคงต้อนรับผู้คนและวัฒนธรรมจากแดนไกล ให้เข้ามาเป็นพลังของสังคมตลอดมา

อะไรคือความเป็นไทยหรือ

พระเจ้าตากสินก็เป็นลูกจีน บรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีก็มาจากเชื้อสายมอญ ต้นตระกูลมาจากพม่าด้วยซ้ำ

ตระกูลบุนนาค ตระกูลขุนนางที่มีอิทธิพลอย่างสูงในต้นสมัยของราชวงศ์จักรีก็เป็นมุสลิมจากอาหรับ

จะปฎิเสธได้อย่างไรว่าการหลั่งไหลของคนจีนอพยพมาสู่สยาม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตก้าวกระโดดจากการค้า

จะปฎิเสธได้หรือว่าคนที่ชอบไล่คนที่เห็นต่างว่าไม่ใช่ไทย ขับไล่ไสส่งให้ออกไปจากประเทศ คนที่เกลียดชังแรงงานข้ามชาติ รังเกียจโรฮิงญา แท้จริงแล้วก็เป็นลูกหลานของคนจีนที่อพยพมาตั้งรกรากในไทยได้ไม่นานเช่นกัน

ไม่มีหรอกเชื้อชาติบริสุทธิ์ และความเชื่อนี้ก็อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นต้นเหตุของความรุนแรงในสังคมตลอดมา

ความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรมต่างหากเป็นความเข้มแข็งของสังคมไทย ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะให้อุดมการณ์คลั่งชาติมาทำลาย

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของการปฏิรูป ปฏิเสธชนชั้นวรรณะ แต่ความเป็นจริงของศาสนาพุทธในไทยเป็นอย่างไร

ศาสนาที่อยู่ในอุดมการณ์ชาติศาสน์กษัตริย์ หมายถึงศาสนาพุทธเถรวาทเท่านั้น นิกายอื่นไม่เกี่ยว รัฐได้มอบสถานะและอำนาจทางการเมืองแก่สถาบันสงฆ์เถรวาทไทย ให้อยู่เหนือกว่าศาสนาอื่น เมื่ออยู่ใต้ร่มร้ฐ พึ่งรัฐในทุกๆ ด้าน คณะสงฆ์จึงกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์เชื้อชาตินิยม กีดกัน กลัว เกลียดชังศาสนาอื่น และใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาอำนาจตนเอง

ซึ่งขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์

ส่วนสถาบันมหากษัตริย์ในอุดมการณ์นี้ อยู่ในสถานะศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของประเทศ เรียกร้องความศรัทธาอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ใครตั้งคำถามหรืออธิบายเป็นอย่างอื่น ถือว่าเป็นบาปมหันต์ เป็นคนนอกศาสนา ต้องตกนรกอย่างเดียว ต้องได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง

ควรเป็นเช่นนี้ไหม

คนพุทธควรมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อโดนวิพากษ์วิจารณ์

พุทธศาสนาสอนว่าคนที่วิจารณ์เราคือคนชี้ขุมทรัพย์ เพื่อที่จะเราได้พิจารณาว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ถ้าจริงก็จะได้ปรับปรุงสิ่งนั้นให้ดีขึ้น

พุทธศาสนาสอนให้รักษาอุเบกขา ไม่ให้ตอบโต้ สะดุ้งสะเทือนไปกับสิ่งเร้าจากรูปรสกลิ่นเสียงและความคิด ไม่ให้โต้ตอบด้วยกิเลสหรืออารมณ์ ไม่ว่าจะโดนด่าหรือได้รับคำชม ก็ต้องรักษาใจที่กลางให้ได้ ไม่ให้ใจพองเมื่อได้รับคำชม ไม่ร้อนรนโมโหไปกับสิ่งที่ขัดใจ จนออกมาเป็นการกระทำที่รุนแรง ทั้งกาย วาจา ใจ

ถ้าอ้างว่าตนเองเป็นพุทธ ควรดูว่าพระพุทธองค์ปฏิบัติอย่างไรเมื่อโดนกล่าวหา หรือโดนด่าว่าเสียๆ หายๆ

ครั้งหนึ่งมีพราหมณ์เฒ่าคนหนึ่งด่ากราดพระพุทธองค์อย่างยืดยาว ท่านก็ฟังไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถามพราหมณ์นั้นว่าถ้ามีคนเอาของมาให้ แล้วเราไม่รับ ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่าก็เป็นของคนให้อย่างเดิม พระพุทธองค์จึงกล่าวว่า ก็เช่นเดียวกัน เมื่อคำด่าของท่านเราไม่รับไว้ ก็เป็นของท่านต่อไป

เมื่อมีคนจ้างผู้หญิงมาใส่ร้ายว่าพระพุทธองค์ทำให้นางมีท้อง แทนที่ท่านจะยอมให้สาวกด่าหรือไล่นางนั้นไป ท่านกลับห้าม และปล่อยให้นางกล่าวหาไปจนกระทั่งโครงไม้ที่ทำเป็นท้องโตหลุดออกมากองกับพื้น ความจริงจึงปรากฏ

หรือเมื่อพระสาวกสองรูปทุ่มเถียงกันอย่างหนักเกี่ยวกับพระพุทธองค์ รูปหนึ่งมีแต่คำชม อีกรูปหนึ่งมีแต่เรื่องติ เถียงกันไม่จบ ท่านจึงเรียกพระทั้งสองมาเถียงให้ฟังตลอดทั้งคืน แล้วจึงกล่าวกับเหล่าสาวกว่าไม่ควรดีใจเมื่อได้รับคำชม หรือเสียใจเมื่อโดนติฉินนินทา

พระพุทธศาสนาสอนให้เป็นนายการกระทำหรือกรรมของตนเอง โดยให้ระมัดระวังปฏิกิริยาของตนเองต่อสิ่งภายนอก ไม่ให้โต้ตอบทั้งทางกาย วาจา ใจ ซึ่งจะสร้างผลกรรมต่อเนื่อง ให้รักษาใจอยู่ในอุเบกขา เพราะสิ่งทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง

พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญา ไม่ให้ลุ่มหลงกับศรัทธาใดๆ จนหน้ามืดตามัว

แล้วสังคมพุทธเราเป็นอย่างไรในความเป็นจริง พิจารณากันดู

กลับมาเรื่องสัมมาวาจา สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่เร่งด่วนในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องเด็กก้าวร้าว หยาบคาย แต่เป็นเรื่องปัญหาของคนแก่ที่ลุอำนาจ ปั่นทุจริตวาจาอย่างเป็นระบบให้เกิดความเกลียดชังกันทั้งสังคม ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

เมื่อรัฐยังยืนกรานผลิตทุจริตวาจาออกมาต่อเนื่องเป็นระบบ ก็ต้องมุ่งแก้ไขระบบอำนาจที่เป็นอยู่

ถ้าเราไม่ต้องการเห็นความรุนแรง ก็ต้องเห็นว่าปัญหามาจากไหน ต้องตั้งคำถามกับคนที่ผู้ก่อความรุนแรง ไม่เบี่ยงประเด็นให้เห็นว่าผู้กล้าที่ต่อกรกับระบบอำนาจเป็นตัวปัญหา มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐอำมหิตนี้เสียเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save