fbpx
การประท้วงทางการเมือง VS ทำลายของสาธารณะ

การประท้วงทางการเมือง VS ทำลายของสาธารณะ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

หลายคนบอกว่า การขีดเขียน พ่นสี หรือสาดสีใส่พื้นที่สาธารณะเป็นการ ‘ทำลาย’ สมบัติสาธารณะอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ vandalism

ปกติแล้ว vandalism คือการ ‘จงใจ’ ทำลายข้าวของของสาธารณะ หรือในบางกรณีก็รวมถึงสมบัติของเอกชนด้วย โดยเฉพาะเอกชนที่มีลักษณะเป็นสาธารณะอยู่ในตัว เช่น ห้างร้านหรือพื้นที่ประเภท POPS หรือ privately owned public space ทั้งหลาย

ตัวอย่างของ vandalism อาทิเช่น การเอาเกลือไปโรยตามสนามหญ้าเพื่อให้หญ้าตาย การตัดต้นไม้ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต การปาไข่ การปากระจกหน้าต่าง และแน่นอนว่า รวมไปถึงการพ่นสี วาดกราฟฟิตี้ และอื่นๆ อีกด้วย

ดังนั้น จึงพูดได้แน่ๆ ว่า การขีดเขียน พ่นสี หรือสาดสีใส่พื้นที่สาธารณะ (และเอกชน) นับว่าเป็น vandalism แต่คำถามถัดมาก็คือ แล้ว vandalism จัดเป็นอาชญากรรมหรือเปล่า

ข้อถกเถียงนี้สร้าง ‘ปัญหา’ ให้กับนักคิดมานานมาก อย่างน้อยที่สุดก็ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 18

vandalism เป็นที่รับรู้และตระหนักถึงกันจริงๆ ในยุคหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการรื้อทิ้งและทุบทำลายงานศิลปะต่างๆ จำนวนมากที่สร้างขึ้นในยุคที่ประเทศปกครองด้วยกษัตริย์ คนที่ใช้คำว่า vandalism เป็นคนแรกคือบาทหลวงอองรี เกรกอรี (Henri Gregoire) คำว่า vandalism มีรากมาจากสมัยที่เกิดการ ‘ปล้นกรุงโรม’ ในราวศตวรรษที่ 5 โดยกลุ่มคนที่ทำอย่างนี้คือกลุ่มชนเผ่าเยอรมานิก (Germanic people) ชื่อว่า Vandals อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ในปัจจุบัน และก่อตั้งกันขึ้นมาเป็นอาณาจักรแวนแดล (Vandal Kingdoms) ซึ่งเคยเรืองอำนาจมากในยุคหนึ่ง ถึงขั้นบุกจักรวรรดิโรมัน และเข้ามาปล้นทุบทำลายงานศิลปะต่างๆ ของกรุงโรม

จึงไม่แปลกใจเท่าไหร่นักที่อองรีจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่า vandalism เพราะเป็นคำที่มีประวัติศาสตร์สอดคล้องกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับศาสนจักรและอาณาจักรในยุคโบราณมาก่อน

หลังปฏิวัติฝรั่งเศส เราคงรู้ว่าเกิดความวุ่นวายมากมาย และคนก็มอง vandalism ไปในแง่ลบ เพราะมันคือการทำลายสิ่งที่สวยงาม แต่คนแรกที่พยายาม ‘เถียงแทน’ ว่า vandalism มีคุณค่าบางอย่างในตัว ก็คือจิตรกรชื่อ กุสตาฟ คูร์เบต์ (Gustave Courbet) เขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่สร้างงานศิลปะแนวสัจนิยมหรือแนวเหมือนจริง และยังเป็นนักสังคมนิยมด้วย เขามีส่วนสำคัญในพัฒนาการทางการเมืองของฝรั่งเศสหลายด้าน

กุสตาฟบอกว่า การทำลายงานศิลปะ ‘ยุคเก่า’ อย่างการทำลายอนุสาวรีย์ต่างๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ของ ‘สงครามและการพิชิต’ ซึ่งระบอบเก่าไหนๆ ก็ทำเช่นนี้ ในอดีต เวลายกทัพไปรบชนะที่ไหน กองทัพผู้ชนะก็จะต้องเผาทำลายเมืองของผู้แพ้ (ลองนึกภาพอยุธยาถูกเผาดูก็ได้) แต่เรากลับไม่เรียกสิ่งนั้นว่า vandalism ทั้งที่มันก็คือการทำลายข้าวของหรือสมบัติสาธารณะเหมือนกัน เพียงแต่เป็นสาธารณะ ‘ของคนอื่น’ ก็เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคปัจจุบัน สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างเผ่าหรือระหว่างนครรัฐเหมือนแต่ก่อนแล้ว ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่อาศัยร่วมกันในสังคมเดียวก็ได้ โดยคนที่มีสิทธิในการสร้างงานศิลปะหรืออนุสาวรีย์ต่างๆ ขึ้นมา ย่อมคือผู้มีอำนาจดั้งเดิมทั้งนั้น และความขัดแย้งก็มักเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจดั้งเดิมนั้น ‘กดเหยียด’ คนกลุ่มอื่นในสังคม จนทำให้เกิดแรงต้าน

กุสตาฟจึงบอกว่า vandalism คือสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความขุ่นเคือง ไม่พอใจ และมักมาคู่กันกับความคิดสร้างสรรค์ (ความหมายเดิมแท้ของคำว่า creativity คือการออกนอกกรอบ หรือต้อง ‘หาวิธี’ แสดงออกซึ่งความไม่พอใจนั้นๆ ไม่ใช่ creativity แบบประดิดประดอยงานสวยๆ งามๆ) ดังนั้น vandalism ในแบบที่เป็น political vandalism จึงคือการ ‘แสดงออก’ ที่ ‘สร้างสรรค์’ แม้ผ่านวิธีการที่ดูเหมือน ‘ทำลาย’ ทว่ามันคือการนำเสนอความคิดใหม่ที่จะกระตุกสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า กุสตาฟเองก็เคยพยายามจะรื้อทำลายเสาวองโดม (Vendome Column) ซึ่งเป็นเสาตระหง่านอยู่ตรงกลางปลาซวองโดม (Place Vendôme) เพราะเสานี้คือสัญลักษณ์ของกษัตริย์นโปเลียนที่สาม ซึ่งปกครองจักรวรรดิแบบเผด็จการ

ในอเมริกา เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่มีอำนาจคือคนขาวและคนร่ำรวยเป็นหลัก ในประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีหรือคนรักต่างเพศ ล้วนใช้สิ่งที่เรียกว่า street art อย่างเช่นการพ่นสี การขีดเขียนลงไปบนผนังหรือกำแพงตึกทั้งสิ้น

ศิลปินผิวสีในอเมริกาเหนื่อยหน่ายอย่างมากกับวงการศิลปะชั้นสูงที่ซื้อขายวนเวียนกันอยู่ในกลุ่มคนชั้นบน และก่อให้เกิด ‘ระบบ’ ที่กดเหยียดและปิดปากศิลปินอื่นๆ คนเหล่านี้เข้าสู่พื้นที่การขายงานศิลปะตามแกลลอรี่ได้ยากมาก ดังนั้น พวกเขาจึงหันมาใช้พื้นที่บนท้องถนนและตามกำแพงตึกแทน

แนนซีพิลี เฮอร์นานเดซ (Nancypili Hernandez) ซึ่งเป็นนักต่อสู้รณรงค์ในเรื่องนี้ บอกว่าการขีดเขียนงานลงบนถนนหรือกำแพงนั้น คือ ‘เครื่องมือสำคัญ’ (crucial tool) ที่จะบอกเล่าเรื่องราวการถูกกดขี่ นั่นเพราะพวกเขาไม่มี ‘พื้นที่’ ให้แสดงออก เฮอร์นานเดซเองต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนเนื้อเมือง (gentrification) ที่ทำให้พื้นที่เมืองเดิมๆ ที่คนจนเคยอยู่ต้องเปลี่ยนไป ถูกไร่ลื้อ โดยเฉพาะสำหรับชาวละตินอเมริกันยากจน เธอจึงคิดว่าการใช้ street art ที่อาจต้องไปพ่นตามพื้นที่ต่างๆ ในเมืองเพื่อประกาศให้คนอื่นรู้ คือเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ เพราะแกลลอรี่ก็ไม่มี พื้นที่สำหรับระบายความโกรธในแถบถิ่นของตัวเองก็ไม่เหลืออีกแล้ว ก็ต้องไปทำที่อื่น และนั่นก็ถูกมองว่าเป็น vandalism ด้วยเช่นกัน

เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง vandalism ที่ดูคล้ายเป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการพ่นสี การใช้คำหยาบคาย การ ‘เปิดโปง’ หรือ ‘ผลักเพดาน’ ประเด็นที่เรียกร้องจนทำให้คนทั่วไปเกิดอาการ ‘ช็อก’ มากขนาดไหน จึงแสดงให้เราเห็นไปพร้อมกันว่า สังคมหรือเมืองแห่งนั้นกำลังเกิดความผิดปกติเชิง ‘ระบบ’ อยู่

เมื่อผู้คนไม่มีที่ทางแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตัวเอง พวกเขาไม่ได้รับเชิญไปร่วมในงานเลี้ยงใหญ่ ตกแต่งประดับประดาสวยงาม และมีผู้มีอำนาจออกมารับฟังความคิดเห็นของพวกเขา ความคิดเห็นเหล่านี้ย่อมสำแดงออกมาผ่านพื้นที่ที่คาดไม่ถึง และยิ่งถูกกดเหยียดมากเท่าไหร่ การสะท้อนโต้ตอบออกมาก็จะยิ่งรุนแรงและหยาบคายมากเท่านั้น

vandalism เป็นอาชญากรรมหรือไม่ คงเป็นเรื่องเชิงกฎหมายและบรรทัดฐานของแต่ละสังคม

ความหยาบคายที่ปรากฏอยู่ในผลงานเชิง vandalism เป็นเรื่องที่รับได้หรือรับไม่ได้ ก็เป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม และความเข้าใจร่วมต่อ ‘นิยาม’ ของคำว่า ‘หยาบคาย’ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและนวัตกรรมทางภาษา

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าการถกเถียงเรื่อง vandalism และความหยาบคาย คือการมองให้เห็นและเข้าใจให้ได้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากความปั่นป่วนภายใน การถูกกดทับ การปิดปากห้ามพูด ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ความพยายามถือไม้เรียวกระหนาบเด็กของผู้มีอำนาจ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า มันก็กลายเป็นแรงอัดอั้นที่ระเบิดออกมาเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

ในหม้อต้มน้ำที่มีแรงดันสูง เราจะพยายามเอาฝาปิด อัดมันไว้ แล้ว ‘สั่ง’ น้ำไม่ให้เดือด โดยไม่ย้อนไปจัดการกับ ‘ต้นเหตุ’ จากไฟที่กำลังลุกโหมส่งความร้อนเข้าไปในน้ำได้หรือ

เราอาจทำเช่นนั้นได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สุดท้ายหากความร้อนยังกระพือ แรงดันในหม้อก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกดอัดเข้าไป ก็จะยิ่งเพิ่มแรงดัน สุดท้ายการระเบิดก็จะรุนแรงสุดหยั่งคาด

หากเราพอจะมีสติปัญญากันอยู่บ้าง การย้อนกลับไปจัดการ ‘ลดไฟ’ ที่มาจากต้นทาง ย่อมคือวิธีที่ถูกต้องมากกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความกลัวทำให้มืดบอด ความมืดบอดก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรง และความรุนแรงก็ย้อนกลับมาเพิ่มความกลัวเข้าไปอีก ผู้มีอำนาจจึงมืดบอดเข้าไปอีกชั้นจนกลายเป็นวงวัฏอันอัปลักษณ์ และส่อแสดงให้เห็นว่าเราอยู่ในสังคมที่มีผู้นำแบบไหน

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save