ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
ธิติ มีแต้ม ภาพ
เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด เป็นหนึ่งในสี่ตอน ของ 101 Spotlights ‘ม้า-มวย-หวย-หม้อ’ ที่ลัดเลาะไปตามพื้นที่แห่งความบันเทิงและการพนัน ตั้งแต่แยกนางเลิ้งจรดสนามหลวง สถานที่เหล่านี้เป็นมาและเป็นไปอย่างไร มีอะไรอยู่ในนั้น ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ลงไปดูวิถีชีวิตของผู้คนที่สะท้อนภาพบางมุมของสังคมไทย
1
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กหญิงโดนตะโกนต่อว่า
“คู่ที่สองแล้วนะ เงินมึงเยอะนักเหรอ”
เสียงหญิงวัยกลางคนกล่าวดุดัน เมื่อเด็กหญิงทำรองเท้าแตะตกท่อน้ำไปหนึ่งข้าง เด็กหญิงนั่งบนจักรยานสามล้อ แววตารู้สึกผิดฉายออกมาน้อยนิด เธอหันหัวจักรยานกลับอย่างทุลักทุเล หันหลังให้คำดุด่า สวมรองเท้าหนึ่งข้างที่เหลืออยู่ถีบล้อบดไปกับพื้นฟุตปาธขรุขระ แต่คงหนีไปไหนไม่ได้ไกล เพราะบ้านของเธออยู่ตรงนั้น
ใกล้ๆ กัน กลุ่มชายฉกรรจ์ยืนดูมวยตู้ผ่านโทรทัศน์จอเล็กหน้าร้านขายของชำ มีทั้งไม่สวมเสื้อ และไม่สวมรองเท้า กลิ่นเหม็นบางเบาลอยขึ้นมาจากคลองหลอด คลองที่พาดผ่านจากคลองคูเมืองเดิมระหว่างโรงแรมรัตนโกสินทร์กับวัดบุรณศิริมาตยรามไปบรรจบคลองรอบกรุง ริมคลองมีผู้คนตั้งวงเหล้า น้ำสีใสระดับ 40 ดีกรีวางนิ่งในแก้วเป๊กรอให้คนกระดก เพื่อสร้างชีวิตชีวา
คลองหลอด ขุดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นคลองขุดที่เชื่อมกันระหว่างคลองคูเมืองเดิม (คลองที่ขุดสมัยธนบุรี) กับคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู คลองโอ่งอ่าง) และยังเป็นเส้นทางลัดในการคมนาคมทางน้ำของเรือสินค้าจากหัวเมืองต่างๆ ที่ล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา พ่อค้าใช้เป็นที่จอดพัก รอนำสินค้าขึ้นไปขายที่ปากคลองตลาดหรือสำเพ็งก็แวะหาที่พัก โรงโคมเขียวบริเวณคลองหลอดจึงเป็นแหล่งรองรับความต้องการทางเพศของผู้ชายหลังจากบ้านมานาน
ในปัจจุบัน หากเดินเข้าไปในคลองหลอด เราอาจต้องหลีกทางให้เสื่อที่ปูบนฟุตปาธ บนโคนต้นไม้บางต้นมีหมอนใบเก่าวางอยู่อย่างเจียมตัวและเป็นธรรมชาติ ข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระจกหรือหวี วางไว้ใกล้กัน บ่งบอกว่าที่แห่งนี้มีเจ้าของที่ และเราเป็นเพียงคนนอกที่มาเยี่ยมเยียนบ้านของคนอื่น
หลังจากมีการเคลียร์พื้นที่สนามหลวง คนไร้บ้านจำนวนมากต้อง ‘ย้ายบ้าน’ ของพวกเขาไปอยู่ที่อื่น คลองหลอดเป็นหนึ่งในทำเลยอดนิยมที่คนไร้บ้านยึดเป็นที่หลับที่นอน
ไม่ใช่แค่คนไร้บ้านเท่านั้นที่จำเป็นต้องย้ายที่ แต่หญิง-ชายขายบริการข้างสนามหลวงก็ต้องขยับที่ทางออกมาด้วย จากแต่เดิมที่มีอยู่แล้ว คลองหลอดก็กลายเป็นซ่องอิสระขนาดใหญ่ ที่ผู้คนหลากหลายเข้ามาใช้บริการ
“มีตั้งแต่ใส่รองเท้าแตะ ถึงขับจากัวร์” ‘จ๋า’ อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชนที่ทำงานเรื่องคนไร้บ้านและโสเภณีแถวสนามหลวง คลองหลอด มานานกว่า 10 ปี เล่าให้ฟังถึงกลุ่มคนที่มาซื้อผู้หญิงขายบริการ
ตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้หญิงนั่งอยู่ริมถนน บ้างปูเสื่อ บ้างหลบมุมใต้ต้นไม้ บางคนมีเก้าอี้พลาสติกตัวเดียวกับกระเป๋าหนึ่งใบ พร้อมใบหน้าที่แต่งมาอย่างบรรจง ก็เพียงพอต่อการทำงาน
หญิงขายบริการในย่านคลองหลอด มีตั้งแต่เด็กหญิงที่เพิ่งมีประจำเดือน ไปจนถึงหญิงชราที่หมดประจำเดือนไปนานแล้ว ราคาไล่ระดับตั้งแต่ 100 – 500 บาท เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มขายบริการที่เปิดกว้างให้คนทุกระดับเข้าถึงได้
เป็นเรื่องถกเถียงกันมานานว่าในสังคมไทย ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น ‘ซ่อง’ ของโลก ควรยอมรับโสเภณีให้กลายเป็น sex worker ที่ถูกกฎหมายได้หรือยัง
หลายคนตั้งคำถามว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่แสนสวยงามและบอบบาง จะรับได้หรือที่จะมีการ ‘ขายตัว’ อย่างเปิดเผยในประเทศที่ยึดศีลธรรมเป็นสำคัญ และมองเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องน่าอาย
แต่คำถามที่อาจสำคัญกว่าคือ เราจะมองการขายตัวด้วยสายตาที่เป็นจริงอย่างไร และจะเผชิญกับสิ่งนี้ด้วยวิธีการแบบไหน
ฝุ่นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมควรเอาขึ้นมาปัดกวาด แล้วขัดพื้นให้เอี่ยมวับ อยู่ที่ว่าเราจะกล้ายอมรับความจริงหรือไม่
2
“ป้าหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 14” ป้าแก้ว (นามสมมติ) เริ่มเล่าเรื่องให้ฉันฟัง “จนตอนนี้ 60 กว่า ก็ไม่คิดจะกลับบ้าน”
หลังจากโดนกีดกันไม่ให้รักกับแฟนต่างวัย ป้าแก้วเก็บกระเป๋า ออกจากบ้านต่างจังหวัด มาผจญชีวิตในเมืองหลวง เริ่มต้นจากเข็นรถขายน้ำข้างสนามหลวงกับญาติ ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด เคยขายได้วันหนึ่งแตะหลักหมื่นบาท
ด้วยหน้าตาสะสวยจึงมีชายหนุ่มจำนวนมากหมายปอง เทียวไล้เทียวขื่อจนใจอ่อน คบๆ เลิกๆ อยู่หลายคน แต่ก็ยังไม่ได้จริงจังกับใครเท่าคนแรก
“ผู้ชายมันมีทั้งดี ทั้งเลว คนที่ไม่ดี ก็เล้ว เลว ป้าไม่อยากยุ่ง” เป็นเหตุผลที่ทำให้ป้าแก้วไม่ลงหลักปักฐานกับผู้ชายคนไหน ยึดคติ “อยู่คนเดียวสบายใจกว่า” อย่างเหนียวแน่น
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้าแก้วเข้าสู่การขายบริการ เกิดขึ้นในช่วงวัย 20 กว่า กำลังเป็นสาวสะพรั่ง มีคนรู้จักเข้ามาขอนอนด้วยแลกกับเงิน ป้าแก้วบอกว่า เลือกรับเฉพาะคนที่รู้จัก ไม่ได้เปิดขายอย่างเป็นทางการ ป้าแก้วทำอยู่พักใหญ่ แล้วก็เลิกไป เหลือเพียงขายน้ำอัดลมและเบียร์กระป๋องอย่างเดียว
ป้าแก้วขายน้ำอยู่สนามหลวงนานหลายสิบปี จนกระทั่งมีการจัดระเบียบ จึงจำเป็นต้องย้ายมาขายที่คลองหลอด และเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนแถวนั้น
ประมาณบ่ายสาม หลังจากการนอนหลับเต็มอิ่มมาตลอดวัน ป้าแก้วจะเริ่มเข็นรถออกมาจากบ้าน เดินไปหยิบน้ำอัดลมในโกดังสังกะสี มา 2-3 ถาด จัดวางบนรถเข็นให้เป็นระเบียบ เสร็จเรียบร้อยก็นั่งนิ่งๆ ด้วยท่าทีสบายๆ บางวันก็สวมชุดกระโปรงจีบรอบยาวสวย จุดบุหรี่สูบ ไม่ยี่หระกับสิ่งรอบข้าง ป้าแก้วมวยผมเรียบร้อย ผมหงอกแซมกับผมดำที่ย้อมสีน้ำตาล เค้าความสวยยังปรากฏบางเบาบนใบหน้า
“เวลาว่าง ป้าก็ไปคาราโอเกะกับเพื่อน ใช้ชีวิตทั่วไปนี่แหละ เงินก็พอกินพอใช้ เราไม่มีลูกหลาน ใช้ของตัวเองคนเดียว”
ป้าแก้วเล่าว่า ขายน้ำอัดลมได้วันละ 2 ลัง ก็ถือว่าพออยู่ได้ นานๆ ครั้งจะรับลูกค้าผู้ชาย ได้ครั้งละ 200-500 บาท เป็นรายได้เสริมกันไป เดือนหนึ่งรายได้จากการขายน้ำลดลงจากเดิมมาก ด้วยสภาพเศรษฐกิจและทำเลค้าขาย
อีกวันที่ฉันไปคุยกับป้าแก้ว กำลังจะหยิบเก้าอี้ไปนั่งใกล้ๆ เห็นชายหนุ่มร่างสันทัด ใส่เสื้อยืดกางเกงยีน ยืนคุยกับป้าอยู่
“มาสิ มาคุยด้วยกัน คนนี้หลาน” ป้าแก้วชี้ไปทางชายหนุ่ม เขายิ้มรับด้วยใบหน้าไม่ค่อยสู้ดี แต่ก็ยังยืนอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน
ฉันชวนคุย 2-3 ประโยค ถามความเป็นอยู่ พูดเรื่องฟ้าฝนเรื่อยเปื่อย ชายหนุ่มปิดปากเงียบ มีเพียงยิ้มบางเบา และตอบสั้นๆ ว่า ทำงานอยู่จังหวัดใกล้เคียง เมื่อพี่ช่างภาพกำลังจะถามเรื่องการทำงานของป้าแก้ว ป้าขยิบตา แล้วบุ้ยบ้ายว่าไม่ให้พูดตอนนี้
“ไม่น่าใช่หลาน” พี่ช่างภาพกระซิบกับฉัน
เมื่อสังเกตท่าทางแล้วก็เป็นแบบนั้น สายตากรุ้มกริ่มและท่าทางการยืน ไม่น่าจะใช่ป้ากับหลานมาเยี่ยมเยียนกัน
ในคลองหลอดไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ชายหนุ่มวัยกำหนัดจะมาหาหญิงขายบริการชรา เช่นเดียวกับที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ฝั่งจะมาหาเด็กสาววัยแรกแย้ม รสนิยมทางเพศของผู้คนนั้นหลากหลาย และไม่ได้เป็นไปตามขนบที่สังคมคุ้นชิน ยิ่งเมื่อการซื้อขายบริการถูกปิดบังหลบๆ ซ่อนๆ ความต้องการภายในใจของคนก็ปะทุออกมาแบบไม่มีข้อจำกัด
พอตกค่ำ ฉันเดินตามจ๋า เลขานุการมูลนิธิอิสรชน ไปแจกถุงยางอนามัยในซอย เห็นความหลากหลายไล่เรียงกันกับตา มีตั้งแต่สวยเจิด ไปจนถึงสวยเรียบง่าย
บางกลุ่มนั่งรวมกันก๊งเหล้าขาวแต่หัววัน คำว่า ‘กินเหล้าย้อมใจ’ น่าจะใช้กับกรณีนี้ได้เหมาะสมที่สุด กับหญิงวัยกลางคน มักจะรับถุงยางด้วยรอยยิ้มและคำขอบคุณ ก่อนจะถามต่อว่า “ไม่มีเจลหล่อลื่นเหรอ”
สำหรับหนุ่มสาวที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน คงไม่ขาดแคลนน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติ แต่สำหรับเหล่าป้าๆ ที่จำไม่ได้ว่าประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เจลหล่อลื่นเป็นสิ่งจำเป็น เสียดายที่เราไม่ได้ติดมือมาด้วย
เราเดินแจกไปเรื่อยๆ เจอกลุ่มวัยรุ่นสาว นั่งบนรถมอเตอร์ไซค์ หันหน้ามามองด้วยสายตาไม่คุ้นเคย
“ถุงยางมั้ยคะ” ฉันถาม
“ไม่เอาค่ะ” แม้เสียงไม่ดัง แต่สื่ออารมณ์ไม่เป็นมิตรชัดเจน
จ๋าเล่าว่ากลุ่มหญิงขายบริการวัยรุ่น จะรวมกลุ่มของตัวเองชัดเจน และไม่ไว้ใจมูลนิธิฯ หรือคนนอก
“เคยแจกผิดบ้างไหมพี่ แจกคนที่เขาไม่ได้ขาย” ฉันถาม
“ปรกติก็ขายหมดนะที่มานั่งตรงนี้” จบประโยคจ๋ายื่นถุงยางให้ฉัน ให้ไปแจกฝั่งตรงข้าม
ฉันเดินข้ามไป เห็นคุณยายวัยน่าจะแตะ 70 กับหลานสาววัย 15-16 ปี ฉันไม่แน่ใจว่าเขาแค่มานั่งพัก หรือมารอขายบริการ เลยเก้ๆ กังๆ ตอนนั้นเองที่คุณยายถามขึ้น “มาแจกถุงยางเหรอ” ทำให้ฉันกล้าเอาเข้าไปให้
“นี่ๆ เอาให้หลาน ยายขายไม่ไหวแล้ว” เด็กสาวยิ้มเขินอาย แล้วหยิบถุงยางจากมือ “ขอบคุณนะคะ” เธอกล่าวเสียงเบา ฉันยิ้มให้ แล้วเดินจากมา เผลอคิดว่าเขาต้องเจออะไรมาบ้างในชีวิต ที่ทำให้เดินมาถึงจุดนี้
“ไม่มีใครหรอกที่ใฝ่ฝันอยากเป็นหญิงขายบริการมาตั้งแต่เด็ก” จ๋าเปรยให้ฟัง “จุดเริ่มต้นอยู่ที่ครอบครัว ถ้าเขาเจอปัญหาพ่อแม่แยกทาง บ้านยากจน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ แล้วอยู่ในสังคมที่ไม่ดี เขาก็อาจเลือกเดินทางนี้ได้ เป็นปัญหาที่สังคมก็รู้กันมานาน แต่ไม่เคยแก้ได้” เธออธิบายต่อ
“เคยถามหญิงบริการวัยรุ่นเหมือนกันนะว่า มีอะไรกับแฟนแล้วทำไมยังขาย เขาก็ตอบว่า ก็เสียไปแล้ว เอากลับคืนมาได้มั้ย ทำไมหนูไม่มาขายให้มีเงินใช้จ่ายดีกว่า ก็พ่วงเรื่องวัตถุนิยมขึ้นมาอีก เราก็กลับมาถามฝั่งแฟน ไม่เสียใจเหรอ ที่แฟนไปนอนกับคนอื่น เขาก็ตอบว่า ก็มันคิดแบบนั้นพี่ รักกันอยู่ที่ใจ เซ็กซ์ทำเงินได้ ก็ทำสิ ถามว่าเด็กคิดแบบนี้ผิดมั้ย ไม่ผิด แต่สังคมผู้ใหญ่ในยุคก่อนยอมรับไม่ได้ ก็เหมือนตีกันอยู่ข้างใน ทุกอย่างเลยออกมาครึ่งๆ กลางๆ” จ๋าเล่าให้ฟังถึงคู่รักวัยรุ่นที่ยอมให้แฟนมาขายบริการ ในบางคู่ก็ขายด้วยกันทั้งสองคน
จริงอยู่ ที่เด็กสาวหลายคนเข้ามาทำอาชีพเพราะต้องหาเงิน อยากมีอยากได้ ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร หรือเหตุผลอื่นๆ ที่หยิบยกมา แต่กับหญิงวัยกลางคนที่เป็นแม่บ้าน สามีเสียชีวิต ตัดขาดกับลูกหลาน สิ่งที่จะทำให้เธอรู้สึกมีค่า คือการยังเป็นที่ต้องการ ทั้งในเรื่องทางเพศและสามารถหาเงินได้เอง
“พี่เคยทำกระเป๋าตังค์หาย หายหมดทั้งบัตรประชาชน ทั้งเงิน โทรไปบอกลูก มันให้เงินพี่มา 500 บาท แล้วไม่พาไปทำบัตรด้วย” พี่แจ่ม (นามสมมติ) หนึ่งในหญิงขายบริการที่เป็นแม่บ้าน ฟังดูแล้วเดาได้ไม่ยากว่าความสัมพันธ์กับลูกสาวไม่ดีเท่าใดนัก
ปัจจุบันพี่แจ่มอยู่ห้องเช่ากับสุนัขหนึ่งตัว แกพูดติดตลกว่า “อยู่กับหมาสบายใจที่สุด” หลังจากลูกแยกย้ายออกไปมีครอบครัว และสามีเพิ่งเสียชีวิตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พี่แจ่มก็เลือกที่จะขายบริการเต็มตัว ครั้งละ 200-300 บาท ใส่ถุงยางทุกครั้ง และตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อให้ตัวเองทำอาชีพนี้ไปได้เรื่อยๆ
“วันก่อนเพิ่งมีหนุ่มบิ๊กไบค์มาซื้อ” พี่แจ่มเล่าด้วยท่าทีสบายๆ “หน้าตาดีนะ แต่นิสัยเหี้ยมาก” ฉันเกือบกลั้นหัวเราะไม่อยู่ ถามต่อจึงรู้ว่าเด็กหนุ่มทำผิดกติกาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย พี่แจ่มจึงด่าเตลิดเปิดเปิงจนเสียผู้เสียคน ก่อนแยกทางกันแบบไม่ดีนัก
ลูกค้าแปลกๆ มักมีโผล่มาเสมอ ยิ่งมาทำงานอิสระแบบนี้ ยิ่งเดาไม่ได้ว่าลูกค้าจะมาแบบไหน ดีหรือเลว เปย์หรือปด
“ไม่ใช่แค่เขานะที่กลัวเรา เราก็กลัวเขาเหมือนกัน” พี่แจ่มว่า
ปรกติลูกค้าจะจ่ายค่าตัวและค่าห้องให้ ค่าห้องนั้นมีตั้งแต่ระดับ 40 บาทไปจนถึง 500 บาท
ห้อง 40 บาท เป็นแค่เพิงสังกะสีพอหลบฝน ในห้องเป็นผนังปูนเปลือยขึ้นรา ผ้าปูลายการ์ตูน มีโอ่งไว้ล้างตัวตั้งอยู่ ถ้าจะล้างก็ล้างกันตรงนั้น พัดลมตัวเล็กไม่มีกรอบ หมุนเป็นจังหวะ ถ้ามองในสายตาของคนที่นอนห้องติดแอร์ คงไม่มีทางเกิดอารมณ์ในห้องนี้ได้แน่ๆ
การจะยกระดับเตียงนอนให้บรรยากาศดีขึ้นมาหน่อย ต้องใช้เงิน ถ้าลูกค้ามีเงินไม่พอต่อการเข้าม่านรูดดีๆ หญิงขายบริการหลายคนก็ต้องยอมเข้าไปใช้ห้อง 40 บาท แต่ถ้าใครโชคดีเจอคนรวย ก็อาจได้ไปห้องหับที่ดีขึ้น
หญิงขายบริการต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งทางอาชญากรรม โรคติดต่อ การถูกเอาเปรียบทางการค้า ฯลฯ โดยที่ไม่มีใครเข้ามาดูแล แน่นอนว่าตอนนี้อาชีพโสเภณีผิดกฎหมาย แต่เมื่อเปิดตาให้ครบทั้งสองข้าง จะพบว่ามีผู้หญิงกว่าพันคนในคลองหลอดที่อยู่ในวงจรการขายบริการทางเพศ ไม่นับบริเวณอื่นในกรุงเทพฯ ที่มีอีกหลายหมื่นคน เราจะทำอย่างไรให้การขายบริการที่ไม่มีทางปราบปรามได้ เข้าสู่การจัดการอย่างเป็นระบบ
3
ที่ร้านขายน้ำปั่นกลางซอย ป้าศรีจะคอยเป็นคนดูแลสาวๆ ที่เข้ามาขายบริการในคลองหลอด ร้านป้าศรีกลายเป็นสภากาแฟ สภาชามะนาวของเหล่าคนทำงาน มานั่งจับกลุ่ม ถามไถ่ความเป็นไป ป้าศรีมีกล่องถุงยางอนามัยคอยแจก และหาข่าวคราวมาให้ว่าจะมีหน่วยงานไหนส่งคนมาตรวจเลือดให้บ้าง
ป้าศรีมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ยังเด็ก นั่งรถไฟจากอุบลราชธานีที่ “เดินยังเร็วกว่า” มาอยู่กรุงเทพฯ กับพี่สาว ขายของในย่านเมืองเก่า แล้วค่อยมาลงหลักปักฐานอยู่แถวคลองหลอด เช่าหน้าร้านขายน้ำปั่น และคอยดูแลความเรียบร้อย “เวลาคนตีกันตรงสี่แยก ก็ป้านี่แหละไปจับแยก”
ระยะเวลาเกือบ 50 ปี ที่ป้าศรีเห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่คลองหลอดยังเป็นป่า บ้านแต่ละหลังตั้งแยกกันชัดเจน มีพื้นที่ปลูกต้นไม้เป็นส่วนตัว จนตอนนี้กลายเป็นตึกแถวติดกันพรืด เริ่มเป็นแหล่งธุรกิจมากกว่าที่พักอาศัย บรรยากาศของที่นี่ก็เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาเมือง
“แต่ก่อนมีซ่องเยอะ บางทีโรงแรมก็เปิดเอง เที่ยวผู้หญิงครั้งละ 3-5 บาท ตอนนั้นข้าวจานละ 50 สตางค์”
ในยุคที่แม่เล้ายังมีอิทธิพล ซ่องเก็บเงินครึ่งหนึ่งจากที่หญิงขายบริการได้ แน่นอนว่ามีการกดขี่ทางการค้า หรือบังคับหญิงขายบริการในหลายรูปแบบ ต่อมาเมื่อผู้หญิงขายบริการเยอะขึ้น ก็กระจายตัวเองออกมาทำงานอิสระ ยืนรอรับลูกค้าเองตามพื้นที่ต่างๆ เช่น สนามหลวง, คลองหลอด, วงเวียน 22, สวนลุมพินี ฯลฯ
ซ่องค่อยๆ ลดระดับความสำคัญลงไป หลังจากโลกของอินเทอร์เน็ตเข้ามา คนขายบริการขยับออกไปเป็นอิสระได้ง่ายขึ้น ทั้งรับผ่านทางโทรศัพท์ ทางแชท ฯลฯ ธุรกิจอาบอบนวดจึงขึ้นมาแทน ด้วยการยกระดับบริการสู่พรีเมี่ยม จับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก คัดหญิงสาวเกรดเอ ควบคุมคุณภาพด้วยการการันตีว่าตรวจเลือดทุก 3-6 เดือน มีการป้องกัน และมีห้องนอนสะอาดเอี่ยมคอยต้อนรับ
ตรงกันข้ามกับหญิงขายบริการอิสระตามพื้นที่อย่างคลองหลอด ที่ไม่มีอะไรรองรับทั้งนั้น ยกเว้นการจับกลุ่มคุยกันเอง หรือการไปรอฟังข่าวจากร้านป้าศรี และการช่วยเหลือจากมูลนิธิที่ทำงานด้านนี้
4
ฉันมีโอกาสได้คุยยาวๆ กับจ๋า อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน หลังจากเดินตามแจกถุงยางหลายวัน มูลนิธิอิสรชนทำงานด้านสังคมเกี่ยวกับคนเร่ร่อนในรูปแบบต่างๆ และหญิงขายบริการอิสระย่านสนามหลวง คลองหลอด มานานกว่า 10 ปี
นที สรวารี หรือที่คนแถวนั้นเรียกว่า ‘หมอแว่น’ นั่งคุยกับขอทาน คนเร่ร่อน และหญิงขายบริการอิสระ จนเข้าใจปัญหา เมื่อจ๋าได้เข้ามาช่วยทำงาน ก็มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ผ่านสายตาคนทำงาน
ต้นปีที่ผ่านมา นทีเสียชีวิตด้วยโรคเนื้องอกในสมอง จ๋ากับลูกชายวัยกำลังซน น้องต้นน้ำน่าน จึงรับหน้าที่สานต่อสิ่งที่นทีทำเอาไว้ มูลนิธิอิสรชนเข้ามาช่วยดูแลคนเร่ร่อน เน้นการสื่อสารสังคม คืนคนสู่ครอบครัว ส่งเสริมสวัสดิการให้เขาอยู่ในถนนอย่างมีคุณภาพชีวิต เช่น แบ่งปันอาหาร ชวนเพื่อนคนเร่ร่อนมากินข้าวด้วยกัน แบ่งปันของใช้ทั่วไป ยารักษาโรค เดินแจกถุงยางอนามัย ให้ความรู้ในการดูแลตนเอง ให้คำปรึกษาด้านสุขภาวะทางเพศ ทุกวันอังคาร
พยายามเชื่อมกับหน่วยงานรัฐ มูลนิธิอื่นๆ เพื่อส่งเสริมสวัสดิการคนเร่ร่อน หญิงขายบริการอิสระ เพื่อสร้างสังคมแห่งการมองเห็นกัน เข้าถึงสวัสดิการ สู่ความเท่ากันในฐานะพลเมือง จ๋ามองว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการคืนคนเร่ร่อนสู่ครอบครัว
ส่วนปัญหาเรื่องหญิงขายบริการ เป็นปัญหาคนละแบบ และควรจะมองด้วยสายตาที่ต่างกัน
จ๋า เติบโตมาในบ้านที่อยู่ใกล้ซ่องในสมุทรสาคร เธอเห็นชีวิตคนที่ลำบาก เห็นมุมมีน้ำใจของหญิงขายบริการ และรู้ว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องเจออะไรบ้าง
“เราเห็นผู้หญิงขายบริการในยุคโรคเอดส์เข้ามาใหม่ๆ หลายคนรับแขกชาวประมงต่อคืนเยอะมาก เรือเข้าทีก็ปิดซ่อง บางคนคืนนึงได้ 22 เหรียญ (ซ่องใช้ ‘ชิป’ หรือเหรียญแทนเงิน 1 เหรียญเท่ากับครึ่งชั่วโมง) ก็เท่ากับรับต่อคืน 10 คนขึ้นไป”
ชีวิตของผู้หญิงขายบริการยุคก่อน ไม่ได้มีอิสระอย่างทุกวันนี้ ในค่าตัว 200 บาท ต้องแบ่งให้แม่เล้า 80 บาท ให้คนเชียร์แขกอีก 30-40 บาท ที่เหลือประมาณ 80 บาท จึงค่อยตกเป็นของคนขาย
“สมัยก่อน หรือยุคที่เรียกว่า ตกเขียว พอเด็กสาวมีประจำเดือนก็ถูกขายให้นายหน้า อันนี้คือการค้ามนุษย์ คนมาทำงานตรงนี้คือเบิกเงินส่งบ้าน ไม่ใช่มาด้วยความสมัครใจ สาเหตุมาจากหลายอย่าง บริบทพื้นฐานต่างจังหวัด การเล่าเรียนไม่มี มาทำงานในเมืองกรุง พ่อแม่นึกว่าทำงานสบาย แต่ความจริงมาขายตัว นี่คือภาพเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่คือการเข้ามาด้วยความสมัครใจหรือภาระที่แบกรับ ทำให้เดินมาสู่อาชีพนี้”
ในปัจจุบัน จากยุคซ่องรุ่งเรือง การขายตัวเปลี่ยนรูปแบบไปมาก กลายเป็นเด็กนั่งดริ้ง ร้านคาราโอเกะ อาบอบนวด ขายทางออนไลน์ หรือไปนั่งตามแหล่งรวมคนขายบริการอิสระ ระบบการแบ่งเงินแบบซ่องจึงหายไป
“สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง เรื่องวัยรุ่นขายตัวตั้งแต่เด็ก เราต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ ไม่อย่างนั้นก็แก้ไม่ได้ เราต้องมองว่าผู้หญิงขายบริการก็เป็นอาชีพหนึ่ง ทำไมต้องดัดจริตว่าเราสวยหรู ทั้งที่ก็พูดเป็นเหรียญสองด้านได้ ประเทศที่มีหญิงขายบริการจะทุเรศเน่าเฟะหรือเปล่า อย่างสวีเดน เยอรมัน ญี่ปุ่น ก็มีอย่างถูกต้อง เขาเน่าเฟะรึเปล่าล่ะ แล้วทำไมคนอยากไปอยู่สวีเดนหรือเยอรมัน ก็เพราะสวัสดิการดี ไม่ได้เกี่ยวกับอาชีพ”
“สถานการณ์ประเทศไทยคือ เราปูพรมแดงซะสวย แต่เอาทุกอย่างไปกองไว้ใต้พรม จนขยะกองขึ้น แล้วสุดท้ายถึงวันหนึ่งที่คนมาเหยียบ เปิดพรมขึ้นก็เห็นขยะกองใหญ่ นี่คือภาพที่ต่างประเทศมองเข้ามา”
เมื่อพูดถึงในประเด็นนี้ ก็น่าสนใจว่า แล้วควรมีการจัดระเบียบหญิงขายบริการในไทยแบบใด ตัวกฎหมายสามารถเข้ามามีบทบาทหรือเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน
“ในฐานะคนทำงาน เราเรียกร้องมาตลอด ไม่ได้เรียกร้องถึงขั้นถูกกฎหมาย แต่ไม่ผิดกฎหมายได้มั้ย คือคุณถือถุงยางอนามัยในมือ คุณถูกจับเลย ทั้งที่ถุงยางคือเครื่องมือทางการแพทย์ในการป้องกัน กว่าจะรณรงค์มาได้ว่ายืดอกพกถุง ให้วัยรุ่น safe sex แต่คุณก็ยังเอากฎหมายมาตีตรามันอยู่ เพื่ออะไร
“ถามว่าหญิงขายบริการที่ยืนอิสระ หรือตามซ่อง มีส่วยมั้ย มี แต่ถ้าเอามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ให้เขาเข้าสู่สวัสดิการสังคม เป็นอาชีพหนึ่ง บำรุงประเทศชาติ ได้มีประกันสังคม มีสิทธิการรักษา จะดีกว่ามั้ย ในขณะที่ตอนนี้กวาดจับ เข้ารัฐครึ่งนึง ที่เหลือเข้าคนเก็บส่วย ถ้าถูกกฎหมาย คนขายบริการได้ประโยชน์ แต่คนที่เสียประโยชน์คือคนเก็บส่วยนั่นแหละ นี่คือตลาดมืดของไทย”
ในความเป็นจริง หญิงขายบริการต้องเสี่ยงอันตรายจากลูกค้า เคยมีเหตุการณ์โสเภณีถูกฆ่าตายในโรงแรม ถูกขโมยเงิน หรือทำร้ายร่างกาย บ้างถูกขืนใจ ไม่ใส่ถุงยางแล้วนำโรคมาติด แต่ถ้ามองในมุมกลับ หากมีการจัดโซนรวมหญิงขายบริการไว้ในที่ปลอดภัย จากที่ต้องทำลับๆ ล่อๆ ก็อาจพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้มาตรฐาน เช่น ซอยนานา หรือพัฒน์พงศ์
“ฟรีแลนซ์ก็มีหลายตลาด คลองหลอดก็สูงอายุหน่อย สยาม สวนลุมพินี ก็เป็นตลาดระดับกลาง เพราะอยู่ใกล้นานา พัฒน์พงศ์ พอเกิดปัญหาอาชญากรรมก็ตามคนได้ เพราะอยู่กันเป็นที่ ก็เหมือนคนเร่ร่อนน่ะ ถ้าคุณทำสติกเกอร์สแกนบัตรประชาชนให้เขาได้ ถ้าเขาเป็นอะไรขึ้นมา ก็ตามญาติมาได้ ได้แจ้งตาย ไม่ใช่ตายแล้ว แต่ทะเบียนบ้านยังไม่ตาย ก็เกิดการสวมสิทธิกันได้”
ฟังดูแล้ว เหมือนว่าการทำให้การขายบริการทางเพศถูกกฎหมายนั้นมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็ยังมีหลายกลุ่มที่มองว่า เป็นการกดขี่ความเป็นมนุษย์ บ้างก็มองว่า ทำไมผู้หญิงต้องกลายเป็นวัตถุทางเพศเพื่อรองรับอารมณ์ผู้ชาย จ๋ามองว่าควรแยกการค้ามนุษย์ กับ การทำงานด้านเซ็กซ์ ออกจากกันให้ชัดเจน
“ยังมีคนมองว่าการขายบริการทางเพศเป็นการค้ามนุษย์ ขายเรือนร่างของผู้หญิง แต่เราต้องบวกด้านจิตใจเข้าไปด้วย ค้ามนุษย์คือ การทำให้มนุษย์เป็นสินค้า ถูกกระทำ ถูกละเมิดทางด้านจิตใจและร่างกาย แต่ถ้าเขาขายบริการด้วยความสมัครใจ ก็ไม่ใช่การค้ามนุษย์ แต่คือธุรกิจทางด้านเซ็กซ์ หรือที่เรียกว่า sex worker”
ในปัจจุบันยังมีการค้ามนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง ผู้หญิงไม่ได้มาด้วยความเต็มใจ ถูกหลอกมา แต่ปัจจุบันผู้คนเรียนรู้ที่จะไม่ถูกหลอกมากขึ้น ส่วนมากจึงมีแต่คนเต็มใจมาทำอาชีพนี้ แต่ก็นั่นแหละ ภายใต้คำว่าเต็มใจ ผู้คนอาจถูกบังคับโดยอ้อมจากทางใดทางหนึ่ง
“หลายครั้งที่คนเข้าสู่อาชีพนี้เพราะภาวการณ์บังคับ แต่ไม่ใช่ขืนใจแบบค้ามนุษย์นะ บังคับในที่นี้คือ ภาวะเศรษฐกิจทำให้ต้องเข้ามาตรงนี้ เป็นการบังคับทางอ้อม แต่เขาเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้คนรู้สึกถูกบังคับให้เข้าสู่อาชีพนี้โดยอ้อม ก็ต้องมาดูที่สวัสดิการของสังคมไทยว่าตอบโจทย์ชีวิตคนรึเปล่า งบประมาณในการซื้อวัตถุกับการพัฒนาคนเท่ากันรึเปล่า”
เราไม่อาจโทษได้แค่ปลายปัญหา เพราะเมื่อดูลงไปให้ลึกแล้ว ถ้าบ่อนไม่มีคนเล่น ก็ไม่มีบ่อน เช่นเดียวที่ถ้าไม่มีผู้ซื้อ ก็ไม่มีผู้ค้าประเวณี “เวลาจับ จับแต่คนขาย ไม่จับคนซื้อ หรือลงโทษคนซื้อน้อยมาก มีบทลงโทษกับแค่ผู้ถูกกระทำ แต่ไม่ลงโทษคนที่เป็นกำลังซื้อ ซึ่งเป็นต้นตอของเรื่อง”
หลายคนอาจมองว่า อาชีพมีตั้งเยอะแยะ ทำไมไม่ทำ มาทำอาชีพแบบนี้ทำไม ทั้งที่ในความจริงเราแทบไม่รู้เลยว่าชีวิตของแต่ละคนต้องผ่านอะไรมาบ้าง
“ทุกคนเคยผ่านครั้งแรก พอผ่านวินาทีแรกที่ตัดสินใจไปแล้ว ก็จะง่ายในรอบต่อๆ ไป ทุกคนมีสาเหตุของการหันเหเข้า เช่น เวลาตกอับ ไม่มีเงินแล้ว ไม่ใช่มองแค่ว่าเขาคิดสั้น นี่ไม่ใช่อาชีพที่ง่าย แต่ไม่ว่าอาชีพอะไร ก็ยากในตอนแรกทั้งนั้น แต่พอเราผ่านไปได้ เราก็รู้สึกว่าในรอบต่อๆ ไป เราก็ทำได้ เขาก็ต้องอยู่ในอาชีพนั้น ซึ่งอาจจะมีความสุขก็ได้ เราเอาอะไรมาวัดว่าเขาไม่มีความสุข”
“ถ้าเรามองโสเภณีเป็นอาชีพหนึ่งได้ก็จบ แต่คนไทยมองเป็นอาชีพที่ขายศักดิ์ศรี ขายเกียรติ แล้วขอทานขายเกียรติมั้ย แต่นี่เป็นอาชีพที่พวกเขาเลือกกันแล้ว สังคมไทยตัดสินคนจากภาพรวม จากเปลือกนอก จากกรอบความคิดที่ถูกหล่อหลอมมา แต่ไม่ได้หาสาเหตุของปัญหาเพื่อหาทางแก้ ต่างประเทศไม่ได้แคร์ อาชีพยู ชีวิตยู ยูเลือกแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับเรา ชีวิตใครชีวิตมัน”
“ถ้าบอกว่าเมื่อหญิงขายบริการเยอะ ยิ่งทำให้เรื่องเพศออกมาเยอะ มันไม่เกี่ยว ยังไงเรื่องเพศก็ต้องออกมาอยู่แล้ว ยิ่งไม่มีหญิงขายบริการ ยิ่งไม่รู้ปัญหาข่มขืนจะมีมากขนาดไหน นี่ขนาดมีนะ”
นอกจากมองว่าเป็นอาชีพหนึ่งในสังคมแล้ว จ๋ามองว่าอาชีพโสเภณีช่วยลดปัญหาการข่มขืนได้ แม้ไม่ทำให้ปัญหาหมดไปแต่ก็ลดภาวะได้
“เราเชื่อว่าเป็นทางระบายออกอย่างหนึ่ง เขาต้องรองรับอารมณ์คนหื่น คนกาม ประเทศไทยยิ่งปิด ก็ยิ่งโผล่ เลยกลายเป็นว่า ฉันไม่มีเงินซื้อ มีอารมณ์ก็เอาคนใกล้ๆ ตัว แต่ต้องมองไปที่ต้นตอด้วย สังคมไทยไม่ได้สอนให้วัยรุ่นรู้ว่า เมื่อมีอารมณ์ทางเพศแล้วทางออกคืออะไร บอกแต่ว่า ให้ไปวิ่ง ตอนที่มันโด่ขึ้นมา ใครจะไปวิ่ง เราต้องทำให้เรื่องการช่วยตัวเองเป็นเรื่องที่พูดได้ปรกติ”
แม้เราจะเห็นภาพและรู้ดีว่าสภาพสังคมในประเทศเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรที่ซ่อนอยู่ใต้พรมบ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่าสังคมยังขาดความเข้าใจปัญหาอยู่มาก ในฐานะคนทำงานด้านนี้มากว่าสิบปี จ๋ามีภาพฝันว่าอยากเห็นสังคมแห่งการยอมรับ
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีของพวกนี้อยู่ ความต้องการของมนุษย์ กินขี้ปี้นอน แต่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เรามีภาพฝันของสวัสดิการที่ทั่วถึง เรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับเท่ากัน เราควรจะมีความสุขในชีวิตบั้นปลายชีวิตจริงๆ ไม่ใช่มุ่งแต่หางานแล้วละเลยปัญหาในครอบครัว เราอยากเห็นสังคมที่ตระหนักถึงการสร้างการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพของมนุษย์มากกว่านี้”
5
ช่วงหัวค่ำ เป็นเวลาที่โต๊ะเบียร์กางเต็มริมฟุตปาธ หญิงขายบริการนั่งเตรียมพร้อม ในห้อง 40 บาท หนุ่มผอมสูงคว้าหญิงสาวสูงยาวเข่าดีเข้าไปด้วยกัน ป้าแก้วหายไปกับหนุ่มเมื่อบ่าย ส่วนป้าแจ่มยังนั่งรอลูกค้า ข้างๆ กันเป็นหญิงสติไม่สมประกอบนั่งร้องเพลงอยู่ใกล้ๆ
รถหรูหลายคันชะลอผ่านหน้ากลุ่มสาวสวยหน้าโรงแรม แต่ยังไม่ได้เลือกหยุดที่คนไหน ฉันกับพี่ช่างภาพขับรถผ่านเพื่อกลับบ้าน แม้กระจกทึบทะมึน แต่หญิงสาวผมหยักศก สวมกางเกงยีนขากระดิ่ง ส่งรอยยิ้มสว่างไสวมาให้
“รอยยิ้มนี่โคตรจริงใจ” พี่ชายว่า
ฉันยิ้มอย่างเห็นด้วย
อ่านสกู๊ป ม้ามวยหวยหม้อ 3 ตอนแรก
ตอนที่ 1 ใครใคร่ค้าม้า ค้า – ใครใคร่เล่นม้า เล่น
ตอนที่ 2 ปล่อยหมัด ขัดศอก ตอกเข่า – วัฒนธรรมเชิงอำนาจในเวทีมวย
ตอนที่ 3 พรุ่งนี้ใครรวย? : หวย – ความหวังในช่องว่างของชนชั้น