fbpx
ทำไมอเมริกันชนจำนวนมากยังคงเลือกทรัมป์

ทำไมอเมริกันชนจำนวนมากยังคงเลือกทรัมป์

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริการะหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต (ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคประชาธิปัตย์ของประเทศไทย) เป็นการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด ถือเป็นประวัติการณ์ที่ต้องจารึกไว้ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบนี้ ไบเดนได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอเมริกา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีมีทั้งแบบที่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสามารถกาบัตรลงคะแนนได้โดยตรง นั่นคือการเดินทางมาลงคะแนนเสียงที่คูหาเลือกตั้งด้วยตัวเอง กับแบบที่สองคือ ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงทางอ้อมโดยโหวตผ่านทางไปรษณีย์ ส่วนใหญ่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด และสะดวกสำหรับหลายๆ คนที่โยกย้ายถิ่นฐานจากถิ่นกำเนิดไปสู่ถิ่นอื่น โดยไม่ต้องเดินทางกลับมาโหวตที่เขตการเลือกตั้งของตนด้วยตัวเอง

แม้ไบเดนจะชนะการเลือกตั้งในที่สุด แต่ก็มิได้สอดคล้องกับผลโพลก่อนวันเลือกตั้งซึ่งชี้ว่า พรรคเดโมแครตน่าจะชนะอย่างถล่มทลาย ตลอดสัปดาห์แห่งการเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายยังต้องต่อสู้ห้ำหั่นกันจนหืดขึ้นคอ โดยเฉพาะในรัฐที่แกว่งไกว (swing state) อย่างจอร์เจีย เพนซิลวาเนีย นอร์ทแคโรไลนา แอริโซนา และเนวาดา ซึ่งมีการนับคะแนนช้ากว่ารัฐอื่น

บทความนี้จะไม่อธิบายผลการนับคะแนนเลือกตั้ง จะไม่พูดถึงระบบการเลือกตั้งแบบ Electoral College และ popular vote แต่ผู้เขียนตั้งใจจะทำความเข้าใจพฤติกรรมการเลือกตั้ง (voting behavior) ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอเมริกา ผู้เขียนมุ่งเน้นที่จะทำความเข้าใจผู้ที่ชื่นชอบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจ และมีปัจจัยความซับซ้อนหลายชั้นที่ผู้เขียนอยากจำแนกให้ผู้อ่านได้เห็น

ในปี 2016 ทรัมป์ได้รับคะแนน popular vote รวม 62,985,106 เสียง (น้อยกว่าฮิลลารีที่ได้ 65,853,625 เสียง แต่ทรัมป์มีเสียง Electoral College มากกว่าจึงชนะเป็นประธานาธิบดี) แต่ในปี 2020 ผลการเลือกตั้งล่าสุดชี้ว่า ทรัมป์ได้คะแนน 71,926,263 เสียง เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2016 กว่า 8 ล้านเสียง และเป็นคะแนนที่มากกว่าบารัค โอบามา ซึ่งเคยครองตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้ popular vote มากที่สุดด้วยซ้ำ (70.5 ล้านเสียง)

คะแนนของทรัมป์ (และไบเดน) ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ที่มากขึ้น หากคิดเป็นอัตราสัดส่วนของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในปี 2016 จะอยู่ที่ 59.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปี 2020 นั้น จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์มีมากถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์[1] กระนั้น คะแนนที่เพิ่มขึ้นก็เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายอยู่ดี

สำหรับหลายๆ คน เมื่อเห็นการให้สัมภาษณ์และการวางตัวของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะคำพูดที่ใช้ หรือการตัดสินใจในฐานะประธานาธิบดี เช่น นัดแรกของคืนที่มีการดีเบตระหว่างทรัมป์กับโจ ไบเดน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองและนักข่าวหลายสำนักวิจารณ์ว่าทรัมป์คอยแทรกคู่ถกเถียงทุกนาทีจนดูเหมือนเด็กห้าขวบที่เถียงแบบข้างๆ คูๆ หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยังมีคนบางกลุ่มลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์ ยิ่งถ้าเห็นผลการเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวกันอยู่ จะเห็นว่าทรัมป์ได้รับจำนวนคะแนนเสียงเกือบกึ่งหนึ่งจากจำนวนคะแนนการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกแยก (polarized) ในอเมริกาที่ชัดเจนที่สุด

คนที่ติดตามข่าวการเมืองสหรัฐฯ จะเห็นว่าทรัมป์มีปัญหาเรื่องความหมิ่นเหม่ในการแยกเรื่องธุรกิจส่วนตัวกับงานการเมือง (conflict of interest)  มีการแต่งตั้งเครือข่ายญาติๆ และพรรคพวกวงในของตัวเองมารับหน้าที่สำคัญในทำเนียบขาว ทรัมป์ยังถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงการจ่ายภาษี ถูกกล่าวหาว่าเปิดทางให้รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งในปี 2016 เพื่อให้ตนเองชนะ บวกกับการที่เขาไม่มีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด แถมยังสนับสนุนกลุ่มคนขาวหัวรุนแรงฝ่ายขวาจัด (white supremacist) ทรัมป์ยังบังคับให้ลูกน้องที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งของเขาลาออก บางทีก็ไล่ออก ส่วนคนที่ไม่พอใจหรืออึดอัดก็แห่กันลาออกเอง เช่นนายพล James Mattis [2] อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสมัยทรัมป์ นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขาดความละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การย้ายสถานทูตอเมริกาจากเมืองเทลอาวีฟไปเมืองเยรูซาเล็ม สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มประเทศมุสลิมทั่วโลก แถมยังอ่านชื่อประเทศไทยไม่ถูก อ่านเป็นตายแลนด์…

พอมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนจึงพยายามทำความเข้าใจเท่าที่จะทำได้ ว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงชอบทรัมป์มากจนเลือกทรัมป์ พอพิจารณาดูแล้ว จะขอแบ่งกลุ่มคนที่ลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์เป็น 4 กลุ่มคร่าวๆ

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่จงรักภักดีต่อพรรครีพับลิกัน เป็นกลุ่มที่มักจะลงคะแนนเสียงให้พรรครีพับลิกันกันมาหลายชั่วอายุคน รุ่นปู่รุ่นพ่อรุ่นลูกเลือกพรรคนี้ รุ่นหลานก็จะเลือกพรรคนี้ หนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์ด้านพฤติกรรมการเลือกตั้งอย่าง The American Voter ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1960 โดย Angus Campbell, Philip E. Converse, Warren E. Miller, และ Donald E. Stokes[3] เป็นกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ตั้งข้อถกเถียงของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า ผู้ที่ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่มักจะโหวตโดยอิงจากพรรคที่ตระกูลของตัวเองโหวตต่อๆ กันมา ส่วนคนที่วางตัวเองเป็นอิสระจากการอิงพรรคใดๆ หรือเป็นเพราะไม่มีความสนใจที่จะต้องยึดติดกับพรรคใดพรรคหนึ่ง คนกลุ่มนี้มักจะไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นกลุ่มที่หนึ่งนี้จะเป็นกลุ่มที่ยืนหยัดอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ไม่ว่าคนลงสมัครจะเป็นใคร จะเป็นเสาไฟฟ้าหรือไม่ คนคนนั้นก็จะโหวตให้กับผู้ลงสมัครชิงประธานาธิบดีที่ลงในนามของพรรครีพับลิกันตลอดไปอย่างไม่มีคำถามใดๆ

 

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนขาวที่อยู่กันกระจัดกระจายตามย่านชนบทของแต่ละรัฐ คนขาวกลุ่มนี้มักเป็นคนขาวที่มีความโกรธเคืองและไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจคนที่อยู่ในเมือง ไม่พอใจคนรวย ไม่พอใจคนที่ทำงานแบบออฟฟิศ ไม่พอใจนักวิชาการที่มักดูถูกดูแคลนคนชนบทอย่างพวกตนว่าไม่มีความรู้และไม่มีฐานะทางสังคม หนังสือที่พูดถึงคนกลุ่มนี้ได้ดีคือหนังสือ The Politics of Resentment: Rural Consciousness in Wisconsin and the Rise of Scott Walker (Cramer, 2016)[4] แคทเธอรีน เครเมอร์ (Katherine Cramer) อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน (University of Wisconsin – Madison) ทำการเก็บข้อมูลทั้งทางสถิติและการสัมภาษณ์เชิงลึกเฉพาะในรัฐวิสคอนซินเป็นเวลาหลายปี โดยศึกษาว่าทำไมรัฐวิสคอนซินถึงเปลี่ยนท่าทีจากรัฐที่เคยโหวตให้กับพรรคเดโมแครต หันมาโหวตให้กับผู้ว่าการรัฐ Scott Walker ซึ่งเป็นคนของพรรครีพับลิกัน

เครเมอร์สรุปว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่คนขาวในชนบทแชร์อัตลักษณ์ทางการเมืองที่มีเอกลักษณ์แบบหนึ่ง ที่เธอเรียกว่า ‘จิตสำนึกของความเป็นคนชนบท’ (Rural Consciousness) หมายถึงคนผิวขาวในเขตชนบทของรัฐวิสคอนซินที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนชนบทของตนเองอย่างสูง เป็นกลุ่มคนที่เคร่งศาสนา อายุเฉลี่ย 50 กว่าปีขึ้นไป การศึกษาระดับมัธยมปลาย เป็นกลุ่มที่ไม่ชอบเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้องค์กรของรัฐบาล กล่าวง่ายๆ คือเป็นกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลเก็บภาษีที่ได้จากท้องที่ของพวกตนเพื่อนำไปใช้ในการสร้างสาธารณูปโภคในเมืองใหญ่ มักจะละเลยพื้นที่ตามชนบท ลักษณะของคนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางของฝ่ายอนุรักษนิยม ยิ่งความเจ็บปวดและความเก็บกดทางการเมืองถูกตอกย้ำมากขึ้นเท่าไหร่ ทิศทางที่คนกลุ่มนี้จะไปทางขวาแบบอนุรักษนิยมก็จะลงลึกมากยิ่งขึ้น

 

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มขวาจัดหัวรุนแรง (white supremacist) และกลุ่มที่เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ตัวอย่างได้แก่ กลุ่ม QAnon[5] กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ FBI ประกาศว่าให้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนเป็นกลุ่มก่อการร้าย กลุ่มคิวอานอนเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะที่คนถูกกักตัวอยู่ในบ้านเพราะโควิด สมาชิกกลุ่มนี้รับรู้ข่าวสารข้อมูลจากทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาเชื่อกันว่าคนในพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะบิล คลินตัน ฮิลลารี คลินตัน ดารานักแสดงฮอลลีวู้ดอย่างทอม แฮงค์ และนักธุรกิจพันล้านอย่างบิล เกตส์จะมีสถานที่บูชายันต์ด้วยเลือดเด็กทารก กินเลือดเด็ก เป็นกลุ่มที่ตั้งใจทำลายอเมริกา และเชื่อว่าทรัมป์เป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมาเกิด ผลการเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส. ที่เป็นสมาชิกคิวอานอนจากรัฐจอร์เจียชนะการเลือกตั้งอีกด้วย ล่าสุดได้มีการเปิดตัวของกลุ่ม Stop the Steal[6] ขึ้นมา เป็นการรวมกลุ่มกันทางเฟซบุ๊ก กลุ่มนี้เชื่อว่าพรรคเดโมแครตที่นำโดยโจ ไบเดน สั่งให้โกงการนับคะแนนเลือกตั้ง (สงสัยว่าคนก่อตั้งกลุ่มนี้อาจจะเคยมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศอาเซียนบางประเทศก็เป็นได้ เลยกังวล) แต่เฟซบุ๊กเพิ่งประกาศระงับเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงอย่างกลุ่ม Proud Boys และ กลุ่มนาซีใหม่ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มฝ่ายขวาจัดหัวรุนแรงที่เกลียดคนต่างชาติ เกลียดคนผิวสี เกลียดคนเชื้อสายยิว เกลียดมุสลิม และเกลียดรัฐบาล มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุความรุนแรงได้เสมอ ประธานาธิบดีทรัมป์มักจะสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้อยู่กลายๆ ในระหว่างการดีเบตของคืนวันแรกกับโจ ไบเดน ทรัมป์ไม่เต็มใจที่จะกล่าวประณามคนกลุ่มหัวรุนแรงนี้ต่อหน้าสาธารณะ แต่กลับพูดเป็นนัยในลักษณะที่เหมือนจะอุ้มชูกลุ่มเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ

 

กลุ่มที่สี่ คือกลุ่มคนที่เพิ่งย้ายถิ่นเข้าไปอาศัยในประเทศอเมริกา (immigrants) มีหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ มีทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในอเมริกาแบบผิดกฎหมาย และมีที่อยู่อาศัยแบบถูกกฎหมาย กลุ่มผู้ที่อพยพมาอเมริกามีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนทรัมป์ และกลุ่มที่ไม่สนับสนุนทรัมป์ ในที่นี้จะพูดถึงแต่เฉพาะคนที่สนับสนุนทรัมป์ อยู่อย่างถูกกฎหมาย และมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มลาตินอเมริกันที่อาศัยอยู่ในรัฐเท็กซัสและฟลอริดา [7] เพราะมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของคนลาติโน่เลือกทรัมป์ หลายคนคงสงสัยว่า ตลอดระยะเวลาที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์มีวาทกรรมที่ดูแคลนคนเม็กซิกันและคนลาตินอเมริกันที่มาจากอเมริกากลางอย่างประเทศเอลซัลวาดอร์และเอกวาดอร์ตลอดเวลา โดยทรัมป์มักกล่าวหาคนต่างด้าวที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาว่า เข้ามาแล้วจะค้ายาเสพติด ทำผิดกฎหมาย รวมตัวกันเป็นแก๊ง เป็นผู้ร้ายก่อคดีข่มขืน ฉะนั้นอเมริกาต้องสร้างกำแพงกั้นระหว่างอเมริกากับเม็กซิโก พอเห็นเช่นนี้แล้ว ทำไมคนลาตินอเมริกันหลายคนถึงยังเลือกทรัมป์กันอีก?​

สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ กลุ่มคนลาตินอเมริกันกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเคร่งศาสนา ทั้งกลุ่มที่นับถือคาทอลิก และอีแวนเจลิคอล (Evangelical) ฉะนั้นพวกเขาจะต่อต้านการทำแท้ง ไม่เห็นด้วยกับ LGBTQ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับกลุ่มหัวอนุรักษนิยมของพรรครีพับลิกัน กลุ่มลาตินอเมริกันกลุ่มนี้มักจะเลือกรีพับลิกันกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก คล้ายกับกลุ่มแรกที่จงรักภักดีกับพรรครีพับลิกัน อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ คณะหาเสียงของทรัมป์เข้าถึงชุมชนของชาวลาตินอเมริกันแบบถึงแก่น พวกเขายังเชื่อด้วยว่าทรัมป์เน้นพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเน้นกลุ่มประกอบกิจการระดับย่อยอย่างพวกเขา

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไทยหลายคนในอเมริกาที่สนับสนุนทรัมป์ มีมิตรสหายท่านหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเล่าให้ฟังว่ามีการแชร์ข้อความผ่านทางไลน์ว่าพรรคเดโมแครตโกงเลือกตั้ง และกังวลว่าไบเดนจะนำพาอเมริกาไปสู่ความเป็นสังคมนิยม กลุ่มคนไทยกลุ่มนี้ยังตั้งข้อสงสัยว่าตอนที่ไบเดนลูบไล้เด็ก ท่าทางเหมือนอยากกินเลือดเด็ก เนื้อหาข่าวที่กลุ่มพวกเขาแชร์กันเองจะมาจากสำนักข่าวอย่าง Newsmax และ Breitbart ซึ่งเป็นสำนักข่าวฝ่ายขวาจัด และเชื่อข่าวที่แชร์กันมาแบบไม่มีต้นทาง

สำหรับผู้เขียนเอง นี่ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะหลายคนในกลุ่มนี้อ้างว่าทรัมป์มีความจริงใจ รวยมาก่อนแล้วเลยไม่โกง ไม่มีพรรคพวก อยู่ตัวคนเดียว เพราะคนอื่นๆ ในสภาและในทำเนียบล้วนเป็นกลุ่มสถาปนาเก่า คนไทยกลุ่มนี้ยังเชื่ออีกด้วยว่าข่าวที่นำเสนอจากสื่อกระแสหลักนั้นเชื่อถือไม่ได้ เชื่อถึงขนาดที่ว่ากูเกิลเองก็ปิดบังข่าว หลายคนต่อต้านคนต่างชาติที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย มีการแสดงออกว่ารังเกียจคนอพยพชาวมุสลิม รังเกียจคนผิวดำ และเชื่อว่าทรัมป์เป็นคนที่จะกอบกู้เศรษฐกิจอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่ได้ สาเหตุที่เลือกทรัมป์อาจเป็นเพราะบริบทสังคมรอบตัวเองนิยมทรัมป์ จึงเป็นความพยายามที่จะสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้มีตัวตนในสังคมอเมริกัน พยายามที่จะหลอมรวมเป็นคนอเมริกัน (blend in) กลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ยังดำรงอัตลักษณ์และความเชื่อหลายอย่างจากประเทศบ้านเกิดของตน ขณะเดียวกันก็พยายามปรับอัตลักษณ์ที่มีอยู่ของตัวเองให้เข้ากับคนท้องถิ่นที่อยู่ใหม่ที่รายล้อมตน

บทความสั้นๆ ชิ้นหนึ่งจาก The Irish Times[8] ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า คนที่อพยพเข้าไปตั้งหลักตั้งฐานในอเมริกาจะมีความรู้สึกว่าประเทศอเมริกามีบุญคุณกับตัวเองเพราะให้ที่อยู่ ให้โอกาสตัวเองทำงานจนตั้งตัวได้ แต่ก็จะมีสภาวะความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ในตัวเอง บทความชิ้นนี้ยกตัวอย่างของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนดังของสหรัฐฯ อย่างนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีหญิงอิสราเอล โกลดา แมร์ เคยขอเสียงสนับสนุนจากคิสซิงเจอร์ คิสซิงเจอร์ซึ่งเป็นคนเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพเข้ามาอยู่อเมริกาตอบปฏิเสธนางโกลดา แมร์ไปว่า ไม่ได้หรอก เพราะข้อสำคัญข้อแรก เขาเป็นคนอเมริกัน ความสำคัญอันดับที่สองคือเขาเป็นรัฐมนตรี ส่วนความสำคัญขั้นสุดท้ายคือ เขาเป็นยิว

คนที่อพยพไปอยู่ประเทศใหม่จะต้องจัดเรียงลำดับอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่บางครั้งก็จะตกอยุ่ในสภาวะที่ต้องเลือกว่าอัตลักษณ์ไหนสำคัญที่สุด นำไปสู่ความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ที่มีอยู่ในตัวเอง เมื่อผนวกแนวคิดนี้กับกรณีคนลาตินอเมริกัน คนเชื้อสายลาตินอเมริกันจึงเลือกที่จะแสดงออกว่าชอบทรัมป์มากกว่าที่จะเห็นใจคนเชื้อชาติเดียวกันที่เพิ่งลักลอบเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย การเลือกทรัมป์จะเป็นการแสดงออกถึงความเป็นอเมริกันของตัวเองมากกว่า พวกเขาพยายามสร้างอัตลักษณ์ของพวกเขาให้หลอมรวมจากความเป็นลาติโน่สู่สภาวะของความเป็นอเมริกัน นำไปสู่การสร้างความเป็นชาตินิยมใหม่ขึ้นมาเพื่อปกป้องพวกเขาให้อยู่รอดต่อไปในประเทศใหม่ของพวกเขา

 

ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มเพื่อให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่มที่เลือกทรัมป์ หากแต่ว่าแต่ละกลุ่มก็มีความซ้อนทับกันระหว่างกลุ่มได้ เช่น กลุ่มผู้อพยพอย่างกลุ่มลาตินอเมริกันในกลุ่มที่สี่ จะซ้อนทับกับกลุ่มที่หนึ่งที่จงรักภักดีต่อพรรครีพับลิกัน หรือกลุ่มคนขาวในชนบทในกลุ่มที่สอง บางครั้งจะซ้อนทับกับกลุ่มที่สามที่เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด หรือกลุ่มคนอพยพอย่างคนไทยในกลุ่มที่สี่ ซ้อนทับกับกลุ่มที่สามที่เชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด เป็นต้น

ในท้ายที่สุด การที่คนอเมริกันไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม ต่างมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่ตัวเองชอบ คนที่เลือกทรัมป์และชอบทรัมป์ก็ไม่ผิด เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะชอบและชื่นชมประธานาธิบดีโดนัลด์​ ทรัมป์หรือใครก็ตาม เพียงแต่อย่าให้ความชอบที่มีเกินเลยจนถึงขั้นตกเป็นเครื่องมือหรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่นำไปสู่การยุแยง ปลุกปั่น หรือตีกระแสให้กระเพื่อมจนทำให้เกิดความรุนแรง เพราะนี่คือวิธีการที่ทรัมป์ใช้ตลอดระยะเวลาในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

 

อ้างอิง

[1] Michael P. McDonald, University of Florida (2020). The United States Elections Project. See: http://www.electproject.org/2020g

[2] The Atlantic, Jeffrey Goldberg. June 3, 2020. “James Mattis Denounces President Trump, Describes Him as a Threat to the Constitution.” See: https://www.theatlantic.com/politics/archive/2020/06/james-mattis-denounces-trump-protests-militarization/612640/

[3] Angus Campbell, Philip Converse, Warren Miller, and Donald E. Stokes. (1980). The American Voters. University of Chicago Press.

[4] Katherine Cramer. (2016). The Politics of Resentment: Rural Consciousness in Wisconsin and the Rise of Scott Walker. University of Chicago Press.

[5] The Guardian, October 16, 2020. Lois Beckett. “QAnon: a timeline of violence linked to the conspiracy theory.” See: https://www.theguardian.com/us-news/2020/oct/15/qanon-violence-crimes-timeline

[6] Washington Post, November 6, 2020. Tony Romm, Isaac Stanley Becker, and Elizabeth Dwoskin. “Facebook bans ‘STOP THE STEAL’ group Trump allies were using to organize protests against vote counting”. See: https://www.washingtonpost.com/technology/2020/11/05/facebook-trump-protests/?fbclid=IwAR0PJS4Qcx6QYnawgCmkEip-cWFYq93AsVYzknUVP-LtD1-euImFzDtNJGs

[7] NBC News, November 5, 2020. Suzanne Gamboa and Carmen Sesin. “Trump’s gains among Latino voters shouldn’t come as a surprise. Here’s why”. See: https://www.nbcnews.com/news/latino/trump-s-gains-among-latino-voters-shouldn-t-come-surprise-n1246463

[8] The Irish Times, July 17, 2019. Oliver Sears. “Why do immigrants vote for people like Donald Trump? See: https://www.irishtimes.com/opinion/why-do-immigrants-vote-for-people-like-donald-trump-1.3958411

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save