fbpx
ถนนสู่ทำเนียบขาว GEOGIA

ปาฏิหาริย์จอร์เจียแบบไบเดนสไตล์ โอกาสสอบซ่อมคุมสภาสูงของเดโมแครต

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

 

This is America ภาค spin-off

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ลุ้นกันมันหยดที่สุดน่าจะใกล้ถึงบทสรุปยกหลักแล้ว สุดท้ายชัยชนะทางการเมืองไม่ได้มาจากความเถื่อนถ่อยเอาแต่ใจของผู้นำ แต่มาจากเสียงประชาชน

หลังวันเลือกตั้ง โจ ไบเดน พลิกสถานการณ์ขึ้นนำโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นระลอกจากพลังของ mail-in voter วันรุ่งขึ้น ไบเดนพลิกขึ้นนำที่วิสคอนซินและมิชิแกน วันถัดมา แซงหน้าที่จอร์เจียแบบหลายคนคาดไม่ถึง (ขอบคุณแอตแลนตา!) ต่อด้วยเพนซิลเวเนียในที่สุด แม้ว่าในคืนวันปิดหีบเลือกตั้งคะแนนของไบเดนที่เพนซิลเวเนียตามหลังทรัมป์กว่า 700,000 คะแนนก็ตาม แต่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าและทางไปรษณีย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเดโมแครต เทคะแนนให้เขาในสัดส่วนสูงถึง 80:20 เลยทีเดียว

หลายคนปลื้ม แต่บางคนไม่ปลื้ม!

ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาจากหนังแอ็คชั่นดราม่าการเมืองครบรสเรื่อง ‘ทรัมป์ v ไบเดน’ ที่ดูสนุกเหลือเกิน แต่ยังนะครับ ความสนุกยังไม่จบ หนังภาคต่อไปที่นำแสดงโดยทรัมป์และไบเดนจะมาไหม พล็อตเป็นอย่างไร ไว้รอลุ้นกัน แต่ผมอยากชวนชมหนัง spin-off อีกเรื่องกันต่อในเดือนมกราคม 2021

เป็นหนังที่จะกำหนดชะตาชีวิตของการเมืองอเมริกาไม่แพ้เรื่องแรก

โลเคชั่นหลักของหนังเรื่องนี้คือ ‘จอร์เจีย’ และเนื้อหาหลักว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครับ

 

ตรวจข้อสอบเดโมแครต

 

ไม่ว่าสุดท้ายพรรคเดโมแครตจะส่งไบเดนเข้าทำเนียบขาวได้หรือไม่ก็ตาม ก็ยากที่จะบอกได้อย่างเต็มปากว่าพรรคเดโมแครตประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2020 มีงานอีกมหาศาลรอให้ทำ ตั้งแต่การสร้างและแสวงหาผู้นำรุ่นใหม่ในพรรคเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 (ป่านนั้นไบเดนอายุ 82 ปีแล้วนะครับ ไม่น่าจะไหวแล้ว) รวมถึงการสำรวจจิตวิญญาณใหม่ อัตลักษณ์ใหม่ และฐานนโยบายใหม่ของพรรค โดยเฉพาะการหาสมดุลใหม่ระหว่างสายซ้ายและสายกลางของพรรค

รอบนี้ นักวิเคราะห์การเมืองคาดการณ์ว่าไบเดนจะชนะถล่มทลาย แต่ไบเดนก็ทำได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง ทรัมป์ยังแข็งแกร่งเกินคาด และแม้ว่าสุดท้ายทรัมป์อาจจะหลุดจากเก้าอี้ประธานาธิบดี แต่ legacy ของทรัมป์จะยังอยู่หลอกหลอนการเมืองอเมริกันไปอีกนาน ทั้งการเมืองมวลชนแบบขวาประชานิยมผสมขาวคลั่งชาติ ไปจนถึงการเมืองเรื่องศาลสูงสุดว่าเดโมแครตจะแก้หมาก 6:3 ในศาลสูงสุดอย่างไร

ด้านสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเลือกตั้งประเมินกันว่า เดโมแครตจะชนะขาด ขยายที่นั่งในสภาได้อีก แต่ผลออกมาแล้ว ฐานเสียงของรีพับลิกันยังแข็งแกร่ง เป็นฝ่ายแย่งเก้าอี้กลับคืนมาได้มากกว่าโดนแย่งเก้าอี้ใหม่ แม้เดโมแครตน่าจะรักษาเสียงข้างมากไว้ได้ แต่ยังมีการบ้านให้ต้องทำอีกเยอะ ถ้าดูรายละเอียดของคะแนนระดับเขต เดโมแครตเข้าป้ายด้วยสัดส่วนชัยชนะน้อยกว่าเขตที่รีพับลิกันชนะ, ส.ส. เดโมแครตหน้าใหม่ที่เข้ามาเมื่อมิดเทอม 2018 หลุดเก้าอี้ไปหลายคน และการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตสนามรบที่ถูกจับตาเพราะคะแนนสูสีกันมาก ฝ่ายรีพับลิกันคว้าชัยไปครองได้เป็นส่วนใหญ่

ส่วนวุฒิสภา ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่เลยครับ เดโมแครตหมายมั่นปั้นมือว่าจะแย่งเสียงข้างมากกลับมาได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็ไม่มีปัญญา

แกนนำเดโมแครตในวุฒิสภาออกมาขู่แกนนำรีพับลิกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเลยว่า สภาชุดหน้าได้เห็นดีกันแน่ เพราะจะเอาคืนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่รีพับลิกันเร่งผลักดันการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ก่อนการเลือกตั้ง ทั้งที่สมัยบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี เกิดกรณีเดียวกันเป๊ะ แต่วุฒิสภารีพับลิกันไม่ยอมทำอะไร เลี้ยงบอลไปมา อ้างว่าเป็นปีเลือกตั้ง ควรรอให้เสียงประชาชนในสนามเลือกตั้งตัดสินก่อน (อ่านรายละเอียดได้ ที่นี่) แต่พอรอบนี้บอลเข้าทางตีนฝั่งตัวเอง กลับซัลโวไม่ยั้ง

สมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนของรัฐ ไม่ว่ารัฐใหญ่หรือเล็ก ประชากรมากน้อย ร่ำรวยขนาดไหน ทุกรัฐ (50 รัฐ) มีจำนวนสองคนเท่ากัน ทั้งวุฒิสภามี 100 คน วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ในการเลือกตั้งทุกสองปี จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมด (เริ่มครองตำแหน่งและพ้นตำแหน่งไม่พร้อมกัน แยกเป็นสามชุด เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีโอกาสเปลี่ยนเสียงข้างมากได้ทุกสองปี) ในการเลือกตั้ง 2020 มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 35 คน เจ้าของเก้าอี้เป็นรีพับลิกัน 23 คน เดโมแครต 12 คน

ตอนทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยคะแนน 51 ต่อ 49 เมื่อการเลือกตั้งมิดเทอม 2018 เดโมแครตก็ท่าดีทีเหลวไปครั้งหนึ่งแล้ว บอกว่าจะทวงคืนวุฒิสภา กลับได้เสียงลดลง รีพับลิกันมีเสียง 53 ต่อ 47 เลยโดนเขาข่มมาตลอด

รอบนี้เดโมแครตหมายมั่นปั้นมือยิ่งกว่าเดิม เพราะคิดว่าคะแนนนิยมทรัมป์ตกต่ำด้วยเรื่องโควิดและการใช้อำนาจฉ้อฉลอีกสารพัด และรอบนี้เป็นการเล่นเกมรุกแย่งเก้าอี้ต่างจากสองปีก่อนที่เล่นเกมรับรักษาเก้าอี้ เพราะจำนวนคนที่หมดวาระครั้งก่อนเป็นเดโมแครตมากกว่า ครั้งนี้เดโมแครตต้องการแย่งเก้าอี้รีพับลิกันมาให้ได้ 4 เสียง จาก 23 เสียง เพื่อครองเสียงข้างมาก 51 เสียง แต่ถ้าไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีก็ต้องการแค่ 3 เสียงเท่านั้นพอ เพราะแม้คะแนนจะเท่ากันที่ 50:50 แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้รองประธานาธิบดีเป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง เมื่อเสียงเท่ากัน ประธานจึงสามารถมาออกเสียงชี้ขาดได้

 

[box] เกร็ดการเมือง: ในทางปฏิบัติ รองประธานาธิบดีไม่มานั่งเป็นประธานที่ประชุมวุฒิสภาหรอกนะครับ ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาว่ากันไป จะโผล่มาเล่นบทบาทนี้ก็แค่ในจังหวะสำคัญ เช่น การมาออกเสียงชี้ขาดกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน หรือมาออกงานตอนประธานาธิบดีแถลง State of the Union ในการทำงานปกติ วุฒิสภาเขาจะเลือกประธาน (President pro tempore) ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเสียงข้างมากกันเอง โดยมากคือผู้อาวุโสสูงสุดในพรรค แต่ตำแหน่งนี้ก็มีอำนาจเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ผู้นำตัวจริงที่บงการเกมอำนาจในวุฒิสภาคือตำแหน่งผู้นำเสียงข้างมาก (Majority Leader) ต่างหาก คนนี้คือมิตช์ แมคคอนเนล นั่นเอง ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ เวลาประชุมวุฒิสภากันจริงๆ ประธานอาวุโสที่ว่าก็จะไม่นั่งเป็นประธานนะครับ เขามักจะให้สมาชิกวุฒิสภารุ่นใหม่มานั่งรับบทประธานเพื่อฝึกปรือให้คุ้นเคยกับกระบวนการการเมืองทางนิติบัญญัติ [/box]

 

พรรคเดโมแครตหวังว่าจะยึดตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มจากพื้นที่สนามรบหลายแห่ง เช่น นอร์ทแคโรไลนา เมน จอร์เจีย ไอโอวา มอนทานา โคโลลาโด แอริโซนา กระทั่งเซาท์แคโรไลนา บางรัฐเป็นสนามเปิดเพราะคนเก่าเลิกเล่นการเมือง บางรัฐเป็นการสู้กับสมาชิกวุฒิสภาชั่วคราวที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐไปก่อนเมื่อคนเก่าลาออก แต่เมื่อถึงจังหวะเลือกตั้งต้องมาลงเลือกตั้งให้ประชาชนรับรองและอยู่ในวาระเท่ากับเวลาที่เหลืออยู่ของเจ้าของเก้าอี้เดิม บางรัฐเป็นการจ้องกำจัดจุดอ่อน เพราะมองเห็นว่าคนเก่ามีโอกาสเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองสูง

สุดท้าย เดโมแครตแย่งมาได้แน่แค่สองตำแหน่งจากโคโลราโดและแอริโซนา แต่ก็เสียไปหนึ่งตำแหน่งที่แอละบามา แถมหวุดหวิดเสียที่มิชิแกนด้วย ยังดีที่ตีตื้นแซงกลับแบบไบเดนสไตล์ได้สำเร็จ สรุปเดโมแครตเลยได้แค่บวกหนึ่งเป็น 48 เท่านั้น

กองเชียร์หลายคนก็ถอดใจ ต้องเก็บความแค้นสุมอกไว้ต่อไป ถ้าไบเดนขึ้นมาก็คงทำงานได้ยาก เพราะจะโดนวุฒิสภาขวางแน่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ถ้ามีโอกาส สี่ปีมานี้ ทุกคนเห็นความเขี้ยวลากดินของแมคคอนเนลอย่างดี

 

โอกาสสอบซ่อมหล่นที่จอร์เจีย

 

แต่ครับแต่ … กลายเป็นว่าสงครามยังไม่จบ เพราะจอร์เจียดันไม่เหมือนใคร กฎหมายเลือกตั้งของจอร์เจียบอกว่า หากผู้ชนะเลือกตั้งได้คะแนนไม่ถึง 50% ต้องเอาผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดสองคนมา run-off เลือกตั้งกันใหม่อีกรอบในเดือนมกราคมปีต่อไป

แล้วรอบนี้ กลายเป็นกรณีพิเศษเสียอีก จอร์เจียดันมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองคน!

ปกติเราจะไม่ได้เห็นสมาชิกวุฒิสภารัฐเดียวกันต้องลงสนามเลือกตั้งพร้อมกัน แต่คราวนี้เพราะตำแหน่งหนึ่งเป็นการเลือกตั้งครบวาระปกติ ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการเลือกตั้งพิเศษ

ศึกแรก เดวิด เปอร์ดิว สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันซึ่งหมดวาระ ลงแข่งกับจอน ออสซอฟ อดีตนักข่าวหนุ่ม ที่ลงสมัครในนามเดโมแครต วันเลือกตั้ง เปอร์ดิวชนะออสซอฟได้สำเร็จ คะแนนเบื้องต้นได้เกินครึ่ง 50% นิดๆ เหมือนจะพอดิบพอดีแล้ว

ศึกที่สอง ปีที่แล้ว จอห์นนี อิซัคสัน ลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ ผู้ว่าการรัฐตั้งเคลลี ลอฟเฟลอร์ มาทำหน้าที่แทน พอถึงวันเลือกตั้งใหญ่ ลอฟเฟลอร์ก็ต้องมาลงสนามแข่งให้ประชาชนตัดสิน แข่งกับผู้สมัครรายอื่นๆ ปรากฏว่าในการเลือกตั้งพิเศษแบบเปิด ราฟาเอล วอร์นอค พรรคเดโมแครต ได้คะแนนเสียงประมาณ 32% ส่วนลอฟเฟลอร์ได้ประมาณ 26% ที่เหลือเป็นผู้สมัครคนอื่นๆ จากทั้งสองพรรค ทั้งสองคนจึงต้องแข่งกันใหม่แน่นอนในการเลือกตั้งต้นปีหน้า

ทีแรกทุกคนต่างเข้าใจว่าเดโมแครตมีโอกาสแก้มือแค่ศึกเดียว ถ้าชนะก็จะได้เสียง 49 เสียง เป็นเสียงข้างน้อยวันยังค่ำ แต่บางครั้งหนังการเมืองก็เป็นหนังเขย่าประสาทถึงขั้นโรคจิต มันไม่ยอมจบครับ

ปาฏิหาริย์จอร์เจียมีอยู่จริง!

เมื่อบัตรลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ถูกนับมากขึ้นๆ คะแนนเหล่านั้นไม่ได้แค่ช่วยทำให้คะแนนไบเดนตีตื้นทรัมป์จนพลิกแซงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้คะแนนของออสซอฟในศึกแรกตีตื้นขึ้นมาด้วย สุดท้ายแม้ว่าออสซอฟจะไม่ชนะ แต่ส่งผลทำให้คะแนนของเปอร์ดิวถูกกดลงมาจนต่ำกว่า 50% !

ถ้านับบัตรจนครบถ้วนแล้ว เปอร์ดิวได้ไม่ถึงครึ่ง อเมริกาก็จะมีเลือกตั้งใหม่ชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอีกสองสนาม และหากเดโมแครตอาศัยโมเมนตัมฟีลกู้ดถ้าชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีได้จริง คว้าสองเก้าอี้มาได้ คะแนนเสียงในวุฒิสภาก็จะกลายเป็น 50-50 โดยมีกามาลา แฮร์ริส ที่มีโอกาสขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีปีหน้า เป็นเสียงชี้ขาดที่ 51 ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง

เดโมแครตก็จะยึดวุฒิสภาได้ในที่สุด!

ปาฏิหาริย์จอร์เจียของเดโมแครตไม่ใช่เรื่องบังเอิญเกินจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากพลังการเมืองและการทำงานหนักของคนแพ้เลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนคนหนึ่ง เธอคือสเตซีย์ อับบรามส์ นักการเมืองสาวผิวดำวัย 46 ปี นักกฎหมาย นักต่อสู้เพื่อสิทธิการลงคะแนนเสียงของคนผิวดำ ซึ่งทำงานเป็นผู้แทนในสภามลรัฐของจอร์เจียมาสิบปีเต็มก่อนลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐจอร์เจียเมื่อปี 2018 แต่พ่ายแพ้ไปแบบสร้างประวัติศาสตร์

วันหลังจะมาอธิบายให้ฟังว่าทำไม ผ่านการเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอให้อ่านกันเป็นการเฉพาะอีกครั้ง

สถานการณ์การเมืองทั้งหมดนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่เชื่อแน่ว่าต้นปีหน้าถนนทุกสายจะมุ่งสู่จอร์เจีย จอร์เจียจะไม่ได้เป็นแค่จอร์เจีย แต่จะเป็นสมรภูมิระดับชาติที่แกนนำทั้งสองพรรคจะไปโรมรันต่อสู้ทางการเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงในสงครามตัวแทนภาคต่อ กลุ่มทุนผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคจะทุ่มงบลงไปในสนามเลือกตั้งมหาศาล เช่นเดียวกับเหล่ามนุษย์การเมืองและกลุ่มรณรงค์ทางสังคมคงลุยกันสนุก

ส่วนผู้ชมอย่างเราก็ไม่เหงา รอชมหนังการเมืองสนุกๆ เรื่องใหม่ไปด้วยกัน

ใครแค้นรอบนี้ยังมีปีหน้าให้รอชำระ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save