fbpx
ตำรวจประชาธิปไตย : ฟังเสียงคนใน ปฏิรูปตำรวจให้เคียงข้างประชาชน

ตำรวจประชาธิปไตย : ฟังเสียงคนใน ปฏิรูปตำรวจให้เคียงข้างประชาชน

สมคิด พุทธศรี และ วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ และ ธิติ มีแต้ม ภาพ

 

การสลายการชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำและแก๊สน้ำตาที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และหน้ารัฐสภาในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ไม่เพียงแต่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในภาพใหญ่ร้อนแรงและแหลมคมมากขึ้นเท่านั้น ‘ตำรวจ’ เองก็ถูกสังคมรุมกระหน่ำตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วง

ไม่นับอีกหลายเหตุการณ์จับๆ ปล่อยๆ แกนนำม็อบจนทำให้ข้ออ้างที่บอกว่า “ทำตามหน้าที่” หรือ “ทำตามกฎหมาย” ดูไร้ความหมาย ความชอบธรรมของตำรวจถูกท้าทาย ท่ามกลางความคับข้องใจว่า เหตุใด ‘คำสั่งนาย’ จึงใหญ่กว่าหลักเหตุผล

ไม่ใช่ตำรวจทุกนายจะยอมทนรับสภาพนี้ ยังมี ‘ตำรวจประชาธิปไตย’ จำนวนหนึ่งเชื่อว่าสภาพเช่นนี้รังแต่นำองค์กรไปสู่ความตกต่ำ และตำรวจจำเป็นที่จะต้องถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ ลึกลงไปถึงระดับปรัชญาพื้นฐานขององค์กร

101 สัมภาษณ์พิเศษ นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรคนหนึ่ง ในฐานะ ‘คนใน’ ผู้เชื่อว่าตำรวจไทยดีกว่านี้ได้ และเชื่อว่าหนทางของการเป็นตำรวจสมัยใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพ ตอบโจทย์ประชาชนนั้นแยกไม่ออกกับการสร้างประชาธิปไตยในสังคม

ตำรวจต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นพลเรือน มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เก่งกาจด้านวิชาตำรวจและกลยุทธ์ตำรวจ เป็นมิตรและเข้าใจประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้ได้ ประชาชนจะรักตำรวจเลย

แต่ถ้าคุณยังรับใช้อำนาจ รับใช้รัฐบาล ไม่เห็นหัวประชาชน ยังไงประชาชนก็ไม่มีวันรัก ไม่มีทางไว้ใจ ก็จะไม่ชอบคุณโดยธรรมชาติ แล้วคุณทำตัวคุณเอง ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ไม่รู้ว่าที่สอนๆ มามันผิด มันเป็นอำนาจนิยม แต่เขาไม่รู้ว่ามันคืออำนาจนิยม และไม่รู้ว่าใช้อย่างนี้มันผิด

นี่คือตำรวจในอุดมคติของนายตำรวจคนหนึ่งที่อยู่ในองค์กรมาหลายทศวรรษ รักองค์กรตำรวจไม่แพ้ใคร และอยากให้ตำรวจอยู่เป็นเพื่อนและเคียงข้างกับประชาชนอย่างแท้จริง

 

หมายเหตุ – สัมภาษณ์วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

 

 

การชุมนุมประท้วงในช่วงที่ผ่านมา เกิดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชนที่มาชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจับ-ปล่อย วิธีการจัดการม็อบ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณว่า รัฐกำลังใช้ตำรวจเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการจัดการผู้เห็นต่าง ในแวดวงตำรวจมองเรื่องนี้อย่างไร

สังคมตำรวจเหมือนกับสังคมประเทศไทย คือมีความเห็นทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งมองว่าการทำงานของตำรวจถูกต้อง เพราะม็อบไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนอีกฝั่งบอกว่า การทำงานของตำรวจไม่ถูกต้อง เพราะว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ถ้าให้พูดแบบรวมๆ ตำรวจที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมจะมองแบบแรก ส่วนตำรวจที่มีความคิดหัวก้าวหน้าจะคิดแบบหลัง เวลาถกเถียงกันก็เป็นแบบนี้ ไม่ต่างจากสังคมภาพใหญ่เท่าไหร่

เรื่องการจัดการม็อบและวิธีการจับ-ปล่อยแล้วอายัดตัวต่อเนื่องกันไป เป็นวิธีที่มีกฎหมายรองรับ แต่เป็นวิธีที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างมาก การใช้วิธีแบบนี้สามารถมองได้ว่าเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่าง

 

คุณบอกว่าตำรวจมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีคำสั่งออกมาแล้วเหมือนว่าจะไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ทุกคนอ้างว่าทำตามหน้าที่บ้าง นายสั่งบ้าง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

ปัญหาสำคัญที่สุดของตำรวจคือ ปรัชญาขององค์กร  ตำรวจทุกวันนี้มีความเป็นทหารทั้งในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ในเชิงโครงสร้างคือ นักเรียนนายร้อยตำรวจเอามาจากนักเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนนายร้อยตำรวจก็กลายมาเป็นผู้บริหารหลักในองค์กรตำรวจ ทำให้ตำรวจมีส่วนเกี่ยวโยงกับทหารตั้งแต่จุดเริ่มต้น ในเชิงวัฒนธรรมก็ยึดถือวัฒนธรรมทหาร ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีการฝึกแบบทหาร คำสั่งพี่ คำสั่งครูฝึก คำสั่งนายเป็นที่ตั้ง คำสั่งผู้บังคับบัญชามีความสำคัญสูงสุด เน้นการปฏิบัติตามคำสั่ง ให้อยู่ในแถว แต่ไม่ได้ปลูกฝังการยึดหลักนิติธรรม (rule of law) เป็นที่ตั้ง

เมื่อมาทำงานในองค์กรก็นำแนวคิดที่ถูกปลูกฝังในโรงเรียนมาใช้ ยึดถือแต่คำสั่งนายคือที่สุด จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว และยังมีระเบียบตำรวจที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเลยว่า ถ้าคุณไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา คุณจะโดนอะไร ไหนจะข้อบังคับทางกฎหมายอีก

สมมติผมได้รับคำสั่งให้สลายม็อบ แต่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง ก็มีสิทธิโดนลงโทษทั้งทางวินัยและตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เวลาโดนแบบนี้ใครจะมาช่วย บางคนบอกว่าให้ไปสู้ที่ศาล แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะชนะคดี ภายใต้โครงสร้างแบบนี้การปฏิบัติตามคำสั่งจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยคือ การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคม ผมเชื่อว่ามีตำรวจหลายคนไม่เห็นด้วย รู้ว่าผิดหลักสากล ผิดจากที่ฝึกที่สอนกันมา แต่ไม่มีทางเลือก ได้รับคำสั่งมาก็ทำ

 

คุณใช้คำว่า “ผิดหลักสากล” ซึ่งไม่ตรงกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันต่อสาธารณะ

การสลายการชุมนุมวันที่ 16 ตุลาคมชัดเจนว่าไม่ถูกหลักสากลอยู่แล้ว เพราะว่าตามหลักสากลการจะใช้กำลังได้จะต้องมีเหตุผลรองรับ เช่น มีเหตุรุนแรง มีการทำลายข้าวของ มีความตั้งใจยึดสถานที่ หรือสร้างความเดือดร้อน นอกจากนี้การใช้กำลังต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ใช้วิธีอื่นไม่ได้แล้ว ในกรณีวันที่ 16 ม็อบประกาศชัดเจนว่าจะแยกย้ายเวลาใด ไม่มีการทำร้าย ไม่มีการใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงไม่มีความชอบธรรมในการเข้าสลายการชุมนุมตามหลักสากลเลย อันที่จริงไม่ต้องยึดตามหลักสากลก็ได้ แม้แต่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คุณก็ไม่มีสิทธิสลาย สังคมไทยไม่ควรปล่อยผ่านในเรื่องนี้ ตำรวจต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการสลายการชุมนุมอยู่บนหลักอะไร ควรจะต้องมีการสอบสวนและหาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้

ตามหลักสากลเกี่ยวกับการใช้กำลังเข้าปราบปราม (use of forces) จะต้องมีหลัก ‘ความรับผิดชอบ’ (accountability) อยู่ด้วย กล่าวคือ เมื่อมีการใช้กำลังแล้ว ต้องมีการตรวจสอบว่ามีการใช้ถูกต้องหรือเปล่า ต้องมีการบันทึกว่าทำอะไรบ้างในแต่ละปฏิบัติการ ใครเป็นผู้สั่งการ เก็บหลักฐานไว้อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นก็มาทบทวนดูว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่ ในแง่นี้ ในประเทศไทยยังไม่มีการนำหลักความรับผิดชอบมาใช้อย่างเป็นระบบ

 

 

แต่ตำรวจอ้างตลอดว่า การสลายการชุมนุมเริ่มต้นจากเบาไปหนัก และได้มีการประกาศบอกผู้ชุมนุมก่อนแล้ว

จากเบาไปหนักหมายความว่า คุณต้องมีความชอบธรรมในการใช้กำลังด้วย สมมติว่าม็อบบางส่วนเริ่มเข้าไปทำลายร้านค้า ตำรวจต้องบอกว่าให้หยุด ต้องมีการเจรจาก่อน ถ้าไม่ยอมทำตาม คุณถึงจะเริ่มบอกว่า เราจะฉีดน้ำนะ ถ้ายับยั้งไม่ได้จึงขยับมาใช้แก๊สน้ำตา ฯลฯ แต่นี่ไม่มีเหตุให้ใช้กำลังเลย

ไม่ต้องพูดถึงว่า ตามหลักสากลในการฉีดน้ำเขาจะไม่ฉีดผู้ชุมนุมทั้งหมดเพื่อสลายม็อบ แต่เขาจะฉีดเฉพาะกลุ่มคนที่กระทำรุนแรงเท่านั้น นี่คือหลักสากล แต่ม็อบวันที่ 16 ตุลาคม ยังไม่มีการกระทำรุนแรงใดๆ และไม่ได้บอกด้วยว่าจะยึดพื้นที่อยู่ทั้งวันทั้งคืน เขาบอกว่าสี่ทุ่มจะกลับบ้าน แล้วตอนทุ่มครึ่งคุณเข้าไปสลายเพื่ออะไร อันนี้คือคำถามซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจ มองว่าอย่างไรก็ผิด

 

ถ้าโครงสร้างและวิธีคิดของตำรวจคือการปฏิเสธคำสั่งนายไม่ได้ พูดได้ไหมว่า ถ้าจะมองปัญหาเฉพาะหน้าต้องถามว่า คนสั่งการคิดอะไรอยู่

ถูกต้อง อยู่ที่คนสั่งคนเดียว

 

แล้วเวลามีคำสั่งให้ปฏิบัติการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการรู้ไหมว่าใครคือคนที่สั่งการ หรือเขารู้แค่ระดับผู้บังคับบัญชาของเขา

น่าจะรู้ เพราะคำสั่งจะมีมาตามสายบังคับบัญชาที่ชัดเจนว่าใครดูแลอะไร อย่างไร ในการปฏิบัติการจริง เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็ต้องฟังผู้บังคับการกองร้อย (ผบ.ร้อย) แต่ ผบ.ร้อย ก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าอีกที

 

ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ในวันที่ 16 ตุลาคม จะทำอย่างไร

…. (ถอนหายใจ) มันยากนะ ไม่มีทางเลือกเลย ถ้าผมมีอำนาจในการสั่งไม่สลายได้ ตัดสินใจได้เลยว่าไม่สลายแน่นอน แต่ถ้าผมเป็นระดับ ผบ.ร้อย เท่าที่พอทำได้คือแกล้งแพ้ ฉีดนั่น ฉีดนี่ไปให้ไม่โดน เวลาดันก็คงดันสักพักแล้วก็ถอยออกมา แต่นึกออกไหมว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้ทำง่ายๆ เวลาบอกหรือสั่งลูกน้องก็ต้องเตี๊ยมกันไว้ก่อน บอกต่อหน้าไม่ได้ โดนเล่นงานตายเลย

 

 

ช่วงที่ผ่านมา การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจก็ไม่ได้คงเส้นคงวาต่อม็อบเท่าไหร่ เช่น บางช่วงก็ไล่จับแกนนำ ฝากขังกันแบบเข้มงวด บางช่วงก็ปล่อยเลย

ม็อบเดียวกัน หรือคนละม็อบล่ะ (หัวเราะ) ถ้าเปรียบเทียบม็อบเชียร์รัฐกับม็อบต้านรัฐก็จะเห็นว่าคนละมาตรฐาน คงไม่ต้องอธิบายเยอะ

ถ้าพูดถึงเฉพาะม็อบต้านรัฐ ผมไม่ได้มีข้อมูลวงในว่าใครสั่งการอย่างไร แต่เท่าที่สังเกตคือ ท่าทีของตำรวจเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เสียมาก ช่วงไหนโดนด่าเยอะ ช่วงนั้นก็ผ่อน ช่วงไหนดูแล้วพอจะบีบได้ ก็ใช้วิธีการกดดันแบบเข้มงวด

ในแง่หนึ่งตำรวจกำลังเข้าใจหน้าที่ตัวเองผิดด้วย ตำรวจไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ม็อบเลิกชุมนุม คนที่มีหน้าที่เจรจาให้ม็อบเลิกคือรัฐบาล เขาเรียกร้องเรื่องการเมือง คุณดันไปปราบม็อบ เดี๋ยวเขาก็มาใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกันเลย ตำรวจมีหน้าที่ดูแลให้ม็อบเคลื่อนไหวอยู่ในขอบเขตที่รับได้ในรัฐธรรมนูญ

 

นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ตำรวจไทยต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด เปลี่ยนสี เปลี่ยนฝั่ง สลับไปมาหลายครั้ง 15 ปีที่ผ่านมาตำรวจเรียนรู้อะไรบ้างไหมในการดีลกับม็อบ เพราะไม่ว่าครั้งไหนๆ ก็โดนฝั่งผู้ชุมนุมด่าตลอด

ในแง่ของการทำตามคำสั่งนายและเป็นเครื่องมือของรัฐไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่ แต่ในแง่ขององค์ความรู้ในการรับมือม็อบก็ถือว่าก้าวหน้าพอสมควร ตอนปี 2548 ตำรวจไทยยังไม่ค่อยเข้าใจการจัดการม็อบสักเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่มีประสบการณ์จากการเข้าไปปราบม็อบแล้วมีปัญหามาโดยตลอด ตำรวจเลยเริ่มพัฒนาแนวทางการจัดการชุมนุมตามหลักสากลมากขึ้น มีการทำหลักเกณฑ์และการฝึกอบรมต่างๆ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีความหมายนัก เพราะถ้ามีคำสั่งจากข้างบนลงมาเมื่อไหร่ ตำรวจไทยก็ไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์และการฝึกอบรมที่ทำไว้

 

การทำงานของตำรวจมีเอกภาพขนาดไหน โดยเฉพาะเวลาที่ไปจับแกนนำทางการเมือง หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ อย่างเหตุการณ์วันที่ 30 ตุลาคม ที่มีการอายัดตัวเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) และไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) จากเรือนจำไปที่ สน.ประชาชื่น ก็เหมือนจะงงๆ กันว่าจะเอาอย่างไรดี

ไม่ใช่เรื่องของความไม่เป็นเอกภาพ แต่เป็นเรื่องของแนวทางคำสั่ง ถ้ามีการสั่งการแบบไหนก็มักจะปฏิบัติตามทันที หลายครั้งที่เห็นงงๆ กัน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ยึดหลักในการทำงาน บางทีก็มีคำสั่งเปลี่ยนระหว่างทางตามสถานการณ์ หรือไปเจอเหตุการณ์และรอคำสั่งใหม่ที่ยังไม่ลงมาก็เลยทำตัวไม่ถูกกันว่าต้องเอาอย่างไร

ถ้าองค์กรตำรวจมีความทันสมัย ทำงานตามหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้จะไม่เกิด ตำรวจรู้กฎหมาย อ่านกฎหมายออก แต่ไม่เข้าใจว่ากฎหมายมีไว้เพื่ออะไร วิธีการที่ทำกันอยู่คือออกหมายจับเป็นจำนวนมาก รอจับแล้วอายัดตัวต่อเนื่องหลายๆ คดี เสร็จจาก สน. นั้นก็มาอายัดตัวต่อที่ สน. นี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะสงสัยว่าเป็นการกลั่นแกล้งของภาครัฐเพื่อไม่ให้เขาไปนำม็อบ ให้เขารู้สึกเหนื่อยล้า

 

 

ว่ากันตามกฎหมาย การออกหมายจับจำนวนมาก และอายัดตัวแบบที่ตำรวจทำสามารถทำได้ไหม

ในระดับข้อเท็จจริงต้องพิจารณาว่า ตอนที่ไปขออายัดตัวใช้หมายอะไร ใช้หมายจับที่สิ้นสภาพไปหรือยัง ถ้าหมายจับสิ้นสภาพแล้วก็ถือว่าการไปอายัดตัวและควบคุมตัวน่าจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย และน่าจะผิดเรื่องเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวกักขังด้วย แต่ถ้าเป็นหมายที่มีความถูกต้องก็ถือว่าทำได้ แต่ว่าไม่ควรทำ เพราะผิดหลักสิทธิมนุษยชนและไม่ได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย บ้านเรายังไม่มีการสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนเลยเกิดเป็นช่องว่างให้เอาไปทำ

ถ้าเป็นผู้ต้องหาทั่วไปอย่างเก่งก็โดน 2-3 ข้อหา คนละพื้นที่ การดำเนินการแบบนี้พอทำได้และสมเหตุสมผล แต่นี่เป็นผู้ต้องหาทางการเมืองและมีหมายอยู่ 80 คดี ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ต้องพูดถึงว่า การต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ดังนั้นกฎหมายควรจะคุ้มครองด้วยซ้ำ

พูดให้ถึงที่สุด แนวปฏิบัติแบบที่ทำกันอยู่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน เพราะตามหลักแล้ว เราก็ไม่ควรจะจับใครไว้นานๆ เราควรทำให้รวดเร็วที่สุด ตำรวจไทยและหน่วยงานราชการของไทยยังไม่มีการแยกเลยด้วยซ้ำว่าผู้ต้องหาทั่วไปกับผู้ต้องหาทางการเมืองมีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นหลักสากลจะต้องแยกเลย คนที่โดนจับกุมจากคดีการเมืองต้องจัดให้อยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมือนคุก อาจโดนจำกัดบริเวณ แต่พื้นที่ต้องดีพอสมควร ไม่สามารถตัดผม โกนหัว หรือกระทั่งเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษก็ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถติดต่อกับครอบครัวและภายนอกได้ และต้องสามารถติดต่อทนาย ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น อยากให้ตำรวจไทยมีความเป็นสากลสูง

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การชุมนุมทางการเมืองทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจและเรียกร้องตำรวจให้จัดการกับม็อบ โดยให้เหตุผลว่า ม็อบกำลังละเมิดคนอื่นเหมือนกัน

มันมีหลักการชัดเจนอยู่แล้วว่าอะไรละเมิด อะไรไม่ละเมิด ความเห็นไม่ตรงกันไม่ใช่การละเมิดแน่นอน ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ป้าย ข้อความหรือคำพูด ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าข่ายหมิ่นประมาทก็ไปใช้ข้อกฎหมายตรงนั้นได้ แต่กระทั่งกฎหมายหมิ่นประมาทก็มีหลักว่าอะไรที่เข้าข่าย ไม่ใช่ทุกการวิจารณ์หรือความเห็นจะถูกนับเป็นหมิ่นประมาททั้งหมด

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันมากคือ การปิดถนน ถ้าพูดกันอย่างเคร่งครัด การปิดถนนก็เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น แต่โดยหลักการประชาธิปไตย การละเมิดแบบนี้ยอมให้เกิดขึ้นได้ เพราะสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่มีความสำคัญอย่างมากในระบอบประชาธิปไตย และม็อบก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะปิดถนน แต่เจตนาที่แท้จริงคือเรียกร้องทางการเมือง แต่มีผลข้างเคียงคือถนนต้องปิดตัวลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตามหลักสากลตำรวจมีหน้าที่ต้องมาช่วยดูแลการจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาชุมนุมและคนที่สัญจรไปมาให้มากที่สุด จริงๆ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย คุณจะต้องหาสถานที่ให้ประชาชนมาแสดงความเห็น มาจัดม็อบกัน และรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการรับฟังและแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ เมืองไทยเองเคยมีสนามหลวง แต่พอไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น ม็อบก็ต้องใช้พื้นที่ถนน และวัฒนธรรมเมืองไทยที่ไม่ค่อยจะฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างจริงจัง เลยต้องมีการชุมนุมกดดันในที่ต่างๆ

แต่ถึงจะพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าม็อบสามารถทำได้ทุกอย่าง สำหรับผม ม็อบไม่สามารถเรียกร้องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การเรียกร้องรัฐประหาร หรือเรียกร้องในสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่างการฆ่าคนได้ อันนี้ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน

 

 

ในต่างประเทศ เราจะเห็นว่า ตำรวจสามารถปฏิเสธการปฏิบัติหน้าที่ได้ถ้าเห็นว่าคำสั่งไม่ถูกต้องชอบธรรม มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ตำรวจไทยจะยืนยันว่าไม่ทำ 

ยากมาก ยกเว้นจะชัดเจนว่า คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นที่เราคุยกันเป็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ในต่างประเทศ ถ้าคุณขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา คุณก็อาจโดนเล่นงานได้เช่นกัน แต่เขาจะมีรายละเอียดเป็นกรณีๆ ไปว่าสาเหตุของการขัดคำสั่งคืออะไร ถ้าปฏิเสธเพราะเห็นว่าคำสั่งขัดต่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เขาจะมีกลไกรองรับการไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น ในยุโรปบางประเทศ ถ้ารัฐบาลสั่งตำรวจให้สลายม็อบ แต่ตำรวจเห็นว่ายังสลายไม่ได้ หรือไม่มีความชอบธรรมที่จะสลาย ตำรวจก็สามารถส่งเรื่องไปยังรัฐสภา เพื่อให้สภามีการถกเถียง เมื่อสุดท้ายมีการยืนยันให้สลาย ตำรวจก็ต้องทำ

แต่ของไทยถ้าคุณไม่ทำก็ต้องไปเถียงเจ้านายเอง ไม่มีระบบมารองรับอะไรแบบนี้

 

ถ้าปัญหาใหญ่ของตำรวจคือ ปรัชญาองค์กรเป็นทหาร แล้วปรัชญาตำรวจควรเป็นแบบไหน

ตำรวจต้องมีความเป็นพลเรือนสูง พูดง่ายๆ คือ ต้องเหมือนประชาชนทั่วไป ประเทศที่อดีตเคยเป็นเผด็จการก็จะมีปัญหาคล้ายของไทยคือ ตำรวจมีความเป็นทหารสูง เมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เขาจะทำให้ตำรวจมีความเป็นพลเรือน

หัวใจของความเป็นทหารคือ ความเป็นเอกภาพ แปลว่าหัวหน้าต้องคุมได้หมดเลย คำสั่งเป็นคำสั่ง ซึ่งก็เหมาะกับทหาร เพราะทหารต้องไปรบ แต่ตำรวจไม่ใช่แบบนั้น แม้จะทำงานภายใต้ระเบียบและคำสั่ง แต่ต้องใช้เหตุและผลเป็นกติกาที่อยู่ร่วมกัน เหมือนประชาชนธรรมดา จะทำอะไรต้องอาศัยการมีส่วนร่วม การอธิบาย สร้างความเข้าใจ เจรจา พูดคุยกัน ในต่างประเทศ  การฝึกตำรวจจะไม่ฝึกแบบทหาร แต่เน้นวิชาตำรวจและการปฏิบัติที่แฝงหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการใช้หลักเหตุและผลจะทำให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับ (enforcement by consent)

ปัญหาของวิธีแบบทหารคือ ไม่มีกระบวนการในการฟัง ถ้าคุณไม่มีกระบวนการในการเข้าใจประชาชน คุณไม่เคยเป็นประชาชนมาก่อน ไม่เคยถูกสั่งให้ตั้งคำถามเลยว่าที่สั่งมามันผิดหรือถูก มีเหตุผลไหม เมื่อเอาหลักนี้ไปใช้กับประชาชน ประชาชนก็ไม่ชอบ

 

 

ความเป็นพลเรือนเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยด้วยไหม

ถ้าตำรวจมีความเป็นพลเรือน ก็จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยปรัชญาของตัวเอง จะสั่งการอะไรก็จะไม่สามารถทำด้วยอำนาจเพียงอย่างเดียวแล้ว จะต้องมีหลักการ มีเหตุผล มีการตั้งคำถามได้

นอกจากนี้ตำรวจที่มีความเป็นพลเรือนจะมีความหลากหลาย ตรงข้ามกับตำรวจที่มีความเป็นทหารที่ถูกฝึกมาให้มีความคิดอย่างเดียวกัน ห้ามแตกแถว ถ้าไปดูในต่างประเทศ ตำรวจไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ไม่ต้องเดินเท้าพร้อม มีความแตกต่างกันเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ในประเทศที่ก้าวหน้ามากๆ มีตำรวจเป็น LGBT ด้วย ความหลากหลายจะทำให้ตำรวจสามารถอยู่กับประชาชนได้อย่างเข้าใจ  และยิ่งทำให้องค์กรตำรวจแข็งแกร่ง

 

ถ้าหัวใจของการปฏิรูปตำรวจคือการทำให้ตำรวจเป็นพลเรือน แสดงว่าเราต้องปฏิรูประบบการสร้างตำรวจไทยเลย

ใช่ นักเรียนตำรวจไม่ควรมาจากโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยก็ไม่ควรฝึกแบบทหาร ตื่นเช้ามาเดินเข้าแถว วิ่ง ตอนเย็นฝึกแถว วิ่ง ระเบียบวินัย ทำวินัยรวม มีพี่ไปปกครองน้อง ระบบเกียรติศักดิ์ ซึ่งระบบเหล่านี้มันคือความภาคภูมิใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเลยนะ ความเป็นนักเรียนนายร้อยคือความภาคภูมิใจ แต่ที่ผมกำลังจะบอกคือมันผิดและล้าสมัยไปแล้ว

 

ถึงจะฝึกแบบทหาร แต่ในเชิงวิชาการโรงเรียนนายร้อยก็ต้องสอนวิชาตำรวจอยู่ดีไม่ใช่หรือ

ในความเห็นผม หลักสูตรนักเรียนนายร้อยมีปัญหามาก มีเวลาเรียนแค่ 4 ปีแต่ต้องการให้นักเรียนมีความสามารถทั้งทางวิชาการ ทางวิชาชีพตำรวจ และยังมีการฝึกแบบทหารอีกด้วย สุดท้ายเลยไม่เก่งสักอย่าง ถ้าเทียบกับต่างประเทศ วิชาการเราก็สู้เขาไม่ได้ วิชาตำรวจก็สู้ไม่ได้ มีอย่างเดียวที่พอไปได้คือความเป็นทหาร ซึ่งก็ผิดฝาผิดตัวอีก

ถ้าจะปฏิรูประบบโรงเรียนนายร้อย ผมเสนอว่า ควรรับตำรวจที่จบปริญญาตรีมาเลย เพราะคนที่เคยเรียนปริญญาตรีคือ คนที่โตขึ้นมาในระบบปกติ เคยเป็นประชาชน ตอนมหาวิทยาลัยก็เคยใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไป เคยไปเที่ยว เคยกลัวตำรวจ และยังมีเพื่อนที่เป็นประชาชนธรรมดาเป็นเครือข่าย โรงเรียนนายร้อยจาก 4 ปีก็ปรับเหลือแค่ 2 ปีสอนเฉพาะวิชาตำรวจ ซึ่งเป็นวิชาชีพ เด็กที่จบปริญญาตรีเขาพอรู้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาแล้ว คุณก็มาฝึกวิชาตำรวจ อย่างนี้คุณจะได้ตำรวจที่มีคุณภาพสูงและมีความเป็นพลเรือนอีกด้วย

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ ต้องปฏิรูปวิชาตำรวจให้มีความเป็นสมัยใหม่ เช่น การฝึกให้ใช้หลักลดความรุนแรง (de-escalation of violence) หมายความว่า นอกจากตำรวจต้องรู้ว่าต้องใช้กำลังเมื่อไหร่แล้ว ยังต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงด้วย เวลาประชาชนโกรธหรือร้อนมา ต้องรู้จังหวะว่า เมื่อไหร่ควรปะทะ เมื่อไหร่ควรถอย ซึ่งยากมากนะ แต่ถ้าทำได้ตำรวจจะได้รับการยอมรับขึ้นมาก

แนวทางการใช้หลักลดความรุนแรงในการทำงานของตำรวจ สามารถเปลี่ยนตำรวจที่ชาวบ้านไม่ชอบ ไม่ยอมรับ ให้กลายมาเป็นตำรวจที่ชาวบ้านชื่นชอบได้แล้วในประเทศอเมริกา

 

 

แล้วตำรวจชั้นประทวนที่เป็นระดับปฏิบัติการควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะตำรวจส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในกลุ่มนี้

ลักษณะปัญหาคล้ายกัน ตำรวจชั้นประทวนแม้จะรับคนจากข้างนอกเข้ามาฝึก แต่วิธีการฝึกก็เป็นแบบทหาร เลยไปลดทอนเวลาที่มีค่าที่ควรเอาไปฝึกวิชาชีพตำรวจ ซึ่งชั้นประทวนมีเวลาฝึกเพียง 1 ปี

ระบบตำรวจไทยยังมองตำรวจชั้นประทวนว่าเป็นระดับปฏิบัติ ทำตามคำสั่งอย่างเดียว ซึ่งผิดอย่างมาก เพราะชั้นประทวนคือชั้นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ชื่อเสียงขององค์กรขึ้นอยู่กับตำรวจชั้นประทวน ดังนั้น องค์กรควรต้องลงทุนในการสร้างตำรวจชั้นประทวนให้มากกว่านี้ และควรพัฒนาให้ตำรวจชั้นประทวนมี career path ที่ดีกว่านี้ สามารถมีช่องทางเลื่อนขึ้นมาเป็นชั้นสัญญาบัตรได้มากขึ้น

 

อะไรคือทุกข์ของตำรวจทุกวันนี้

ความไม่เป็นธรรมในองค์กรเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะมีการวิ่งเต้นตำแหน่งกันมาก อีกเรื่องที่บ่นกันเยอะคือ การได้รับมอบหมายงานที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย งานแบบนี้คนที่มีอำนาจน้อยมักจะได้รับมอบหมายให้ทำ

 

ทุกวันนี้การแต่งตั้งโยกย้ายยึดหลักผลงาน (merit-based) มากขนาดไหน

น้อยมาก ไม่มีงานวิจัยรองรับนะ แต่ผมคิดว่าเรื่องการฝาก เด็กเส้น ผลประโยชน์อื่นๆ มีน้ำหนักมาก ผลงานจริงก็มี แต่น้อยมาก

 

คนข้างนอกมักได้ยินว่า การจะเลื่อนขึ้นหรือโยกย้ายจำเป็นต้อง ‘ซื้อ’ อันนี้จริงแค่ไหน

ในวงการตำรวจก็ได้ยินมาไม่ต่างจากข้างนอกมากหรอก (หัวเราะ)

 

 

ภายใต้ระบบแบบนี้ ตำรวจที่ยึดมั่นประชาธิปไตยจะขึ้นมาเป็นใหญ่ได้อย่างไร

ไม่มีทาง ยากมาก ในเมื่อตำรวจไม่โยงกับประชาชน คุณทำงานเพื่อประชาชน คุณก็ไม่ได้อะไร คุณต้องทำให้ผู้มีอำนาจ คุณถึงจะก้าวหน้า

แต่การทำงานให้ผู้มีอำนาจก็มีได้หลายแบบ เป็นเครื่องมือรักษาฐานอำนาจให้เขาก็เป็นแบบหนึ่ง หรือคุณทำให้เขาเห็นว่าคุณมีประโยชน์กับงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะและเขาควรเรียกใช้คุณก็แบบหนึ่ง ตำรวจประชาธิปไตยที่ยังอยู่ในระบบได้ก็จะมาแบบหลังมากกว่า แต่ไม่เป็นใหญ่หรอก

 

มีอีกเรื่องที่อยากชวนคุยคือเรื่องคดี ‘บอส อยู่วิทยา’ ซึ่งเหยื่อในคดีนี้ก็เป็นตำรวจเองด้วยซ้ำ และเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมกลับมาพุดถึงเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจอีกครั้ง คดีนี้ทำให้เห็นจุดอ่อนในกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง

คดีบอสเป็นกรณียกเว้นมากๆ เหนือกว่าคดีอื่นทั้งหมด เพราะมีการแทรกแซงแทบทุกกระบวนการ ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นตำรวจ และชั้นอัยการด้วย ทั้งสองหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่แปลกๆ ที่ส่งผลเป็นคุณให้กับนายบอส ทั้งที่จริงๆ แล้วสองหน่วยงานนี้ควรจะคานอำนาจกัน

ขออนุญาตไม่พูดถึงรายละเอียดของคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีปัญหาอยู่ ในตอนนี้มีข้อเสนอที่ให้อัยการมาร่วมสอบกับตำรวจตั้งแต่ต้น แต่ในความเห็นของผม วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กระบวนการสอบสวนดีขึ้น แนวคิดเอาอัยการมาร่วมสอบสวนกับตำรวจตั้งแต่ต้น นำมาจากวิธีปฏิบัติในต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศ ตำรวจจะไม่มีอำนาจสั่งฟ้อง มีหน้าที่เพียงรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการ และตำรวจในต่างประเทศมักจะไม่จบกฎหมาย การรวบรวมพยานหลักฐานที่ส่งให้อัยการเลยมีปัญหาเยอะ เขาเลยปรับให้อัยการเข้ามาร่วมสอบตั้งแต่ต้นในคดีใหญ่ๆ แตกต่างจากของประเทศไทยที่พนักงานสอบสวนตำรวจจะจบกฎหมาย มีอำนาจพิจารณาสั่งฟ้อง ดังนั้นการที่อัยการเข้ามาร่วมสอบสวนแต่ต้นในประเทศไทย จะทำให้เข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของตำรวจ ผิดกับในกรณีต่างประเทศที่อัยการเป็นเจ้าของสำนวนคดีแต่เพียงผู้เดียวอยู่แล้ว

ดังนั้นแนวคิดเอาอัยการมาสอบสวนร่วมกับตำรวจตั้งแต่ต้นมันไม่เวิร์กหรอก ดูจากคดีบอสเป็นตัวอย่าง ถ้ามีความสามารถเข้าถึงอัยการได้ ก็อาจเปลี่ยนทิศทางคดีได้ สบายเลยคุยกับอัยการคนเดียวพอ

แนวทางที่ควรทำคือการสร้างระบบตรวจสอบการสอบสวนของตำรวจและอัยการ โดยบุคคลหรือกลไกภายนอกซึ่งมีที่มายึดโยงกับประชาชน

ดูคดีบอสเป็นตัวอย่าง พอมีเรื่องแดงขึ้นมาว่ามีการสั่งไม่ฟ้องแบบแปลกๆ ทั้งอัยการทั้งตำรวจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหาข้อบกพร่องและการกระทำผิดของคนในองค์กรตัวเองกันใหญ่ ผลคือตำรวจพบแค่การผิดวินัยไม่ร้ายแรง ส่วนอัยการนี่หนักกว่าตำรวจอีก ไม่พบความผิดอะไรเลย เพราะฉะนั้นไม่มีใครดีกว่าใคร ให้ข้างนอก ให้ประชาชนตรวจสอบดีที่สุด

 

ตำรวจโกรธกับคดีบอสไหม เพราะผู้เสียหายเป็นตำรวจด้วย

โกรธสิ ถ้าดูข่าวตอนที่เกิดเหตุวันแรก ตำรวจชั้นประทวน สน. ทองหล่อมาตั้งม็อบเลย เพราะเขาโกรธ ผมก็โกรธมาก คุณปล่อยได้ยังไง ตำรวจตายคุณยังให้ความเป็นธรรมกับตำรวจไม่ได้เลย คุณจะให้ความเป็นธรรมใครได้ น่าโกรธไหมล่ะ

อย่างน้อยที่สุด คุณต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายให้ได้ คดีบอสเป็นการบ่งบอกเลยว่า ระบอบประเทศไทยเป็นระบอบที่แทรกแซงได้ ใครมีเงินรอดหมด ตำรวจต้องยอมโดนตรวจสอบ อัยการต้องโดนตรวจสอบ ผู้มีอำนาจต้องยอมโดนตรวจสอบ แต่ทุกวันนี้ผู้มีอำนาจไม่โดนตรวจสอบจากข้างนอกเลย นี่แหละถึงได้พัง

 

 

การปฏิรูปตำรวจเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย ข้อเสนอก็มีหลายสูตรมาก แต่ข้อเสนอหนึ่งที่พูดกันมากในวงวิชาการคือ การกระจายอำนาจ คุณเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากข้อเสนอนี้อย่างไร

อย่างที่พูดไปแล้วว่า ผมให้ความสำคัญกับปรัชญาองค์กรเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องกระจายอำนาจก็มีความสำคัญมาก ตอนนี้ ผบ.ตร. มีอำนาจและทรัพยากรล้นฟ้าเลย ส่วนระดับล่างอยู่กันแบบดิ้นรนลำบากกันมาก ถ้าคุณกระจายอำนาจและทรัพยากรออกไป สร้างองค์กรที่มีโครงสร้างที่แบนราบมากขึ้น เงินเดือนและสวัสดิการของตำรวจระดับล่างไม่ต่างจากผู้บังคับบัญชามาก มีวัฒนธรรมองค์กรที่อยู่ร่วมกันแบบใช้เหตุผล เจ้านายไม่สามารถสั่งการอะไรตามใจง่ายๆ คุณจะมีตำรวจที่อยากทำงานในพื้นที่ มีความสุขในการทำงานกับประชาชนโผล่ขึ้นมาอีกเพียบ แต่ในระบบแบบนี้ ทางเดียวที่คุณจะสุขสบายคือคุณต้องไต่ชั้นอำนาจ ในวงการตำรวจบอกกันว่า ถ้าเป็นพลตำรวจตรีได้คือจบ ชีวิตสบาย ขึ้นหิ้งละ

ข้อเสนอด้านการกระจายอำนาจดีตรงที่ตอบโจทย์ทั้งตำรวจและประชาชน ทุกครั้งที่มีการพูดคุยเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาให้ตำรวจ เป็นการแก้ปัญหาภายใน ทำยังไงให้คนในองค์กรตำรวจรู้สึกเป็นธรรม ยุติธรรม ซึ่งเรื่องพวกนี้สำคัญมาก ผมไม่ปฏิเสธ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าการปฏิรูปตำรวจสามารถตอบโจทย์ของทั้งตำรวจและประชาชนไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจไม่ใช่คำตอบในตัวมันเอง ไม่ใช่ว่ากระจายอำนาจแล้วจบ แต่ต้องมีการออกแบบการกระจายอำนาจให้ดีและมีสมดุลด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดที่เคยก้าวหน้าเมื่อสัก 20-30 ปีก่อน เป็นโมเดลของประเทศพัฒนาแล้ว

ตอนนี้เขาเริ่มเห็นกันแล้วว่า การกระจายอำนาจตำรวจไปให้ท้องถิ่นทั้งหมดทำให้ตำรวจแต่ละท้องที่รู้สึกว่าเป็นคนละหน่วยงาน ไม่มีการประสานงานกันเลย เวลาเกิดอาชญากรรมในปัจจุบัน มันไปทุกพื้นที่ การจัดการเลยลำบาก ประเทศที่เคยกระจายอำนาจตำรวจแบบเข้มข้นมากอย่างในสแกนดิเนเวีย เลยปรับเปลี่ยนให้มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น งานที่จำเป็นต้องมีการทำข้ามพื้นที่ก็จะมีส่วนกลางช่วยประสาน อันที่จริงโมเดลนี้คล้ายญี่ปุ่นซึ่งทำมานานมากแล้ว ศิลปะคือการหาจุดสมดุลระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งต้องคิดให้แตกว่า การกระจายอำนาจระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่นควรอยู่ระดับไหน งานแบบไหนควรจะอยู่ที่ท้องถิ่น งานแบบไหนควรจะอยู่ที่ส่วนกลาง ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกันเป็นแบบไหน กลไกในการทำงานร่วมกันคืออะไร

 

เมื่อสักครู่พูดถึงทรัพยากร ค่าตอบแทน และสวัสดิการตำรวจ เมื่อเดือนที่แล้วเรามีกรณีสาดสีใส่ตำรวจและกลายเป็นดราม่าว่า ตำรวจต้องไปซื้อเครื่องแบบเอง และเริ่มมีการเปิดเผยว่า ไม่ใช่แค่เครื่องแบบหรอก ปืน หมวก ทุกอย่างที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจต้องซื้อเองทั้งหมด หลักการในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร

โดยหลักการ รัฐควรจะเป็นผู้จัดสรร แต่ของไทยไม่มีให้ เพราะงบประมาณไม่พอ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับการทำงบประมาณขององค์กรด้วย ต้องยอมรับว่า ในอดีตสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ไม่สนใจเรื่องงานงบประมาณ อาจเป็นเพราะที่ผ่านมา ตำรวจมีศักยภาพในการหารายได้จากทางอื่นมากกว่า ในกระบวนการงบประมาณปกติก็เลยขอไปตามเรื่องตามราวไปเรื่อย เวลาได้งบประมาณมาเลยได้สัดส่วนเท่าเดิมตลอด ถ้างบประมาณรวมก้อนใหญ่ขึ้น งบสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะสร้างสวัสดิการ หรือจัดสรรเงินเพื่อพัฒนาศักยภาพตำรวจได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม เงินเดือนและสวัสดิการตำรวจควรต้องสูงมากกว่านี้ เท่าที่คุยกันมาทั้งหมดจะเห็นว่า งานตำรวจเป็นงานที่ยากมากนะ เอาแค่เรื่องการตัดสินใจใช้กำลังนี่ก็โคตรยากเลย เป็นการตัดสินใจในเสี้ยววินาที การประเมินว่าสถานการณ์แบบไหนจะเกินไปหรือไม่เกินไปต้องใช้การฝึกฝนมาก ต้องลงทุนมาก เวลาคุยกับเพื่อนตำรวจ เขาก็ชอบบอกผมว่า การทำงานในข้อเท็จจริงไม่ได้เหมือนในกระดาษ ไหนจะโดนยุแหย่โดยคำพูด ไหนจะข้อมูลที่ไม่ได้สมบูรณ์ครบถ้วน เป็นงานที่เครียดมาก ไม่ใช่ว่าผมไม่รู้นะ แต่เวลาคุยเรื่องหลัก เราต้องแม่น ต้องยืนยันหลักการที่ถูกต้องก่อน ดังนั้น ผมเห็นความจำเป็นที่ต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับงานที่ทำ

ผมอยากเสริมด้วยว่า ยิ่งเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ค่าตอบแทนตำรวจต้องยิ่งเพิ่ม ในประเทศฟินแลนด์ ตำรวจลาออกเพียบเลย เพราะเป็นประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนสูง งานตำรวจเลยยากมาก ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมเขาต่ำ คนก็ลาออกไปทำอย่างอื่นที่ง่ายกว่า แต่ค่าตอบแทนพอๆ กัน

 

ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ไหม

กระจายอำนาจและทรัพยากรในองค์กรนี่แหละ ทำองค์กรให้โปร่งใส ทำหน่วยงานให้มีศักดินาน้อยลง ทุกวันนี้นายพลเดินกันเต็มองค์กร แต่ละคนมีคนขับรถ มีหน้าห้อง คนละ 1-2 คน ถ้าแก้เรื่องพวกนี้ได้ก็ลดไขมันขององค์กรไปได้ 20-30% แล้ว ซึ่งเป็นไขมันที่เอามาเสิร์ฟพวกเดียวกันเอง ไม่ใช่ประชาชน

พูดแบบนี้เดี๋ยวจะบอกว่า เพราะหน้าที่และภาระรับผิดชอบเยอะเลยต้องมีผู้ช่วยเยอะ ถ้างานเยอะก็กระจายงาน กระจายอำนาจออกมาสิ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ภาระงานบางอย่างที่อ้างๆ กัน บางทีก็ไม่มีความจำเป็นมากหรอก

 

 

ทำไมการปฏิรูปตำรวจจึงไม่เคยสำเร็จสักที

การปฏิรูปจำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (political will) ที่อยากจะทำให้องค์กรเป็นของประชาชนจริงๆ และการปฏิรูปจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะมีแต่พลังของสังคมและประชาชนเท่านั้นที่จะกดดันให้เกิดการปฏิรูปได้ นึกออกไหม ในระบอบเผด็จการ เราจะหวังให้ตำรวจเลิกความเป็นทหารและกลายเป็นพลเรือนได้อย่างไร

แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับองค์กรบ้าง ผมคิดว่าภายใต้ระบอบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ ตำรวจไทยก็มีพัฒนาการในทางที่ดีหลายเรื่อง มาถึงจุดนี้ได้ก็นับว่าเก่งใช้ได้เลย ตอนผมเริ่มต้นอาชีพใหม่ๆ ตำรวจมีความเป็นศักดินาสูงมาก มองประชาชนเป็นลูกน้อง ตอนนั้นยังไม่มีการสอนให้รับใช้ประชาชนเลย แต่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ประชาธิปไตยและภาคประชาชนมีพลังมากขึ้น เกิดการกดดันตำรวจให้เปลี่ยนและมีการปรับตัวสูงมาก แต่พอรัฐประหาร 2549 ความเป็นเผด็จการเริ่มกลับเข้ามา เจอซ้ำไปอีกตอน 2557 นี่หนักเลย

แต่ผมเชื่อว่า ถ้าบ้านเมืองกลับมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อไหร่ ตำรวจจะพัฒนากลับมาเร็ว 4-5 ปีน่าจะเห็นเลย ยิ่งถ้ามีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ และเสริมด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาช่วยเพิ่มความโปร่งใส การปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้แน่นอน

 

ทุกวันนี้สังคมพูดถึง ‘คนรุ่นใหม่’ กันมาก ตำรวจรุ่นใหม่เป็นอย่างไร

ผมมีโอกาสได้เจอตำรวจรุ่นใหม่อยู่บ้าง พวกเขาก็มีทั้งคนที่มีความคิดก้าวหน้าและคนที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมนะ แต่สัดส่วนของคนที่มีความคิดก้าวหน้า อยากพัฒนา และสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต คงต้องรอดูว่า ภายใต้ระบบแบบนี้ เขาจะโดนหล่อหลอม หรือโดนกลืนไปขนาดไหน จากนี้ไปอีกสัก 10 ปี เมื่อถึงวัยที่เขาเริ่มมีบทบาทในวงการตำรวจถึงจะเห็นว่าเขาจะเสียคนหรือเปล่า

 

อาชีพตำรวจในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน

ตำรวจต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นพลเรือน มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เก่งกาจด้านวิชาตำรวจและกลยุทธ์ตำรวจ เป็นมิตรและเข้าใจประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้ได้ ประชาชนจะรักตำรวจเลย

แต่ถ้าคุณยังรับใช้อำนาจ รับใช้รัฐบาล ไม่เห็นหัวประชาชน ยังไงประชาชนก็ไม่มีวันรัก ไม่มีทางไว้ใจ ก็จะไม่ชอบคุณโดยธรรมชาติ แล้วคุณทำตัวคุณเอง ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ไม่รู้ว่าที่สอนๆ มามันผิด มันเป็นอำนาจนิยม แต่เขาไม่รู้ว่ามันคืออำนาจนิยม และไม่รู้ว่าใช้อย่างนี้มันผิด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save