fbpx
การเมืองสหรัฐ 4 ปีใต้ทรัมป์ เท่ากับ “วิกฤต” แล้วทางออกอยู่ตรงไหน

การเมืองสหรัฐ 4 ปีใต้ทรัมป์ เท่ากับ “วิกฤต” แล้วทางออกอยู่ตรงไหน

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

1. การเมืองอเมริกากำลังวิกฤต

 

ผมเขียนบทความนี้หนึ่งวันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ว่าผู้ชนะในการเลือกตั้งนี้คือใคร ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนเก่า กับโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคตรงข้าม แม้มีสำนักโพลหลายแห่งออกมาให้คำทำนายกันมากว่าไบเดนจะนำมาด้วยคะแนนสูงถึงสองหลัก แต่ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2016 ที่สำนักโพลพากันลงคะแนนให้ฮิลลารี คลินตัน ชนะทรัมป์ไปอย่างไม่มีข้อสงสัย ผลคะแนนที่ออกมาในคืนนั้นกลับให้ผลที่ตรงกันข้าม ยิ่งดึกคะแนนของทรัมป์ก็ยิ่งนำมากขึ้น กระทั่งคว้าคะแนนสูงกว่าจากคณะผู้เลือกตั้งไปในที่สุด มุมเซียนทั้งหลายพังทลายอย่างไม่มีชิ้นดี

มาคราวนี้บรรดาสำนักโพลและข่าวต่างๆ พากันสงวนท่าที ทุกฝ่ายต่างระมัดระวังในการประกาศผ่านสื่อของตนว่าใครชนะแล้วหรือใครนำและจะชนะแน่ๆ ทุกคนรู้ว่าฝ่ายทรัมป์และกระบอกเสียงเขานั้นถนัดและไม่ลังเลในการป้อน ‘ข่าวลวง’ ให้สาธารณชน เพื่อหวังสร้างสถานการณ์อันไม่สงบและไม่น่าไว้วางใจในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าได้ตามนี้ก็จะเข้าหมากของทรัมป์ ที่เหลือก็จะเป็นการ ‘ดำเนินตามกฎหมายทุกประการ’ มีโอกาสเกิดการเลียนแบบการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

บรรยากาศการเมืองอเมริกาหลังจากทรัมป์ครองทำเนียบขาวค่อยๆ เปลี่ยนไปตามรสนิยม สไตล์ทางการเมืองและโฆษณาของทรัมป์ เขาสามารถปลุกระดมพลังฝ่ายคนขาวคลั่งชาติและสีผิวให้ออกมามีพื้นที่และเหตุผลในการต่อต้านเล่นงานคนอพยพเชื้อชาติต่างๆ นอกอเมริกาได้ โจมตีนโยบายและแนวคิดแบบเสรีนิยมและสังคมนิยมได้อย่างภาคภูมิ สภาพการเมืองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังต่างๆ ดังกล่าวนี้ไม่ค่อยได้เห็นในการเมืองอเมริกา ผมจึงลองคิดว่า ถ้ามองกลับไปเราจะสรุปและประเมินการเปลี่ยนแปลงในการเมืองอเมริกาได้อย่างไรบ้าง

ผมจึงใช้เวลาในวันสุกดิบก่อนเลือกตั้งมาพินิจพิจารณาภาวะและการเปลี่ยนแปลงในการเมืองอเมริกายุคโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นอย่างไร มีข้อคิดและพึงสังวรอะไรบ้างแก่คนนอก ผมสรุปอย่างสั้นๆ เข้าประเด็นว่า สภาวะของการเมืองอเมริกาภายใต้ทรัมป์คือวิกฤต หมายความว่ามีความขัดแย้งกระทั่งแตกแยกเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างสูงขนาดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน นอกจากช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมืองอเมริกาในปี 1860 (สมัยรัชกาลที่ 4)

ความขัดแย้งนานัปการได้ก่อรูปและขยายใหญ่ไปทั่วประเทศ จนส่งผลสะเทือนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏการณ์ที่คนพูดถึงมากคือความแตกแยกภายในประเทศ ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งแบบที่เคยเกิดมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีในแทบทุกปริมณฑลของสังคมที่ปัจเจกชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ความไม่ลงรอย ไม่กินเส้น ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนอื่นๆ เรื่องทำนองนี้มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยปะทุและแสดงออกอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะอย่างปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นของการเหยียดเชื้อชาติดังที่ระเบิดออกมาในขบวนการ ‘ชีวิตคนดำมีความหมาย’ (Black Lives Matter) ที่สำคัญคือประมุขผู้ครองอำนาจใหญ่ในแผ่นดินคือประธานาธิบดี ต้องวางตัวอย่างไม่ให้เอียงข้างเพื่อจะรักษาดุลภาพของความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามออกไปเป็นสงครามย่อยๆ ไป

แต่คราวนี้ปัจจัยที่เร่งอุณหภูมิและความแหลมคมของปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว กลับเป็นตัวประธานาธิบดีเสียเอง แทนที่จะเป็นเสาหลักในการค้ำจุนคนอเมริกันฝ่ายและกลุ่มต่างๆ ที่เห็นไม่เหมือนกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเป็นคนถือหางและให้ท้ายแก่กลุ่มที่มีผลประโยชน์ตรงกับเขาและพรรคพวก ยิ่งกว่านั้นยังออกมาถล่มโจมตีฝ่ายตรงข้าม บรรดาคนวิพากษ์วิจารณ์เขา รวมถึงสื่อมวลชนซึ่งเป็นฐานหลักรักษาพยุงประชาธิปไตยในอเมริกามาตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการใช้คำบริภาษว่าสื่อมวลชนนั้นแท้จริงแล้วคือ “ศัตรูของประชาชน” อันเป็นคำที่แรงมากๆ และมักใช้กับศัตรูนอกประเทศเท่านั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีออกมาด่าสาดเสียเทเสียว่าสื่อมวลชนใหญ่ๆ ที่มีเกียรติภูมิระดับโลกอย่างนิวยอร์กไทมส์และวอชิงตันโพสต์เป็นศัตรูของประชาชน

ปกติแล้วความขัดแย้งแตกแยกทางสังคมและการเมืองมักเกิดมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งต่อมามีผลสะเทือนต่อปัจจัยภายใน แต่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์กลับตรงกันข้าม ความข้ดแย้งแตกแยกทั้งหลายล้วนเกิดจากน้ำมือและการผลักดันโดยตัวเขาเองทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ความผิดของกระทรวงต่างๆ รวมถึงฝ่ายกองทัพที่มักนิยมใช้อำนาจในการจัดการปัญหาภายนอกประเทศและในโลก คราวนี้บรรดาแม่ทัพนายกองผู้เชี่ยวชาญการรบในสมรภูมิทั่วโลก ต้องพากันให้คำปรึกษาแก่ทรัมป์ว่ายังไม่ต้องใช้กำลัง รอไปก่อน ใช้มาตรการนิ่มกว่านี้ได้ เพราะทรัมป์กระเหี้ยนกระหือรืออย่างยิ่งในการใช้อาวุธที่เหนือกว่าเข้ายุติปัญหาที่ขวางตาเขาอยู่ให้รู้แล้วรู้รอดไป ไม่ว่าเกาเหลีเหนือ อิรัก ซีเรีย จนถึงกลุ่มประท้วงคนผิวดำในหลายเมืองของอเมริกาก็ถูกแก๊สน้ำตา กระบอง และกระสุนจริงจากพวกคนขาวที่เป็นเจ้าใหญ่และอนุรักษนิยมสุดขั้ว โดยที่ทรัมป์ไม่ยอมออกมาประณามการใช้กำลังความรุนแรงของกลุ่มเอียงขวาเหล่านี้

ระบบประธานาธิบดีมีอำนาจในการบริหารตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กว่าสองร้อยปีไม่มีประธานาธิบดีคนไหนถามว่าตัวเองมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง เพราะการกระทำทั้งหลายล้วนดำเนินไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดและผ่านการเลือกของบรรดาแกนนำและสมาชิกทั้งหลายให้เข้าไปทำหน้าที่ในทำเนียบขาว การกระทำของประธานาธิบดียังถูกกำกับตรวจสอบโดยอำนาจนิติบัญญัติคือสภาคองเกรสที่มีสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถ้าหากสมัยนั้น พรรคตรงข้ามยึดครองเสียงข้างมากได้ทั้งสองสภา ประธานาธิบดียิ่งไม่ต้องถามว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง ตรงกันข้ามเขาจะต้องไปถามคองเกรสว่าจะยอมให้ทำเนียบขาวปฏิบัตินโยบายอะไรได้บ้าง กฎหมายนั้นๆ ถึงจะผ่านสภาและประกาศใช้ได้จริงๆ

ความสัมพันธ์ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างสองพรรคทั้งในคองเกรสกับทำเนียบขาว ในระยะยาวก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าธรรมเนียมและจารีตประเพณีของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จนแทบไม่ต้องถามว่าแต่ละอำนาจมีอำนาจอะไรบ้าง เพราะทุกคนทุกฝ่ายต่างเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนๆ ด้วยกันทั้งนั้น แน่นอนว่ายิ่งไม่ต้องถามรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายหรือศาลรัฐธรรมนูญว่าที่ทำไปนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทว่าโดนัลด์ ทรัมป์ได้กระทำในสิ่งที่ประธานาธิบดีคนก่อนไม่เคยทำ เพราะมีจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีชุดหนึ่งกำกับไว้แล้ว เป็นกฎหมายที่มองไม่เห็น แต่มีพลังที่วางอยู่บนความเข้าใจและยอมรับของทุกฝ่าย อันช่วยทำให้การต่อสู้ต่อรองระหว่างพรรคและแกนนำสองพรรคดำเนินมาอย่างสันติถ้อยทีถ้อยอาศัยและอนุโลมรอมชอมกันแบบศิวิไลซ์ ไม่ใช่การประนีประนอมอย่างเสียหลักการและพาให้เสียคนได้

ทรัมป์ทำลายกฎที่มองไม่เห็นนี้ ด้วยการหันไปอ้างอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งกว้างมากและไม่มีรูปธรรม ว่าประธานาธิบดีทำอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ความขัดแย้งในนโยบายและปัญหาจึงถูกทำให้เข้าสู่กระบวนการต่อสู้กันในศาล เขากับพรรครีพับลิกันจึงหาทางด้วยเล่ห์และกลในการแต่งตั้งผู้พิพากษาสหพันธ์ รวมถึงที่สำคัญยิ่งคือผู้พิพากษาศาลสูงสุด กล่าวได้ว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแต่งตั้งผู้พิพากษาระดับสูง และเงื่อนไขในการแต่งตั้งมีบรรทัดฐานชุดเดียวคือต้องมีอุดมการณ์อนุรักษนิยม ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมและสังคมนิยมเอียงซ้าย ต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศสภาพและเชื้อชาติสีผิว ทรัมป์และคณะซึ่งหลงความเป็นอเมริกันผิวขาวจะทำให้ศาลสูงสุดซึ่งเป็นเสาหลักของประเทศมานับศตวรรษเปลี่ยนสีแปรธาตุเป็นสถาบันอนุรักษนิยมที่ปฏิกิริยายิ่ง

ผลของการทำลายประเพณีและกติกาในระบบการปกครองเห็นได้จากที่เกือบสี่ปีของทรัมป์และพรรครีพับลิกันไม่สามารถผ่านกฎหมายอะไรสำคัญๆ ออกมาได้เลยสักฉบับ ที่สำคัญคือกฎหมายประกันสุขภาพที่จะเอามาแทนโอบามาแคร์ก็ทำไม่ได้ ตั้งแต่ช่วงที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา ก็ไม่อาจชักจูงให้สมาชิกสภาล่างที่มาจากภาคใต้ให้การสนับสนุนการล้มโอบามาแคร์แล้วเสนอกฎหมายใหม่เข้าแทนที่ เพราะทรัมป์ไม่ยอมลงไปเจรจากับพวก ส.ส.ภาคใต้ เอาแต่สั่งให้แกนนำไปจัดการให้ได้ตามที่เขาต้องการ ผลมันไม่ง่ายอย่างนั้น พอหลังการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2018 เดโมแครตกลับตัวได้ หันมาเอาชนะในการเลือกตั้งสภาล่างจนกุมเสียงข้างมากได้ เป็นอันว่าทรัมป์หมดโอกาสในการเสนอกฎหมายใหม่หากไม่ได้รับการเห็นชอบจากเดโมแครตเสียก่อน

ตัวอย่างล่าสุดก่อนวันเลือกตั้งคือการที่สองพรรคไม่อาจผ่านกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ (stimulus bill) ซึ่งเดโมแครตตั้งงบสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่มลรัฐและเมืองไปแก้ปัญหาโควิดและการสร้างงานเป็นหลัก แต่ทรัมป์ต้องการให้ลดลงอีก และไม่แจกให้คนตกงาน การเจรจาครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ผ่านเพราะทรัมป์บอกรัฐมนตรีคลังของเขาว่าอย่ายอมให้เดโมแครตเก็บคะแนนไปได้ เขาไปหาเสียงว่ากฎหมายกระตุ้นนี้จะออกมาแน่หลังจากเขาได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย ซึ่งเขาไม่บอกเลยว่ารายละเอียดของกฎหมายนั้นจะเป็นอย่างไร เป็นสไตล์ของเขาที่พูดก่อนแล้วทำทีหลัง และสิ่งที่เขาให้ทำก็มักเพียงสนองตอบผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่มีผลระยะยาวในการวางแผน

เกือบสี่ปีที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาทำตัวและแสดงตนให้ทุกคนเห็นอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาวางตัวราวกับเป็นจักรพรรดิหรือกษัตริย์ ในความหมายของการใช้อำนาจปกครองอย่างไม่จำกัดและไม่อาจควบคุมต่อต้านหรือยับยั้งได้ อเมริกาไม่เคยพบเห็นประธานาธิบดีแบบนี้มาก่อน จึงมึนงง สับสน จับแพะชนแกะไม่ถูก รัฐสภาคองเกรสซึ่งพรรคเดโมแครตสามารถยึดเสียงข้างมากได้ในปี 2018 ก็เริ่มใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อเข้ามาตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัตินโยบายและการใช้อำนาจประธานาธิบดี ในที่สุดสามารถนำไปสู่การดำเนินมาตรการถอดถอนประธานาธิบดีได้ (impeachment) เป็นการใช้อำนาจนี้ครั้งที่ 3 ในรอบ 230 ปีของระบบประชาธิปไตย (คนแรกแอนดรู จอห์นสัน ในปี 1868 คนที่สอง บิล คลินตัน ในปี 1998 ทั้งคู่รอดจากการลงคะแนนเสียงในวุฒิสภา)

เห็นได้ว่าหากไม่เกิดเรื่องร้ายแรงชนิดที่รับไม่ได้ รัฐสภาก็ไม่อยากใช้มาตรการนี้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ง่ายที่จะสำเร็จ เนื่องจากต้องอาศัยเสียงข้างมากของทั้งสองสภา ซึ่งกรณีของทรัมป์ก็พิสูจน์อีกครั้งว่า สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นรีพับลิกันไม่มีใครสามารถออกเสียงได้ตามใจและข้อเท็จจริง หากต้องทำตามมติหัวหน้าในสภาเพื่อรักษาฐานะของตนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

กรณีทรัมป์ยังต่างไปจากครั้งก่อนๆ ตรงที่เขาใช้อำนาจประธานาธิบดีในการปฏิเสธการให้เจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวและกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมของเขา ถ้าเดโมแครตจะสู้ให้แตกหัก ก็ต้องนำเรื่องการไม่มาให้ปากคำไปฟ้องร้องในศาลสหพันธ์และกระทั่งถึงศาลสูงสุด ซึ่งจะกินเวลาอีกนานหลายเดือน ระหว่างนั้นทรัมป์ก็ดำเนินงานของเขาต่อไปและระดมโจมตีพรรคเดโมแครตทุกวัน จนทำให้ทำงานสำคัญอื่นๆ ไม่ได้ และข้อกล่าวหาทรัมป์ก็มีเพียงเรื่องเดียวคือการระงับการช่วยเหลือแก่ยูเครนเพื่อแลกกับการทำในสิ่งที่ทรัมป์ต้องการ เช่น เล่นงานลูกชายโจ ไบเดนข้อหาคอร์รัปชันรับสินบน เป็นต้น ทรัมป์ออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง คนอเมริกันก็พากันแตกออกไปเป็นสองฝ่าย ทั้งเชื่อและไม่เชื่อ งานนี้เดโมแครตไม่ได้คะแนนเต็ม ทั้งๆ ที่ทำงานอย่างดีและเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ทรัมป์ก็ใช้กลไกรัฐมาเป็นเครื่องมือปกป้องเขาจนสำเร็จ นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน

 

2. ทางออกจากวิกฤต

 

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น คำถามคืออเมริกาจะมีหนทางอะไรในการแก้วิกฤตครั้งนี้ได้ ฟังดูอาการหนักไม่เบา พอๆ กับเมืองไทย แต่ผมคิดว่าอเมริกาได้เปรียบกว่าไทย ตรงที่เขามีท่อระบายอากาศหรือเขื่อนกั้นน้ำเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของความขัดแย้งก่อนที่มันจะระเบิดออกมาอย่างไร้ทิศทางและการควบคุม นั่นคือภาระหน้าที่ของระบบการเลือกตั้งที่ให้พลเมืองที่มีคุณสมบัติทุกคนสามารถใช้สิทธิในการแสดงความต้องการของแต่ละคนอย่างอิสระเสรีในการตัดสินว่าใครควรเป็นประธานาธิบดีของพวกเขา ด้วยการเสนอแนวทางและนโยบายที่ตรงใจผู้เลือกตั้ง ง่ายและไม่ซับซ้อนอะไร ไม่ต้องจ้างสถาบันจอร์จ วอชิงตันมาช่วยคิดว่าจะหาทางแก้วิกฤตการเมืองอย่างไร

ใช่ ระบบการเลือกตั้งคือเครื่องมือในการลดความขัดแย้งและวิกฤตของการเมืองในประเทศ ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐและฉีกรัฐธรรมนูญ

แต่จะทำอย่างนั้นได้ อเมริกาต้องไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทุกห้าปีสิบปี ต้องไม่ล้มพรรคการเมือง ไม่ตัดสิทธิของนักการเมือง ไม่โทษประชาชนว่ายังไร้การศึกษาและไม่อาจเลือกคนดีเข้ามาได้ เหนืออื่นใดกองทัพต้องอยู่ภายใต้อำนาจบริหารปกครองของฝ่ายพลเรือน ไม่มีอำนาจและสถาบันใดที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้ ถ้าได้กระทำอย่างนี้มาจนเป็นประเพณีธรรมเนียมแบบกฎหมายที่ไม่ต้องเขียน รู้ได้ว่าผิดถูกชอบดีโดยสามัญสำนึก ก็พร้อมที่จะมีเครื่องมือและกลไกในการแก้ไขวิกฤตการเมืองได้ ไม่ต้องเฝ้ารอ ‘อัศวินม้าขาว’ ซึ่งเป็นนิทานหลอกเด็กกันอยู่อย่างเซื่องๆ

 

ในที่สุด ถ้าอเมริกาสามารถแก้ปัญหาวิกฤตความแตกแยกใหญ่ในประเทศได้ ด้วยการใช้กลไกและระบบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งของประชาชนได้อย่างสันติ มีอารยะ และสติปัญญา ท่ามกลางข่าวด้านลบว่าจะมีการประท้วงกระทั่งใช้ความรุนแรงหากทรัมป์แพ้การเลือกตั้งนี้ ก็อาจพูดได้อย่างมีน้ำหนักว่า ระบบประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เป็นแค่ ‘ระบบการเมืองที่เลวน้อย’ หากแท้จริงแล้วเป็น ‘ระบบการเมืองที่ดีมาก’ ระบบหนึ่งในโลกาภิวัตน์ปัจจุบันนี้ เพราะมันเป็นระบบการเมืองที่ส่งเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนได้ ทำให้ประชาชนผู้เลือกตั้งสามารถค้นพบและแสดงออกถึงสติปัญญาของพวกเขาในการเลือกคนที่จะมาเป็นผู้ปกครองและใช้อำนาจสูงสุดแทนพวกเขาได้อย่างมีเกียรติและสมแก่ฐานะ

นั่นคือความหมายระหว่างบรรทัดของวลีว่า “ถ้าการเมืองดี” พลเมืองทั้งหลายก็สามารถใช้ชีวิตและการทำงานอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างมีความสุข

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save