fbpx
101 Round Table: อ่านการเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020

101 Round Table: อ่านการเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 คือ การเลือกตั้งพิพากษาผลงาน 4 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี และชี้ชะตาอนาคตการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกัน | พรรคเดโมแครตจะรักษาสภาผู้แทนราษฎรและยึดวุฒิสภาคืนจากพรรครีพับลิกันได้หรือไม่ | ผลการเลือกตั้งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมการเมืองอเมริกัน | อเมริกาและโลกจะเดินต่อไปอย่างไร

วิเคราะห์อนาคตการเมืองสหรัฐฯ และการเมืองโลก โดยสามผู้ติดตามการเมืองสหรัฐอเมริกาแบบเกาะติด ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการบริหาร The101.world

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 Round Table “การเมืองสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง 2020” ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020

 

 

 

รู้จักระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

 

ถ้าเราจะทำความเข้าใจระบบการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เบื้องต้น เราต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง

สิริพรรณ: สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 มลรัฐเท่ากับจำนวนดาว 50 ดวงบนธงชาติ ตอนนี้สหรัฐฯ มีประชากรทั้งประเทศประมาณ 330 ล้านคน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 240 ล้านคน ซึ่งมีการประมาณกันว่า การใช้สิทธิครั้งนี้น่าจะสูงประมาณ 150-160 ล้านคน

เวลานับคะแนน เขาจะไม่ได้เอาคะแนนที่ประชาชนทั้งประเทศเลือก (popular vote) มารวมกัน แต่จะใช้ระบบที่เรียกว่า electoral vote ซึ่งแต่ละมลรัฐจะมีคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) จำนวนเท่ากับ จำนวน ส.ส. กับ ส.ว. รวมกัน เช่น แคลิฟอร์เนียมีคณะผู้เลือกตั้งจำนวน 55 คน เพราะมีจำนวน ส.ส. 53 คน และ ส.ว. 2 คน ซึ่งจำนวนส.ว. จะมี 2 คนเท่ากันทุกรัฐไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก แต่ที่ต่างกันคือจำนวน ส.ส. ที่ขึ้นกับจำนวนประชากรในรัฐนั้นๆ

ทั้งนี้ ตัว ส.ส. กับ ส.ว. ไม่ได้เป็นคณะเลือกตั้ง แต่คนที่จะเป็นคณะเลือกตั้งคือสมาชิกของพรรคการเมืองในพื้นที่ที่สมัครไป ผู้ที่จะชนะ electoral vote ของมลรัฐคือผู้ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในมลรัฐนั้น และคะแนนเสียงที่มากที่สุดไม่จำเป็นต้องเกินครึ่ง อย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว (2016) ที่มิชิแกน ทรัมป์ชนะ (ฮิลลารี) คลินตันไปแค่หมื่นคะแนน ซึ่งทั้งสองคนต่างได้คะแนนประมาณร้อยละ 49 เพราะมีผู้สมัครคนที่สามคือแกรี จอห์นสัน (Gary Johnson) ได้คะแนนส่วนหนึ่งไปด้วย แต่คะแนน electoral vote ของมิชิแกนทั้งมลรัฐเป็นของทรัมป์

สหรัฐฯ จะนับคะแนนแบบที่ว่ามานี้ทุกมลรัฐ และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียง 270 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียงจะถือว่าเป็นผู้ชนะ แต่เราจะเห็นว่าตัวเลขมันครึ่งๆ หมายความว่าผู้สมัครอาจจะได้ 269 คะแนนเท่ากันก็ได้ ที่น่าสนใจคือ สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ เวลาของเขาจะเริ่มไม่พร้อมกัน โดยตะวันออกจะเร็วกว่า จะเห็นว่ามลรัฐฝั่งตะวันออกอย่างฟลอริดา แมรี่แลนด์ หรือนิวยอร์ก จะปิดหีบและเริ่มนับคะแนนก่อน ไล่มาจนถึงมลรัฐฝั่งตะวันตกอย่างแคลิฟอร์เนียก็จะปิดหีบทีหลัง ทั้งนี้ มี 2 มลรัฐคือเมนและเนบราสกา ที่จะไม่ได้ใช้ระบบผู้ชนะกินรวบ (winner-take-all) ในการเลือกตั้ง แต่จะมีการแบ่งสัดส่วนตามคะแนนในแต่ละเขตเลือกตั้งด้วย แต่สองมลรัฐนี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวแปรใหญ่ ไม่ได้มีจำนวนคณะเลือกตั้งเยอะ

มลรัฐที่ส่งผลต่อการได้ชัยชนะคือมลรัฐที่ยังไม่เป็นฐานเสียงของใคร หรือที่เราเรียกกันว่ารัฐสมรภูมิ (battleground state) หรือเป็น swing state ตัวแปรอยู่ที่ว่า ใครจะได้ electoral vote ของแต่ละมลรัฐไป และอาจจะเกิดการพลิกได้ว่าคนที่ชนะ popular vote อาจจะแพ้คะแนน electoral vote อย่างในปี 2016 คลินตันชนะทรัมป์มากถึง 3 ล้านคะแนน เพราะในมลรัฐที่คลินตันชนะคือชนะในสัดส่วนที่สูงมาก พอคิดคะแนน popular vote เลยได้มากกว่า แต่ไม่ชนะในกลุ่ม swing state

 

ภาพประกอบโดย ภาพิมล หล่อตระกูล

 

ปกป้อง: ในการเมืองสมัยใหม่ มี 2 ครั้งที่ผู้ชนะ popular vote ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี เพราะแพ้คะแนน electoral college คือสมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แข่งกับอัล กอร์ ในปี 2000 ซึ่งอัล กอร์ ชนะ popular vote แต่บุชชนะ electoral vote อีกครั้งก็คือสมัยของทรัมป์กับคลินตันเมื่อปี 2016

ที่น่าสนใจคือ ในบรรดา 50 มลรัฐ บางรัฐก็ถือเป็นฐานเสียงประจำของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน แต่มีกลุ่มรัฐที่เราเรียกว่า swing state เป็นรัฐที่บางครั้งเลือกเดโมแครตบ้าง เลือกรีพับลิกันบ้าง บางครั้งเราจะเรียกรัฐพวกนี้ว่า ‘รัฐสนามรบ’ หรือ ‘รัฐสมรภูมิ’ รอบนี้ที่คนจับตาดูกันเยอะๆ ก็จะมีฟลอริดา จอร์เจีย นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ ไอโอวา เพนซิลเวเนีย มิชิแกน วิสคอนซิน เท็กซัส และแอริโซนา

เมื่อปี 2016 ทรัมป์พลิกมาชนะแบบหักปากกาเซียน เพราะทั้งมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซินเป็นของเดโมแครต มั่นใจมากว่าได้ชัวร์ๆ ชนิดที่คลินตันไม่ได้ไปหาเสียงที่วิสคอนซินเลย แต่ทรัมป์กลับมาชนะใน 3 รัฐนี้อย่างเฉียดฉิว ปีนี้คนจึงจับตาว่าไบเดนจะแย่งชิงทั้งสามรัฐคืนกลับมาได้ไหม รวมทั้งมีลุ้นในรัฐอย่างฟลอริดา ซึ่งผลออกมาว่าทรัมป์ยังรักษาฐานเสียงไว้ได้ นอกจากนั้น ยังมีรัฐทางใต้ที่เคยเป็นฐานเสียงของรีพับลิกันอย่างจอร์เจีย และนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งทรัมป์นำอยู่ แต่ยังนับคะแนนไม่เสร็จ

นอกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีการเลือก ส.ส. ทั้งสภา คือ 435 คน เลือก ส.ว. อีก 1 ใน 3 ของสภา เลือกตั้งผู้ว่าการรัฐอีก 11 คน เลือกตั้งสมาชิกสภาของรัฐและพนักงานสาธารณะในระดับท้องถิ่น และยังมีการทำประชามติในระดับและท้องถิ่นด้วย เราอาจบอกได้ว่า วันนี้คือเทศกาลการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนครั้งสำคัญในรอบ 4 ปี

 

มองการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020

 

ในมุมของคนที่ติดตามการเมืองอเมริกามาตลอด การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เราเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้างไหม

ธเนศ: การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่เราเห็นกลไกการเลือกตั้งละเอียดมาก แต่ละรัฐก็มีรายละเอียดปลีกย่อยหรือกฎระเบียบต่างกันไป ตรงนี้ทำให้รู้สึกถึงความสำคัญของระบบการเลือกตั้ง ซึ่งที่อื่นอาจจะเป็นพิธีกรรม แต่ในสหรัฐฯ ผมว่ามันครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วม เป็นการเคลื่อนไหวด้วย คือใครชอบใครก็จะไปรณรงค์หาเสียง ตั้งแคมป์ เป็นอาสาสมัคร ทุ่มทุนกันเหมือนเป็นผู้สมัครเอง และ state rights ของเขาแรงมาก รัฐบาลจะไปยุ่งไม่ได้เลย

ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่พรรครีพับลิกันไปฟ้องศาลสหพันธรัฐ (federal court) ว่า การที่รัฐเพนซิลเวเนียขยายเวลารับบัตรเลือกตั้งไปอีกสามวันหรือกรณีเท็กซัสเปิดให้ส่งบัตรเลือกตั้งแบบ drive-thru เป็นเรื่องผิดระเบียบ จะเอารายชื่อกว่า 130,000 ชื่อที่เขาโหวตมานับไม่ได้ แต่ศาลบอกว่าจะไปละเมิดอำนาจเลือกตั้งของรัฐไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศาลหลายคนก็มาจากการแต่งตั้งของทรัมป์ เขาเลยหวังจะใช้ศาลเป็นเครื่องมือเล่นงาน แต่อย่างศาลที่เท็กซัสเขาก็เปรยๆ ว่า ตามกฎหมายที่ลงคะแนนต้องอยู่ในตึก (building) แต่ drive-thru อยู่ในเต็นท์ เขาก็ให้รีบปรับเปลี่ยน เหมือนพูดเป็นนัยๆ ว่า ถ้าฟ้องต่อไปศาลอาจจะยื้อไม่ได้ มันจะเป็นการละเมิดอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิสำคัญหนึ่งของพลเมือง

ผมว่างานนี้ทำให้ความขัดแย้งในการเมืองอเมริกาซึมลึกลงไปถึงพื้นฐาน คือขุดเอาศาลขึ้นมาแล้ว ตอนนี้พรรครีพับลิกันพยายามจะเอาชนะให้ได้ด้วยการเอาศาลทุกระดับลงมาเล่น ซึ่งมันน่าหวาดเสียวนะ เพราะเป็นการเปิดรอยแผลเก่า และถ้าคุณไปแตะต้องสถาบันที่เป็นรากฐานในขณะนี้ แสดงว่าการประนีประนอมที่ผ่านมาของสหรัฐฯ เช่น ระบบทาส กำลังจะถูกท้าทายจากรีพับลิกันภายใต้การนำของทรัมป์

สิริพรรณ: ที่น่าตลกคือ การเลือกตั้งล่วงหน้าทางไปรษณีย์เป็นอะไรที่ทำกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับคนอเมริกันในต่างประเทศหรือทหารที่ไปประจำฐานทัพในต่างประเทศ เขาก็เลือกตั้งทางไปรษณีย์ซึ่งบางครั้งก็มาส่งช้า แต่ครั้งนี้ทรัมป์กลัวมาก เพราะเดโมแครตในประเทศจำนวนมากใช้บัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์

ดิฉันคิดว่ามันผูกกับเรื่องของสีผิวด้วย กล่าวคือ คนผิวดำที่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตมีจำนวนประชากรเยอะขึ้น ประมาณร้อยละ 13 ทั้งประเทศ แต่กลับเป็นคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี 2016 ที่คลินตันแพ้ พอมาปีนี้ ไบเดนพยายามบอกว่า เราต้องการคะแนนเสียงของคุณ ออกมาเลือกตั้งกันหน่อย และการให้บัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ส่งไปถึงบ้านจะทำให้คนผิวดำที่ไม่อยากออกมามีแรงจูงใจ กากบาทแล้วไปหย่อนบัตร ทรัมป์เลยกลัวเรื่องนี้ แต่เขาไปไกลขนาดทวีต (tweet) บอกว่า พอปิดหีบแล้วจะไม่ให้คนที่ยืนรอคิวอยู่ได้เลือก (ทั้งที่ปกติเขาจะมีสิทธิเลือกได้อยู่) โดยเฉพาะในรัฐที่ตนเองนำ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เหมือนที่เกิดในประเทศโลกที่สาม คือไม่ได้ส่งเสริมให้คนใช้สิทธิเลือกตั้งง่ายๆ และไม่ยืนยันว่า บัตรเลือกตั้งที่ประชาชนได้แสดงสิทธิไปแล้วจะได้รับสิทธิอันชอบธรรมในการนับคะแนน แต่ก็มีคนคาดการณ์ว่า ทรัมป์จะใช้ศาลสูงสุดบอกว่า บัตรเลือกตั้งจำนวนหนึ่งไม่ควรถูกนับ นี่เลยเป็นปรากฏการณ์ที่ดิฉันมองว่าแปลกมากในประเทศที่ถือเป็นต้นแบบประชาธิปไตย

 

เกมการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์

 

ถ้าคะแนนแพ้ชนะออกมาใกล้กันมาก ทรัมป์อาจจะเลือกเดินทางเลือกสุดท้ายคือ นำเรื่องขึ้นสู่ศาลสูงซึ่งรีพับลิกันครองอยู่ เนื่องจากทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพากษาเข้าไป 3 คน ตอนนี้คะแนนอนุรักษนิยมต่อเสรีนิยมในศาลจึงเป็น 6:3 ซึ่งแน่นอน เราไม่เคยเห็นเกมการเมืองแบบนี้มาก่อน

ธเนศ: ผมว่าสหรัฐฯ ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ เพราะศาลสูงจะเอาความชอบธรรมที่ไหนมาตัดสิน รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุแน่ชัด และนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งในตัวบทกฎหมายที่เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญให้หรือไม่ให้สิทธิ แต่เป็นสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนที่รัฐเป็นผู้ดูแลและจัดการเท่านั้น สื่อชื่อดังยังพาดหัวข่าวถามเลยว่า จะทำได้ยังไง (how) มันไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายในเรื่องนี้ และการจะบังคับให้ศาลสูงรับเรื่องก็ต้องผ่านศาลระดับสหพันธรัฐ (federal court) ไล่มาเป็นลำดับก่อน ซึ่งถ้าศาลเข้าข้างทรัมป์อาจจะเสนอเรื่องเข้าไปก็ได้ แต่ถ้าศาลสูงรับ เขาก็ต้องรู้ว่านี่เป็นเผือกร้อนและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศเลย

ผมว่าการเมืองอเมริกาที่ผ่านมาอาศัยสามัญสำนึก (common sense) อยู่ระดับหนึ่ง คือไม่ได้บ้าแต่ตัวบทกฎหมาย จริงๆ การเมืองอเมริกาเหมือนอาศัยจารีตประเพณีระดับหนึ่งในการควบคุม กำกับ และแก้ไขความขัดแย้ง สหรัฐฯ ประนีประนอมกันได้สำเร็จเพราะมีจารีตรองรับ ผู้นำสองฝ่ายตกลงกันได้ ต้องคิดได้และยอมกันเองบ้าง เขาทำแบบนี้ระบบถึงได้อยู่มาหลายร้อยปีโดยที่คองเกรสยังไม่พังไปเสียก่อน และยังทำให้มีอำนาจต่อรองกับประธานาธิบดีได้บ้าง แต่เรามาถึงภาวะ dilemma ที่ทรัมป์จะลุยให้พังไปข้างหนึ่งโดยไม่แคร์จารีต ประเพณี กฎระเบียบ หรือกติกาต่างๆ แต่จะใช้อำนาจของศาลที่เขาแต่งตั้งเข้าไปและให้ศาลอ่านกฎหมายตามที่เขาต้องการ ผมคิดว่าสหรัฐฯ จะเป็นตัวอย่างให้กับโลกเลย แต่จะลบหรือบวกก็ต้องรอดู

สิริพรรณ: ขอเสริมประเด็นอาจารย์ธเนศสักนิดหนึ่ง คือ ในความขัดแย้งระหว่างบุช กับ อัล กอร์ ในปี 2000 ศาลสูงลงมาเล่นโดยใช้คำว่า ‘การปกป้องเท่ากัน’ (equal protection) ตาม amendment ที่ 14 คือบัตรเลือกตั้งทุกใบจะได้รับการปกป้องเท่ากัน พูดง่ายๆ คือ ถ้าบัตรเลือกตั้งบาง County ไม่ได้ถูกนับใหม่ บัตรเลือกตั้งใน Palm Beach County จะไม่ถูกนับใหม่เช่นกัน

ในแง่นี้ แม้จะไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่มันอิงได้ถึงข้อความในรัฐธรรมนูญที่เอามาใช้ บางคนอาจบอกว่า การตีความการปกป้องเท่ากันก็ต่างกันออกไป ซึ่งถ้าทรัมป์ร้องเรียนไปยังศาลสูงสุด แล้วศาลสูงสุดจะลงมาเล่นในเกมนี้เพื่อไม่ให้มีการนับบัตรจริงๆ คำถามคือ มีข้อความใดในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ศาลสูงจะหยิบมาใช้ได้ เพราะมันคนละกรณีกับครั้งที่แล้วที่เป็นการนับใหม่ แต่ครั้งนี้บัตรยังไม่ถูกนับทั้งที่คนหย่อนบัตรไปแล้ว แล้วศาลสูงสุดจะเอาประเด็นอะไรมาบอกว่าบัตรเหล่านี้ไม่ควรถูกนับ ต่อให้ทรัมป์แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดมา 3 คน แต่ก็ต้องคิดหนักแล้วว่า คุณยอมพังความชอบธรรมของกระบวนการทางการเมืองเพื่อคนเพียงคนเดียวได้ไหม

ดังนั้น ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พอถึงเวลานั้นจะมีการสะกิดทรัมป์ว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ก็ไม่แน่ใจ อย่างกรณีที่มีคนบอกว่า การแต่งตั้งเอมี แบร์เรต ผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ เป็นการกระทำที่ไม่สง่างาม แต่ถามว่าผิดกฎหมายไหม ไม่ผิดนะคะ เพียงแต่ที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ยั่งยืน ดำรงคงไว้ได้ 200 กว่าปี เพราะเขารักษาความสง่างามมาทั้งสองฝ่าย ซึ่งดิฉันก็ไม่แน่ใจว่า รีพับลิกันในทุกวันนี้ยังมีความสำนึกที่จะรักษาระบอบไว้หรือแค่ต้องการชัยชนะกันแน่ นี่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญมากของสหรัฐฯ ที่เราจะเห็นต่อไปในอนาคต

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และเจอกับกระบวนการถอดถอน (impeachment) ด้วย แต่ก็ยังผ่านมาได้ และยังสามารถรักษาฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้ได้มากกว่าที่หลายคนคาดประมาณไว้ เราจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร

สิริพรรณ: เราเคยคิดว่าโควิดจะเป็นตัวเปลี่ยน เป็นเหมือนการทำประชามติพิพากษาทรัมป์กับการจัดการปัญหาวิกฤตโรคระบาดได้แบบไม่น่าเชื่อว่าจะเลวร้ายขนาดนี้ คนอเมริกันเสียชีวิตจากโควิดมากกว่าเสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วด้วยซ้ำ แต่โควิดกลับไม่ใช่ตัวแปรอย่างที่คิด ถ้าไม่นับ swing state ฐานเสียงของทรัมป์ก็ยังแข็งแกร่งมากอยู่ดี

ประเด็นหลักๆ ที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้อาจเป็นเรื่องภาษีของพรรคเดโมแครตและไบเดน คือที่สุดแล้ว ถ้าเราติดตามการเมืองอเมริกามาตลอดจะตกผลึกอย่างหนึ่งว่า ตัวแปรสำคัญที่สุดคือเศรษฐกิจในประเทศ และภาษีเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งถ้าเราไปดูอัตราภาษีที่ไบเดนนำเสนอก็ค่อนข้างสูงกว่าของทรัมป์มาก คือทรัมป์น่าจะคงอัตราเอาไว้ ส่วนไบเดนเสนอการเก็บภาษีในทุกสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีผู้ประกอบการรายย่อย หรือภาษีหุ้นที่สูงขึ้นมาก เราก็มองได้ว่า ภาษีทำให้ฐานเสียงของรีพับลิกันไม่ขยับเพราะเขาไม่อยากจ่ายในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยอธิบายได้ปัจจัยหนึ่ง

เหตุผลข้อที่สองคือ มีการปล่อยข่าวค่อนข้างมากว่าไบเดนเป็นสังคมนิยม (socialist) ทั้งๆ ที่เขาค่อนข้างอยู่ตรงกลาง (centrist) มากกว่า สังคมอเมริกันก็กลัวว่า ไบเดนจะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นสังคมนิยม เหมือนที่สังคมไทยกลัวคอมมิวนิสต์นั่นแหละ ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือในฟลอริดา

นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่าอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ กมลา (กามาลา) แฮร์ริส ที่เป็น running mate ของไบเดน และถ้าสมมติว่าเกิดอะไรขึ้นกับไบเดน แฮร์ริสจะกลายเป็นประธานาธิบดีไปทันที สำหรับคนที่ชอบแฮร์ริสก็น่าจะชอบไปเลย แต่คนที่ไม่ชอบก็มีการพูดถึงว่าเป็นผู้หญิงผิวดำและมีส่วนผสมของเอเชีย นี่ก็เป็นด้านลบของกลุ่มอนุรักษนิยมที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ยอมให้ผู้ชายผิวดำขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก่อน แต่ยังไม่เคยยอมรับผู้หญิงให้ขึ้นมาในตำแหน่งสูงสุดนี้

ข้อสุดท้ายและน่าจะเป็นตัวที่อธิบายอะไรได้เยอะคือ แหล่งข้อมูลที่แต่ละคนได้รับ คือรีพับลิกันก็จะรับข่าวจากรีพับลิกัน ข่าวที่ได้ก็จะซ้ำไปซ้ำมาจากแหล่งเดิมที่มองทรัมป์ว่าเป็นคนที่สนใจดูแลคนเล็กคนน้อย เจอแบบนี้เขาจะคิดว่าการตัดสินใจเลือกทรัมป์ถูกแล้ว ส่วนไบเดนอาจจะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าที่ไกลเกินกว่าที่เขาจะชอบได้ เช่น เรื่องการแต่งงานของเพศเดียวกัน หรือการทำแท้ง

เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็พอเห็นภาพว่า ฐานเสียงที่แข็งแกร่งของอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ยังแน่นแฟ้น และอาจจะยิ่งแน่นกว่าเดิมเพราะมันคือการปะทะกันในเชิงวัฒนธรรม

ธเนศ: เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองนายทาสทำในสมัยที่ภาคใต้ยังมีระบบทาสอยู่ และต้องสู้กับภาคเหนือที่เป็นระบบแรงงานเสรีที่ต้องการต่อต้านทาสหรือเลิกทาส ที่ผมสงสัยมากในตอนเรียนคือ ทำไมคนผิวดำถึงไปรบกับคนภาคเหนือ ถ้ารบกันไปคนที่ตายก็จะไม่ได้อะไรเลย และไม่ได้รบกันเล่นๆ ด้วย คำตอบที่ได้คือ ตลอดเวลาที่นายทาสปกครองและมีระบบเป็นร้อยปี นายทาสพยายามจะบอกว่า การมีทาสทำให้คนผิวขาวที่ไม่มีแรงงานอยู่ดีขึ้น สบายขึ้น ให้ทาสทำงานแทนเรา เป็นการปลุกระดมความเชื่อว่าคนขาวได้เปรียบ ปลุกอารยธรรมคนผิวขาว (white civilization) ของภาคเหนือกับภาคใต้ ซึ่งภาคใต้ก็มักจะดูถูกภาคเหนือว่าเป็นพวก junky ไม่มีรากเหง้า ส่วนภาคใต้ก็พยายามจะหารากเหง้ากลับไปยุคฟิวดัลในยุโรปให้ได้

ผมจึงมองว่าทรัมป์กำลังใช้อุดมการณ์แบบนายทาสด้วยการทำให้กลุ่มคนลาติน คนที่เข้ามาในสหรัฐฯ ใหม่ๆ เป็นคนข้างล่างอยากมีฐานะ เริ่มใช้ประโยชน์จากระบบของทรัมป์ และสร้างอุดมการณ์ด้วยการเหยียดคนที่ไม่ได้เข้ามาในสหรัฐฯ อย่างถูกต้อง รวมถึงสร้างศัตรูด้วย

สิริพรรณ: ที่อาจารย์ธเนศพูดมาเป็นไปได้นะคะ แม้ว่าประวัติศาสตร์อาจจะไม่ได้เกิดต่อเนื่องกันขนาดนั้น แต่ความรู้สึกว่าเป็น white supremacist ของคนจำนวนหนึ่งยังอยู่ และคนเหล่านี้วิตกกังวลกับปรากฏการณ์ที่โลกเปลี่ยนไปเร็วมากภายใต้โลกาภิวัตน์

ถ้าเอาตามที่อาจารย์ธเนศพูดและแปลเป็นปรากฏการณ์จริงๆ จะเห็นกลุ่มคนขาวที่มองว่าตนเองเหนือกว่า ดีกว่า และอยากคงรักษาสภาพเดิมไว้ เราจะเห็นเขาแยกออกมาเต็มไปหมด และคนเหล่านี้ก็ออกมาแสดงให้เห็นถึงพลังของเขาในลักษณะที่อุกอาจและไม่เคารพกฎหมาย อย่างในมิชิแกนมีการขู่ว่าจะลักพาตัวผู้ว่าการรัฐ (governor) ไป มีการถืออาวุธปืนในหน่วยเลือกตั้งใกล้ๆ เอารถไปไล่ตามรถไบเดน ลักษณะแบบนี้เหมือนย้อนกลับไปก่อนสงครามกลางเมือง และเป็นความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ ความคิด จุดยืน ที่เป็นการรักษาไว้ซึ่งอเมริกาในฝันของพวกเขา และดิฉันยังกลัวเลยว่า ไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม สงครามกลางเมืองย่อยๆ ในมลรัฐจะปะทุขึ้นมาได้

 

มองภูมิทัศน์การเมืองอเมริกา

 

เราเห็นภูมิทัศน์การเมืองอเมริกาเปลี่ยนไปอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกลุ่มอะไรที่น่าสนใจ หรือฐานเสียงของทั้งสองพรรคเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

สิริพรรณ: โดยกว้างๆ คิดว่าน่าจะคงเดิม คนผิวดำก็ยังคงเลือกเดโมแครต ชายผิวขาว ไม่จบปริญญาตรี อยู่ในเมืองชนบท เป็น red neck ก็ยังเป็นฐานเสียงหลักของรีพับลิกันอยู่ แต่ตัวแปรที่เราเคยคุยและมองคือ Hispanic ซึ่งตอนนี้เพิ่มมาเท่ากับคนผิวดำ คือประมาณร้อยละ 13 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะนับถือคาทอลิก จึงจะไม่นิยมคุมกำเนิดหรือทำแท้ง ดังนั้นอัตราการเพิ่มของประชากรจะสูงขึ้น แม้กลุ่มนี้แต่เดิมอาจจะเคยเป็นฐานเสียงเดโมแครต แต่เราก็ต้องดูด้วยว่า เขาอยู่ในรัฐไหน และจะกลายเป็นกลุ่มที่จะ swing ได้มากกว่าคนผิวดำด้วย คือร้อยละ 88 ของคนผิวดำเลือกเดโมแครตไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ Hispanic จะเปลี่ยนได้

อีกกลุ่มที่น่าสนใจมากคือ กลุ่มผู้หญิงผิวขาวที่มีการศึกษา (college white women) ซึ่งครั้งนี้เลือกทรัมป์ ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ก็อาจจะยังไม่มีคำตอบชัดๆ เพราะปกติผู้หญิงน่าจะไปทางเดโมแครตมากกว่ารีพับลิกัน แต่ถ้าให้ลองเดาดู ดิฉันคิดว่าอาจจะเป็นเรื่องความเป็นอนุรักษนิยมที่เป็นรากเหง้าหลักของสังคมอเมริกัน เพราะที่ผ่านมา สังคมอเมริกันภายใต้โอบามามีความซ้ายขึ้น เช่น สิทธิการทำแท้ง (abortion rights) หรือโดยเฉพาะสิทธิในการแต่งงานของเพศที่สาม (gay rights marriage) เราเห็นความท้าทายจากหลายมลรัฐที่เป็นอนุรักษนิยมไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้อยู่

ดิฉันคิดว่ากลุ่มนี้จะมามีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น และจะเป็นตัวแปรในการเกิดสงครามยุคใหม่ คือเป็นสงครามวัฒนธรรม (cultural war) ยุคใหม่ และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทรัมป์แต่งตั้งแบร์เรตเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ด้วย

ปกป้อง: อย่างหนึ่งที่เราเห็นจากทรัมป์คือ ตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ เขาไม่เคยหยุดหาเสียงเลย พูดง่ายๆ คือหาเสียงตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลัง คือไม่รู้ว่าทำงานเยอะไหม แต่ออกไปแรลลี่ตลอด โดยเฉพาะไปเจาะฐานเดิมที่ตัวเองเคยชนะมา อย่างทรัมป์รู้ว่า คราวที่แล้วเขาแพ้ค่อนข้างขาดที่ไมอามี คราวนี้ทรัมป์ก็ไปทำงานกับกลุ่มคนลาตินที่เป็นอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก และยังหาเสียงกับพวกกลุ่มคนทำงานผิวขาวในรัฐอุตสาหกรรมเก่า (Rust Belt) อย่างมิชิแกน เพนซิลเวเนีย ตลอดด้วย

ครั้งก่อน ทรัมป์ได้คะแนนเสียงจากกลุ่มคนผิวขาวที่ไม่จบปริญญาเยอะก็จริง แต่เสียงคนเหล่านี้ยังสามารถออกมาได้เยอะกว่าเดิม เพราะเมื่อก่อน พวกเขาไม่ค่อยมีส่วนร่วมทางการเมืองมากด้วยข้อจำกัดของชีวิต ทรัมป์จึงพยายามใช้วิธีแบบของเขาในการสื่อสารกับคนเหล่านี้ ก็จะเห็นว่า โจทย์การเมืองอเมริกันของแต่ละพรรคคือการดึงคนที่หายไปจากการเมืองหรือคนที่ไม่ถูกมองเห็นให้ออกมา เราจึงเห็นตัวละครใหม่ๆ เข้ามาในสมการการเลือกตั้งเสมอ

ธเนศ: เราจะเห็นว่า ทรัมป์พยายามดึงคนงานหรือคนที่เสียโอกาสทางเศรษฐกิจเพราะโลกาภิวัตน์ขึ้นมา สัญญาว่าจะทำนั่นนี่หรือสร้างโรงงานให้ แม้สุดท้ายจะไม่ได้ทำจริงๆ นะ แต่พอถามชนชั้นแรงงานว่าจะยังเลือกอยู่ไหม พวกเขาก็บอกว่า ก็จะยังเลือกอยู่เพราะทรัมป์พยายามแล้ว ปัญหาที่เกิดมันเป็นปัญหาของโลก จริงๆ คือที่ทรัมป์ให้สัญญามันตกยุคไปแล้ว เศรษฐกิจแบบที่ว่าไปไม่รอด แต่เขาก็ยังขายมันได้ ทรัมป์เป็นนักขายบ้านที่เก่งนะ เอาบ้านมาทาสีใหม่ไปโฆษณา คนไม่มีก็ต้องยอมซื้อ กลายเป็นเกมการค้ามากกว่าเกมการเมือง และการที่เราพยายามจะอธิบายมิติทางวัฒนธรรมก็อาจจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก เพราะทรัมป์ก็ทำแบบของเขานั่นแหละ

 

ทรัมป์ 2 หรือ ไบเดน 1

 

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดี แต่อยากลองชวนคุยว่า ถ้าทรัมป์ชนะ รัฐบาลทรัมป์สมัยที่สองจะแตกต่างจากสมัยแรกอย่างไร หรือถ้าไบเดนชนะ รัฐบาลไบเดน 1 จะต่างจากรัฐบาลทรัมป์อย่างไร 

ธเนศ: เท่าที่ผมอ่านงานของนักสังเกตการณ์และนักวิจารณ์การเมืองอเมริกัน เขาก็ฟันธงว่า ทรัมป์สมัยที่สองก็คงไม่ต่างจากสมัยแรก ทำเนียบขาวก็คงโกลาหล (chaotic) และไร้ระเบียบ (disorder) คนก็คงต้องทำงานตามใจทรัมป์ต่อไป

สิริพรรณ: เห็นด้วยกับอาจารย์ธเนศว่า ถ้ามีทรัมป์สมัยที่สองก็ไม่น่าต่างจากสมัยแรก แต่ด้วยความที่เขาไม่ต้องกลับมาเลือกตั้งอีกแล้ว เราอาจจะเห็นมาตรการที่เข้มข้นขึ้นบ้างเพราะไม่ต้องเกรงใจใคร แต่อย่างที่บอกว่าภาพรวมคงไม่ได้ต่างไปจากเดิม น่าจะยังเน้นสงครามการค้ากับจีน ไม่ให้ความสำคัญกับประชาคมระหว่างประเทศ (international community) ไม่สนใจความร่วมมือพหุภาคี แต่เน้นการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศซึ่งเป็นจุดเด่นของทรัมป์เลย ส่วนเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ในสังคม ทรัมป์ก็คงปลุกกระแสขึ้นมาเหมือนเดิม

แต่ถ้าเป็นไบเดน แน่นอนว่าเขาจะยกเลิกสิ่งที่ทรัมป์ทำแทบจะทั้งหมด แต่คำถามที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ ไบเดนจะไปคล้ายโอบามาทั้งสองสมัยไหม ซึ่งจริงๆ ดิฉันคิดว่าไม่คล้าย ถ้าประเมินจากที่ไบเดนพูดไว้ช่วงในดีเบตกับช่วงหาเสียง สิ่งที่เขาน่าจะจัดการประการแรกคือเรื่องโควิด โดยใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น อาจจะเอาบทบาทรัฐบาลกลางเข้ามาบังคับให้คนใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นมาตรฐานของเดโมแครตอยู่แล้วในเรื่องการขยายรัฐบาลกลางให้ใหญ่ขึ้น

ส่วนเรื่องโอบามาแคร์ก็คงถูกฟื้นกลับมาและระดมเงินเข้าไปมากขึ้น เพราะทั้งไบเดนและแฮร์ริสพูดถึงต่าง healthcare ที่จะขยายและรองรับจำนวนคนที่จะได้รับการบริการในระบบประกันสุขภาพมากขึ้น อีกข้อก็คือเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยการเพิ่มการจ้างงาน ตรงนี้เป็นเป้าหมายที่คล้ายกับทรัมป์ แต่วิธีการต่างกัน

ถ้ามองประเด็นหลักที่จะกระทบกับไทย ดิฉันคิดว่าถ้าไบเดนชนะ เขาน่าจะกลับเข้ามาสู่ความร่วมมือพหุภาคีอย่างแน่นอน และมีการใช้เครื่องมือทางการค้ามากขึ้น คือหันมาบีบประเทศพันธมิตรและภาคีต่างๆ ทั้งเพื่อหาความร่วมมือและบีบจีนมากขึ้น ดังนั้น ทั้งไทยและประเทศอื่นก็จะถูกสหรัฐฯ มาสะกิดบ่อยๆ ว่าต้องมาร่วมมือกันโดยมีจีนเป็นปฏิปักษ์ ข้อตกลง CPTPP อาจจะกลับมา แม้จะไม่เร็วนัก แต่สงครามการค้ากับจีนจะยังมี ไม่ว่าจะเป็นไบเดนหรือทรัมป์ เพียงแต่อาจจะใช้วิธีการต่างกันเท่านั้นเอง

 

ประเด็นการเมืองหลักประเด็นหนึ่งคือเรื่องของหลักประกันสุขภาพ หรือโอบามาแคร์ ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่านี่เป็นช่วงวิกฤตสุขภาพ แต่ดูเหมือนกระแสตอบรับต่อนโยบายโอบามาแคร์ของฝั่งเดโมแครตจะน้อยกว่าที่ควรเป็น เราอธิบายได้ไหมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้

สิริพรรณ: ถ้าเรามาดูกลุ่มคนออกเสียงเลือกตั้งที่มีมากที่สุด พวกเขาคือกลุ่ม independent ที่พร้อมจะสวิงไปทางใดก็ได้ และในบรรดาคนกลุ่มนี้ ดิฉันยังยืนยันว่าสิ่งที่อยู่ในใจคนอเมริกันมากที่สุดคือภาษี ภาษี และภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไบเดนออกมาพูดชัดเจนว่า เขาต้องการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปใช้กับสวัสดิการสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงโควิด แต่ในสหรัฐฯ คนจำนวนมากมีแนวคิดแบบปัจเจกนิยม (individualism) ที่แข็งแรงมาก เราเลยเห็นคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม มองว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือมองว่าเราไม่อยากเอาเงินภาษีไปรองรับใคร ดิฉันมองว่านี่แหละคือตัวแปรหลักที่ทำให้คนกลางๆ ที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้เดโมแครตไม่สบายใจ กลัวว่าถ้าไบเดนขึ้นมาแล้วจะเก็บภาษีมากขึ้น บวกกับแนวคิดที่มองไบเดนกับแฮร์ริสว่าจะไปทางซ้ายมากขึ้นด้วย ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ คนที่น่าจะได้ประโยชน์ยังไม่รู้สึกถึงประโยชน์ที่ตนเองน่าจะได้รับ เลยมีแต่ความกลัวและความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

ก้าวต่อไปของการเมืองอเมริกา

 

ถ้ามองยาวไปถึงอีก 4 ปีข้างหน้า เราจะเห็นการเมืองเปิดอีกครั้ง เพราะทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันต้องหาแคนดิเดตคนใหม่มาชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อาจารย์คิดว่า รีพับลิกันต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่อย่างเข้มแข็งในอนาคต และฝั่งเดโมแครตมีโจทย์อะไรรออยู่

สิริพรรณ: เราอาจจะต้องใช้เวลาดูกันต่อไปก่อน แต่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้าวันเลือกตั้ง ทั้งผู้สมัคร ส.ส. และ ส.ว. ของรีพับลิกันจำนวนมากบอกเลยว่า ทรัมป์ไม่ต้องมาช่วยหาเสียง ให้อยู่ห่างๆ ไว้ มันแปลว่า ภายใต้ establishment ของรีพับลิกันเองก็ไม่ได้มองทรัมป์ว่าจะชนะ พูดง่ายๆ คือ นอกจากเราแปลกใจ รีพับลิกันเองก็น่าจะแปลกใจเช่นกัน เพราะหลายคนถอดใจแล้วว่าจะเสียทำเนียบขาวหรือเสีย ส.ว.ไป

เมื่อเป็นแบบนี้ ทั้งสองพรรคคงต้องมานั่งคิดแล้วว่า แนวทางแบบทรัมป์ที่เราเคยดูถูก รังเกียจรังงอน คือแนวทางที่ใช่หรือไม่ ตัวทรัมป์เป็นประชานิยมฝ่ายขวา (right populist) และเขายังอ่านใจฐานเสียงของเขาถูก โดยไม่ได้คำนึงถึงนโยบายหรือการบริหารประเทศอะไร วันๆ รู้แต่ว่าจะทวีตอะไรให้มันตรงใจ ซึ่งดิฉันไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้สอนกันได้ไหม หรือถ้าสอนแล้วใครจะทำได้แบบทรัมป์ แต่แนวทางแบบนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามันสำเร็จจริง

แต่ถ้ามองว่า มันไม่ใช่สิ่งที่จะสอนกันได้ รีพับลิกันก็คงไม่ต้องการหาตัวแทนที่เป็นแบบทรัมป์มาแทนที่ทรัมป์ เพราะคงหาไม่ได้ และในระยะยาว รีพับลิกันคงมองว่า มันไม่สามารถพยุงทั้งพรรคและโครงสร้างสังคมหรือระเบียบสังคมภายในประเทศได้ด้วย

คนที่น่าจับตามองคนหนึ่งในพรรครีพับลิกันคือไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีของทรัมป์ เพนซ์จะเป็นคล้ายๆ โมเดลบอยในอุดมคติของรีพับลิกัน และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากทรัมป์คงบ่มเพาะเพนซ์ หรือผู้นำคนใหม่ขึ้นมาได้ เพราะครั้งหน้าจะต้องเป็น open primary แต่สิ่งที่เห็นแน่ๆสำหรับรีพับลิกัน คือความขวามากขึ้นจะดำรงอยู่

ส่วนในวันนี้ เดโมแครตก็ไปซ้ายมากขึ้น ถ้ามองย้อนกลับไปประมาณ ปี 2002-2004 จุดยืนอุดมการณ์จะอยู่ตรงนี้ แต่ช่วงหลังโอบามาหรือพอมาเป็นทรัมป์ก็ห่างกันมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่อยู่เดโมแครตจะประเมินสังคมยังไงด้วย ดิฉันคิดว่า การเพิ่มขึ้นของคนผิวดำหรือ Hispanic เป็นสิ่งที่เดโมแครตต้องประเมินว่าจะเอาอยู่หรือเปล่า และที่ผ่านมา ดิฉันมีความรู้สึกว่าเดโมแครตล้มเหลวพอสมควร คือไม่แน่ใจว่าจะไปซ้ายแบบแซนเดอร์สเลยดีไหม ทั้งที่จริงๆ ก็มีฐานเสียงที่แข็งแกร่งรออยู่ แต่ด้วยความยึกยักและไม่มั่นใจของเดโมแครตทำให้จับอะไรไม่ได้เลย สุดท้ายเลยมาลงที่ไบเดน

ถ้าพูดด้วยความเคารพ ดิฉันมองว่าไบเดนไม่มี electability เลย ด้านหนึ่งเรามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชามติหรือคำพิพากษาต่อทรัมป์ แต่อีกด้านที่ต้องมองด้วยคือ อะไรเป็นทางเลือก คือคนจำนวนมากบอกว่าไม่เอาทรัมป์ แต่พอมามองไบเดนน่าเลือกไหม ก็ยังไม่ ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่านี่คือโจทย์ใหญ่ในการเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีของเดโมแครต

 

ถ้าชนชั้นนำในเดโมแครตเลือกหนุนแซนเดอร์สแทน อาจารย์คิดว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างไร

สิริพรรณ: ดิฉันว่าแซนเดอร์สก็คงไม่ตอบโจทย์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งด้วยวัยหรือจุดยืนที่เป็นสังคมนิยมเกินไป แต่ถ้าถามจริงๆ เราคงเดาไม่ถูกว่า หากแซนเดอร์สได้เป็นแคนดิเดตแล้วจะเป็นยังไง แต่เคมีการต่อสู้จะไม่เหมือนไบเดนแน่ๆ เพราะแซนเดอร์สจะมีความกล้า อยากลองของใหม่มากกว่าไบเดน เพราะจริงๆ ไบเดนเป็นฝ่ายก้าวหน้า (progressive) ที่มีความอนุรักษนิยม ทั้งด้วยวิธี ท่วงทำนองการหาเสียง หรือประวัติการเป็น ส.ว. จากรัฐเดลาแวร์ที่เป็นรัฐกลางๆ ทุกอย่างมันกลางไปหมด แต่ทุกวันนี้อุดมการณ์และจุดยืนต่างๆ มันขยับไปแล้ว

ถ้าขยับมาประเมินภาพสังคมอเมริกัน ดิฉันมองว่า ทุกวันนี้ สังคมอเมริกันขวามากขึ้น คือถ้ามองเผินๆ โครงสร้างทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาจดูซ้าย แต่ในเนื้อผ้าของสังคมจริงๆ คือขวา ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เราจะเห็นกลุ่ม Hispanic ที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวบอก พวกเขามีแนวโน้มเอียงไปทางเดโมแครต เพราะเดโมแครตเป็นพรรคที่เอาเงินมาช่วยประชาชนหรือคนชั้นล่าง แต่ถ้าในเชิงอุดมการณ์ทางศาสนา กลุ่ม Hispanic เป็นอนุรักษนิยมโดยจิตวิญญาณ ดังนั้น ไม่ว่าทรัมป์จะชนะหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ สังคมอเมริกันมีความอนุรักษนิยมมากขึ้น เดโมแครตจึงต้องไตร่ตรองด้วยว่า จะใช้หลักการของตัวเองนำ หรือจะเดินตามเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนของประเทศจริงๆ

 

ถ้าไมค์ เพนซ์ เป็นโมเดลบอยของรีพับลิกัน แล้วใครคือคนที่น่าจับตามองในฝั่งเดโมแครต

สิริพรรณ: กลุ่มของ AOC (Alexandria Ocasio-Cortez) น่าสนใจ คือเป็นผู้หญิงผิวดำหรือเป็น Hispanic และชนะในเมืองใหญ่ที่ค่อนข้างก้าวหน้าด้วย

ถ้าเราบอกว่า เดโมแครตเป็นอนุรักษนิยมทำให้เขาไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ ดิฉันอยากบอกว่า ถ้าอีก 4 ปีข้างหน้าเลือกได้ อยากให้เดโมแครตลองมองหาคนรุ่นใหม่ ทุกวันนี้ ถ้าเรามองไปยังหลายๆ ประเทศ ทั้งนิวซีแลนด์หรือแคนาดา เราเห็นผู้นำที่อายุยังน้อยหรือเป็นผู้หญิง ดิฉันเลยคิดว่าเดโมแครตน่าจะออกมาจาก comfort zone ของตัวเอง ซึ่งจริงๆ การที่ได้กมลา แฮร์ริสเป็น running mate น่าจะตอบโจทย์ตรงนี้อยู่ระดับหนึ่ง เป็นเหมือนการหยั่งเชิงของเดโมแครต และเป็นการลองมองไปข้างหน้าว่า จะเป็นคู่แข่งที่สูสีได้หรือไม่ในอนาคต

 

เก็บตกเลือกตั้งอเมริกา 2020 (คำถามจากทางบ้าน)

 

ระบบ electoral vote ยังสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันหรือไม่ เราเห็นปัญหาอะไรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ และสังคมอเมริกันควรจะปรับวิธีการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันหรือไม่

สิริพรรณ: ต้องอธิบายก่อนว่า ระบบ electoral vote ถูกใช้ตั้งแต่สมัยบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ (Founding Fathers) ซึ่งเมืองหลวงยังอยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย ตอนนั้นประเทศใหญ่โต ประชาชนก็ไม่รู้ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะเราไม่มีสื่อเลย เมื่อประชาชนไม่รู้จักผู้นำมาก่อน เลยเกิดระบบ electoral vote ขึ้นมา ซึ่งถ้ามองในแง่ประวัติศาสตร์ก็มีนัยของการประนีประนอมกันด้วย แต่ทุกวันนี้ ทุกคนรู้จักกันหมด การเลือกโดยใช้ popular vote อาจจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าก็ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องมานั่งลุ้นทุกครั้ง เพราะจะมีสัก 8-9 มลรัฐที่เป็นมลรัฐพิพากษาจริงๆ

แต่ถ้าถามว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนระบบไหม ดิฉันคิดว่าไม่เปลี่ยน เพราะหลักการของเขามีที่มาจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่า สหรัฐฯ คือ United States เป็นมลรัฐ (state) ที่มารวมกัน ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก แต่มลรัฐเป็นผู้เลือก คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีคือได้รับความยินยอมจากมลรัฐทั้ง 50 รัฐ

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางการเมืองด้วย ในการเมืองอเมริกา มี 4 ครั้งในประวัติศาสตร์ที่คนได้ popular vote แพ้คะแนนแบบ electoral vote และทั้ง 4 ครั้งเป็นรีพับลิกันที่ได้ประโยชน์ ซึ่งการจะแก้ electoral vote ต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย โดยการแก้รัฐธรรมนูญอเมริกามีสองขั้นตอน ขั้นแรกคือการยื่นแก้ ขั้นที่สองคือการให้สัตยาบัน (rectify) ซึ่งอันนี้ค่อนข้างยากมากเพราะต้องได้ความยินยอมจาก 2 ใน 3 ของจำนวนรัฐทั้งหมด หรือประมาณ 34 มลรัฐ

ทีนี้ มลรัฐที่ได้เปรียบอยู่ทุกวันนี้คือมลรัฐที่เป็น key decisive อยู่ตอนนี้ซึ่งเขาจะไม่ยอมแก้ ดังนั้น ดิฉันคิดว่าตอนนี้สหรัฐฯ จะยังไม่แก้ระบบนี้ แต่มันมีประเด็นหนึ่งอยู่ อย่างรัฐเมนได้เริ่มแก้กฎหมายของตัวเองในการเลือก ส.ส. และ ส.ว. แก้รัฐบัญญัติของมลรัฐให้ใช้ระบบ ranking แทน winner-take-all ตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากกว่า คือแต่ละมลรัฐค่อยๆ ทำไป

 

มีคนเชื่อว่า ระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตยมีกลไกในการ resurrect ตัวเองเสมอ แต่ถ้าทรัมป์ชนะในรอบนี้ แปลว่าระบบมีปัญหา หรือทางของทรัมป์คือทางที่ถูกต้อง (correct) แล้ว

สิริพรรณ: ถ้าทรัมป์ชนะก็ไม่ถือว่าระบบมีปัญหาหรอกค่ะ แต่เราต้องยอมรับ และเชื่อว่าทางเดโมแครตกับไบเดนก็จะยอมรับเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าพูดกันจริงๆ ระบบทุกระบบมีปัญหา ไม่มีระบบไหนสมบูรณ์ ระบบนี้ก็อาจจะถูกมองว่า ทำไมใช้ electoral vote แทน popular vote แต่เขาก็ใช้กันมาสองร้อยกว่าปี ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ระบบอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ แต่ไม่ได้มีปัญหา สิ่งที่มีปัญหาคือคนใช้ระบบที่พยายามจะบิดเบือนตัวระบบและตีความหมายใหม่มากกว่า

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นความยืดหยุ่นของกลไกการจัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ แต่เราก็จะเห็นทรัมป์พยายามบงการหรือบิดเบือนระบบด้วยการบอกว่าบัตรเลือกตั้งที่มาทีหลังไม่ควรถูกนับ ตรงนี้มากกว่าที่สรุปได้ว่า คนทำให้ระบบมีปัญหา และแม้ระบบทุกระบบไม่ได้สมบูรณ์ แต่สามารถทำให้ดีกว่านี้ได้

 

การแทรกแซงจากภายนอกเป็นประเด็นมากแค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น การแทรกแซงจากรัสเซีย หรือจากจีนกับอิหร่าน

สิริพรรณ: มันมีเรื่องนี้อยู่นะคะ ข่าวของทางสหรัฐฯ บอกว่า คนที่ยังไม่ออกไปใช้สิทธิบอกว่าได้รับโทรศัพท์ไม่ให้ออกไปใช้สิทธิ หรือมีคนโทรไปหาฐานเสียงของเดโมแครตและบอกให้เลือกรีพับลิกันแทน ขู่ว่าถ้าคุณเลือกเดโมแครต เรามีข้อมูลของคุณทุกอย่าง จะเอาเงินจากธนาคารของคุณ หรือจับคุณและครอบครัวเป็นตัวประกัน ก็เป็นคำขู่แบบหนึ่ง แต่ถามว่ามีไหม มีพอเป็นสีสัน แต่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยชี้ขาด

 

การเมืองสหรัฐฯ รอบนี้สะท้อนอะไรการเมืองไทยบ้าง

สิริพรรณ: เราเห็นความพยายามในการใช้ตุลาการภิวัตน์หรือศาลเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเยอะ ซึ่งถ้าผลในสหรัฐฯ ออก เราอาจจะได้เห็นบทบาทนี้มากขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปในกระบวนการนี้ ศาลสูงสุดและศาลของแต่ละมลรัฐได้เข้ามาวินิจฉัยกระบวนการจัดการเลือกตั้งเยอะมาก นี่คือกลไกของเขา

แต่ในภาพรวม สิ่งที่สะท้อนการเมืองไทยอย่างหนึ่งคือ ไทยกับสหรัฐฯ เหมือนจะเดินคู่ขนานกันไป มีอะไรให้เปรียบเทียบได้เยอะมาก ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เหลื่อมล้ำสูงมาก หรือจะเป็นเรื่องความแตกต่างของเจเนอเรชัน วัย จุดยืนทางอุดมการณ์ของผู้นำอำนาจนิยม ความท้าทายว่าจะประนีประนอมกันได้ไหม นี่เป็นภาพสะท้อนการเมืองไทยที่ดีมาก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save