fbpx
101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

 

เมื่อมองสังคมไทยในวันนี้ ‘เยาวชนคนรุ่นใหม่’ กลายเป็นตัวละครสำคัญที่ออกมาส่งเสียง ขับเคลื่อน และพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ หลากหลายประเด็นถูกยกมาถกเถียงจากปากเสียงของพวกเขา ตั้งแต่เรื่องในรั้วโรงเรียนไปจนถึงเรื่องการเมืองระดับประเทศ พวกเขายังเป็นคนหนุ่มสาวที่ส่งเสียงดังในเรื่องที่ความเงียบยึดพื้นที่มายาวนานอย่างการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่เยาวชนกำลังปลุกปั้นอนาคตด้วยสองมือและศักยภาพที่มี ภาพแบบไหนกันที่พวกเขานึกคิดอยู่ในใจ ฝันแบบไหนที่พวกเขาวาดไว้สำหรับประเทศไทย และเพื่อไปสู่อนาคตร่วมกัน สังคมควรจะทำความเข้าใจและสนับสนุนพวกเขาอย่างไร

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน คือ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co, สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่ม Spring Movement, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว, อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

 

 

ออกแบบประเทศไทยในฝัน

 

คุณวาดภาพประเทศไทยในฝันอย่างไร หากสามารถออกแบบอนาคตของประเทศได้ ประเด็นสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของไทยจะมีหน้าตาอย่างไร

ภาณุพงศ์: ในด้านการศึกษา ผมรู้สึกว่าควรมีการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำและกฎระเบียบในสถานศึกษา ในด้านเศรฐกิจและการเมืองควรมีการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องคนไม่มีเงินขึ้นรถไฟฟ้า แต่รวมไปถึงโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่ดี

มีนักเรียนคนหนึ่งทักมาในไลน์แอคเคาท์ของกลุ่มนักเรียนเลวว่าไม่มีเงินไปโรงเรียน เพื่อนเราบางคนเมื่อถูกถามว่าทำไมเมื่อวานไม่มาเรียน ก็ตอบว่าเขาขาดเรียนเพราะไม่มีเงิน การศึกษาเป็นสิ่งที่คนควรได้รับ แต่กลับถูกจำกัดกรอบด้วยความเหลื่อมล้ำ ถึงจะมีหน่วยงานที่จัดการเรื่องการการศึกษา แต่ปัญหาที่แท้จริงคือเขาไม่สามารถเข้าถึงได้

ความฝันในเรื่องการเมืองสำหรับผมคือ การเมืองควรเป็นเรื่องที่พูดได้ทุกที่ เราเห็นเพื่อนหลายคนออกมาพูดถึงการเมือง แต่เขาโดนคุกคาม บางคนพูดเรื่องการเมืองในโรงเรียนก็โดนไล่ให้ไปพูดนอกโรงเรียน ทั้งที่ควรเกิดการถกเถียงเรื่องนี้ในโรงเรียนด้วยซ้ำ

 

ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์ กลุ่มนักเรียนเลว

 

ณัฐนนท์:  ตอนนี้ประเทศไทยกำลังขาดเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาว ถึงจะมีแผนพัฒนาชาติ 20 ปี เแต่ทุกคนน่าจะมองออกว่ามันจัดทำขึ้นโดยมีนัยยะทางการเมือง แผนการพัฒนาชาติระยะยาวในความคิดของเราควรเป็นแผนที่รู้ว่าจะมีแนวโน้มอะไรเกิดขึ้นในโลก เทรนด์ในระดับโลกเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยของเราจะเดินหน้าไปทางไหน เช่น ในมุมวิทยาศาสตร์และเทคโลยี ปี 2024 นาซ่าจะพามนุษย์ไปดวงจันทร์ ทำให้เกิดความร่วมมือของนานาชาติขึ้นมากมาย แต่ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ไม่มีใครตอบได้ สุดท้ายเราไม่ได้มองแผนระยะยาวว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหน

ปัญหาคือสภาพสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่ใช้ชีวิตบนความรู้สึกเป็นส่วนมาก แม้กระทั่งการออกกฎหมายหรือการตีความกฎหมายก็เป็นความรู้สึกมากกว่าตรรกะ ซึ่งนำไปสู่การออกนโยบาย การสนับสนุนต่างๆ ของรัฐที่มาจากความรู้สึก ต่อให้รัฐพยายามพูดว่าเราจะมีเทคโนโลยีทันสมัย แต่สุดท้ายรัฐก็ไม่เคยนำเทคโนโลยีออกมาใช้ นอกจากใช้เป็นคำพูดเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐมีความรู้ นำประชาชนได้ สิ่งที่รัฐพยายามนำเสนอกลายเป็นแค่เปลือกของสิ่งที่มันเป็นเท่านั้น

 

สิรินทร์: เริ่มจากด้านสังคม เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมสำหรับเราต้องไม่มีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ เพศ ชาติพันธุ์ หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตา เสียงของเราต้องเท่าเทียมกันไม่ว่าอัตลักษณ์เราจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันจะต้องไม่ถูกลดทอนหรือลบเลือนออกไป คงความแตกต่างไว้ ไม่ใช่การสร้างคนให้เป็นแบบเดียวกันอย่างที่ประเทศไทยตอนนี้พยายามทำ คือต้องการคนที่มีทัศนคติแบบเดียวกัน เคารพชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประเทศไทยในฝันของเราต้องไม่เป็นแบบนั้น คนต้องมีความคิดที่แตกต่าง แต่อยู่บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชน ถึงจะดูเป็นไปได้ยาก แต่เราคิดว่าถ้าการเมืองดี สิ่งที่เราฝันจะเป็นไปได้

การเมืองที่ดีคือการที่ผู้กำหนดนโยบายรับฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ การเมืองที่ดีคือการเมืองที่คนทั่วๆ ไปอย่างเราสามารถมีความฝัน ได้ทำตามความฝัน ไม่ว่าจะเป็นในสภาหรือในสถานที่ไหนก็ตาม

ความเท่าเทียมอาจอยู่ไกลกว่าประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่ประชาธิปไตยเป็นบันไดก้าวหนึ่งที่จะพาสังคมไปสู่ความเท่าเทียม อย่างในอเมริกา ที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้ก็มาจากการเรียกร้องและการออกกฎหมายเพื่อสิทธิของผู้หญิง การเมืองจึงสำคัญกับความเท่าเทียม เพราะถ้าไม่มีผู้มีอำนาจมาสนใจจริงๆ ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

สิรินทร์ มุ่งเจริญ กลุ่ม Spring Movement

 

อัครสร: ความฝันของเราคือการเห็นประเทศไทยเป็นสังคมที่ยอมรับความเห็นต่างของทุกคน ตอนนี้ที่เราเห็นในการประท้วง หรือในสภา มีการแบ่งแยกฝั่งชัดเจนว่าคุณคือสลิ่ม คุณคือคนชังชาติ คุณคือคนรุ่นใหม่ คุณคือคนรุ่นเก่าความคิดไดโนเสาร์ เวลาคนมีความคิดเห็นตรงข้ามกัน ก็จะใช้คำตีตราเรียกอีกฝั่ง จะคิดว่าพวกเขาจะไม่ฟังแน่ๆ แล้วก็พูดอุดมการณ์ออกไปโดยไม่คิดว่าเขาจะฟังเมื่อไหร่ ประเทศไทยยังเป็นสังคมที่ความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้

ความฝันต่อมาคือสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือสังคมแห่งความเท่าเทียม สังคมที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน เสียงและศักดิ์ศรีของทุกคนเท่ากัน

นอกจากเรื่องความเท่าเทียมก็ยังมีอีกหลายปัจจัยเล็กๆ เช่น ระบบตุลาการ เราเห็นได้ชัดเลยว่ากฎหมายในไทยไม่มีความเที่ยงธรรม ศักดิ์ศรีของกฎหมายหายไป ความเชื่อมั่นในระบบตุลาการและระบบศาลก็ไม่มี กลายเป็นว่าเงินมีคุณค่ามากกว่าความเที่ยงธรรม

หรือเรื่องของการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กคิดวิเคราะห์และตั้งคำถาม แต่เป็นการศึกษาที่ทำให้เด็กเงียบ เรียนไปวันๆ เป็นการศึกษาที่ส่งเสริมให้เด็กคิดแต่ว่าในอนาคตจะหาเงินไปเลี้ยงพ่อแม่อย่างไร โดยไม่ได้คิดถึงความฝันของเขาเองเลย เพราะเราอยู่ในสังคมที่รากฐานการเมืองกดขี่ความฝันเหล่านี้ไว้

อย่างในโรงเรียนนานาชาติ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีครูฝรั่งสอน ครูจะส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม แต่การพูดถึงการเมืองไทยก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่ดี เราเลยอยากถามว่าแม้จะมีหลักสูตรคิดวิเคราะห์แบบฝรั่ง แต่ใช้เปลี่ยนแปลงสิ่งใกล้ตัวไม่ได้ เราจะสอนกันไปทำไม

 

‘ค่านิยม’ คืออุปสรรคที่ต้องต่อสู้

 

อะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้สังคมไม่เป็นไปตามสังคมในฝันของพวกคุณ เรากำลังสู้กับอะไรอยู่

อัครสร: สิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่ไม่ใช่แค่ด้านกฎหมายหรือสิ่งที่เราจับต้องได้ แต่เป็นวัฒนธรรมหรือคุณค่าต่างๆ ที่อยู่กับคนรุ่นเก่า เช่น ความ ‘สบายๆ อะไรก็ได้’ พอเรามามองเชิงการเมืองแล้ว สังคมเราถูกกดขี่ จนหลายๆ คนเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สิทธิจะถูกริดรอนไปเพียงเพราะไม่มีเงินหรือไม่ได้เรียนสูง นี่คือหนึ่งอุปสรรคในสังคมที่ต้องแก้จากการสอนค่านิยมในบ้านหรือโรงเรียน

เรื่องต่อมาที่เห็นได้ชัดคือการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจที่กระจุกอยู่ในคนกลุ่มเดียว เช่น อำนาจที่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือคนชนชั้นบน ท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหรือเรื่องอื่นๆ ขึ้นอยู่กับชนชั้นแรงงานอยู่พอสมควร แต่เพราะอะไรอำนาจถึงกระจุกอยู่แค่คนที่เป็นเจ้าของกิจการ นี่เป็นระบบโครงสร้างที่ไม่ได้ถูกกระจายอำนาจ คนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจในการตัดสิน พอเขาพูดความเห็นออกไปก็เหมือนพูดกับกำแพง คนรุ่นก่อนหรือคนที่ไม่เห็นด้วยไม่รับฟังพวกเราเพราะค่านิยมที่แตกต่าง แต่ท้ายที่สุดค่านิยมนี้จะกลายเป็นค่านิยมที่ล้าหลัง เราอยู่ในทศวรรษที่ 21 แล้ว แต่ค่านิยมเก่าๆ หลายอย่างยังไม่ถูกรื้อ

เราเชื่อว่านักขับเคลื่อนทางสังคมหรือทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ เริ่มต้นด้วยความคิดว่าเราฝันอยากเห็นอนาคตที่ดีกว่า พอเราคิดว่าเรียนจบจะไปทำอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเลือกอนาคตทางไหนการเมืองก็เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอณู ทำให้เรากลัวว่าอนาคตจะไม่ได้เป็นอย่างที่ฝัน เราจึงออกมาขับเคลื่อนทางสังคม พอเราออกมาพูด ก็มีอีกหลายคนที่เห็นด้วย พอมีคนออกมาพูดหนึ่งคน คนอื่นก็จะค่อยๆ ตามมา แต่ถ้าพูดแล้วไม่มีใครรับฟัง ก็ไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ เพราะการพูดเป็นแค่ 50% ของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่อีก 50% คือการรับฟังของอีกฝั่งหนึ่งที่เรายังไม่ได้รับ

 

อัครสร โอปิลันธน์ นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

 

สิรินทร์: อุปสรรคของสังคมไทยเป็นเรื่องค่านิยม วัฒนธรรม และสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญมากคือ การที่ยังมีกลุ่มคนจำนวนมากรับได้กับสิ่งที่เป็นอยู่ ยังไม่ต้องการให้สภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลง อาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมที่ต้องการให้ค่านิยมเก่าๆ และสถานะตัวเองยังคงอยู่ กลุ่มคนพวกนี้ส่วนหนึ่งคือกลุ่มผู้มีอำนาจ กลุ่มนายทุนใหญ่ ที่ได้ผลประโยชน์จากการปกครองและสภาพสังคมแบบนี้ แต่ไม่ใช่แค่คนรวยและคนชนชั้นสูงอย่างเดียว แม้แต่ชนชั้นกลางหลายคนก็ยังรู้สึกรับได้เช่นกัน พวกเขามองว่าการออกมาประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจะทำให้สังคมวุ่นวาย เพื่อนๆ เราหลายคนบ่นว่าทะเลาะกับพ่อกับแม่ ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเอาการเมืองแบบนี้ ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้เป็นคนมีอภิสิทธิ์อย่างนายทุนใหญ่หรือตระกูลเก่าแก่ แต่กลับมองว่าสังคมแบบนี้ดีแล้ว

คนเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแค่ฝั่งสนับสนุนรัฐบาล ยกตัวอย่างประเด็นสิทธิสตรี แม้แต่คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเองบางคนก็โจมตีคนที่สนับสนุนสิทธิสตรีหนักมาก เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่เชื่อในคุณค่าแบบเดียวกัน แต่เมื่อได้รับผลประโยชน์จากระบบปิตาธิปไตยจึงโจมตีคนที่เรียกร้องสิทธิสตรี ดังนั้นในภาพใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ไม่แปลกใจเลยที่มีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบแล้วออกมาโจมตี หรือพยายามเงียบไม่สนใจ

 

ณัฐนนท์: ทุกคนพูดตรงกันว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกสอนให้คิดและตั้งคำถาม เมื่อเกิดอะไรขึ้น คนจะรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ ทำให้เกิดความเพิกเฉย ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ เช่น การพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งอยากจะสืบทอดอำนาจของตัวเอง และใช้กฎหมายต่างๆ เป็นเครื่องมือ อะไรที่ทำให้เกิดอำนาจนิยมในโรงเรียน

ค่านิยมแบบอำนาจนิยมส่งผลให้คนไม่ตั้งคำถาม ถ้าถามว่าอะไรจะช่วยให้เราออกจากวังวนนี้ ผมว่าวิธีการคือเปิดโอกาสให้คนได้เข้าถึงความรู้มากๆ ผมเชื่อว่าในบรรดาคนที่พยายามขับเคลื่อนสังคมอยู่ตอนนี้ สิ่งที่ทุกคนไม่ละทิ้งคือการให้ความรู้คนอื่น ทำอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจวิธีคิดโดยที่ไม่ปิดกั้นหรือบอกว่าความรู้เป็นอภิสิทธิ์ของเรา ความหวังในการยุติวังวนนี้คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นเรื่องระยะยาว แต่ถ้าสิ่งใดถูกยกขึ้นมาพูดในสังคมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม เรื่องเพศ เรื่องสีผิว สิ่งนั้นจะยังคงอยู่และเป็นหมุดหมายสู่การตั้งคำถามต่อไป

เด็กๆ ไม่มีใครบอกว่าปัญหาคือประยุทธ์ แม้ว่าเราจะไปร้องเพลง I hear too สุดท้ายเราก็พยายามพูดเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ไม่เคยมีใครรับฟัง สิ่งที่เราทำอาจฟังดูเหมือนก้าวร้าว แต่ทางออกที่พวกเราเห็นคือการแก้ไขในระดับโครงสร้างที่ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้ทำเพื่อนักการเมือง แต่ทำเพื่อทุกคนในสังคมนี้จริงๆ

 

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Spaceth.co

 

ภาณุพงศ์: ในโรงเรียน พอนักเรียนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ไม่ถาม สิ่งเหล่านี้เกิดจากอำนาจนิยมในโรงเรียนที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น จะขีดเส้นคั่นหน้ากระดาษอย่างไรก็ต้องถามครู ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนคิดได้ เขาจะชินกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งคำถาม เช่น เรื่องทรงผม ถูกยกมาพูดตั้งนานแล้วก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ในยุคก่อนๆ ตอนที่เรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้รับความสนใจ คนที่ออกมาพูดก็ถูกมองเป็นเด็กก้าวร้าว เมื่อระบบได้สร้างประชาชนที่เฉื่อยและชินชากับทุกอย่าง สังคมก็ไม่เกิดการตั้งคำถามกับอะไรเลย

 

ทางออกสู่สังคมในฝัน เยาวชนทำอะไรได้บ้าง

 

มีวิธีการอย่างไรเพื่อไปถึงสังคมอุดมคติที่เราอยากเห็นและเพื่อฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคที่เราได้กล่าวถึงกันไป การออกมาประท้วงทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่จะพาเราไปสู่ความฝันได้จริงหรือเปล่า

ภาณุพงศ์ : ในฐานะที่เราเป็นเรา สิ่งที่ทำได้อย่างน้อยที่สุดคือการส่งเสียงออกไปให้ถึงคนที่แก้ปัญหาได้ เราเจอปัญหามาแบบนี้มา เราก็ส่งต่อ บอกออกไปเพื่อให้ได้รับการแก้ไข ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ปัญหานี้จริงๆ

อย่างที่กลุ่มนักเรียนเลวไปพบรัฐมนตรีที่หน้ากระทรวง เสียงของเราก็ไปถึงเขานะ เขารับฟัง ยินดีแก้ไขให้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ คนภายใต้การบังคับบัญชาของเขา ครูในหลายๆ โรงเรียนไม่ได้ปฏิบัติตาม กลายเป็นปัญหาโครงสร้าง เกิดเป็นคำถามว่า ทำไมข้าราชการที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงถึงไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ออกมาจากกระทรวงเอง

 

สิรินทร์: การไปถึงความฝันที่เราอยากให้ประเทศไทยเป็นสามารถทำได้ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น ในระยะยาวคือการที่คนที่มีความฝันเหมือนๆ กันสามารถเข้าไปเป็นคนที่มีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ว่าจะในรูปแบบของนักการเมือง หรือการตั้ง NGOs ก็ตาม แต่สมมติว่าเราอยากเป็น ส.ส. ในอนาคต ก็จะเกิดคำถามว่าเมื่อถึงตอนนั้นเราจะเป็นได้ไหม ถ้ามองระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส.ส. เขตเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในจังหวัด ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคที่ดูก้าวหน้าขึ้นมาอย่างอนาคตใหม่ก็ถูกยุบไป ส.ส. บัญชีรายชื่อก็หายไปด้วย แล้วอย่างนี้เราจะมีความหวังอะไรให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันแบบเดียวกันและต้องการก้าวเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม

ส่วนในระยะสั้น สิ่งที่ทำได้คือการกล้าออกมาพูดถึงความฝันที่เรามีอย่างการประท้วงที่เป็นอยู่ตอนนี้ ถ้าเทียบกับตอนที่เราเริ่มทำกิจกรรมเมื่อสามปีที่แล้ว ตอนนั้นบรรยากาศเหงามาก ไปม็อบก็เจอแต่ป้าๆ เสื้อแดง ส่วนคนรุ่นเดียวกันไม่ค่อยจะมี แต่ตอนนี้กลับเจอคนรุ่นใหม่เต็มไปหมด นักเรียนมัธยมก็ออกมาเยอะและเป็นกำลังสำคัญ การที่เราออกมาพูดในวันนั้นอาจทำให้หลายๆ คนกล้าออกมาในตอนนี้ก็ได้

หลายคนถามว่าไปร่วมชุมนุมตั้งหลายวันติดๆ กัน ไม่เหนื่อยเหรอ เราแค่รู้สึกว่าต้องไป เพื่อไปช่วยเสริมคนที่คิดเหมือนกันกับเรา จะออกข่าวหรือถูกไม่ให้ออกข่าว แต่จะเกิดเป็นกระแสแน่นอน อย่างน้อยในโซเชียลมีเดียก็ยังดี เราอยากให้เสียงไปถึงคนที่มีอำนาจ ซึ่งเราคิดว่าไปถึง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีตำรวจออกมาทุกครั้งเวลาเราไปทำกิจกรรม ดังนั้นเรามองว่าการประท้วงยังเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอยู่

 

อัครสร : การที่เราออกมาส่งเสียง ไปม็อบ หยิบอุดมการณ์ออกมาลงถนน นอกจากจะเป็นการส่งเสียงไปให้ถึงคนที่อยู่ด้านบนแล้ว อีกนัยหนึ่งคือการที่เราออกมาใช้สิทธิของเราเพื่อตอกย้ำทั้งตัวเราเองและคนข้างบนว่า เรารู้ว่าเรามีสิทธิอะไรและคุณไม่มีสิทธิมาลิดรอนสิทธิของเรา สังคมคอยกดขี่เราจนการที่สิทธิของเราถูกลิดรอนกลายเป็นความคุ้นชินไปแล้ว ดังนั้นการที่เราออกไปประท้วง ถือว่าเราได้แสดงจุดยืนและตอกย้ำหัวใจของประชาธิปไตย ไม่ว่าคุณจะทำอะไรกับเรา เราจะไม่ยอมให้คุณลิดรอนสิทธิของการออกมาพูดอย่างเสรี

 

ณัฐนนท์: การเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมหรือประชาธิปไตย ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาภายในวันสองวัน ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้โมเมนตัมของสิ่งที่เราพยายามเรียกร้องยังคงอยู่ เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ปฏิเสธต่อหลักการของตัวเอง แม้ว่าหลักการของเราจะนำมาซึ่งชัยชนะในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ประเด็นต่างๆ ก็ได้เป็นหมุดหมายเอาไว้แล้ว

ในทางวิทยาศาสตร์ มีประโยคหนึ่งที่ดังมากของ เซอร์ไอแซก นิวตัน เขาบอกว่าการที่เขามองเห็นได้ไกล ก็เพราะเขายืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่ ยักษ์ใหญ่ก็คือโครงสร้างที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนหน้าทำต่อๆ กันมา เพื่อทำให้เรามองเห็นได้ไกลขึ้นและเห็นปัญหาได้มากกว่าเดิม สังคมเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน ต่อให้เราพยายามที่จะปรับแก้ก็ยังคงมีความซับซ้อนอยู่มากเกินกว่าที่เราจะรับรู้ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้สังคมเคลื่อนไปข้างหน้าได้คือการที่เรามองย้อนกลับไปว่า อะไรคือโมเมนตัมที่ดีดส่งเรามาถึงจุดนี้ แล้วอะไรที่เราคิดว่าดี เราก็ทำต่อไป อะไรที่เราคิดว่าไม่ดีต่อมนุษยชาติในอนาคต เราก็หยุดยั้งมันเอาไว้ สิ่งนี้จะช่วยตอบคำถามที่ว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เราจะทำอะไรได้ วันหนึ่งเมื่อเราหยุด สิ่งที่เราทำก็เป็นหมุดหมายไว้แล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพอมองย้อนกลับมาเราจะไม่นึกเสียดาย

 

 

คนรุ่นใหม่กับข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันที่ไม่ได้แปลว่าล้มล้าง

 

สิ่งที่คุณฝันอยากเห็นกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกันอย่างไร

อัครสร: การที่เราออกมาพูดว่าจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้แปลว่าเราจะล้มล้าง แต่เป็นการปรับรูปแบบในเชิงกฎหมาย ให้อยู่ภายใต้ถนนสู่ประชาธิปไตย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีคุณค่าของความเท่าเทียมและเที่ยงธรรม เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง

ไม่ว่าคุณจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเป็นใคร มาลองเปิดใจรับรู้ว่าเบื้องหลังข้อเรียกร้องแต่ละข้อมีเหตุผลอะไร ก็จะเห็นว่าเราไม่ได้จะกำจัดหรือล้มล้างสถาบันฯ เพียงแต่เราจะปฏิรูปให้อยู่ในขอบเขต เช่นหนึ่งในสิบข้อเรียกร้องเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คือการที่เราเรียกร้องไม่ให้สถาบันฯ เซ็นรับรองการรัฐประหารได้ ในภาษาอังกฤษ มีประโยคหนึ่งที่บอกว่า “With great power comes great responsibility” ถ้าคุณมีอำนาจอยู่ในมือ คุณก็ต้องมีความรับผิดชอบ ข้อเรียกร้องของเราเป็นเพียงการสร้างกรอบให้คนที่มีอำนาจเบื้องบนใช้อำนาจด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย การที่เราไม่อยากให้สถาบันฯ เซ็นรับรองการรัฐประหาร คือการทำให้สถาบันฯ มีความเป็นกลางทางการเมือง อย่างที่เราได้เห็นในหลายๆ ประเทศ แม้กระทั่งในประเทศญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์ของเขาก็ยังอยู่ และประชาชนของเขาก็รักสถาบันฯ เช่นกัน เพราะสถาบันฯ ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามโลกาภิวัตน์ ตามค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย

เสรีภาพในการพูดและวิจารณ์ (Freedom of Speech) ไม่ใช่การประทุษวาจา (Hate of Speech) แต่เป็นการเปิดกว้างให้เราวิพากษ์วิจารณ์ หากเราไม่สามารถวิจารณ์หรือตั้งคำถามต่อสถาบันใดก็ตาม สังคมเราจะพัฒนาได้อย่างไร อย่างที่ทุกคนพูดว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม เมื่อเราได้ตั้งคำถาม เราก็จะหันมาพูดคุยกัน แต่มาตรา 112 หรือแม้กระทั่ง 116 กดไม่ให้เราตั้งคำถามในหลายๆ เรื่อง เมื่อเราเห็นว่าสถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่สามารถทำให้ประเทศพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่ ดึงให้สังคมเราล้าหลัง ทำไมเราจะไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ในประเทศที่เป็นไท สรุปแล้วประเทศไทยเป็นไทจริงหรือเปล่า

 

สิรินทร์: ความฝันของเราตั้งอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน การเป็นประชาธิปไตยก็ตั้งอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน แต่สำหรับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือคนที่เห็นต่าง เราก็รับรู้กันโดยทั่วไปว่าพวกเขามักจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ตอนรุ้ง ปนัสยา (สิทธิจิรวัฒนกุล) อยู่ในเรือนจำ เขาไม่เพียงถูกกักขังเท่านั้น เขาถูกตัดผม ย้อมผม นี่ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เรามองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการอ้างสถาบันกษัตริย์ไปทำร้ายคนที่เห็นต่างด้วย เคสของการอุ้มหาย พอบอกกันว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน สังคมก็ไม่อยากพูดถึง รัฐก็ไม่มีมาตรการปกป้อง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถยอมรับได้จริงๆ คนในสังคมก็ไม่ควรเคยชินหรือทำเป็นไม่รู้กับเรื่องเหล่านี้ และเป็นเรื่องที่เราจะต้องปฏิรูป

 

ณัฐนนท์ : คำว่าปฏิรูปไม่ได้เป็นคำที่น่ากลัว ที่การเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจฟังดูน่ากลัวเป็นเพราะหลายคนยังยึดติดกับสถานะปัจจุบัน ยังยึดติดกับความสัมพันธ์ของตัวเขากับสิ่งเก่า แต่จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงไม่ต่างกับการที่เราเป็นเด็กมัธยมแล้วกำลังจะขึ้นมหาวิทยาลัย เรายังเป็นตัวเราเองอยู่เหมือนเดิม ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศไทย ทุกคนยังเคารพซึ่งกันและกันอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่บริบทสังคมที่เปลี่ยน บริบทของโลกที่เปลี่ยน ทำให้เราต้องก้าวข้ามจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง

ก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ เพราะเรายังพูดคุยกันได้ไม่มากพอ ยังไม่มีโอกาสอธิบายให้คนอื่นได้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอดีต หรือการยกเลิกระบอบทาสในประเทศไทย เราไม่ได้มีเวทีพูดคุยเรื่องเหล่านี้กันอย่างตรงไปตรงมา แต่ ณ ปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจตรงกันได้ไม่ยากว่าสิ่งที่เรากำลังทำเป็นเพียงแค่การก้าวข้ามจากบันไดขั้นหนึ่งไปสู่บันไดอีกขั้นหนึ่งที่ทุกคนจะเท่าเทียมกันมากขึ้น ดังนั้น ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย

 

ภาณุพงศ์: อะไรก็ตามที่จะดำรงอยู่ได้ ก็ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง จะรักไม่รัก จะเกลียดจะชอบ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนไปอยู่ดี เพราะไม่มีอะไรที่ตั้งอยู่ยืนยงและเป็นแบบเดิมตลอดไปได้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าหลายครั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการกำจัดคนเห็นต่าง เช่น  คุณไม่รักสถาบันฯ เท่ากับชังชาติ ออกจากประเทศนี้ไปเลย ผมรู้สึกว่าในแง่หนึ่งเป็นการกดขี่เรา ผมเลยคิดว่าสมควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน หลาย ๆ คนเข้าใจว่าเราจะไม่เอา จะล้มเลิกไปเลย แต่สุดท้ายไม่ใช่แบบนั้น

 

‘การรับฟัง’ คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องจากสังคม

 

ในสภาวะปัจจุบัน เราเห็นแล้วว่าคนรุ่นใหม่ตื่นตัว มีความฝัน มีสังคมในอุดมคติที่อยากจะเห็น และมีความกล้าหาญที่จะลุกออกมาต่อสู้เรียกร้อง สังคมภาคส่วนอื่นๆ จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่อย่างไรได้บ้าง

สิรินทร์: คงจะเป็นการหยุดระบอบอำนาจนิยม และให้ความสำคัญกับการรับฟัง การที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนหรืออาจารย์ในโรงเรียนไม่รับฟังเด็ก เป็นเพราะเขามองว่าคนที่อายุน้อยกว่าไม่ควรมีอำนาจและมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนที่อายุมากกว่า จะเรียกว่าเป็นระบบอาวุโสก็ได้

รากของการที่ผู้ใหญ่ไม่ฟังเสียงของคนอายุน้อยกว่าเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียน พอเด็กพูดอะไรไปหรือไม่เห็นด้วยกับกฎข้อไหนก็จะถูกบอกว่าเป็นเด็กก้าวร้าว กฎเป็นกฎ เราต้องเคารพ เราเป็นเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ จะมีคำเหล่านี้ตลอดเลย ดังนั้นเราไม่แปลกใจที่พอออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อตัวเราเอง เพื่อภาพที่เราฝัน เราก็จะถูกสกัดโดยการบอกว่าเราเป็นเด็ก เราจะไปรู้อะไร ทำไมไม่ไปเรียนหนังสือก่อน ทำไมถึงออกมาทำตัวแบบนี้ โดนจูงจมูกมาหรือเปล่า ใครหลอกมาหรือเปล่า ถ้าเราหยุดความคิดแบบอำนาจนิยมและระบบอาวุโส เสียงของพวกเราก็คงจะถูกรับฟังมากขึ้น

 

ภาณุพงศ์: การรับฟังเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การส่งเสียง หลายครั้งที่เสียงของเราถูกมองว่าเป็นแค่เสียงของเด็ก เป็นแค่เสียงของคนรุ่นใหม่ เดี๋ยวโตมามากกว่านี้ก็จะรู้เอง เราไม่ได้รับการเคารพในความคิดเห็นของเรา ในสิ่งที่เราอยากให้มันเป็นอนาคตของเรา และเราถูกกดไว้โดยคนรุ่นก่อนหน้า

 

อัครสร: อยากให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนหรือทุกๆ คน มองว่าความเห็นต่างหรือความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงามในสังคมประชาธิปไตย ไม่ว่าเราในฐานะเยาวชนจะคิดอย่างไรในการพูดถึงเรื่องเพศ เรื่องการไว้ทรงผม เรื่องอะไรที่อยู่บนเรือนร่างของเรา หรือไม่ว่าเราจะเลือกเรียนสายการเรียนอะไร อยากทำงานอาชีพอะไร นับถือศาสนาอะไร เป็นชนกลุ่มไหน อยากให้สังคมล้มเลิกความคิดที่ว่าความเป็นไทยและความเป็นคนไทยที่ดีมีความหมายตายตัว คือต้องรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพียงอย่างเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อภูมิหลังของหลายๆ คนแตกต่างกัน แต่ละคนก็จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปด้วย ถ้าเราสามารถเข้าใจในจุดนี้ก็จะเห็นว่าความเห็นต่างคือความสวยงามของสังคม ว่าทุกคนไม่ควรเกิดมาแล้วกลายเป็นก็อปปี้เดียวกัน หรือให้รัฐใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทำให้ทุกคนเป็นเหมือนกัน คิดเหมือนกัน ถ้าเราสามารถเข้าใจกันในจุดนี้ได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น การรับฟังก็จะเปิดกว้างมากขึ้น

 

ณัฐนนท์: สิ่งที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือการที่สังคมไปไกลกว่าความจริงที่เป็นแค่สีขาวหรือดำ เราอาจจะมีภาพจำแบบละครที่มีคนดี-คนเลว นางเอก-ตัวร้าย ความรวย-ความจน ความผิด-ความถูกต้อง ทุกอย่างดูตรงกันข้ามไปหมด แต่สังคมจะขับเคลื่อนไปได้ ไม่ใช่ด้วยการต่อสู้ระหว่างความตรงกันข้ามเหล่านี้ แต่เป็นการหาจุดที่ทุกคนจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากกว่า การเปลี่ยนสังคมไปไกลกว่าแค่การเข้าใจเยาวชนแล้ว แต่คือการเข้าใจทุกคน เข้าใจผู้สูงอายุ เข้าใจคนทำงาน แรงงานในระดับต่างๆ ไปจนถึงนักธุรกิจ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save