fbpx
ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม: สำรวจเส้นทางและอุปสรรคของสิทธิการทำแท้ง

ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม: สำรวจเส้นทางและอุปสรรคของสิทธิการทำแท้ง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, ปรางชณา ภัทรนรากุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ในประเทศไทย หากมีผู้หญิงสักคนท้อง ‘ไม่พร้อม’ และตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ สิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นต้องเจอคือการกีดขวางในแทบทุกหนทางที่หันไป

หนึ่งคือกฎหมาย – ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-302 ระบุให้การทำแท้งเป็นความผิดอาญามาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยมีเพียงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่ยกเว้นความผิด และอนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงได้ในกรณีที่ครรภ์นั้นส่งผลต่อ ‘สุขภาพ’ ของผู้หญิง อันหมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามคำนิยามของแพทยสภา หรือในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพิการหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง หรือในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิด เช่น ข่มขืน ล่วงละเมิด ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

สองคือกับดักศีลธรรม – ความเชื่อทางศาสนา และวาทกรรมในสังคมมากมายสะท้อนว่า ผู้คนมองการยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดบาป หาใช่ทางเลือก หรือความปลอดภัย ที่เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตของผู้หญิง กับดักศีลธรรมนี้อยู่ในทุกหย่อมย่าน อาจเป็นคนไม่รู้จัก อาจเป็นครอบครัว อาจเป็นแพทย์ที่มีสิทธิตัดสินใจทำแท้งปลอดภัยให้ผู้หญิงได้ ไปจนถึงบางใครที่กำลังนั่งตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในสภา บางใครที่อาจมอบช่องทางความปลอดภัยให้ผู้หญิงได้

สามคือกับดักความเป็นแม่ – ค่านิยมทางสังคมยังคงเชิดชูและผลักบทบาทความเป็นแม่ให้กับผู้หญิง และการตัดสินใจไม่รับบทบาทนั้น อาจตามมาด้วยการถูกประณามจากคนรอบข้าง ราวกับการเป็นแม่นั้นง่ายดาย ราวกับการเปลี่ยนชีวิตโดยที่ไม่พร้อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งสามข้อรุมยำและซ้ำเติม จนนำมาสู่สิ่งกีดขวางข้อที่สี่ คือการที่การทำแท้งกลายเป็นเรื่องที่หลายคนเลือกไม่พูดถึง ไม่มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งในอินเทอร์เน็ตหรือในสถานศึกษา มีเพียงช่องทางจากผู้รณรงค์และผลักดันการทำแท้งถูกกฎหมายที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงข้อมูล ได้รับคำปรึกษา และนำพวกเธอสู่ทางที่ปลอดภัยได้

นี่คือสิ่งแวดล้อม นี่คืออากาศที่ผู้หญิงไทยต้องสูดเข้าไปกระทั่งวันนี้

แต่ไม่โชคร้ายเกินไปนัก ตลอดมายังมีผู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง จากกลุ่มเล็กๆ ขยายใหญ่ แตกแขนงเป็นเครือข่าย มีผู้ที่พยายามบอกต่อข้อมูล งัดข้อกับความเชื่อและค่านิยมที่บีบคั้นผู้หญิงในสังคม จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 27 เรื่องชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน หรือ มาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย

101 ชวน ทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) และนิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรม ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ และแอดมินเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’ สนทนาถึงเส้นทางการขับเคลื่อนประเด็นการทำแท้งในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประสบการณ์จริงและบางเรื่องราวที่ได้สัมผัสจากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง พร้อมกับเจาะลึกอุปสรรครอบด้านที่ขัดขวางสิทธิการทำแท้งถูกกฎหมายในประเทศไทย

 

ย้อนดูการต่อสู้เพื่อสิทธิยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย : ทัศนัย ขันตยาภรณ์

ทัศนัย ขันตยาภรณ์

ทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) ใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิตเพื่อผลักดันงานด้านสุขภาพผู้หญิง อนามัยแม่และเด็ก และอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอทำงานในประเด็นการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 บนเวลายาวนานว่า 10 ปีนี้ เธอชวนมองย้อนกลับไปให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเพื่อ ‘สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์’ อย่างไร

ทัศนัยเล่าว่า หลายปีก่อนเครื่องมือการทำแท้งยังมีแค่การขูดมดลูก ต่อมาเทคโนโลยีพัฒนา การทำแท้งสามารถทำได้โดยใช้เครื่องดูดและการใช้ยา ประกอบกับการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ก็สามารถทำได้แม่นยำ เราจึงคาดเดาได้มากขึ้นว่าเด็กที่เกิดมาจะพิการหรือไม่ หากแต่กฎหมายกลับยังไม่อนุญาตให้ทำแท้ง เนื่องจากถูกจำกัดไว้โดยเงื่อนไขทางสุขภาพและประเด็นความผิดอาญาทางเพศ ซ้ำยังต้องพบเจอกับอุปสรรคทางศีลธรรมและความเชื่อเรื่องบุญบาปที่เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งสะท้อนชัดผ่านวาทกรรมทางการเมืองในสมัยก่อน

ในอดีต ประเทศไทยเคยมีความพยายามจะแก้กฎหมายอาญาเรื่องความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามมาตรา 301-305 ช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งคือ การร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งระบุว่าจะต้องแก้มาตรา 305 โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอีก 2 ประการ คือ เมื่อผู้หญิงที่ตั้งท้องมีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือจิต และเมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลวจากการปฏิบัติของแพทย์ แต่แล้วในปี 2524 ที่กฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎร ก็เกิดขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้ โดยมีตัวละครสำคัญที่คัดค้านคือ จำลอง ศรีเมือง ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น

“ช่วงปี 2520-2530 มีขบวนการต่อต้านการทำแท้งโดยใช้วาทกรรม ‘ทำแท้งเสรี’ กับ ‘เค้าไม่อยากให้หนูเกิดมา’ จากคุณจำลอง ศรีเมือง ที่มีบทบาททางการเมืองในช่วงนั้นในนามพรรคพลังธรรม เลยออกมาเปิดประเด็นเรื่องทำแท้งแล้วบาป ถึงขั้นลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อประท้วงตอนปี 2524 ในฐานะ ส.ว. ตอนโหวตกันในสภาผู้แทนก็ไม่เป็นปัญหานะ เห็นชอบถึง 174 ต่อ 2 เสียง แต่พอส่งไปให้วุฒิสภาก็ไม่เห็นด้วยเกือบทั้งหมด เพราะประเด็นศีลธรรม ทำให้ไม่มีใครอยากมายุ่ง กลัวจะถูกสังคมประณาม กลายเป็นหน้าบางกันไปหมด รัฐบาลไม่ก็อยากจะหยิบยกขึ้นมาอีก”

“จริงๆ ไม่ใช่แค่ศีลธรรมในศาสนาพุทธ ศาสนาอื่นๆ เช่น คริสต์ ก็ห้ามคุมกำเนิด เพราะจะไปขัดกับประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้เด็กเกิดมา จึงต้องถกเถียงกันว่า ‘ชีวิตควรเริ่มต้นเมื่อไหร่’ โดยใช้เกณฑ์ทางศาสนาหรือทางการแพทย์ ถ้าเป็นทางการแพทย์ ก็ถือว่า 20-24 สัปดาห์จึงจะรอดออกมาเป็นคน แต่รอดในที่นี้คือยังต้องอยู่ในตู้อบระยะหนึ่ง เพราะแบบนี้ประเทศเกาหลีถึงแก้กฎหมายในปีนี้ให้ผู้หญิงทำแท้งได้ถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์”

ทัศนัย ขันตยาภรณ์

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการมีกฎหมายห้ามทำแท้ง คือในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้หญิงที่บาดเจ็บ ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังมีข้อยกเว้นเรื่องเหตุผลทางการแพทย์ โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินว่าหากคลอดแล้วจะเป็นอันตรายต่อผู้หญิงที่ท้องหรือไม่ จึงเป็นที่มาให้ผู้ที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นเป็นกลุ่มแรกคือกลุ่ม ‘คุณหมอ’ ที่ต้องการออกมาช่วยเหลือและเป็นปากเสียงแทนผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว

“เมื่อกฎหมายห้ามก็เลยต้องทำเองอย่างลับๆ เคยได้ยินวลีไม้แขวนเสื้อเปื้อนเลือดไหม คือการเอาไม้แขวนเสื้อมาดัดให้มันตรงแล้วล้วงเข้าไป หรืออีกวิธีง่ายๆ คือฉีดอะไรก็ได้ให้ตัวอ่อนข้างในแท้ง ที่ต้องทำขนาดนี้เพราะผู้หญิงเขาไม่มีทางเลือก เลือกเสี่ยงทำ ดีกว่าอยู่ไปยังไงก็ถูกสาปแช่ง ถูกสังคมประณาม มันเลยควรต้องขยายกฎหมาย เพื่อลดจำนวนคนที่บาดเจ็บและตายจากตรงนี้”

ทัศนัยเล่าว่า ความพยายามหนึ่งที่เกิดขึ้นแต่ไม่สำเร็จ คือการตั้งคลินิกรับปรึกษาปัญหาท้องที่โรงบาลราชวิถีในปี 2537 โดยตั้งชื่อตามละครชื่อดังในสมัยนั้นว่า ‘คลินิกดาวพระศุกร์’ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือทัศนคติส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอาจยังไม่เห็นด้วย จึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ต่อ ดังนั้นภายใน 1 ปีจึงมีผู้ใช้บริการแค่ 1,000 กว่าราย เนื่องจากไม่ได้ช่วยอะไรและยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย จนในที่สุดก็ต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนไปรับบริการ

“มันเกิดคำถามว่า เราควรให้ทำแท้งได้ในกรณีที่ที่คุมกำเนิดผิดพลาดด้วยไหม การคุมกำเนิดผิดพลาดก็เช่น หลั่งนอก นับระยะปลอดภัย หรือประเด็นที่ผลักดันกันคือ ถ้าทำหมันแล้วท้อง ใส่ห่วงแล้วท้อง เขามีสิทธิทำแท้งด้วยไหม”

“ต่อมา จึงมีการไปแก้ข้อบังคับแพทยสภาในปี 2548 โดยแก้นิยามคำว่าสุขภาพคือเท่ากับ ‘กายและใจ’ ใจก็หมายถึงเรื่องสุขภาพจิตในระหว่างท้อง ที่อาจไปส่งผลกับเรื่องอื่นๆ เช่น ถูกไล่ออกจากโรงเรียนจากครอบครัว ต้องออกจากงาน ถูกตราหน้าว่าท้องไม่มีพ่อ ไม่มีเงินฝากท้องเลี้ยงลูก หรือแม้แต่ลูกในท้องพิการ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะว่าข้อบังคับแพทยสภาไม่มีน้ำหนักเท่ากฎหมาย”

หากแต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการผลักดันประเด็น เริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้เคลื่อนไหวเริ่มเปลี่ยนจากแพทย์มาสู่ ‘ผู้หญิง’ ผู้เป็นเจ้าของปัญหา จากที่คนในสังคมได้รับรู้การถกเถียงประเด็นการทำแท้งในเชิงสุขภาพผ่านการรณรงค์ของแพทย์ จึงเริ่มได้ยินการส่งเสียงในประเด็น ‘ความไม่พร้อม’ ของผู้หญิงเอง เช่น อยู่ระหว่างทำงาน-เรียน ถูกทอดทิ้ง สภาพเศรษฐกิจและสังคมไม่เอื้ออำนวย หรือมีอายุมากแล้ว จากประเด็นเรื่องศีลธรรมจึงเริ่มขยับมาเป็นเรื่องของ ‘สิทธิ’ และในที่สุดก็ปรากฏผลสำเร็จเป็นการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่ากฎหมายมาตรา 301 ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงคือ ในขณะที่กฎหมายยังไปไม่ถึงไหน ผู้หญิงกับหมอที่ทำแท้งยังถูกจับด้วยความผิดอาญา แต่คนขายยาที่หากินกับผู้หญิงที่เป็นทุกข์กลับได้รับโทษน้อยมาก ถูกปรับแค่ไม่กี่บาทในความผิดขายยาผิดประเภท หลังจากกรณีคลินิกที่หัวหิน ในปี 2561 มีการบุกจับแพทย์ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ จึงมีการยื่นจดหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความไปเลยว่ากฎหมายมาตรา 301 มันขัดกับหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไหม ขัดกับสิทธิทางเลือกของผู้หญิงไหม”

“ประเด็นการทำแท้งต้องดูด้วยว่าผู้หญิงมีต้นทุนชีวิตทางด้านไหนมากกว่ากัน ถ้าเงื่อนไขในชีวิตโอเค ก็ท้องต่อได้ แต่สิ่งสำคัญคือการให้บริการปรึกษาทางเลือก (option counseling) ที่จะช่วยทำให้หายจิตตก และช่วยหาว่าอะไรจะเหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของเค้า ช่วงนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนจากคำว่า ‘ทำแท้ง’ (abortion) มาใช้คำว่า ‘ยุติการตั้งครรภ์’ (termination of pregnancy) และให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้หญิงในการเลือก และถ้ามาดูตัวเลขจริงๆ พอเราเปิดโอกาสให้มีทางเลือก ข้อมูลจากสายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 จะเห็นว่าประมาณ 90% ผู้หญิง เลือกไม่ท้องต่อ”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาสังคม แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2563 ก็มีการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า มาตรา 301 ขัดกับสิทธิชายหญิงเท่าเทียมและเสรีภาพในร่างกาย จำเป็นต้องมีการแก้ไข โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องไปแก้ไข และผ่านสภาอีกครั้ง ทัศนัยเล่าว่าปัจจุบันเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมกำลังดำเนินงานอยู่ในขั้นเตรียมติดต่อ ส.ส. หรือหาแนวร่วมที่จะสนับสนุน

ในขณะที่กฎหมายยังคงอยู่ระหว่างถกเถียงกัน คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ เสียงส่วนใหญ่ของคนรุ่นใหม่นั้นเอนเอียงไปทางเห็นด้วยกับการทำแท้งมาตั้งนานแล้วมิใช่หรือ?

ต่อคำถามนี้ทัศนัยได้แสดงความเห็นว่า เป็นที่น่าเสียดายที่เสียงของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ได้รับการเคารพจากคนรุ่นก่อนซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ และยังมีค่านิยมที่ยังดำเนินไปพร้อมกันคือ ‘บทบาทความเป็นแม่’ ที่สังคมผลักให้ผู้หญิง เป็นเหตุให้การเปลี่ยนแปลงยังมาไม่ถึงจนทุกวันนี้

“สถานการณ์เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญต่อเรื่อง ‘สิทธิ’ ของทุกคนในสังคม หลังจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรีในปี 2538 ที่กรุงปักกิ่งเป็นต้นมา สิทธิของผู้หญิงโดยเฉพาะในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ (reproductive rights) ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้น เริ่มมีการถกเถียงกันว่าผู้หญิงควรจะมีสิทธิเลือกในประเด็นต่างๆ อยากมีเซ็กซ์เมื่อไหร่ แต่งงานเมื่อไหร่ มีลูกหรือไม่และเมื่อไหร่ ดูแลสุขภาพอย่างไร”

“แต่ทุกวันนี้เรามองว่าความคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ถูกเคารพเท่าไหร่เลย เสียงของคนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ได้ยินเท่าๆ กับเสียงของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ดังนั้นต่อให้คนรุ่นใหม่เห็นด้วยและเข้าใจขนาดไหน การแก้ไขกฎหมายก็ยังอยู่ในมือคนรุ่นเก่าที่เสียงดังกว่าและพร้อมที่จะละเลยเสียงของคนรุ่นใหม่เสมอ อย่างกรณีเรื่องกฎทรงผมเด็กนักเรียนก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย มันคือเรื่องสิทธิในร่างกายของเรา เป็นเรื่องเดียวกัน”

“เวลาเราไปประชุมที่ไหนชอบมีคนถามแบบท้าทายว่า ถ้าทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายแล้วคนจะแห่กันไปทำแท้งละสิ เราเจอคำถามนี้มาทั้งชีวิต เราได้แต่ตอบไปว่า คุณคงเข้าใจผิดอะไรบางอย่างนะ การที่ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจทำแท้งไม่ใช่เรื่องสนุกสนานนะ เขาผ่านการคิดและความทุกข์มามาก มันเจ็บปวดทั้งกายและใจ เคยฟังเพลงนี้ไหม Til it happens to you, you don’t know, How it feels… เหมือนคำพูดของอาจารย์กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อม คือไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ตั้งใจท้องเพื่อไปทำแท้ง”

ถามว่า Gender Role ในสังคมไทยเปลี่ยนไหม ก็คิดว่าเปลี่ยนไปบ้างแต่ไม่ได้เปลี่ยนมากนะ ผู้หญิงก็ยังมีความคาดหวังและภาระหน้าที่ของ ‘ความเป็นแม่’ ที่ต้องแบกรับอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ผู้หญิงมีโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น ประกอบกับกระแสแนวคิดเรื่องสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย และการรับรู้จากสื่อ จากช่องทางต่างๆ ที่ทำให้ผู้หญิงรู้ว่าฉันมีทางเลือก การพลาดแล้วท้องทุกครั้งไม่จำเป็นต้องกลายเป็นแม่เสมอไป และการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ปลอดภัยและสามารถทำได้นะ” ทัศนัยกล่าว

ทัศนัย ขันตยาภรณ์

ในปัจจุบันมีกลุ่มที่ผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งครรภ์ของผู้หญิงจำนวนมาก ทั้งเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) เครือข่ายแพทย์อาสา RSA กลุ่มทำทาง สายด่วน 1663 รับปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ที่ร่วมกันผลิตวาทกรรมใหม่อย่าง ‘ทำแท้งคือบริการสุขภาพ’ และ ‘ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร’

ในอนาคตอันใกล้นี้ ปลายทางของการต่อสู้ต่อประเด็นท้องไม่พร้อมในสังคมไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่บางที การนับวันรอคอย ‘ประกาศกฎหมายฉบับใหม่’ อาจไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่จะสามารถสร้างสังคมแห่งความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงได้

“ทุกวันนี้เราประสบความสำเร็จแล้วรึเปล่า จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูก ตราบใดที่ผู้หญิงก็ยังท้องไม่พร้อมด้วยเรื่องเดิมๆ และเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีใครไปสร้างความตระหนักรับผิดชอบกับผู้ชายที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงท้อง ที่สำคัญคือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้น้อยลงเลย แถมอายุที่ถูกล่วงละเมิดก็น้อยลงด้วย”

“ความสำเร็จ อาจหมายถึงการสร้างแนวร่วมที่เข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น เรากำลังสร้าง critical mass คือแม้เรื่องๆ หนึ่งจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้ามีคนคิด วิเคราะห์ หรือพูดถึงมันมากเพียงพอ สักวันหนึ่งก็จะเกิดพลังของมวลชน แบบปฏิกิริยา Nuclear Fission ในทางฟิสิกส์ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมได้ เห็นด้วยไหมล่ะ”  นั่นคือคำถามที่ทัศนัยทิ้งท้ายไว้ และหวังว่าจะเกิดปฏิกิริยาไปทั่วทุกมุมของสังคม

 

อุปสรรคต่อการทำแท้งปลอดภัยของผู้หญิงในประสบการณ์ของผู้ให้คำปรึกษา : นิศารัตน์ จงวิศาล

นิศารัตน์ จงวิศาล

นิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรม ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ และแอดมินเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’ เป็นผู้ที่ได้พูดคุยใกล้ชิดกับผู้หญิงหลายคนที่ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้ง ทั้งยังเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องปลอดภัยและถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 เธอย้ำให้เราเห็นว่าช่องทางแคบๆ ในการทำแท้งถูกกฎหมายนั้นไม่เพียงพอ การระบุการทำแท้งให้เป็นความผิดนั้นสร้างอุปสรรคอีกหลายด่านให้ผู้หญิง ทั้งการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย และการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

“ผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้งหลายคนมาเห็นกฎหมายระบุว่าทำแท้งผิด แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะเข้าเงื่อนไขที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ไหม และไม่มีใครช่วยตอบได้ จะไปหาหมอก็ไม่กล้า เพราะหมอหลายคนยังด่าการทำแท้งอยู่เลย นี่เป็นปราการด่านแรก

“ปราการด่านที่สองคือการให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาก็ไม่กล้าที่จะบอกบริการหรือให้คำแนะนำได้ เพราะมีกฎหมายบอกอยู่ว่า เฮ้ย มันผิด”

นิศารัตน์เล่าว่า หากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งไม่โทรหาองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น กลุ่มทำทาง กลุ่มเลิฟแคร์สเตชัน หรือสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ฯลฯ ก็แทบจะไม่มีช่องทางรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกต้อง กระทั่งชื่อโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำแท้งถูกกฎหมายได้ ก็อาจไม่รู้

“ถ้าผู้หญิงไปตามโรงพยาบาลที่ไม่มีบริการ ไปบอกหมอว่า ไม่โอเคเลย เครียดมาก ซึมเศร้า อยากทำแท้งแล้ว หมอก็จะมีอยู่สองแบบคือ หนึ่ง ไล่กลับ สอง ตอกกลับ ให้เข้ากระบวนการที่มีคณะกรรมการพิจารณาเป็นเดือนๆ ว่าจะทำแท้งให้ไหม

“กรณีนี้เราเคยเจอจริงๆ จากคุณแม่คนหนึ่งที่โทรมาปรึกษาเรื่องลูกสาวต้องการทำแท้ง เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 คุณแม่พาไปที่โรงพยาบาลประจำเขต โรงพยาบาลก็จัดคณะกรรมการมาพิจารณา ใช้เวลายาวนานมาก เขาทำแบบนี้กับเด็กอายุไม่ถึง 15 ด้วยซ้ำ

“นี่เป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงนะ การรับรู้ว่าตั้งครรภ์ โดยที่ไม่อยากตั้งครรภ์ ก็เป็นสิ่งที่ทรมานใจอยู่แล้ว แต่ยิ่งกระบวนการทำแท้งถูกทำให้ล่าช้า ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทรมานใจมากขึ้นไปอีก แล้วกระบวนการทำแท้งในอายุครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นก็สร้างความเจ็บปวดให้ผู้หญิงมากขึ้น มันยังปลอดภัยแหละ แต่เจ็บปวดมากขึ้น ยาวนานมากขึ้น”

นิศารัตน์ จงวิศาล

หากค้นหาคำว่า ‘ทำแท้ง’ ในอินเทอร์เน็ต แม้จะมีข้อมูลการทำแท้งปลอดภัยปรากฏขึ้น แต่สิ่งที่มาพร้อมกันไม่ขาดคือข้อมูลผิดๆ อย่างวิธีการทำแท้งด้วยตัวเอง เว็บไซต์ขายยาทำแท้งที่ไม่มีการรับรอง หรือบรรดาคลินิกทำแท้งเถื่อนที่อาจนำผู้หญิงไปสู่จุดที่เสี่ยงอันตราย

แม้ข้อมูลเหล่านี้จะดูไม่น่าเชื่อถือหรือระบุวิธีการที่ดูผิดเพี้ยนอย่างไร แต่นิศารัตน์กลับเล่าว่า มีผู้ที่ทำตามวิธีการเหล่านี้จริงๆ ผู้หญิงหลายคนที่โทรมารับคำปรึกษากับเธอเลือกทำแท้งด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัยมาก่อน บางคนทำตามที่อินเทอร์เน็ตบอกแต่กลับไม่แท้ง บางคนทำแล้วมีอาการแทรกซ้อน จึงโทรมารับคำปรึกษาหลังจากเผชิญความเสี่ยงไปแล้ว

“สมัยก่อนเวลาเสิร์ชคำว่าทำแท้ง จะเจอพวกข่าวศพเด็กสองพันศพตามวัด แต่สมัยนี้จะกลายเป็นข้อมูลที่ผิดมากกว่า เช่น แนะนำการทำแท้งโดยการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในช่องคลอด บีบนวด และใช้ยา ซึ่งมีคนทำตามจริงๆ หรือในเว็บไซต์ที่ขายยาทำแท้งเถื่อนก็พูดถึงการทำแท้งที่ใช้เครื่องมือแพทย์ว่าเป็นความทรมาน สยดสยอง แต่การใช้ยาเนี่ยไม่ทรมาน ซึ่งเรามีขาย คือเล่าทุกอย่างให้น่ากลัว ยกเว้นการใช้ยา จะได้ขายยา

“จริงๆ เว็บไซต์ขายยาเขาก็พัฒนาตัวเองเยอะมากนะ มีไปเอาข้อมูลบางส่วนที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยามาลง ซึ่งก็ดีถ้ายาของเขามันถูกต้องจริงๆ แต่ประเด็นคือเขายกมาแต่ข้อมูลเรื่องความปลอดภัย แต่ไม่เอาสูตรยา ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดมาด้วย ทีนี้ถ้าสูตรยาผิด คนที่ซื้อไปก็ไม่แท้ง ไม่แท้งก็ซื้อซ้ำ ไม่รู้เขาตั้งใจรึเปล่า อันนี้เราเจออยู่บ่อยๆ”

เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างปลอดภัยมีจำนวนน้อย และยังคละเคล้ากับข้อมูลที่ผิดในอินเทอร์เน็ต คนในสังคมจึงยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำแท้งอยู่หลายอย่าง นิศารัตน์กล่าวถึงความเข้าใจผิดหลักๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้

1.การทำแท้งที่ปลอดภัย หลายคนยังไม่ทราบว่าการทำแท้งในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 9 สัปดาห์ โดยใช้ยาที่ถูกต้องปลอดภัยมากถึง 98 เปอร์เซนต์ โดยที่ 2 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ความปลอดภัยจะลดลง แต่ไม่อันตรายถึงชีวิตอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากนี้การทำแท้งไม่ได้ทำให้มีลูกไม่ได้ สามารถมีลูกได้ปกติ –“ไม่งั้นจะเกิดการท้องซ้ำหรอ ทำแท้งปุ๊บท้องซ้ำเลยก็มี” นิศารัตน์กล่าว

2.สถานบริการทำแท้งไม่ใช่สถานบริการเถื่อน แต่เป็นสถานบริการที่สะอาดสะอ้านตามมาตรฐานทางการแพทย์ นิศารัตน์ยังย้ำว่า — “เดินเข้าไปจะพบความสว่างไสวสวยงาม ไม่ใช่ที่มืดๆ ทึมๆ อย่างที่ละครบางเรื่องนำเสนอ”

3.การสนับสนุนให้การทำแท้งถูกกฎหมายไม่ใช่การฆาตกรรม นิยามการทำแท้งคือการกระทำเมื่อตัวอ่อนยังไม่ออกมาหรือเป็นอิสระจากครรภ์ของผู้หญิง กล่าวคือทำในครรภ์ที่ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ ซึ่งตัวอ่อนจะไม่สามารถมีชีวิตได้ด้วยตัวเองตามหลักการแพทย์ — “หลายคนเข้าใจว่าถ้าให้ทำแท้งเสรีปุ๊บ เด็กต้องออกมาร้องอุแว้ ตัวอ้วนท้วน แล้วเอาไปกดคอให้ตายซะ อันนี้ไม่ใช่การทำแท้ง แต่คือการคลอดก่อนกำหนดแล้วฆาตกรรม ถ้าคุณพูดถึงการทำแท้ง มีเส้นตัดอยู่ค่ะ ไม่ใช่ว่าจะไปทำตอนครรภ์ 8 เดือน” นิศารัตน์กล่าว

นอกจากเรื่องกฎหมายและข้อมูลแล้ว อีกปราการใหญ่ที่ขวางผู้หญิงจากการทำแท้งคือความเชื่อเรื่อง ‘บาปกรรม’ และค่านิยมทางศาสนา ความเชื่อของคนในสังคมและคนรอบข้างบีบอัดความรู้สึกของผู้หญิง และแทนที่ความปลอดภัยของพวกเธอด้วยความผิดบาป นิศารัตน์เล่าว่าเธอเองก็ยังต้องให้คำปรึกษาโดยรับมือกับความเชื่อของผู้หญิงและคนรอบข้างอยู่เสมอ

“ผู้หญิงที่โทรมาเขาจะไม่พูดกับเราว่า ‘พี่ถ้าบาปหนูไม่ทำนะ’ แต่เขามักจะแสดงความกังวลว่า ‘มันจะบาปมั้ยพี่ หรือว่าทำแล้วชีวิตหนูจะแย่ไหม’ หรือบางครั้งก็รู้สึกอายมาก ไม่อยากให้ใครรู้ ถ้าใครรู้เขาจะมองเขาเป็นคนยังไง

“เวลาให้คำปรึกษาถ้าเขาเชื่อว่าบาป ก็เชื่อไป แต่คำถามที่เราตอบได้คือ ชีวิตเขาจะแย่จากบาปกรรมนี้ไหม ก็จะบอกไปว่า มีผู้หญิงมากมายที่ทำแท้งแล้วชีวิตเขาก็ดีไปตามลำดับ มีที่ผู้หญิงเคยทำแท้งแล้วชีวิตแย่ลง เพราะทุกคนมีขึ้นมีลงนะ ไม่ว่าจะเคยทำหรือไม่เคยทำ แต่การทำแท้งไม่ได้ทำให้รูปร่างหน้าตาน้องเปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้มีอะไรแปะหน้าผากหรือขี่คอน้องอยู่

“ส่วนถ้าเขากังวลว่าใครจะรู้ไหม ถ้ามีคนรู้แล้วจะว่ายังไง สิ่งที่ตอบได้ก็คือ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครรู้ การทำแท้งจะเป็นแค่เรื่องของเขากับหมอ และเขากับเราเท่านั้น”

นิศารัตน์ จงวิศาล

ความรู้สึกกลัวและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำแท้งทั้งหลาย ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมที่โอบรัดผู้หญิงอยู่ เมื่อภาครัฐไม่เคยทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งเหมือนข้อมูลสุขภาพอื่นๆ พร้อมกันกับที่ยังมีสื่อจำนวนมากประโคมความเชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดบาปร้ายแรงที่จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงอย่างสาหัส สำหรับนิศารัตน์แล้วทางออกหนึ่งที่สังคมควรมุ่งหน้าไป คือการที่รัฐจะสร้างบรรยากาศใหม่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับความปลอดภัยของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เมื่อนั้นหน่วยต่างๆ ในสังคมก็อาจมีปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงไปตามน้ำเสียงและนโยบายของรัฐด้วย

“หน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทำให้ทุกๆ คนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียทางร่างกายและชีวิต รัฐต้องทำหน้าที่นี้ แต่ตอนนี้คุณกำลังละเลย ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิอยู่ ถ้ารัฐมีคอนเซ็ปต์ว่ายุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของสุขภาพที่ทุกๆ คนต้องรู้ เหมือนการบอกว่า มาออกกำลังกายกันเถอะ จะได้แข็งแรง อย่ากินน้ำตาลเยอะ เดี๋ยวเป็นเบาหวาน ก็ต้องพูดด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยนะ ไปทำที่โรงพยาบาลได้

“ถ้าเขามีคอนเซ็ปต์อย่างนี้ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น มีข้อมูลการทำแท้งในหลักสูตรการศึกษา ให้ข้อมูลกับเด็กนักเรียนเหมือนเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรืออย่างน้อยๆ ให้ข้อมูลที่สามารถส่งต่อผู้หญิงไปที่สถานบริการของรัฐหรือเอกชน ให้เขารู้ว่ายุติการตั้งครรภ์ทำได้ที่ไหน และมีการให้คำปรึกษารอบด้าน นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติได้ โดยตัวแปรสำคัญที่สุดคือรัฐ”

“ส่วนในหน่วยสังคมอย่างโรงเรียน คุณครู อาจารย์ คุณอาจจะมีความเชื่อของคุณ แต่อย่าลืมว่าคุณก็มีหน้าที่ต้องดูแลเด็กคนหนึ่งให้โตมาอย่างมีคุณภาพเช่นกัน เป็นหน้าที่ของครูด้วยที่จะต้องให้คำปรึกษา ให้ทางเลือกโดยไม่มีอคติ หรือในฐานะของเพื่อน ครอบครัว แฟน หากคุณรักผู้หญิงคนนี้ ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ คุณก็สนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เหมือนกับถ้าเขาท้องต่อแล้วเขาจะแฮปปี้ คุณก็สนับสนุนเขา เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่คนรอบๆ ข้างทำได้”

“ในส่วนของสื่อ เรารู้กันอยู่แล้วว่า สื่อเข้าใจผิดเยอะเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีรายการจิตสัมผัส รายการแก้กรรมจากการไปทำแท้งอยู่ ก่อนอื่นเลยควรเลิกใช้คำว่าแม่ใจยักษ์ได้แล้ว เขายังไม่ได้เป็นแม่ เขารู้ว่าแม่เป็นยังไง เขาก็เลยไม่เป็น แม่เป็นยากนะคะ ไม่ใช่ง่ายๆ และไม่ใช่ว่าใครท้องก็ถือว่าเป็นแม่” นิศารัตน์กล่าว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save