fbpx

สงคราม-มหาอำนาจแยกขั้ว: การเมืองโลก 2022 กลางทวิวิกฤต

ยุคสมัยแห่งภูมิรัฐศาสตร์: ก้าวสู่ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21

“การปะทะกันระหว่างประชาชาติ (clash of nations) กำลังจะกลับมาเป็นหัวใจของระบบการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน”

 ไม่มีใครปฏิเสธว่า ‘โรค’ ได้เปลี่ยน ‘โลก’ ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อโควิด-19 ทำปฏิกิริยาต่อดุลอำนาจภูมิรัฐศาสตร์โลกและดิสรัปต์ระเบียบโลก อย่างที่ จิตติภัทร พูนขำ เรียกโควิดว่าเป็น  ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (game changer) หรือ ‘ตัวเร่งขนาดใหญ่’ (great accelerator) ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านดุลอำนาจโลกไปสู่สองขั้วอำนาจ นั่นหมายความว่า สิ่งที่โลกกำลังเผชิญคือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจพญาอินทรีและพญามังกรที่ทวีความเข้มข้น และความตึงเครียดระหว่างรัฐต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าปี 2022 ได้พาโลกเข้าสู่อีกยุคแห่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเต็มตัว

“สิ่งที่เราเห็นในปีที่ผ่านมา คือระเบียบโลกที่เปลี่ยนดุลอำนาจไปสู่ระบบสองขั้วอำนาจ (Bipolar world) มากขึ้น […] บางคนอาจจะมองว่าโลกอยู่ภายใต้ระเบียบแบบหลายขั้วอำนาจ แต่สำหรับผม ถ้ามองการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับมหภาค (global macro geopolitics) โลกมีสองมหาอำนาจ (G2) ที่กำหนดทิศทางของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกและระเบียบการเมืองโลกไปแล้ว”

จิตติภัทรเสนอภาพระเบียบโลกสองขั้วอำนาจของศตวรรษที่ 21 ว่าวางอยู่บนคุณลักษณะสำคัญ 6 ประการ

ประการแรก ระเบียบโลกวางอยู่บนการแข่งขันช่วงชิงอำนาจในทุกมิติระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งในมิติการค้า การเงิน ระบบคุณค่า เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ประการที่สอง ระเบียบโลกมีความลักลั่น (paradox) กล่าวคือ สองมหาอำนาจพึ่งพิงซึ่งกันและกันสูงมากในทุกมิติ แต่ในเวลาเดียวกันก็ถ่างออกจากกันมากขึ้นในทุกมิติเช่นกัน ทำให้ระเบียบโลกออกอาการขัดแย้ง ตึงเครียด และแข่งขันมากยิ่งขึ้น  

ประการที่สาม ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจขยับไปสู่การแข่งขันและการปะทะกันทางระบบความคิด ระบบคุณค่า ระบบการเมือง และระบบเศรษฐกิจการเมือง ระหว่างระบบที่วางอยู่บนฐานของเสรีนิยมประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรีนิยมและระบบที่เน้นอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นสำคัญ

ประการที่สี่ การแข่งขันภายใต้ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจจะนำไปสู่การกำหนดสถานะหรืออำนาจของผู้นำโลกในอนาคต

ประการที่ห้า ภาพของการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะวางอยู่บน 3T คือ การค้า (Trade) – สงครามการค้า เทคโนโลยี (Technology) – การแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อครอบครองความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ไม่ว่าจะเป็น 5G ปัญญาประดิษฐ์ หรือควอนตัม และดินแดน (Territory) – หลายดินแดนกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการแข่งขันของมหาอำนาจ เช่น ทะเลจีนใต้ แม่น้ำโขง ไครเมีย ยูเครน หรือเบลารุส

ประการสุดท้าย แม้การแข่งขันและความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีศักยภาพที่จะกลายเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ได้ในอนาคต แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ยกระดับถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นสงครามเย็น เพราะยังไม่ปรากฏระบบพันธมิตรที่ชัดเจน และประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กเลือกดำเนินนโยบายประกันความเสี่ยง (hedging) เล่นเกมรักษาระยะห่างจากจีนและสหรัฐฯ ไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย

ในบทความ World 2022 and Beyond: ‘แผนที่ใหม่’ ของเกมการเมืองโลกบนระเบียบโลกสองขั้วอำนาจ สองพื้นที่การแข่งขันที่จิตติภัทรคาดการณ์ไว้ว่ามหาอำนาจจะขัดแย้งและแข่งขันงัดข้อกันรุนแรงขึ้นในปี 2022 คือ (1) ระบบคุณค่า ระหว่างระเบียบโลกเสรีนิยมที่นำโดยสหรัฐฯ และการกลับมาท้าทายของระเบียบที่อำนาจวางอยู่บนฐานของรัฐชาติ อำนาจอธิปไตยบูรณาภาพเหนือดินแดน และการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่นโดยจีนและรัสเซีย (2) การแข่งขันในการสร้างระบบพันธมิตร โดยมีแนวโน้มที่สองมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ จะงัดข้อกันในสมรภูมิอินโด-แปซิฟิกรุนแรงมากขึ้น และ (3) การแข่งขันทางเทคโนโลยี ซึ่งปีนี้ที่ปรากฏชัดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมคือสงครามเซมิคอนดักเตอร์

แล้วการคาดการณ์ก็กลายเป็นความจริง จะต่างออกไปก็ตรงที่ไม่มีใครคาดคิดว่าอุณหภูมิความตึงเครียดจะปะทุขึ้นใจกลางยุโรปในยามที่ปี 2022 มีอายุได้ราว 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น

Ukraine at War

บริเวณพรมแดนยูเครนส่อเค้าลางของสัญญาณความตึงเครียดตลอดฤดูหนาวปี 2021-2022 เมื่อรัสเซียเคลื่อนกำลังพลกองทัพราว 130,000 นายประชิดรอบพรมแดนยูเครน ทั้งทางเหนือ ใต้ ตะวันออก และแหลมไครเมีย ส่งกำลังทหารเข้าซ้อมรบในเบลารุส ประกาศรับรองเอกราชแคว้นโดเนตสก์และลูฮานสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ตกอยู่ภายใต้ ‘ความขัดแย้งแช่แข็ง’ (frozen conflict) มาเป็นเวลา 8 ปี อีกทั้งเสียงประกาศเตือนการเปิดฉากโจมตียูเครนของรัสเซียจากวอชิงตันตีคู่ขนานไปกับภาพการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัสเซียและหลายประเทศมหาอำนาจโลกตะวันตกครั้งแล้วครั้งเล่ายังส่งสัญญาณว่า สถานการณ์ ณ เวลานั้นใกล้จะลุกลามไปสู่วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์อย่างเต็มขั้น

แล้วสงครามก็ปะทุขึ้นในรุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ บุกโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบ จนถือว่าเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปนับตั้งแต่การสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สอง คำถามที่โลกสงสัยคือ ทำไมรัสเซียจึงตัดสินใจทำสงครามรุกรานยูเครน?

ปูติน ‘อ้าง’ ในแถลงการณ์ว่า ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษเป็นไปเพื่อล้มรัฐบาลนีโอนาซีที่กรุงคีฟ ปกป้องคนชาติรัสเซียในยูเครน และปลดปล่อยดินแดนทางภาคตะวันออกที่ถูกรัฐบาลยูเครนกดขี่ –  ข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการบุกโจมตียูเครนจะจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง แต่หากมอง ‘ปมเบื้องหลัง’ ที่ทำให้รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ วิเคราะห์ในภาพใหญ่ว่า มีสาเหตุจากความวิตกกังวลและไม่พอใจต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal order) ที่สหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตกเป็นแกนนำในการวางโครงสร้างและผลักดันระเบียบดังกล่าว

ในทางความมั่นคง หากอธิบายผ่านมุมมองของรัสเซีย พันธมิตรโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และชาติยุโรปตะวันตกผิดสัญญาจากการแผ่ขยายเขตอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ออกไปทางยุโรปตะวันออก จนเกือบมีสัญญาณว่าเขตอิทธิพลจะขยายไปถึงยูเครน ซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นเขตอิทธิพล (spheres of privileged interests) ที่ไม่ต้องการให้อิทธิพลตะวันตกรุกล้ำเข้ามา

จิตติภัทรยกคำอธิบายของ ดิมิทรี เทรนิน (Dmitri Trenin) ผู้อำนวยการ Carnegie Moscow Center ว่า การใช้เครื่องมือทางการทหารของรัสเซียก่อนที่จะตัดสินใจก่อสงครามเป็นไปเพื่อ “กดดันให้สหรัฐฯ เข้าสู่โต๊ะเจรจาและเสนอข้อเรียกร้อง” ซึ่งได้แก่ (1) นาโตต้องไม่ขยายสมาชิกภาพ (2) นาโตต้องถอนระบบอาวุธเชิงรุกในยุโรปที่ใช้โจมตีรัสเซียได้ และ (3) นาโตต้องถอนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางกลาโหมและกองทัพในยุโรปตะวันออก และย้อนเขตอิทธิพลนาโตกลับไปสู่สถานะในปี 1997 ที่เขตแดนของนาโตยังไม่ย่างกรายมาสู่ยุโรปกลาง รัฐบอลติกและยุโรปตะวันออก

“มีการวิเคราะห์ว่า รัสเซียกำลังยื่นคำขาด (ultimatum) ต่อโลกตะวันตก เพราะฉะนั้น […] ในมุมของปูติน โจทย์ใหญ่ในครั้งนี้คือการปรับดุลอำนาจใหม่ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบความมั่นคงยุโรปใหม่ในยุคหลังสงครามเย็นและการประกันความมั่นคงให้แก่รัสเซีย” จิตติภัทรกล่าว

แต่สุดท้าย การทูตเชิงบีบบังคับก็ล้มเหลวจนรัสเซียยกระดับการฟาดงวงฟาดงาไปสู่การบุกโจมตียูเครน

ส่วนในทางการเมือง หนึ่งในแนววิเคราะห์ที่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณหยิบยกขึ้นมาในบทความ ‘สหภาพยูเรเชีย’: จักรวรรดิจินตกรรมของปูติน คือสงครามครั้งนี้มีเหตุมาจากการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างสองความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง คือระบอบเสรีนิยประชาธิปไตยกับระบอบอัตตาธิปไตยและเผด็จการอำนาจนิยม โดยที่รัสเซียต้องการธำรงรักษาระบอบการเมืองที่เป็นมิตรกับรัสเซีย กล่าวคือยูเครนต้องปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะจะทำให้ดุลอำนาจเอนหาโลกตะวันตก แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น จิตติภัทรให้คำอธิบายเพิ่มไว้ว่า การที่ประเทศบริเวณหลังบ้านเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยถือเป็นการแทรกแซงจากรัฐภายนอกและเป็นภัยคุกคามสำหรับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ ‘การปฏิวัติสีส้ม’ (Orange Revolution) ในปี 2004 ตามด้วย ‘การปฏิวัติยูโรไมดาน’ (Euromaidan) กลางกรุงคีฟในปี 2014 ยูเครนได้ประกาศชัดแล้วว่า สิ่งที่ยูเครนต้องการคือเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกและสหภาพยุโรป

นี่คือการตอกย้ำว่า ยูเครนคือยูเครน มีอำนาจอธิปไตย มีเอกราช มีตัวตน มีสำนึกคิดเป็นของตน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างในอดีตที่ยูเครนเคยตกเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตหรือจักรวรรดิรัสเซีย สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของคีรา รูดิก (Kira Rudik) ส.ส. จากพรรคโกโลส (Golos Party: Voice Party) พรรคฝ่ายค้านในรัฐสภายูเครน

“ […] สิ่งที่ปูตินกลัวจริงๆ คือการที่มีประเทศประชาธิปไตยติดพรมแดน เพราะยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศหลังโซเวียตที่เคยแสดงให้เห็นแล้วว่า เรามีทางของตัวเอง เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะเลือกแนวทางแบบโลกตะวันตก ไม่ตกหลุมโฆษณาชวนเชื่อและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียและของปูติน”

เหตุใดรัสเซียจึงยังไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของยูเครนในฐานะรัฐชาติที่มีเอกราช มีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์และยังคงโอบกอดมโนทัศน์จักรวรรดินิยมไม่ปล่อย? ในบทความ ‘ชุมชนจินตกรรม’ ของวลาดิเมียร์ ปูติน ธเนศได้เสนอคำตอบว่า ความคิดทางการเมือง มโนทัศน์ และจินตนาการความเป็นชาติรัสเซียของปูตินได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของอิวาน อิลยิน (Ivan Ilyin) ที่มองว่าอารยธรรมรัสเซียมีความพิเศษ

“ในปี 2012 ปูตินเขียนบทความถึงปัญหาความเป็นชาติของรัสเซียว่า “ภารกิจของรัสเซียที่ยิ่งใหญ่คือการผนึกรวมและผูกพันอารยธรรมเข้ามาเป็นเอกภาพเดียวกัน ในอารยธรรมของรัฐนั้น ไม่มีชนชาติส่วนน้อยทั้งหลายอยู่ และหลักการในการรับรองว่าใครเป็น ‘มิตรหรือศัตรู’ วางอยู่บนพื้นฐานของการมีวัฒนธรรมร่วมกัน”

“[…] ในความคิดของปูติน ปัญหาเรื่องความเป็นชาติของรัสเซียและยูเครนจึงเป็นแค่จินตนาการหรือประดิษฐกรรมสร้างขึ้นมาโดยพวกศัตรูของรัสเซีย เป็นมโนทัศน์ที่นำเข้ามาจากตะวันตกที่ไม่มีความจริงในดินแดนรัสเซียอยู่เลย

“เมื่อปูตินกล่าวถึงยูเครน เขามองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในอารยธรรมรัสเซีย เขาไม่สนใจและไม่รับรองฐานะความเป็นรัฐชาติของยูเครนในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ภาพของคนยูเครนก็เหมือนชาวบ้านที่ใช้ชีวิตกระจัดกระจายอยู่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ที่เป็นรัสเซีย คติความเป็นอธิปไตย (sovereignty) บูรภาพของอาณาเขต (integrity of territory) และเส้นเขตแดนที่ได้รับการยอมรับ ไม่อยู่ในความคิดของปูติน เขากล่าวว่า “เราอยู่ด้วยกันมานับศตวรรษ เราร่วมกันเอาชนะในสงครามที่โหดร้ายหลายครั้ง และเราจะสืบทอดในการอยู่ด้วยกัน และกล่าวสำหรับบรรดาคนที่ต้องการแบ่งแยกเรา ข้าพเจ้าได้แต่กล่าวอย่างเดียวเท่านั้น วันนั้นจะไม่มีทางมาถึงได้เลย””

กระนั้น การตัดสินใจบุกโจมตียูเครนกลับไม่ได้เป็นไปตามที่รัสเซียคาดหวังว่าจะสามารถยืดกรุงคีฟและยุติ ‘ปัญหายูเครน’ ที่ค้างคามานับตั้งแต่การผนวกไครเมียและสงครามดอนบาสลงได้ การบุกสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) กลับกลายเป็นสงครามยาวที่ไร้สัญญาณของการสิ้นสุดเมื่อกองทัพยูเครนโต้กลับ พร้อมด้วยการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากโลกตะวันตก อีกทั้งทุกคนในสังคมยูเครนก็พร้อมใจร่วมต่อต้านรัสเซียไม่ทางใดก็ทางหนึ่งด้วยวิธีของตนเอง ไม่ว่าจะไปสมัครเป็นทหารหรือเป็นอาสาสมัคร แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและอันตรายไม่ต่างไปจากฝันร้ายก็ตาม คอร์นี กริตชุก ผู้กำกับสารคดี Train «Kyiv–War» ผู้เกิดและเติบโตในแคว้นโดเนตสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครนได้เล่าให้มุกตลกมุกหนึ่งที่เล่าต่อกันในสังคมยูเครน ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า ความปรารถนาทางการเมืองของปูตินจะไม่มีทางเป็นจริง

“ตอนนี้เรามีมุกตลกเสียดสีกันขำๆ ว่า ปูตินคือคนที่ทำให้ยูเครนร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้มากกว่านักการเมืองคนไหนๆ อีก เพราะหลายอย่างที่ปูตินทำลงไปยิ่งทำให้คนยูเครนรู้สึกว่ายูเครนต่างจากรัสเซียในทุกๆ มิติ”

สงครามรัสเซีย-ยูเครนย่อมเขย่าระเบียบโลก แต่แทนที่ดุลอำนาจระเบียบโลกจะถูก ‘รีเซ็ต’ และเอนไปทางรัสเซียและจีน หรือกระทั่งว่ารัสเซียจะกลายเป็นผู้นำในการกำหนดระเบียบโลกใหม่ตามที่ปูตินคาดหวัง อาร์ม ตั้งนิรันดร ชี้ให้เห็นว่า การบุกยูเครนของรัสเซียกลับให้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไม่ได้ทำลายระเบียบโลกของสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแอและอยู่ในขาลง ตรงกันข้าม กลับช่วยฟืนคืนชีพให้กับระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก 3 ประการ ประการแรก สงครามยูเครนผลักให้พันธมิตรโลกตะวันตกและนาโตรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวและเหนี่ยวแน่นที่สุด เพราะมีภัยความมั่นคงร่วม อีกทั้งการตัดสินใจหยุดการเดินท่อก๊าซจากรัสเซียยังทำให้ยุโรปต้องหันไปพึ่งพาพลังงานจากสหรัฐฯ แทน

ประการที่สอง สงครามไม่ได้เบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐฯ ไปจากจีน ยิ่งไปว่านั้น สหรัฐฯ สามารถปลุกพันธมิตรในยุโรปและในเอเชียให้มองจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามคล้ายๆ กัน เพราะก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่จีนจะบุกไต้หวัน นั่นยิ่งผลักให้พันธมิตรของสหรัฐฯ หันมาร่วมกดดันและปิดล้อมจีนหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยุโรปที่เคยแสดงตัวเป็นอิสระและเป็นกลางในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื่องจากจีนมีท่าทีที่คลุมเครือต่อการบุกยูเครนของรัสเซีย

ประการที่สาม ยูเครนจะยิ่งตอกย้ำเทรนด์การลดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและตะวันตก ซึ่งเป็นความตั้งใจของทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็มองไปในอนาคตว่าถ้าเกิดขัดแย้งกันและต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบที่ทำกับรัสเซีย จีนต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นจะได้เจ็บตัวให้น้อย ส่วนสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตกที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนสูง ก็จะต้องลดความเชื่อมโยงกับจีน จะได้เจ็บตัวน้อยลงเช่นกัน

สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่เพียงแค่นำไปสู่หายนะและโศกนาฏกรรมกลางยุโรปเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเช่นกัน โดยเฉพาะท่ามกลางสภาวะที่พญาอินทรีและพญามังกรงัดข้อกันอย่างเข้มข้น

“ในปัจจุบัน ชาติตะวันตกมีความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (strategic ambiguity) หลายประการในการไม่ปกป้องยูเครนทางการทหารอย่างเต็มที่ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้าไป ซึ่งมีเหตุผลรองรับอยู่ นี่อาจทำให้จีนประเมินนโยบายความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกว่า อาจจะไม่มีความชัดเจนทางยุทธศาสตร์ในการปกป้องไต้หวันหรือทะเลจีนใต้เช่นกัน และจะสามารถเลี่ยงการปะทะกับสหรัฐฯ ไปได้ หากจะตัดสินใจใช้กำลังทางการทหารบุกรุกไต้หวันและทะเลจีนใต้

“แต่ส่วนตัวผมมองว่าไม่ง่าย เพราะจีนต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจตามมาจากการคว่ำบาตรให้ดี อย่างที่บอกแล้วว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเริ่มมีเอกภาพทางนโยบายแล้ว” พงศ์พิสุทธิ์ให้ความเห็น

วิกฤตช่องแคบไต้หวัน?

ในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์บริเวณช่องแคบไต้หวันส่อเค้าลางความตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผู้เป็นที่ทราบกันดีกว่ามีท่าทีสนับสนุนไต้หวันอย่างชัดเจนตัดสินใจเดินทางเยือนไต้หวัน นั่นย่อมตามมาด้วยการประกาศซ้อมรบใหญ่ด้วยกระสุนจริงจากรัฐบาลจีนแทบจะทันที แม้การจุดยืนสนับสนุนไต้หวันของเพโลซีจะไม่ใช่จุดยืนอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ แต่การเดินทางไปยังกรุงไทเปของเพโลซี ซึ่งตามมาด้ววอุณหภูมิทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นในเอเชียตะวันออกก็นำมาสู่คำถามว่า มีโอกาสแค่ไหนที่จะเกิดสงครามไต้หวันในอนาคต?

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและสหรัฐฯ วางอยู่บน ‘นโยบายจีนเดียว’ นับตั้งแต่จีนปฏิรูปเปิดประเทศและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงระเบิดที่นับเวลารอปะทุเท่านั้น เนื่องจาก ‘จีนเดียว’ ในความเข้าใจของจีนและสหรัฐฯ นั้นไม่ตรงกันอย่างที่อาร์มได้ชี้ให้เห็นว่า

“นโยบาย ‘จีนเดียว’ ในความหมายของจีนคือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนคอมมิวนิสต์ ส่วนนโยบาย ‘จีนเดียว’ ของสหรัฐฯ คือสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ และมีเพียงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการกับเกาะไต้หวัน แต่สหรัฐฯ ไม่ได้มีจุดยืนให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เข้าปกครองเกาะไต้หวัน เวลาทั้งสองฝ่ายพูดว่าต่างยอมรับนโยบาย ‘จีนเดียว’ ลึกๆ แล้วความหมายไม่เหมือนกัน”

เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ จึงใช้ ‘ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์’ (strategic ambiguity) อาศัยความคลุมเครือในการดำเนิน ความสัมพันธ์กับจีนและไต้หวันมาตลอด แม้ในระยะหลัง จีนจะยืนกรานว่าการไม่รับรองเอกราชของไต้หวันจะต้องเป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานที่สหรัฐฯ ต้องยอมรับและเคารพในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ก็เปิดให้สหรัฐฯ ยังยืนยันจุดยืนทางนโยบายได้ อย่างที่ปรากฏในสุนทรพจน์สำคัญของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ จะไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน แต่จะคัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการแสดงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไต้หวันของจีนหรือการจะใช้กำลังทางทหารผนวกไต้หวันของจีน อีกทั้งสหรัฐฯ จะส่งเสริมให้ไต้หวันมีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น และจะยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันในทุกด้าน

แม้ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์จะดูสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงคราม แต่ความคลุมเครือก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทั้งสหรัฐฯ จีน และไต้หวันหลีกเลี่ยงสงครามและตรึงระดับความตึงเครียดในความสัมพันธ์มาได้หลายทศวรรษ คำถามคือ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่สงครามไต้หวันจะปะทุขึ้น? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ความคลุมเครือมีแนวโน้มจะลดลง

ในบทความ เงื่อนไขที่จะเกิดสงครามไต้หวัน อาร์มเสนอว่า ในระยะสั้นถึงปี 2024 จะยังไม่เกิดสงครามไต้หวัน เพราะทำเนียบขาวประกาศชัดเจนว่านโยบายสหรัฐฯ ต่อประเด็นไต้หวันจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำหรับจีนแล้วเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ส่วนไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันก็ยังคงไม่มีจุดยืนจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประกาศเอกราช แม้จะมีมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน ส่วนสีจิ้นผิงเองก็ยังคงให้คำมั่นในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับไบเดนว่า จีนจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการรวมชาติอย่างสันติ

แต่ในระยะกลางและระยะยาว โดยทั่วไปในวงการความมั่นคงในจีนและสหรัฐฯ ต่างมองว่าสงครามไต้หวันนั้นช้าเร็วก็ต้องเกิด แค่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็เท่านั้น เพราะยุทธศาสตร์และการลงทุนทางการทหารของจีนมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือเพื่อชนะเด็ดขาดให้ได้หากมีสงครามไต้หวัน หลายคนมองว่าจีนจะตัดสินใจทำสงครามรวมชาติ เมื่อศักยภาพทางการทหารของจีนถึงจุดที่เหนือกว่าสหรัฐฯ และไต้หวันอย่างชัดเจน ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้ว่าจีนจะบรรลุศักยภาพทางในช่วงปลายทศวรรษ 2030

ประเด็นหนึ่งที่อาร์มยกขึ้นมาคือ ฝ่ายเหยี่ยวในกองทัพสหรัฐฯ อาจมีความคิดที่จะรีบเผด็จศึกจีนก่อนทศวรรษที่ 2030 ในตอนที่ศักยภาพทางการทหารสหรัฐฯ ยังเหนือว่า ส่วนฝ่ายเหยี่ยวในจีนเองก็อาจมีคนมองว่า ควรเริ่มรบเมื่อมีโอกาสชนะสูง และก่อนที่สหรัฐฯ จะเริ่มเร่งพัฒนาอาวุธ เพราะฉะนั้น ปี 2024 ซึ่งเป็นปีที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปีที่ตัดสินว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปจะมีนโยบายต่อไต้หวันอย่างไร

เมื่อพญาอินทรีสยายปีกอีกครั้ง: อินโด-แปซิฟิกกลางเพลิงภูมิรัฐศาสตร์

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนป่าวประกาศว่า สหรัฐฯ จะกลับมานำโลกอีกครั้ง พยายามทวงคืน ‘หัวโต๊ะ’ ในการเจรจาระหว่างประเทศ ธำรงรักษาความเป็นมหาอำนาจนำของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จัดระเบียบโลก และทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรในการรับมือกับภัยคุกคามระดับโลก การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจจีน-สหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิกก็ค่อยๆ ร้อนแรงขึ้น

ภาพความไม่ลงรอยระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยุคไบเดนสะท้อนชัดในบทความ จีนต้องการอะไรจากสหรัฐฯ และทำไมสหรัฐฯ ให้จีนไม่ได้ อาร์มอธิบายว่า จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยืนยันคำมั่น ‘สี่ไม่ หนึ่งมิประสงค์’ ทุกครั้งในการสนทนาระดับผู้นำ นั่นคือต้องยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้พยายามก่อสงครามเย็นรอบใหม่ ไม่ได้พยายามเปลี่ยนระบบการปกครองของจีน ไม่ได้พยายามแสวงพันธมิตรต่อต้านจีน ไม่ได้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน และมิประสงค์จะสร้างความขัดแย้งกับจีน แต่ส่วนหนึ่งของใจความจากสุนทรพจน์ของแอนโทนี บลิงเคนที่สอดแทรก ‘สี่ไม่ หนึ่งมิประสงค์’ ไว้ก็สะท้อนให้เห็นว่า จีนและสหรัฐฯ มองโลกด้วยโลกทัศน์ที่ต่างกัน  – และยากยิ่งที่จะมาบรรจบกัน

“สหรัฐฯ แสวงพันธมิตรไม่ใช่เพื่อต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เพื่อต่อสู้กับพฤติกรรมของจีนในยุคสีจิ้นผิงที่แข็งกร้าวขึ้นและต้องการจะเปลี่ยนระเบียบโลกเดิมและระเบียบในอินโดแปซิฟิกที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็น ‘บ้าน’ ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน หากจีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สหรัฐฯ ยินดีที่จะตอบสนองเชิงบวก แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถหวังว่าจีนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้อีกแล้ว จึงต้องอาศัยการรวมกลุ่มพันธมิตรที่คิดเหมือนกันมาสร้างกรอบข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายภายนอกของจีน”

แต่ยิ่งไปกว่าวิวาทะผู้นำ ไบเดนได้แถลงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ณ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะใช้ ‘เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ’ เป็นหลักการหลักเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ธรรมาภิบาล และเสรีภาพในการเดินเรือ, การสร้างความเชื่อมโยงผ่านการกระชับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนในภูมิภาค สนับสนุนอาเซียและ QUAD และสร้างความเชื่อมโยงผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกภายใต้ Built Back Better World (B3W), ส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสร้างความยืดหยุ่น (Resilient) ให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกรับมือต่อความท้าทายร่วมระดับโลกอย่างภาวะโลกร้อนและการระบาดของโควิด-19

กลยุทธ์หลักที่รัฐบาลไบเดนจะใช้ดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกให้เป็นจริงคือ ‘กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (IPEF) – นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ กลับมาปักหมุดในเอเชียเพื่อคานอิทธิพลของจีนอย่างเต็มตัว

“หุ้นส่วนความร่วมมือในกรอบ IPEF มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม พวกเขาต้องการห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานที่สะอาด (clean) และการต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่เที่ยงธรรม ทั้งนี้ ผมต้องบอกว่าเราไม่ได้ตั้งเกณฑ์อะไรไว้สำหรับการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF แต่เราจะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ สนใจจะเข้าร่วมกรอบนี้จริงๆ หรือไม่ และพวกเขาสามารถที่จะสนับสนุนมาตรฐานต่างๆ ของเราได้ไหม” ไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อดีตอุปทูตสหรัฐฯ กล่าว

ปิติ ศรีแสงนาม วิเคราะห์ว่า IPEF จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี แต่จะเป็นกรอบความร่วมมือที่เจรจาต่อรองยกระดับมาตรฐาน โดยเจรจาแยกเป็นส่วน (module)  

“สหรัฐฯ คงมีประเด็นสำคัญที่ต้องการเจรจา (กดดัน) ที่ตนเองอยากได้ (request) และจะมีข้อเสนอ (offer) ให้กับประเทศที่ยอมรับ โดยแต่ละประเด็นในแต่ละ module ที่สหรัฐฯ จะทำข้อตกลงกับแต่ละประเทศ จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าอำนาจต่อรองระหว่างประเทศคู่จรจากับสหรัฐฯ จะมีมากน้อยขนาดไหน”

คำถามคือ พญาอินทรีจะปักหมุดในเอเชียได้อย่างใจหวังหรือไม่ ในบทสัมภาษณ์ Is America Back? สหรัฐฯ โลก และเอเชียแปซิฟิกหลัง America must lead again ประพีร์ อภิชาตสกล ให้ความเห็นว่า การกลับมาใช้คุณค่าประชาธิปไตยเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการสร้างพันธมิตรและประสานความร่วมมือ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างที่สหรัฐฯ ทำอยู่นั้นส่งผลให้พื้นที่ความร่วมมือน้อยลง ประสานผลประโยชน์ได้ยากขึ้น หรืออาจทำให้กลายเป็นการกล่าวหาหรือตอกย้ำว่าอีกฝ่ายเป็นตัวร้ายไปโดยปริยาย และเพิ่มความตึงเครียดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย

“สหรัฐฯ ในตอนนี้อาจเป็นผู้นำได้ในบางประเด็น แต่จุดที่น่าตั้งข้อสังเกตคือมีประเทศอื่นเล่นตามด้วยขนาดไหน ถ้าให้ประเมิน ส่วนตัวมองว่าพอใช้แนวทางนโยบายการต่างประเทศแบบนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศก็ยังไม่ได้สนใจปรับท่าทีให้ไปทางสหรัฐฯ”

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ไม่ได้มีแค่จีนและสหรัฐฯ ที่ปรารถนาเข้ามาช่วงชิงปรับเปลี่ยนดุลอำนาจในอินโด-แปซิฟิกเท่านั้น ฝรั่งเศสภายใต้การนำของแอมานูเอล มาครง ก็เผยยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกออกมาแล้วเช่นกันว่า ฝรั่งเศสต้องการมีบทบาทในเอเชียเช่นกัน โดยวิสัยทัศน์ที่จะสร้าง ‘inclusive Indo-Pacific’ ของฝรั่งเศสนั้นอาจเป็นก้าวแรกไปสู่การคลายอำนาจสองขั้วในเอเชียก็เป็นได้ แต่ที่แน่นอนคือ การปรากฏตัวของมาครงที่บาหลีและกรุงเทพฯ นอกเหนือจากจะเป็นการปรากฏตัวตามวาระการประชุม G20 และ APEC แล้ว ยังเป็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่าฝรั่งเศสได้มุ่งหน้ามายังเอเชียแล้ว

การต่างประเทศไทยกลางคลื่นลมมหาอำนาจ

กระแสลมอันแปรปรวนจากการที่ระเบียบโลกขยับเข้าสู่ระบบสองขั้วอำนาจย่อมทำให้ ‘ไผ่’ ลู่ตามลมได้ยากขึ้น ถูกกระแสลมพัดให้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ง่ายขึ้น และประกันความเสี่ยง (hedging) อย่างมียุทธศาสตร์ได้ยากขึ้น แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่การรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์กลับส่งผลให้ไทยมีทางเลือกนโยบายการต่างประเทศไม่มากนัก เนื่องจากโครงสร้างและบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบคุณค่ากลายเป็นเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ทำให้ไทยเข้าใกล้จีนและรัสเซียมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ไทยอยู่นอกเรดาร์ของยุทธศาสตร์การต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่พอสมควร แม้จะเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์หลักดั้งเดิมของสหรัฐฯ ก็ตาม

นั่นส่งผลให้นโยบายการต่างประเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดำเนินการทูตเชิงรับมาตลอด และไม่สามารถแสดงบทบาทที่โดดเด่นได้

ประเด็นหนึ่งที่ อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูตได้ให้ความเห็นจากมุมมองของคนที่อยู่ในแวดวงการต่างประเทศและการทูตมาหลายปีคือ สถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกตินับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมาเป็นเหตุให้แนวการดำเนินนโยบายต่างประเทศไร้เสถียรภาพ ไม่มีความต่อเนื่อง และขาดเอกภาพ

“ขีดความสามารถ [การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ] ได้รับผลกระทบจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เราจะเล่นบทบาทไปนอกประเทศไทยก็ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเกิดมาจากการที่มีรัฐบาลและสังคมที่มีเอกภาพและคอยหนุนหลัง จึงจะก้าวออกไปทำได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ต้องมีเอกภาพในสังคม เพราะการต่างประเทศเป็นเรื่องของทั้งประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะที่การเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศสร้างข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ อีกทั้งการต่างประเทศไทยยังโน้มเอียงเข้าหาจีนอย่างเห็นได้ชัด จิตติภัทรเสนอว่าไทยยังคงพอมีหนทางในการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสองมหาอำนาจให้สมดุลมากขึ้น

“อย่างแรกที่เราพอจะทำได้คือ ทำความเข้าใจและคาดการณ์การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 จะได้รู้ว่าเราอยู่ในเกมสมการการเมืองโลกแบบไหน ภูมิรัฐศาสตร์แบบไหน แข่งขันกันเรื่องอะไร เพื่อวางแผนและกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ได้ชัดเจน”

อีกประการคือ การไม่เลือกข้างอย่างชัดเจน ผ่านการรักษาระยะห่างอย่างสมดุล (equidistance) เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

“โจทย์สำหรับผมมีอยู่ว่า เราได้ผลประโยชน์ตรงไหน ก็เลือกจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับประเทศหรือมหาอำนาจนั้นๆ เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกกำหนดว่าอะไรคือผลประโยชน์ อะไรคือผลประโยชน์หลัก อะไรคือผลประโยชน์รอง ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ตรงนี้เกิดจากการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติผ่านการวางแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

ในทำนองเดียวกัน ในบทสัมภาษณ์ยุทธศาสตร์ไทยในกระดานหมากล้อมมหาอำนาจ อาร์มเสนอในประเด็นการกำหนดจุดยืนว่า ไทยต้องรักษาสมดุลแบบเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ

“ถ้าเราฟังนักวิชาการด้านการต่างประเทศหรือชนชั้นนำด้านการทูต ผมเข้าใจว่าทุกคนจะพูดประสานเสียงกันว่า เราต้องรักษาสมดุล แทบไม่มีใครฟันธงเลยว่าเราต้องเลือกข้าง แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การรักษาสมดุลมีได้สองแบบ แบบแรกคือการรักษาสมดุลเชิงรับ (reactive balancing) คืออยู่เงียบๆ ไม่ทำอะไร คอยแต่ตั้งรับ แต่สิ่งที่เราควรมองคือ ทำยังไงเราถึงจะรักษาสมดุลเชิงรุก (proactive balancing) ได้ แต่นี่ก็ต้องมาพร้อมกับการที่ไทยรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไรและจะตั้งเงื่อนไขยังไงเพื่อให้สามารถต่อรองให้ได้สิ่งที่ต้องการ”

และในการรักษาสมดุล คำถามไม่ใช่ว่า ‘ต้องเลือกใคร’ แต่อาร์มเสนอว่า ไทยต้องถามว่า ‘จะเลือกใครด้วยเงื่อนไขแบบไหน’ มากกว่า

“ผมสังเกตว่าการถกเถียงหลายอย่างในสังคมมักจะเป็นลักษณะว่าจะเอาหรือไม่เอา เช่น จะเอารถไฟจีนหรือไม่เอารถไฟจีน มากกว่าจะเป็นคำถามในเชิงว่า ถ้าคุณจะเอารถไฟจีนแล้วจะทำอย่างไรหรือทำด้วยเงื่อนไขใด ใช้เกณฑ์อะไร หรืออย่างคำถามเกี่ยวกับการเลือกข้าง เรามักจะบอกว่าต้องเลือกจีนหรือสหรัฐฯ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะมีเกณฑ์ว่าเราต้องการอะไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะยอมรับว่ามีทั้งโครงการจีนที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่วนโครงการสหรัฐฯ ก็อาจจะเจอกับปัญหาความท้าทายเช่นกัน มันไม่ควรเป็นคำถามง่ายๆ แค่ว่า จะเลือกจีนหรือสหรัฐฯ”

ทั้งหมดทั้งมวล การต่างประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง การต่างประเทศไทยจะเดินไปทางไหน การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2023 คงจะชี้ชะตาว่าไผ่จะ ‘ลู่ลม’ ได้หรือไม่ ลู่ตามลม ลู่ก่อนกระแสลมจะมา หรือจะหมุนวนอย่างปั่นป่วน?

2022: ปีแห่งความไม่แน่นอนทั้งปวงในการเมืองโลก

2022 เป็นปีที่โลกเต็มไปด้วยสารพัดจังหวะการเมืองที่ไม่คาดฝัน พลิกไปมาชวนให้หายใจไม่ทั่วท้องแทบทั้งปี หากไม่นับสงครามร้อนที่ปะทุขึ้นมากลางยุโรปศตวรรษที่ 21 สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพประชาชนและฝ่ายเผด็จการทหารในพม่า – ในวันที่โลกแทบจะไปไกลเกินกว่าที่สงครามจะอยู่ในจินตนาการทางการเมืองแล้ว – การลุกขึ้นมาประท้วงของผู้หญิงภายใต้คำขวัญ ‘สตรี, ชีวิต, อิสรภาพ’ ในรัฐศาสนาอย่างอิหร่าน การผลัดแผ่นดินในสหราชอาณาจักร และเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ การเลือกตั้งทั่วโลกที่จ่อคิวรอตลอดปีก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน – หลายการเลือกตั้ง บรรยากาศทางการเมืองดูเหมือนอาจส่งแรงพลิกผลการเลือกตั้งและการเมืองภายในไปไม่น้อย

ในภาพรวม ดูเหมือนว่าปีนี้เศรษฐกิจจะกำหนดลมหายใจของการเลือกตั้งในหลายประเทศ

แม้จะซาลงบ้างแล้ว แต่กระแสการเมืองแบบขวาประชานิยมและขบวนการฝ่ายขวาก็ยังคงตามหลอกหลอนการเมืองอเมริกาและการเมืองยุโรปอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ใกล้เข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มที พรรคการเมืองฝ่ายขวาประชานิยมพยายามเคลือบหวานอุดมการณ์ชาตินิยม นโยบายต่อต้านผู้อพยพและลดรอนสิทธิเสรีภาพด้วยการชูธงนโยบายบรรเทาปัญหาปากท้องหรือปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้ออย่างที่มารีน เลอเปน พยายามหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจนได้รับคะแนนมากเป็นอันดับสองและผ่านเข้าไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับแอมานูเอล มาครงอีกครั้ง – แม้ว่ามาครงจะรักษาเก้าอี้ประธานาธิบดีไว้ได้ แต่ผลการเลือกตั้งในรอบ run-off คะแนนเสียงของมาครงกลับทิ้งห่างเลอเปนไปเพียงแค่หลักหน่วยเท่านั้น หรือในอิตาลี การคว้าชัยชนะของจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งในอิตาลีส่วนหนึ่งก็มาจากการสลัดชื่อเสียของพรรคเช่นกัน

ส่วนการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ สภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อกำลังพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ดูเหมือนว่าจะเป็นกระแสถาโถมสาดซัดเดโมแครตและทำให้สถานการณ์เข้าทางรีพับลิกัน จนคาดการณ์กันว่าอาจเกิด ‘คลื่นสีแดง’ ตามคะแนนนิยมของเดโมแครตที่ตกต่ำลง อย่างไรก็ตาม การกลับคำพิพากษา Roe v. Wade ที่รับรองสิทธิการทำแท้งให้เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และปัญหาสุขภาพประชาธิปไตยหลังเหตุการณ์ ‘กบฏ 6 มกรา’ ที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและบุกทำเนียบขาวในวันที่โจ ไบเดน เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ก็ทำให้เดโมแครตรักษาคะแนนเสียงไว้ได้ไม่แย่เลยที่เดียว จนรอดตายไปจากคลื่นสีแดง (แต่ก็ยังคงแดงเป็นหย่อมๆ อยู่) และรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาได้ แม้จะเสียเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไปก็ตาม

เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในละตินอเมริกา ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจกลับกลายเป็นลมใต้ปีกหนุนให้กระแสการเมืองฝ่ายซ้ายหวนกลับคืนมาสู่ละตินอเมริกาอีกครั้ง โดยส่งให้ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา จากพรรคแรงงานเอาชนะฌาอีร์ โบลโซนารู อดีตประธานาธิบดีสองสมัยเจ้าของฉายาทรัมป์แห่งบราซิลไปได้ ท่ามกลางความกังวลว่าโบลโซนารูจะพาบราซิลหันขวาต่อไป อีกทั้งยังพลิกให้โคลอมเบียเอียงซ้ายได้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้พลวัตการเมืองจะถูกกำกับด้วยโจทย์เฉพาะของแต่ละประเทศ อย่างการเมืองอัตลักษณ์ในมาเลเซีย หรือการเมืองกลุ่มตระกูลและการเมืองประชานิยม vs ปฏิรูปนิยมในฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจก็เป็นโจทย์ที่ไม่หนีไปไหนสำหรับรัฐบาลที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งใหม่เช่นกัน

จีนคืออีกแห่งหนึ่งที่ทั่วโลกจับตามองอย่างไม่กระพริบ ไม่ใช่แค่เพราะบทบาทมหาอำนาจโลกของจีนเท่านั้น แต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนัสต์จีนสมัยที่ 20 จะยืนยันว่า ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนผู้ทรงอำนาจจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีก 5 ปีในวาระที่ 3 ถือเป็นการฉีกกฎการเมืองในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา ที่ผู้นำจีนจะดำรงตำแหน่งเพียงสองวาระหรือ 10 ปีเท่านั้น

ไม่ได้เหนือความคาดหมาย สีจิ้นผิงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปในสมัยที่ 3 กระชับอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิงจะราบรื่นเมื่อความชอบธรรมของสีจิ้นผิงที่ผูกอยู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจ แลกกับการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเพื่อความมั่นคงของรัฐ ดังที่วาสนา วงศ์สุรวัฒน์วิเคราะห์ไว้ในรายการ 101 One-on-One Ep.280 ‘อนาคตจีนในสมัยที่ 3 ของ สีจิ้นผิง’ ว่า

[…] ถ้ามองจากมุมคนนอกเข้าไปก็จะเห็นว่าสีจิ้นผิงคุมอำนาจทุกอย่างและน่าจะอยู่ไปอีกนาน แต่อย่าลืมว่าเผด็จการที่จะอยู่ได้ยาวนานอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องมีความชอบธรรมที่โน้มน้าวใจประชาชนหรือต้องมีความชอบธรรมอะไรบางอย่างที่ประชาชนเชื่อเขา ซึ่งที่ผ่านมาความชอบธรรมนั้นคือ เศรษฐกิจที่ดี”

“มาถึงตอนนี้มันเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะกระโดดจากความชอบธรรมอย่างหนึ่งไปสู่ความชอบธรรมอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอีกต่อไป ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ถ้าประชาชนจีนไม่เอา รัฐก็อยู่ลำบาก ดังนั้นสิ่งที่เราเห็น ณ เวลานี้เป็นช่วงที่เปราะบางมากที่สุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในประวัติศาสตร์ 40 ปี ตั้งแต่เปิดประเทศมาในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง”

หากจะคาดการณ์ ความร้อนระอุของการเมืองโลกปี 2022 คงเป็นแค่การโหมโรงไปสู่บทต่อไปเท่านั้น

การเมืองโลกไม่ใช่อะไรที่แน่นอนนักและยากจะคาดเดา แต่เมื่อสงครามยังไม่จบ พญาอินทรีและพญามังกรยังคงขับเคี่ยวกันอย่างไม่ลกราวาศอก อุณหภูมิการเมืองโลกในปี 2023 ก็คงจะไม่มีทางผ่อนคลายลงง่ายๆ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save