fbpx

Train «Kyiv–War» ความหวังสู่ ‘สันติภาพ’ บนเส้นทางสู่ ‘สงคราม’

“…เส้นทางนี้เหมือนเป็นถนนไปสู่อีกโลก ตอนกลางคืนคุณอยู่ในโลกหนึ่ง แต่พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า กลายเป็นว่าคุณอยู่ในอีกโลกใบหนึ่งไปแล้ว”

ณ สถานีรถไฟกลางในกรุงคีฟ ยูเครน ทุกๆ วันรถไฟกลางคืนขบวนหมายเลข 126 ‘คีฟ-คอสเตียนตินิฟกา’ จะพาผู้โดยสารมุ่งหน้าจากใจกลางกรุงคีฟ เคลื่อนผ่านยามวิกาลตรงสู่คอสเตียนตินิฟกา เมืองอุตสาหกรรมเล็กๆ แห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกในภูมิภาคดอนบาสช่วงรุ่งเช้า

รถไฟขบวน ‘คีฟ-คอสเตียนตินิฟกา’ อาจไม่ต่างจากรถไฟธรรมดาขบวนอื่นๆ ที่เชื่อมระหว่างกรุงคีฟไปยังเมืองที่ห่างไกลออกไป จนกระทั่งเมื่อ ‘สงครามดอนบาส’ ปะทุขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 2014 คอสเตียนตินิฟกาได้กลายเป็นปลายทางสุดท้ายก่อนเข้าสู่เขตสงครามในแคว้นโดเนตสก์ นั่นคือจุดที่เปลี่ยนเส้นทางจากคีฟสู่คอสเตียนตินิฟกาให้กลายเป็นเส้นทางจาก ‘ความสงบสุข’ ไปสู่ ‘สงคราม’ จนรถไฟขบวนหมายเลข 126 ได้รับการขนานนามเล่นๆ ว่า ‘คีฟ-สงคราม’ (‘Kyiv-War’)

คอร์นี กริตชุก (Kornii Hrytsiuk) คือหนึ่งในผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟขบวนคีฟ-สงครามมาตลอด เพื่อกลับไปยังดอนบาส – บ้านเกิดอันกลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งแช่แช็งระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตลอดช่วงเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา บนรถไฟอันเป็นจุดเชื่อมรวมผู้คนมากหน้าหลายตาไปสู่ปลายทางเดียวกัน คอร์นีตั้งคำถามต่อความรู้สึกนึกคิดของเหล่าผู้โดยสาร – ทั้งทหาร อาสาสมัคร แพทย์ พลเมืองที่อาศัยอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ที่ต้องเดินทางเคลื่อนผ่านจากความสงบสุขไปสู่สงครามและความขัดแย้ง

Train «Kyiv–War» (2020) คือสารคดีที่บันทึกห้วงความคิดของประชาชนคนธรรมดาต่อความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียในสงครามดอนบาส ในปี 2019 คอร์นี ผู้กำกับสารคดีเดินทางไปบนรถไฟและสัมภาษณ์ผู้โดยสารร่วมขบวนรถไฟสู่ ‘สงคราม’ เรื่องราว บทสนทนา และการโต้เถียงระหว่างผู้โดยสารที่เกิดขึ้นระหว่าง 12 ชั่วโมงครึ่งของการเดินทางเริ่มต้นจากคำถามธรรมดาๆ ที่ว่า “คิดอย่างไรกับสงครามดอนบาส?” “ใครเริ่มสงคราม?” “ดอนบาสเป็นของใคร?” “สงครามจะจบลงได้อย่างไร?”

ด้วยความที่คอร์นีเองเกิดและโตที่ดอนบาส นั่นทำให้เขาคือ ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสงคราม

จุดเด่นของ Train «Kyiv–War» คือสารคดีไม่ได้แค่อธิบายหรือเล่าเรื่องราวของสงครามและการเมืองยูเรเชียผ่านน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นการปะทะกันของความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ -เสมือนว่าจำลองความคิดในสังคมยูเครนแทบทั้งหมดมาไว้ในรถไฟขบวนเดียว- ที่ชวนให้ตั้งคำถามต่อสำนึกความเป็นชาติและอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลไม่มีเส้นขีดแบ่งตายตัว แนวคิดชาตินิยมและความอันตรายของ propaganda การบิดเบือนข้อมูล และการผลิตซ้ำวาทกรรมจนนำความขัดแย้งดิ่งไปสู่จุดที่ยากจะคลายปมเงื่อน

แต่ไม่ต่างไปจากรถไฟที่มุ่งไปยังจุดหมายปลายทางเดียวกันในยามรุ่งอรุณ ทุกคนต่างปรารถนาวาดหวังสันติภาพไว้ที่ปลายทางของสงคราม  

ในห้วงเวลาที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนลุกลามกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อกุมภาพันธ์ 2022 สารคดีเรื่องนี้อาจเป็นคำตอบสำคัญต่อคำถามว่าด้วย ‘สงครามและสันติภาพ’ – ไม่ใช่จากเกมการเมืองระหว่างมหาอำนาจ แต่จากสุ้มเสียงของผู้คนสามัญธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างถึงที่สุด

1

ในปี 2022 คอสเตียนตินิฟกาคือเมืองทางตะวันออกเมืองแรกที่ตกเป็นเป้าการโจมตีของกองกำลังรัสเซียหลังวลาดิเมียร์ ปูตินออกคำสั่งให้มีการบุกโจมตียูเครนจนปะทุกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

แต่สงครามไม่ใช่ความเป็นอื่นสำหรับคอสเตียนตินิฟกาและดอนบาส

ฝันร้ายครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2014 เมื่อการประท้วงยูโรไมดานต่อต้านรัฐบาลวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่มีแนวนโยบายหันเข้าหารัสเซียและการตั้งรัฐบาลใหม่ที่โปรยูเครน-โปรโลกตะวันตกได้สร้างกระแสความไม่พอใจให้แก่ประชาชนทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์ต่อรัสเซีย และประชาชนส่วนใหญ่คือชาวยูเครนที่พูดภาษารัสเซียและคนเชื้อสายรัสเซีย เชื้อไฟในภูมิภาคดอนบาสก็ถูกจุดชนวนขึ้น นำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังต่อต้าน พร้อมลงประชามติ[1]ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากยูเครนในนามสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์

นับแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา สงครามระหว่างรัฐบาลยูเครนและกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่หนุนหลังโดยรัสเซียก็เปลี่ยนดอนบาสไปตลอดกาล

สงครามนั้นโหดร้าย ไร้ความปราณีไม่เลือกหน้า

เมื่อพลเมืองบางส่วนตัดสินใจทยอยอพยพหนีออกมาจากพื้นที่ความขัดแย้งในดอนบาส รถไฟคือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะพาผู้คนไปสู่สถานที่อันปราศจากความหวาดกลัว

“ไม่มีอะไรทำให้ลืมฤดูร้อนปี 2014 ได้” สำหรับพนักงานตรวจตั๋วรถไฟหญิงประจำรถไฟสายคีฟ-คอสเตียนตินิฟกาคนหนึ่ง แน่นอนว่าหน้าที่การงานย่อมทำให้เธอต้องพบพานต่อมวลอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัวและโกรธเคืองต่อสงครามอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เธอเห็นคือภาพผู้คนยืนรอรถไฟอยู่ที่ชานชาลาพร้อมทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ทุกอย่างที่สามารถนำติดตัวมาได้ หรือบางคนก็มีแค่เอกสารติดตัวมาเท่านั้น สิ่งที่เธอได้รับฟังคือเรื่องเล่าจากผู้โดยสารที่ต้องเผชิญหน้าต่อกองกำลังแบ่งแยกดินแดนในช่วงที่คอสเตียนตินิฟกาถูกยึดครอง[2] ความเจ็บปวดรวดร้าวในใจเธอที่ว่าสงครามกำลังกัดกินอนาคตอันสงบสุขของผู้คนและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นคนแปลกหน้า หรือกระทั่งศัตรูในบ้านของตนเองสะท้อนอย่างแจ่มชัดแล้วว่า ‘ต้องมีแต่รัสเซียเท่านั้นในดอนบาส’

2

‘รัสเซียกดขี่ข่มเหง กดทับอัตลักษณ์ ตัวตน อิสรภาพและการดำรงอยู่ของยูเครน’

‘ยูเครนคือส่วนหนึ่งของ ‘โลกรัสเซีย’ และต้องอยู่ข้างรัสเซีย’  

สงครามในดอนบาสได้เปิดรอยแผลความทรงจำทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง – ยูเครนต้องสู้กับอิทธิพลของรัสเซีย และรัสเซียต้องสู้เพื่อแผ่อิทธิพลครอบงำยูเครน

ในการต่อสู้ช่วงชิงชะตากรรมทางการเมืองอาจใช่ แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น หลายครั้งสารดคีฉายภาพให้เห็นรอยร้าวระหว่างประชาชนฝ่ายชาตินิยมยูเครนและฝ่ายที่นิยมชมชอบรัสเซียผ่านบทสนทนา (อย่างไรก็ตาม คอร์นีและเซอร์เก พูดิช (Sergiy Pudich) ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า หากสัมภาษณ์ผู้โดยสารในขบวนรถไฟคีฟ-คอสเตียนตินิฟกาอีกครั้งในปี 2022 แทบทั้งขบวนรถไฟน่าจะออกความเห็นสนับสนุนยูเครนและต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย)

ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยต่อสงครามแบ่งแยกตัวออกไปเป็นอิสระของโดเนตสก์และลูฮานสก์ บางคนมองว่ากระบวนการ Russification กดทับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมยูเครนในภาคตะวันออกมาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตแล้ว บ้างมองว่าสถานการณ์และชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่ลงนับตั้งแต่ดอนบาสกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โลกรัสเซีย’ และอนาคตที่รอยูเครนอยู่คงไม่ต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในจอร์เจีย บ้างมองว่าปูตินและรัฐบาลรัสเซียคือทรราชผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้สันติภาพยังไม่กลับคืนสู่ดอนบาส บ้างมองว่าฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือชาวยูเครนที่ถูกชักจูงให้หลงผิดและสักวันจะกลับมาสู่ยูเครนอีกครั้งเมื่อได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ – สำหรับพวกเขา ดอนบาสคือส่วนหนึ่งของยูเครน

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้โดยสารชาวยูเครนทุกคนจะมองเช่นนั้น บางคนมองว่ารัสเซียไม่ได้ก้าวร้าวอะไร บางคนมองว่าสันติภาพในดอนบาสล้มเหลวเพราะรัฐบาลยูเครนเลี้ยงไฟสงคราม ไม่จริงใจในกระบวนการสันติภาพ หรือมองกระทั่งว่าคงจะดีกว่าหากโดเนตสก์และลูฮานสก์อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องเล่าจากผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งยังเผยให้เห็นว่า มีคนยูเครนที่ตัดสินใจเข้าร่วมรบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

ทว่าขณะที่คนยูเครนสู้เพื่อรัสเซีย คนรัสเซียก็สู้เพื่อยูเครนเช่นกัน

ทหารกองกำลังยูเครนนายหนึ่งบนรถไฟเผยว่าที่จริงแล้วเขาเป็นคนรัสเซียแต่โตที่โดเนตสก์ และเมื่อบ้านเกิดเมืองนอนตกอยู่ภายใต้สงคราม เขาย่อมตัดสินใจสู้เพื่อให้สามารถกลับไปอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ที่โดเนตสก์ได้อีกครั้ง

เส้นพรมแดนจึงไม่ใช่สิ่งกำหนดสำนึกความเป็นชาติและอัตลักษณ์เสมอไป

3

“มัน [ความขัดแย้งในดอนบาส] เป็นสงครามการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย สหรัฐฯ เป็นคนจ่ายเงินหนุนหลัง จ่ายให้คนมายืนประท้วงที่จตุรัสไมดาน”

“เงินทั้งหมดของยูเครนตอนที่ดอนบาสยังเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน 70% น่าจะมาจากดอนบาสด้วยซ้ำ พวกคนยูเครนตะวันตกออกไปหาเงินที่โปแลนด์หรือที่อื่นกันหมด มันก็เหมือนว่าดอนบาสเลี้ยงทั้งยูเครนนั่นแหละ”

สิ่งที่ผู้โดยสารหญิงคนหนึ่งแสดงความเห็นต่อสงครามดอนบาสอาจดูเหมือนเป็นแค่มุมมองธรรมดาทั่วไปที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถคิดและมองได้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นของเธอเป็นเนื้อเดียวกันกับวาทกรรมที่ปรากฏใน propaganda ของรัสเซีย

นับตั้งแต่หลังสงครามในดอนบาสเปิดฉาก โดเนตสก์และลูฮานสก์กลายเป็นเป้าของปฏิบัติการข่าวสารของรัฐบาลรัสเซีย นั่นเป็นไปเพื่อกล่อมคนให้เชื่อและสร้างความชอบธรรมแก่อุดมการณ์สนับสนุนรัสเซีย ในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์ มีเพียงช่องโทรทัศน์และรายการวิทยุรัสเซียเท่านั้นที่ออกอากาศได้

ไม่ใช่ทุกคนเสียทีเดียวที่เชื่ออย่างหมดใจ แต่เมื่อดำกลายเป็นขาว ความลวงกลายเป็นความจริง ผลกระทบทบย่อมไม่จบแค่ความคิดที่เปลี่ยนไป ผู้โดยสารหญิงชาวโดเนตสก์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักข่าวในสำนักข่าวสายโปรยูเครนแห่งหนึ่งในคีฟเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเธอและแฟนเก่าให้คอร์นีฟัง เธอเล่าว่าในระยะแรกที่การประท้วงยูโรไมดานเริ่มขึ้น แฟนของเธอมีแค่ท่าทีไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่คีฟเท่านั้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เขากลับเริ่มมีความคิดโน้มเอียงไปทางรัสเซียมากยิ่งขึ้น จนตัดสินใจเข้าร่วมรบกับฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดนและเสียชีวิตในที่สุดที่สมรภูมิรบในลูฮานสก์ช่วงปีแรกของสงคราม

การบิดเบือนความจริงมีพลังทำให้ความขัดแย้งรุนแรงไปไกลกว่าที่จะจินตนาการถึง

4

“ตอนแรกที่เริ่มเห็นกองกำลังทหารเข้ามา เห็นได้ชัดเลยว่าเป็นกองกำลังพิเศษรัสเซีย ทุกอย่างดูเหมือนจะปกติสุข ทุกคนใช้ชีวิตตามปกติ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นโศกนาฏกรรม”

“ที่ดอนบาสมีแต่เสียงปืนยิงนัดแล้วนัดเล่า ยิง ยิง แล้วก็ยิง เราต้องการสันติภาพเท่านั้น”

“ขอพูดในนามของคนดอนบาส ยูเครนตะวันตก ยูเครนเหนือ ยูเครนกลาง ยูเครนใต้ ไครเมีย เราอยากอยู่อย่างสงบสุข เราทุกคนเหนื่อยหนายและเบื่อหน่ายกับสงครามแล้ว”

“เราต้องการสันติภาพ แต่เราจะได้มันมาอย่างไร?”

บทสนทนาและการโต้เถียงตลอดบนรถไฟสายขบวนคีฟ-คอสเตียนตินิฟกาอาจเผยให้เห็นความคิดความเห็นที่ไม่ลงรอยระหว่างกัน ต่างคนต่าง make sense สงครามดอนบาสด้วยสายตาที่ต่างกันออกไป

“ปฏิบัติการทางการทหารมีแต่จะสร้างความโกรธเท่านั้น ฉันพยายามคุยกับพวกเขา เขาบอกว่าไม่มีทางจะกลับเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนหรอกถ้าไม่เปลี่ยนรัฐบาลและการเมือง ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะจบสงครามอย่างไร อาจจะต้องให้ autonomy ล่ะมั้ง”

“ดอนบาสต้องเป็นพื้นที่เป็นกลาง (neutrality) ตลอดไป เอาปูตินออกไป ปิดทีวีสัก 3-4 เดือน หยุดล้างสมองคน หลังจากนั้นทุกอย่างจะค่อยๆ สงบลงเอง”

ไม่มีทางออกหนึ่งเดียวสำหรับการยุติความขัดแย้ง แต่ทุกเสียงในสารคดีสะท้อนว่าความขัดแย้งไม่มีทางจบได้ด้วยสงครามอย่างแน่นอน ปลายทางเดียวเท่านั้นที่เป็นที่ปรารถนาคือ ‘สันติภาพ’

สันติภาพจะบังเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เริ่มต้นที่การพูดคุยและการทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทุกคนมีร่วมกันหรือต่างกัน – นี่คือสิ่งที่ทุกบทสนทนาและเรื่องเล่าบนรถไฟขบวน ‘คีฟ-สงคราม’ ให้คำตอบกับเรา

และหากคำตอบของสันติภาพอยู่ที่การพูดคุย ไม่มีทางที่สงคราม – ทั้งสงครามในดอนบาสและสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะสิ้นสุดลง หากการเจรจาไม่เกิดขึ้น

เมื่อนั้น จะไม่มีรถไฟขบวนไหนต้องมุ่งหน้าสู่สงครามอีกต่อไป

เชิงอรรถ


[1] อย่างไรก็ตาม การทำประชามติประกาศแยกตัวออกจากยูเครนของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสก์ไม่ได้รับการรับรองจากประชาคมโลกและมีการตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการลงประชามติดำเนินไปอย่างไม่เสรีภายใต้การแทรกแซงจากรัสเซีย

[2] หลังสงครามดอนบาสเริ่มขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม 2014 คอสเตียนตินิฟกาตกอยู่ในการยึดครองของของกองกำลังฝ่ายแบ่งแยกดินแดนเป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2014 จนกระทั่งทางการยูเครนเข้าควบคุมพื้นที่กลับคืนมาได้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2014

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save