fbpx

ยุทธศาสตร์ไทยในกระดานหมากล้อมมหาอำนาจ – อาร์ม ตั้งนิรันดร

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” นี่คือ ‘กลยุทธ์’ พิชัยสงครามอันโด่งดังคุ้นหูมากที่สุด และแม้นไม่ได้รบเอง หากแต่ต้องอยู่ตรงกลางเพื่อรักษาสมดุลระหว่างคู่ขัดแย้ง คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กลยุทธ์ของ ‘ซุนวู’ ปราชญ์ชาวจีนข้อนี้ยังคงใช้ได้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุดคนหนึ่งเมื่อต้องวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน

แม้อาร์มจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านจีน แต่เขาทำความเข้าใจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจหลักบนเวทีการเมืองโลก อย่างลึกซึ้งและเสมอกัน และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ความเห็นและบทวิเคราะห์ของเขาสดใหม่และแตกต่าง

ในวันที่ระเบียบโลกถูกขับเคลื่อนไปด้วยการแข่งขันระหว่างสองยักษ์มหาอำนาจ คมความคิดของอาร์มย่อมมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยตั้งหลักบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง


เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องระเบียบโลกใหม่ บางคนคาดการณ์ว่าระเบียบโลกจะเป็นแบบสองขั้วอำนาจมากขึ้น คือมีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเดิม และมีจีนที่กำลังทะยานไล่ตามมาติดๆ ในฐานะของคนที่ศึกษาทั้งสหรัฐฯ และจีน คุณคิดว่ามหาอำนาจทั้งสองประเทศนี้มองตนเองในระเบียบโลกใหม่อย่างไร

ผมคิดว่ามีชุดความคิดอยู่ 3 แบบ ซึ่งสะท้อนภาพที่สหรัฐฯ และจีนใช้มองตัวเองได้เป็นอย่างดี และเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นการดีเบตใหญ่ในประเด็นเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองโลกด้วย

ชุดความคิดแรกคือเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จีนเชื่อว่าเมื่อมองจากลักษณะของประวัติศาสตร์ มหาอำนาจโลกเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ดังที่จีนเคยเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน จนกระทั่งความพ่ายแพ้ในช่วงสงครามฝิ่นซึ่งนำจีนไปสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู’ (Century of Humiliation) ของตนเอง ทำให้อำนาจของจีนเริ่มลดลง และกลายมาเป็นยุคของสหรัฐฯ อย่างที่เราเห็นกัน

จนกระทั่งยุคหลังนี้ เราเห็นฝั่งจีน หรืออย่างน้อยคือฝั่งชาตินิยมในจีน เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ ไม่เข้าใจว่าประวัติศาสตร์กำลังเปลี่ยนและจีนกำลังจะกลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้ง

แต่ถ้าเป็นฝั่งสหรัฐฯ เขาจะบอกว่า ถ้าดูประวัติศาสตร์แค่ 100 ปีที่ผ่านมา มีคู่แข่งอย่างน้อย 3 รายขึ้นมาท้าชิงความเป็นมหาอำนาจกับสหรัฐฯ รายแรกคือนาซีเยอรมนีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 รายที่สองคือโซเวียตในยุคสงครามเย็น และรายสุดท้ายคือญี่ปุ่นที่แข่งกันในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 3 รายล้วนแพ้สหรัฐฯ ในท้ายที่สุด ขณะที่คิชอร์ มาห์บูบานี (Kishore Mahbubani) นักภูมิรัฐศาสตร์ชื่อดังของสิงคโปร์ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นนำอเมริกันไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองมีโอกาสจะแพ้ คิดว่าสุดท้ายจีนก็จะไม่ต่างอะไรกับคู่แข่งที่ผ่านมา คือโดนสหรัฐฯ ทุบกลับไป

ชุดความคิดที่สอง จีนเชื่อว่าตอนนี้สหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดจีนได้แล้ว เพราะสหรัฐฯ รู้ตัวช้าไปหลายสิบปี ดังนั้นสหรัฐฯ ต้องยอมรับความจริงว่าตนเองจะต้องอยู่ร่วมกับจีน แต่ฝั่งชนชั้นนำอเมริกัน อย่างน้อยในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าถ้าวันนี้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะหยุดจีนได้เหมือนกับที่เคยหยุดยั้งนาซี โซเวียต และญี่ปุ่นมาแล้ว ซึ่งผมใช้คำว่า ‘ยุคทรัมป์’ เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือสมัยบารัก โอบามา หรือแม้กระทั่งจอร์จ บุช ก็ไม่ได้เชื่อแบบนี้ แต่เชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องอยู่กับจีนให้ได้ เพราะไม่รู้จะหยุดยั้งจีนยังไง เนื่องจากจีนมีลักษณะหลายอย่างแตกต่างจากประเทศที่ผ่านๆ มา

และชุดความคิดสุดท้าย สหรัฐฯ เชื่อว่ามีคุณค่าสากลอยู่ มีระบบที่เป็นโลกสมัยใหม่ คือความเชื่อที่เป็นแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างที่ฟรานซิส ฟุกุยามะ เคยพูดถึงเรื่องจุดจบของประวัติศาสตร์ (the end of history) ซึ่งแม้ในสภาพความเป็นจริง สังคมอเมริกันจะยังเจอความท้าทายอยู่บ้าง แต่ในทางความเชื่อ เขาเชื่อจริงๆ ว่าโลกมีคุณค่าร่วมกันอยู่ และเป็นบทสรุปที่สุดท้ายทั้งโลกต้องไปในทิศทางนั้น

ขณะที่ฝั่งจีนมองแย้งความคิดดังกล่าวและเชื่อในเรื่องโลกพหุนิยม คือโลกน่าจะมีระบบการเมืองการปกครอง วิธีการบริหารจัดการ และเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าหรือระบบการเมืองเดียว ซึ่งจีนก็ออกมาบอกว่า ระบบการเมืองของจีนชอบธรรมไม่แพ้ระบบการเมืองสหรัฐฯ ฝั่งนักวิชาการจีนก็มองว่านี่เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม คือเป็นเรื่องอารยธรรมตะวันออกกับตะวันตก

แล้วคุณตีความชุดความคิดทั้ง 3 แบบอย่างไร หรือเชื่อแบบไหนเป็นพิเศษไหม

ผมอยากเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่ต้องเลือกระหว่างความเชื่อใดๆ เพราะโลกตอนนี้มีความซับซ้อนสูง ประวัติศาสตร์ที่อาจจะเป็นทิศทางของโลกจริงๆ คือเป็นโลกาภิวัตน์ที่ไม่มีมหาอำนาจโลก เป็นโลกที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน สหรัฐฯ ก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับจีนให้ได้ และต่างคนอาจจะยิ่งใกล้กันด้วยในอนาคต ผมมักจะบอกเสมอว่า อย่าเพิ่งคิดว่าการเมืองจีนจะเป็นอำนาจนิยมต่อไป เพราะในจีนเองก็มีกลุ่มหัวก้าวหน้าเช่นกัน อนาคตจีนอาจจะมีระบบที่เป็นเสรีมากขึ้น เปิดรับคุณค่าที่ต่างชาติเห็นว่าเป็นสากลมากขึ้น และตะวันตกก็อาจจะหันมายอมรับคุณค่าและระบบการเมืองที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน

ในฐานะนักวิชาการ ผมมองว่าโลกจะสนุกมากขึ้นถ้าเรามีทางเลือก ในทางเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่าต้องมีการแข่งขันถึงจะดี ถ้าเรามีระบบการเมืองสองระบบที่แข่งขันกัน เราจะเห็นทางเลือกและการปรับตัวมากขึ้น ซึ่งโลกก็อาจจะมีสีสันและสนุกมากขึ้น แข่งขันกันไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น และในทางทฤษฎีการเมืองก็อาจจะมีอะไรให้เราขบคิดมากขึ้นด้วย ดังนั้น เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นโลกพหุนิยมในอนาคต พหุนิยมนี่ไม่ใช่เผด็จการกับประชาธิปไตยนะครับ แต่เป็นสองระบบที่ชอบธรรมทั้งคู่

ช่วยขยายความได้ไหมว่า โลกพหุนิยมซึ่งมีสองระบบที่ชอบธรรมทั้งคู่จะเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน

สมมติวันนี้เราบอกว่าจีนเป็นเผด็จการ แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงเผด็จการก็ไม่ชอบธรรมแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าจีนสามารถปรับระบบของเขา ถึงจะยังเป็นพรรคเดียวปกครอง แต่อาจจะเป็นระบบที่เสรีและเปิดกว้างมากขึ้นก็ได้ มีนักวิชาการที่เป็นนักทฤษฎีการเมืองเคยวาดภาพระบบนั้นไว้เหมือนกัน คือไม่ใช่ประชาธิปไตยเพราะไม่มีการเลือกตั้ง แต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เรายอมรับได้ว่าชอบธรรม

ขณะเดียวกัน เราเห็นว่าระบบของโลกตะวันตกเจอความท้าทายมหาศาลมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ ก็มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทำให้ตะวันตกต้องหาทางตอบโจทย์ความท้าทายของประชาธิปไตยที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลเช่นกัน

พูดง่ายๆ ผมกำลังจะสื่อว่า ทิศทางในอนาคตอาจจะไม่ใช่การเลือกระหว่างสองขั้วความคิด แต่อาจจะเป็นทิศทางอีกแบบหนึ่ง

หากคาดการณ์ว่า จีนอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นเสรีมากขึ้น แล้วในจีนคุยเรื่องพวกนี้กันอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชน

ผมคิดว่านักวิชาการจีนมีความคิดที่หลากหลายครับ คือต้องบอกก่อนว่า ยุคสี จิ้นผิง เป็นยุคที่รัฐบาลรวบอำนาจมากขึ้นและค่อนข้างปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ จึงเป็นไปได้ที่เราจะเห็นนักวิชาการจีนแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่ได้ตรงกันข้ามกับสี จิ้นผิง เท่าไหร่นัก ส่วนคนที่เห็นต่างก็อาจจะเซนเซอร์ตัวเอง ไม่กล้าออกมา หรือไม่มีช่องทางจะพูดอะไรมาก หรือจะพูดอะไรในเวทีสัมมนาระหว่างประเทศก็ต้องระมัดระวัง

แต่ถ้าเราไม่ได้มองแค่ในยุคสี จิ้นผิง จากประสบการณ์ที่ผมเรียนอยู่ที่จีนในยุคผู้นำรุ่นที่แล้ว (หู จิ่นเทา) ผมสัมผัสได้ชัดเจนว่าในกลุ่มชนชั้นนำหรือปัญญาชนจีนมีสองขั้วความคิดที่แตกต่างกัน ขั้วหนึ่งคืออนุรักษนิยม เขาจะเชื่อในผู้นำที่เข้มแข็ง รัฐรวมศูนย์อำนาจ เชื่อในการปกครองพรรคเดียว และยังเชื่อในการแทรกแซงหรือการนำของรัฐด้วย ซึ่งความคิดแบบนี้ก็คือทิศทางของจีนแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ตะวันตกก็มองว่าจีนเป็นแบบนี้

ทว่าในหมู่ปัญญาชนจีนก็มีกลุ่มหัวก้าวหน้าอยู่เช่นกัน เป็นกลุ่มที่เชื่อลักษณะแบบตะวันตกมากขึ้น คือเชื่อเรื่องการเปิดกว้างมากขึ้น การกระจายอำนาจ การบริหารเป็นทีม กลไกตลาด และยังเชื่อในการส่งเสริมภาคเอกชนและการลดนโยบายแทรกแซงของรัฐ

จะเห็นว่ากลุ่มการเมืองในจีนมีทั้ง 2 แบบ และถ้าเราสังเกตประวัติศาสตร์การเมืองจีนจะพบว่าน่าสนใจมาก เพราะมันเป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจเสมอ อย่างในยุคประธานเหมา เจ๋อตง ที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญแทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จีนจะมุ่งไปในทิศทางจีนแดงสุดขั้วแบบลัทธิเหมา (Maoism) แต่จีนก็เปลี่ยนชนิด 360 องศาในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าจีนจะกลายเป็นประชาธิปไตยเหมือนโซเวียตที่ล่มสลาย และแม้เหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินจะทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่จีนกลับทำให้โลกประหลาดใจด้วยการเดินหน้าปฏิรูปเปิดประเทศ

เมื่อมาถึงตอนปลายของยุคหู จิ่นเทา ซึ่งก็ไม่นานมานี้ ตอนนั้นผู้เชี่ยวชาญทุกคนทำนายว่าสี จิ้นผิงจะเปิดกว้างและปฏิรูปมากขึ้น มีความเป็นเสรีนิยม หลายคนอ้างไปถึงพ่อของประธานสีที่เป็นคนแรกซึ่งเปิดเมืองเสิ่นเจิ้น ปฏิรูปกวางเจา ไม่มีใครคิดเลยว่าการที่สี จิ้นผิงขึ้นมาจะเปลี่ยนการเมืองจีนไปในลักษณะนี้


ในยุคที่หลายคนบอกว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาขับเคลื่อนโลก อาจารย์มองว่าคนรุ่นใหม่ในจีนเป็นอย่างไร พวกเขามองระบบการเมืองจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไร

มีงานวิชาการศึกษาว่า คนรุ่นใหม่ของจีนเริ่มมีทิศทางแบบหัวก้าวหน้ามากกว่าจะเป็นแบบอนุรักษนิยม แต่ต้องบอกไว้ว่า เวลาเราพูดว่าหัวก้าวหน้า ส่วนใหญ่เขาไม่ได้เชื่อว่าต้องเป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง หรือพรรคคอมมิวนิสต์ต้องออกไปนะครับ พวกเขายังเชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์และระบบการปกครองแบบพรรคเดียวจะยังอยู่ แต่เป็นระบบพรรคเดียวที่เสรีและเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับการบริหารเป็นทีม การกระจายอำนาจ และการส่งเสริมภาคเอกชนมากขึ้น


ถ้าโลกในอนาคตกำลังมุ่งไปสู่แนวโน้มที่จะมี ‘ทางเลือกที่สาม’ ซึ่งไม่ใช่การเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเกิดขึ้น อะไรเป็นปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ทางเลือกที่สามเกิดขึ้นจริง

ผมอยากลองชวนคิดแบบนี้ว่า สหรัฐฯ และจีนอาจจะหันกลับมาทบทวนนโยบายของตนเอง ซึ่งประเทศระดับกลางหลายประเทศมักจะทำให้มหาอำนาจได้หันกลับมาทบทวนเรื่องนี้ว่า นโยบายของพวกเขาเป็นประโยชน์กับประเทศจริงๆ หรือเปล่า ตอนนี้เราจะเห็นทั้งสหรัฐฯ และจีนสาดกระแสใส่กัน ฝั่งสหรัฐฯ จะพูดเรื่องคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และใช้คำเรียกจีนว่าเป็นอัตตาธิปไตย (autocracy) หรือเป็นอำนาจนิยม (authoritarianism) ส่วนความคิดที่กำลังแพร่หลายในฝั่งจีนคือ มองว่าตะวันตกเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล (hypocrite) คือพูดเอง แต่ตัวเองก็ทำไม่ได้ และจีนก็พยายามชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ก็มีปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาการเหยียดคนเอเชีย หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนอย่างรุนแรงเกิดขึ้น

ตรรกะของผมคือ เป็นไปได้ไหมที่ทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนถูก ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็มีปัญหาตามที่ถูกวิจารณ์ ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะยืนหยัดในคุณค่าทางการเมือง โดยไม่จำเป็นว่าคุณค่าทางการเมืองนั้นต้องผูกโยงกับการเลือกข้าง แต่ยืนหยัดในกฎหมายระหว่างประเทศและกฎเกณฑ์สากล ซึ่งจริงๆ ถ้าไปดูทั้งสหรัฐฯ และจีนก็พูดเรื่องการอิงกับกฎเกณฑ์ (rule-based) เหมือนกัน แต่มองกันคนละเรื่อง เพราะโจ ไบเดนยืนยันว่าสหรัฐฯ ต้องการกฎเกณฑ์ที่อิงกับระเบียบระหว่างประเทศ (international order) ขณะที่โฆษกจีนมักจะออกมาบอกว่า จีนยึดมั่นในระเบียบระหว่างประเทศนั่นแหละ แต่ระเบียบระหว่างประเทศของเขาคือสหประชาชาติ (UN) หรือองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ใช่กลุ่ม G7 หรือสิ่งที่สหรัฐฯ พูดออกมา เพราะสหรัฐฯ ก็ละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนสงครามอิรักหรือสงครามการค้า

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นจุดยืนชัดเจนในเรื่องคุณค่าคือการยึดมั่นในคุณค่าสากล และกฎเกณฑ์รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ การที่ประเทศใดมีหลักการในลักษณะนี้ก็อาจจะช่วยให้ยืนหยัดในนโยบายต่างประเทศของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง และสามารถรักษาสมดุลได้เช่นเดียวกัน

ฟังดูแล้วทั้งสองฝ่ายอาจมีจุดที่คล้ายกันมากกว่าที่หลายคนคิด

จริงๆ นี่เป็นยุคที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง มีคนบอกว่าตอนนี้จีนกำลังเล่นหมากล้อมอยู่ สหรัฐฯ ก็เล่นหมากล้อมเช่นกันครับ เพราะตอนนี้สหรัฐฯ กำลังจะมียุทธศาสตร์ 3BW ที่จะเอามาแข่งกับ Belt and Road ซึ่งก็น่าจะเป็นโจทย์ที่สนุกพอดู เพราะมีทั้งสองค่ายลงมาแข่งกัน

เรื่องกลุ่มทุนก็น่าสนใจ เพราะหลายคนมองว่าโลกกำลังเจอกับการแข่งขันระหว่างทุนเอกชนในระบบตะวันตก และทุนที่นำโดยรัฐ แต่ที่น่าสนใจคือ กฎหมายล่าสุดที่เพิ่งผ่านวุฒิสภาและกำลังถูกพิจารณาอยู่ในสภาล่างของสหรัฐฯ ทำให้เราเห็นแนวโน้มว่า ต่อไปรัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะสนับสนุนกลุ่มทุนเช่นกัน เพราะเขาเตรียมให้เงินอุดหนุน (subsidy) มหาศาลกับกลุ่มเทคโนโลยีในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการทำวิจัยและพัฒนา (R&D)

ตรงนี้ผมเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์กระจกสะท้อน และแม้เราจะไม่รู้ว่าจีนกับสหรัฐฯ ใครเลียนแบบใครกันแน่ แต่สิ่งที่แน่ชัดคือทั้งคู่ทำอะไรเหมือนๆ กัน และเมื่อยักษ์ใหญ่สองตัวตีกัน เราจะเห็นว่าภูมิภาคที่เขาอยากหาเป็นพวกก็คือภูมิภาคเอเชียนี่แหละ อย่างสหรัฐฯ ก็พยายามจะนำฐานการผลิตหรือโรงงานของตัวเองออกจากจีนมาตั้งที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ส่วนจีนก็ย้ายมาแถบนี้เช่นกัน เพราะโรงงานของเขาที่ส่งไปสหรัฐฯ ทั้งโดนเก็บภาษีนำเข้าและถูกหาว่าจะไปแอบดักฟังอะไรเขาอีก ตรงนี้ก็กลายเป็นโอกาสมหาศาลของเราเช่นกัน

การทูตยุคใหม่เป็นการทูตที่ซับซ้อนและกว้างไปกว่ารัฐ-รัฐ แต่มีเรื่องของรัฐ-ธุรกิจ หรือรัฐ-ภาคประชาชนด้วย

เมื่อพูดถึงโจทย์การต่างประเทศของไทย นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยดูจะโน้มเอียงเข้าหาจีนเป็นพิเศษ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะโดยสถานะบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศเราเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ชัดเจน มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สงครามเย็น แต่ด้วยการรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้ฝั่งตะวันตก ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ลดระดับความสัมพันธ์กับเรา ตรงนี้ก็ไม่ใช่เพราะไทยเป็นตัวตั้งเสียทีเดียว แต่เป็นไปโดยธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นและมุมมองของตะวันตกด้วย

ตรงนี้จึงเกิดเป็นคำถามว่า เราไม่มีทางเลือกหรือเปล่าจึงต้องไปสนิทกับจีนมากขึ้น หรือหลายคนก็มักจะบอกว่า กัมพูชากับลาวเหมือนเลือกข้างจีนแล้ว แต่สองประเทศนี้ก็มักจะบอกเสมอว่า เขาไม่มีทางเลือก เพราะตะวันตกไม่เลือกเขา ดังนั้นสิ่งที่ไบเดนพยายามบอกคือ สหรัฐฯ ต้องให้ทางเลือกกับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับจีนด้วย

อีกคำถามสำคัญคือ เราจะทำยังไงจึงจะแยกนโยบายต่างประเทศออกจากการเมืองภายในได้ เพราะตอนนี้การต่อสู้ระหว่างประเทศมีทั้งเรื่องอุดมการณ์และคุณค่าทางการเมือง ซึ่งไบเดนย้ำเรื่องนี้มากๆ เพราะมันเป็นประโยชน์กับทั้งการเมืองภายในสหรัฐฯ และการกดดันพันธมิตรทั้งหลาย อย่างสหภาพยุโรปก็ออกมาบอกชัดว่า จะต้องยืนหยัดในเรื่องสิทธิมนุษยชนและการกดดันจีน เพื่อตอบรับเสียงประชาชนของเขา ส่วนในออสเตรเลียกับไต้หวัน ก็เห็นชัดเจนว่าการเมืองภายในมีผลกับการเลือกข้าง ผมไม่อยากให้ไทยเป็นแบบนั้น คือไม่ใช่ว่าพอขั้วการเมืองหนึ่งขึ้นมาจะเลือกจีน ถ้าเป็นอีกขั้วจะเลือกสหรัฐฯ แต่เราควรดูเป็นประเด็นมากกว่า รวมถึงเข้าใจจุดยืนและผลประโยชน์ของประเทศด้วย เพราะในความเป็นจริงของโลก ไทยเลือกข้างไม่ได้ เนื่องจากผลประโยชน์ของเราผูกพันมหาศาลกับมหาอำนาจทั้งสองฝั่ง

เราพอเห็นอยู่ว่า มหาอำนาจทั้งสองฝั่งหันมาแข่งขันกันในเอเชียมากขึ้น ไทยควรวางตัวอย่างไร และจะสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหม่คงไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างรัฐ แต่เป็นเรื่องกลุ่มทุน รถไฟ ทำให้ไทยต้องเจรจากับรัฐวิสาหกิจจีน หรือบริษัทเทคโนโลยีของทั้งจีนและสหรัฐฯ ดังนั้น การทูตยุคใหม่เป็นการทูตที่ซับซ้อนและกว้างไปกว่ารัฐ-รัฐ แต่มีเรื่องของรัฐ-ธุรกิจ หรือรัฐ-ภาคประชาชนด้วย คือมีหลายมิติมาก

ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับบริษัทจีนรายใหญ่รายหนึ่งที่มาเจรจากับรัฐบาลไทย เขาบอกว่าการเจรจากับไทยยากมาก ลองนึกภาพว่าฝั่งจีนมีตัวแทนมาคนหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนพูดจุดยืนของบริษัทได้ว่าต้องการอะไร จะประนีประนอมในเรื่องอะไร แต่ฝั่งไทยมีตัวแทนเป็นสิบคน และทั้งหมดมาจากคนละหน่วยงาน พอพูดประเด็นหนึ่งขึ้นมา ตัวแทนคนหนึ่งก็อาจจะบอกว่า ต้องกลับไปถามหน่วยงานตัวเองก่อน และหน่วยงานทั้งหมดที่มาก็ไม่ได้มีความร่วมมือหรือมานั่งรวมกลุ่มประชุมกัน เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีจุดยืนและลักษณะความคิดที่แตกต่างกันไป มองแบบเป็นไซโล ไม่ได้เป็นภาพใหญ่ ทำให้ฝั่งจีนบอกว่า ไทยไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่รู้จุดยืนของตัวเอง ทำให้เกมการทูตหรือการเจรจาเชิงรุกขับเคลื่อนได้ยากมาก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อน 3 มิติที่ผมอยากจะเน้นย้ำไว้ตรงนี้

มิติแรกคือเรื่อง mindset ผมสังเกตว่าการถกเถียงหลายอย่างในสังคมมักจะเป็นลักษณะว่าจะเอาหรือไม่เอา เช่น จะเอารถไฟจีนหรือไม่เอารถไฟจีน มากกว่าจะเป็นคำถามในเชิงว่า ถ้าคุณจะเอารถไฟจีนแล้วจะทำอย่างไรหรือทำด้วยเงื่อนไขใด ใช้เกณฑ์อะไร หรืออย่างคำถามเกี่ยวกับการเลือกข้าง เรามักจะบอกว่าต้องเลือกจีนหรือสหรัฐฯ แต่เป็นไปได้ไหมที่จะมีเกณฑ์ว่าเราต้องการอะไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะยอมรับว่ามีทั้งโครงการจีนที่ดี สอดคล้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่วนโครงการสหรัฐฯ ก็อาจจะเจอกับปัญหาความท้าทายเช่นกัน มันไม่ควรเป็นคำถามง่ายๆ แค่ว่า จะเลือกจีนหรือสหรัฐฯ

มิติที่สองคือเรื่องจุดยืน ถ้าเราฟังนักวิชาการด้านการต่างประเทศหรือชนชั้นนำด้านการทูต ผมเข้าใจว่าทุกคนจะพูดประสานเสียงกันว่า เราต้องรักษาสมดุล แทบไม่มีใครฟันธงเลยว่าเราต้องเลือกข้าง แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การรักษาสมดุลมีได้สองแบบ แบบแรกคือการรักษาสมดุลเชิงรับ (reactive balancing) คืออยู่เงียบๆ ไม่ทำอะไร คอยแต่ตั้งรับ แต่สิ่งที่เราควรมองคือ ทำยังไงเราถึงจะรักษาสมดุลเชิงรุก (proactive balancing) ได้ แต่นี่ก็ต้องมาพร้อมกับการที่ไทยรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไรและจะตั้งเงื่อนไขยังไงเพื่อให้สามารถต่อรองให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่มันต้องตั้งต้นจากการที่เราเข้าใจจริงๆ ก่อนว่าผลประโยชน์ของประเทศหรือจุดยืนในการเจรจาเรื่องต่างๆ ของเราเป็นยังไง

ตรงนี้จึงกลับมาสู่ มิติที่สาม คือเรื่องกลไก ผมคิดว่าปัจจุบันการทูตควรจะเป็นแบบอิงกับประเด็น (issue-based) ไม่ว่าเรื่องอะไร ไทยต้องมีจุดยืน และอย่าลืมว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ทับซ้อนกับภารกิจของหลายหน่วยงาน แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ไทยมักจะแก้กฎหมาย ปรับกฎระเบียบ หรือที่ชอบมากคือแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอาจจะมีปัญหาทั้งด้านการตัดสินใจและเชิงระบบบริหารที่ต้องมีพิธีรีตอง (bureaucracy) ด้วย ทำให้ทุกอย่างต้องรอคณะกรรมการตัดสิน ต้องรอการประชุม นี่ก็อาจมองได้ว่าเป็นปัญหาเช่นกัน แต่ถ้ามองในต่างประเทศ เช่นสหรัฐฯ ตอนนี้ ไบเดนแต่งตั้งทูตที่จัดการกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยเฉพาะ คือ จอห์น เคอร์รี (John Kerry) หรืออย่างจีนก็มีการแต่งตั้งหลิว เฮ่อ (Liu He) เป็น semiconductor czar ที่มีหน้าที่ประสานงานกับทุกกระทรวง และดูแลเรื่องสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ทั้งในและนอกประเทศ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องภายในประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับการเจรจานโยบายต่างประเทศด้วย นี่ก็เป็นตัวแบบที่น่าสนใจของต่างประเทศ ซึ่งไทยอาจจะนำแนวคิดบางอย่างมาปรับใช้ได้

ผมอยากทิ้งท้ายไว้ว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือจะทำอย่างไรให้มีกลไกประสานงานที่ดีขึ้น มีจุดยืนที่จะประสานแต่ละหน่วยงานเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นจุดยืนของประเทศสำหรับการเจรจาในที่สุด

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save