เมื่อชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองญี่ปุ่นเสียชีวิตลงหลังถูกลอบสังหารด้วยปืนประดิษฐ์ขณะปราศรัยหาเสียงให้พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ก่อนการเลือกตั้งวุฒิสภาในเช้าวันที่ศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2022 ที่จังหวัดนาระ ญี่ปุ่นและโลกก็ได้สูญเสียผู้นำคนสำคัญไปอีกหนึ่งคน
ตลอด 2 ปี หลังตัดสินใจวางมือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2020 อิทธิพลทางการเมืองของอาเบะไม่ได้จางหายไปจากฉากการเมืองญี่ปุ่น จึงน่าจับตามองว่า การสูญเสียอาเบะจะก่อให้เกิดคลื่นสะเทือนญี่ปุ่นหรือไม่
การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองมีเหตุจากอะไร? เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือความไม่พอใจส่วนตัว? การเมืองญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลคิชิดะจะเปลี่ยนไปอย่างไร? อะไรคือความท้าทายที่รัฐบาลพรรค LDP ภายใต้การนำของคิชิดะต้องเผชิญเมื่อปราศจากอิทธิพลอาเบะ? แนวทางการต่างประเทศสายแข็งแบบอาเบะจะเปลี่ยนไปหรือไม่? 101 ชวนมอง ‘ญี่ปุ่นหลังการลอบสังหารอาเบะ’ ผ่านการวิเคราะห์ของ นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา
ลอบสังหารอาเบะ: การกลับมาของการเมืองแห่งการลอบสังหารหรือความไม่พอใจส่วนตัว?
เหตุการณ์ลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้นำมาสู่การคาดการณ์จากหลากหลายฝ่ายว่าแรงจูงใจในการก่อเหตุคืออะไรกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวนโยบายความมั่นคงสายเหยี่ยวของอาเบะเป็นที่ถกเถียงในญี่ปุ่น และการลอบสังหารทางการเมืองเคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาแล้วในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงหลังสงครามในทศวรรษที่ 1960
ตามข่าวในที่ปรากฏหน้าสื่อ เท็ตสึยะ ยามากามิ ผู้ก่อเหตุให้การต่อตำรวจว่า เหตุมาจากความไม่พอใจที่อาเบะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘โทอิตสึเคียวไค’ หรือ Unification Church องค์กรทางศาสนาที่มารดาของตนศรัทธาและทุ่มเงินบริจาคจนครอบครัวมีปัญหา อย่างไรก็ตาม นภดล ชาติประเสริฐ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าคำให้การเบื้องต้นคือข้อเท็จจริงหรือไม่ และความเชื่อมโยงระหว่างอาเบะและองค์กรทางศาสนายังค่อนข้างไม่ชัดเจนหรือเป็นเหตุเป็นผลนัก จึงได้ให้ภาพกว้างเกี่ยวกับกลุ่มในสังคมญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงก่อเหตุลอบสังหารนักการเมือง โดยแต่ละกลุ่มมีความเป็นไปได้มากน้อยต่างกัน
กลุ่มแรก กลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายที่อาจไม่พอใจต่อแนวนโยบายความมั่นคงของอาเบะที่ส่งเสริมให้ญี่ปุ่นมีกองทัพที่เข้มแข็ง เกรียงไกร รวมถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 9 เพื่อแก้ไขข้อจำกัดทางการทหารของญี่ปุ่น แต่นภดลให้ความเห็นว่า “มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก” เนื่องจากขบวนการฝ่ายซ้ายสุดโต่งถูกปราบปรามจับกุมไปแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 และไม่ได้มีการเคลื่อนไหวสำคัญมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น อีกทั้งแนวทางการเคลื่อนไหวยังเน้นเคลื่อนไหวนอกประเทศเพื่อการปฏิวัติระดับโลก ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่น โดยมักใช้การวางระเบิด จี้เครื่องบิน จับตัวประกัน ใช้อาวุธอานุภาพสูง และเคลื่อนไหวเป็นขบวนการ
กลุ่มที่สอง กลุ่มใฝ่สันติ ต่อต้านสงคราม ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายความมั่นคงแบบแข็งกร้าว มีกระแสตลอดเวลา ได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง รัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีเคลื่อนไหวโดยสันติ
“การใช้ความรุนแรงไม่น่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มใฝ่สันติ มีโอกาสน้อยมาก และถ้ากลุ่มนี้กระทำการดังกล่าวก็ไม่น่าจะส่งผลอะไร เพราะนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงเอียงขวาก็ยังคงอยู่ในวาระของรัฐบาลคิชิดะ” นภดลกล่าว
กลุ่มที่สาม กลุ่มหัวรุนแรงขวาสุดโต่ง ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวคิดเช่นเดียวกันกับอาเบะและคิชิดะ แต่ก็มีอุดมการณ์เอียงขวามากกว่า กล่าวคือ ต้องการให้ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่เกรียงไกรทางทหาร และมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามทำให้ญี่ปุ่นอับอาย เพราะมาตราที่ 9 ระบุไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ และไม่มีสิทธิใช้กำลังทางการทหาร เพราะฉะนั้น กลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งจึงต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ 9 ซึ่งอาเบะก็เคลื่อนไหวมาตลอด แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“กลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวาในญี่ปุ่นเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มีหลากหลายกลุ่ม มีความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวหลายระดับ และไม่ได้ถูกปราบปรามควบคุม กลุ่มนี้อาจไม่พอใจที่อาเบะให้คำมั่นสัญญาไว้แล้วทำไม่ได้หรือทำได้ไม่มากพอ เพราะในช่วงรัฐบาลอาเบะ อาเบะถือว่ามีอำนาจค่อนข้างมากทั้งในพรรคและในรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายค้านอ่อนแอมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ แต่ก็ไม่สำเร็จ มีความเป็นไปได้ว่าฝ่ายขวาสุดโต่งหัวรุนแรงจะกระทำการมากกว่าสองกลุ่มแรก”
“กลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงไม่พอใจอาเบะก็จริง แต่ก็ไม่น่ารุนแรงระดับลอบสังหาร ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็เพราะมีคะแนนเสียงในรัฐสภาไม่พอ หลังอาเบะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังเคลื่อนไหวผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการหาเสียงวุฒิสภาที่จังหวัดจิบะช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาเบะก็ยังกล่าวถึงการแก้ไขมาตราที่ 9 เพราะต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภาด้วย เพราะฉะนั้น น้ำหนักที่ฝ่ายขวาสุดโต่งหัวรุนแรงจะก่อเหตุอาจจะมี แต่ก็ไม่ได้มากนัก” นภดลอธิบาย
กลุ่มที่สี่ กลุ่มคลั่งลัทธิ ซึ่งมีหลายลัทธิในญี่ปุ่น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามวางรากฐานให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐ secular แยกศาสนาออกจากการเมือง และเปิดพื้นที่ให้มีการเผยแพร่แนวคิดความเชื่อต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดทางการเมืองหรือศาสนาก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1960 จึงมี ‘ศาสนาใหม่’ ที่เกิดจากการแตกนิกายหรือผสมผสานแนวคิดหลากหลายนิกายเข้ากับแนวคิดใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก นภดลอธิบายว่า กลุ่มลัทธิต่างๆ บางครั้งก็ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว โดยทั่วไปแรงจูงใจอาจเป็นไปได้ทั้งเรื่องการเมือง ศาสนา หรือทั้งสองอย่าง
กลุ่มที่ห้า กลุ่มที่ก่อเหตุจากเรื่องส่วนตัว ซึ่งจากคำให้การของผู้ก่อเหตุในการสืบสวนว่าไม่พอใจองค์กรศาสนาเป็นการส่วนตัวจากการที่มารดาบริจาคเงินให้แก่องค์กรเป็นจำนวนมาก นภดลมองว่ามีความเป็นไปได้ที่สุดเมื่อพิจารณาร่วมกับภูมิหลังของผู้ก่อเหตุที่เปิดเผยออกมาแล้วในหน้าสื่อญี่ปุ่น นอกจากนี้ กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเสริมข้อสังเกตว่า หลายครั้งที่ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมหรือลอบสังหารด้วยเรื่องส่วนตัวในสังคมญี่ปุ่นเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างคดีวางยาพิษในข้าวแกงกะหรี่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือคดีที่มีผู้ก่อเหตุแต่งกายคล้ายตัวละครโจ๊กเกอร์จุดไฟและใช้มีดไล่แทงผู้โดยสารในรถไฟช่วงปลายปี 2021 “เพราะว่าสังคมญี่ปุ่นมีความเครียดสูง คนญี่ปุ่นมีจำนวนไม่น้อยที่มักอยู่คนเดียวและมีความเก็บกด ในขณะที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความกลมกลืนไปกับสังคมส่วนใหญ่”
แต่ประเด็นที่กิตติมองว่าน่าสนใจคือ นักการเมืองอย่างอาเบะเกี่ยวพันกับองค์กรทางศาสนาได้อย่างไร
“พรรค LDP ที่เป็นพรรคของอาเบะครองอำนาจมาอย่างยาวนาน มีฐานเสียงสนับสนุนหลากหลาย ตั้งแต่กลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มธุรกิจ ไปจนถึงยากูซ่า รวมทั้งฐานเสียงที่เป็นกลุ่มศาสนาด้วย ปรากฏว่าอาเบะก็ไปร่วมพิธีเปิดการประชุมออนไลน์ของกลุ่มทางศาสนา ทำให้ผู้ก่อเหตุมองว่าอาเบะมีส่วนสนับสนุนองค์กรศาสนา แต่ในการเมืองญี่ปุ่น พรรคการเมืองต้องพยายามหาฐานเสียงสนับสนุน โดยเฉพาะพรรค LDP ที่มีฐานเสียงหลากหลาย นักการเมืองก็มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทางศาสนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
นอกจากนี้ นภดลยังเล่าอีกว่าหลังจากเกิดการลอบสังหาร มีการเผยแพร่ข่าวเท็จและทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับแรงจูงใจในโลกอินเทอร์เน็ตญี่ปุ่นอย่างกว้างขวางว่า มีชาวญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีอยู่เบื้องหลังในการลอบสังหาร หรือมีการหนุนหลังให้ก่อการจากชาติที่ไม่เป็นมิตรต่อญี่ปุ่น จนต้องมีการออกมาเตือน
หลังเกิดเหตุลอบสังหารนักการเมืองคนสำคัญในสังคมที่ขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง กิตติเล่าว่า แรงสั่นสะเทือนต่อนโยบายเกี่ยวกับความปลอดภัยอยู่ที่ประเด็นการคุ้มกันความปลอดภัยของตำรวจ แต่ไม่ได้นำไปสู่การถกเถียงในประเด็นความปลอดภัยจากเหตุฆาตกรรมอื่นๆ ที่มักเกิดในสังคมญี่ปุ่นเป็นระยะๆ
สิ้นอาเบะ สะเทือนการเมืองญี่ปุ่น
อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะถือเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองญี่ปุ่นแม้วางมือจากตำแหน่งผู้นำไปแล้ว นภดลและกิตติมีความเห็นตรงกันว่าการสูญเสียอาเบะจะก่อให้เกิดคลื่นในภูมิทัศน์การเมืองญี่ปุ่นและการเมืองภายในพรรค LDP อย่างแน่นอน
“การเสียชีวิตของอาเบะไม่ได้ส่งผลในแง่ที่ว่าจะทำให้พรรคสูญเสียอำนาจ พรรค LDP จะยังเป็นรัฐบาลต่อไปภายใต้การนำของคิชิดะ แต่จะส่งผลต่อดุลอำนาจของรัฐบาล” นภดลออกความเห็น
นภดลอธิบายว่า ภายในพรรค LDP จะมีการต่อรองอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มก๊กต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 กลุ่มด้วยกันที่เป็นที่ยอมรับ โดยแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้า มีสมาชิก มีความภักดีภายในกลุ่ม มีฐานเสียงสนับสนุนที่แตกต่างหลากหลาย เช่น กลุ่มธุรกิจ กลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มศาสนา ฯลฯ และมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเพื่อแย่งชิงอำนาจนำภายในพรรค ซึ่งอาเบะที่เป็นสายอนุรักษนิยมสามารถกุมอำนาจในพรรคได้ค่อนข้างมั่นคงในสมัยที่เป็นผู้นำพรรคและดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรี
“อาเบะเป็นผู้นำที่มีอำนาจและบารมีสูง กุมอำนาจได้มากในพรรค อย่างที่เห็นได้ว่าตำแหน่งสำคัญในพรรคและตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญในปัจจุบันมาจากกลุ่มการเมืองของอาเบะทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อขาดบุคคลที่มีอำนาจเข้มแข็ง เชื่อว่ากลุ่มต่างๆ ภายในพรรคจะเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองส่วนแบ่งอำนาจอย่างแน่นอน คิดว่าอาจจะเริ่มที่ตำแหน่งในพรรคก่อน
“ถ้าจะให้คาดการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าคิชิดะจะรักษาความนิยมในหมู่สาธารณชนได้แค่ไหน ถ้าความนิยมในผลโพลยังสูงอยู่ คิชิดะก็อาจมีอำนาจต่อรองอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าความนิยมตกต่ำลงก็จะถูกกดดันอย่างหนักในพรรคให้ปรับคณะรัฐมนตรี โดยดึงแกนนำของกลุ่มก๊กต่างๆ เข้ามาคุมกระทรวงสำคัญ พูดง่ายๆ คือลดอำนาจของกลุ่มอาเบะลง
“คิชิดะไม่ใช่คนที่มีบุคลิกที่จะสร้างความนิยมส่วนบุคคลได้ ไม่เหมือนโคอิซุมิที่มีบุคลิกโดดเด่น มีสีสัน สามารถใช้ตัวตนสร้างความนิยมหรือสวนกระแสโครงสร้างการเมืองในพรรคได้ เพราะฉะนั้นการสร้างความนิยมในตัวตนคงจะลำบาก” นภดลกล่าว อีกทั้งกิตติยังตั้งข้อสังเกตุเพิ่มว่า การที่อาเบะยังคงรักษาสถานภาพ ส.ส. หลังวางมือจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อรักษาฐานการเมืองภายในพรรคและยังคงแสดงทัศนะในฐานะตัวแทน ‘การเมืองสายแข็ง’ ทั้งเรื่องความมั่นคงและเศรษฐกิจก็สะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งผู้นำหลังจากอาเบะไม่ได้มีบารมีส่วนบุคคลเท่า
“ความนิยมของคิชิดะจะขึ้นอยู่กับผลงาน นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจว่ามีประสิทธิภาพและถูกใจประชาชนแค่ไหน ถ้าผลงานไม่ค่อยดีก็จะถูกสั่นคลอนได้ง่าย มีโอกาสที่จะเจอทั้งแรงกดดันจากภายในพรรคและประชาชน และที่สำคัญ โอกาสที่ญี่ปุ่นจะพลิกฟื้นทางสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาอย่างยาวนานคงจะยาก ฉะนั้น รัฐบาลคิชิดะจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่แน่นอน ต้องดูต่อไปอีกสักพัก” กิตติเสริม พร้อมชี้ให้เห็นถึงข้อสังเกตในการเมืองญี่ปุ่นว่า นายกรัฐมนตรีมักจะไม่ยื้อและลาออกจากตำแหน่งเมื่อเผชิญแรงกดดันหรือความนิยมตก
แม้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นประเด็นท้าทาย แต่นภดลมองว่าคิชิดะน่าจะโดดเด่นในประเด็นการต่างประเทศและความมั่นคง เพราะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในสมัยอาเบะมา 5 ปี
“จุดสำคัญคือหลังจากที่พรรค LDP ชนะการเลือกตั้งวุฒิสภา คะแนนเสียงข้างมากในรัฐสภาเมื่อรวมที่นั่งวุฒิสภากับสภาผู้แทนจะทำให้รัฐบาลมีคะแนนเสียงมากพอในการผลักดันวาระใหญ่ได้
“ประเด็นคือ คิชิดะจะกล้าหรือเปล่า คิดว่าการเพิ่มงบประมาณทางการทหารเป็นไปได้ แต่จะไปไกลถึงการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ถือว่าเป็น ‘ของร้อน’ หรือเปล่า คำถามคือ คิชิดะพร้อมหรือเปล่าที่จะเผชิญกับแรงต้านจากหลายทาง รวมทั้งในพรรค LDP ด้วย เพราะฉะนั้นในช่วงแรก คิชิดะอาจจะเพิ่มงบประมาณทางการทหาร ซึ่งถือว่าเป็นก้าวกระโดดสำคัญหากจะเพิ่มในขณะนี้ แต่ถ้ามองสถานการณ์โลกและในภูมิภาคก็มีเหตุผลรองรับระดับหนึ่ง” นภดลคาดการณ์
ก้าวต่อตาม Abe Doctrine?: การต่างประเทศญี่ปุ่นหลังสูญเสียอาเบะ
ในมิติการต่างประเทศ อดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะถือว่ามีบทบาทที่โดดเด่นในการสร้างแนวทางการต่างประเทศของญี่ปุ่น เปลี่ยนญี่ปุ่นจากการเป็น ‘ยักษ์เงียบ’ (quiet giant) หรือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีบทบาทในการเสนอแนวนโยบายระดับโลก ไปสู่ประเทศที่มีบทบาทและอิทธิพลในการสร้างสถาปัตยกรรมอำนาจ โดยเฉพาะในการคานอำนาจจีนร่วมกับสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย
“อาเบะสร้างนิมิตหมายใหม่ในการต่างประเทศญี่ปุ่นหลายเรื่องด้วยกัน ที่จริงผู้ที่เริ่มยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในการต่อกรกับจีนคืออาเบะ อาเบะเริ่มเสนอการผสานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกว่า Confluence of the Two Seas ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งสมัยแรกในช่วงปี 2006-2007
“น่าสนใจมากว่าญี่ปุ่นมองการณ์ไกลว่าจีนจะต้องผงาดขึ้นมา และต้องหาพันธมิตรนอกเหนือจากสหรัฐฯ อย่างอินเดียเพื่อช่วยถ่วงดุลอำนาจจีน” กิตติกล่าว “และที่สำคัญ พอจีนมีโครงการ Belt and Road Initiative – BRI ที่จะลงสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศพันธมิตร ญี่ปุ่นก็เสนอว่าในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต้องมี ‘โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ’ (quality infrastructure) คือข่มจีนไปว่า ของจีนไม่มีคุณภาพ สะท้อนว่าอาเบะเป็นผู้นำที่ไม่ยอม”
นอกเหนือจากเป็นผู้ริเริ่มยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกและพันธมิตร QUAD แล้ว กิตติอธิบายต่อว่า อาเบะยังให้ความสำคัญกับการสานสัมพันธ์กับชาติอาเซียนอย่างมากเพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน ซึ่งสะท้อนผ่านการเดินทางเยือนประเทศอาเซียนครบ 10 ประเทศภายในปีแรกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง การก่อตั้งกองทุนจำนวนสามหมื่นล้านเยนสำหรับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียนในช่วงปี 2014-2020 และที่สำคัญคือ มีการวาง ‘core countries’ สามประเทศหลักที่ญี่ปุ่นจะใช้เป็นฐานที่มั่นในการสานสัมพันธ์ต่ออาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย อีกทั้งอาเบะยังริเริ่มผลักดันแก้ไขกฎหมายความมั่นคงใหม่ในปี 2015 เพื่อเพิ่มบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองให้สามารถคุ้มกันชาติพันธมิตรหรือชาติที่มีความสัมพันธ์ที่ดีได้ กล่าวคือ กฎหมายเปิดให้ญี่ปุ่นสามารถช่วยพันธมิตรที่อาจมีข้อพิพาทด้านความมั่นคงกับจีนได้
“ถือว่าอาเบะสร้างแนวทางการต่างประเทศญี่ปุ่นที่อิงกับสภาพความเป็นจริงที่มีภัยคุกคาม” กิตติกล่าว
“อาเบะวางท่าทีของญี่ปุ่นชัดเจนในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง รู้ว่าจะกำหนดตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในโครงข่ายอำนาจโดยร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และอาเซียนบางประเทศที่มีท่าทีห่างจากจีน สามารถเล่นบทบาทสำคัญในการสร้างสถาปัตยกรรมอำนาจในภูมิภาคเอเชียได้ ขณะที่สหรัฐฯ ในแต่ละช่วงเวลาอาจจะเปลี่ยนความสนใจไปบ้าง เพราะมีภาระหลายที่ทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป หรือลาตินอเมริกา แต่ญี่ปุ่นอยู่ในเอเชีย และอาเบะก็มองว่าญี่ปุ่นต้องมีบทบาท หรือจริงๆ ชี้นำสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียด้วยซ้ำ” นภดลเสริม
อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นอิทธิพลของอาเบะแล้ว มรดกและแนวทางการต่างประเทศของอาเบะจะหายไปหรือไม่? ในประเด็นดังกล่าว นภดลและกิตติเห็นตรงกันว่า แนวนโยบายการต่างประเทศญี่ปุ่นในสมัยคิชิดะจะดำเนินไปในทิศทางเดียวกับอาเบะ
“จะเห็นว่าทั้งรัฐบาลสึงะและรัฐบาลคิชิดะก็ยังเดินตามแนวทาง Abe Doctrine โดยเฉพาะคิชิดะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในสมัยอาเบะถึง 5 ปี ซึ่งบทบาทของญี่ปุ่นตอนนี้ก็ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เข้มข้นขึ้น” กิตติกล่าว
“แนวทางของคิชิดะจะไม่เปลี่ยนไปจากแนวทางที่อาเบะวางไว้ ยิ่งสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลไบเดนให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย ก็เหมือนจะไปด้วยกันได้อย่างลงตัว” นภดลกล่าว
“นโยบายการต่างประเทศในยุคคิชิดะขึ้นอยู่กับโครงสร้างอำนาจและโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นด้วย แต่สมมติว่าต่อให้มีการเปลี่ยนผู้นำก็ตาม ก็คิดว่าแนวทางก็จะยังเป็นแนวทางนี้ เพราะว่าความร่วมมือกับสหรัฐฯ ถือว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ของนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น ในแง่หนึ่งก็ต้องถ่วงดุลกับจีน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ต้องทำงานร่วมมือกับจีนให้ได้ด้วย เพราะอยู่ใกล้กัน
“มันเหมือนเป็นสิ่งที่วางไว้อยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำญี่ปุ่นคนไหนก็ตามจะต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศไปในแนวทางนี้ โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลมาจากพรรค LDP ด้วย ซึ่งน่าจะเป็นพรรค LDP อีกพักใหญ่ ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง” กิตติกล่าว
แต่นภดลก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลคิชิดะที่ปราศจากอาเบะอาจมีความมั่นใจลดลง
“แม้ว่าอาเบะจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ยังสามารถมีบทบาทผลักดันนโยบายต่อไปได้ สื่อญี่ปุ่นบางส่วนบอกว่า เวลาคิชิดะจะตัดสินใจเรื่องสำคัญก็จะปรึกษาอาเบะอยู่เสมอ เพราะสนับสนุนกันมาตลอด พออาเบะจากไปแล้ว ความมั่นใจตรงนี้อาจจะน้อยลง”
หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากงานเสวนาวิชาการ ‘ลอบสังหารนายกอาเบะ: เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองญี่ปุ่น‘ จัดโดย ศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 – 15.30 น.