ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่องและภาพ
ในช่วงหลายปีมานี้คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวอินเดียไม่น้อย เอาเข้าจริงแหล่งท่องเที่ยวของอินเดียสวยไม่แพ้ชาติไหนในโลก มีทั้งทะเลสาบ ภูเขา ทะเลทราย น้ำตก ลานสกี ฯลฯ
แต่ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอินเดียคือทัศนคติของคนอินเดีย โดยเฉพาะทัศนคติของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง ถ้าใครเคยมาเที่ยวอินเดียจะรู้ว่าผู้ชายอินเดียชอบลวนลามและถึงเนื้อถึงตัว คือแตะเนื้อต้องตัวไปทั่ว อย่าได้เผลอคิดเชียวว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะจริงๆ คือความตั้งใจทั้งหมด การคุกคามทางเพศในอินเดียเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่ไม่มีรัฐบาลหรือหน่วยงานอะไรจัดการได้อย่างจริงจัง
สังคมอินเดียเป็น ‘สังคมปิตาธิปไตย’ หรือสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ มีอภิสิทธิ์เหนือสถานภาพทางเพศอื่นๆ ในขณะที่ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเลย คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า สังคมอินเดียเป็นสังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางเพศมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก สถานะผู้หญิงในสังคมถูกกดทับ จนมีคำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี” เพราะอย่างน้อย วัวซึ่งสังคมอินเดียถือว่าเป็นเทพเจ้าพาหนะของพระศิวะ ก็ยังได้รับการนับถือและยกย่องจากคนทั่วไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอิสระ ที่สำคัญคือมีคนพิทักษ์ดูแลตลอดเวลา
คำถามมีอยู่ว่า ชีวิตที่แย่กว่า ‘การเกิดเป็นวัว’ เป็นเช่นไร สตรีในสังคมอินเดียต้องรับแรงกดทับมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินชีวิตประจำวัน อะไรถือเป็นอุปสรรคและความท้าทายใหม่ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และสถานะของสตรีในสังคมอินเดีย
ทั้งหมดนี้วนเวียนอยู่ภายใต้คำถามใหญ่ที่ว่า ทำไมสังคมที่เคลมตัวเองว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ จึงไม่ยอมรับสิทธิสตรี
จากคติโบราณ สู่ภาพสะท้อนสิทธิสตรีที่เลือนรางของอินเดีย
นิทานปรัมปรา มหากาพย์ และเรื่องเล่าทางศาสนา มีอิทธิพลสำคัญต่อสถานะและสิทธิสตรี ตลอดจนทัศนคติของผู้ชายต่อผู้หญิงนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สองมหากาพย์สำคัญอย่างมหากาพย์รามายณะ และ มหากาพย์ภารตะ
มหากาพย์รามายณะ เป็นเรื่องราวของพระวิษณุอวตาร เพื่อลงมาปราบราวัณ หรือที่คนไทยรู้จักกันทั่วไปว่า ‘ทศกัณฐ์’ มหากาพย์นี้สอดแทรกเรื่องคุณธรรม ความดี ตลอดจนแนวทางการครองชีวิต และการดำเนินชีวิตแบบสุภาพบุรุษ รวมถึงภาพลักษณ์ที่ดีของสตรี เรื่องราวและแนวปฏิบัติของนางสีดา กลายเป็นแบบอย่างสำคัญของการเป็นภรรยาที่ดีตามคติฮินดู ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ต่อสามี ตลอดจนการเชื่อฟังในสิ่งที่สามีกล่าวโดยไม่โต้แย้ง แม้ว่าสามีจะสั่งหรือร้องขอเรื่องใดก็ตาม ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงบั่นปลายนั้น นางสีดาต้องเดินลุยไฟ และถูกเนรเทศ แต่ก็มิได้ต่อว่าพระรามแต่อย่างใด
ในขณะที่มหากาพย์มหาภารตะ ก็เล่าเรื่องและวางสถานะสตรีให้เป็นดั่ง ‘สิ่งของ’ ของสามี เช่น การใช้ภรรยาอย่างพระนางเทราปตีร่วมกันในหมู่พี่น้องปาณฑพ เพียงเพราะคำพูดสั้นๆ ของผู้เป็นมารดาที่ว่า อยากให้บุตรทุกคนเมื่อได้ของสิ่งใดมา ให้แบ่งปันกันอย่างเท่าเทียม นี่ถือเป็นอีกภาพสะท้อนสิทธิสตรีเมื่อต้องแต่งเข้ามาอยู่ในตระกูลของฝ่ายชาย
ความเชื่อที่ว่า ‘สตรีเป็นสิ่งของสามี’ ยังปรากฏให้เห็นในเรื่องราวของพิธีสตีด้วย โดยพิธีสตี เป็นการบอกกล่าวถึงหน้าที่หญิงหม้ายเมื่อสามีเสียชีวิต ต้องกระโดดเข้ากองไฟที่เผาสามีตัวเองตามไปด้วย เพื่อยืนยันความซื่อสัตย์ที่ภรรยามีต่อสามี ซึ่งพิธีกรรมนี้มีมาอย่างต่อเนื่องนั้บตั้งแต่สมัยคุปตะ กระทั่งถูกยกเลิกไปในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย
นอกจากนี้ นิทานปรัมปราจำนวนไม่น้อยก็ตอกย้ำว่า การล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรีเป็นพฤติกรรมปกติธรรมดา เช่น มีการรจนาการล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนไว้ในหลากหลายบทโศลก ลักษณะเช่นนี้สะท้อนภาพย้อนแย้งที่น่าสนใจ กล่าวคือให้คติเรื่องการรักนวลสงวนตัวและรักษาความบริสุทธิ์ของฝ่ายหญิง แต่กลับเลือกแสดงการกระทำชำเราสตรีของฝ่ายชายอย่างปกติธรรมดา
แนวคิดที่ยึดโยงผู้หญิงไว้กับสามีเช่นนี้ ยังผลสำคัญให้ในระบบการแต่งงานของสังคมอินเดียจากโบราณจนถึงปัจจุบัน ฝ่ายหญิงต้องเป็นฝ่ายจ่ายสินสอดให้กับฝ่ายชาย เพราะถือว่าฝ่ายชายรับเอาผู้หญิงไปเลี้ยงดู ไปเป็นคนในบ้าน ไปใช้สอยพื้นที่และผลประโยชน์ของครอบครัวฝ่ายชาย ที่สำคัญคือฝ่ายชายต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูฝ่ายหญิงตลอดชีวิต ในขณะที่ฝ่ายหญิงไม่มีอาชีพ ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเท่านั้น
ภาพสะท้อนเหล่านี้ส่องให้เห็นถึงบทบาทระหว่างชายและหญิงในสังคมอินเดียโบราณ ผู้หญิงมีหน้าที่สำคัญที่เกิดมาคือการเป็นภรรยาที่ดีของสามี สตรีจะมีความเป็นอยู่และสามารถเอาชีวิตรอดได้ ก็ด้วยการแต่งงานมีสามีและครอบครัวที่ดี
ด้วยความเชื่อและแนวคิดเหล่านี้ ส่งผลให้สังคมอินเดียผลักดันลูกสาวให้มีสามีโดยเร็ว ในอีกทางหนึ่งก็มองปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเป็นปกติวิสัยของสังคม
สินสอด การล่วงละเมิดทางเพศ และความไม่ปลอดภัย
ถึงแม้สังคมอินเดียจะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้สิทธิ ความเท่าเทียม และเสมอภาคระหว่างประชาชน แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่เฉพาะในตัวบทกฎหมายเท่านั้น อิทธิพลความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นยังไม่สามารถกะเทาะแก่นโครงสร้างทางสังคมของอินเดียได้
ในปัจจุบันสิทธิสตรีของอินเดียยังเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าวิตกอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแต่งงาน ซึ่งฝ่ายหญิงต้องจ่ายสินสอดจำนวนมหาศาลเพื่อจะได้สามีที่ดีมาเป็นคู่ครอง เพราะการมีสามีที่เพียบพร้อมย่อมสร้างความมั่นคงให้ตัวผู้หญิงด้วย ประเด็นเรื่องสินสอดกลายเป็นปัญหาใหญ่ และนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในหลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพที่สังคมอินเดียยังคลุมถุงชนในการแต่งงานระหว่างชายและหญิง
สินสอดกลายเป็นข้อผูกมัดและส่งเสริมให้หลายครอบครัวให้คุณค่าต่อลูกชายมากกว่าลูกสาว ที่สำคัญตามความเชื่อทางศาสนา ลูกชายเท่านั้นที่จะนำพาดวงวิญญาณพ่อ-แม่ไปสวรรค์ได้ ค่านิยมเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดการฆ่าเด็กผู้หญิงจำนวนมากในสังคมอินเดีย เพราะถือเป็นภาระของครอบครัว มากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดีเพียงพอ
นอกจากเรื่องการแต่งงานที่ผู้หญิงอินเดียต้องเผชิญแล้ว ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอันเป็นผลมาจากทัศนคติและค่านิยมเดิม โดยเฉพาะการมองผู้หญิงเป็นสิ่งของมากกว่าที่จะเป็นมนุษย์ ผนวกกับการที่เพศศึกษากลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึงมากนักในสังคมอินเดียนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน การจัดการเรื่องทางเพศของผู้ชายในสังคมอินเดียจึงประสบปัญหา ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศที่มีเหตุการล่วงละเมิดทางเพศสูงที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก การลวนลามผู้หญิงของผู้ชายกลายเป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะ
เกิดกรณีข่มขืนขึ้นทั่วไปในประเทศอินเดีย โดยข้อมูลจากการเก็บสถิติในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2560 พบว่าเฉพาะในเมืองหลวงอย่างนิวเดลี มีผู้หญิงถูกข่มขืนทุกๆ 2-3 ชั่วโมง โดย 2 ใน 10 เป็นการกระทำเป็นกลุ่มของผู้ชาย ในขณะที่ตำรวจท้องที่ จะตั้งข้อสงสัยต่อผู้หญิงที่มาแจ้งความเสมอ ว่าพวกเธอโกหกเรื่องขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ
ภาพความเหยียดหยันทางเพศเหล่านี้ อาจมองผ่านเหตุการณ์ข่มขืนสะเทือนขวัญเมื่อต้นปี 2561 ที่รัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ เมื่อเด็กหญิงมุสลิม Asifa Bano วัย 8 ขวบ โดนฆ่าข่มขืนในวัดฮินดูและทิ้งศพไว้ข้างทาง ความน่าสนใจคือเหตุการณ์เกิดในช่วงเดือนมกราคม แต่กว่าตำรวจจะออกหมายจับก็เข้าเดือนเมษายนแล้ว ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือครอบครัวของเธอถูกข่มขู่จากชาวฮินดูในพื้นที่ จนพ่อแม่เด็กไม่สามารถฝังศพเธอในบริเวณบ้านเกิดได้
การใช้ชีวิตของผู้หญิงในสังคมอินเดียจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก เพราะโครงสร้างทางสังคมที่ให้คุณค่าผู้ชายอย่างสูง และกดทับสิทธิของผู้หญิงอย่างมาก เราแทบไม่เห็นผู้หญิงทำงานในพื้นที่สาธารณะ ผู้หญิงถูกจำกัดพื้นที่อยู่ในบ้าน ถึงแม้ว่าโลกภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมอินเดียได้เท่าใดนัก
โอกาส ความท้าทาย และความเคลื่อนไหวของสตรีอินเดีย
แม้จะก้าวไปอย่างช้าๆ แต่สภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ระบอบประชาธิปไตยที่นำมาสู่การกุมอำนาจของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย อย่างนางอินทิรา คานธี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหญิงแกร่งคนหนึ่งของเอเชีย ส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงศักยภาพของตนเองในหมู่ผู้หญิงอินเดียมากยิ่งขึ้น หากได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้หญิงอินเดียถึงแบบอย่างผู้หญิงที่ตนเองอยากทำให้ได้ ชื่อของอินทิรา คานธี จะเป็นหนึ่งในสตรีที่ถูกพูดถึง
การเติบโตของเศรษฐกิจภายในอินเดียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมให้เกิดชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพที่จะดูแลครอบครัวมากยิ่งขึ้น ผู้หญิงส่วนหนึ่งจึงมีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี และสามารถเข้าทำงานในตำแหน่งที่ทัดเทียมกับผู้ชาย ถึงแม้จะยังคงประสบปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวในอินเดียก็ต่อสู้ในประเด็นนี้อย่างเข้มแข็ง จนศาลในบางรัฐตัดสินให้การจ่ายค่าตอบแทนที่แตกต่างกันในตำแหน่งที่เท่าเทียมกันระหว่างชาย-หญิง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ในขณะที่การขยายตัวของลัทธิบูชาศักติ หรือ เทพเจ้าฝ่ายหญิงในสังคมอินเดีย ส่งเสริมให้บางพื้นที่สิทธิของผู้หญิงได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐเบงกอลตะวันตกที่นับถือพระแม่ทุรคาเป็นเทพพื้นถิ่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบทบาทสตรีในพื้นที่ดังกล่าวมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ผู้หญิงแสดงบทบาทนำทั้งในทางครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
นอกจากนี้ การย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างคนในแต่ละรัฐ ส่งเสริมให้เกิดการกระจายตัวของค่านิยมพื้นถิ่นของหลายพื้นที่ไปยังพื้นที่อื่น โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าของผู้หญิง สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้ดินแดนที่มีโครงสร้างปิตาธิปไตยสูงอย่างอินเดียเปลี่ยนแปลง
กล่าวได้ว่าสิทธิและบทบาทผู้หญิงในสังคมอินเดียกำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน การล่วงละเมิดทางเพศที่เคยเป็นเรื่องปกติของสังคมกำลังกลายเป็นเรื่องผิดแปลกไป ในขณะที่ศักยภาพของผู้หญิงเฉิดฉายมากยิ่งขึ้น ผ่านการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองหลายคน ผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งของที่จะถูกส่งออกไปอยู่ในครอบครัวฝ่ายชาย แต่สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้
บทบาทและสิทธิสตรีในสังคมวัฒนธรรมอินเดีย จึงอยู่ในช่วงการปะทะระหว่างความเชื่อเดิมและความเชื่อใหม่ ซึ่งจุดจบของการปะทะนี้จะเป็นเครื่องชี้ทางสังคมอินเดียในอนาคต