fbpx

‘สหภาพยูเรเชีย’: จักรวรรดิจินตกรรมของปูติน

สงครามรัสเซียบุกยูเครนดำเนินมาได้หนึ่งเดือนแล้ว และทำท่าว่าจะไม่ยุติจนเป็นที่ยอมรับกันได้ในการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้แทนสองประเทศในเร็ววัน ผมสังเกตว่าสงครามนี้มีลักษณะแปลก ไม่เหมือนสงครามใหญ่ๆ ที่เคยเห็นกันมา นับแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามโคโซโว สงครามบุกอิรัก ตามมาด้วยอัฟกานิสถาน สงครามในลิเบีย และสงครามซีเรีย ตรงที่ว่ามีการแบ่งฝ่ายระหว่างฝ่ายหนุนกับฝ่ายค้านอย่างกว้างขวางไปแทบทุกประเทศในโลก ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างหลักฐานที่ชอบธรรมของฝ่ายตน (ในการบุกยึด) หรือในการต้านคัดค้าน (การทำสงคราม) 

อะไรคือจุดหมายสูงสุดของผู้นำรัสเซีย – วลาดิมีร์ ปูติน – ในการใช้พละกำลังอย่างมหาศาลเข้าบดขยี้ทำลายล้างยูเครน รัฐเพื่อนบ้านที่เคยเป็นญาติกันมานับศตวรรษ อย่างที่ไม่อาจคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเป็นเรื่องจริง หลังจากการตัดสินใจของฝ่ายรัสเซียในการเผด็จศึก เหตุผลที่ปูตินให้นับแต่แรกคือ 1.) ปลดอาวุธยูเครน (demilitarized) 2.) กำจัดความเป็นลัทธินาซีของยูเครน (denazification) ข้อแรกเพื่อไม่ให้ยูเครนได้อาวุธจากภายนอก ยุติและสะกัดการคุกคามของอำนาจตะวันตกในนามนาโตที่มีต่อความเป็นบูรณภาพของรัสเซีย เมื่อปราศจากอาวุธ ประเทศยูเครนก็อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของรัสเซียโดยปริยาย เหมือนกับที่ทำกับไครเมียมาก่อนแล้ว

ส่วนข้อที่สอง คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจความคิดของปูตินว่าเขาหมายถึงอะไร ถ้าตีความตามตัวอักษร ก็หมายความว่ารัฐบาลยูเครนปฏิบัตินโยบายแบบนาซีคือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเชื้อชาติอื่น ซึ่งในที่นี้ก็คือคนรัสเซียที่เรียกว่าคนพูดภาษารัสเซีย (Russian-speaking people)ในเขตดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน เนื่องจากรัสเซียไม่เคยถูกทำให้เป็นเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์หนึ่งเดียวในดินแดนประเทศรัสเซีย ซึ่งมักใช้คำว่าชาวสลาฟมากกว่า รัสเซียจึงเป็นภาษาของคนในอาณาจักรกว้างใหญ่นั้น ข้อหานี้ก็ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้รองรับ นอกจากเครมลินเท่านั้นที่มีหลักฐานมากมายฝ่ายเดียว และยิ่งย้อนแย้งขึ้นไปอีกเพราะว่าในทางประวัติศาสตร์แล้ว ยูเครนต่างหากที่เคยถูกนาซีเยอรมันบุกยึดและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปแล้วในสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดีเซเลนสกี้เองก็เป็นคนยิวและพูดภาษารัสเซียก่อนหันมาเรียนภาษายูเครน ทำให้การป้ายสีว่าคนเหล่านี้กระทำการแบบนาซีจึงฟังไม่ขึ้น

แผนการทั้งหมดก็คงวางไว้บนสมมติฐานและเป้าประสงค์ระยะใกล้และไกลประมาณนี้ หากวิเคราะห์ตามที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวและแถลงต่อสื่อมวลชนหลายวาระมาก่อนแล้ว คำตอบจริงๆ ก็คือเพื่อรักษาความมั่นคงและสถาพรของประเทศรัสเซีย จากใครหรือ? ก็จากนาโตและสหรัฐอเมริกานั่นเอง อันนี้เป็นคำตอบทางความมั่นคงหรือทางทหาร โดยทั่วไปปฏิบัติการทางทหารระดับใหญ่ขนาดนี้ มักต้องมีมิติทางอุดมการณ์ณ์รองรับด้วยเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์หรือปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) วาทะปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องการบุกยูเครนก็ไม่ค่อยมี ทั้งนี้เพราะรัสเซียหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ก็หาอุดมการณ์ใหม่ทางโลกมาใช้ได้ยาก เพราะมีแต่ของฝ่ายลัทธิเสรีนิยมทั้งนั้นเลย ไม่ว่าเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฯลฯ ปูตินจึงต้องไปหาคำชี้แนะทางจิตวิญญาณแทน หรือจะเรียกว่าทางศาสนา หรือทางไสยศาสตร์ก็ได้ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

สงครามครั้งนี้ มองได้หลายมิติและทัศนวิสัย อันหนึ่งที่ผมใช้คือมุมมองทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมองกลับไปยาวไกลในทางความคิดและทางกายภาพ ที่ใช้กันมากคือความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องของสถาบันการปกครอง ได้แก่ราชวงศ์ อาณาจักร จักรวรรดิ และล่าสุดคือรัฐชาติหรือประชาชาติ ในนั้นที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษคือภูมิปัญญาหรืออุดมการณ์และความคิดคติความเชื่อทั้งทางศาสนาและไสยศาสตร์ (หรือวิญญาณนานาประการ ที่คนไทยเรียกว่าผีนั่นแหละ) ในภาวะของความขัดแย้งภายใต้อิทธิพลโลกาภิวัตน์ (ซึ่งมีผลทางเศรษฐกิจมากกว่าด้านอื่น) และการต่อสู้อย่างหนักหน่วงระหว่างสองความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง คือระบอบเสรีนิยมและประชาธิปไตย กับระบอบอัตตาธิปไตยและเผด็จการ (อำนาจนิยม) จุดไหนของความขัดแย้งนี้ที่รัสเซียยืนอยู่หรือเป็นตัวแทนผ่านการปฏิบัติทางการทหารของตน

ไม่ต้องคิดให้ยาก เสียงที่สะท้อนมาจากหลายมุมโลกก็คือ รัสเซียกำลังชูธงอัตตาธิปไตย (autocracy) และอำนาจนิยมในระบอบการเมืองการปกครองของตนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการ ‘ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ’ ครั้งนี้ต่อยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีอธิปไตยเหนือดินแดนของตนเอง เพียงแต่อยู่ชิดอย่างแนบแน่นกับพรมแดนรัสเซีย และเคยตกเป็นรัฐบริวารของรัสเซียมาจนถึงสมัยสหภาพโซเวียต ความพยายามที่จะเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองถูกขัดขวางมาตลอดและถูกปราบปรามอย่างหนักจากรัฐบาลโซเวียต ความฝันนี้เป็นจริงเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 และกลายร่างมาเป็นสหพันธรัฐรัสเซียอันประกอบไปด้วยรัฐปกครองตนเองจำนวนหนึ่งแต่อยู่ภายใต้ร่มธงใหญ่ของรัสเซีย ยูเครนและเบลารุสถือว่าเป็นสามรัฐหลักของสหพันธรัฐนี้

พัฒนาการทางการเมืองล่าสุดนี้ หากขอยืมวาทกรรมลือชี่อของฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) ในหนังสือดังเรื่อง The End of History and the Last Man (1992) ที่ทำนายว่าการยุติอย่างสิ้นเชิงของประเทศคอมมิวนิสต์คือชัยชนะสุดท้ายของลัทธิเสรีนิยม ต่อจากนี้ไป ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีระบบปกครองแบบไม่เป็นเสรีนิยมและประชาธิปไตย จะพากันเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบอำนาจนิยมเก่ามาสู่ระบบเสรีนิยมกันหมด ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เมื่อคลื่นการปฏิวัติปะทุขึ้นในบรรดารัฐและประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นบริวารของสหภาพโซเวียต ความขัดแย้งในระบอบการปกครองใหม่ก็เกิดขึ้นตามมา การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ทางเดินที่สะดวกและง่ายดาย เพราะระบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยนั้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยม การแข่งขันในตลาดมีผลถึงในระบบการเมืองและการเลือกตั้ง ดังนั้น ‘วาระสุดท้ายของประวัติศาสตร์’ จึงไม่สามารถนำไปสู่การสิ้นสุดความขัดแย้งและการกลับมาของระบอบอำนาจนิยมในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างจริงจังนัก

แต่ในคราวนี้ ปมเงื่อนของความขัดแย้งที่ไม่อาจตกลงกันได้อย่างปกติ คือการที่ยูเครนเริ่มการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากสังคมแบบอำนาจนิยมเดิมและไม่ประชาธิปไตยนัก ค่อยๆ ขยับเข้าสู่การเป็นระบบเสรีนิยมและประชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ประชาชนจัดตั้งรวมตัวกันเป็นประชาสังคมที่มีพลังในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขาเริ่มยึดกุมและตระหนักถึงอุดมการณ์เสรีนิยม เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ไม่ใช่คำขวัญที่หยิบยืมมาจากยุโรปตะวันตกอีกต่อไป หากตอนนี้มันเป็นจิตสำนึกของพวกเขากันเองแล้ว ประธานาธิบดีเซเลนสกี้กับระบอบปกครองจึงเป็นผลิตผลใหม่ของการเป็นประชาธิปไตยเสรี นี่เองที่ทำให้ฐานะและจุดยืนของยูเครนไม่อาจดำเนินไปได้อย่างปกติกับรัสเซีย ที่ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเดินแยกทางออกไปยังถนนสายอัตตาธิปไตยและไร้เสรีนิยมอย่างยิ่ง

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นพัฒนาการล่าสุดของความไม่ลงรอยในการ ‘ยุติประวัติศาสตร์หนึ่งและเริ่มต้นอีกประวัติศาสตร์หนึ่ง’ ยูเครนจะยุติประวัติศาสตร์แบบเก่าแล้วก้าวเดินไปในประวัติศาสตร์ใหม่ ส่วนรัสเซียกำลังเดินไปในทางของประวัติศาสตร์เก่า กำลังหาทางจะกลับไปยังจุดอันไกลโพ้นของประวัติศาสตร์รัสเซียที่เป็นความบริสุทธิ์เป็นอุดมคติของสาวกออร์โธดอกซ์

รัสเซียหลังการล่มสลายของระบบสหภาพโซเวียตพลาดโอกาสในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมและสถาปนาสถาบันหลักในการปกครองและเศรษฐกิจที่เกื้อหนุนการสร้างระบบการเมืองและเศรษฐกิจเสรีนิยมและประชาธิปไตยขึ้นมา การยุติ ‘สงครามเย็น’ ซึ่งเป็นสงครามจริงๆ และจบลงด้วยชัยชนะที่จริงๆ ฝ่ายหนึ่งชนะคือตะวันตก และฝ่ายพ่ายแพ้อย่างหมดจดของศัตรู คือลัทธิคอมมิวนิสต์ (แต่ไม่ได้แพ้ทางทหารเพราะไม่ได้รบกันโดยตรง) เป็นการประกาศยอมแพ้เองจากผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้ายคือกอร์บาชอฟ กระทั่งสลายรัฐสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยในปี 1991 อาจกล่าวได้อย่างที่หลายคนมักพูดถึงว่าเป็นชัยชนะของเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) เหนือลัทธิคอมมิวนิสม์ อย่างนุ่มนวลแต่ไร้อนาคต

เมื่อมองกลับไปยังเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว นั่นคือการยุติลงของสงครามโลกครั้งที่สองหรือสงครามต่อต้านลัทธินาซีภายใต้ฮิตเลอร์และเยอรมนีกับลัทธิทหารของญี่ปุ่น สองเหตุการณ์คู่ขนานคล้ายกันยิ่ง เมื่อประเทศสัมพันธมิตรตะวันตกชนะนาซีเยอรมันและญี่ปุ่นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการรื้อสร้างประเทศใหม่ตามแบบเสรีนิยมภายใต้การกำกับควบคุมและกำหนดเป้าหมายให้โดยฝ่ายประเทศชนะสงคราม (หลักๆ คือสหรัฐฯ) แต่เหตุการณ์หลังในยุคสงครามเย็น สหรัฐฯและยุโรปตะวันตก ชนะคอมมิวนิสต์รัสเซียก็จริง แต่ไม่มีการสร้างระบบใหม่ที่เป็นเสรีนิยมทุนนิยมขึ้นในรัสเซียอย่างจริงจัง ไม่มีกองกำลังตะวันตกอยู่ในรัสเซียเหมือนสมัยทำกับญี่ปุ่นและเยอรมันตอนหลังสงครามโลก

ในตอนแรกสมัยเยลต์ซินเป็นประธานาธิบดี เขาต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพื่อเอาชนะกอร์บาชอฟ ทีมเศรษฐกิจและต่างประเทศล้วนเป็นพวกแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก อังเดร คอซิเรฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียสมัยเยลต์ซิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มปฏิรูปหนุ่มที่มีเยกอร์ ไกด้ากับอนาโตลี ชูเบส (สองคนนี้นำการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบทุนเสรีนิยมในรัสเซียอย่างเต็มที่) กล่าวกับนิกสันว่า “ผลประโยชน์ของตะวันตกก็เป็นผลประโยชน์ของเราเหมือนกัน”  

รัสเซียปิดฐานทัพและการทหารในคิวบาถึงเวียดนาม ถอนกำลัง ลดงบประมาณทหาร เรียกว่าเป็นระยะหวานชื่นจนทำให้วอชิงตันคิดว่ารัสเซียไม่มีทางเป็นปัญหาอีกต่อไปแล้ว ทั้งหมดทำให้ตะวันตกลดการ์ดลง นอกจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหัวชนฝาที่ไม่ยอมเชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ รัสเซียเข้าร่วมกลุ่ม G8 และ องค์กร WTO ผ่านไอเอ็มเอฟ ช่วยในการแปรรูปวิสาหกิจของรัฐให้เป็นเอกชน นโยบายต่างประเทศรัสเซียเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ สรุปมีการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียสมัยเยลต์ ซิน แต่จุดหมายเป็นการเมืองระยะสั้นเพื่อช่วยในการเลือกตั้งมากกว่า ปัญหาโครงสร้างภายในจึงไม่ได้แตะต้องจริงๆ พลังการผลิตทุนนิยมจึงยังไม่ได้รับการปลดปล่อยออกมาสำแดงอำนาจอย่างเต็มที่ บรรดาผีเก่าๆ เลยพากันกลับมาในเวลาต่อไป

บรรยากาศหลังการสลายสหภาพโซเวียต คือการที่ผู้นำรัสเซีย (กอร์บาชอฟ) และคนอื่นๆ กลายเป็นพวกโปรตะวันตกไป ไม่ต้องถูกบังคับให้เป็น แต่ตอนนั้นผู้นำรัสเซียยอมรับอุดมการณ์เสรีนิยมหมดเลย ทำให้ทางตะวันตกไม่คิดว่า จำเป็นต้องไปดำเนินการสร้างอะไรใหม่ในนโยบายต่างประเทศ ถึงกับมีการพูดคุยตกลงกันครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนายเจมส์ เบเกอร์ กับประธานาธิบดีกอร์บาชอฟของรัสเซีย นั่นคือคำพูดที่เบเกอร์บอกว่า ถ้ารัสเซียยอมปล่อยให้เยอรมันส่วนที่เป็นของรัสเซีย (คือเยอรมนีตะวันออก) ออกไปเป็นอิสระ ฝ่ายเราตกลงว่านาโตก็จะไม่ “ขยับแม้นิ้วเดียวไปทางตะวันออกจากจุดที่มันอยู่ปัจจุบันนี้” (If you let part of Germany go, and we agree that Nato will “not shift one inch eastward from its present position”)

การพูดกันทำในเดือนกุมภาพันธ์ 1990 หลังการพังทลายกำแพงเบอร์ลินในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ข้อเท็จจริงคือ ข้อความที่ว่านี้ไม่ได้มีการทำเป็นสัญญาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นคำพูดที่หลุดออกไปสู่สาธารณชน และสร้างการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันตั้งแต่แรกระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังไม่เป็นปัญหาอะไรใหญ่โต จนกระทั่งเมื่อปูตินก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2000

ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมในรัสเซียจึงไม่บรรลุเป้าหมายในการสร้างชีวิตที่ดีกว่าให้แก่คนทั่วไปมากนัก สภาพเศรษฐกิจไม่เสรีนี้ดำเนินมาจนถึงวาระที่ปูตินขึ้นมาเป็นผู้นำ การขึ้นมานำประเทศของปูตินนับว่าเป็นการเปลี่ยนเกมของประเทศโดยสิ้นเชิง บุคลิกและประวัติความเป็นมาของเขามีส่วนไม่น้อยในการผลักดันเขาให้ลงมือทำการปฏิรูประบอบปกครองรัสเซียที่กำลังไร้ประสิทธิภาพเสียใหม่ จนถึงสมัยปูติน ส่วนใหญ่ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ มุ่งให้แก่เยลต์ซินเพื่อช่วยให้เขาชนะในการเมือง มากกว่าการสถาปนาสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีอย่างแท้จริงขึ้นมา หมายความว่า โครงสร้างภายในรัสเซียนั้นยังคงเป็นแบบเดิมอยู่เป็นส่วนใหญ่ รัสเซียที่จะแข็งแกร่งทางทหารและมีพลังทางเศรษฐกิจจะมีผลต่อการสถาปนาระบอบปูตินขึ้นมา

ระบอบปูติน สร้างขึ้นมาบนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เขาลงมือแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพ ด้วยการทำให้ระบบคณาธิปไตยของรัฐ กลายมาเป็นระบบคณาธิปไตยของเขาเอง ปัจจัยภายนอกที่ช่วยการปฏิรูปเศรษฐกิจประสบความสำเร็จมาจากการพุ่งขึ้นของระบบโลกาภิวัตน์ การผลิตเพื่ออุตสาหกรรมขยายอย่างรวดเร็วทั่วโลก รัสเซียกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซ ธัญพืช และแร่ธาตุให้แก่โรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมโลก ดอลลาร์กลายเป็นหน่วยเงินที่ใช้ทั่วไปในรัสเซีย ประเทศมีเงินทุนสำรองมากมหาศาลทั้งในดอลลาร์และทองคำในธนาคารกลางของหลายประเทศ การลงทุนทั่วโลกพากันแห่มายังตลาดทุนรัสเซีย ปูตินปฏิรูประบบเศรษฐกิจใหม่ ทำให้เขารวมอำนาจในมือได้เต็มที่ กำจัดพวกคณาธิปไตยออกไป สร้างคณาธิปไตยใหม่ที่ภักดีต่อเขาขึ้นมา ระบบประชาธิปไตยเสรีที่ทำท่าจะเริ่มต้นเริ่มถูกจำกัด และกำจัดออกไปในที่สุด เปิดทางให้แก่การขึ้นมาของระบบอำนาจนิยม (Authoritarianism) ที่จะเติบใหญ่ไปสู่การเป็นระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism)

ระบบโลกาภิวัตน์จึงเป็นที่มาอันหนึ่งของการทำให้ปูตินเชื่อในอำนาจปกครองของเขา ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเขาต่อมาด้วย

ทศวรรษที่ผ่านมา นาโตด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ ได้ขยายหรือส่งเสริมการรับสมาชิกใหม่ๆ จากแถบยุโรปกลางและตะวันออกมากขึ้นจนถึงพรมแดนของรัสเซียกับโปแลนด์ นี่คือนโยบายนาโตที่ปูตินไม่เคยเห็นด้วยเลยนับแต่แรก เขามองว่าเป็นการทำลายรัสเซีย ไม่ใช่แค่สมัยสหภาพโซเวียต แต่กลับไปถึงสมัยจักรวรรดิเลย เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตยและเสรีภาพในบรรดารัฐยุโรปตะวันออกและกลางไปถึงบอลติคในการปฏิวัติสี ประเด็นสำคัญที่ปูตินเริ่มศึกษาวิเคราะห์ได้แก่ ประสบการณ์ของการที่นาโต ยุโรปและสหรัฐฯ ใช้กองกำลังในการแทรกแซงประเทศอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน ในนามของการป้องกันและสร้างสันติภาพแก่พลเรือน เช่นการใช้นาโตบุกโคโซโวในยูโกสลาเวีย ถล่มลิเบียของกัดดาฟี โดยที่รัสเซียเข้าร่วมด้วย ปูตินตอนหลังบอกว่าถูกหลอกให้ร่วม มีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยกำลัง (regime change) ทั้งหมดนี้จะกลายมาเป็นแบบฉบับที่รัสเซียสมัยปูตินจะใช้ต่อไป

มาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน คือปัญหารัฐจอร์เจียและยูเครนซึ่งอยู่ติดกับรัสเซีย เมื่อรัฐเหล่านี้เริ่มหาทางร่วมกันอียูและนาโต รัสเซียก็ปฏิบัติการทันที บุกจอร์เจีย ทำลายแผนการดังกล่าว เมื่อการปฏิวัติสีส้มในยูเครนล้มประธานาธิบดีที่เป็นสายรัสเซียลงไป มอสโกก็ใช้กำลังผนวกไครเมียและสนับสนุนกบฏแยกดินแดนในดอนบาส กระทั่งมาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่เป็นดีเดย์ของปูตินในการเผด็จศึกยูเครนให้ราบคาบเสียที ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดสงคราม มีความขัดแย้ง ไม่ลงรอยและต่อสู้ปะทะกันมาก่อนแล้วระหว่างพลังการเมืองในรัฐกับอำนาจเหนือรัฐของรัสเซียที่พยายามรักษาความเป็นใหญ่ของตัวเองเหนือรัฐข้างบ้านนี้เอาไว้

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจมากคือ รัสเซียเป็นจักรวรรดิมาก่อนและไม่เคยเป็นรัฐชาติในแบบยุโรปตะวันตก ไม่เคยผ่านการเป็นรัฐประชาชาติที่รวมหลายชนชาติเข้ามาด้วยกัน ลัทธิชาตินิยมเกิดขึ้นในรัสเซียสมัยจักรวรรดิของพระเจ้าซาร์ในศตวรรษที่ 19 เรียกกันว่า ‘ลัทธิชาตินิยมทางการ’ (Official nationalism) คือสร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองไม่ใช่จากประชาชนข้างล่าง

หลังจากรัสเซียถูกนโปเลียนบุกประเทศ พวกขุนนางเสนอพระเจ้าซาร์ว่าจักรวรรดิใหม่ต้องปกครองบนพื้นฐานของสามเสาหลักได้แก่ อัตตาธิปไตย (Autocracy) ศาสนาออร์โธดอกซ์ (Orthodoxy) และชาติ (Nationality-natsionalnost) สองอย่างแรกมีอยู่ก่อนแล้วในจักรวรรดิรัสเซีย มีแต่อันที่สามที่ยังไม่มีและหวังว่าจะสร้างขึ้นมาได้

ตอนนั้นครึ่งจักรวรรดิ คนรัสเซียส่วนใหญ่ยังเป็นทาสกสิกร (serf) และกว่าครึ่งพูดภาษาแม่ที่ไม่ใช่รัสเซีย จนถึงสมัยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ที่การทำให้เป็นรัสเซียเป็นนโยบายของรัฐบาลราชวงศ์ หลังจากที่ลัทธิชาตินิยมยูเครน ฟินแลนด์ และอื่นๆ ได้ก่อตัวขึ้นหมดแล้วภายในจักรวรรดิ ที่ตลกคือนโยบายการทำให้เป็นรัสเซีย กลับนำไปสู่การกดทับและทำลายชาตินิยมท้องถิ่นลง ห้ามพูดภาษาแม่ ให้พูดในภาษารัสเซีย ด้วยความหวาดกลัวความคิดลัทธิชาตินิยมท้องถิ่นว่ามันกระเทือนความขอบธรรมของอำนาจศูนย์กลาง การออกมาประกาศของปูตินว่า ยูเครนไม่เคยเป็นชาติจริงๆ เลย ก็สะท้อนให้เห็นถึงรากของความขัดแย้งในคติความเป็นชาติ ที่เกิดขึ้นในรัสเซียตั้งแต่สมัยจักรวรรดิพระเจ้าซาร์มาถึงปัจจุบัน เราจึงไม่เคยได้ยินได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิชาตินิยมรัสเซีย’ (Russian Nationalism) อัตลักษ์ความเป็นชาติก็ไม่มี สมัยสหภาพโซเวียตก็ไม่รับความเป็นรัฐอิสระของจอร์เจียและยูเครน แต่เลนินตอนแรกยอมให้เป็นรัฐเอกราช เพราะหวังจะใช้เป็นบันไดไปขยายการปฏิวัติสังคมนิยมเข้าไปในยุโรป สตาลินไม่เห็นด้วย ยูเครนจึงถูกเล่นงานจากมอสโกมาแต่นั้น

สุดท้ายรัสเซียแต่โบราณ เป็นอาณาจักรภาคพื้นดินที่มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โตมาก แต่ก็ถูกมหาอำนาจจากภายนอกจากมงโกล (ตาต้าร์) และยุโรปบุกโจมตีได้ แต่ก็ยึดครองไม่ได้ (ยุคแรกตาตาร์ยึดตอนใต้ได้เป็นศตวรรษเลย) เพราะสภาพภูมิประเทศดังกล่าว พัฒนาการทางเศรษฐกิจในรัสเซียจึงไม่เท่ากัน มีเกษตรกรรมที่ล้าหลัง ทั้งหมดนี้ทำให้การใส่อาณาจักรรัสเซียเข้าไปในกรอบโมเดลของระบบโลกหรือระบบระหว่างประเทศใดๆ ล้วนประสบความยากลำบากและไม่ค่อยบรรลุผลมากนัก

นี่เองที่ผมสรุปว่า ปูตินจึงไม่มีมโนทัศน์เรื่องชาติที่เป็นชุมชนจินตกรรม (Imagined Communities) มีแต่จักรวรรดิจินตกรรม (Imagined Imperial) ในนามของ ‘สหภาพยูเรเชีย’

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save