fbpx

‘การเมืองในยุคอันวาร์ อิบราฮิม’ คุยกับปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง เมื่อมาเลเซียอยู่บนความไม่แน่นอน

ภูมิทัศน์ทางการเมืองของมาเลเซียในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและผันผวนอย่างไม่เคยมีมาก่อน เห็นได้จากความโกลาหลจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การประกาศลาออกของผู้นำ และการยุบสภา นำมาสู่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งได้คำนิยามว่า ‘บิดาแห่งความไม่แน่นอนทั้งปวง

ความปั่นป่วนของการเมืองมาเลเซีย ได้แบ่งขั้วการเมืองออกเป็น ‘สามขา’ คือกลุ่มแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapun – PH) สนับสนุนโดยคนหลากหลายเชื้อชาติ, แนวร่วมบาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional – BN) สนับสนุนโดยคนเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มภูมิบุตร (Bumiputera) และแนวร่วมเปอริกาตัน เนชันแนล (Perikatan Nasional – PN) สนับสนุนโดยคนเชื้อสายมลายู การแย่งชิงอำนาจของ 3 แนวร่วมทำให้ชาวมาเลเซียเบื่อหน่ายการเมือง แม้แต่ฐานคะแนนเสียงของแต่ละฝั่งก็มีโอกาสเกิดเสียงสวิงได้เสมอ รวมถึงความยากที่จะหยั่งเสียงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีการปลดล็อกให้ผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้งได้ ทำให้บรรยากาศความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ฉากใหม่ของมาเลเซียเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อแนวร่วม PH คว้าที่นั่งสูงสุดในสภา และอันวาร์ อิบราฮิม สามารถรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

อันวาร์ อิบราฮิม เป็นนักการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองมาเลเซียมาหลายสิบปี เขาเผชิญทั้งช่วงขาขึ้น-ขาลง เฉียดเข้าใกล้ตำแหน่งนายก และเข้าออกเรือนจำอยู่หลายหน แต่ก็ไม่เคยหลุดวงโคจรทางการเมือง การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอันวาร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความท้าทายจากรอบทิศทาง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความแตกแยกภายในชาติ จะทำให้เขาไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตา

101 ชวน ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซียและนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) มาร่วมพูดคุยถึงผลการเลือกตั้งและวิเคราะห์ถึงฉากทัศน์การเมืองแห่งความไม่แน่นอนของมาเลเซียในยุคสมัยของอันวาร์ อิบราฮิม

หมายเหตุ : เก็บความบางส่วนจาก 101 One-on-One Ep.284 ‘มาเลเซียยุคอันวาร์ บนการเมืองแห่งความไม่แน่นอน’ กับ ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ดำเนินรายการโดย วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 15 : ธรรมชาติใหม่ของระบบพรรคและการเมืองอัตลักษณ์

เมื่อพิจารณาแนวทางการหาเสียงพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคยังคงยึดการเมืองอัตลักษณ์ชัดเจน ในแนวร่วม PN จะพบว่าพรรค Malaysian Islamic Party (PAS) มีการผูกโยงเชื้อชาติเข้ากับศาสนา โดยชูแนวคิด “มลายูที่ดีคือผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม” อีกทั้งยังใช้ยุทธศาสตร์โจมตีพรรค Democratic Action Party (DAP) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม PH ที่มีฐานเสียงเป็นคนจีนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และยังโจมตีชาวมลายูที่สนับสนุนแนวร่วม PH ของอันวาร์ว่าเป็นพวกทรยศต่อศาสนา ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียง มูยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) หัวหน้าพรรค Bersatu ที่อยู่ในแนวร่วม PN กล่าวโจมตีพาดพิง PH ว่าไม่ควรให้ชาวยิวและคริสเตียนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ปรางค์ทิพย์ชี้ว่านี่คือการเมืองอัตลักษณ์แบบเปิดหน้าชน และมีการนำประเด็นศาสนามาร่วมด้วย

จนกระทั่งผลการลงคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย ที่ไม่มีแนวร่วมใดสามารถคว้าที่นั่งในสภาได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือกล่าวได้ว่าไม่มีแนวร่วมใดกุมชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยแนวร่วม PH ของอันวาร์ ได้ที่นั่งสูงสุดไป 82 ที่นั่ง แต่หากพิจารณาเทียบกับที่นั่งที่ PH ได้ เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ในปี 2008 ก็ถือว่าได้ที่นั่งลดลง

จำนวนที่นั่งในสภาที่ไม่ได้ห่างกันมากของแต่ละพรรคยังสะท้อนด้วยว่าหมดยุคครองอำนาจนำในสภาของพรรคจากกลุ่ม BN อย่างอัมโน (United Malay National Organisation – UMNO) จากที่เคยครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเขาได้ไปเพียง 30 ที่นั่ง ตกมาเป็นลำดับที่ 3 ปรางค์ทิพย์วิเคราะห์ว่าความนิยมที่ถดถอยของแนวร่วม BN เกิดจากมลทินคดีทุจริต 1MDB และการคอร์รัปชันของผู้นำพรรค อีกประการคือถูกแย่งคะแนนเสียงโดยแนวร่วมมลายูนิยมอย่าง PN ที่คะแนนพุ่งเกินคาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้ที่นั่งในสภาไปถึง 73 ที่นั่ง แซงขึ้นมาเป็นลำดับที่ 2 ส่วนแนวร่วมที่เลือนหายไปจากสภาเลยคือ Gerakan Tanah Air (GTA) ซึ่งนำโดยอดีตนายกฯ มาเลเซียอย่างมหาเธร์ ปรางค์ทิพย์มองว่านอกจากการถูก PN แย่งคะแนนเสียงชาวมลายูไปแล้ว มหาเธร์ยังถูก ‘ลงโทษ’ จากประชาชนที่มองว่าเป็นต้นตอของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในรอบ 4 ปีมานี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงที่นั่งของแต่ละแนวร่วม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง การช่วงชิงอำนาจในการบริหารประเทศยังดำเนินไปด้วยพรรคการเมือง โดยไม่มีสถาบันอื่นมาแทรกแซง ปรางค์ทิพย์มองปรากฏการณ์นี้ว่า “ระบบพรรคการเมืองของมาเลเซียยังแข็งแรงอยู่ แต่มีการเปลี่ยนธรรมชาติภายใน”

เหตุผลที่ธรรมชาติภายในเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะแม้แนวร่วม PH ได้ที่นั่งในสภามากที่สุดตามคาด แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นเสียงข้างมากในสภาที่มีทั้งหมด 222 ที่นั่ง การแข่งขันหาแนวร่วมอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลจึงเกิดขึ้น ความเป็นไปได้คือ BN ที่นำโดยพรรค UMNO และแนวร่วม PN นำโดยอดีตนายกมูยีดดีน ยาซซีน ที่สนับสนุนแนวคิดมลายูนิยม มีแนวโน้มที่น่าจะรวมเสียงกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลิกเมื่อ PH แนวร่วมที่มีแนวคิดการเมืองหลากเชื้อชาติ สามารถรวมเสียงกับ BN ได้ ทำให้เกิดสิ่งผิดคาดคืออันวาร์ได้ขึ้นสู่เก้าอี้นายก ปรางค์ทิพย์มองว่าชัยชนะครั้งนี้จะสามารถปลุกความกระตือรือร้นของผู้สนับสนุนอันวาร์ได้อีกครั้ง แต่กองเชียร์น่าจะสนับสนุนอย่างระแวดระวังท่าทีมากขึ้น เพราะยังฝังใจกับเหตุการณ์ที่ PH ล่มหลังมีการย้ายขั้ว

ความท้าทายในการจัดตั้งรัฐบาล

การรวมเสียงจากแนวร่วมต่างขั้วระหว่าง PH และ BN ช่วยส่งอันวาร์สู่ฝั่งฝันได้ ปรางค์ทิพย์วิเคราะห์การจับมือที่คาดไม่ถึงครั้งนี้ไว้ว่า ถ้าพิจารณาจากมุมความสัมพันธ์ส่วนตัว ซาฮิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรค UMNO รู้จักมักคุ้นกับอันวาร์มาตั้งแต่สมัยอยู่พรรค UMNO ด้วยกันอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาความต้องการการขยายฐานผู้สนับสนุน ถ้า PH ไม่เลือกจับกับ BN ก็จะไม่สามารถรวมเสียงชาวมลายูมาอยู่กับแนวร่วมตัวเองได้ เพราะเมื่อพิจารณาเสียงชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลาม หรือกลุ่มภูมิบุตร ซึ่งเป็นฐานเสียงของกลุ่ม BN แล้ว นำมารวมกับ PH จะอยู่ที่ร้อยละ 44 ส่วนที่เหลือเป็นของแนวร่วมที่ได้ที่นั่งมาเป็นลำดับที่สองอย่าง PN

อีกประการคืออันวาร์เองก็วิเคราะห์ได้ว่าซาฮิดไม่สามารถร่วมงานกับมูยีดดินและพรรค PAS ได้ แต่จากการวิเคราะห์ของปรางค์ทิพย์แล้ว ยังไม่แน่ใจว่ามีเงื่อนไขอื่นๆ อยู่เบื้องหลังการจับมือครั้งนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปรางค์ทิพย์ชี้ให้เห็นว่า BN ยอมเข้าร่วมกับ PH เพราะมีสัญญาณจากสำนักพระราชวังให้สนับสนุนอันวาร์ในการจัดตั้งรัฐบาล

โดยทั่วไปแล้ว รัฐธรรมนูญมาเลเซียระบุบทบาทและพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย หรือที่เรียกกันว่า ‘อากง’ ว่าพระราชาธิบดีเป็นเสมือนตราประทับเมื่อมีการแต่งตั้งรัฐมนตรี ในสภาวะปกติที่เคยเป็นมา คือพรรค UMNO ชนะมาโดยตลอด อากงจึงไม่ได้มีบทบาทนอกเหนือไปจากประทับตรา แต่ในสภาวะที่การเมืองมาเลเซียเดินมาถึงจุดที่ไม่ปกติ ดังที่เกิดขึ้นคือไม่มีแนวร่วมใดได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่ง อากงจะมีสิทธิอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มแนวร่วม ที่ทำให้พระองค์ทรงเชื่อว่าจะสามารถรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า สภาวะที่ไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งที่สุด ช่วยเปิดทางให้สถาบันสุลต่านขึ้นมามีอำนาจนั่นเอง

ด้านการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี สิ่งที่น่าจับตามองที่สุดคือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียมองว่าหากอันวาร์แต่งตั้ง ซาฮิด ฮามิดี มานั่งในตำแหน่งนี้ ก็ถือว่าเป็นการ ‘ฆ่าตัวตายทางการเมือง’ เพราะซาฮิดเองมีคดีคอร์รัปชันติดตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่ซาฮิดในฐานะประธานพรรค UMNO ยังอยู่ข้างอันวาร์ จะช่วยกุมทิศทางเสียงในพรรค UMNO ที่ตอนนี้แตกเป็นฝั่งคือ กลุ่มผู้ถูกฟ้องร้องในคดีทุจริต (Court Cluster) เช่นอดีตนายกฯ นาจิบ ราซัก (์Najib Razak) และกลุ่มที่มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี (Cabinet Cluster) นำโดยอดีตนายกฯ อิสมาอิล ซาบรี ยาคอป (Ismail Sabri Yaakob) ให้ยกมือเห็นชอบกับนโยบายของ PH ได้ หากซาฮิดหลุดจากตำแหน่งในการเลือกตั้งประธานพรรค UMNO ในเดือนหน้า เส้นทางการเมืองของอันวาร์ก็อาจจะไม่ราบรื่นนัก อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่กว่าการจัดตั้งรัฐบาลในทัศนะของปรางค์ทิพย์ คือการประคองไม่ให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศสุดโต่งทั้งทางศาสนาและเชื้อชาติ

ทิศทางการเมืองมาเลเซียใต้ร่มเงาอันวาร์ อิบราฮิม  

เวลากว่า 40 ปีที่อันวาร์โลดแล่นอยู่ในการเมืองมาเลเซีย มอบบทเรียนให้เขาเจนสนามพอที่จะไม่เดินหลงทิศซ้ำสอง อันวาร์โดดเด่นมาด้วยการชูนโยบายที่เน้นปฏิรูปการเมือง (Reformasi) มาตั้งแต่หลังากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียสิ้นสุดยุคเผด็จการซูฮาร์โต ทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ 14 เมื่อปี 2018 แนวร่วม PH ชนะอย่างถล่มทลาย เปิดทางให้อันวาร์ผลักดันการปฏิรูปอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปนโยบายที่เอื้อสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มภูมิบุตร แต่ในปัจจุบัน นักวิเคราะห์ต่างมองว่าอันวาร์ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปอย่างสุดพลังได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิเช่นนั้นจะเสียฐานเสียงกลุ่มภูมิบุตรที่มีไม่มากอยู่แล้วให้กับแนวร่วมมลายูนิยม PN ไปเสียหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งรัฐบาลแล้ว ประเด็นเร่งด่วนที่อันวาร์จะต้องแก้คือปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องจากการพังครืนของการค้าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก้าวแรกที่อันวาร์สามารถทำได้คือการตั้งคณะกรรมการบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อขานรับกับความต้องการของประชาชนที่สะท้อนผ่านโพลต่างๆ อันวาร์ยังเคยนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในช่วงทศวรรษ 1990s ที่มาเลเซียก็เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกับไทย เราจึงพอบอกได้ในเบื้องต้นจากการแก้ปัญหาในอดีตว่าอันวาร์มีแนวคิดนิยมตลาดเสรี ปรางค์ทิพย์เสริมว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่เป็นรูปธรรมที่สุดและทำง่ายที่สุด เนื่องจากปัญหาอื่นๆ เช่น ด้านเชื้อชาติและศาสนา จะต้องเล่นเกมยาวโดยการโน้มน้าวใจ

ด้านเสถียรภาพของรัฐบาล ปรางค์ทิพย์มองว่า กฎหมายป้องกันการย้ายพรรค (anti-hopping law) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะช่วยเป็นหลักประกันเสถียรภาพรัฐบาลไม่ให้ตกไปสู่สภาวะอลหม่านเฉกเช่นหลังวิกฤตโรงแรมเชอราตัน (Sheraton Move) ในปี 2020 ได้ระดับหนึ่ง โดยกฎหมายดังกล่าวระบุไว้ว่า การย้ายพรรคสามารถทำได้ แต่จะต้องหมดสิทธิ์การเป็นสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้ลึกอีกชั้นจะพบช่องโหว่ คือกฎหมายไม่ได้ห้ามการย้ายแนวร่วม

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน อันวาร์น่าจะได้รับการคาดหวังให้แก้ไขปัญหาและสมานรอยแผลเชื่อมโยงสายสัมพันธ์หลายอย่าง เช่น การจัดการกลุ่มสุดโต่งของมาเลเซีย ซึ่งเคยก่อเหตุระเบิดที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ปรางค์ทิพย์ชวนสังเกตว่าผู้นำคนแรกที่ต่อสายมาแสดงความยินดีคือ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด (Joko Widodo) แห่งอินโดนีเซีย ส่วนความสัมพันธ์กับไทย โดยเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรางค์ทิพย์ชี้ว่าอาจจะมองภาพได้ไม่ชัดนัก แต่ก็สามารถบอกได้ในเบื้องต้นว่าอันวาร์น่าจะมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อรัฐบาลไทยและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด บทบาทที่อาจจะคาดหวังได้จากอันวาร์คือรัฐบาลไทยเชิญอันวาร์มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการเจรจา

เมื่อถามว่าไทยเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการเลือกตั้งของมาเลเซียในครั้งนี้ ปรางค์ทิพย์มองว่าไทยควรวิเคราะห์ว่ามาเลเซียทำอย่างไรให้ประชาชนยังศรัทธาในประชาธิปไตยและยังเชื่อในเสียงของตัวเอง แม้จะผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่สร้างความห่อเหี่ยวมาหลายปี ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ออกมาลงคะแนนเสียงเกือบ 74% สูงกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ส่วนพรรคการเมืองไทยก็ควรเรียนรู้แนวทางการสร้างสถาบันพรรคการเมืองให้เข้มแข็งจากฐานรากด้วย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save