fbpx

เลือกตั้งอิตาลี 2022: เมื่อกระแสนำ ‘ฝ่ายขวาสุดโต่ง’ สั่นสะเทือนยุโรป

อิตาลีกำลังเดินหน้าเข้าสู่คูหาเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 25 กันยายน 2022 หลังจากสามพรรคร่วมรัฐบาลหลักตัดสินใจถอนตัวออกจาก ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ นำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรี Mario Draghi เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

Mario Draghi ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เป็นเทคโนแครตที่ได้รับการยอมรับสูงทั้งในอิตาลีและในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะจากผลงานในฐานะอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป ผู้ประคับประคองพายุโรปผ่านวิกฤตหนี้สาธารณะและวิกฤติค่าเงินยูโรในช่วงทศวรรษ 2010 จนได้รับฉายา ‘Super Mario’ การลาออกของนายกรัฐมนตรีวัย 74 ผู้นี้หลังจากอยู่ในตำแหน่งเพียงแค่หนึ่งปีเศษและการสิ้นสุดลงของรัฐบาลแห่งชาติ จึงเปิดเส้นทางไปสู่ความไม่แน่นอนสำหรับทั้งอิตาลีและสหภาพยุโรปที่กำลังตกอยู่ในห้วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 สภาวะเงินเฟ้อและปัญหาค่าครองชีพ จนไปถึงปัญหาด้านพลังงานในยุโรปอันเป็นผลจากสงครามยูเครนในปัจจุบัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ กลุ่มการเมืองที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอิตาลีอย่างต่อเนื่องและคาดว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะเลือกตั้งคือ กลุ่มพันธมิตรพรรค ‘กลาง-ขวา’ ‘Fratelli d’Italia-Lega-Forza Italia’ โดยที่พรรค Fratelli d’italia – พรรคขวาสุดโต่งชาตินิยมได้รับคะแนนนิยมนำโด่งและกำลังจ่อเข้าสู่อำนาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอิตาลี

หรือนี่คือสัญญาณว่าฝ่ายขวาสุดโต่งกำลังจะครองอำนาจนำในการเมืองอิตาลีอย่างเต็มตัว?  

การลาออกของนายกรัฐมนตรี Mario Draghi ส่งผลสะเทือนอย่างไร? ภูมิทัศน์สนามการเมืองอิตาลีกำลังเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง? และหากรัฐบาลอิตาลีหันขวาสุดตัวจริง ชะตากรรมทางการเมือง ประชาธิปไตย และความมั่นคงของสหภาพยุโรปในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

บทความชิ้นนี้ชวนผู้อ่านทำความรู้จัก ‘การเมืองอิตาลี’ เพื่อติดตามการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ และทำความเข้าใจประเด็นที่สร้างความกังวลและความท้าทายให้แก่นานาประเทศยุโรปและโลกเสรีประชาธิปไตย

การลาออกของ ‘Super Mario’ และการสิ้นสุดของรัฐบาลแห่งชาติ

ท่ามกลางสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากปัญหาโควิด-19 ผสมกับปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองแบบแบ่งขั้วและหลากพรรคในการเมืองอิตาลี Mario Draghi ได้รับการแต่งตั้ง[1] ให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2021 ดำรงตำแหน่งหัวหน้า ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ฝ่าวิกฤติทางตันทางการเมือง โดยรัฐบาลชุดนี้เป็นการผนึกรวมพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย-กลาง-ขวา ทั้งพรรคการเมืองแบบดั้งเดิม (traditional parties) เช่นเดียวกับพรรคการเมืองแบบประชานิยม (populist parties) และพรรคการเมืองที่ชูวาระนอกระบบ (anti-system parties) เข้าไว้ด้วยกัน

ภารกิจสำคัญที่ Draghi ได้รับคือการฟื้นสภาพเศรษฐกิจและสังคมของอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนนโยบายและการปฏิรูปประเทศเพื่อรองรับและบรรลุเงื่อนไขในการรับเงินสนับสนุนและเงินกู้ในกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (NextGenerationEU) ซึ่งอิตาลีเป็นผู้ได้รับประโยชน์รายใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิก ด้วยจำนวนเงินกว่า 2 แสนล้านยูโร แผนฟื้นฟูดังกล่าวครอบคลุมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการสร้างนวัตกรรม การสนับสนุนนโยบายสวัสดิการสังคม จนไปถึงการเปลี่ยนผ่านอิตาลีไปสู่สังคมเศรษฐกิจสีเขียว

ฉะนั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี และอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปที่ผ่านประสบการณ์โชกโชนในช่วงเวลาวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแล้ว Draghi จึงได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดี Sergio Mattarella ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาอิตาลี ทั้งยังได้รับความเคารพและความคาดหวังจากผู้นำในระดับโลกว่า จะสามารถเป็นเสาหลักที่สร้างเสถียรภาพและความมั่นใจให้แก่ภาคเศรษฐกิจและประชาคมระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม 17 เดือนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดูจะเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปสำหรับการเติมเต็มความคาดหวังที่สูงลิ่ว แม้ข้อมูลการติดตามความคืบหน้า “แผนฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งชาติ” (Piano nazionale di ripresa e resilienza – PNRR) ของอิตาลีโดย OpenPNRR[2] จะชี้ว่า Draghi สามารถดำเนินการวางแผนปฏิรูปไปได้กว่า 48.9% แต่กระนั้น The Economist ก็ได้รายงานว่า ความคืบหน้าในขั้นแรกเป็นการวางแผนกรอบการลงทุนเกือบทั้งหมด ซึ่งใช้เงินในแผนฟื้นฟูฯ ไปไม่ถึง 0.0015% นั่นหมายความว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะต้องรับหน้าที่อันใหญ่หลวงในการบรรลุเงื่อนไขการปฏิรูปเพื่อรับเงินก้อนถัดๆ ไป และดำเนินแผนฟื้นฟูฯ ให้ได้ผลในทางปฏิบัติจริง[3]

ด้วยเหตุนี้เอง การลาออกของ Draghi จึงสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วยุโรป ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองรอบใหม่อาจส่งผลให้อิตาลีไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขในการรับเงินสนับสนุนและเงินกู้เพิ่มเติมจากสหภาพยุโรปได้ ในกรณีที่อิตาลีล้มเหลวการบรรลุเงื่อนไข ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจยุโรปในภาพรวมจะสูญเสียโอกาสจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมอันดับสองในภูมิภาคเท่านั้น นักวิเคราะห์ยังมองอีกว่า ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นทางด้านการเงินและการคลังที่กลุ่มประเทศยุโรปเหนือมีต่อประเทศยุโรปใต้ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่เจรจามาได้อย่างยากลำบากจึงอาจกลายเป็นหมุดหมายสุดท้ายของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ภายในสหภาพยุโรปก็เป็นได้[4]

นอกจากนี้ Marc Lazar นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านอิตาลีร่วมสมัยได้วิเคราะห์ว่า Draghi มีผลงานสำคัญในการยกระดับบทบาทของอิตาลีในเวทีการเมืองและความมั่นคงยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมีย ปูตินตัดสินใจเคลื่อนทัพบุกโจมตียูเครน Draghi ประณามการกระทำของรัสเซีย พร้อมกับให้การสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนยูเครนทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน เดินทางเข้าพบประธานาธิบดีโจ ไบเดน ณ กรุงวอชิงตันเพื่อเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกภายใต้กรอบขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และดำเนินการคว่ำบาทเศรษฐกิจรัสเซีย แม้ว่าอิตาลีจะนำเข้าและพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนมากถึง 40% ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น Draghi ยังมีบทบาทสำคัญในการประสานและสนับสนุนให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี Olaf Scholz เดินทางเยือนกรุงคีฟเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน อีกทั้งยังผลักดันให้ ‘คู่หูฝรั่งเศส-เยอรมัน’ (Franco-German tandem) เปิดทางมอบสถานะผู้สมัครเข้าเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปแก่ยูเครนอีกด้วย[5]

ฉะนั้น การลาออกของ Draghi จึงถือเป็นการสูญเสียพันธมิตรยุโรปที่สำคัญในการเผชิญหน้ากับรัสเซียในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนอิตาลีส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทางรักสันติ อันสืบเนื่องมาจากแนวคิดแบบคริสต์คาทอลิกและแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของอิตาลี[6] ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งมีความเห็นคัดค้านการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครนอีกด้วย[7] ด้วยเหตุนี้ Sébastien Maillard ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Jacques-Delors จึงกล่าวว่า “การลาออกของ Draghi ถือเป็นข่าวดีสำหรับทุกคนที่สนับสนุนปูติน”[8]

นอกจากความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคง อิตาลียังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองที่รอคอยอยู่ในอนาคต สำหรับ Teresa Coratella และ Arturo Varvelli สองนักวิเคราะห์จาก European Council on Foreign Relations ปฏิเสธไม่ได้ว่า Draghi เป็นผู้นำที่สร้างเสถียรภาพให้แก่อำนาจฝ่ายบริหาร ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาอิตาลีถือว่า “เป็นหนึ่งในสภาที่มีความเป็นประชานิยมมากที่สุด มีกระแสต่อต้านสหภาพยุโรปมากที่สุด และมีเสียงสนับสนุนปูตินและสนับสนุนรัฐบาลจีนมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป”[9]

ภูมิทัศน์ใหม่การเมืองอิตาลี

ความล้มเหลวของพรรคประชานิยมและการกลับมาของการเมืองซ้าย-ขวา?

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอิตาลีที่กำลังจะถึงนี้นับได้ว่าเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ ความท้าทายและความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก อย่างหนึ่งคือ การแก้กฎหมายเลือกตั้งอันเป็นผลการลงประชามติในปี 2020 โดยมีลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 630 เหลือ 400 คน และลดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาจาก 315 เหลือ 200 คน ทั้งหมดนี้แบ่งเป็นการเลือกตั้งแบบเขตจำนวน 1 ใน 3 และแบบสัดส่วนจำนวน 2 ใน 3 การยุบรวมเขตเลือกตั้งย่อมนำมาสู่การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการเจรจาพันธมิตรทางการเมืองและการต่อรองเลือกตัวแทนภายในกลุ่มพันธมิตรเข้าท้าชิงเก้าอี้ในเขตเลือกตั้งใหม่

แต่ที่ไร้ความแน่นอนและท้าทายที่สุดคือ ภูมิทัศน์ทางการเมืองและสมดุลอำนาจระหว่างพรรคการเมืองที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงเวลาไม่ถึง 5 ปี

หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งสภาครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2018 สองพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในสภาคือสองพรรคแนวทางประชานิยม นั่นคือพรรค Movimento 5 Stelle (M5S – Five Stars Movements – ซ้ายต่อต้านระบบ) ซึ่งได้รับคะแนน 32.68% และครองจำนวน ส.ส. 228 ที่นั่ง และพรรค Lega (League – ขวาสุดโต่งชาตินิยม) ซึ่งได้รับคะแนน 17.35% และมีจำนวน ส.ส. 125 ที่นั่ง พรรคประชานิยมทั้งสองพรรคประสบความสำเร็จในเปลี่ยนกระแสความไม่พอใจปัญหาทางการเมืองกลายเป็นคะแนนเสียงจนสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาและผลักไสพรรคการเมืองเดิมในระบบไปได้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่ครองอำนาจอยู่ก่อนหน้านี้อย่างพรรค Partito Democratico (Pd – Democrat Party – ซ้ายกลาง) และพรรค Forza Italia (FI – Go Italy – ขวากลาง) ถอยร่นกลายเป็นพรรคอันดับ 3 และ4 ด้วยจำนวน ส.ส. 112 และ 104 ที่นั่งตามลำดับ

แต่หลังจากผ่านการสลับสับเปลี่ยนรัฐบาลผสมหลายครา นับตั้งแต่รัฐบาลผสมระหว่างสองพรรคประชานิยม ‘Movimento 5 Stelle-Lega’ รัฐบาลผสมพรรคฝ่ายกลางซ้ายที่นำโดย ‘Movimento 5 Stelle-Partito Democratico’ และรัฐบาลแห่งชาติที่นำโดย 4 พรรคการเมืองใหญ่ ‘Movimento 5 Stelle-Lega-Partito Democratico-Forza Italia’ ปัจจุบันพรรค Movimento 5 Stelle กลับเหลือจำนวน ส.ส.ในสภาเพียง 100 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Lega แม้จะได้ ส.ส.เพิ่มเป็นจำนวน 131 ที่นั่ง แต่สำนักโพล Ipsos รายงานการคาดการณ์ผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2022 ว่าพรรคทั้งสองจะได้รับคะแนนเสียงลดลงเหลือ 13.4% เท่ากัน[10]

เกิดอะไรขึ้นกับสองพรรคการเมืองประชานิยมดาวรุ่งพุ่งแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาและผลักไสพรรคการเมืองเดิมในระบบ ทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาให้กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน? หรือนี่จะเป็นสัญญาณจุดจบของพรรคการเมืองแบบประชานิยมในอิตาลี?

สำหรับพรรค Movimento 5 Stelle คำอธิบายแรกคือ พรรคต้องเผชิญท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากการเป็น ‘คนด่า’ มาสู่ ‘คนทำ’ จุดเด่นของพรรคสมัยเป็นฝ่ายค้านคือ การชูวาทกรรม ‘anti-establishment’ วิพากษ์วิจารณ์ ‘ระบบการเมืองแบบเก่า’ ปัญหาคอร์รัปชันในรัฐบาลและระบบราชการ รวมไปถึงปัญหาการช่วงชิงผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาล แม้จะได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุด แต่พรรคก็ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม (มากถึง 3 ชุดในรอบ 5 ปี) และอยู่ในสถานะที่ต้องนำแนวนโยบายลงไปปฏิบัติให้ได้ผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้เงื่อนไขทางสังคมการเมืองที่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ ฐานเสียงบางส่วนจึงมองว่าพรรค Movimento 5 Stelle ได้ละทิ้งตัวตนในฐานะขบวนการทางการเมืองแบบนอกระบบ ประกอบกับการที่พรรคไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรายได้พลเมืองพื้นฐาน การจัดการปัญหาคอร์รัปชันและการหนีภาษี รวมทั้งการเปลี่ยนท่าทีต่อโครงการก่อสร้างในระดับภูมิภาคหลายโครงการนับตั้งแต่เข้าสู่อำนาจบริหารในปี 2018[11]

ในขณะเดียวกัน การสลับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาลตลอดหลายปีที่ผ่านมายังทำให้พรรค Movimento 5 Stelle กลายเป็นพรรคที่ดูราวกับไร้อุดมการณ์ นับตั้งแต่การเริ่มจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคขวาสุดโต่งชาตินิยม-ต่อต้านผู้อพยพและชาวต่างชาติอย่าง Lega ต่อมาเมื่อเกิดรอยร้าวภายในรัฐบาลในปี 2019 พรรค Movimento 5 Stelle ก็หันไปจับมือกับพรรค Partito Democratico ซึ่งเป็นพรรคซ้าย ‘ในระบบ’ การเมืองแบบเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2021 พรรค Movimento 5 Stelle ยังตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติภายใต้การนำของ Draghi ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นอดีตข้าราชการ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลีและอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป ซึ่งล้วนสวนทางกับวาทกรรมของพรรคที่ชูธงต่อต้านชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและทางการเมือง สภาวะดังกล่าวทำให้ฐานเสียงและสมาชิกพรรคหลายกลุ่มไม่พอใจและตัดสินใจลาออกจากพรรคไปเป็นจำนวนมาก อย่างกรณีล่าสุดที่ Luigi Di Maio อดีตหัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบันก็ได้ตัดสินใจแยกตัวจากพรรคไปพร้อมกับสมาชิกสภารวม 60 คน โดยกล่าวหาว่าแกนนำพรรค Movimento 5 Stelle มีท่าทีคลุมเคลือและลังเลต่อการให้การสนับสนุนยูเครนมากเกินไป[12]

นอกจากนี้ สมาชิกพรรคยังมีความไม่พอใจต่อการบริหารที่ไม่โปร่งใสภายในพรรคเอง ขณะที่พรรคสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรง มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘Rousseau’ ที่ให้สมาชิกร่วมแลกเปลี่ยนและลงคะแนนเสียงต่อมติภายในพรรค หากแต่แพลตฟอร์มดังกล่าว รวมถึงฐานข้อมูลของพรรคถูกจดทะเบียนและเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท Casaleggio ที่ปัจจุบันถือครองโดย Davide Casaleggio ลูกชายของหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการ Movimento 5 Stelle ทั้งนี้ สมาชิกสภาของพรรคยังต้องแบ่งเงินเดือนเข้าบริษัทเอกชนดังกล่าวด้วย[13]

ทางฝั่งพรรค Lega แม้ว่าจะสามารถกระพือกระแสต่อต้านผู้อพยพจนได้รับความนิยมกว่า 30% ในช่วงที่ร่วมรัฐบาลผสม ‘Movimento 5 Stelle-Lega’ ภายหลังการเลือกตั้งปี 2018 แต่ความพยายามในการผลักดันให้มีการยุบสภาเพื่อชิงเป็นประธานจัดตั้งรัฐบาลของ Matteo Salvini หัวหน้าพรรค ก็จบลงด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสม ‘Movimento 5 Stelle-Partito Democratico’ ทิ้งให้พรรค Lega กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านและสูญเสียความนิยมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พรรคยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างปีกประชานิยมที่ชูวาทกรรมอำนาจอธิปไตยของ Salvini กับปีกภูมิภาคนิยมสนับสนุนตลาดเสรีที่นำโดย Giancarlo Giorgetti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ[14]

ภายใต้บริบททางการเมืองที่สองพรรคประชานิยมแกนนำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งปี 2018 อ่อนแอลง ผลสำรวจความเห็นชี้ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ สองพรรคที่จะได้รับคะแนนสูงสุดคือพรรค Partito Democratico พรรคซ้ายกลาง และพรรค Fratelli d’Italia (FdI – Brothers of Italy) พรรคขวาสุดโต่งที่มีประวัติเกี่ยวพันกับระบอบเผด็จการฟาสชิสต์ โดยคาดการณ์ว่า พรรคทั้งสองจะได้รับคะแนนเสียง 23% และ 24% ตามลำดับ[15] ด้วยเงื่อนไขของระบบการเลือกตั้งของอิตาลีในปัจจุบันที่บีบบังคับให้ต้องมีการรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.แบบแบ่งเขต จึงทำให้ทั้งสองพรรคต้องรับบทบาทแกนนำในการเจรจาจัดทัพพันธมิตรทางการเมืองที่แบ่งออกเป็นสองขั้วซ้าย-ขวาในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้

ในกลุ่มพรรคกลางซ้าย แกนนำเจรจารวมกลุ่มคือพรรค Partito Democratico ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี Enrico Letta โดยพยายามดึงเอาพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางที่แต่ละพรรคต่างก็มีเงื่อนไขในการร่วมพันธมิตรทางการเมืองต่างกันออกไป อย่างกลุ่มพรรค Azione-+Europa (Action-+Europe) ที่ประกาศไม่ร่วมกับกลุ่ม Impegno civico (Civic Commitment) ของ Luigi Di Maio หรือพรรค Italia Viva (Italy Alive) ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi (อดีตสังกัดพรรค Partito Democratico) ที่ประกาศไม่ร่วมพันธมิตรกับพรรคใด ทั้งนี้ยังไม่นับเงื่อนไขของพรรค Partito Democratico เองที่จะไม่ร่วมมือกับพรรค Movimento 5 Stelle ในฐานะที่เป็นต้นเหตุล้มรัฐบาลแห่งชาติของ Draghi

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรกลางซ้ายชูความต่อเนื่องทางนโยบายของรัฐบาลแห่งชาติ ปัญหาการเจรจาต่อรองทางการเมืองและความไร้เอกภาพของกลุ่มพรรคฝ่ายกลางซ้ายดูจะเปิดทางให้ฝ่าย ‘กลาง-ขวา’ ที่นำโดยพรรคขวาสุดโต่งนีโอฟาสชิสต์อย่าง Fratelli d’Italia คว้าโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยความแตกต่างสำคัญในทางยุทธวิธีที่ว่า ตัดสินใจตกลงร่วมพันธมิตรก่อนแล้วเก็บความขัดแย้งทางนโยบายไว้ถกเถียงภายหลังการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มพรรคฝ่ายซ้ายตบตีเรื่องนโยบายจนไม่สามารถจับมือรวมกลุ่มพันธมิตรได้ โดยคาดว่ากลุ่มพันธมิตรพรรคฝ่ายขวา ‘Fratelli d’Italia-Lega-Forza Italia’ จะได้รับคะแนนนำโด่งถึง 46.4%[16]

Fratelli d’Italia

การจ่อเข้าสู่อำนาจนำของกระแสการเมือง ‘ขวาสุดโต่งเวอร์ชัน 2.0’

หนึ่งในแนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจภูมิทัศน์การเมืองอิตาลีและยุโรปได้อย่างน่าสนใจคือ แนวคิดที่ Steven Forti เรียกว่า ‘Extreme Right 2.0’ นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่พรรคขวาสุดโต่งในยุโรปรุ่นใหม่ละทิ้งสัญลักษณ์และกลยุทธ์แบบเก่า แล้วหันมาสนใจ ‘สงครามทางจุดยืน’ (war of position) หรือการสถาปนาอำนาจนำทางวาทกรรมและอุดมการณ์แบบขวาสุดโต่งในสังคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นชาตินิยมหรืออัตลักษณ์นิยม การฟื้นคืนอำนาจอธิปไตยแบบสมบูรณ์ การต่อต้านการ ‘รุกราน’ ของผู้อพยพและชาวมุสลิม และการต่อต้านแนวคิดสังคมแบบเปิดและพหุวัฒนธรรม

สำหรับ Forti แล้ว ‘พรรคขวาสุดโต่งเวอร์ชัน 2.0’ ในยุโรปประสบความสำเร็จในการทำให้วาทกรรมแบบขวาสุดโต่งกลายเป็นวาระปกติในพื้นที่สาธารณะและสามารถขยับเคลื่อนวาระของสังคมให้ ‘เอียงขวา’ ได้ โดยเฉพาะผ่านพรรคฝ่ายขวาดั้งเดิมที่รับเอาวาทกรรมแบบขวาสุดโต่งมาเป็นแนวนโยบายของพรรค[17]

อันที่จริง การที่พรรคขวาสุดโต่งหรือกระทั่งพรรคนีโอฟาสชิสต์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ในการเมืองอิตาลี ในทางกลับกัน ขบวนการและพรรคการเมืองแบบนีโอฟาสชิสต์มีพื้นที่และมีบทบาทในการเมืองอิตาลีนับแต่ตั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง หมุดหมายสำคัญคือการจัดตั้งพรรค Movimento Sociale Italiano (MSI – Italian Social Movement) ในปี 1946 โดยกลุ่มอดีตผู้นำระบอบฟาสชิสต์

การตัดสินใจลงแข่งในสนามการเมืองนับตั้งแต่การเลือกตั้งสภาครั้งแรกภายหลังสงคราม ทำให้พรรค Movimento Sociale Italiano กลายเป็นตัวแทน ‘ในระบบ’ ของกลุ่มคนที่ต้องการหวนคืนสู่ระบอบฟาสชิสต์ โดยพยายามลบล้างภาพลักษณ์แบบขวาสุดโต่งที่ผูกโยงกับการใช้ความรุนแรงในการเมือง (dediabolization / dedemonization) เรื่อยมา แม้ว่ายังคงแก่นแนวคิดทางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและสนับสนุนระบอบการเมืองการปกครองแบบฟาสชิสต์อยู่ก็ตาม

พรรคนีโอฟาสชิสต์ในอิตาลีเข้าสู่อำนาจทางการเมืองระดับชาติได้สำเร็จ เมื่อพรรค Forza Italia ภายใต้การนำของ Silvio Berlusconi ดึงพรรค Movimento Sociale Italiano เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตร ‘กลาง-ขวา’ และชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลในปี 1994 การจับมือรวมกลุ่มพันธมิตร ‘กลาง-ขวา’ ดำเนินเรื่อยมาถึงขั้นที่พรรคนีโอฟาสชิสต์ในร่างของ Alianza Nazionale (National Alliance) ตัดสินใจเข้ารวมกับพรรคของ Berlusconi ในปี 2009[18] กระนั้น ความขัดแย้งภายในก็ส่งผลให้อดีตแกนนำส่วนหนึ่งของ Alianza Nazionale ตัดสินใจแยกตัวออกมาตั้งพรรคที่ยังคงอุดมการณ์แบบชาตินิยมขวาสุดโต่ง-ต่อต้านผู้อพยพในนาม Fratelli d’Italia ในปี 2012 โดยมีผู้นำที่ชื่อ Giorgia Meloni นับตั้งแต่ปี 2014

พรรค Fratelli d’Italia ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งแซงพรรคคู่แข่งและพรรคร่วมพันธมิตร เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลแห่งชาติของ Draghi ด้วยเหตุนี้ พรรค Fratelli d’Italia จึงกลายเป็นศูนย์รวมเสียงฝ่ายค้านและกลุ่มที่ไม่พอใจในการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชูธงนโยบายต่อต้านผู้อพยพ จัดการปัญหาความไม่มั่นคงภายในประเทศ และการต่อต้านวาระก้าวหน้าแบบ ‘politically correct’[19] ในขณะเดียวกัน ความนิยมของพรรค Fratelli d’Italia ยังมาจากตัวผู้นำพรรค Giorgia Meloni ที่เสนอภาพลักษณ์ของตัวเองในฐานะนักการเมืองหญิงที่ชัดเจนในอุดมการณ์และมีความสามารถที่พร้อมจะบริหารอิตาลีได้

ฉะนั้น ความกังวลต่อการเลือกตั้งในปลายเดือนกันยายนจึงไม่ใช่เพียงแค่เพราะพรรคขวาสุดโต่งนีโอฟาสชิสต์เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรกับพรรคการเมืองดั้งเดิม แต่คือการที่พรรค Fratelli d’Italia ได้รับคะแนนนิยมนำมากกว่าคะแนนของสองพรรคร่วมในฝ่ายพันธมิตร ‘กลาง-ขวา’ อย่าง Lega และ Forza Italia รวมกัน นี่ทำให้พรรค Fratelli d’Italia อยู่ในสถานะแกนนำกลุ่มพันธมิตร สามารถผลักดันจุดยืนและวาระของพรรค ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หรือการสงวนท่าทีไม่เปิดรายชื่อรัฐมนตรีก่อนผลการเลือกตั้ง ยิ่งไปกว่านั้น พรรค Fratelli d’Italia ยังสามารถจองโควตาผู้สมัครสมาชิกสภาแบบแบ่งเขตไปถึง 46%

ด้วยเหตุนี้ Giorgia Meloni จึงมีโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี ภายใต้แรงต่อต้านในสนามการเมืองภายในจากทั้งพรรคฝ่ายซ้ายและกลุ่มพรรคฝ่ายกลางในห้วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง Meloni ยิ่งพยายามลบล้างภาพลักษณ์เก่าๆ ของพรรค และพยายามเน้นย้ำถึงความน่าเชื่อถือของพรรคต่อสายตาประชาคมระหว่างประเทศในฐานะพลังอนุรักษนิยมที่มีความพร้อมความสามารถและความชอบธรรมในการบริหารรัฐบาล ดังที่ได้เผยแพร่วีดีโอสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ตอบโต้ข้อกล่าวหาจากพรรคคู่แข่ง โดยกล่าวว่า “ฝ่ายขวาอิตาลีได้ละทิ้งแนวคิดแบบฟาสชิสต์ไว้กับประวัติศาสตร์มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ทั้งได้ยังประณามการทำลายประชาธิปไตยและกฎหมายต่อต้านชาวยิวที่น่าอับอายอย่างแข็งกร้าว” อีกทั้งยังโจมตีความเห็นในสื่อต่างชาติที่แสดงความกังวลว่า การเข้าสู่อำนาจรัฐบาลของ Fratelli d’Italia จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและประชาธิปไตยยุโรป โดยตอบโต้ว่าความเห็นดังกล่าว “ล้วนเป็นผลจากอิทธิพลของสื่อฝ่ายซ้ายในอิตาลีที่เสียงดังในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ แต่ถือเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในหมู่ประชาชนชาวอิตาลีเท่านั้น”[20]

‘We are ready to govern Italy’ คลิปวิดีโอสื่อสารของ Giorgia Meloni หัวหน้าพรรค Fratelli d’Italia เพื่อตอบโต้ต่อข้อครหาต่างๆ จากฝ่ายตรงข้าม

ในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ Meloni นำเสนอจุดยืนที่สนับสนุนพันธมิตรตะวันตกอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าที่สนับสนุนพันธมิตรสหภาพยุโรปและนาโตในสงครามยูเครน ดังที่เธอได้ประกาศไว้ว่า “พวกเราจะคงจุดยืนของอิตาลีและสนับสนุนประชาชนยูเครนอย่างเต็มที่ ฉันขอยืนยันว่าอิตาลีที่นำโดยพรรค Fratelli d’Italia จะเป็นอิตาลีที่น่าเชื่อถือในเวทีระหว่างประเทศ”[21] หรือในวิดีโอข้างต้นก็ยังได้เน้นย้ำบทบาทของเธอในฐานะประธานพรรค European Conservatives and Reformists Party พรรคการเมืองในสภายุโรปที่นอกจากจะรวมพรรคที่มีท่าทีต่อต้านยุโรปและมีแนวคิดแบบขวาสุดโต่งในโปแลนด์ สเปนและสวีเดนแล้ว ยังมีความร่วมมือกับพรรคอนุรักษ์นิยมของสหราชอาณาจักร พรรครีพับลิกันของสหรัฐอเมริกา และพรรคลิคุด (Likud) ของอิสราเอลอีกด้วย

ถึงกระนั้น ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนโยนก็ยังคงเผยให้เห็นจุดยืนและท่าทีแบบขวาสุดโต่ง โดยเฉพาะในประเด็นผู้อพยพ ประเด็นความมั่นคง และประเด็นความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม เช่นการคัดค้านชื่อตัวแทนผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าการแคว้นซิชิลีของพรรค Forza Italia ด้วยเหตุที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวไม่เพียงพอต่อปัญหาผู้อพยพและ “เคยขึ้นเรือ Sea Watch [องค์กรมานุษยธรรมที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเหตุเรือล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน – ผู้เขียน] ร่วมกับพรรค Partito Democratico”[22] การนำเสนอความเห็นที่เป็นกลางมากขึ้นในเพจเฟสบุ๊กแต่กลับระดมฐานเสียงผ่านกลุ่ม Telegram ให้เข้าไปปั่นกระแสคอมเมนต์ที่มีเนื้อหารุนแรง[23] รวมไปถึงการที่พรรค Fratelli d’Italia มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและร่วมสนับสนุนเครือข่ายพรรคการเมืองขวาสุดโต่งในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรค Vox ในสเปนที่มีท่าทีเห็นดีเห็นชอบกับเผด็จการฟรังโก นายกรัฐมนตรีฮังการี Viktor Orbán แห่งพรรค Fidesz ผู้สนับสนุนทฤษฎี ‘Great Replacement’ ที่เชื่อว่ามีแผนการแทนที่ประชากรและวัฒนธรรมแบบคนขาวในตะวันตกด้วยความเป็นอื่น โดยเฉพาะจากผู้อพยพชาวมุสลิม รวมไปถึง Steve Bannon ที่ปรึกษาทางความคิดของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ผลักดันเครือข่ายพรรคขวาสุดโต่งในโลกตะวันตกและได้เคยนิยาม Giorgia Meloni ด้วยความชื่นชมว่าเป็น ‘ฟาสชิสต์ – นีโอฟาสชิสต์’[24]

จากลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น พรรค Fratelli d’Italia จึงเข้าข่ายพรรคการเมืองที่ Forti เรียกว่า ‘Extreme Right 2.0’ หันมาเล่นเกมทางวาทกรรมและทางความคิด พร้อมปรับตัวให้พร้อมเข้าสู่อำนาจและจัดตั้งรัฐบาล สำหรับ Forti สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปัจจุบันคือ การแย่งชิงอำนาจนำของพรรคขวาสุดโต่งด้วยกันเอง ดังที่พรรค Fratelli d’Italia สามารถชิงการสนับสนุนและความนิยมแซงหน้าพรรค Lega พรรคขวาสุดโต่งอดีตพรรคร่วมรัฐบาลไปได้[25]

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจกลยุทธ์และยุทธวิธีของพรรคการเมืองขวาสุดโต่งในฐานะผู้กำหนดและผู้ผลักดันวาระทางการเมืองดูจะอธิบายการเมืองอิตาลีได้เพียงครึ่งเดียว เพราะเราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า จากผลการสำรวจ มีประชาชนชาวอิตาลีถึง 1 ใน 4 ที่พร้อมจะลงคะแนนเสียงให้พรรค Fratelli d’Italia และ Giorgia Meloni ทั้งนี้ อาจเพราะพรรค Fratelli d’Italia และ Giorgia Meloni ตอบโจทย์ต่อกระแสและความรู้สึก ‘ต่อต้านการเมือง’ (antipolitics) ที่ Roberto Chiarini นักประวัติศาสตร์การเมืองอิตาลีร่วมสมัยอธิบายว่า เป็นลักษณะและเป็นปัญหาการเมืองที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์การเมืองอิตาลี โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาความชอบธรรมและความเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองและนักการเมืองอาชีพที่มักเจรจาผลประโยชน์ข้ามหัวผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ปะปนไปกับข้อครหาการทุจริตคอร์รัปชัน[26]

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นผลลัพธ์ทางการเมืองที่ย้อนแย้ง นั่นคือความนิยมของ Draghi ในฐานะเทคโนแครตที่มีประวัติที่มานอกสนามการเมืองอาชีพที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนสูงถึงกว่า 60% ทั้งยังได้รับความนิยมสูงขึ้นอีกภายหลังการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล[27] และความนิยมของ Giorgia Meloni และพรรค Fratelli d’Italia ในฐานะพรรคการเมืองต่อต้านระบบ-ต่อต้านการเมืองที่เข้าแทนที่พรรคประชานิยมนอกระบบอย่าง Movimento 5 Stelle ซึ่งได้ผันตัวกลายเป็นพรรค ‘ในระบบ’ ไร้อุดมการณ์ไปแล้ว ดังที่ Meloni กล่าวว่า “กว่าสองปี เราได้รัฐบาลที่พลเมืองไม่ได้ลงคะแนนเลือก แต่ได้รัฐบาลที่เป็นผลมาจากการตกลงใต้โต๊ะระหว่างพรรคที่ต่อสู้กันมาก่อนในสนามเลือกตั้ง”[28]

อนาคตประชาธิปไตยยุโรป อนาคตสหภาพยุโรป

อิตาลีกำลังเดินเข้าสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ในขณะที่ยังคงมีความคลุมเครือในรายละเอียดการจัดตั้งรัฐบาลและแนวนโยบายของกลุ่มพันธมิตรกลางขวาที่คาดว่าจะชนะการเลือกตั้ง ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เผยให้เห็นในสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งนี้ล้วนส่งผลต่อเนื่องและผูกพันต่ออิตาลีและยุโรปไปในอนาคต โดยสามารถพิจารณาเป็นสามส่วนได้ดังนี้

ประการแรก การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกบททดสอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในอิตาลีและยุโรป แน่นอนว่าประวัติของพรรค Fratelli d’Italia ที่เกี่ยวพันกับอดีตผู้นำระบอบฟาสชิสต์ย่อมสร้างความกังวลให้แก่โลกประชาธิปไตยเสรี ในแง่หนึ่ง ภัยคุกคามจากรัฐบาลที่นำโดยพรรค Fratelli d’Italia อาจไม่ได้มาในรูปของการรื้อฟื้นสถาบันและกลไกในระบอบฟาสชิสต์ตามที่พรรคพยายามปฏิเสธ (แม้ว่าจะยังคงสัญลักษณ์บางประการ อย่างตราเปลวเพลงสามสีที่ชวนให้หวนนึกถึงระบอบฟาสชิสต์ก็ตาม) ดังที่ Lorenzo Castellani นักรัฐศาสตร์ชาวอิตาเลียนชี้ว่า “พรรค Fratelli d’Italia เป็นพรรคที่เกิดขึ้นและเติบโตภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และไม่เคยปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอิตาลี”[29]

แต่ที่ชัดเจนคือพรรค Fratelli d’Italia ถือเป็นภัยคุกคามต่อคุณค่าและวัฒนธรรมทางการเมืองผ่านการทำให้แนวความคิดและนโยบายแบบขวาจัดกลายเป็นวาระปกติ หรือแม้กระทั่งกลายเป็นแนวคิดและนโยบายกระแสหลักในพื้นที่สาธารณะและในพื้นที่ทางการเมือง บั่นทอนสามัญสำนึกและแนวปฏิบัติแบบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะสิทธิผู้อพยพ การเคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย และนิติรัฐและนิติธรรม ดังที่เริ่มเห็นได้จากความเปลี่ยนแปลงในข้อถกเถียงสาธารณะในประเทศฝรั่งเศส หรือที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศยุโรปกลางอย่างฮังการีภายใต้นายกรัฐมนตรี Viktor Orbán ด้วยเหตุนี้ วาทกรรมอนุรักษ์นิยมขวาสุดโต่งของ Meloni ตลอดจนสายสัมพันธ์ที่เธอมีกับนานาพรรคขวาสุดโต่งในทวีปยุโรปจึงสร้างความกังวลต่อพลวัตระหว่างพลังเสรีประชาธิปไตยและพลังประชาธิปไตยไม่เสรีในทวีปยุโรป ซึ่งรวมไปถึงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มพรรคการเมืองในสภายุโรปที่เส้นแบ่งระหว่างพรรคขวาอนุรักษ์นิยมและพรรคขวาสุดโต่งอำนาจนิยมกำลังเลือนลางลงไปทุกที

ในขณะเดียวกัน การตกต่ำของพรรคประชานิยมอย่างพรรค Movimento 5 Stelle หรือพรรค Lega ไม่ได้เป็นสัญญาณจุดจบของการเมืองแบบประชานิยม ในทางตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่าปัญหาความชอบธรรมและความเป็นตัวแทนของประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังเป็นปัญหาและความท้าทายต่อเสถียรภาพในระยะยาวของการเมืองอิตาลี กระแสความรู้สึก ‘ต่อต้านการเมือง’ ยังคงเป็นสัญญาณเตือนให้ระบอบการเมืองเสรีประชาธิปไตยและพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาต้องปรับตัวและตอบสนองต่อข้อทวงติงและข้อเรียกร้องของประชาชนที่รู้สึกแปลกแยกและตัดขาดจากการการมีส่วนร่วมและการมีสิทธิมีเสียงทางการเมือง อย่างที่ Roberto Chiarini ได้เสนอไว้ว่า ความเบื่อหน่ายและความรังเกียจต่อกระบวนการทางการเมืองที่เป็นอยู่สามารถผันกลายมาเป็นกระแสและพลังทางการเมืองที่เรียกร้องและทวงคืน ‘อำนาจอธิปไตยของปวงชน’ ได้ กระนั้น ผลสำเร็จในการเรียกร้องทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางและข้อเสนอทางการเมืองและทางสถาบันกลไกที่ล้วนต้องเผชิญต่อความท้าทายของสภาพสังคมความเป็นจริง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการช่วงชิงทางการเมือง[30]

ประการที่สอง ดุลอำนาจภายหลังการเลือกตั้งอาจส่งผลต่อแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในระยะยาว ทั้งนี้ เพราะนอกจากประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองและความสามารถของผู้นำรัฐบาลในการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายในอิตาลีเพื่อให้บรรลุเงื่อนไขในการรับเงินสนับสนุนและเงินกู้จากสหภาพยุโรปแล้ว พรรคการเมืองในกลุ่มพันธมิตร ‘กลาง-ขวา’ ไม่ว่าจะเป็น Lega, Forza Italia หรือแม้แต่ Fratelli d’Italia เองก็ล้วนพูดถึงการขอปรับแก้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างอิตาลีและยุโรป แม้ว่าจะยังคงความคลุมเครือในทิศทางและในรายละเอียดก็ตาม ด้วยเหตุนี้ นักการเมืองรุ่นใหญ่ในอิตาลีจึงต่างออกมาเตือนในประเด็นดังกล่าว อย่างที่ Paolo Gentiloni อดีตนายกรัฐมนตรีและกรรมธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและการเงินกล่าวว่า “หากมีประเด็นใดที่จะต้องปรับแก้ บรัสเซลส์เปิดประตูต้อนรับอยู่เสมอ … แต่ไม่ใช่การรื้อแก้แผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดชะตาของเศรษฐกิจยุโรปใหม่ทั้งหมด”[31] หรือดังที่ Draghi ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการได้กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือและความร่วมมือของอิตาลีในสหภาพยุโรปถือเป็น ‘ผลประโยชน์แห่งชาติ’ ของอิตาลี[32] ฉะนั้น ในทัศนะของ Lorenzo Castellani ความท้าทายของความพยายามรื้อฟื้นการเจรจาแผนฟื้นฟูฯ ของอิตาลีจึงอยู่ที่ความสามารถของผู้นำรัฐบาลคนถัดไปในเจรจาร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มีผู้นำมาจากพรรคสายกลางหรือพรรคฝ่ายซ้าย เพื่อสร้างพันธมิตรในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูฯ ในบริบทใหม่อันเป็นผลจากสงครามยูเครน[33]

ประการที่สาม ผลการเลือกตั้งในอิตาลีจะส่งผลต่อความเหนียวแน่นภายในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปในการเผชิญหน้าต่อรัสเซียในสงครามยูเครน การสิ้นสุดของรัฐบาล Draghi ถือเป็นการสูญเสียพันธมิตรสำคัญที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนยูเครนทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการทหารอย่างแข็งขัน แต่ในขณะที่ Giorgia Meloni ประกาศมาโดยตลอดว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรค Fratelli d’Italia จะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนและผลักดันความร่วมมือในกรอบของนาโต พรรค Lega และ Forza Italia กลับมีประวัติเป็นมิตรกับรัสเซีย และได้แสดงความลังเลต่อการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์แก่รัฐบาลยูเครนและต่อการคว่ำบาทรัสเซียทางเศรษฐกิจ ทั้งยังต้องเผชิญคำถามว่าด้วยความเกี่ยวข้องของรัสเซียในการตัดสินใจถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลของทั้งสองพรรค สืบเนื่องมาจากการเปิดเผยการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ของสถานทูตรัสเซียกับที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของ Matteo Salvini และระหว่างเอกอัครราชทูตรัสเซียกับ Silvio Berlusconi ก่อนหน้าการตัดสินใจถอนตัวออกจากรัฐบาลแห่งชาติ[34] ฉะนั้น หากพรรค Fratelli d’Italia ได้คะแนนเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การจัดการรับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลให้สอดคล้องไปกับแนวทาง ‘โปรยุโรป-โปรนาโต’ ที่ได้ประกาศสร้างความมั่นใจไว้กับพันธมิตรต่างประเทศจะกลายเป็นประเด็นท้าทายต่อไป

อย่างไรก็ดี ในประเด็นสองประเด็นหลัง รัฐบาลชุดถัดไปจะตกอยู่ในสถานะที่ต้องแบกรับมรดกทางนโยบายจากรัฐบาล Draghi ดังที่นักหนังสือพิมพ์ Dario Di Vico ได้วิเคราะห์ไว้ว่า Draghi ได้วางรากฐานทางด้านจุดยืนในทางการต่างประเทศ ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และด้านการดำเนินแผนการฟื้นฟูฯ ของประเทศอิตาลีไว้อย่างหนักแน่น การตัดสินใจเดินสวนทางของรัฐบาลในอนาคตจึงจะต้องเผชิญกับต้นทุนอันใหญ่หลวงทั้งในด้านความสำเร็จทางนโยบายและในทางการเมืองที่ประชาชนจำนวนมากยังคงเห็นชอบและสนับสนุนนโยบายของ Draghi[35]

ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ หน้าตาและท่าทีของรัฐบาลกลาง-ขวาอิตาลีต่อทั้งสามประเด็นจะเป็นเช่นไร เรา ยุโรปและโลกเสรีประชาธิปไตยต้องเฝ้าติดตามผลการเลือกตั้งอิตาลีในวันที่ 25 กันยายนอย่างใกล้ชิด

เชิงอรรถและอ้างอิง


[1] รัฐธรรมนูญอิตาลีระบุให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีและผ่านการรับรองจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานภาพเป็น ส.ส. ในกรณีปกติที่พรรคการเมืองสามารถเจรจาจัดตั้งรัฐบาลได้ ตามธรรมเนียมหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะได้รับการรับรองจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่เกิดวิกฤต รัฐบาลล่มหรือไม่สามารถจัดสูตรตั้งรัฐบาลผสมได้ มักจะมีการเสนอชื่อบุคคลนอกที่คาดว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสภามากพอ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นผู้ที่มีภูมิหลังเป็นเทคโนแครต เช่น การเสนอชื่อให้ Giuseppe Conte ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังสภาที่มาจากการเลือกตั้งปี 2018 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรืออย่างกรณีรัฐบาลแห่งชาติปี 2021 ที่เสนอให้ Mario Draghi เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีสาเหตุเพราะรัฐบาลล่มและไม่สามารถจัดสูตรรัฐบาลผสมใหม่ที่ได้รับเสียงไว้วางใจมากเพียงพอจากสภาได้

[2] OpenPNRR, accessed August 2, 2022.

[3]Italy’s next government may be more nationalist than Europe likes,” The Economist, July 28, 2022.

[4] Virginie Malingre, “L’après-Draghi inquiète les Européens,” Le Monde, July 22, 2022.

[5] Marc Lazar, “Le tandem italien : Sergio Mattarella et Mario Draghi,” Institut Montaigne, July 12, 2022.

[6] Marc Lazar, “Le tandem italien : Sergio Mattarella et Mario Draghi,” Institut Montaigne, July 12, 2022.

[7] Cécilia Vidotto Labastie and Georgina Wright, “Quel avenir pour l’Europe après Mario Draghi,” Institut Montaigne, July 27, 2022.

[8] Virginie Malingre, “L’après-Draghi inquiète les Européens,” Le Monde, July 22, 2022.

[9] Teresa Coratella and Arturo Varvelli, “Whatever it breaks: Draghi’s downfall and the future of Italy,” European Council on Foreign Relations, July 22, 2022.

[10]I sondaggi politici di Pagnoncelli sulle intenzioni di voto degli italiani: elezioni politiche 2022, FdI primo parito seguito dal Pd,” Ipsos, September 1, 2022; Nando Pagnoncelli, “FdI al 24%, Pd un punto sotto, Lega e 5 Stelle appaiati,” Corriere della sera, Septemer 1, 2022.

[11] Jérôme Gautheret, “En Italie, le Mouvement 5 étoiles de Luigi Di Maio sans résultats et déboussolé,” Le Monde, November 13, 2018.

[12] Jérôme Gautheret, “En Italie, la chute inexorable du Mouvement 5 étoiles,” Le Monde, June 28, 2022.

[13] Eric Jozsef, “Le Mouvement 5 Etoiles et sa ligne anti-système en chute libre en Italie,” RTS, January 14, 2020; Christophe Ayad, “En Italie, l’invention d’un populisme 2.0,” Le Monde, May 22, 2019. .

[14] Fabien Gibault, “Chute du gouvernement et élections anticipées : où va l’Italie?IRIS – Institut de Relations Internationales et Stratégiques, July 25, 2022.

[15]I sondaggi politici di Pagnoncelli sulle intenzioni di voto degli italiani: elezioni politiche 2022, FdI primo parito seguito dal Pd,” Ipsos, September 1, 2022; Nando Pagnoncelli, “FdI al 24%, Pd un punto sotto, Lega e 5 Stelle appaiati,” Corriere della sera, Septemer 1, 2022.

[16]I sondaggi politici di Pagnoncelli sulle intenzioni di voto degli italiani: elezioni politiche 2022, FdI primo parito seguito dal Pd,” Ipsos, September 1, 2022.

[17] Steven Forti, “Extrême droite 2.0 : de la normalisation à la lutte pour l’hégémonie,” Le Grand Continent, June 14, 2022.

[18] Piero Ignazi, “Fascists and Post-Fascists” in The Oxford Handbook of Italian Politics, edited by Erik Jones and Gianfranco Pasquino (Oxford: Oxford University Press, 2015), 211-223.

[19] Lorenzo Castellani, “De quoi Meloni est-elle le nom?,” Le Grand Continent, August 25, 2022.

[20] Fratelli d’Italia, “Giorgia Meloni: We are ready to govern Italy,” Youtube, August 11, 2022; Paola Di Caro, “Scontro Letta-Meloni. E lei rassicura l’Europa,” Corriere della Sera, August 10, 2022.

[21] Paola Di Caro, “Meloni, segnale a Nato e alleati: noi garanti del sostegno a Kiev,” Corriere della sera, July 29, 2022.

[22] Claudia Reale, “Lega e FI scelgono Prestigiacomo per la Sicilia, ma Meloni dice no. Musumeci si ritira,” La Repubblica, August 11, 2022.

[23] Adele Sarno, “La bestiolina social della Meloni è in realtà un gremlin,” HuffPost Italia, July 31, 2022.

[24] Paolo Berizzi, “Bannon e Visegrad, gli amici di Meloni che preoccupano la Ue,” La Repubblica, July 28, 2022.

[25] Steven Forti, “Extrême droite 2.0 : de la normalisation à la lutte pour l’hégémonie,” Le Grand Continent, June 14, 2022.

[26] Roberto Chiarini, Storia dell’antipolitica dall’Unità a oggi. Perché gli italiani considerano i politici una casta (Soveria Mannelli: Rubberttino, 2021).

[27]I sondaggi politici di Pagnoncelli: elezioni politiche 2022, in vantaggio la coalizione di centrodestra,” Ipsos, August 1, 2022 ; “I sondaggi politici di Pagnoncelli sulle intenzioni di voto degli italiani: elezioni politiche 2022, FdI primo parito seguito dal Pd,” Ipsos, September 1, 2022.

[28] Fratelli d’Italia, “Giorgia Meloni: We are ready to govern Italy,” Youtube, August 11, 2022.

[29] Lorenzo Castellani, “De quoi Meloni est-elle le nom?,” Le Grand Continent, August 25, 2022. .

[30] Roberto Chiarini, Storia dell’antipolitica dall’Unità a oggi. Perché gli italiani considerano i politici una casta (Soveria Mannelli: Rubberttino, 2021).

[31] Cesare Zapperi, “Gentiloni: ‘Il Pnrr? No alla riscrittura, solo modifache limitate’,” Corriere della sera, August 21, 2022.

[32] Marco Galluzzo, “Draghi a Rimini: ‘L’Italia ce la farà, con qualsiasi governo. Isolarci non è nel nostro interesse,” Corriere della sera, August 24, 2022.

[33] Lorenzo Castellani, “De quoi Meloni est-elle le nom?,” Le Grand Continent, August 25, 2022.

[34] Hannah Roberts, “Russian links to Italian right threaten Meloni’s election campaign,” Politico, July 29, 2022.

[35] Dario Di Vico, “L’eredità di Mario Draghi e le schelte obbligate,” Corriere della sera, August 24, 2022.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save