fbpx

‘After Elizabeth’ สหราชอาณาจักรในสายลมแห่งการเปลี่ยนผ่าน กับ พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง

พลันเมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรสวรรคต ณ วินาทีที่ 70 ปีแห่งการครองราชย์สิ้นสุดลงนั้นเสมือนว่าประวัติศาสตร์ได้หยุดนิ่งลงไปชั่วขณะ

ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมอังกฤษและโลกผ่านความเปลี่ยนแปลงมานับครั้งไม่ถ้วน กระนั้น ระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ก็ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสร้างพลังและความมั่นคงแก่สถาบันกษัตริย์อันเก่าแก่ให้สามารถดำรงอยู่ได้ในความผันผวนของโลกสมัยใหม่ จนกลายเป็น ‘สัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพ’ ‘ความต่อเนื่องของธรรมเนียม’ และ ‘ศูนย์รวมจิตใจของชาติ’ ได้อย่างน่าจดจำ

แต่เมื่อเวลามาถึง สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านย่อมพัดพามา

แม้ ‘บัลลังก์จะไม่เคยว่างเว้น’ แต่เมื่อผลัดแผ่นดิน ยุคสมัยย่อมตั้งคำถามต่อพลังทางวัฒนธรรมที่ตกทอดผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเป็นความแตกหักหรือความต่อเนื่องของธรรมเนียมจากรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2? สถาบันกษัตริยจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไรท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา? สาธารณรัฐนิยมจะกลายเป็นกระแสที่มีพลังทางการเมืองในสหราชอาณาจักรได้แค่ไหน? และเมื่อ ‘พลังทางวัฒนธรรม’ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สหราชอาณาจักรและเครือจักรภพจะยังคงรวมเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่?

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน 101 ชวน พลอยใจ ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาอำนาจการบริหาร (executive power) ในรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ผ่านมุมมองแบบประวัติศาสตร์ความคิดและเจ้าของคอลัมน์ ‘ช่วยด้วย เพื่อนฉันเป็นฝ่ายซ้าย’ สนทนาและวิเคราะห์บทบาทและมรดกจากยุคสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 วิถีการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในโลกสมัยใหม่ กระแสสาธารณรัฐนิยมในอังกฤษ ความเป็นไปได้ในการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ไปจนถึงทางออกจากยุคสมัย ‘ขาลง’ ของสหราชอาณาจักร

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Royal Family

สังคมอังกฤษและโลกจดจำภาพควีนเอลิซาเบธที่ 2 อย่างไร

ในสายตาคนอังกฤษทั่วๆ ไปมักมองว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 จริงจังและทุ่มเทในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในขณะที่ก็มีมุมตลกๆ เป็นคุณยายที่ชอบเล่นมุก แต่ส่วนตัวมองว่านั่นเป็นเพราะอ่านเกมขาด รู้ว่าควรจะวางภาพลักษณ์ต่อสังคมอย่างไรจึงจะสามารถรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ในโลกสมัยใหม่ที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นกษัตริย์อังกฤษที่เล่นกับสื่อได้อย่างเชี่ยวชาญเป็นพระองค์แรก

เราคิดว่าสังคมอังกฤษส่วนใหญ่ยังให้ความเคารพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างจริงจัง มี work ethics ที่น่าเคารพ จะเห็นว่าปัจจุบันกษัตริย์ในยุโรปหลายพระองค์สละราชบัลลังก์ (เช่นควีนเบอาทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์) หรือกระทั่งตอนที่เจ้าชายฟิลิป พระสวามีทรงเกษียณจากพระราชกรณียกิจ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ยังปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่อจนกระทั่งวาระสุดท้าย

แต่จริงๆ ก็เสียงแตกพอสมควร มีคนอังกฤษส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟอกขาวให้ลัทธิล่าอาณานิคม ผ่านการสนับสนุนการสานสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกเครือจักรภพ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตสถาบันกษัตริย์อังกฤษคือผู้กระทำการหลัก (agent) ในการล่าอาณานิคมทั่วโลก

วิดีโอรวมโมเมนต์ตลกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดยสำนักพระราชวัง

อะไรคือมรดกที่สำคัญในยุคสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2

จะเห็นว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้ความสำคัญต่อการรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันของสหราชอาณาจักร (British unionism) อย่างมาก หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือหลังสิ้นสุดวิกฤตไอร์แลนด์เหนือ (The Troubles) ที่เกิดขึ้นช่วงทศวรรษที่ 1970-1990 ภาพที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไปจับมือกับอดีตผู้นำของ IRA (Irish Republic Army) เมื่อปี 2012 อันเป็นสัญลักษณ์ว่าวิกฤตสิ้นสุดลงแล้วถือว่าทรงพลังมาก ถ้าเป็นแค่นักการเมืองภาพที่ออกมาอาจไม่ทรงพลังเท่านี้ ต้องบอกด้วยว่าช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรงมากๆ ในปลายทศวรรษที่ 1970 ลอร์ดเมานท์แบตเทน เชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดราชวงศ์อังกฤษก็ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วย แต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็แสดงให้เห็นว่าสามารถแยกความสัมพันธ์ส่วนตัวกับภารกิจได้อย่างค่อนข้างเป็นมืออาชีพ

อีกอย่างหนึ่งคือ ช่วงที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์คือช่วงที่สถานะของจักรวรรดิอังกฤษเริ่มเสื่อมลง จะเห็นว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีบทบาทในการเสด็จเยือนประเทศอดีตอาณานิคมในเครือจักรภพเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีกับสหราชอาณาจักรไว้

จริงๆ ระบบเครือจักรภพ ซึ่งเริ่มขึ้นในยุคของควีนวิกตอเรียโดยเฉพาะหลังกระแสชาตินิยมได้ขึ้นสูงโดยเฉพาะหลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม เอลิซาเบธที่ 2 ถูกมองว่าเป็นผู้นำระบบเครือจักรภพเข้าสู่ยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเคสของอินเดีย ซึ่งได้รับเอกราชเมื่อปี 1949 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือจักรภพโดยไม่จำเป็นต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ (swear allegiance to the Crown) ต่อสถาบันกษัตริย์อังฤษ อินเดียอาจถือได้ว่าเป็นประเทศ prototype ที่ประกาศเอกราชแต่ก็ยังคงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพ ซึ่งถ้ารัฐบาลอังกฤษอ่านเกมไม่ขาด มองว่าถ้าให้อินเดียที่ประกาศเอกราชแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือจักรภพได้แล้วประเทศอาณานิคมอื่นจะประกาศอิสรภาพตาม การปลดปล่อยอาณานิคมก็คงจะไม่ประสบความสำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าจักรวรรดิจะต้องล่มสลาย เพราะมันหมดยุคสมัยไปแล้ว ในยุคนั้นหลายๆ ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษก็ต้องการเอกราช ในแง่หนึ่ง ระบบเครือจักรภพจึงเป็นเหมือนเป็นฟูกรองรับจักรวรรดิที่กำลังล่มสลาย ช่วยให้สหราชอาณาจักรยังสามารถรักษาความสัมพันธ์แบบหลวมๆ กับอดีตอาณานิคมไว้ได้ มีข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ถือว่าเป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ซึ่งควีนเอลิซาเบธที่ 2 เองก็เป็นกำลังหลักทางวัฒนธรรมที่มีส่วนทำให้ระบบเครือจักรภพ (commonwealth) ดำเนินต่อไปได้

ในฐานะที่มีเพื่อนเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ เพื่อนๆ มองควีนเอลิซาเบธที่ 2 และสถาบันกษัตริย์อย่างไร หลายครั้งเรามักจะเข้าใจว่าฝ่ายซ้ายต้องเป็นฝ่ายสาธารณรัฐแน่ๆ แต่จากประสบการณ์ที่เจอมา จริงๆ แล้วฝ่ายซ้ายทุกคนมีจุดยืนแบบเดียวกันเสมอไปหรือเปล่า

ด้วยความที่ว่าเพื่อนเราเป็นฝ่ายซ้าย (radical left) เป็นฝ่ายสาธารณรัฐนิยม (republican) กันหมด พอควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตก็ “Lizzie is dead, so what?” ไม่ได้รู้สึกเสียใจไปมากกว่าเวลาคุณยายข้างบ้านเสีย แต่ก็ต้องบอกว่าพวกเพื่อนๆ คือ ‘ชาวไบรท์ตัน’ ซึ่งไบรท์ตันไม่เหมือนอังกฤษส่วนไหนเลย เหมือนอะไรก็ไม่รู้ที่ดันแค่ไปแปะอยู่บนเกาะบริเตนมากกว่า ก็ยากที่จะบอกว่าเป็นความเห็นที่ represent อังกฤษได้

แต่ที่น่าสนใจคือ มีเพื่อนที่ซ้ายมากๆ คนหนึ่ง เป็นสมาชิกพรรค Labour ช่วยพรรคแคมเปญเดินรณรงค์หาเสียง ทั้งบ้านก็เป็นสมาชิกพรรค Labour ประเด็นคือเขาเป็นฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ แต่ฝ่ายซ้ายรุ่นเก่า อย่างรุ่นพ่อแม่ที่อายุประมาณ 60 ขึ้นไป ถ้ามีวาระพิเศษ เช่น วันคริสต์มาส วันคล้ายวันพระราชสมภพของควีน ทุกคนก็จะมานั่งฟัง Christmas speech ทั้งๆ ที่นิยามอัตลักษณ์ทางการเมืองของตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้าย ส่วนตัวมองว่าน่าจะเพราะไม่ได้มองสถาบันกษัตริย์ในความสัมพันธ์ทางการเมืองเท่ากับคนรุ่นหลัง แล้วก็เกิดทันยุคสงครามเย็น ทันได้เห็นบทบาทของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เลยมองว่า “At least she does her job pretty well”  

แต่ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองเชิงอัตลักษณ์ ต้องบอกว่ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการ ‘decolonize the curriculum’ ต้องกลับไปพิจารณามรดกของลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษอย่างถ้วนทั่วทุกอณูว่าจักรวรรดิอังกฤษทำอะไรลงไปบ้าง อย่างเช่นในระบบการศึกษาก็กลับไปดูว่า ทำไมสอนแค่ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของเสถียรภาพ ในขณะที่จริงๆ แล้วในอีกมุมหนึ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็เป็นนักล่าอาณานิคมเหมือนกัน

ถ้าถามว่าของเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมของฝ่ายซ้ายใหม่คืออะไร ต้องบอกว่าตอบยากมาก คือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะมองว่า ถ้าอังกฤษต้องชดใช้ในสิ่งที่ทำไปในสมัยจักรวรรดิก็ต้องคืนทุกอย่างที่ไปปล้นมาเหรอ คืนน้ำมัน คืนนั่นคืนนี่ แต่ในอีกมุม ถ้าลองไปดูเพรชที่อยู่บนมงกุฎ คทาของกษัตริย์อังกฤษ วัตถุจัดแสดงที่อยู่ใน British Museum ก็สมเหตุสมผลหรือเปล่าที่อดีตอาณานิคมจะโกรธแค้น นอกจากนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่งคั่ง สถานะความได้เปรียบของอังกฤษในเวทีโลกเองก็เป็นผลพวงมาจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต แม้การล่าอาณิคมจะจบลงไปแล้ว แต่ผลพวงของมันยังคงอยู่

ส่วนตัวเห็นด้วยว่าต้องมีการชดใช้ (reparation) ถามว่าลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษเลวร้ายจริงไหม ก็เลวร้ายจริง ปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าจะชดใช้อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คิดว่าในอนาคตต้องมีกระบวนการที่ค่อยๆ จัดการอดีตและยอมรับสิ่งที่ทำลงไป ตัวอย่างหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่า extreme ไปไหม อาจจะเทียบกันไม่ได้ทั้งหมด คือเยอรมนีเองก็ยอมรับผิดในสิ่งที่นาซีเยอรมนีก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติและมีกระบวนการในการชำระประวัติศาสตร์อันดำมืดดังกล่าว แต่ถ้าพิจารณาระยะเวลา ยุคสมัยของจักรวรรดิอังกฤษกินเวลายาวนานกว่ามากๆ จนหลายอย่างฝังแฝงเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอังกฤษไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการกับมรดกบาปอาณานิคมอย่างไร ก็เป็นเรื่องของทั้งรัฐบาลและสาธารณชนในสหราชอาณาจักรที่จะตัดสินใจ

ฝ่ายสังคมประชาธิปไตย (social democrat) ก็ถือว่าเป็นฝ่ายซ้ายอีกเฉดหนึ่ง กลุ่มนี้มองอย่างไร

ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายที่ค่อนมาทางกลางแบบ social democrat แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค Labour อย่างที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรา ในมุมหนึ่งอาจมองว่าในอดีตจักรวรรดิอังกฤษส่งทหารเข้าไปยึดอาณานิคม ระดมทรัพยากรออกมาก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ส่วนควีนเอลิซาเบธที่ชาติตระกูลกำหนดมาแล้วว่าต้องครองราชย์ก็พยายามจะชดเชยความผิดในอดีตและไถบาปให้อังกฤษให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามบริบททางการเมืองของยุคสมัย เช่น ผ่านโควตาหรืออภิสิทธิ์ต่างต่างๆ แก่สมาชิกของในเครือจักรภพ คนอังกฤษบางส่วนก็รู้สึกว่าสิ่งที่บรรพบุรุษทำมันผิดแน่นอนและต้องพยายามชดเชย แต่แน่นอน ฝ่ายซ้ายส่วนมาก โดยเฉพาะฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่จะมองว่านี่คือการฟอกขาวให้ลัทธิล่าอาณานิคมเพราะถือว่าอังกฤษเองยังได้ประโยชน์จากจักรวรรดินิยมในอดีตอยู่ผ่านระเบียบทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน อย่างที่พูดไปแล้ว ประเด็นนี้ สุดท้ายก็ยังต้องดีเบตกันต่อไปเรื่อยๆ

หลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ กลุ่มสาธารณรัฐ (Republic) ในสหราชอาณาจักรประกาศแสดงความเสียใจต่อราชวงศ์ หยุดเคลื่อนไหวชั่วคราวและกลับมาเคลื่อนไหวหลังจากนั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร เป็นมารยาทแบบคนอังกฤษหรือเพราะบารมีของควีน

ในความเป็นมนุษย์ ปกติไม่มีใครสมน้ำหน้าเวลามีคนเสียชีวิตยกเว้นแต่จะเป็นอาชญากรสงคราม ซึ่งแน่นอน เพื่อนฝ่ายซ้ายในไบรท์ตันของเราก็จะบอกว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็เลยร้ายไม่ต่างจากอาชญากรสงคราม

ส่วนตัวมองว่าเป็นมารยาทพื้นฐานมากกว่าอย่างอื่นเลย แต่ก็ไว้อาลัยแค่วันเดียว หลังจากนั้นก็แคมเปญกันต่อ

จะเห็นว่าหลังสวรรคต สื่อเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับควีนเอลิซาเบธที่ 2 จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการรายงานความคืบหน้าสถานการณ์หรือบทไว้อาลัย คิดว่าสื่อ romanticized ยุคสมัยของควีนเกินไปไหม

เกินไป ในแง่หนึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะอย่างที่บอกว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ดี แต่นอกจากดูสื่อก็ต้องดูความเห็นสาธารณะ (public opinion) ด้วย อยากจะชวนดูแฮชแท็ก #mournhub ในทวิตเตอร์ ทวีตในแฮชแท็กคือวิจารณ์สื่อ วิจารณ์ BBC ว่าเสนอข่าวควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตเยอะเกินไป หรือถ้าไปดูผลสำรวจที่น่าเชื่อถือหน่อยจาก YouGov จะเห็นว่า ความเห็นระหว่างคนที่มองว่าสื่อเสนอข่าวเหมาะสมแล้วกับคนที่มองว่าสื่อเสนอข่าวไว้ทุกข์มากเกินไปก็เกือบจะครึ่งๆ หลักๆ คนที่มองว่าสมควรแล้วที่สื่อจะเสนอข่าวไว้ทุกข์ก็เคารพพระองค์แหละ เพราะครองราชย์มานาน

ตลอดระยะเวลา 70 ปีของการครองราชย์ จะเห็นว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘พลังแห่งเสถียรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียว’ (stabilizing and unifying force) เสถียรภาพที่ว่าหมายถึงในแง่ไหนกันแน่

เราจะมองควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเสาหลักหรือเป็นหัวหลักหัวตอก็ได้ ขึ้นอยู่กับมุมมอง เพราะไม่ว่าจะผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่า IRA จะวางระเบิดที่ลอนดอน ไบรท์ตัน หรือแมนเชสเตอร์ ไม่ว่าจะสงครามเย็นจะสิ้นสุด พระราชวังวินด์เซอร์จะไฟไหม้ ไม่ว่าจะ Brexit โควิด-19 ระบาด อย่างไรก็พระองค์ก็อยู่ตรงนั้นมาตลอดเวลา 70 กว่าปี ผ่านสารพัดวิกฤตมาไม่รู้กี่หน ถามว่าทำอะไรในทางการเมืองไหม ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก แต่ถ้าถามว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือสัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพได้ไหม ได้ แต่ก็เป็นในแง่ของความรู้สึกมากกว่า

แต่ก็ต้องให้เครดิตโดยเฉพาะช่วงสงครามเย็น ด้วยความที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงให้พระราชดำรัสในช่วงสงครามได้ดี มีทีมร่างให้ก็จริง แต่วิธีที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ให้พระราชดำรัสสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมว่า ทุกคนคือส่วนหนึ่งของชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและจะสามารถ keep calm and carry on  จนผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน แล้วกลยุทธ์แบบนี้ก็ปรากฏให้เห็นในวิกฤตอื่นๆ ด้วย เช่นช่วงที่โควิดระบาด

นอกจากนี้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ถือว่าปรับตัวในช่วงที่มีวิกฤตได้เก่ง อย่างช่วงที่โควิดระบาด ต้อง social distancing ไม่สามารถเสด็จเยี่ยมพสกนิกรได้เหมือนแต่ก่อน ก็อนุญาตให้ทีม PR ของสำนักพระราชวังเข้าไปถ่ายทำคลิปวิดีโอว่าพระองค์ social distancing อย่างไร แล้วก็ปล่อยเป็นคลิปวิดีโอออกมา

มองในอีกแง่หนึ่ง จริงๆ เสถียรภาพมาจากการที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ‘ไม่ได้ทำอะไร’

ใช่ ประเทศเราก็ชอบพูดวรรคที่ว่า “The king can do no wrong” กันใช่ไหม แต่แนะนำว่าให้ไปอ่านบทความของคุณอติเทพ ไชยสิทธิ์ ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของการจำกัดอำนาจกษัตริย์ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เองขึ้นชื่อว่าวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ด้วยความที่ว่าบริบทช่วงที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพิ่งขึ้นครองราชย์คือบริบทสงครามเย็น เพราะฉะนั้นควีนเอลิซาเบธที่ 2 เลยมีความอ่อนไหวทางการเมือง (political sensitivity) ที่สูงมาก ต้องคิดเรื่องการเมืองเยอะมาตั้งแต่แรก รู้ว่าควรหรือไม่ควรพูดอะไร รู้ว่าไม่ควรแสดงความเห็นทางการเมือง ต้องออกห่างจากการเมืองหากจะไม่ให้อังกฤษได้รับผลกระทบอะไร

มองในอีกแง่หนึ่งก็ถือว่าฉลาด อ่านเกมขาด Parliamentary sovereignty ที่ระบุในรัฐธรรมนูญอังกฤษประกอบไปด้วย สภาสามัญชน (House of commons) สภาขุนนาง (House of Lord) และสถาบันกษัตริย์ (the monarch) ก็จริง ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่นับว่ามี Parliamentary sovereignty แต่สถาบันที่มีอำนาจมากที่สุดคือรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยนักการเมือง ไม่ว่ากษัตริย์จะแสดงความเห็นทางการเมืองเองไปทางข้างไหนก็ตาม อาจนำไปสู่การตั้งคำถามจากฝ่ายการเมืองได้ว่าเป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ และนำไปสู่การตั้งคำถามต่อวิถีการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครอง การสร้างบรรทัดฐานจัดวางให้สถาบันกษัตริย์วางตัวเป็นกลางทางการเมืองของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย คือสามารถ represent สหราชอาณาจักร as a whole ได้ แต่ไม่สามารถ represent ความเห็นทางการเมืองได้

ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษขึ้นชื่อว่าจำกัดอำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ร่วมกับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ระบบมีพัฒนาการหรือถูกออกแบบมาอย่างไรถึงสามารถจำกัดอำนาจกษัตริย์ได้

จริงๆ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญอังกฤษต่างจากประเทศอื่นมาก สมมติว่าถ้าเปรียบเทียบกับเยอรมนี จะเห็นว่าหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญ (Grundgesetz: Basic Law) และกลไกต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างพรรคนาซีเกิดขึ้นมาอีก หรือถ้าเก่ากว่านั้นก็รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่เขียนขึ้นหลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ นี่คือการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดอนาคต

แต่ว่าพัฒนาการรัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นไปในทางกลับกัน ด้วยความที่อังกฤษใช้ระบบ common law รัฐธรรมนูญไม่ได้ถูกร่างเป็นลายลักษณ์อักษรรวมกันอยู่ในเอกสารเดียว (uncodified law) หากหลักการทางรัฐธรรมนูญนั้นปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นต่างๆ และพัฒนาการมาตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยกฎบัตร Magna Carta ในศตวรรษที่ 13 รวมไปถึง Bill of Rights ในศตวรรษที่ 17 หลังการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมือง หลักการทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนการระงับข้อพิพาททางการเมืองที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตมากกว่า แทนที่จะเป็นในกรณีกลับกันอย่างเยอรมนีและประเทศอื่นๆ กล่าวคือ หลักการทางรัฐธรรมนูญเป็นได้ทั้งกระจกสะท้อนความคิดของสังคมหรือหลักการที่เขียนขึ้นมาเพื่อกำหนดทิศทางของสังคมก็ได้เช่นกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญในการจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์อังกฤษคือสงครามกลางเมืองในศตวรรษที่ 17 ที่ฝ่ายสภาชนะฝ่ายนิยมกษัตริย์ จากนั้นการจำกัดอำนาจในการใช้จ่ายของสถาบันกษัตริย์ในศตวรรษที่ 18 ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งเหมือนกัน อีกอย่างคือจริงๆ สถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่เคยมี absolute power เหมือนฝรั่งเศสในยุคก่อนการปฏิวัติมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ต้องมีการต่อรองอำนาจระหว่างสภาและขุนนางอยู่เสมอ อาจจะตอบแบบกำปั้นทุบดินไปหน่อย คือการจำกัดอำนาจในกรณีอังกฤษเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์

หลายครั้งเรามักจะได้ยินว่า หน้าที่ของกษัตริย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในทางทฤษฎี คือเป็น ‘กรรมการตัดสินทางการเมืองในภาวะวิกฤต’ (referee) สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังหลงเหลือลักษณะแบบนี้บ้างไหม

เมื่อก่อนน่ะใช่ ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 สถาบันกษัตริย์ยังจัดวางอำนาจในระบบการเมืองเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediating power) อยู่ แต่นั่นแสดงว่าสถาบันกษัตริย์ยังเป็น a part of the game อยู่ ยังเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมือง เป็นกรรมการ สามารถตัดสินถูกผิดทางการเมืองได้ แต่ในศตวรรษที่ 20-21 สถาบันไม่ได้แม้แต่จะอยู่ในเกมด้วยซ้ำ เหลือสถานะแค่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมจริงๆ ต้องเป็นเสาหลักที่ตั้งอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยเท่านั้นถึงจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

ส่วนตัวมองว่าคนอังกฤษเข้าใจไม่ได้แล้วถ้ากษัตริย์จะแทรกแซงทางการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะอย่างที่บอกคือ ไม่ได้ผ่านช่วงสงครามต่างๆ ที่ควีนมีบทบาทสูงในฐานะศูนย์รวมใจของชาติ ทุกวันนี้หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องจ่ายภาษีเป็นงบประมาณจำนวนมากให้ราชวงศ์ ถ้านอกจากจะต้องจ่ายภาษีให้แล้ว สถาบันกษัตริย์ยังจะมีอำนาจทางการเมืองอีก คนรุ่นใหม่รับไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ราชวงศ์น่าจะระมัดระวังและรักษาบรรทัดฐานความเป็นกลางทางการเมืองที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 วางไว้

อีกอย่างหนึ่งที่ชอบพูดกันในทางทฤษฎีคือ สถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือพลังที่คอยเป็นเกราะป้องกันกระแสประชานิยม

เป็นมุมมองแบบศตวรรษที่ 18 มาก (หัวเราะ) เราเขียนประโยคนี้เลยในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับอำนาจบริหาร (executive power) ในศตวรรษที่ 18 ในสมัยนั้นใช้คำว่าสถาบันกษัตริย์คือ “The counterpoints to the favorite of the people” เพราะว่าพอรัฐสภากลายเป็นแหล่งอำนาจอธิปไตย เริ่มมีนักการเมืองอาชีพก็มีความกังวลกันว่าบรรดานักการเมืองคนโปรดของประชาชนและกุมอำนาจนิติบัญญัติไว้เหล่านั้นจะใช้ความนิยมไปทำลายหลักการทางรัฐธรรมนูญ เลยคาดหวังว่าสถาบันกษัตริย์จะเล่นบทบาทเป็นเกราะป้องกันกระแสประชานิยมได้

แต่พอเวลาผ่านไป เราพบว่าจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ก็ได้ที่เล่นบทบาทนี้ ถ้าไปดูตอนร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ก็คิดกันเรื่องอำนาจบริหารของตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะต้องมีอำนาจที่คานกับฝ่ายนิติบัญญัติได้และต้องเป็นอิสระพอสมควรที่จะตัดสินปัญหาในภาวะวิกฤตและตัดสินใจรวดเร็วได้ เพราะฉะนั้น ความพยายามในการคานอำนาจกับเหล่าคนโปรดของประชาชนก็ไม่ใช่เอกลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว แต่คืออำนาจบริหารที่เข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียว (strong and unitary executive power) ต่างหาก คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วอย่างนั้นทำไมต้องมีสถาบันกษัตริย์ในสมการทางรัฐธรรมนูญสมัยใหม่อยู่อีก

ต่อให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษถูกจำกัดอำนาจทางการเมือง วางตัวเป็นกลางทางการเมืองจนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองแล้วก็จริง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบบการเมืองก็ถือว่าเป็นการเมืองในตัวมันเองแล้วหรือเปล่า

ใช่ ถ้ามองประวัติศาสตร์ทางการเมืองในฐานะสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์สร้างขึ้นมา (human invention) เราจะมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาผ่านช่วงเวลาประวัติศาสตร์และส่งต่อมายังปัจจุบันก็ได้ ซึ่งจะหมดหรือยังไม่หมดยุคสมัยไปแล้วก็เป็นอีกเรื่อง     

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ามองแบบ อดัม เฟอร์กูสัน (Adam Ferguson) นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาชาวสกอตสมัยศตวรรษที่ 18 โควตที่น่าสนใจคือ “nations stumble upon establishments which are indeed a result of human interaction but not the execution of human desire” กล่าวคือ หลายครั้งที่สถาบันทางการเมือง รวมถึงสถาบันกษัตริย์เป็นผลลัพธ์จากกระทำมนุษย์ในรุ่นที่ผ่านๆ มา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการวางแผนสร้างขึ้นอย่างจงใจ หลายครั้งสถาบันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนผสมของผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสังคมจะปรับแก้สถาบันเหล่านี้ก็ได้ หากรู้สึกว่าสถาบันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่สังคมคิดอีกต่อไป

แต่คำถามที่ตามมาก็คือ มีราคาอะไรที่ต้องจ่ายตามมาบ้างจากการเปลี่ยนแปลง และสังคมนั้นๆ พร้อมจะจ่ายหรือไม่ แน่นอนว่าคำถามนี้ไม่ใช่คำถามของใครคนใดหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นคำถามของทั้งสังคม โชคดีที่ปัจจุบันเรามีเครื่องมือทางการเมืองเช่นการทำประชามติในการตัดสินใจเรื่องยากๆ แบบนี้

แม้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะมีชื่อเสียงว่ารักษาความเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ก็มีบางโอกาสเหมือนกันที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแทรกแซงการเมือง จริงๆ แล้วเส้นของการละเมิดหรือไม่ละเมิดการเมืองอยู่ตรงไหนกันแน่

อย่างตอนที่โดนวิพากษ์วิจารณ์ชัดๆ คือตอนที่สกอตแลนด์ทำประชามติว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ ก่อนวันลงประชามติก็ตรัสว่า “think carefully” ทุกคนก็รู้ว่าหมายความว่า ไม่อยากให้สกอตแลนด์แยกตัวออกไปจากสหราชอาณาจักร

ถามว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ละเมิดเส้นความเป็นกลางทางการเมืองไปไกลขนาดไหน คิดว่าคงแตะเส้นนิดหน่อย แต่ด้วยความที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 วางมาตรฐานความเป็นกลางทางการเมืองไว้สูงมาก พอออกมาตรัสนิดหน่อยก็เป็นข่าวแล้ว ส่วนตัวคิดว่ามันสะท้อนการบริหารจัดการอำนาจที่ดีมากๆ ที่วางไว้ตั้งแต่ต้นรัชสมัย

อีกครั้งหนึ่งคือเป็นข่าวลือ คือมีข่าวลือหลุดออกมาว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 วิพากษ์วิจารณ์สหภาพยุโรป แล้วแท็บลอยด์ The Sun ก็เอาไปพาดหัวว่า “The Queen Pro-Brexit” แต่ว่า The Sun ก็คือ The Sun (หัวเราะ) สุดท้ายตอนหลังถูก media watchdog ของอังกฤษฟ้องเลยต้องถอนพาดหัวไป แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 วิจารณ์สหภาพยุโรปจริงหรือเปล่า เขาลือกันว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไม่อยากให้สหราชอาณาจักรเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปเท่าไหร่ แต่มันก็เป็นแค่ข่าวลือ เพราะควีนเอลิซาเบธที่ 2 วางตัวดีมากเสียจนแค่นิดเดียวก็เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว

แต่ถามว่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด 70 กว่าปีที่ครองราชย์ไหม มี แต่มีแค่ในประเด็น pro-unionism มาตลอด เช่น การออกความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตไอร์แลนด์หรือการเสด็จไปพบปะผู้นำขบวนการ IRA หลังวิกฤตคลี่คลายลงไปแล้ว จะบอกว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่มีบทบาททางการเมืองเลยก็ไม่เชิงเพราะมี แต่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Royal Family

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งมีสไตล์การเมืองและความนิยมจากสาธารณชนที่ต่างไปจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะถือว่านำมาสู่ความแตกหักหรือความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์จากสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2

คาดว่าน่าจะเป็นความต่อเนื่อง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ไม่น่าจะทำอะไรที่แตกหักไปจากธรรมเนียม เห็นได้จากพระราชดำรัสแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า พระองค์ตระหนักดีว่าสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ ตนเองเคยพยายามมีอิทธิพลต่อกระบวนการออกนโยบายสาธารณะ (กรณี Spider Memo) และให้คำมั่นว่าจะยึดถือและปกป้องหลักการทางรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของชาติ เพราะว่า หนึ่ง เกรงใจมรดกของควีนเอลิซาเบธที่ 2 สองคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะครองราชย์ในฐานะ ‘กษัตริย์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ (transitional monarch) เพื่อเตรียมไปสู่รุ่นเจ้าชายวิลเลียมมากกว่า

ถ้าคิดในมุมของคนที่สนับสนุนราชวงศ์ก็คงไม่ได้อยากให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ครองราชย์นานมาก จุดแข็งของควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากคนรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นเก่าไม่ค่อยชอบพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 อยู่แล้วเพราะมีข่าวฉาวเยอะ ส่วนคนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ชอบแสดงความเห็นการเมือง ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ แต่ความที่พระเจ้าชาร์ลส์รู้พระองค์ว่าไม่เป็นที่นิยมก็มีแง่ดีคือ ไม่น่าจะทำอะไรแตกหักไปจากบรรทัดฐานที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 วางไว้

ส่วนตัวมองว่าหลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต ราชวงศ์สะเทือนแน่ ไม่มากก็น้อย เพราะไม่มีใครสั่งสมบารมีได้นานเท่าควีนเอลิซาเบธที่ 2 ราชวงศ์ก็ต้องปรับตัวเยอะ โดยเฉพาะที่ระยะหลังๆ คนเริ่มไม่พอใจและตั้งคำถามมากขึ้นว่า นอกจากราชวงศ์ยุคนี้ไม่ได้มีพระราชกรณียกิจมากเท่าสมัยก่อนแล้ว ยังมีข่าวฉาวมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีเมแกน มาร์เคิลที่กล่าวหาว่าราชวงศ์เหยียดสีผิว หรือกรณีเจ้าชายแอนดรูว์ล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ ยังไม่นับว่าประชาชนต้องจ่ายภาษีให้อีก คิดว่าความรับรู้ของสาธารณชนต่อราชวงศ์อังกฤษน่าจะเปลี่ยนไปเยอะ คนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปหรือจะสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐก็อาจจะเริ่มตัดสินใจได้ในยุคนี้ เพราะเหตุผลในการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ก็หายไปไม่น้อย

ที่น่าสนใจคือ เจ้าชายวิลเลียมกับเคท มิดเดิลตันก็เตรียมรับช่วงต่อมาค่อนข้างดี เห็นจากที่มีการ PR ครอบครัว มีการเผยแพร่รูปต่างๆ ออกมา

ในโลกที่การเมืองเรียกร้องให้คนดังที่มี influence พูดประเด็นที่เป็นวาระสำคัญต่อสังคมมากขึ้น เช่น กระแสสนับสนุนความหากหลายทางเพศหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในแง่หนึ่งเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะเป็นคุณค่าพื้นฐานร่วมของสังคมโลก สมาชิกราชวงศ์จะต้องปรับตัวให้เหมือน celebrities ไหม

ถ้าไปดูบรรทัดฐานที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 วางไว้ สิ่งที่สถาบันกษัตริย์พูดได้แทบจะเหมือนกับองค์การสหประชาชาติ ประเด็นไหนที่องค์การสหประชาชาติกล่าวถึงได้ สถาบันกษัตริย์ก็กล่าวได้ ก็คือประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม กล่าวในเชิงหลักการกว้างๆ อย่างเวลาที่เกิดวิกฤตหรือความขัดแย้ง พระราชดำรัสของควีนเอลิซาเบธที่ 2 มักจะกล่าวถึงประโยชน์ของชาติหรือการรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ซึ่งกว้างมากๆ จนหลายครั้งฟังดูเหมือนไม่มีอะไร หรืออย่างถ้าเป็นกรณีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ให้ความสำคัญกับวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการพยายามจะมีอิทธิพลในกระบวนการออกนโยบาย

ในอนาคตธรรมเนียมเหล่านี้ก็น่าจะยังอยู่ต่อไปในยุคสมัยของกษัตริย์องค์ต่อๆ ไป หากสังคมอังกฤษยังต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป

ในระยะหลังกระแสนิยมสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักรเริ่มปรากฏให้เห็นชัดในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น จริงๆ แล้วฝ่ายสาธารณรัฐเป็นกลุ่มที่มีพลังทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ก่อนอื่นต้องแยกระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในขบวนการสาธารณรัฐและผลักดันวาระของฝ่ายสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักร (active republican) กับสาธารณชนที่โพลไปถามว่าเห็นด้วยไหมถ้าอังกฤษจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณรัฐแล้วตอบว่า yes (passive republican) เพราะสองกลุ่มนี้มีขนาดต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ขบวนการสาธารณรัฐถือว่าเป็นส่วนน้อยมากของสังคมอังกฤษ แต่ได้พื้นที่สื่อ ที่สำคัญคือคนในเมืองกับคนในชนบทมี mindset ต่างกันมาก (city-country division) ส่วนใหญ่ของประเทศคือชนบท แต่ว่าคนที่อยู่ในเมืองมักจะได้พื้นที่สื่อมากกว่า เพราะฉะนั้น ขบวนการทางการเมืองต่างๆ จะดูมีที่ทางในสื่อมากกว่า สะท้อนให้เห็นชัดมากช่วงทำประชามติ Brexit เพราะสื่อก็จะไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเมือง คนที่อยู่ในชนบทหรือเมืองเล็กอาจจะไม่ได้ออกสื่อมากนัก แต่พอลงประชามติจริงปรากฏว่าคนส่วนมากของประเทศคือ Brexiteers คิดว่าประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็คล้ายๆ กัน

แต่แนวโน้มของกลุ่มที่มองว่าโอเคหากสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเป็นสาธารณรัฐจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ถ้าไปดูตัวเลขที่ YouGov สำรวจความคิดเห็น หลายคนก็ไม่ได้มีปัญหาหากสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ หรือถ้าไปดูผลสำรวจความนิยมของราชวงศ์อังกฤษ จะเห็นว่าแม้แต่ในยุคของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ความนิยมของราชวงศ์ก็ลดลงเยอะ เมื่อปี 2012 ที่เฉลิมฉลอง Diamond Jubilee ครองราชย์ครบ 60 ปี ความเห็นสนับสนุนสถาบันกษัตริย์อยู่ที่ 73% แต่พอปี 2022 หลังฉลอง Platinum Jubilee เหลืออยู่ที่ 62% ซึ่งก็ยังถือว่าเยอะอยู่ แต่ก็ลดลงไป 11% ภายใน 10 ปี ถือว่าเยอะเหมือนกัน ลองคิดดูว่าในรัชสมัยต่อไปจะลดลงอีกแค่ไหน

นอกจากแนวโน้มของคนที่เฉยๆ กับสถาบันกษัตริย์ เป็น passive republican จะเพิ่มขึ้นเยอะแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นแนวร่วมขบวนการสาธารณรัฐและช่วยผลักดันวาระได้ด้วย ส่วนตัวคิดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตแน่ๆ เพราะแทบจะไม่เหลือเหตุผลให้ต้องสนับสนุนราชวงศ์แล้ว แต่ในแง่หนึ่งการไปเป็น active campaigner เดินเคาะประตูเสนอแคมเปญก็ต้องลงแรงมาก อีกอย่างหนึ่งคือคนอังกฤษรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะ active ในโลกออนไลน์มากกว่า เพราะฉะนั้นก็อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักในระยะเวลาอันใกล้นี้

คนที่นิยามตัวเองว่าเป็น republican ถือว่าเยอะไหม

เราคิดว่าจริงๆ ไม่เยอะเลย น่าจะเป็นส่วนน้อยมากๆ ด้วยซ้ำ แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามให้ง่ายกว่านี้เป็น ‘หากไม่มีราชวงศ์อังกฤษแล้วจะรู้สึกว่ากระทบกับอัตลักษณ์ความเป็นอังกฤษของตัวเองไหม’ คนที่ตอบว่า ‘ไม่’ น่าจะเยอะขึ้นมาก พอใช้คำว่า ‘สาธารณรัฐนิยม’ มันไปเกี่ยวกับการรับรู้นิยามของคำด้วย เพราะคนตอบอาจรู้สึกว่าต้องมีวิธีคิด มีหลักการทางปรัชญา หลักการเชิงกฎหมายที่ชัดเจนแทนที่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคนเหล่านั้นอาจไม่คิดว่าตนมี commitment มากพอจะเรียกตัวเองว่า republican ก็เป็นได้

ในเชิงโครงสร้าง สถาบันกษัตริย์อังกฤษถือว่ามีพัฒนาการ ผ่านการปฏิรูปปรับตัวมาอย่างยาวนานจนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวแบบของการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วยังมีอำนาจในมิติไหนของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ยังเป็นประเด็นหรือต้องปฏิรูปต่อไหม

อย่างหนึ่งที่เป็นคำถามกันในระยะหลังๆ คือ อังกฤษควรจะหันไปใช้ระบบ civil law มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน (codify) มีการจัดประมวลหลักการทางรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบได้หรือยัง เพราะอย่างไรตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ สถาบันกษัตริย์ก็ยังเป็นสถาบันทางการเมือง จะ depolitize ก็ไม่ได้ ก็มีดีเบตอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้เป็นดีเบตที่สาธารณชนสนใจ เพราะมันเนิร์ด (หัวเราะ)

ที่น่าสนใจในทางทฤษฎีคือ หลักการทางรัฐธรรมนูญระบุว่าแผ่นดินทุกผืนเป็นของกษัตริย์อังกฤษ (“the Monarch (currently King Charles III), as head of state, owns the superior interest in all land in England, Wales and Northern Ireland.) แน่นอนว่าไม่ใช่ในฐานะทรัพย์สินส่วนพระองค์แต่ในฐานะสถาบันกษัตริย์อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งทางรัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติ กษัตริย์ไม่มีทางมายึดที่ดินคืน ที่ดินที่จ่ายเงินซื้อไปก็เป็นของคนที่ซื้อ ทำนองเดียวกันกับสิทธิยับยั้งพระบรมราชานุญาต (Royal assent) ซึ่งเป็นสิทธิในการ veto กฎหมายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางรัฐธรรมนูญอังกฤษ ที่จริงๆ ในทางปฏิบัติก็ไม่มีอำนาจแล้ว (ใช้ครั้งสุดท้ายในปี 1707 โดยควีนแอนน์) ลักษณะแบบนี้จะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของระบบการเมืองของอังกฤษก็ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งคือมันยุ่งเหยิงมาก เพราะมีความเข้าใจหลายระดับซ้อนกันอยู่ ซึ่งพวกฝ่ายสาธารณรัฐนิยมจะมองว่ามันมี unwritten law มากเกินไป แล้วทำไมจะต้องมาทนกับอะไรแบบนี้ด้วย

ถ้ากระแสสาธารณรัฐนิยมสูงกว่านี้ในอนาคตอาจจะมีการเรียกร้องให้มีการประมวลกฎหมายให้เป็นหมวดหมู่และเป็นระบบ เช่นว่าให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญหรือมีกลไกทางกฎหมายมารองรับให้ชัดเจนว่า กษัตริย์ไม่มีสิทธิยับยั้งพระบรมราชานุญาตแล้วทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ เรื่องเหล่านี้น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ บรรทัดฐานที่วางในยุคสมัยของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในการกล่าวถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสหราชอาณาจักร (unionism) น่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้แล้วสำหรับสังคมอังกฤษในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ บริบททางการเมืองในยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2 เปิดให้ทำได้ก็จริง แต่สมมติว่าวันหนึ่ง ไอร์แลนด์เหนือจะรณรงค์แยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรไปรวมชาติกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ แล้วกษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์อังกฤษจะเสด็จไปเยือนไอร์แลนด์เหนือ สังคมยุคนี้ยอมรับไม่ได้แล้วอีกต่อไป บทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ขนาดไหนมีแนวโน้มต้องลดลง แทนที่จะเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าเป็นการลดอำนาจทางวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ตรงๆ ไหม จริงๆ มันเป็นไปเพราะบริบทและบรรทัดฐานทางการเมืองเปลี่ยนไปมากกว่า

นี่จะเป็นสมดุลที่รักษาได้ยาก ยิ่งถ้าคำนึงถึงเรื่อง political marketing ของราชวงศ์อังกฤษในยุคของเจ้าชายวิลเลียมในอนาคตด้วย ราชวงศ์อาจต้องแตะประเด็นเหล่านี้น้อยลง แล้วหันไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นงานเชิงสังคมหรือการกุศลมากขึ้น สุดท้ายแก่นสาร (essence) ของความเป็นสถาบันกษัตริย์จะค่อยๆ กร่อนลงไปเองด้วยซ้ำเพราะหากไม่สามารถกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับความเป็นชาติอย่างการแยกตัวออกไปเป็นเอกราชของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือได้แล้ว สถาบันกษัตริย์จะยังหลงเหลือบทบาทอะไรอีก ก็ถือว่าเป็นวิกฤตอัตลักษณ์ (identity crisis) ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษเหมือนกัน

ส่วนงบประมาณของสถาบันกษัตริย์น่าจะมีแนวโน้มที่ต้องลดลงเรื่อยๆ สิ่งที่สาธารณชนออกมาวิจารณ์ก็สมเหตุสมผล สถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นสถาบันทางการเมืองที่ตกทอดผ่านประวัติศาสตร์และมีการปรับตัวผ่านหลายยุคหลายสมัยมา คนอังกฤษรู้ว่าถ้าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ สถาบันจะยอมปรับตัวตามความเห็นสาธารณะ ถ้าสาธารณชนส่งเสียงจนกลายเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่มีนัยสำคัญ สถาบันกษัตริย์จะยอมปรับลดงบประมาณแน่นอน แต่จะปรับขนาดไหนก็เป็นสิ่งที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ อีกแง่หนึ่งการปรับตัวก็เป็นการ์ดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษเหมือนกันเพื่อให้ดำรงอยู่ในบริบทสังคมอังกฤษปัจจุบันได้ ก็ win-win กันทั้งสองฝ่าย

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Royal Family

มองในภาพรวม การดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์สำคัญต่อสหราชอาณาจักรขนาดไหน

ตอบแบบสั้นที่สุดจากมุมมองคนนอกคือสำคัญ แต่ไม่ได้หมายความว่าเปลี่ยนไม่ได้ มันเปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็ต้องเป็นโจทย์ที่สังคมอังกฤษต้องตอบ

แต่หากจะเปลี่ยน คำถามที่ตามมาก็คือ อะไรจะเป็นอัตลักษณ์ของสหราชอาณาจักรในอนาคต เพราะแน่นอนว่าสถาบันกษัตริย์หลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นอังกฤษไปแล้ว หากเปลี่ยนไปปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ก็ต้องตอบให้ได้เหมือนกันว่าจะเสนอ หรือ ‘ขาย’ ประเทศต่อประชาคมโลกในฐานะประเทศแบบไหน เพราะแน่นอนว่าสถาบันกษัตริย์เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่แสดงให้สังคมโลกรู้และมีภาพจำว่าอังกฤษยังมี tradition ที่สืบต่อมาอย่างยาวนานอยู่ ซึ่งถือว่าก็ยังได้ผลอยู่

นอกจากในเชิง political marketing แล้ว ในเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญ สหราชอาณาจักรยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะเปลี่ยนไปปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐจริง จะต้องมีการแก้และสะสางระเบียบประเพณีการปกครองทั้งหมด จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วร่างรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใหม่ก็ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่กินเวลายาวนาน แค่ออกจากสหภาพยุโรปก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะลงตัว มันมีราคาทางเวลาที่ต้องจ่ายเยอะ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคมอังกฤษ

มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ในอนาคตสหราชอาณาจักรจะกลายเป็นสาธารณรัฐ

ได้อยู่แล้ว ในเชิงหลักการทุกประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐสามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐได้หมด

แต่ถ้าถามในเชิงความรู้สึกของสาธารณชน ส่วนตัวคิดว่าคนอังกฤษไม่น่าจะเปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ความเป็นอังกฤษไปแล้วและยังเป็นจริงอยู่สำหรับคนอังกฤษจำนวนไม่น้อย แม้ว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะนิยมสาธารณรัฐมากขึ้น ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองที่มีพลังมาก ยังเป็นส่วนน้อยของสังคมอังกฤษอยู่ ครึ่งหนึ่งของคนที่นิยมสาธารณรัฐอาจจะเป็นเพื่อนพลอยใจก็ได้ (หัวเราะ) มันไม่ได้สะท้อนสังคมอังกฤษในภาพรวมเท่าไหร่ แต่แนวโน้มที่คนจะรู้สึกเฉยๆ กับการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นมากแน่นอนหลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต เพราะฉะนั้น ความเป็นไปได้น่าจะไปในทางที่ปฏิรูปเพื่อลดอภิสิทธิ์บางอย่างของสถาบันกษัตริย์มากกว่า

อีกอย่างหนึ่งคือ คนอังกฤษน่าจะรู้สึกเข็ดหลาบกับความปลี่ยนแปลงที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอย่าง Brexit ซึ่งจริงๆ ยังไม่คลี่คลายดีเลยด้วยซ้ำ คนน่าจะยังรู้สึกขนลุกกับความปวดหัววุ่นวาย ยังมีกับทรอม่ากับ Brexit อยู่ เปิดข่าวทุกวันก็ต้องเห็นข่าวข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรปวนไปวนมาไม่จบไม่สิ้น คิดว่าคนอังกฤษคงยังไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกในอนาคตอันใกล้นี้

หลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต หนึ่งในประเด็นที่กล่าวถึงกันมากคือการตัดสินใจแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ มีความเป็นไปได้มากแค่ไหนที่จะเกิดขึ้น

หากเกิดขึ้นจริงในอนาคต ที่แรกน่าจะเกิดขึ้นที่สกอตแลนด์ก่อน พรรคที่มีที่นั่งในสภาสกอตแลนด์จำนวนมากที่สุดตอนนี้คือพรรค SNP (Scottish National Party) ซึ่งเป็นพรรคที่ชูวาระในการจัดประชามติแยกตัวออกมาเป็นเอกราชในอนาคตตั้งแต่หลัง Brexit คนรุ่นใหม่เห็นด้วยกับธงของ SNP จนพรรค Labour ในสกอตแลนด์แทบจะสูญพันธ์ไปเลย คิดว่าสะท้อน sentiment ของคนสกอตแลนด์อยู่เยอะพอสมควร

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้ง่าย เพราะถ้าสกอตแลนด์แยกตัวออกมาเป็นเอกราชแล้ว มันมีคำถามที่ตามมาอีก เช่น ถ้าไม่ใช่ปอนด์สเตอริงแล้วจะไปใช้เงินสกุลยูโรเหรอ แต่ถ้าจะใช้เงินยูโร นั่นหมายความว่าสหภาพยุโรปก็ต้องยอมทำข้อตกลงด้วย แล้วถ้าสหภาพยุโรปยอมทำข้อตกลงกับสกอตแลนด์หรือกระทั่งรับเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ก็อาจจะไปปลุกกระแสแยกตัวเป็นอิสระออกจากสเปนในคาตาลันอีก เป็นต้น เพราะฉะนั้นสหภาพยุโรปก็ต้องไตร่ตรองเยอะ ยิ่งตอนนี้ก็ยุ่งพอแล้วกับปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ลึกๆ แล้วไม่คิดว่าสหภาพยุโรปจะ drag itself into this mess ในช่วงเวลาแบบนี้

เป็นไปได้แน่ๆ ที่สกอตแลนด์จะจัดประชามติอีก พรรค SNP ก็ได้ตั้งธงไว้แล้วว่าอาจเกิดขึ้นในปี 2023 และหากสกอตแลนด์โหวต yes จริงๆ สถานการณ์น่าจะคล้ายๆ กับ Brexit คือต้องเจรจาข้อตกลงระหว่างกัน (divorce settlement) แล้วลากยาวแน่ๆ ซึ่งยุ่งเหยิงมาก ขนาด Brexit กว่าจะผ่านมาได้ก็รากเลือด ตอนนี้เองก็ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่คลี่คลาย

แต่จริงๆ การแยกตัวมีอยู่หลายโมเดลขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างสองประเทศ โมเดลหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สำหรับสกอตแลนด์คือ เหมือนออสเตรเลียหรือแคนาดาที่เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร แต่ยังเป็นสมาชิกเครือจักรภพและมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขแห่งรัฐ เพราะเศรษฐกิจหรือพรมแดนการค้าก็ยังเป็นประเด็นสำคัญ คนสกอตจริงๆ ก็มาทำงานหรือเรียนมหาวิทยาลัยในอังกฤษเยอะ เพราะเสียค่าเรียนแบบ home rate เท่าคนอังกฤษ

ส่วนไอร์แลนด์เหนือเป็นอีกเคสหนึ่งที่โคตรซับซ้อน ไหนจะ Brexit อีกที่มีปัญหาเรื่องพรมแดนและด่านศุลกากรระหว่างเกาะบริเตน ไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ว่าประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการรวมชาติไอร์แลนด์มีระบุไว้ใน Good Friday Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพในการยุติวิกฤตในไอรแลนด์เหนือ

ส่วนเวลส์ไม่น่าเป็นไปได้ น่าจะยังอยากรวมอยู่ใน union กับอังกฤษ เพราะเวลส์ขนาดเศรษฐกิจเล็กมาก GDP ก็ไม่ได้สูง แต่ประเด็นคือ สกอตแลนด์ก็ได้ประโยชน์จากการอยู่ในสหราชอาณาจักรมากเหมือนกัน เพียงแค่สกอตแลนด์มีเจตจำนงทางการเมือง (political will) มากกว่าเยอะ

แต่ถ้าเทียบระหว่างสกอตแลนด์กับไอร์แลนด์เหนือ ที่ไหนมี political will มากกว่ากัน

ในขณะนี้พรรค SNP ได้ตั้งธงทำประชามติเพื่อแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรไว้ในปี 2023 ไอร์แลนด์เหนือเองก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวซึ่งอาจนำไปสู่การทำประชามติในประเด็นการรวมไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์เข้าด้วยกัน ส่วนตัวคิดว่ากระแสในไอร์แลนด์เหนือน่าจะแรงกว่า เพราะคนไอริชฝ่าย Catholic nationalist มองว่าอย่างไรการรวมชาติไอร์แลนด์ก็เป็นโปรเจ็กต์ทางการเมืองที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้วันใดวันหนึ่ง ก่อนหน้านี้ไอร์แลนด์เหนือก็เพิ่งมีบาดแผลกับอังกฤษสมัย IRA ยังเคลื่อนไหว ล่าสุดไอร์แลนด์เหนือเองก็มีกระแสเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการรวมชาติไอร์แลนด์เยอะ แต่กระแสที่แรงก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้การแยกตัวออกมาเป็นเอกราชสำเร็จ

ส่วนสกอตแลนด์เองก็มี political will แต่ยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างทางการเมืองก็รองรับให้สกอตแลนด์มีโอกาสทำประชามติแยกตัวออกเป็นเอกราชได้มากกว่า เพราะมีความซับซ้อนน้อยกว่าการรวมชาติของไอร์แลนด์ซึ่งไปเกี่ยวพันกับสถานะความเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปด้วย แต่สกอตแลนด์จะแยกตัวเป็นเอกราชจริงหรือไม่ ถ้ามองจากมุมคนนอก เหตุผลทางเศรษฐกิจมันมีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะในบริบทโลกหลังโควิด เศรษฐกิจเกือบจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งสงครามยูเครน-รัสเซียยังไม่จบลงเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ต้องช่างน้ำหนักให้ดีระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจกับการผลักดันโปรเจ็กต์ทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แต่ก็อย่างที่เราเห็น รัฐบาลใหม่ของอังกฤษก็ไม่ได้ดูจะเป็นที่พึ่งโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจได้มากนัก ก็นับว่าคนสกอตคงต้องคิดหนัก

การแยกตัวเป็นเอกราชออกจากสหราชอาณาจักรถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า

มองจากมุมคนนอก มันไม่ได้หลีกเลี่ยงไม่ได้ขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจเนอเรชันในสังคมด้วย แต่อย่างที่บอกรุ่นพวกเราและรุ่นต่อๆ มาน่าจะต้องคิดเรื่องเงื่อนไขเศรษฐกิจเยอะ ในภาพรวมประเด็นเศรษฐกิจสำคัญมากในทศวรรษนี้

บรรยากาศในช่วงการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ | ภาพโดย Leonardo Palermo Gentile

มีการตั้งคำถามเหมือนกันว่าประเทศในเครือจักรภพจะแยกตัวออกจากระบบเครือจักรภพหรือไม่

ประเทศในเครือจักรภพมีแนวโน้มอยากแยกตัวออกจากเครือจักรภพตั้งแต่ยุคของควีนเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ประเทศในเครือจักรภพจะค่อยๆ ทยอยแยกตัวออกมา แม้แต่ออสเตรเลียเองซึ่งมีประชามติไปเมื่อปี 1999 ก็กำลังหันกลับมาทบทวนเกี่ยวกับที่มาของประมุขแห่งรัฐ และนายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบานีส (Anthony Albanese) เองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ออสเตรเลียจะจัดประชามติอีกครั้งในอนาคต

แต่กรณีที่น่าสนใจกว่าคือกรณีของสาธารณรัฐบาร์เบโดส บาร์เบโดสทำประชามติเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐไปเมื่อปี 2021 มีประมุขแห่งรัฐมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่กษัตริย์อังกฤษ แต่ก็ยังสามารถคงสถานะการเป็นรัฐในเครือจักรภพและยังได้รับประโยชน์ในฐานะสมาชิกเครือจักรภพได้ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกัน มีความร่วมมือ ส่งนักกีฬาไปแข่งขันใน Commonwealth Game ได้อยู่ ถ้าในอนาคตประเทศเครือจักรภพอื่นๆ ไม่อยากรับกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขแห่งรัฐ ก็ไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักว่าหากออกจากเครือจักรภพแล้วจะต้องเสียสิทธิอะไรที่เคยได้บ้าง ถือว่าเป็นโมเดลที่วางไว้ได้ค่อนข้างดีในยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ทุกวิถีทางกับประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษถึงแม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์อย่างหลวมๆ ก็ตาม ทำให้ไม่เกิดความขุ่นเคืองใจหรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความฉลาดของโมเดลเครือจักรภพคือ มันหลวมมากเสียจนประเทศที่อยู่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับในอยู่ใต้สหราชอาณาจักรหรือรู้สึกว่าจะต้องเสียอะไรไป ในแง่หนึ่งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากต่อสหราชอาณาจักรด้วย แต่แน่นอนว่าประโยชน์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ว่ามาทั้งหมดนี้สามารถถูกมองว่าเป็นกลไกอันแยบยลในการฟอกขาวให้จักรวรรดินิยมอังกฤษได้เช่นกัน

หากมองการเมืองอังกฤษในภาพใหญ่ อาจเรียกได้ว่าสหราชอาณาจักรกำลังตกอยู่ในภาวะ ‘in decline’ ซึ่งจริงๆ ก็ in decline มานานพอสมควรแล้ว จากทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพ ความไม่ลงตัวในการ make Brexit work อีกทั้งยังต้องเผชิญกับจังหวะที่เจอการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อะไรที่จะทำให้สหราชอาณาจักรผ่านตรงจุดนี้ไปได้

จริงๆ อังกฤษเป็นประเทศที่มีวิถีแบบ ‘keep calm and carry on’ (หัวเราะ) เป็นประเทศที่ทำอะไรบางอย่างอย่างที่ทำกันมาตลอดต่อไปเรื่อยๆ เป็นประเทศที่มีอดทนสูง ทนเก่ง จะเจอปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาอะไรก็ตามแต่ ก็จะทนๆ กันไป

ความตลกของชาตินิยมอังกฤษคือมันผูกกับวิถี keep calm and carry on ของคนอังกฤษ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะทำหน้าที่ของตัวเองไป ตื่นเช้าขึ้นมาก็จะขึ้นรถไฟ เข้าแถวต่อคิว ปฏิบัติตามบรรทัดฐานสังคมต่อไป เป็นประเทศที่การเมืองค่อนข้างน่าเบื่อ วัฒนธรรมการเมืองของคนอังกฤษไม่ค่อยสวิงสวายเท่าไหร่ จะไม่ค่อยเห็นอะไรมาก ไม่ค่อยทำอะไรที่น่าตื่นเต้น ไม่เหมือนฝรั่งเศสที่ประท้วงเหมือนเป็นกีฬาประจำชาติ (หัวเราะ) จะมองว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียก็ได้

แต่คนเจเนอเรชันใหม่อาจถูกกดดันจนไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว คนอังกฤษที่เกิดราวๆ ปี 1995 เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยตอนนี้ค่าเทอมปรับขึ้นเป็น 9,000 ปอนด์และเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานหลัง Brexit โอกาสที่คนรุ่นนี้จะซื้อบ้านได้มีน้อยมาก เว้นแต่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีทรัพย์สินอยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือโอกาสในการเลื่อนชนชั้นลดต่ำลงมาก ซึ่งในอนาคตก็อาจจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบที่ประนีประนอมน้อยลง ส่วนหากมองกลับไปที่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ ถ้าเมื่อไหร่ที่คนรุ่นนี้เริ่มรู้สึกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองไปเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อนั้นมันจะไปกระตุกให้คนเริ่มมองเรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครอง แต่ปัจจุบันอาจยังมีชนวนอะไร mode of existence ของอังกฤษส่วนใหญ่ก็อาจจะคงจะยัง keep calm and carry on ต่อไปเรื่อยๆ คิดว่าในแง่หนึ่งนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อังกฤษลากตัวเองออกจากสารพัดวิกฤตได้ แต่อาจไม่ใช่สหราชอาณาจักรทั้งหมด

ในเวทีโลก สหราชอาณาจักรก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรที่สลักสำคัญมากแล้ว อาจจะเห็นในสงครามยูเครน-รัสเซียมากหน่อย คนในสหราชอาณาจักเองก็รับรู้ว่าสหราชอาณาจักรไม่ได้เป็นประเทศที่อยู่แถวหน้าของเวทีโลกมาสักพักแล้ว กระทั่งว่าเป็น middle power ก็ยัง questionable ไม่มีใครมีจินตนาการแล้วว่าสหราชอาณาจักรจะต้องเป็นชาติมหาอำนาจต่อไป เพราะฉะนั้นอังกฤษอาจ keep calm and carry on ต่อไป แต่เหตุผลนี้อาจใช้ไม่ได้กับสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนืออีกต่อไป ในเมื่อทางคู่อาจเห็นความเป็นไปได้ทางการเมืองแบบอื่นๆ แบบที่ไม่ได้เพียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสหราชอาณาจักรอีกต่อไป

เพราะฉะนั้น หากประชามติในสกอตแลนด์ (และอาจจะไอร์แลนด์เหนือด้วย) ประสบความสำเร็จในปี 2023 และดูจากทิศทางการบริหารของลิซ ทรัสส์ในตอนนี้โดยเฉพาะการใช้นโยบาย trickle-down economy ที่แม้แต่สหรัฐอเมริกาและ IMF ยังไม่เห็นด้วยนั่นก็ยิ่งอาจไปทำให้การตัดสินใจออกจากสหราชอาณาจักรฟังดูสมเหตุสมผลมากขึ้นเรื่อยๆ และเราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เร็วกว่าที่คิด

ภาพจากเฟซบุ๊ก The Royal Family

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save