fbpx

‘ชุมชนจินตกรรม’ ของวลาดิเมียร์ ปูติน

ทำไมรัสเซียหรือจริงๆ คือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินถึงยกกองทัพขนาดมโหฬารไปบุกประเทศยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 คำตอบที่หลายคนให้ต่อคำถามนี้ อันแรกที่นักสังเกตการณ์ชาวไทย (ที่ไม่ชอบเสรีนิยม) ชอบมากคือ เพราะนาโตและสหรัฐฯ ไม่รักษาคำพูดว่าจะไม่ขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตอิทธิพลของรัสเซีย หมายความว่า คนผิดในกรณีนี้ ไม่ใช่รัสเซียที่ยกทัพไปบุกอีกประเทศหนึ่ง หากเป็นเพราะ ‘ความผิดของตะวันตก’ (สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เองที่ผิดคำพูด และสร้างความหวาดกลัวให้แก่รัสเซีย จนต้องไป ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ (special military operation) ต่อยูเครน

(คำอธิบายนี้ผมรู้สึกว่าฟังแล้วเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ ภาคพิสดาร ตอนแรก หมาป่าคือหมีขาวรัสเซีย ส่วนลูกแกะคือยูเครน ตอนต่อมาเมื่อเข้าขย้ำคอแล้ว มีคนวิ่งออกมาช่วยลูกแกะ หมาป่าก็แปลงตัวกลายเป็นลูกแกะ ส่วนคนเลี้ยงแกะก็กลายเป็นหมาป่าไป)

ผมสังเกตบุคลิกของท่านผู้นำปูตินหลายครั้งในเวลาหลายปีที่ผ่านมา รู้สึกว่ามีท่วงท่าของความเป็นนักปรัชญา นักยุทธศาสตร์ นักวางแผนและนักจัดการร้อยแปดให้อยู่ในกำมือได้อย่างไม่พลาด ไม่พูดมาก แต่ต่อยหนัก พูดแบบไทยๆ ก็ว่าดูมีบารมีมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากบรรดารัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษาและอื่นๆ ที่ร่วมประชุม นั่งห่างและไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแรงบารมีที่ส่งออกมาจากตัวท่านผู้นำแรงและร้อนเกินไป

จนล่าสุดในคลิปวิดีโอที่สำนักข่าวบีบีซี ถ่ายทอดวันประชุมเรื่องการประกาศรับรองสองเมืองในเขตดอนบาสคือ Donetsk People’s Republic กับ Luhansk People’s Republic หัวหน้าข่าวกรองรัสเซียตอบว่าใช่แล้วท่าน ปูตินถามจะรับรองอะไร ตอบก็รับรองอธิปไตย (sovereignty) ของเขาสิครับ ปูตินตอกกลับว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่เรื่องอธิปไตย หัวหน้าข่าวกรองก็งงๆ พูดไม่เต็มปาก ปูตินก็เลยสั่งสอนต่อหน้าผู้ชมทั่วประเทศและทั่วโลก ด้วยการย้ำว่า ‘รับรองความเป็นเอกราช’ ของเขา (independence)

นั่นคือความคิดทางการเมืองของปูติน ที่ไม่เหมือนและไม่เดินตามกติกาและกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นสากล แต่เป็นความคิดและมโนทัศน์ (concept) ที่สร้างขึ้นมาบนประสบการณ์ของปูตินและปรัชญาของรัสเซียโดยเฉพาะภายหลังการแตกสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1989 เมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟประกาศยุติการดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียตที่เป็นมหาอำนาจโลกและเป็นจักรวรรดิคอมมิวนิสต์ ที่เป็นเจ้าเหนือรัฐเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า

ดังนั้นหลังจาก ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ แล้วด้วยการส่งกองกำลังเกือบสองแสนคนพร้อมอาวุธหนักครบมือทั้งหมดเท่าที่จะมีในโลกการรบยุคนี้แล้ว สื่อมวลชนทั่วโลกต่างรายงานตรงกันว่า รัสเซียได้บุกเข้าประชิดเขตแดนยูเครนแล้ว ก่อนหน้านั้นเป็นอาทิตย์ ทำเนียบขาวทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดนและที่ปรึกษาความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ พากันออกมาเปิดโปงและแฉแผนการของปูติน ว่ารัสเซียเตรียมแผนการบุกเข้ายึดยูเครนแน่นอนแล้ว ในตอนนั้นปูตินและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของเขาก็ยังออกมาปฏิเสธเสียงแข็งอย่างหนักแน่นว่ารัสเซียจะไม่บุกยูเครนแน่นอน แต่แล้วพอหลังจากสภาดูมาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลงนามรับรองความเป็นรัฐเอกราชของสองเมืองนั้น ท่านผู้นำก็สั่งให้กองทัพ ‘ปฏิบัติการพิเศษ’ ทันที โดยอ้างว่า ได้รับการร้องขอจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ถูกยูเครนข่มเหงและกดขี่ ปูตินเรียกว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ (genocide) จึงบอกว่าบัดนี้มีความชอบธรรมแล้วในการเข้าไปช่วยรัฐเอกราชจากการกดขี่ของรัฐบาลยูเครนซึ่งไร้ความชอบธรรม

หน่วยการข่าวและสื่อสารมวลชนรัสเซียประกาศห้ามสื่อทุกอย่างไม่ให้ใช้คำว่า ‘บุกรุก’ (invasion) และ ‘สงคราม’ (war)ในการเสนอข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ในยูเครน โดยกล่าวว่า รัสเซียไม่ได้ทำสงคราม และไม่ได้บุกรุกยูเครน คนนอกอย่างเราๆ ก็คงงุนงง และอยากถามท่านผู้นำว่า การยกกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าไปประชิดแล้วรุกเข้าไปดินแดนประเทศ(รัฐ)อื่นๆ แล้วยิงระเบิดขีปนาวุธนานาประการเข้าไปถล่มบ้านช่องและทำลายชีวิตผู้คนนั้น ถ้าไม่ใช่ ‘สงคราม’ แล้วมันคืออะไรกันเล่า?

คำตอบ ก็บอกแล้วไงว่ามันคือ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ถ้าติดตามฟังคำชี้แจงและอธิบายของปูตินต่อมา ก็จะจับความได้ว่า สิ่งที่รัสเซียได้กระทำไปแล้วนั้น คือการเข้าไปช่วยเหลือคนรัสเซียที่อยู่ในยูเครนตะวันออกและถูกกดขี่ จนลุกขึ้นสู้เพื่อเป็นเอกราช ดังนั้นปฏิบัติการทหารรัสเซียในทรรศนะของปูตินจึงไม่ใช่ ‘การรุกราน’ หากแต่เป็นการ ‘ปลดปล่อย’

ความเป็นมาของลัทธิปูติน

แรกๆ ผมก็คิดว่านี่เป็นการเล่นลิ้นของท่านผู้นำ ทำนองสไตล์นักเลงโบราณ ใหญ่เสียอย่าง จะทำและพูดอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ต้องแคร์หน้าอินทร์หน้าพรหม กระทั่งได้ไปอ่านหนังสือเรื่อง The Road to Unfreedom: Russia, Europe, America  โดย Timothy Snyder (New York, 2018) ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะยุโรป ถึงได้เข้าใจความคิดของปูตินว่าเขาไม่ได้คิดเล่นๆ ไปตามเรื่อง หากแต่มีรากฐานและความเป็นมาของปรัชญาการเมืองที่เป็นระบบและรองรับด้วยประวัติศาสตร์รัสเซียอันยาวนาน

นักปรัชญารัสเซียที่ปูตินนับถือและยกย่องให้เป็น ‘นักปรัชญาแห่งราชสำนักเครมลิน’ ของเขาคือไอแวน อิลยิน (Ivan Ilyin, 1883-1954) เขาเป็นนักปรัชญาสำนักเยอรมัน ได้แก่เฮเกลที่เขาเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ในมอสโก ค้านต์และเฮอร์เซิลล์ในเยอรมนี เมื่อเขาลี้ภัยหลังการปฏิวัติบอลเชวิคในปี 1917 เขาต่อต้านรัฐบาลสหภาพโซเวียตและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ งานของเขาจึงไม่เป็นที่รู้จักและพูดถึงเลยในสหภาพโซเวียต จนกระทั่งหลังจากสหภาพโซเวียตสลายตัวไปและเกิดสหพันธรัฐรัสเซีย (Federation of Russia) ขึ้นมาแทน นั่นแหละที่ความคิดการเมืองของไอแวน อิลยินกลับมาชูแสงสว่างนำทางให้แก่รัสเซียที่แตกแยกและไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนด้วยอุดมการณ์อะไร

ประเด็นที่ผมสนใจและอยากพูดถึงคือเรื่องการจินตนาการถึงความเป็นชาติของรัสเซียและบรรดารัฐต่างๆ ที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตและจักรวรรดิพระเจ้าซาร์อันยิ่งใหญ่ และอนาคตของรัสเซีย

แนวคิดและมโนทัศน์ที่ไอแวน อิลยินเขียนไว้แต่ไม่มีใครอ่านจริงจัง ได้แก่ความคิดเรื่องความเป็นพิเศษของอารยธรรมรัสเซีย เขากล่าวว่ารัสเซียเป็นอารยธรรมที่บริสุทธิ์หรือไร้มลทิน ด้วยลักษณะอย่างธรรมชาติของอารยธรรมนี้ของรัสเซีย ทำให้รัสเซียในอดีตเป็นผู้สร้างและส่งออกความสมานฉันท์ไปทั่วโลก รัฐจึงไม่ใช่แค่พื้นที่และรัฐบาลในนั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือการมีจิตวิญญาณของอารยธรรม รัฐหรือจักรวรรดิเกิดมาจากการสร้างของพระเจ้า หลังจากนั้นมนุษย์ไม่สามารถบรรลุพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะมนุษย์และโลกมีบาป จึงไม่สามารถสร้างชุมชนที่สมบูรณ์ของพวกเขาขึ้นมาได้ นอกจากต้องอาศัยผู้นำที่มีบุญญาบารมีหรือคุณธรรมสูงส่งมานำทางและพาพวกเขาไปสู่ความสมบูรณ์ในโลกนี้ได้ สำหรับอิลยิน อนาคตของรัฐจึงอยู่ที่ผู้นำคุณธรรมหรือ ‘พระมหาไถ่’ (redeemer) เมื่อพูดถึงการเมืองการปกครอง เขาบอกว่ามันคือ “ศิลปะของการกำหนดว่าใครคือศัตรูและทำให้มันไม่สามารถทำอะไรได้” (art of identifying and neutralizing the enemy)

ในปี 2012 ปูตินเขียนบทความถึงปัญหาความเป็นชาติของรัสเซียว่า “ภารกิจของรัสเซียที่ยิ่งใหญ่คือการผนึกรวมและผูกพันอารยธรรมเข้ามาเป็นเอกภาพเดียวกัน ในอารยธรรมของรัฐนั้น ไม่มีชนชาติส่วนน้อยทั้งหลายอยู่ และหลักการในการรับรองว่าใครเป็น ‘มิตรหรือศัตรู’ วางอยู่บนพื้นฐานของการมีวัฒนธรรมร่วมกัน”

ในความคิดของปูติน รัสเซียไม่ใช่เป็นแค่รัฐ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นเงื่อนไขทางจิตวิญญาณ รัสเซียเป็นภาวะทางจิตวิญญาณ (spiritual condition) ดังนั้นรัสเซียจึงไม่มีความขัดแย้งระหว่างชนชาติทั้งหลายและไม่มีทางจะมีได้ เพราะมันเป็นวิญญาณแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ ในความคิดของปูติน ปัญหาเรื่องความเป็นชาติของรัสเซียและยูเครน จึงเป็นแค่จินตนาการหรือประดิษฐกรรมสร้างขึ้นมาโดยพวกศัตรูของรัสเซีย เป็นมโนทัศน์ที่นำเข้ามาจากตะวันตกที่ไม่มีความจริงในดินแดนรัสเซียอยู่เลย

เมื่อปูตินกล่าวถึงยูเครน เขามองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในอารยธรรมรัสเซีย เขาไม่สนใจและไม่รับรองฐานะความเป็นรัฐชาติของยูเครนในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ภาพของคนยูเครนก็เหมือนชาวบ้านที่ใช้ชีวิตกระจัดกระจายอยู่ในดินแดนอันกว้างใหญ่ที่เป็นรัสเซีย คติความเป็นอธิปไตย (sovereignty) บูรภาพของอาณาเขต (integrity of territory) และเส้นเขตแดนที่ได้รับการยอมรับ ไม่อยู่ในความคิดของปูติน เขากล่าวว่า “เราอยู่ด้วยกันมานับศตวรรษ เราร่วมกันเอาชนะในสงครามที่โหดร้ายหลายครั้ง และเราจะสืบทอดในการอยู่ด้วยกัน และกล่าวสำหรับบรรดาคนที่ต้องการแบ่งแยกเรา ข้าพเจ้าได้แต่กล่าวอย่างเดียวเท่านั้น วันนั้นจะไม่มีทางมาถึงได้เลย”

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญอย่างมากต่อการเข้าใจและคาดการณ์ต่อการดำเนินนโยบายของรัสเซียยุคปูติน คือมโนทัศน์ว่าด้วยกฎหมายหรือสำนึกทางกฎหมาย (provosoznanie) เขาปฏิเสธระบบปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐ (the rule of law) ว่าไม่มีประสิทธิภาพและไม่อาจปกครองประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไร้การศึกษาและขาดเหตุผล เขาเสนอมโนทัศน์ว่าด้วยการไร้กฎหมาย โดยแทนที่กฎหมายด้วยคุณธรรมของความรักชาติ และ ‘เผด็จการของกฎหมาย’ โดยผู้นำคุณธรรม เคียงข้างไปกับแนวคิดไร้กฎหมาย ได้แก่การปราศจากพรมแดนในรัฐ (bespredel) เพราะพรมแดนหรืออาณาเขตจะจำกัดบทบาทและการนำของผู้นำสูงสุดในการทำให้จุดหมายของเขาปรากฏเป็นจริง

จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ

จากการติดตามการดำเนินนโยบายและใช้กลวิธีต่างๆ ในการปกครองของปูติน ทำให้เห็นความใกล้เคียงและการเดินตามรอยความคิดของไอแวน อิลยินเกือบทุกอย่าง เริ่มจากการทำให้การปกครองประเทศเป็นเรื่องของผู้นำคุณธรรมหรือพิเศษเท่านั้น เพราะเชื่อว่าคนรัสเซียทั่วไปไร้คุณภาพและไร้ความสามารถในการปกครอง

ช่วงแรกของการเป็นรัสเซียที่ไม่ใช่สหภาพโซเวียต มีการเริ่มทดลองใช้ระบบประชาธิปไตยในการเลือกตั้งผู้ปกครอง เริ่มจากนายเยลต์ซิน และตามมาด้วยปูติน สภาพของการเมืองประชาธิปไตยที่ไม่มีประเพณีของการปกครองตนเองของเสรีภาพปัจเจกชน ล้วนประสบความระส่ำระสาย ในที่สุดการเลือกตั้งก็ตกอยู่ในมือของกลุ่มอิทธิพลหยิบมือหนึ่งที่แวดล้อมผู้นำทางอำนาจ ใช้ระบบอุปถัมภ์เส้นสายสร้างความร่ำรวยจากการทำธุรกิจใต้ดินและเหนือกฎหมาย พวกนี้คือ ‘คณาธิปไตย’ (oligarchs) คนกำหนดผลการเลือกตั้ง ซึ่งปูตินเรียนรู้และร่วมปฏิบัติการด้วยตั้งแต่ต้น  

กลุ่มคณาธิปไตยของเยลต์ซิน ค้นหาคนที่จะมาเป็นทายาททางการเมือง ด้วยการหาโมเดลจากดาราที่ชาวบ้านชื่นชอบในจอโทรทัศน์และโรงหนัง นั่นคือสายลับรัสเซียที่ไปทำงานจารกรรมในเยอรมนีตะวันออก คนที่สอบผ่านตามสเป็กนี้คือปูติน เพราะเขาเคยเป็นสายลับรัสเซียในเยอรมนีมาก่อน ขั้นที่สองคือการสร้างวิกฤตเพื่อให้จารชนนี้เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชนได้ เกิดการระเบิดที่ทำลายผู้คนในหลายเมืองต่อมา ปูตินซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าข่าวกรอง ลงไปจัดการปราบปรามพวกก่อการร้ายโดยเฉพาะในเชเชนที่เป็นมุสลิมได้หมด (ภายหลังพบว่าการวางระเบิดเป็นฝีมือของคนในหน่วยข่าวกรองทั้งสิ้น)  จากนั้นปูตินก็เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและต่อมาในการเลือกตั้งได้ชัยชนะเป็นประธานาธิบดี เขาจึงตระหนักอย่างดีว่า การเลือกตั้งนั้นไร้สาระ คณาธิปไตยต่างหากคือของจริง เขาวางแผนในการอยู่ในอำนาจ เพราะเชื่อว่าอนาคตของรัสเซียอยู่ที่เขา ซึ่งกำลังกลายเป็น ‘พระมหาไถ่’

ปูตินเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยการสร้างนิยายให้เขาเป็นวีรบุรุษของชาวบ้าน ในปี 2012 เมื่อเขาได้ตำแหน่งอีก คราวนี้เขาใช้กลยุทธ์ของการทำลายระบบนิติรัฐหรือการปกครองโดยกฎหมาย ตามด้วยการสร้างวิกฤตต่างๆ เพื่อให้เขาใช้อำนาจนอกกฎหมายได้เต็มที่ นำไปสู่บรรยากาศของการไร้ซึ่งอนาคต ทำให้คนคิดถึงแต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจจากการขายสินค้าเกษตรกรรมและก๊าซกับน้ำมันสร้างรายได้แก่ประเทศมหาศาล ปูตินสรุปว่าการปกครองไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย ขอให้มีอำนาจในมือเต็มที่ก็แล้วกัน แต่เมื่อหลายประเทศที่เคยเป็นรัฐในสหภาพโซเวียตเริ่มพากันเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) พร้อมกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดที่มีการแข่งขันได้ มีการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรม ยอมรับสิทธิมนุษยชน และการใช้กฎหมายของอียูในประเทศของตน ทำให้ประเทศเหล่านั้นเติบโตและเป็นประชาธิปไตยเสรีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประชากรรัสเซียกลับตกต่ำและไร้สิทธิเสรีภาพนานาประการ ทั้งหมดเป็นอันตรายต่ออุดมการณ์ของการเป็นพระผู้ไถ่ของปูติน

กลยุทธ์ต่อมาของเขาคือการประดิษฐ์สร้างศัตรูของชาติรัสเซีย และไม่อาจเป็นใครอื่นได้เลย นอกจากประเทศยุโรปที่รวมกันเป็นสหภาพ และอีกหนึ่งมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งว่าไปแล้วทั้งอียูและสหรัฐฯ อยู่ห่างและไกลเกินกว่าที่จะเป็นภยันตรายหรือกระเทือนความมั่นคงและความปลอดภัยของรัสเซียทั้งหลายทั้งปวง แต่ดังได้กล่าวแล้ว สิ่งที่กีดขวางและขัดขวางอารยธรรมรัสเซียไม่ให้ดำเนินไปสู่ความบริสุทธิ์ก็คืออารยธรรมที่เป็นศัตรู สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เป็นศัตรูทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่ทางวัตถุอาวุธมหาประลัยทั้งหลาย หากแต่ที่หนักหน่วงที่สุดคือทางความคิดและอุดมการณ์ ที่ตรงข้ามกับที่ปูตินและคณาธิปไตยได้สร้างและทำให้คนรัสเซียเชื่อมาถึงปัจจุบัน ว่าพวกเขาคือลูกแกะที่หมาป่าจากยุโรปจะมาทำร้าย

ปี 2012 รัสเซียและปูตินพยายามเสนอแนวคิดเรื่อง ‘ยูเรเซีย’ (Eurasia) ซึ่งเป็นความคิดเก่าแต่สมัยนาซีเยอรมัน ในการสร้างจักรวรรดิใหม่ที่มีรัสเซียเป็นศูนย์กลาง โดยมีบรรดาอดีตรัฐในสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิก นี่คือทฤษฎีอย่างแมนดาลา (Mandala) หรือมณฑลในสมัยราชาธิราชของอุษาคเนย์ ที่มีอาณาจักรกษัตริย์ที่เข้มแข็งเป็นศูนย์กลาง ส่วนรัฐและเมืองที่เล็กกว่าทั้งหลายก็พากันมาสวามิภักดิ์ยอมเป็นประเทศราชหรือสามนตราชกันเป็นแถวๆ

ตอนที่เยลต์ซินประกาศรัสเซียเป็นอิสระ และสนับสนุนให้เบลารุสและยูเครนเป็นอิสระเป็นเอกราชด้วย โดยตั้งใจจะรวมกันเป็นสามรัฐอิสระ ถึงวันนี้รัสเซียได้เบลารุสและเสียยูเครนให้แก่อารยธรรมยุโรป หลังการประท้วงใหญ่ที่กลายเป็น ‘การปฏิวัติสีส้ม’ (Orange Revolution) ของประชาชนในปี 2014 จนทำให้ประธานาธิบดีเย็บตูเชนโก หนึ่งในคณาธิปไตยของรัสเซียต้องตกจากเก้าอี้ไป เหตุผลก็เพราะเขายกประโยชน์ของยูเครนให้แก่รัสเซียหมด รวมทั้งการทำสัญญาให้ไครเมียเป็นฐานทางทหารของรัสเซียไปถึง 30 ปี สัญญานี้เป็นการประกันและป้องปรามไม่ให้ยูเครนสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้ ความพ่ายแพ้ของลูกสมุนในคราวนั้น รัสเซียตอบโต้ว่าไม่ใช่เพราะปกครองไม่ดี หากแต่เพราะ ‘ซีไอเอ’ หนุนหลังและให้เงินช่วยเหลือพวกประท้วงเสื้อสีต่างหาก

สุดท้าย ทำไมปูตินตัดสินใจใช้หมากรุกฆาตกระทำต่อยูเครนในตอนนี้ ตอบสั้นๆ เพราะเขาคิดว่าการเมืองสหรัฐฯ ภายหลังการขึ้นมาของโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งได้ชนะในการเลือกตั้ง จากการช่วยเหลือ (ทางลับ) ของฝ่ายไซเบอร์และหน่วยข่าวกรองรัสเซีย จนทำให้การเมืองและสองพรรคการเมืองใหญ่แตกแตกลงไปถึงในหมู่มวลชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หมายความว่าอเมริกากำลังอกแตก ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีความสามัคคีในชาติ ในขณะที่สหภาพยุโรปก็พอๆ กัน อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกไม่กี่ปีมานี้ การเมืองในประเทศของยุโรปก็เห็นการเติบใหญ่และได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นของพรรคการเมืองเอียงขวาและอนุรักษนิยม แสดงว่าพรรคเก่าที่เป็นเสรีนิยมแต่ก่อนเริ่มเสียท่าแล้ว

กล่าวโดยรวม ปูตินคิดว่าเงื่อนเวลาตอนนี้สุกงอมที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน ตอนนี้ทั้งสหรัฐฯ และอียูกำลังตกอยู่ในภาวะแตกแยก ขัดแย้งและไม่เป็นเอกภาพอีกต่อไป ถ้าไม่กระหน่ำตีในตอนนี้ แล้วจะไปรอตีพวกนั้นตอนไหนเล่า อีกปัจจัยที่หนุนการตัดสินใจของปูตินครั้งนี้ คือการพบกันและเจรจาตกลงร่วมมือกันระหว่างรัสเซียกับจีนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในขณะที่รัสเซียเคลื่อนทหารเข้าประชิดยูเครนแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเดาไม่ได้ว่ารัสเซียเตรียมจะทำอะไร แต่ผลประโยชน์ระยะยาวคือการทำลายอำนาจนำของสหรัฐฯ และนาโตลง ย่อมเป็นสิ่งที่สีจิ้นผิงต้องการมากกว่าอะไรอื่น

หากการบุกรุกยูเครนด้วยกำลังประสบความสำเร็จ ตามแผนการที่ตั้งไว้คือ 1) ทำลายรัฐบาลยูเครน 2) ควบคุมเขตแดนทั้งหมดของยูเครนไว้ภายใต้รัสเซีย และ 3) ยุติอธิปไตยของยูเครน และยุติ ‘ปัญหายูเครน’ โดยสิ้นเชิง หลังจากนั้นคือการสร้างเอกภาพร่วมระหว่างรัสเซีย-ยูเครน-เบลารุส และตามมาด้วยการสร้างระเบียบโลกใหม่ใน ‘ยุคใหม่’ ของโลกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ผงาดเหนือตะวันตกที่ถูกเหยียดหยามและแตกแยกต่อไป (humiliated and divided West) ก็จะต้องบังเกิดขึ้นในเวลาต่อไป สิ่งที่ฝ่ายข่าวกรองรัสเซียเตรียมไว้ในบทความ ‘การรุกของรัสเซียและระเบียบโลกใหม่’ ก็จะบรรลุเป้าหมาย แต่เนื่องจากการรุกในขั้นแรกยังไม่บรรลุเป้าที่วางไว้ จึงต้องถอดบทความนี้ออกจากสื่อมวลชนของรัฐ

และนี่คือการเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21 ภายใต้การนำของพระมหาไถ่แห่งคณาธิปไตยรัสเซียหรือรัฐของมาเฟีย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save