fbpx

ปูติน ‘รีเซ็ต’ ระเบียบโลก แต่ดันเข้าทางสหรัฐฯ

การบุกยูเครนของรัสเซียกลายเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนโลกทั้งใบ เดิมปูตินต้องการรีเซ็ตระเบียบโลกให้เข้าทางรัสเซียและจีน แต่ในขณะนี้ ดูเหมือนระเบียบโลกใหม่หลังสงครามยูเครนจะเข้าทางสหรัฐฯ เสียมากกว่า

ฉากทัศน์เดิมที่ปูตินอาจเคยฝันหวานไม่ได้เกิดขึ้น ปูตินเคยนึกว่าจะสามารถเผด็จศึกยูเครนได้อย่างฉับไวภายใน 1-2 วัน โดยประเมินว่า ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนคงทิ้งเมืองหนีตาย หรือยอมเจรจารับเงื่อนไขของรัสเซีย กองทัพและประชาชนยูเครนไม่ได้ลุกขึ้นสู้ ทุกอย่างจะจบก่อนที่ตะวันตกจะทันมีมาตรการคว่ำบาตร หรือถึงคว่ำบาตรก็จะไม่ได้ใช้มาตรการในระดับที่สูงมาก เพราะสงครามจบได้เร็ว การสูญเสียของทหารและพลเรือนก็ไม่มาก ไม่แตกต่างจากที่ปูตินผนวกรวมไครเมียด้วยต้นทุนที่ต่ำอย่างในปี 2014

แต่ปูตินประเมินผิด 4 ด้าน ด้านแรก กองทัพรัสเซียเองประสบปัญหาทั้งโลจิสติกส์ การลำเลียงเสบียง และการบัญชาการ ปฏิบัติการทางทหารล่าช้ากว่าที่คาด ด้านสอง ประธานาธิบดีเซเลนสกีเด็ดเดี่ยวกว่าที่คิด แถมปลุกใจคนยูเครนและคนทั่วโลกให้ต่อสู้รัสเซีย ด้านสาม สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกสามัคคีกันกว่าที่คิด ร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่รุนแรงที่สุด จนเศรษฐกิจรัสเซียพังพินาศข้ามคืน ด้านสี่ ปูตินลืมคิดว่านี่เป็นสงครามครั้งแรกในยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อสงครามเริ่มยืดเยื้อ ภาพการระเบิดและภาพการสูญเสียแบบเรียลไทม์สะเทือนใจประชาชนทั่วโลก จนภาพลักษณ์รัสเซียกลายเป็นรัฐอันธพาล ทุกคนพยายามเอาตัวออกห่าง

แทนที่สงครามยูเครนจะเป็นตัวรีเซ็ตระเบียบโลกตามที่ปูตินคาดหวัง จากเดิมคิดจะทำให้นาโตหยุดขยายอิทธิพล รัสเซียเองได้ประกาศความยิ่งใหญ่ทางการทหารสมศักดิ์ศรีมหาอำนาจ รวมทั้งทำให้เกิดสมดุลอำนาจใหม่กับขั้วตะวันตก แต่ผลกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ในสงครามใหญ่ที่ทุกคนเสียหายหมดทุกฝ่าย แต่ฝ่ายที่ดูจะเสียหายน้อยที่สุด หรือกล่าวได้ว่าได้ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุดกลับเป็นสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศัตรูและคู่แค้นอันดับ 1 ของรัสเซีย

ตั้งแต่รับตำแหน่ง ประธานาธิบดีไบเดนมีเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์การต่างประเทศสามข้อ หนึ่ง ต้องการสร้างความเข็มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวให้นาโตและพันธมิตรตะวันตก (ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าพันธมิตรตะวันตกนั้นหลวมและแตกคอกัน เพราะต่างคนต่างแอบคบจีนและต้องพึ่งพาทรัพยากรจากรัสเซีย) สอง สหรัฐฯ ต้องการทุ่มสรรพกำลังจัดการจีน และลดพลังของพันธมิตรของจีน (ท่ามกลางความใกล้ชิดระหว่างจีนและรัสเซีย รวมทั้งจีนกับยุโรป) สาม สหรัฐฯ ต้องการคงสถานะที่ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลักของโลก (ท่ามกลางการพยายามเพิ่มบทบาทของหยวน ยูโร หรือสกุลเงินดิจิทัลมาแข่งขันกับดอลลาร์)

อนิจจา หมากมุทะลุของปูติน ผลักระเบียบโลกให้เข้าทางสหรัฐฯ ทั้งสามข้อ สงครามยูเครนอาจมีผลรีเซ็ตระเบียบโลก แต่ไม่ได้ทำลายระเบียบโลกของสหรัฐฯ ที่กำลังอ่อนแอและอยู่ในขาลง ตรงกันข้าม กลับช่วยฟืนคืนชีพให้กับระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกเสียต่างหาก

หนึ่ง สงครามยูเครนผลักให้พันธมิตรตะวันตกและนาโตรวมพลังกันเป็นหนึ่งเดียวและเหนี่ยวแน่นที่สุด เพราะภัยสงครามมาจ่อที่หน้าประตูแล้ว ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ พยายามขอให้ยุโรปช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการทหารของนาโต้ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ ประเทศสมาชิกนาโต้ต่างกลับมาให้ความสนใจเรื่องอุตสาหกรรมทหาร ที่เด่นชัดคือเยอรมนีที่มีนโยบายด้านการทหารพลิกกลับแบบ 180 องศา จากเดิมที่ไม่สนับสนุนการเพิ่มกำลังทหารและอาวุธ เปลี่ยนมาเป็นนโยบายจะพัฒนากองทัพเพื่อรับมือโลกที่ผันผวน ซึ่งประเทศยุโรปเหล่านี้ต่างต้องซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ผลิตอาวุธรรายใหญ่ที่สุดของโลก

นอกจากนี้ จากเดิมที่ยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ตอนนี้เมื่อต้องหยุดการเดินท่อก๊าซ ยุโรปก็ไม่เหลือทางเลือกต้องหันมาซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ แทน กลายเป็นยุโรปต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในเรื่องพลังงานอย่างสูงยิ่ง

สอง แม้หลายคนจะมองว่ายูเครนจะเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจของสหรัฐฯ จากการต่อสู้กับจีน แต่ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสหรัฐฯ ประกาศชัดเจนว่าจะไม่มาร่วมรบในยูเครน จึงไม่ต้องมาพัวพันกับความวุ่นวายในยุโรปอย่างเต็มตัว ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ กลับสามารถปลุกพันธมิตรในยุโรปและในเอเชียให้มองจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามคล้ายๆ กัน หากรัสเซียบุกยูเครน ต่อไปก็มีความเสี่ยงที่จีนจะบุกไต้หวัน ยิ่งผลักให้พันธมิตรของสหรัฐฯ หันมาร่วมกับสหรัฐฯ กดดันและปิดล้อมจีนหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ส่วนพันธมิตรระหว่างรัสเซียและจีนนั้น เมื่อเศรษฐกิจรัสเซียพังพินาศและเสียหายยาวนานจากสงครามที่ยืดเยื้อ ย่อมส่งผลให้พลังร่วมของสองมหาอำนาจลดน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเกิดสงคราม ส่วนเดิมที่ยุโรปเคยแสดงตัวเป็นอิสระและเป็นกลางในสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ด้วยเสียงประณามสงครามจากประชาชนและกระแสว่าจีนอยู่ข้างรัสเซีย ด้วยภาพสีจิ้นผิงจับมือกับปูตินก่อนเกิดสงคราม ประกอบกับการที่จีนไม่ประณามและไม่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย ย่อมทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในยุโรปกลับจะมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

การคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อรัสเซีย ยังสะท้อนภาพชัดว่า สหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเงินอันดับ 1 ของโลก พันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ร่วมคว่ำบาตรด้วยกันมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 18 ของโลก ส่วนรัสเซียมีเพียงประมาณร้อยละ 2-3 เท่านั้น

สมัยก่อนเรามักพูดกันว่าจีนกับสหรัฐฯ เริ่มทัดเทียมกันทางเศรษฐกิจ เพราะขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน คิดเป็นราวร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจโลกใกล้เคียงกัน แต่ถ้าสหรัฐฯ สามารถผนึกพันธมิตรตะวันตกและในเอเชียของสหรัฐฯ ทั้งหมดให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ค่ายของสหรัฐฯ รวมกันแล้วก็ยังกินส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ขณะที่ค่ายจีนบวกรัสเซียนั้นมีขนาดอยู่ที่เพียงประมาณ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้นเอง   

สาม สงครามยูเครนยังส่งผลให้สถานะของดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น แต่เดิมหากรัสเซียขายก๊าซธรรมชาติให้เยอรมนี จะใช้เงินสกุลยูโรในการทำธุรกรรม แต่ตอนนี้เยอรมนีต้องซื้อพลังงานจากสหรัฐฯ เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน การซื้ออาวุธของประเทศต่างๆ จากสหรัฐฯ ก็ต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ผลคือตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครนเป็นต้นมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีการพูดเหมือนกันว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะส่งผลให้จีนและรัสเซียพยายามจะใช้เงินสกุลหยวนมากขึ้นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ หรือพยายามใช้ระบบการชำระเงินใหม่แทนระบบ SWIFT ของตะวันตก แต่แม้จะใช้ระบบใหม่ ก็ยังต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคารอยู่ดี ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงสามารถคว่ำบาตรธนาคารที่รับทำธุรกรรมได้ ดังนั้น ในระยะสั้นและระยะกลาง จึงยังมองไม่เห็นหนทางที่จะมีเงินสกุลใดหรือทางเลือกใดมาแข่งขันหรือแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือระบบการชำระเงินของสหรัฐฯ  

สงครามยูเครนจะยิ่งตอกย้ำเทรนด์การลดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและตะวันตก ซึ่งจะเป็นความตั้งใจของทั้งสองฝ่าย เพราะต่างก็มองไปในอนาคตว่าถ้าเกิดขัดแย้งกันและต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบที่ทำกับรัสเซีย จีนต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น จะได้เจ็บตัวให้น้อย ส่วนสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตก ก็จะต้องลดความเชื่อมโยงกับจีน ตนจะได้เจ็บตัวน้อยลงเช่นกัน อย่าลืมนะครับว่าระดับความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างตะวันตกกับจีน สูงกว่าระหว่างตะวันตกกับรัสเซียหลายเท่าตัว การคว่ำบาตรจีนในอนาคตจึงจะเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกยิ่งกว่าการคว่ำบาตรรัสเซีย

สงครามยูเครนนั้น ยูเครนพินาศ รัสเซียพินาศ ยุโรปก็เจ็บหนักไปด้วย ผลคือรัสเซียเองก็ไม่มีทางเลือกต้องพึ่งพาจีนสูงขึ้น จีนเองก็มีอำนาจต่อรองต่อรัสเซียสูงขึ้น ส่วนยุโรปเอง ก็ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ สูงขึ้น เพราะไม่สามารถคบรัสเซียและจีนได้อย่างสบายใจอีกต่อไป รัสเซียกลายเป็นเบี้ยล่างของจีน ส่วนยุโรปกลายเป็นเบี้ยล่างของสหรัฐฯ ในทางยุทธศาสตร์แล้ว เป็นหายนะอย่างยิ่งของทั้งรัสเซียและยุโรป

ส่วนสหรัฐฯ ในเวลานี้ดูเหมือนจะเสียหายน้อยที่สุด หรือได้ประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์มากที่สุดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อไปในอนาคตสำหรับสหรัฐฯ ก็สูงมากเหมือนกันหากสงครามยืดเยื้อ เพราะหากรัสเซียพัง มหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างรัสเซียจะยอมพังไปคนเดียวหรือ แล้วหากรัสเซียสร้างความขัดแย้งลุกลามและขยายวงไปถึงการสู้รบกับประเทศในกลุ่มนาโต เมื่อนั้นสหรัฐฯ ย่อมจะต้องเข้ามารบด้วย และถ้าถึงตอนนั้นพังพินาศกันหมด จีนก็อาจกลายเป็นตาอยู่ก็ได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save