Facebook – Bongbong Marcos: ภาพประกอบ
9 พฤศจิกายน 1965 คือวันที่หน้าประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์จารึกไว้ว่า ‘เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส’ (Ferdinand Marcos) คว้าชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนที่ 10 ของประเทศ การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านผู้นำในครั้งนั้นอาจเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่คงแทบไม่มีคนฟิลิปปินส์คนไหนคาดคิดว่าชัยชนะของมาร์กอสที่ได้มาอย่างถูกต้องตามครรลองในวันนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยอันขมขื่น เมื่อเขาค่อยๆ เดินหน้ากระชับอำนาจจนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำเผด็จการเต็มรูปแบบ
21 ปีภายใต้ระบอบมาร์กอส การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ประชาชนผู้เห็นต่างจำนวนนับพันนับหมื่นถูกจับกุม ซ้อมทรมาน กระทั่งถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ขณะที่การคอร์รัปชันและการเอื้อพวกพ้องก็เกิดขึ้นอย่างบานตะไท จนกินเนสบุ๊กจารึกชื่อเขาไว้ว่าเป็นผู้นำที่ปล้นชาติมากที่สุดในตอนนั้น แม้ที่สุดเขาจะถูกขับไล่ลงจากอำนาจด้วยพลังประชาชนในปี 1986 แต่มรดกบาปที่ระบอบมาร์กอสทิ้งไว้ยังคงกัดกิน สร้างรอยแผลให้ประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
กาลเวลาล่วงผ่านมาถึงปี 2022 การเลือกตั้งผู้นำฟิลิปปินส์กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมนี้ หากผลเลือกตั้งเป็นไปตามโพล ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กำลังจะตกอยู่ในมือคนในนามสกุลมาร์กอสอีกครั้ง ด้วยชายที่มีชื่อว่า ‘เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์’ (Ferdinand Marcos Jr.)
36 ปีที่รอคอยของตระกูลมาร์กอส สู่ฝันแห่งการยึดคืนทำเนียบมาลากันยัง
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือที่รู้จักในชื่อบงบง มาร์กอส (Bongbong Marcos) เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เขาได้รับการปลุกปั้นจากพ่อให้เข้าสู่วงการการเมืองตั้งแต่ยังหนุ่ม ในปี 1980 ซึ่งเขามีอายุได้เพียง 23 ปี และยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อเขายังคงมีอำนาจอยู่ เขาได้เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังได้รับเลือกตั้งเป็นรองผู้ว่าฯ จังหวัดอีโลโคสนอร์เต (Ilocos Norte) ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดและฐานที่มั่นของตระกูลมาร์กอส ก่อนจะได้ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ในอีก 3 ปีถัดมา
การปฏิวัติประชาชนปี 1986 ทำให้ตระกูลมาร์กอสต้องสิ้นสุดอำนาจทางการเมือง พร้อมกับระเห็จออกนอกประเทศไปอยู่ที่เกาะฮาวาย รวมถึงบงบง มาร์กอสเอง กระทั่งเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสเสียชีวิตที่นั่นในปี 1989 แต่นั่นก็หาใช่จุดสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของตระกูลมาร์กอสไม่ เพราะหลังจากนั้นไม่นานตระกูลมาร์กอสก็ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศ ก่อนที่สมาชิกตระกูลจะทยอยกลับเข้าสู่สนามการเมืองอีกครั้ง ด้วยตำแหน่งแห่งหนทางการเมืองที่หลากหลายจนถึงทุกวันนี้ พร้อมๆ ไปกับการต้องต่อสู้สารพัดมหากาพย์คดีความที่พัวพันตระกูลมาตั้งแต่ช่วงเวลาเรืองอำนาจ
บงบง มาร์กอสก็เป็นคนหนึ่งที่กลับเข้าสู่แวดวงการเมืองหลังกลับสู่ประเทศ โดยเคยได้รับเลือกตั้งเป็นทั้ง ผู้ว่าฯ จังหวัดอีโลโคสนอร์เต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก ก่อนจะไต่ความทะเยอทะยานขึ้น ด้วยการตัดสินใจลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี 2016 แต่ต้องพ่ายแพ้ไปอย่างฉิวเฉียด และในการเลือกตั้งปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้ เขาตัดสินใจแก้มืออีกครั้ง หากแต่เป็นการลงชิงตำแหน่งที่สูงกว่านั้น นั่นคือตำแหน่งประธานาธิบดี
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมาชิกตระกูลมาร์กอสพยายามยึดคืนทำเนียบมาลากันยัง อีเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งในยุคเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และมารดาของบงบง มาร์กอส ลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1992 และ 1998 แม้จะไม่สามารถทำได้สำเร็จทั้งสองครั้ง แต่ความใฝ่ฝันของอีเมลดาที่จะพาตระกูลมาร์กอสกลับสู่ทำเนียบก็ไม่เคยสูญหายไปไหน ครั้งหนึ่งในปี 2014 เธอเคยพูดไว้ว่า เธอยังคงมีความตั้งใจที่จะกลับไปทำงานรับใช้ประชาชน และการได้กลับคืนสู่ทำเนียบมาลากันจะทำให้เธอบรรลุความตั้งใจนั้นได้
อย่างไรก็ตาม อีเมลดาไม่ได้ลงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศด้วยตัวเองอีก หากแต่ย้ายความหวังไปฝากไว้ที่บงบง ลูกชายของเธอเอง โดยเธอคอยให้การสนับสนุนช่วยเหลือลูกชายในสนามการเมืองอย่างสุดตัวมาตลอด และแน่นอนว่ารวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งนี้ ขณะที่บงบงเองก็บอกว่าแม่อยากเห็นเขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ตอนที่เขามีอายุได้ 3 ขวบ และยังคะยั้นคะยอให้ลงชิงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด กระทั่งเกิดขึ้นจริงในการเลือกตั้ง 2022 นี้หลังจากที่เขารอจังหวะเวลาเหมาะสมมานาน
ส่องสนามเลือกตั้ง 2022
เมื่อสิงห์เหนือ ‘มาร์กอส’ จับมือเสือใต้ ‘ดูเตร์เต’
บงบง มาร์กอส ลงชิงชัยเก้าอี้ผู้นำครั้งนี้ในนามพรรค Federal Party of the Philippines (PFP) พร้อมจับมือเป็นรันนิงเมต (running mate) กับซารา ดูเตร์เต (Sara Duterte) นายกเทศมนตรีเมืองดาเวา (Davao) ลูกสาวของผู้นำฟิลิปปินส์คนปัจจุบันโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ซึ่งตัดสินใจลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสังกัดพรรค Lakas โดยหาเสียงร่วมกันในนาม BBM-Sara UniTeam ซึ่งนับว่าเป็นการจับคู่ที่ทรงพลังยิ่ง เพราะเป็นเสมือนการรวมพลังกันระหว่างสองตระกูลการเมืองท้องถิ่นผู้ทรงอิทธิพล โดยตระกูลมาร์กอสครอบครองฐานที่มั่นในพื้นที่ตอนเหนือ ขณะที่ตระกูลดูเตร์เตก็ยึดฐานที่มั่นหนาแน่นทางตอนใต้
ความนิยมของทั้งสิงห์เหนืออย่างบงบง มาร์กอส และเสือใต้อย่างซารา ดูเตร์เต นับได้ว่าส่งเสริมเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี ฝั่งซารานับว่าได้อานิสงส์อันแรงยิ่งจากดูเตร์เตผู้พ่อ ซึ่งสามารถครองคะแนนนิยมสูงมาต่อเนื่องตลอด 6 ปีของการเป็นประธานาธิบดี หากไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย โรดริโก ดูเตร์เตก็คงได้รับการคาดหวังให้เป็นผู้นำต่ออีกสมัย ทว่ารัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้เพียงสมัยเดียวซึ่งกินระยะเวลา 6 ปี แต่ด้วยความนิยมในตัวโรดริโก ดูเตร์เตที่ยังสูง ทำให้คนฟิลิปปินส์คาดหวังจะได้เห็นซาราสืบทอดตำแหน่งต่อจากพ่อ โดยก่อนจะเปิดรับสมัครเลือกตั้ง โพลหลายสำนักต่างชี้ว่าคนฟิลิปปินส์สนับสนุนให้เธอรับตำแหน่งผู้นำต่อจากพ่อของเธอมาเป็นอันดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว ซาราก็หักมุมมาลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแทน แต่ความนิยมในตัวเธอก็ไม่ได้เสื่อมคลาย แถมยังช่วยเกื้อกูลคะแนนให้รันนิงเมตของเธออย่างบงบง มาร์กอส มีโอกาสคว้าเก้าอี้ผู้นำมากขึ้น ในทางกลับกัน ความนิยมของคนฟิลิปปินส์ต่อตระกูลมาร์กอสที่ยังคงมีมากมาย แม้จะถูกประวัติศาสตร์ตราหน้าว่าเป็นตระกูลทรราช ก็ช่วยส่งเสริมคะแนนนิยมให้กับซารา ดูเตร์เตเช่นเดียวกัน จนเป็นที่คาดว่าทั้งคู่จะจับมือกันคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้
จากผลโพลในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าบงบง มาร์กอสนอนมาด้วยสัดส่วนคะแนนเสียงคิดเป็นราวร้อยละ 55-60 ขณะที่คู่ชิงรองประธานาธิบดีของเขาอย่างซารา ดูเตร์เต ก็ทำคะแนนได้ใกล้เคียงกันที่สัดส่วนราวร้อยละ 55-60 เช่นกัน
แต่ขึ้นชื่อว่าการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อถึงการเลือกตั้งจริง บงบง มาร์กอสกับซารา ดูเตร์เต อาจไม่ได้จับมือกันเข้าเส้นชัยแพ็กคู่อย่างที่คิด โดยอาจมีเพียงบงบง มาร์กอสเท่านั้นที่ได้ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยที่ซารา ดูเตร์เตต้องชวดตำแหน่ง และเช่นกัน อาจมีเพียงซาราที่คว้าตำแหน่งรองประธานาธิบดี ขณะที่บงบงต้องผิดหวัง หรือไม่อย่างนั้นการหล่นตุ๊บทั้งคู่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน
ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ได้ คงต้องอธิบายระบบเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ให้ทำความเข้าใจกันก่อนเล็กน้อย ฟิลิปปินส์คล้ายกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนเลือกตั้งได้ทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี แต่ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ การเลือกตั้งทั้งสองตำแหน่งอยู่บนบัตรใบเดียว ทำให้ผู้ชนะย่อมมาจากพรรคหรือขั้วเดียวกัน การเลือกตั้งทั้งสองตำแหน่งของฟิลิปปินส์อยู่บนบัตรคนละใบกัน นั่นแปลว่าประชาชนเลือกผู้สมัครแยกกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์ก็เคยมีประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีอยู่คนละขั้วกันบ่อยครั้ง เช่นในปัจจุบันที่ประธานาธิบดีคือดูเตร์เต ส่วนรองประธานาธิบดีคือนางเลนี โรเบรโด (Leni Robredo) โดยทั้งคู่ไม่ได้เป็นรันนิงเมตของกันและกันในการเลือกตั้ง และมีอุดมการณ์ต่างขั้วกันอย่างสิ้นเชิง
เรายังต้องทำความเข้าใจอีกด้วยว่าการลงเลือกตั้งประธานาธิบดี-รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ไม่ได้บังคับให้ผู้สมัครต้องจับคู่ รันนิงเมต โดยสามารถลงชิงประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีแบบเดี่ยวๆ ได้ อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครส่วนมากเลือกลงชิงตำแหน่งแบบแพ็กคู่ โดยมีทั้งหมด 8 ทีม ขณะที่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 คนที่ลงสมัครแบบเดี่ยวๆ และมีผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีก 1 คนที่ลงชิงชัยโดยไม่จับทีมกับผู้สมัครประธานาธิบดีคนใด โดยสรุปแล้วจึงมีผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีทั้งหมด 10 คน และรองประธานาธิบดี 9 คน ในการเลือกตั้งครั้งนี้
นอกจากทีมของบงบง-ซารา การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผู้สมัครคู่อื่นที่มีความโดดเด่น เช่น อิสโก โมเรโน (Isko Moreno) นายกเทศมนตรีกรุงมะนิลาและอดีตนักแสดงชื่อดัง ซึ่งลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยจับคู่วิลลี ออง (Willie Ong) นายแพทย์ชื่อดัง ซึ่งลงสมัครรองประธานาธิบดีในนามพรรคเดียวกันคือพรรค Aksyon Demokratiko และอีกทีมที่เป็นที่จับตามองก็คือทีมของพรรค PROMDI ซึ่งส่งแมนนี ปาเกียว อดีตนักมวยดังระดับโลกและเป็นวุฒิสมาชิกในปัจจุบัน ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยจับคู่เป็นรันนิงเมตกับลิโต อาเตียนซา (Lito Atienza) ส.ส.จังหวัดบูฮาย (Buhay)
อย่างไรก็ตามในบรรดาคู่แข่งของบงบง-ซาราทั้งหมด ไม่มีทีมไหนที่จะโดดเด่นไปกว่าทีม Leni-Kiko ซึ่งมีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวในปีนี้คือเลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และผู้ชิงตำแหน่งรองปะธานาธิบดีคือฟรานซิส “กิโก” แพนกิลิแนน (Francis “KiKo” Pangilinan) จากพรรค Liberal โดยโรเบรโดมีคะแนนในโพลตามหลังมาร์กอสมาเป็นอันดับสองที่ราวร้อยละ 20-25 ขณะที่กิโกมาเป็นอันดับสามในโพลรองประธานาธิบดีโดยอยู่ที่ราวร้อยละ 6-10 ตามหลังซารา ดูเตร์เต และติโต ซอตโต (Tito Sotto) ผู้ที่ลงสมัครคู่กับอีกหนึ่งผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างปิง แลกซอน (Ping Lacson) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและวุฒิสมาชิกคนปัจจุบัน
ท่ามกลางสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีผู้สมัครทั้งสิ้น 10 คน ผู้เชี่ยวชาญการเมืองฟิลิปปินส์ต่างกำลังมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงดำระหว่างผู้สมัครเพียง 2 คน นั่นคือบงบง มาร์กอส และเลนี โรเบรโด โดยทั้งคู่เคยเป็นคู่ชิงดำกันมาก่อนแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2016 แต่เป็นการเลือกตั้งในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งครั้งนั้นโรเบรโดเอาชนะมาร์กอสไปได้อย่างฉิวเฉียด การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นเหมือนนัดล้างตาระหว่างทั้งสอง เพียงแต่เปลี่ยนจากสนามรองประธานาธิบดีสู่สนามประธานาธิบดี
มาร์กอส vs โรเบรโด
ศึกเลือกตั้งบนสองนคราประชาธิปไตยฉบับฟิลิปปินส์
การชิงชัยระหว่างมาร์กอสและโรเบรโดในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการแข่งขันระหว่างตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนภาพภูมิทัศน์สังคมการเมืองฟิลิปปินส์ที่แตกแยกเป็นสองขั้วมายาวนาน
ขั้วหนึ่งคือกระแสการเมือง ‘ปฏิรูปนิยม’ (Reformism) ซึ่งเบ่งบานขึ้นมาจากการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มระบอบมาร์กอสในปี 1986 ซึ่งชูแนวคิดการฟื้นฟูธรรมาธิบาล ปฏิรูปสถาบันการเมือง และยึดหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ โดยอดีตผู้นำที่จัดว่าอยู่ในสายนี้ ได้แก่ คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino, 1986-1992) ฟิเดล รามอส (Fidel Ramos, 1992-1998) กลอเรีย อาร์โรโย (Gloria Arroyo, 2001-2010) และเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (Benigno Aquino Jr., 2010-2016) ซึ่งเป็นบุตรชายของนางคอราซอน อากีโน
อย่างไรก็ตาม กระแสปฏิรูปนิยมในฟิลิปปินส์ถูกครอบครองโดยกลุ่มชนชั้นนำดั้งเดิมและชนชั้นกลาง ภายใต้ช่วงเวลาที่ผู้นำสายนี้ปกครองอยู่ คนฟิลิปปินส์ที่เป็นกลุ่มคนรากหญ้ามองว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมือง แต่ไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ทั้งยังมีปัญหาคอร์รัปชันและเอื้อพวกพ้องมากมาย แม้จะอ้างว่าเป็นสายปฏิรูปก็ตาม ทำให้กลุ่มคนรากหญ้าและคนชนบทในฟิลิปปินส์มักเทใจให้ผู้นำอีกสายหนึ่งมากกว่า นั่นคือสาย ‘ประชานิยม’ (Populism)
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จัดว่าอยู่ในสายประชานิยม ได้แก่ โจเซฟ เอสตราดา (Joseph Estrada, 1998-2001) และโรดริโก ดูเตร์เต โดยผู้นำกลุ่มนี้มีนโยบายที่เอาใจคนและคนต่างจังหวัด และมีสไตล์การบริหารแบบนักเลงภูธร โดยไม่ได้ใส่ใจขนบสถาบันการเมืองเหมือนอย่างผู้นำสายปฏิรูปนิยม
อดีตประธานาธิบดีอย่างเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสเองก็จัดได้ว่าเป็นผู้นำในสายประชานิยมเช่นกัน โดยการที่เขาได้รับเลือกตั้งขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 1965 ก็เป็นเหตุจากความเบื่อหน่ายของประชาชนฟิลิปปินส์ที่มีต่อการเมืองที่ครอบครองโดยกลุ่มชนชั้นนำและตระกูลการเมืองดั้งเดิม ซึ่งเต็มไปด้วยการโกงกิน เอื้อพวกพ้อง และล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน โดยในตอนนั้นมาร์กอสได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชนระหว่างการหาเสียงไว้ว่า “This nation can be great again.” กระทั่งต่อมาเมื่อเขาได้รับตำแหน่ง เขาก็ดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับชีวิตคนจนมากมาย
ความทรงจำของคนฟิลิปปินส์ที่มีต่อระบบมาร์กอสจึงไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ขณะที่จำนวนมากมองว่ามาร์กอสนำความพินาศย่อยยับมาสู่ประเทศ คนอีกกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะคนจนและคนชนบทที่ได้ประโยชน์จากโครงการทางเศรษฐกิจต่างๆ ในยุคสมัยมาร์กอส มองว่านั่นคือยุคทอง และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ยินดีด้วยกับการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มมาร์กอสในปี 1986 โดยมองว่ากลุ่มคนที่ออกมาขับไล่คือกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองหลวงที่เสียผลประโยชน์จากระบอบมาร์กอส แล้วต้องการอำนาจกลับคืน หรืออาจบอกได้ว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนมะนิลาล้มรัฐบาล”
เศรษฐกิจสังคมฟิลิปปินส์ที่ยังคงมืดหม่นหลังการสิ้นสุดระบอบมาร์กอส ทำให้คนจำนวนไม่น้อยโทษการปฏิวัติประชาชนในตอนนั้นที่ไม่อาจทำตามสัญญาในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้ พวกเขาโทษความล้มเหลวของเหล่าผู้นำสายปฏิรูปนิยมซึ่งกินช่วงเวลาปกครองประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรากหญ้าและคนชนบทที่มองว่าผู้นำเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อพวกเขามากนัก พร้อมกับโหยหาช่วงเวลาของระบอบมาร์กอสที่พวกเขามองว่าดีกว่านี้ จึงทำให้คนฟิลิปปินส์มองหาผู้นำที่เด็ดขาดแข็งกร้าว และค่อนไปทางประชานิยมคล้ายกัน ขึ้นมาปกครองประเทศมากขึ้น เห็นได้จากการเลือกดูเตร์เตขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยคะแนนอย่างท่วมท้นเมื่อปี 2016
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ที่บงบง มาร์กอส คะแนนนำโด่งมาในโพล ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะการมีเลือดเนื้อเชื้อไขของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสแล้ว ยังเป็นเพราะเขาได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะสืบสานนโยบายการพัฒนาที่พ่อเคยทำหรือคิดไว้หลายอย่าง และบงบงก็ยังคอยพูดตอกย้ำถึงความรุ่งเรืองในฟิลิปปินส์ในช่วงสมัยของพ่อเขา ซึ่งถือได้ว่าจี้ใจประชาชนที่กำลังโหยหาความรุ่งเรืองในอดีตได้ถูกจุด
บงบงยังได้รับแรงเสริมจากการจับคู่เป็นรันนิงเมตกับซารา ดูเตร์เต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากกระแสนิยมของโรดริโก ดูเตร์เต พ่อของเธอที่เป็นผู้นำสายประชานิยม-อำนาจนิยม นอกจากนี้ทั้งบงบงและซารายังประกาศจะสานต่อนโยบายของดูเตร์เต ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่อย่าง Build! Build! Build! รวมทั้งยังส่งสัญญาณว่าจะดำเนินนโยบายการประกาศสงครามยาเสพติดต่อไป แม้จะเป็นนโยบายที่ถูกประณามจากนานาชาติก็ตาม การรวมตัวระหว่างบงบง มาร์กอส และซารา ดูเตร์เต จึงถือได้ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับคนฟิลิปปินส์ที่ชื่นชอบการเมืองประชานิยมแบบขวา
เมื่อบงบงเป็นภาพแทนของกระแสการเมืองประชานิยม แน่นอนว่าคู่แข่งอย่างโรเบรโดก็คือตัวแทนของอีกขั้วหนึ่งซึ่งก็คือปฏิรูปนิยม
โรเบรโด ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดีในปัจจุบัน มีแนวทางเป็นไปในทางตรงข้ามกับประธานาธิบดีดูเตร์เตอย่างสิ้นเชิง โดยเธอวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสงครามยาเสพติดและนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ มาโดยตลอด ในการลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีครั้งนี้ เธอได้ให้คำมั่นที่จะยึดหลักธรรมาภิบาล ต่อสู้กับคอร์รัปชัน ปกป้องประชาธิปไตย และฟื้นฟูหลักปฏิบัติทางการเมืองกลับมา ทั้งยังเคยกล่าวไว้ว่าจะรวมแนวร่วมฝ่ายค้านให้เป็นหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำที่มีแนวทางอย่างดูเตร์เตกลับสู่ทำเนียบได้อีก และจะทำทุกวิถีทางไม่ให้ตระกูลมาร์กอสกลับมามีอำนาจทางการเมือง
แม้ครั้งนี้โรเบรโดจะลงชิงตำแหน่งในนามอิสระ แต่เธอก็ยังคงมีตำแหน่งเป็นประธานพรรค Liberal ซึ่งต้องเข้าใจว่าพรรคนี้ถือเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองเก่าแก่ของฟิลิปปินส์ ที่ยึดถือแนวทางเสรีนิยม-ปฏิรูปนิยม โรเบรโดยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับตระกูลการเมืองดั้งเดิมอย่างอากิโน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับไล่ตระกูลมาร์กอสลงจากอำนาจในปี 1986 โดยมีคนในตระกูลเป็นอดีตผู้นำสองคน ได้แก่ คอราซอน อากีโน และเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ ซึ่งถือเป็นผู้นำสายปฏิรูปนิยมอย่างเด่นชัด นอกจากนี้อดีตสามีผู้ล่วงลับของโรเบรโด อย่างเจสซี โรเบรโดยังเคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในยุคสมัยของอากิโน จูเนียร์ด้วย ทั้งหมดนี้จึงล้วนยืนยันว่าโรเบรโดคือตัวแทนการเมืองขั้วปฏิรูปนิยม
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่ากระแสการเมืองปฏิรูปนิยมในฟิลิปปินส์ถูกครอบครองด้วยกลุ่มชนชั้นนำดั้งเดิม โรเบรโดจึงมีภาพลักษณ์ความเป็นตัวแทนคนชนชั้นนำติดตัวมาด้วย คนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยจึงมองว่าการเลือกโรเบรโดอาจไม่ต่างจากการเลือกผู้นำสายปฏิรูปนิยมคนอื่นๆ ในอดีตอย่างคอราซอน อากีโน และอากีโน จูเนียร์ ที่มุ่งเน้นการปฏิรูป แต่ทำผลงานทางเศรษฐกิจไม่เข้าตา ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนชนชั้นล่างได้อย่างแท้จริง โรเบรโดจึงต้องคอยออกมาปฏิเสธว่าเธอไม่ใช่ชนชั้นนำ พร้อมตอกย้ำว่านโยบายของเธอหลายข้อล้วนเป็นนโยบายที่ทำเพื่อมวลชนคนรากหญ้า
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฐานเสียงสำคัญของโรเบรโดโดยทั่วไปจึงเป็นกลุ่มคนชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง คนในเมืองใหญ่ และคนมีการศึกษาสูง ขณะที่ฐานเสียงของมาร์กอสเป็นคนชนชั้นล่างและคนชนบท
การเลือกตั้ง 2022 นี้จึงยังคงเป็นภาพสะท้อนของสองนคราประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ ดังเช่นการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาที่เป็นการขับเคี่ยวระหว่างขั้วประชานิยมและปฏิรูปนิยม อย่างในปี 2004 ที่เป็นการชิงระหว่างกลอเรีย อาร์โรโย (ปฏิรูปนิยม) และเฟอร์ดินานด์ โป จูเนียร์ (Ferdinand Poe Jr.; ประชานิยม) ตามด้วยปี 2010 ระหว่างเบนิกโน อากีโน จูเนียร์ (ปฏิรูปนิยม) และโจเซฟ เอสตราดา (ประชานิยม) รวมถึงในปี 2016 ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างดูเตร์เต (ประชานิยม) และมานูเอล โรซาส (Manuel Roxas; ปฏิรูปนิยม) โดยที่ผ่านมา ทั้งสองกระแสผลัดกันได้รับชัยชนะมาตลอด
มาร์ก ริชาร์ด ทอมป์สัน (Mark Richard Thomson, 2010) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก City University of Hong Kong เคยเปรียบเทียบภูมิทัศน์การเมืองฟิลิปปินส์แบบนี้ไว้ว่ามีความคล้ายคลึงกับการเมืองไทยที่มีความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง
อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกฐานเสียงเป็นสองฝั่งลักษณะนี้เป็นเพียงการมองอย่างหยาบๆ เพียงชั้นเดียวเท่านั้น เพราะคนเมืองหลวงและคนชั้นกลางที่ชื่นชอบผู้นำสายประชานิยมก็มีไม่น้อย อย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วซึ่งดูเตร์เตก็กวาดคะแนนในกรุงมะนิลา และได้คะแนนเสียงจากคนชั้นบนไม่น้อย ขณะเดียวกัน คนชนบทและคนรากหญ้าที่ชื่นชอบผู้นำสายปฏิรูปนิยมก็มีเช่นกัน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็คือความเป็นท้องถิ่นนิยม ซึ่งต้องเข้าใจว่าในการเมืองฟิลิปปินส์ บรรดากลุ่มและตระกูลการเมืองมีอิทธิพลสูงมากในการปกครองแต่ละท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องดูด้วยว่าผู้สมัครคนไหนมาจากตระกูลการเมืองหรือมีสายสัมพันธ์แนบชิดกับตระกูลการเมืองในพื้นที่ใดบ้าง โดยบรรดาตระกูลการเมืองท้องถิ่นมักจะมีการประกาศให้การสนับสนุน (endorsement) ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของคนในท้องที่นั้นๆ ทำให้ปัจจัยชนชั้นไม่ได้เป็นตัวแบ่งแยกเสมอไป ขณะที่ความเป็นพรรคการเมือง รวมถึงการแข่งขันเชิงนโยบาย ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ความสำคัญมากเท่าในประเทศฟิลิปปินส์ที่ระบบอุปถัมป์และอิทธิพลนักการเมืองท้องถิ่นหยั่งรากลึก
การถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว
สู่การช่วงชิงความทรงจำคืนของตระกูลมาร์กอส
#NeverAgain #NeverForget คือแฮชแท็กที่ติดเทรนด์บนโลกโซเชียลของฟิลิปปินส์เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เนื่องในโอกาสครบรอบ 49 ปีนับจากวันที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเมื่อปี 1971 จนถึงปี 1982 ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับที่กำลังมีกระแสข่าวหนาหูในตอนนั้นว่าบงบง มาร์กอสจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แฮชแท็กเหล่านี้จึงมีขึ้นมาเพื่อเตือนสติคนฟิลิปปินส์ไม่ให้ลืมความเลวร้ายในครั้งนั้น และอย่าให้ตระกูลมาร์กอสกลับเข้ามามีอำนาจจนประวัติศาสตร์อาจหมุนเวียนทับรอยเดิมอีก
การเคลื่อนไหวบนโลกอินเทอร์เน็ตดำเนินควบคู่ไปกับการใช้วิธีการทางกฎหมายของประชาชนฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่งเพื่อสกัดกั้นการกลับคืนอำนาจของตระกูลมาร์กอส ด้วยการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อตัดสิทธิการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของบงบง มาร์กอส จากกรณีการหลบเลี่ยงภาษีที่ยังคงค้างคามานาน แต่ที่สุดคณะกรรมการก็ปัดตกคำร้อง
#BringBackMarcos #ProtectMarcosJr #FightForMarcosJr เป็นแฮชแท็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ติดเทรนด์ขึ้นมาโดยกองเชียร์มาร์กอส คัดค้านความพยายามของคนฝั่งตรงข้ามที่จะสกัดบงบง มาร์กอสไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมยกข้อหักล้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ทำให้มาร์กอสเป็นผู้ร้าย ด้วยการสร้างวาทกรรม เช่นว่า การประกาศกฎอัยการศึกตอนนั้นทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย อยากให้ประเทศกลับไปช่วงเวลาแบบนั้นอีกครั้ง รวมถึงแย้งคนไม่เห็นด้วยว่าถ้าคุณไม่ทำผิดกฎหมายแล้วจะกลัวอะไร นอกจากนี้จำนวนมากก็บอกด้วยว่าคนที่ถูกจับถูกสังหารในตอนนั้นก็คือพวกที่ทำผิดกฎ ปลุกปั่นสร้างความวุ่นวาย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งบอกว่าเรื่องราวของคนที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสียชีวิตจากช่วงกฎอัยการศึกเป็นเรื่องแต่งที่เกินจริง
ในช่วงกฎอัยการศึก แอมเนสตี้ประมาณการตัวเลขว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้นราว 70,000 คน ถูกซ้อมทารุณกรรมประมาณ 34,000 คน และมีคนมากกว่า 3,240 คนต้องสังเวยชีวิตให้กับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เวลาล่วงผ่านมา 30-40 ปี เหยื่อในช่วงเวลานั้นจำนวนไม่น้อยยังมีลมหายใจ และไม่อาจลืมเลือนต่อเวลาอันโหดร้ายนั้นได้ พวกเขาพยายามบอกเล่าเรื่องราวเพื่อเตือนใจคนเสมอ
แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว ความทรงจำของคนฟิลิปปินส์ที่มีต่อระบอบมาร์กอสแตกแยกเป็นสองฝั่ง คนจำนวนมากที่มองว่าเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงมาร์กอสเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องกล่าวเกินจริง ก็คือคนที่ไม่ได้ประสบเหตุด้วยตัวเอง หรือไม่ได้มีญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดที่เจอเรื่องราวแบบนั้นในห้วงเวลานั้น นอกจากนี้ยังพบว่าคนฟิลิปปินส์จำนวนมากที่เชียร์ตระกูลมาร์กอส และโหยหาการปกครองระบอบมาร์กอส ก็คือคนในวัยต่ำกว่า 30-40 ปี ที่เกิดไม่ทันหรือยังไม่โตพอที่จะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นได้
นักวิชาการฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งมองว่าเหตุสำคัญที่ทำให้คนฟิลิปปินส์จำนวนมากไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดในยุคสมัยมาร์กอส คือความล้มเหลวของหลักสูตรการศึกษาในการสอนประวัติศาสตร์ โดยพบว่าให้เวลากับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์น้อยมาก ทำให้เนื้อหารวบรัด ไม่สามารถลงรายละเอียดได้ลึกซึ้ง ทั้งยังเน้นการสอนแบบท่องจำ โดยแทบไม่ได้มีการอภิปรายถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ช่วงเวลาในระบอบมาร์กอสยังมีสัดส่วนที่น้อยมากในตำราเรียน เพราะเนื้อหาไปเน้นย้ำที่การสร้างชาติ ปลุกความเป็นชาตินิยมเสียส่วนใหญ่
หลังโค่นล้มระบอบมาร์กอสสำเร็จ แม้ผู้ชนะจะได้เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่กลับเป็นการเขียนที่หละหลวม จนเปิดช่องให้เกิดการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ช่วงชิงความทรงจำอย่างง่ายดาย
ตั้งแต่ช่วงเทศกาลการเลือกตั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2016 เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ บนโลกอินเทอร์เน็ตของฟิลิปปินส์ปรากฏข้อมูลที่แก้ต่างให้ระบอบมาร์กอส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการคอร์รัปชัน รวมทั้งข้อมูลที่เน้นย้ำความสำเร็จในยุคสมัยมาร์กอสแพร่สะพัด โดยจำนวนมากได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ และยังถูกสืบสวนพบว่าการแพร่กระจายของข้อมูลเหล่านี้มีความข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการไอโอของตระกูลมาร์กอส ที่พยายามแก้ไขประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการกลับคืนสู่อำนาจ และดูเหมือนว่าปฏิบัติการจะประสบความสำเร็จยิ่งในการชักจูงความคิดผู้คน (ฟังรายละเอียดได้ที่รายการพอดคาสต์ ASEAN บ่มีไกด์ Ep.10: มีวันนี้เพราะเฟกนิวส์และไอโอ..เมื่อมาร์กอสจ่อรีเทิร์นทำเนียบฟิลิปปินส์)
นอกจากการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ตระกูลมาร์กอสยังเคยแสดงความคิดอย่างเปิดเผยว่าต้องการให้ทบทวนแก้ไขตำราเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งเขามองว่าหลายเรื่องที่พูดถึงพ่อเขาไม่เป็นความจริง และสร้างภาพให้พ่อของเขาเป็นตัวร้ายมากเกินไป จึงเป็นไปได้ว่าหากเขาได้ขึ้นสู่อำนาจจริง การเขียนประวัติศาสตร์ในตำราเรียนใหม่อาจจะเกิดขึ้น
ในฟิลิปปินส์ยังมีกระแสหนึ่งที่มองว่าพ่อกับลูกไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้พ่อของเขาจะเป็นเผด็จการและทำข้อผิดพลาดต่อประเทศไว้มากก็จริง แต่บงบง มาร์กอสอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป
อย่างไรก็ตาม บงบง มาร์กอส ไม่เคยแสดงความขอโทษใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อของเขา แม้จะถูกกดดันจากคนฟิลิปปินส์จำนวนมากให้กล่าวคำขอโทษแทนพ่อของตัวเองที่ล่วงลับไปแล้ว กลับกันเขาแก้ต่างแทนพ่อ และพูดถึงพ่อในเชิงชื่นชมอยู่เสมอ ขณะเดียวกันเมื่อนักข่าวถามเขาต่อหน้าว่า ถ้าคุณขึ้นเป็นผู้นำแล้ว คุณจะปกครองแบบพ่อของคุณหรือไม่ เขาก็ตอบแบบอ้ำอึ้งเลี่ยงไปเลี่ยงมา นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่าอย่าไปมัวแต่คิดถึงเรื่องราวในอดีต แต่มาใส่ใจปัญหาของชาติที่อยู่ตรงหน้าตอนนี้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นความยากจนหรือปัญหาสังคมต่างๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนมองว่าบงบง มาร์กอสไม่อาจสลัดหลุดจากความรับผิดชอบจากสิ่งที่พ่อเขาเคยทำไว้ได้ ก็คือความเป็นลูก ที่ทำให้เขาถือเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ตกทอดบนกองเงินกองทองจากการโกงชาติขนาดมหึมาที่พ่อตัวเองทำไว้
นอกจากนี้ทั้งตัวบงบงเอง รวมถึงสมาชิกหลายคนในตระกูลมาร์กอส ยังมีคดีความที่ติดพันมาตั้งแต่ยุคสมัยของพ่อเขาอยู่หลายเรื่อง ซึ่งจำนวนมากยังอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ตัวบงบงเองก็มีทั้งคดีหนีภาษี รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการโกหกประวัติการศึกษาของตัวเอง ว่าเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทั้งที่จริงไม่ได้จบ และได้รับเพียงอนุปริญญาพิเศษเท่านั้น
บงบง มาร์กอสยังหลบเลี่ยงปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีดีเบตใหญ่หลายเวที โดยส่วนมากเลือกออกรายการแบบเดี่ยวๆ ในรายการที่เขารู้สึกว่าสบายใจที่จะไปออกเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นความตั้งใจของเขาที่จะหลบเลี่ยงการถูกซักไซ้จากบรรดาคู่แข่งและพิธีกร ถึงกรณีอื้อฉาวต่างๆ รวมถึงความคิดเห็นที่มีต่อประวัติศาสตร์ในยุคสมัยพ่อเขา
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บงบง มาร์กอสก็ยังคงมีคะแนนนำโด่งอยู่ในโพล ซึ่งหากผลเลือกตั้งจริงเป็นไปตามนั้น การหวนกลับสู่ทำเนียบมาลากันยังของตระกูลมาร์กอสก็กำลังเกิดขึ้นจริงในเร็ววันนี้ แต่ขึ้นชื่อว่าการเมือง การพลิกผันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ จึงต้องจับตาผลการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการแข่งขันระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันการช่วงชิงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นเสมือนประชามติที่จะบ่งบอกว่าคนฟิลิปปินส์อยากเห็นประชาธิปไตยของประเทศเดินไปทางไหนกันแน่ – ไปข้างหน้าหรือย้อนกลับหลัง?
อ่านเพิ่มเติม
Mark R. Thompson (2010). Reformism Vs. Populism in the Philippines https://www.journalofdemocracy.org/articles/reformism-vs-populism-in-the-philippines/
Chad de Guzman (29 Mar 2022). Why Bongbong Marcos, a Philippine Dictator’s Son, Leads the Race for the Presidency
https://time.com/6162028/bongbong-marcos-philippines-president-popular/
Gretchen Abuso (2 Aug 2021). Why Do Filipinos Keep Voting for Authoritarian Leaders?
https://thediplomat.com/2021/08/why-do-filipinos-keep-voting-for-authoritarian-leaders/
Joshua Kurlantzick (21 Apr 2022). The Philippines’ High-Stakes Election: What to Know
https://www.cfr.org/in-brief/philippines-election-ferdinand-marcos-leni-robredo-democracy
Joshua Kurlantzick (1 Apr 2022). A Marcos Presidency Will Be Bad News for the Philippines’ Democracy https://www.worldpoliticsreview.com/articles/30442/in-presidential-election-philippines-democracy-could-be-the-loser
Dr Sol Iglesias (25 Jan 2022). The 2022 Philippine Election: A Poll Over Democracy https://www.internationalaffairs.org.au/australianoutlook/2022-philippine-election-poll-over-democracy/
Ayee Macaraig (26 Aug 2015). Marcos on dad’s regime: What am I to apologize for? https://www.rappler.com/nation/103772-bongbong-marcos-regime-no-apologies/
Lian Buan (27 Oct 2021). Oxford: Bongbong Marcos’ special diploma ‘not a full graduate diploma
https://www.rappler.com/nation/elections/oxford-bongbong-marcos-special-diploma-not-full-graduate-diploma/
Pichayada Promchertchoo (5 May 2022). Philippine presidential race: Family legacy a double-edged sword for Bongbong Marcos
https://www.channelnewsasia.com/asia/philippines-presidential-election-bongbong-marcos-tacloban-2660821
Gabriel Pabico Lalu (18 Oct 2021). Robredo wants principle-based political party system reform
https://newsinfo.inquirer.net/1503549/robredo-wants-principle-based-political-party-system-reform
Gabriel Pabico Lalu (18 Oct 2021). Elitist? Robredo says her programs are for the masses https://newsinfo.inquirer.net/1587850/elitist-robredo-says-her-programs-are-for-the-masses#ixzz7SOg2tVcX
Antonio Calipjo Go (17 Sep 2017). ‘Kuri-kulam’: Are textbooks sanitizing martial law? https://newsinfo.inquirer.net/931174/history-textbooks-ferdinand-marcos-marcos-martial-law-ferdinand-marcos-jr-bongbong-marcos-millennials-philippine-history
ABS-CBN News (11 Jan 2020). Bongbong Marcos wants to revise textbook version of dad’s strongman rule; critics raise howl
https://news.abs-cbn.com/news/01/11/20/bongbong-marcos-wants-to-revise-textbook-version-of-dads-strongman-rule-critics-raise-howl
วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา (25 Aug 2020). เมื่อตระกูลมาร์กอส หวังแก้ประวัติศาสตร์ของอดีตผู้นำเผด็จการ คนฟิลิปปินส์คิดอะไรอยู่?
https://thestandard.co/imelda-marcos-the-kingmaker/
ประจักษ์ ก้องกีรติ (2020). ฟิลิปปินส์: ประชาธิปไตยแบบอุปถัมป์ ตระกูลการเมือง และประชานิยมแบบอำนาจนิยม. ใน When We Vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน. (หน้า 170-206). กรุงเทพฯ: มติชน
Patricio B Abinales and Donna J. Amoroso (2005). Chapter 8: Marcos 1965-1986. in State and Society in the Philippines. Lanham, Boulder, New York, Toronto, Oxford: Rowman & Little Field.