fbpx

19 เดือนหลังรัฐประหารพม่า: ในม่านหมอกสงครามกลางเมืองและวิกฤตการเงิน

การก่อการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยกองทัพพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ได้นำพาประเทศพม่าจมดิ่งสู่ความโกลาหล เมื่อประชาชนพากันลุกขึ้นขัดขืนอำนาจกองทัพ ขณะที่ฝั่งกองทัพก็ไม่ยอมอ่อนข้อและฟังความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด แม้จนถึงวันนี้เวลาจะล่วงผ่านมาจากการรัฐประหารแล้วร่วม 1 ปี 7 เดือน แต่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพและประชาชนก็ยังคงคุกรุ่น และกำลังค่อยๆ ยกระดับความรุนแรงจนขยับเข้าใกล้ความเป็นสงครามกลางเมือง โดยไม่เห็นวี่แววของสันติภาพโผล่ที่ปลายอุโมงค์  

ไม่เพียงแต่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งที่พม่ากำลังเผชิญเท่านั้น หากแต่มรสุมทางเศรษฐกิจการเงินก็กำลังจ่อโหมกระหน่ำ แม้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าโดยรวมในปีนี้จะพลิกตัวกลับขึ้นมาแดนบวกได้อย่างน่าประหลาดใจ หลังจากติดลบอย่างหนักเมื่อปีก่อนหน้า แต่ก็ต้องเตรียมรับสึนามิหลายลูกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งสูง มูลค่าสกุลเงินที่กำลังทรุดหนัก อีกทั้งยังเห็นแนวโน้มการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารกลางที่กำลังอยู่ภายใต้การควบคุมกองทัพ ซึ่งอาจพาประเทศเดินหน้าสู่หุบเหวแห่งวิกฤตการเงินในอีกไม่ช้า

ท่ามกลางภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตที่พม่ากำลังเผชิญในห้วงเดือนที่ 19 หลังผ่านพ้นการรัฐประหาร 101 ชวนมองพัฒนาการและแนวโน้มอนาคตของสถานการณ์ในพม่า และขบคิดถึงข้อเสนอแนะต่อการวางบทบาทของประชาคมนานาชาติ โดยถอดความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘Myanmar’s Coup and Civil War After 19 Months: Political Dynamics, Battlefield Update, Likely Outcomes’

งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies – ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) โดย เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่าการจัดงานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์งานเสวนา 6 ครั้งที่สหภาพยุโรปจะจัดร่วมกับสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศ สถานการณ์ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงจุดยืนของสหภาพยุโรปต่อสถานการณ์ในพม่า โดยชี้ว่า “สหภาพยุโรปมีจุดยืนเป็นที่ชัดเจน เห็นได้จากการออกมาประณามการก่อรัฐประหารตั้งแต่เริ่มแรก รวมทั้งยังเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนที่ถูกจับกุมหลังรัฐประหาร คืนอำนาจให้ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และไม่ขัดขวางการเข้าให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย
ภาพถ่ายจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

เดลีระบุด้วยว่า สหภาพยุโรปสนับสนุนการทำงานของผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาและผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของประธานอาเซียน ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน พร้อมชี้ว่าผู้แทนพิเศษของสหภาพยุโรปด้านพม่าก็พูดคุยหารือร่วมกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ โดยสหภาพยุโรปพร้อมจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อเดินหน้าการกลับคืนสู่สันติภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตยของประเทศพม่า

จากกระจัดกระจาย มุ่งสู่เอกภาพ – เมื่อฝั่งต่อต้านกองทัพกำลังพัฒนาความแข็งแกร่ง

เนียนทา มอว์ ลิน (Nyantha Maw Lin) นักวิเคราะห์อิสระ มองพัฒนาการการต่อสู้ของประชาชนกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร ตลอดระยะเวลา 19 เดือนที่ผ่านมา โดยชี้ว่าการเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นขึ้นอย่างกระจัดกระจายกำลังค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ความเป็นเอกภาพมากขึ้น โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความเป็นปึกแผ่น ได้แก่ ความปรารถนาร่วมกันที่จะปฏิรูประบบการเมือง-เศรษฐกิจและการขยับไปสู่การมีอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง (self-determination), การมองเห็นความเป็นไปได้ของการคว้าชัยชนะมากขึ้น, และการได้รับความชอบธรรมจากมหาชน ท่ามกลางการต่อสู้ขับเคี่ยวกับกองทัพในการแสวงหาการยอมรับในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

“นอกจากจะเริ่มมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นแล้ว นี่ยังจัดว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านที่มีความเจนจัดที่สุดขบวนการหนึ่งเท่าที่เราเคยพบเห็นมา” เนียนทา มอว์ ลิน ให้ความเห็น

“แม้จะไม่มีศูนย์กลางการบัญชาการที่ชัดเจน แต่บรรดากลุ่มต่อต้านเหล่านี้กลับสามารถโต้กลับและยึดครองพื้นที่จากกองทัพได้” เนียนทา มอว์ ลิน เสริม พร้อมทั้งยังชี้ถึงความสามารถของกลุ่มต่อต้านในการจัดหาระดมเงินทุนสำหรับดำเนินปฏิบัติการ แม้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัด

ขณะเดียวกัน เนียนทา มอว์ ลิน ชี้ว่าทางฝั่งกองทัพพม่ากำลังสูญเสียความสามารถและความชอบธรรมในการเข้าถึงและควบคุมในหลายพื้นที่ของประเทศพม่า

“ความพยายามของกองทัพที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองของประเทศถือว่ายังไม่เห็นผล เพราะโดยพื้นฐานแล้ว กองทัพเป็นองค์กรที่มีปัญหาในตัวเอง” เนียนทา มอว์ ลิน ให้ความเห็น

เนียนทา มอว์ ลิน (Nyantha Maw Lin) นักวิเคราะห์อิสระ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ เนียนทา มอว์ ลิน ให้ข้อเสนอถึงการวางบทบาทของประชาคมนานาชาติต่อสถานการณ์ในพม่า โดยต้องเริ่มจากการปรัมมุมมองต่อกองทัพพม่าใหม่ แม้ว่ากองทัพพม่ากำลังเป็นผู้ยึดกุมอำนาจรัฐ แต่ต้องตระหนักด้วยว่ากองทัพละเมิดหลักการของประชาคมนานาชาติด้วยการทำสงครามเข่นฆ่าประชาชน จึงต้องตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งที่องค์กรอย่างกองทัพควรทำหรือไม่ แล้วประชาคมนานาชาติจะปรับเปลี่ยนการวางตัวต่อกองทัพอย่างไร ซึ่งหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกองทัพพม่าใหม่ การแสดงบทบาทของประชาคมนานาชาติก็จะไม่อาจบรรลุผล ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนพม่าได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนพม่า อย่างที่กำลังเป็นอยู่

เนียนทา มอว์ ลิน เสนอว่า ประชาคมนานาชาติ “ต้องเริ่มทำงานร่วมกับเครือข่ายของฝั่งต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งถือว่ากำลังมีทั้งความชอบธรรม มีผู้แทนเป็นตัวเป็นตน และมีอำนาจควบคุมหลายพื้นที่ ถ้าไม่เช่นนั้น พม่าก็จะไม่มีทางออกจากวิกฤตได้”  

ช่วงเวลาอันนองเลือดกำลังใกล้เข้ามา

แอนโธนี เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและที่ปรึกษาของวารสาร Jane’s Defense Publications คาดว่าสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มต่อต้านกำลังจะยกระดับความเข้มข้นขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยสถานการณ์จะพัฒนาไปในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“มีนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่าสถานการณ์ของพม่าจะกลับไปอย่างปี 1950 ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพพม่าสามารถพลิกจากความเสียเปรียบท่ามกลางการต่อสู้กับกองกำลังต่างๆ อย่างกองกำลังคอมมิวนิสต์ หรือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จนค่อยๆ ขยับกระชับอำนาจครอบครองศูนย์กลางของประเทศได้… อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าการคาดการณ์นี้ไม่ถูกต้องนัก ผมว่าสถานการณ์จะไม่กลับไปเหมือนปี 1950 ที่ผมพูดอย่างนั้นเพราะถ้าเราดูจากสถานการณ์ของฝั่งกองกำลัง PDF (People’s Defense Force – กองกำลังประชาชน) จะเห็นว่าพวกเขาแพร่กระจายขยับขยายฐานกำลังอย่างรวดเร็วในทุกเขตเมืองทางตอนกลางของพม่า โดยมีทั้งอาวุธและฐานที่มั่นที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการสานความเป็นพันธมิตรกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ” เดวิสกล่าว

เดวิสมองการต่อสู้ของกลุ่มกองกำลังฝั่งต่อต้านในพม่าตอนนี้ โดยเทียบกับแนวคิดบันได 3 ขั้นสู่ชัยชนะของกองกำลังประชาชน ซึ่งเห็นตัวอย่างได้จากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ อย่างจีนและเวียดนาม หรือกลุ่มฏอลิบานในอัฟกานิสถาน โดย 3 ขั้นที่ว่านั้นคือ ขั้นแรก – strategic defensive คือขั้นที่ฝั่งต่อต้านมุ่งเน้นป้องกันตัวเองจากการพยายามปราบปรามของผู้ครองอำนาจ, ขั้นที่ 2 – strategic equilibrium ซึ่งเป็นช่วงที่ฝั่งต่อต้านเริ่มโต้กลับได้มากขึ้น ขณะที่ฝั่งผู้ครองอำนาจเริ่มประสบความล้มเหลวในการปราบปราม และขั้นที่ 3 – strategic offensive คือฝั่งต่อต้านมีกองกำลังที่แข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และสามารถโจมตีฝั่งผู้ครองอำนาจจนสูญเสียการควบคุมอย่างหนัก สำหรับสถานการณ์ของกองกำลังฝั่งต่อต้านของพม่าในปัจจุบันนั้น เดวิสชี้ว่าได้ก้าวข้ามจากขั้นที่ 1 สู่ขั้นที่ 2 ไปแล้ว

“กองกำลัง PDF กำลังยึดพื้นที่ตามเขตเมืองต่างๆ มากขึ้น พร้อมด้วยสรรพาวุธที่เพียบพร้อมขึ้น ขณะที่ฝั่งกองทัพกำลังเริ่มเพลี่ยงพล้ำ” เดวิสกล่าว

“กองทัพพม่าอาจถูกมองว่ามีความเป็นระบบระเบียบ เป็นปึกแผ่น แต่ในช่วงตลอดเวลากว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานี้ จะเห็นว่ากองทัพพม่าเริ่มสั่นคลอนไปในระดับหนึ่ง แล้วผมก็คาดการณ์ฉากทัศน์ต่อจากนี้ไปอีกว่ากองกำลังฝั่งต่อต้านอาจก้าวไปถึงขั้น strategic offensive ได้” เดวิสให้ความเห็น พร้อมชี้ว่าปัญหาสำคัญของกองทัพพม่าในตอนนี้คือการเริ่มขาดกำลังพล

เดวิสยังคาดการณ์ว่า เมื่อฝั่งต่อต้านสามารถก้าวหน้าไปถึงขั้น strategic offensive ได้แล้ว เราอาจเห็นความแตกแยกภายในกองทัพพม่า ระหว่างฝั่งที่ต้องการประนีประนอมกับฝ่ายต่อต้าน และฝั่งที่ยังคงยืดหยัดจะปราบปรามฝ่ายต่อต้านอยู่ 

แอนโธนี เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและที่ปรึกษาของวารสาร Jane’s Defense Publications

 

อย่างไรก็ตาม เดวิสมองว่าการที่กองกำลังฝั่งต่อต้านจะยกระดับการต่อสู้ไปถึงขั้นนั้นได้ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอุปสรรคและความท้าทายหลายประการที่ต้องเผชิญ โดยเฉพาะการต้องพยายามรักษาความเป็นพันธมิตรกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งนับว่ากำลังเป็นงานท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ตามด้วยการต้องจัดหาอาวุธเพิ่มเติม และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เข้มแข็งเป็นระบบระเบียบขึ้น

นอกจากนี้แม้จะมีหลายคนที่มองว่ากองกำลังฝั่งต่อต้านสามารถยึดพื้นที่ของประเทศได้เกิน 50% แล้ว แต่เดวิสยืนยันว่า “ยังไม่มีพื้นที่ไหนในพม่าที่ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพอย่างสมบูรณ์” เพราะตามจริงแล้ว “ไม่มีพื้นที่ไหนในพม่าที่กองทัพพม่าจะเข้าไปไม่ได้”   

“แม้ความพยายามปฏิวัติ (Spring Revolution) โดยฝั่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) และพันธมิตรฝั่งต่อต้านทั้งหลาย จะดูเข้าใกล้ความเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกัน จนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นฝั่งกองทัพกำลังเข้าใกล้ความล่มสลายแต่อย่างใด” เดวิสให้ความเห็น

เขายังชี้อีกว่า กองทัพพม่าอย่างคงมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ นั่นคือเอกภาพในการสั่งการ (unity of command) และเอกภาพในการดำเนินกลยุทธ์ (unity of strategy) อีกทั้งยังมีแรงหนุนจากมหามิตรอย่างรัสเซียและจีน 

ท้ายสุด เดวิสยังกล่าวว่าให้จับตาดูสถานการณ์ในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง ระหว่างเดือนตุลาคมนี้ไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่สถานการณ์การต่อสู้จะนองเลือดมากขึ้น โดยอาจเห็นฝั่งกองทัพดำเนินปฏิบัติการทางอากาศ รวมทั้งระดมอาวุธหนัก ออกมาปราบปรามฝั่งต่อต้านมากขึ้น

“ในหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เราจะได้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงไต่ระดับขึ้น และในปีต่อจากนี้ก็ถือว่ากำลังเป็นปีที่อันตรายอย่างยิ่ง” เดวิสกล่าวสรุป

3 ฉากทัศน์แห่งการเมืองพม่า กับอนาคตเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทาย

เกวน โรบินสัน (Gwen Robinson) บรรณาธิการใหญ่ของนิคเคอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asian Review) และอดีตประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand – FCCT) เห็นด้วยกับเดวิสในแง่ที่ว่ากองทัพพม่ากำลังมีปัญหาภายใน โดยชี้ถึงปรากฏการณ์การแปรพักตร์ของทหารออกจากกองทัพ ซึ่งจนถึงตอนนี้คาดว่ามีจำนวนมากกว่า 10,000 คน แม้ว่าจะยังเป็นสัดส่วนที่เล็กเมื่อเทียบกับขนาดกองทัพที่มีกำลังพลราว 250,000-350,000 คนก็ตาม แต่ก็เป็นภาพสะท้อนว่ากองทัพกำลังสั่นคลอน

จากที่ติดตามสถานการณ์มาตลอด 19 เดือน โรบินสันมองว่าสถานการณ์ของพม่าในอนาคตมีความเป็นไปได้อยู่ 3 ฉากทัศน์

ฉากทัศน์แรกคือพม่าจะตกอยู่ในภาวะแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ โดยเมืองใหญ่ๆ อย่างเนปิดอว์ ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ขณะที่ส่วนอื่นของประเทศจะอยู่ภายใต้กองกำลังชาติพันธุ์หรือกลุ่มต่อต้านกองทัพต่างๆ ซึ่งอยู่ในร่มของรัฐบาล NUG และสภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ  (National Unity Consultative Council – NUCC)

ฉากทัศน์ที่ 2 คือกองกำลังฝั่งต่อต้านสามารถคว้าชัยชนะ โดยสามารถยึดเมืองต่างๆ และเข้าครอบครองเส้นทางคมนาคมหลักๆ ของประเทศได้ โรบินสันมองว่ายิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งเห็นฉากทัศน์นี้เข้าใกล้ความเป็นไปได้มากขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 3 คือกองทัพพม่าสามารถกระชับพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนจากรัสเซียและจีน โดยที่บ้านเรือนถูกเผาทำลายมากขึ้นและประชาชนพม่าถูกเข่นฆ่ามากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์และเด็กๆ ขณะที่กองกำลังฝั่งต่อต้านจะมีฐานกำลังจำกัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น โดยโรบินสันชี้ว่านี่เป็นฉากทัศน์ที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

โรบินสันยังอ้างถึงรายงานชิ้นใหม่จากสภาที่ปรึกษาพิเศษด้านเมียนมา (Special Advisory Council for Myanmar – SAC-M) ซึ่งระบุว่ารัฐบาล NUG และองค์กรฝั่งต่อต้านต่างๆ สามารถครอบครองพื้นที่ได้รวมกันถึงราว 52% ของพม่า โดยมีพื้นที่อีก 23% ที่กำลังอยู่ระหว่างการต่อสู้ยึดครองกับกองทัพพม่า ขณะที่กองทัพพม่าสามารถควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จได้เพียง 17% เท่านั้น แม้ว่าข้อมูลตัวเลขนี้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน อีกทั้งโรบินสันเองก็ยังเห็นสอดคล้องกับเดวิสว่าการประเมินเช่นนี้อาจไม่ถูกต้อง แต่ข้อมูลนี้จัดว่ามีความสำคัญ โดยโรบินสันให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ “การยึดครองพื้นที่คือกุญแจสำคัญสู่การได้รับการยอมรับความชอบธรรมจากนานาชาติ”

อย่างไรก็ตาม โรบินสันชี้ว่าความท้าทายสำคัญของรัฐบาล NUG คือการสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างกลุ่มย่อยต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 700 กลุ่มภายใต้ร่มองค์กร ซึ่งตอนนี้ยังคงดูกระจัดกระจายกันอยู่

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างกลุ่มต่างๆ ให้ได้เพื่อจะยกระดับการต่อสู้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยบันไดขั้นสำคัญก็คือการร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งก็มีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะนำไปสู่ความเท่าเทียมระหว่างกลุ่มต่างๆ ได้จริงหรือไม่ แต่ประเด็นนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าฝั่งต่อต้านจะผนึกเป็นหนึ่งเดียวกันได้หรือเปล่า” โรบินสันกล่าว

เกวน โรบินสัน (Gwen Robinson) บรรณาธิการใหญ่ของ Nikkei Asian Review และอดีตประธาน FCCT

ส่วนในแง่มุมเศรษฐกิจ เมื่อดูจากตัวเลขทางการ โรบินสันชี้ว่าเป็นที่ประหลาดใจมากเมื่อเห็นว่ามูลค่าการค้ากลับเติบโตขึ้นได้ดี สวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ

“เศรษฐกิจพม่าเมื่อปีก่อนหน้าย่ำแย่มาก โดยถูกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถึงขั้นล่มสลาย แล้วธนาคารโลกตอนนั้นก็คาดตัวเลขการเติบโตปีนั้นไว้ที่ติดลบ 18% ซึ่งจัดว่าเข้าขั้นหายนะ แต่ในปีนี้ สถานการณ์กลับเริ่มอยู่ตัว เนื่องจากแรงงานเริ่มกลับไปทำงานอีกครั้งทั้งในภาคการผลิตสิ่งทอและภาคอื่นๆ เช่นเดียวกับบรรดาข้าราชการต่างๆ ที่ก็เริ่มกลับไปทำงานจากการที่กองทัพสัญญาให้เงินจูงใจต่างๆ” โรบินสันกล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของพม่าปีนี้ว่าสามารถดีดตัวขึ้นมาเป็นบวกที่ 3% แต่บางสำนักก็คาดการณ์สวนทาง เช่น บริษัทฟิทช์เรทติ้ง (Fitch Ratings) ซึ่งคาดว่าจะโตติดลบ 5.5%

อย่างไรก็ตามตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้อยู่บนฐานที่ว่าสถานการณ์ในพม่าปีหน้าจะไม่แย่ลงไปกว่านี้ แต่โรบินสันคาดว่าสถานการณ์จะแย่ลง

“เศรษฐกิจพม่าอาจไม่ได้ถึงขั้นจะล่มสลาย เนื่องจากพม่ายังสามารถส่งออกก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังประเทศไทยและจีน ได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนและรัสเซียหลั่งไหลเข้ามา อีกทั้งภาคการผลิตต่างๆ ก็ยังคงดำเนินการได้อยู่ต่อเนื่อง แต่ภาคการเกษตรจะเสียหายหนัก ทั้งจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้สถานการณ์การขาดแคลนพลังงาน เงินเฟ้อที่พุ่งสูง และการร่วงลงอย่างหนักของสกุลเงินพม่า ก็จะส่งผลต่อภาคเกษตรอย่างร้ายแรง” โรบินสันกล่าว

ขณะที่ทางด้านภาคการเงินการธนาคารของพม่า โรบินสันมองว่ากำลังเข้าใกล้ภาวะวิกฤต ด้วยเหตุสำคัญหนึ่งจากการแต่งตั้งบรรดานายพลและนายทหารเข้าไปนั่งเก้าอี้สำคัญต่างๆ ในธนาคารกลาง ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานและประสบการณ์ทางด้านการเงินใดๆ มาก่อน โดยเชื่อว่าเป็นความพยายามของกองทัพที่จะเข้าไปดำเนินการสอดส่องและตัดเส้นทางทางการเงินของบรรดากลุ่มต่อต้าน

วิกฤตการเงินการธนาคารของพม่ายังเห็นเป็นรูปธรรมได้จากมูลค่าเงินจัต (Kyat) ที่ร่วงลงถึงราว 1 ใน 3 จากช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร ท่ามกลางการคาดเดาว่าน่าจะเป็นเหตุจากการพิมพ์เงินออกมามหาศาล แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจริงหรือไม่    

  3 ฮีโรผู้ฟื้นเศรษฐกิจ กับ 1 ธนาคารกลางผู้อาจนำประเทศสู่วิกฤตการเงิน

ซอ อู (Zaw Oo) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาสังคม ที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า พูดถึงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าโดยธนาคารโลก ซึงสามารถดีดตัวจากติดลบ 18% ในปีก่อนหน้ามาเป็นบวก 3% ในปีนี้ ว่าเป็นการฟื้นตัวที่ดีมาก โดยซอ อู ชี้ว่าการฟื้นตัวได้อย่างดีท่ามกลางวิกฤตนี้ถือเป็นคุณูปการจาก 3 ฮีโรผู้ปิดทองหลังพระ (unsung heroes)

กลุ่มแรกคือเกษตรกรซึ่งมีอยู่ราว 14 ล้านคน โดยตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ภาคการเกษตรของพม่าจัดว่าเฟื่องฟูขึ้น เห็นได้จากปริมาณผลผลิตการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะข้าวโพด ที่เติบโตขึ้น ด้วยการสั่งซื้อจากประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นและยังไปทดแทนปริมาณการสั่งซื้อจากจีนที่ลดน้อยลงเนื่องจากการปิดพรมแดนป้องกันการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรแรงงานในภาคเกษตรเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 ด้วย

กลุ่มที่ 2 คือแรงงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าซึ่งมีอยู่ราว 1 ล้านคน แม้อุตสาหกรรมนี้จะได้รับผลกระทบจากการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตจากวิกฤตการระบาด รวมทั้งวิกฤตการเมืองจากการรัฐประหาร แต่ก็ยังคงความแข็งแกร่งได้อย่างน่าเหลือเชื่อ และสามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ซอ อูชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่จากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้รายได้ที่แท้จริงของแรงงานลดลง ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้มีการปรับขึ้นมานาน

กลุ่มที่ 3 คือแรงงานข้ามชาติซึ่งมีอยู่ราว 4-5 ล้านคน แม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 แรงงานเหล่านี้จะส่งเงินโอนกลับประเทศลดลงจากปกติไปถึงร้อยละ 60 แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายซึ่งทำให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ มูลค่าเงินโอนก็กลับมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีแรงงานถึงราวร้อยละ 90 ที่มีการโอนเงินกลับไปให้ที่บ้าน และยังมีการส่งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

ซอ อู (Zaw Oo) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาสังคม ที่นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซอ อู มองว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางพม่า กำลังพาเศรษฐกิจของประเทศเดินมาสู่ความยุ่งยาก โดยมีความผิดพลาดหลักอยู่ 3 ประการ

ประการแรกคือการประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (fixed exchange rate) ซึ่งทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินการแทรกแซงพยุงอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่น่ากังวล เพราะพม่าอาจไม่ได้มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากพอจะดำเนินการไปได้ตลอด

ประการที่ 2 คือการพยายามจำกัดการไหลออกของเงินดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการจำกัดการนำเข้าสินค้า รวมถึงการโอนเงินออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพม่ามีการโอนถ่ายเงินในช่องทางที่ไม่เป็นทางการในมูลค่ามหาศาล ซึ่งธนาคารกลางอาจไม่สามารถควบคุมได้

ประการที่ 3 คือการคงที่อัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราเดิม แม้จะมีอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เพราะกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะซ้ำเติมความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจของประเทศ

“สถานการณ์ทั้ง 3 ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์ 101 สอนมาตลอดว่าเป็น ‘สามเหลี่ยมแห่งความเป็นไปไม่ได้’ (impossible trinity) คือไม่มีทางที่ทั้ง 3 เงื่อนไขนี้จะเกิดขึ้นได้พร้อมกัน และไม่ว่าจะประเทศไหนในโลกก็ไม่เคยทำได้ เหมือนอย่างช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ประเทศไทยตอนนั้นก็พยายามทำทั้ง 3 สิ่งนี้พร้อมกัน แต่ที่สุดก็ต้องเข้าสู่วิกฤตในเดือนกรกฎาคม 1997” ซอ อู กล่าว

ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจพม่ากำลังเดินเข้าใกล้วิกฤต ซอ อู แนะว่าประเทศไทยควรมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจพม่า เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา การมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับไทยคือสิ่งสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจพม่ามาโดยตลอด โดยซอ อู เสนอให้รัฐบาลไทยพัฒนาระบบการเงิน รวมถึงการถ่ายโอนเงินระหว่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงครอบคลุมทุกคนได้มากขึ้น รวมทั้งเสนอให้อำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการข้ามพรมแดนสำหรับแรงงานพม่า เพื่อให้ไม่ต้องข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย และช่วยดูแลวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงให้การศึกษาและฝึกพัฒนาทักษะแรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยแบ่งปันถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจให้กับพม่าด้วย

ซอ อู ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงประเทศไทยว่า “ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่แสดงบทบาทนำท่ามกลางประชาคมนานาชาติ ในการช่วยประเทศเพื่อนบ้านจัดการวิกฤตมาตลอด เช่นในตอนเกิดวิกฤตการเมืองที่กัมพูชา ผมเชื่อว่านี่อาจเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยจะมีโอกาสได้แสดงบทบาทในการช่วยเหลือพม่าผ่านพ้นวิกฤต”


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย  (Delegation of the European Union to Thailand) และ The101.world โดยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นการทำงานอย่างอิสระของกองบรรณาธิการ 101 และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสหภาพยุโรป

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save