แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง (毛泽东) อดีตผู้นำประเทศและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนอันเป็นที่รักและเทิดทูนของประชาชนชาวจีน ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1976 แต่เราก็ยังสามารถเห็นรูปของเขาตั้งตระหง่านท้าลมฝนอยู่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมไปถึงรูปภาพของเขาที่ถูกตั้งโชว์ตามร้านรวงหรือภายในบ้านเรือนต่างๆ เป็นดั่ง ‘รูปที่มีทุกบ้าน’ ของประชาชาติจีน
นอกจากปี 1976 จะเป็นปีแห่งการจากไปของผู้นำระดับตำนานของจีนอย่างเหมาเจ๋อตงแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเองยังถือเป็นปีแห่งการสิ้นสุดลงของ ‘การปฏิวัติวัฒนธรรม’ การปฏิวัติอันโหดร้ายที่คร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่าหลักล้านคน ด้วยนโยบายทำลาย ‘สี่เก่า’ ของเหมาเจ๋อตงที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1966 เมื่อเหมาเจ๋อตงปลุกระดมให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกไปจับกุม ทำร้าย หรือแม้แต่เข่นฆ่าบุคคลที่เข้าข่ายจะเป็นพวกที่อยู่ใน ‘สี่เก่า’ ได้แก่ ความคิดเก่า นิสัยเก่า ธรรมเนียมเก่า และวัฒนธรรมเก่า ที่เหมามองว่าเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งความเจริญของประเทศ การปฏิวัติเมื่อครานั้นขับเคลื่อนด้วยพลังและอำนาจอันแรงกล้าของโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน และลัทธิบูชาท่านประธานเหมา จนถึงขั้นมีประโยคว่า “ปกป้องท่านประธานเหมาด้วยเลือดและชีวิต” ถูกกู่ร้องไปทั่วทั้งเมือง
การปฏิวัติอันนองเลือดนี้กินระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับประเทศจีนอย่างแสนสาหัส มีผู้คนจำนวนมหาศาลถูกทำร้ายร่างกายด้วยความโหดเหี้ยมและทารุณเกินจะจินตนาการได้ และแน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากมวลมหาคนหนุ่มสาวเหล่านี้ มีท่านประธานเหมาคอยมอบความชอบธรรมและให้การสนับสนุนแบบสุดกำลัง
คำถามที่ตามมาคือ เมื่อเหมาเจ๋อตงเป็นตัวการที่ทำให้คนจีนเข่นฆ่ากันเองผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรมขนาดนั้น ทำไมคนจีนถึงยังรักประธานเหมากันมากขนาดนี้?

ที่มาภาพ: Rabs003
จากก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่สู่การปฏิวัติวัฒนธรรม
หากเราอยากเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องราวนี้แบบเจาะลึก คงจะต้องย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์จีนไปไกลถึงช่วงก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมเสียหน่อย
หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมืองในปี 1949 เหมาก็ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำสูงสุดของจีนอย่างยาวนานหลายสิบปี ในระหว่างนั้น เหมาได้ออกนโยบายหลายอย่างที่นับว่าเป็น ‘ความล้มเหลว’ อันสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจีน จากโดมิโนตัวแรกที่ล้มลงในปี 1958 กับนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ (The Great Leap Forward) ที่เหมาต้องการให้จีนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ (แบบเร่งด่วน) โดยให้ประชาชนทำเกษตรกรรมระบบนารวมและทำอุตสาหกรรมหนักด้วยการผลิตเหล็กกล้ากันเองในชุมชน ทว่าเนื่องจากประเทศจีนในตอนนั้นยังเป็นประเทศเกษตรกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าจึงต้องใช้แรงงานคนแทนทุนและเทคโนโลยีในการผลิตทั้งหมด
ผลลัพธ์จากการฝืนทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้าด้วยแรงงานภาคเกษตรและความล้มเหลวของระบบนารวม ทำให้จีนเกิดภาวะทุพภิกขภัยครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ส่งผลให้มีคนจีนล้มตายเพราะความอดอยากมากกว่า 20-50 ล้านคน ความล้มเหลวในครั้งนั้นเป็นผลให้ต่อมาในปี 1959 เหมาเจ๋อตงตัดสินใจประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง ยกเว้นแต่ตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสุดท้ายนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ก็ถูกยกเลิกไป
เรดการ์ดกับความรักที่มีต่อท่านประธานเหมา
แน่นอนว่าบทบาทของเหมาเจ๋อตงไม่ได้จบบริบูรณ์ลงหลังจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ หลังจากเหมาตัดสินใจดำรงไว้เพียงตำแหน่งประธานพรรค และเปิดทางให้หลิวเส้าฉีขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีบริหารจัดการประเทศแทน ในระหว่างนั้น คนที่เข้ามีบทบาททางการเมืองและวัฒนธรรมจีนแทนเหมา และเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างลิทธิบูชาตัวท่านประธานเหมาก็คือ ‘เจียงชิง’ ภรรยาคนที่ 4 ของเหมาเจ๋อตง และ ‘หลินเปียว’ นายพลใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เจียงชิงเป็นแกนนำคนสำคัญในการปลูกฝังลัทธิบูชาตัวบุคคลและสร้างโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ของจีน ด้วยการผลักดันให้สถาบันการศึกษาต่างๆ จัดตั้งชมรมศึกษาวัฒนาธรรมคำสอนของประธานเหมา จนนำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มยุวชนแดงหรือกลุ่มเรดการ์ด (Red Guard) ส่วนหลินเปียวคือผู้ที่จัดทำและสั่งพิมพ์สรรนิพนธ์บันทึกคำสอนและแนวคิดของเหมาเจ๋อตง หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Little Red Book ที่เรดการ์ดทุกคนต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลาขณะที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม

ที่มาภาพ: jenikirbyhistory.getarchive.net
นอกจากนี้ ในปี 1965 เหยาเหวินหยวน นักเขียนและนักวิจารณ์ละครได้ออกมาเขียนบทความวิจารณ์ละครเวทีเรื่อง Hai Rui Dismissed from Office ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ที่ถูกฮ่องเต้ขับไล่ออกจากราชสำนักเพราะบังอาจพูดความจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินกับฮ่องเต้ โดยเหยาเหวินหยวนวิจารณ์ว่าละครเรื่องนี้ถือเป็นการเสียดสีและจิกกัดประธานเหมา ในกรณีที่เหมาขับไล่ ‘เผิงเต๋อหวาย’ ออกจากพรรคหลังจากเขาเขียนจดหมายอธิบายถึงความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ส่งให้เหมาเป็นการส่วนตัว บทความของเหยาเหวินหยวนจึงยิ่งเป็นการสุมไฟให้หนุ่มสาวชาวจีนมองว่านักคิด นักเขียน และนักวิชาการแขนงต่างๆ เป็นปรปักษ์ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกำลังต่อต้านประธานเหมา
และจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อันด่างพร้อยที่คนจีนอยากลืมเลือนก็เริ่มขึ้น เมื่อเหมาเจ๋อตงตัดสินใจกลับมาทวงอำนาจทางการเมืองทั้งหมดของตนเองคืนในปี 1966 ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับการที่ลัทธิบูชาประธานเหมากำลังสุกงอม เหมาเจ๋อตงจึงมอบหมายโครงการสำคัญให้กลุ่มเรดการ์ดช่วยกันออกไปกำจัด ‘สี่เก่า’ อันได้แก่นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ครูอาจารย์ รวมถึงนักการเมืองที่ถูกมองว่าเข้าข่ายฝักใฝ่ในทุนนิยม ชื่นชอบความรู้และวัฒนธรรมตะวันตก หรือมีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์กับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
ในปีแรกของการปฏิวัติวัฒนธรรม การปราบปราม ‘สี่เก่า’ ของกลุ่มเรดการด์เป็นไปด้วยความโหดร้ายทารุณและไร้ซึ่งมนุษยธรรม มีครูอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยและนักการเมืองจำนวนมากถูกลากมาด่าทออย่างหยาบคาย ถูกพาออกมาประจานกลางพื้นที่สาธารณะ ถูกทรมาน ทำร้ายร่างกาย และรุมประชาทัณฑ์อย่างโหดเหี้ยม มีคนจำนวนมากถูกใช้ความรุนแรงจนเสียชีวิตหรือทนไม่ไหวจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย และเหตุผลที่ความรุนแรงของกลุ่มเรดการ์ดเกิดขึ้นได้อย่างอุกอาจถึงเพียงนี้ก็เป็นเพราะรัฐบาลนำโดยเหมาเจ๋อตงสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเต็มที่ ถึงขั้นมีคำสั่งออกมาอย่างชัดเจนว่าห้ามตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางกิจกรรมของขบวนการเรดการ์ดโดยเด็ดขาด
จุดจบของแก๊งสี่คนและการสิ้นสุดของการปฏิวัติวัฒนธรรม
ในปลายปี 1967 หลังการปราบปรามสี่เก่าผ่านไปกว่า 1 ปี ขบวนการเรดการ์ดเริ่มถูกลดทอนอำนาจลง หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกนโยบาย ‘Sent Down Youth’ คือการส่งเยาวชนจีนกว่าหลายล้านคนไปยังชนบทเพื่อรับการศึกษาใหม่โดยกลุ่มชาวนา หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการส่งคนรุ่นใหม่ของจีนในยุคนั้นไปทำงานหนักในแถบชนบทห่างไกล ความรุนแรงของการปฏิวัติวัฒนธรรมจึงเริ่มลดน้อยลงตั้งแต่นั้น
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ขบวนการเรดการ์ดเสื่อมอำนาจลง ‘แก๊งสี่คน’ (Gang of Four) ได้แก่ เจียงชิง เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวางหงเหวิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ขึ้นมามีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่าการสร้างความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมจีนต่างๆ ถูกผูกขาดโดยพวกเขาทั้งสี่ ทั้งยังร่วมกันผลิตโฆษณาชวนเชื่อเพิ่มความนิยมและความศรัทธาต่อประธานเหมา
ทว่าอำนาจของทั้งสี่คนก็อยู่ได้เพียงไม่นาน เนื่องจากในช่วงท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม เหมาเจ๋อตงเริ่มหวาดระแวงและไม่ไว้ใจการทำงานของพวกเขา และหันไปให้ความไว้ใจกับโจวเอินไหลแทน ทำให้แก๊งสี่คนเริ่มเสื่อมอำนาจลงจนไม่ได้รับความยำเกรงจากประชาชนและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนแบบเมื่อก่อน อีกทั้งคำว่า ‘แก๊งสี่คน’ ก็เป็นคำที่เหมาเจ๋อตงใช้เรียกเชิงตำหนิทั้งสี่คนนี้อีกด้วย และก่อนที่เหมาจะเสียชีวิตลงในวันที่ 9 กันยายน 1976 เหมาได้ประกาศผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองคือฮว่ากว๋อเฟิง แทนที่จะเป็นหนึ่งในสมาชิกแก๊งสี่คน
การปฏิวัติวัฒนธรรมอันยาวนานสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1976 เกิดจากแผนการพยายามจับกุมแก๊งสี่คนของฮว่ากว๋อเฟิงและเติ้งเสี่ยวผิง โดยมีฉากหน้าเป็นการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อหารือเกี่ยวกับการชำระสรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตง ในระหว่างนั้น เมื่อแก๊งสี่คนเดินทางเข้ามาร่วมประชุมก็ถูกทางการจีนจับกุมในทันที เนื่องจากทั้งสี่คนถือเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิวัติวัฒนธรรม เมื่อพวกเขาถูกจับกุมและหมดสิ้นอำนาจโดยสิ้นเชิง จึงถือว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมได้จบลงแล้ว
ประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน
จะเห็นได้ว่าความพังพินาศของนโยบาย The Great Leap Forward ไปจนถึงการปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้คนหลายล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นความคิดและนโยบายของประธานเหมาที่คนจีนเคารพรัก ทว่าในฉากสุดท้ายของเรื่องราวกลับมีเพียงเจียงชิง เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวางหงเหวิน ที่ถูกลงโทษ
เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าทั้งสี่คนนี้ไม่สมควรถูกลงโทษ แน่นอน พวกเขาคือตัวการของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นและสมควรได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง แต่คำถามสำคัญคือ เหตุใดผู้นำที่เป็นจุดเริ่มต้นของหายนะและความวายป่วงนี้กลับกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับการสรรเสริญเชิดชูมานานหลายทศวรรษ
กล่าวด้วยหลักการที่เข้าใจง่ายที่สุด เหมาเจ๋อตงคือผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น หากพรรคยังต้องการใช้อำนาจของประธานเหมาสร้างความเคารพเลื่อมใสในหมู่ประชาชน และสร้างความชอบธรรมให้พรรคยังสามารถปกครองประเทศจีนต่อไปได้หลังเกิดหายนะที่เหมาเจ๋อตงก่อไว้ พวกเขาจำเป็นต้องสร้างเรื่องเล่า (narrative) ให้ท่านประธานเหมา ‘ผิดน้อยที่สุด’ และทำให้ผู้ที่มีความทรงจำอันเจ็บปวดกับการปฏิวัติวัฒนธรรมรู้สึกว่าตนเองได้รับความยุติธรรมคืนมาด้วยการลงโทษแก๊งสี่คนอย่างถึงที่สุดแทน
หลังการสิ้นสุดลงของปฏิวัติวัฒนธรรม เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังความย่อยยับที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงกล่าวถึงเหมาเจ๋อตงผู้ล่วงลับไว้ว่า “ประธานเหมาทำถูก 70% ทำผิด 30%”
แน่นอนว่าโครงการ The Great Leap Forward และปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญในความผิด 30% นั้น มากไปกว่านั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังพยายามอย่างหนักในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อจำนวนมากเพื่อตอกย้ำความดีงามและคุณูปการของประธานเหมา ทั้งนี้ก็เพื่อกล่อมเกลาให้คนในชาติจดจำแต่สิ่งดีๆ ของอดีตประธานพรรค และลืมเลือนประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำเหล่านั้นไปเสีย ยังไม่นับรวมการปิดกั้นไม่ให้คนจีนและชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อยากกล่าวถึงอีกต่อไป
ในทางกลับกัน ชะตากรรมของแก๊งสี่คนในปี 1981 ถูกศาลพิพากษาลงโทษ โดยเจียงชิงและจางชุนเฉียวต้องโทษประหารชีวิต และต่อมาได้รับลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ส่วนเหยาเหวินหยวนและหวางหงเหวินต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ทว่าแม้แต่ในขณะถูกพิจารณาคดี เจียงชิงยังคงยืนยันหนักแน่นถึงความบริสุทธิ์ของตนเองว่า “ฉันเป็นสุนัขรับใช้ของท่านประธานเหมา เขาบอกให้ฉันกัดใคร ฉันก็ต้องกัด”
ความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ ความเลวร้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม จุดจบของแก๊งสี่คน และภาพจำอันงดงามที่คนจีนมีต่อเหมาเจ๋อตง คือตัวอย่างอันแจ่มชัดของการสร้างประวัติศาสตร์กระแสหลักโดยรัฐให้เป็นไปตามแบบอย่างที่ทางการต้องการ และเพื่อสร้างความชอบธรรมและดำรงไว้ซึ่งอำนาจให้ผู้คนยำเกรง
อ้างอิง
Gang of Four Chinese politicians
Mao and the Young Red Guards Movement
70 percent good, 30 percent bad: China has found a simple formula to assess Mao Zedong’s legacy