จีนต้องการอะไรจากสหรัฐฯ และทำไมสหรัฐฯ ให้จีนไม่ได้

ในบทนำของหนังสือเล่มใหม่เรื่องยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน โดยศาสตราจารย์เบตต์ กิลล์ (Bates Gill) นักจีนศึกษาชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง เขาเล่าบทสนทนาระหว่างเขากับผู้ใหญ่ในรัฐบาลจีน เมื่อเขาถามว่า จีนต้องการอะไร ผู้ใหญ่คนนั้นตอบเขาอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราต้องการได้รับการเคารพจากโลก และได้สิ่งที่คู่ควรกับสถานะของเรา พวกคุณต้องเริ่มยอมรับความจริงใหม่ได้แล้ว” 

ได้รับการ ‘เคารพ’ นั้นเป็นขั้นต่อจากได้รับการ ‘ยอมรับ’  ที่ผ่านมาจีนได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ทุกคนค้าขายกับจีน แม้ว่าจีนจะยังถูกปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในวันนี้ จีนต้องการอีกขั้นหนึ่งคือ ให้โลกเคารพวิถีจีน เคารพว่าระบบของจีนก็ชอบธรรมไม่แพ้หรืออาจชอบธรรมยิ่งกว่าระบบของตะวันตก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ และตะวันตกไม่สามารถให้จีนได้

ในวงการทูตจีน มีการพูดทีเล่นทีจริงว่า การสนทนาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับจีนจะต้องเริ่มด้วยการกล่าว ‘รหัสพาสเวิร์ด’ เสียก่อน ประตูการพูดคุยจึงจะเปิดได้ ในอดีตทุกครั้งที่พูดคุยกัน ผู้นำสหรัฐฯ ต้องกล่าวยืนยัน ‘นโยบายจีนเดียว’ ก่อนเริ่มประชุม แต่ในปัจจุบัน คำกล่าวยืนยันที่จีนเรียกร้องจากฝ่ายสหรัฐฯ ขยายเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่วงการทูตจีนเรียกว่า ‘สี่ไม่ หนึ่งมิประสงค์’

สี่ไม่ ได้แก่ ฝ่ายสหรัฐฯ ต้องยืนยันว่า ไม่ได้พยายามก่อสงครามเย็นรอบใหม่ ไม่ได้พยายามเปลี่ยนระบบการปกครองของจีน ไม่ได้พยายามแสวงพันธมิตรต่อต้านจีน ไม่ได้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน และมิประสงค์จะสร้างความขัดแย้งกับจีน ฝ่ายจีนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานเหล่านี้ ก็ไม่ต้องคุยกัน

ในการประชุมออนไลน์ระหว่างสีจิ้นผิงกับไบเดนท่ามกลางวิกฤตยูเครนในเดือนมีนาคม หลายคนสังเกตว่าจีนดูจะสนใจเรื่องของตนและเรื่องไต้หวันมากกว่าเรื่องรัสเซียและยูเครนเสียอีก กระทรวงการต่างประเทศจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่น ‘สี่ไม่ หนึ่งมิประสงค์’ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ส่วนสีจิ้นผิงได้กล่าวกับไบเดนว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้ให้คำมั่นสำคัญเหล่านี้ แต่ระดับปฏิบัติการกลับไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นเหล่านี้ ทำให้ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาไม่ราบรื่น

ประโยคนี้ของสีจิ้นผิงได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะสะท้อนว่าจีนมองว่าสหรัฐฯ กำลังทำตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด นั่นก็คือ นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไปในทิศทางของการก่อสงครามเย็นรอบใหม่ พยายามเปลี่ยนระบบการปกครองของจีน พยายามแสวงพันธมิตรต่อต้านจีน สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน จนดูเหมือนสหรัฐฯ มีความประสงค์จะสร้างความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนในทุกทาง

แต่สีจิ้นผิงเองก็อยากจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระดับสูงสุดไว้ เพื่อเปิดทางพูดคุย จึงออกมาเป็นการกล่าวโยนบาปโทษลูกน้องของไบเดนแทน สีจิ้นผิงไม่ได้กล่าวว่าไบเดน “พูดอย่าง ทำอย่าง” แต่โทษว่าลูกน้องของท่านไม่ทำตามที่ท่านพูด ช่วงที่ผ่านมาในการพูดคุยกับฝ่ายสหรัฐฯ ทุกครั้ง นักการทูตจีนจะเริ่มด้วยการกล่าวถึงความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างไบเดนกับสีจิ้นผิง และย้ำว่าฝ่ายปฏิบัติการต้องพยายามนำพาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมาในเส้นทางที่สร้างสรรค์

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในสุนทรพจน์สำคัญของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อจีน บลิงเคนได้สอดแทรก ‘สี่ไม่ และหนึ่งมิประสงค์’ เข้าไปในถ้อยแถลงในแต่ละช่วง โดยบลิงเคนกล่าวว่าเราไม่ต้องการความขัดแย้งและยิ่งไม่ต้องการสงครามนิวเคลียร์กับจีน ย้ำในตอนหนึ่งว่า สหรัฐฯ ไม่มีความประสงค์จะเปลี่ยนระบบการเมืองของจีน กล่าวว่าการแสวงพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่ได้เพื่อต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ ยืนยันว่านโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน แต่ทั้งหมดที่พูดมานี้ตามด้วยประโยค “แต่…” ทั้งสิ้น

สหรัฐฯ ไม่ต้องการความขัดแย้งกับจีน แต่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาอุดมการณ์และค่านิยมของโลกเสรีและระบบโลกที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์อย่างที่เป็นอยู่ และกล่าวว่าจีนเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อระบบโลกเสรีในปัจจุบัน

สหรัฐฯ ไม่มีความประสงค์จะเปลี่ยนระบบการเมืองของจีน แต่จะแข่งขันและแสดงให้เห็นอย่างเต็มที่ว่าระบบการเมืองของตะวันตกนั้นเหนือกว่าและสอดคล้องกับคุณค่าสากลของมนุษยชาติ พฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกงเป็นเรื่องที่ละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศและค่านิยมพื้นฐานของมนุษยชาติ จึงไม่ใช่เรื่องภายในประเทศของจีนแต่เพียงอย่างเดียว

สหรัฐฯ แสวงพันธมิตรไม่ใช่เพื่อต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่เพื่อต่อสู้กับพฤติกรรมของจีนในยุคสีจิ้นผิงที่แข็งกร้าวขึ้นและต้องการจะเปลี่ยนระเบียบโลกเดิมและระเบียบในอินโดแปซิฟิกที่สหรัฐฯ เรียกว่าเป็น ‘บ้าน’ ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน หากจีนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สหรัฐฯ ยินดีที่จะตอบสนองเชิงบวก แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถหวังว่าจีนจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้อีกแล้ว จึงต้องอาศัยการรวมกลุ่มพันธมิตรที่คิดเหมือนกันมาสร้างกรอบข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายภายนอกของจีน

สหรัฐฯ ไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน แต่คัดค้านอย่างเด็ดขาดต่อการแสดงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไต้หวันของจีนหรือการจะใช้กำลังทางทหารผนวกไต้หวันของจีน สหรัฐฯ จะส่งเสริมให้ไต้หวันมีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น และจะยกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวันในทุกด้าน

ในไต้หวันนั้น ทุกคนมักจะจับตาแม้รหัสการเลือกคำเล็กๆ น้อยๆ มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ เลือกใช้คำว่า ‘ไม่สนับสนุน’ การประกาศเอกราชของไต้หวัน ส่วนรัฐบาลจีนมักเลือกแปลเป็นภาษาจีนว่าสหรัฐฯ ‘ต่อต้าน’ การประกาศเอกราชของไต้หวัน แต่ฝ่ายหัวก้าวหน้าในไต้หวันมักอธิบายว่า ‘ไม่สนับสนุน’ แปลว่าไม่ช่วยเหลือ แต่ไม่ได้แปลว่าสหรัฐฯ ต่อต้านขบวนการเรียกร้องเอกราชของไต้หวัน

เช่นเดียวกับประโยคในคำแถลงร่วมระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศเมื่อปี 1979 ที่ว่า “[The US Government] acknowledges the Chinese position that… Taiwan is part of China” ในคำแปลของฝ่ายจีน แปลคำภาษาอังกฤษ ‘acknowledge’ ว่าสหรัฐฯ ‘เห็นด้วย’ กับจีนว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่สหรัฐฯ ยืนยันว่า สหรัฐฯ เพียง ‘รับรอง’ ว่าตนเข้าใจจุดยืนของจีนว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไม่ได้แปลว่าตนเห็นด้วยหรือมีจุดยืนใดๆ เรื่องนี้

นโยบาย ‘จีนเดียว’ ในความหมายของจีนคือไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนคอมมิวนิสต์ ส่วนนโยบาย ‘จีนเดียว’ ของสหรัฐฯ คือสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นทางการกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ และมีเพียงความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการกับเกาะไต้หวัน แต่สหรัฐฯ ไม่ได้มีจุดยืนให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เข้าปกครองเกาะไต้หวัน เวลาทั้งสองฝ่ายพูดว่าต่างยอมรับนโยบาย ‘จีนเดียว’ ลึกๆ แล้วความหมายไม่เหมือนกัน

เคยมีนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการเจรจาระหว่างนายกฯ โจวเอินไหลกับเฮนรี เคสซินเจอร์ ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีนิกสันในปี 1971 เพื่อกรุยทางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในขณะที่ในเวลานั้นสหรัฐฯ ต้องการหลายอย่างจากจีน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือจากจีนในการปิดล้อมสหภาพโซเวียต ความร่วมมือจากจีนในการยุติสงครามเวียดนาม ตลอดจนความเป็นไปได้ในอนาคตที่จีนจะยอมเปิดการลงทุนในตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ แต่จีนกลับมีความต้องการเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือให้สหรัฐฯ ยอมรับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ว่าเป็นรัฐบาลของประเทศจีนทั้งหมด และยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ผ่านมา 50 ปี แล้ว วันนี้ในเชิงจิตวิทยาลึกๆ จีนยังคงปรารถนาการยอมรับ แต่มากไปกว่านั้นคือจีนมองว่าตนใหญ่และแข็งแกร่งพอที่จะเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพในวิถีและจุดยืนของจีน ส่วนสหรัฐฯ นั้นให้ได้เพียงกล่าวตามประโยคที่จีนขอ แต่เลือกให้ความหมาย เงื่อนไข และปฏิบัติแตกต่างจากที่จีนต้องการอย่างสิ้นเชิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save