fbpx

‘ยูเครน’ ผ่านม้วนฟิล์มของ Kornii Hrytsiuk ผู้กำกับสารคดีจากยูเครนตะวันออก

ฤดูหนาวกำลังหวนกลับมาอีกครั้งคือสัญญาณว่าสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากจะครบ 1 ปีในอีกไม่ช้า

แต่หากจะนับย้อนกลับไปจริงๆ ชนวนเพลิงของสงครามครั้งนี้ได้ถูกจุดขึ้นมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้วในนามของสงครามดอนบาส ณ ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ได้รับอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นต่อรัสเซีย

ภายหลังจากที่การปฏิวัติยูโรไมดานกลางกรุงคีฟได้ประกาศชัดแล้วว่า ยูเครนต้องมีเสรีภาพ เป็นประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก นี่คือช่วงเวลาที่คำถามว่าด้วยอัตลักษณ์และความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงรอยปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในสังคมยูเครน

ภาพการปะทะกันระหว่างมายาคติวาทกรรมรัสเซียและอุดมการณ์ชาตินิยมยูเครนในช่วงเวลาที่สงครามดอนบาสอาจกำลังเดินไปสู่จุดเปลี่ยนได้ถูกบันทึกไว้ใน Train «Kyiv–War» (2020) สารคดีสัญชาติยูเครนที่ได้รับการนำกลับมาฉายอีกครั้งในหลายโอกาสหลังรัสเซียยกระดับการโจมตียูเครนจนกลายไปสู่สงครามเต็มรูปแบบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 – รวมถึงที่ไทยด้วยเช่นกัน – สำหรับคอร์นี กริตชุก (Kornii Hrytsiuk) ผู้กำกับสารคดีผู้เกิดและเติบโตในแคว้นโดเนตสก์ทางภาคตะวันออกของยูเครน นี่คือปฏิกิริยาระหว่างสถานการณ์และห้วงความคิดในสังคมยูเครนเมื่อ 3 ปีที่แล้วกับเรื่องราวส่วนตัวของเขา

แม้ Train «Kyiv–War» จะกล่าวถึงสงครามดอนบาสและสังคมยูเครนก่อนวันที่ 24 กุมภา แต่เรื่องราวใน Train «Kyiv–War» ก็ยังคงทำปฏิกิริยาและอธิบายสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ได้อย่างแหลมคม

ก่อนคุยกันเรื่องสารคดี ขอถามหน่อยว่าชีวิตคุณเป็นอย่างไรบ้างหลังจากรัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครนเมื่อฤดูหนาวที่ผ่านมา

สำหรับผมที่มาจากดอนบาส ภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน สงครามไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ถือเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มากสำหรับผมและครอบครัว ผมอาศัยอยู่ที่คีฟแล้วตอนที่สงครามดอนบาสเริ่ม แต่ครอบครัวกับญาติๆ บางคนที่อาศัยอยู่ที่โดเนตสก์ตอนนั้นต้องตัดสินใจย้ายออกมา ผมไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่โดเนตสก์มา 8 ปีแล้ว แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก

ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมาผมรู้สึกเหมือนกำลังรอสงครามใหญ่ คิดมาตลอดว่าสงครามจะต้องเกิดขึ้นสักวัน มันจะไม่จบแค่ที่ไครเมียหรือดอนบาสแต่ๆ เพราะสิ่งที่รัสเซียต้องการทำลายคือเอกราชของยูเครน แต่การบุกโจมตีคีฟและอีกหลายๆ เมืองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจไม่น้อย ที่คาดการณ์กันไว้คือรัสเซียอาจจะใช้ยุทธศาสตร์อื่น เช่นยกระดับการโจมตีในดอนบาสหรือยิงขีปนาวุธใส่คีฟ แต่ปรากฏว่ารัสเซียตัดสินใจยกกองทัพบุกโจมตีคีฟ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะจริงๆ มันยากมากในทางยุทธศาสตร์ที่รัสเซียจะเดินทัพมายูเครนเพื่อยึดเมืองต่างๆ ในยูเครน

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียยึดบางเมืองในยูเครนได้ก็จริง แต่ตอนนี้กองทัพยูเครนก็ปลดปล่อยเมืองหลายเมืองและยึดพื้นที่กลับคืนมาจากกองทัพรัสเซียได้แล้ว เมื่อสามสัปดาห์ก่อนกองทัพยูเครนก็เพิ่งปลดปล่อยเคอร์ซอนที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครนไป พวกเราหวังว่ากองทัพจะสามารถทำให้รัสเซียถอนทัพทั้งหมดออกไปจากประเทศในอนาคตอันใกล้

แต่แน่นอนว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์กับมีนาคมเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับกองทัพ เพราะกองทัพรัสเซียบุกโจมตียูเครนจากหลายทิศ รวมถึงบุกมาที่คีฟด้วย ก็ยากที่จะควบคุมสถานการณ์ให้นิ่งไว้ได้ สำหรับสังคมยูเครนก็ไม่ง่ายเหมือนกันที่จะต้องปรับตัวกับสภาวะสงคราม อธิบายยากเหมือนกันว่าความรู้สึกในช่วงเดือนแรกเป็นอย่างไร ในชีวิตคนเรามันแทบจะไม่มีอะไรเอามาเปรียบเทียบได้ เท่าที่จำได้ก็คงเหมือนฝันร้าย แต่ในขณะเดียวกันที่แน่ๆ อย่างหนึ่งคือ สงครามครั้งนี้ทำให้คนยูเครนเป็นอันหนึ่งกันเดียวกัน มันเป็นความรู้สึกที่วิเศษมาก ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยากลำบากและอันตรายมาก แต่ทุกคนในสังคมก็พร้อมใจร่วมสู้ไปด้วยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางคนตัดสินใจไปเป็นทหาร หรือถ้าไม่ไปเป็นทหารก็ตัดสินใจอยู่ในยูเครนต่อแล้วไปเป็นอาสาสมัคร สปิริตแบบนี้ยังอยู่มาจนถึงตอนนี้

ส่วนช่วงนี้ สถานการณ์หลังจากตุลาคมเป็นต้นมาลำบากมาก เพราะรัสเซียหันไปโจมตีโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน กลายเป็นว่าคุณนั่งอยู่ในเมืองหลวงใจกลางยุโรป แต่กลับไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอดระหว่างวัน ยิ่งตอนนี้เป็นช่วงฤดูหนาว แน่นอนว่าฤดูหนาวยูเครนหนาวมาก ไม่เหมือนที่ไทย แต่ยูเครนจะสู้ต่อและผมหวังว่าเราจะชนะได้ในที่สุด

สำหรับคุณที่มาจากโดเนตสก์ ยูเครนตกอยู่ในสงครามมาแล้ว 8 ปี แต่สำหรับคนยูเครนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นมองเหมือนกันไหม หรือส่วนมากในสังคมยูเครนมองสงครามดอนบาสแค่ว่าเป็นอะไรที่ไกลตัว ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตขนาดนั้น

คุณพูดถูกเลย ประธานาธิบดีโพโรเช็งกา (ประธานาธิบดีสมัยก่อนหน้าเซเลนสกี – ผู้เขียน) จัดการได้ดีมาก ผมว่าประมาณ 90% ของคนยูเครนแทบไม่รู้สึกถึงผลกระทบอะไรจากสงครามดอนบาสเลย ถ้าไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกับดอนบาส ไครเมีย หรือไม่ได้อยู่ในกองทัพ ชีวิตของคุณในคีฟ ลวีฟ คาร์คีฟ หรือในภูมิภาคอื่นๆ แทบจะเป็นปกติสุขเกือบ 100%

สงครามในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาก็มีส่วนพัฒนายูเครนไปมากในหลายๆ ด้าน แต่ในแง่หนึ่งสังคมส่วนใหญ่กว่า 90% ก็ไม่ได้สนใจสงครามดอนบาสมากนักจนถึงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มองแค่ว่าเป็นอะไรที่อยู่ไกลออกไปหรือเป็นแค่ปัญหาภายในดอนบาส ผมว่าคนมองสงครามดอนบาสเป็นเรื่องเล็กน้อยไปหน่อย

อย่างตอนที่ผมหาทุนสร้าง Train «KyivWar» เมื่อ 3 ปีที่แล้วกับตอนที่หาทุนสร้าง Eurodonbas เมื่อประมาณ 1 ปีครึ่งก่อนคือหาทุนยากมาก มีคนพูดกับผมว่า “ประเด็นนี้ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นะถ้าจะทำสารคดีเกี่ยวกับสงคราม เพราะคนไม่ค่อยสนใจ” หรือ “คุณอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อสารคดีใหม่นะ อย่าใส่คำว่าสงคราม อย่าใส่คำว่าดอนบาสในชื่อเรื่อง” ไม่ค่อยมีใครอยากให้ทุนทำสารคดีเกี่ยวกับสงครามในดอนบาสเท่าไหร่ จริงๆ ก่อนหน้านี้ในสังคมเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ความขัดแย้ง’ เสียด้วยซ้ำ สำหรับผมมันฟังดูแย่มาก ความขัดแย้งในดอนบาสเหรอ ยูเครนไม่เคยมีความขัดแย้งในประเทศเสียด้วยซ้ำก่อนรัสเซียจะโจมตีไครเมียกับสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกในปี 2014 บางทีก็ได้ยินมาต่อๆ กันว่ามีคนถามทหารว่ายังมีอะไรทำกันในกองทัพอยู่หรือ

แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งสังคมยูเครนเชื่อมั่นในกองทัพและมองว่าการเป็นทหารนั้นมีเกียรติมาก คนน่าจะเข้าใจแล้วว่าที่รัสเซียเริ่มสงครามไม่ใช่เพราะแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่เป็นเพราะเป็นยูเครน และสถานการณ์ตอนนี้ก็ทำให้คนยูเครนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากจริงๆ

ขอถามอีกหน่อย หลังจากที่รัสเซียเปลี่ยนแผนหันมาโฟกัสกับปฏิบัติการทางทหารในภาคตะวันออก ที่โดเนตสก์เป็นอย่างไรบ้าง ได้คุยกับครอบครัวที่นั่นบ้างไหม

คุณย่ากับคุณป้าผมยังอาศัยอยู่ที่โดเนตสก์ เพราะว่าย้ายออกมาจากที่นั่นได้ยากมากตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อนแล้ว การใช้ชีวิตที่โดเนตสก์ก็จัดว่ายากเลย สถานการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก่อนรัสเซียจะโจมตีเต็มรูปแบบก็ยากลำบากมากขึ้น เพราะรัสเซียตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือยูเครนในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนหมด ถ้าจะคุยกับครอบครัวหรือญาติก็ต้องใช้ Zoom, Telegram หรือ WhatsApp แทน ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับคุณย่าที่อายุ 82 ปีแล้ว ผมสนิทกับคุณย่ามาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ก่อนเกิดสงครามเราโทรคุยกันเกือบทุกวัน เป็นกิจวัตรที่สำคัญมาก สำหรับคุณย่าที่อายุเยอะแล้ว การได้โทรคุยกับผมก็คงเหมือนการได้ใช้ชีวิตผ่านลูกหลาน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าได้คุยกันอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยดี หรือบางครั้งก็ต้องอาศัยสัญญาณจากเพื่อนบ้าน

ส่วนสถานการณ์ที่โดเนตสก์ตอนนี้ถือว่าแย่มาก น้ำประปากับไฟฟ้าใช้ได้แค่วันละชั่วโมงเท่านั้น เป็นอะไรที่พูดยากมากครับ ก่อนสงครามดอนบาส โดเนตสก์เคยเป็นแคว้นที่เจริญมาก มีสนามบินนานาชาติ มีสเตเดียม เคยเป็นถึงเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลยูโรปี 2012 แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าคนที่โดเนตสก์ได้แต่ประคองชีวิตให้รอดไปในแต่ละวันท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก น้ำหายากมาก บางครั้งอาหารก็หายากเพราะในบางพื้นที่อันตราย บริการขนส่งอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปส่งของได้ไม่บ่อย ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้เข้าฤดูหนาวแล้ว อากาศหนาวติดลบ 10-15 องศาแต่ก็ไม่มีไฟฟ้ามากพอจะใช้ฮีตเตอร์ได้ตลอด แต่ญาติๆ ผมก็ยังอยู่ที่โดเนตสก์และเชื่อว่าสงครามคงจะจบเร็วๆ นี้

สารคดียาว 2 เรื่องล่าสุดของคุณอย่าง Train «Kyiv–War» (2020) กับ Eurodonbas (2022) ก็เกี่ยวกับดอนบาสโดยตรง อย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นได้จากงานของคุณคือ มันพยายามทลายและสลายความเชื่อมายาคติเกี่ยวกับอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ยูเครน โดยเฉพาะเกี่ยวกับยูเครนตะวันออกที่ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่นิยมรัสเซีย

ผมได้ไอเดียสร้าง Eurodonbas หลังจากที่ถ่าย Train «Kyiv–War» จบ ระหว่างที่คุยกับผู้โดยสารบนรถไฟ หลายครั้งที่บทสนทนาพาไปสู่จุดที่คุยกันเรื่องความเชื่อมายาคติโปรรัสเซียที่วนเวียนอยู่ในสังคมยูเครน หรือ stereotypes หลายๆ อย่างที่ว่าดอนบาสเป็นภูมิภาคนิยมรัสเซีย นิยมสหภาพโซเวียต เลยตระหนักขึ้นมาได้ว่าปัญหาใหญ่คือคนดอนบาสเองไม่เข้าใจรกรากและประวัติศาสตร์ของตนเอง เพราะแนวเล่าหลักเกี่ยวกับดอนบาสถูกเขียนและควบคุมโดยฝ่ายรัสเซียมาตลอด ผมเองที่โตมาในดอนบาสก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูมิภาคเหมือนกัน ถือว่าเป็นความท้าทายในการพยายามลงไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเกิด

ดอนบาสเป็นภูมิภาคอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กที่สำคัญในยูเครน การปฏิวัติอุตสาหกรรมคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง นั่นทำให้ดอนบาสกลายเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่ง ร่ำรวย มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง คุณภาพชีวิตการกินอยู่ดีแทบไม่ต่างจากเมืองหลวง ในขณะที่ในเมืองขนาดเล็กอื่นๆ อาหารก็ยังหาได้ยากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศในยูเครนและสหภาพโซเวียตต่างย้ายเข้ามาทำงานในดอนบาส อย่างครอบครัวผม จริงๆ แล้วพ่อแม่เป็นคนเจเนอเรชันแรกที่เกิดในโดเนตสก์ ส่วนปู่ย่าตายายย้ายมาจากที่อื่นในยูเครนหรือรัสเซีย

ในหนังสือหรือเรื่องเล่าส่วนมากมักจะบอกไว้ว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากสหภาพโซเวียต ดอนบาสเป็นภูมิภาคที่รวมคนจากทั่วสารทิศจากสหภาพโซเวียตไว้ และสหภาพโซเวียตก็คือผู้บันดาลความเจริญในดอนบาส ประเด็นคือไม่มีใครเขียนอะไรเกี่ยวกับช่วงเวลาก่อนที่โซเวียตจะเข้ามาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เลย เหมือนเป็นหลุมดำทางประวัติศาสตร์ (หัวเราะ) ผมเลยลองหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงก่อนที่สหภาพโซเวียตจะเข้ามาในดอนบาส ปรากฏกว่าเจอเรื่องน่าสนใจเยอะเลย คือดอนบาสในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป็นเขตเศรษฐกิจเสรีภายใต้การปกครองของจักรวรรดิรัสเซียที่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติ ทั้งจากเบลเยียม ฝรั่งเศส เวลส์ เยอรมนี สหรัฐฯ เช่าและลงทุนสร้างอุตสาหกรรมหนักต่างๆ นานกว่า 100 ปี และทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจยุโรปในสมัยนั้น นั่นหมายความว่าดอนบาสมีอดีตที่ cosmopolitan มาก และยุโรปก็เป็นผู้ที่วางรากฐานความเจริญและพัฒนาดอนบาส จากนั้นผมเลยตัดสินใจนำเรื่องราวเหล่านี้มาพัฒนาเป็นสารคดี Eurodonbas ผมพยายามทำออกมาให้ดูง่ายๆ เหมือนสารคดีที่ฉายในทีวี เพราะตั้งใจให้คนยูเครนทั่วๆ ไปเข้าใจเรื่องราวของดอนบาสที่ถูกทำให้ลืมและมายาคติที่รายล้อมเรื่องเล่าเกี่ยวกับดอนบาสมากขึ้น

ที่เซอร์ไพรส์ผมอยู่นิดหน่อยคือมีคนจากหลายประเทศสนใจ Eurodonbas ไม่น้อยเลย คิดว่าน่าจะเป็นเพราะสงคราม เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมาก็มีงานจัดฉาย Eurodonbas ตามเทศกาลภาพยนตร์หรือในงานเสวนามหาวิทยาลัย ทั้งในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี

ใน Train «Kyiv–War» เราก็ได้เห็นการปะทะกันระหว่างชุดเรื่องเล่าผ่านบทสนทนาระหว่างผู้โดยสารเหมือนกัน

Train «Kyiv–War» ส่วนตัวสำหรับผมไม่ใช่แค่เรื่องมายาคติเท่านั้น แต่เป็นเหมือนภาพบันทึกห้วงเวลาและห้วงความคิดของสังคมยูเครนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2019) มากกว่า ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากประธานาธิบดีเซเลนสกีเพิ่งชนะการเลือกตั้ง เราเริ่มถ่ายทำประมาณ 2-3 เดือนหลังจากนั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่สังคมมีความหวังมากว่ารัฐบาลใหม่อาจจะจัดการสถานการณ์ในดอนบาสและไครเมีย และเจรจาหาข้อตกลงกับฝ่ายรัสเซียได้สำเร็จ

แต่แน่นอนว่าหลายบทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องแทบจะเรียกได้ว่าผลิตซ้ำมายาคติและวาทกรรมจาก propaganda ฝ่ายรัสเซียเลยก็จริง แต่ที่สำคัญสำหรับผมคือการที่เราเปิดบทสนทนาเรื่องการเมืองระหว่างคนเห็นต่างได้บนรถไฟ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าความเห็นต่างจะกลายเป็นภัยต่อตัว ทั้งๆ ที่มีสงครามอยู่ทางภาคตะวันออก นี่สะท้อนให้เห็นว่ายูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตย

ส่วนถ้าถามว่าทำไมต้องคุยกันเรื่องสงครามดอนบาสบนรถไฟ นั่นเป็นเพราะว่ารถไฟเป็นเหมือนสะพานระหว่างคีฟและดอนบาสในชีวิตผม ทุกๆ 2 เดือน ผมจะต้องไปที่สถานีกลางคีฟเพื่อไปรับไปส่งญาติและเพื่อนๆ ที่มาหรือกำลังจะกลับไปที่ดอนบาส เพราะฉะนั้น Train «Kyiv–War» เป็นเหมือนปฏิกิริยาระหว่างเรื่องราวของผมกับสถานการณ์ในสังคมยูเครนเมื่อ 3 ปีที่แล้วมากกว่า

อย่างที่เราคุยกัน จะเห็นว่าในผู้โดยสารใน Train «Kyiv–War» มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหากหลายมาก มีทั้งคนที่มีอุดมการณ์สนับสนุนยูเครนและออกความเห็นสนับสนุนรัสเซีย ซึ่งชวนให้ผู้ชมหลายคนคิดว่ารถไฟขบวน ‘คีฟ-สงคราม’ เป็นภาพจำลองของสังคมยูเครนขนาดย่อม แต่ที่จริงแล้วมันสะท้อนห้วงความคิดของสังคมยูเครนในเวลานั้นได้มากน้อยแค่ไหน

อยากให้มองว่าสิ่งที่ฉายให้เห็นใน Train «Kyiv–War» เป็นเหมือนภาพยนตร์มากกว่าที่จะสะท้อนความเป็นจริงในสังคมยูเครน ประเด็นคือ มันอยู่ที่ว่าจะเลือกบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนรถไฟมาตัดต่อในสารคดีอย่างไรมากกว่า

เท่าที่ผมเข้าใจนะ ในความเป็นจริง นับตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 จนถึงก่อนช่วงที่รัสเซียบุกโจมตีในเดือนกุมภาฯ น่าจะมีคนยูเครนทั่วประเทศสักประมาณ 15%-18% ไม่เกิน 20% ที่โปรรัสเซีย ไม่ใช่แค่ในภาคตะวันออกอย่างเดียว ถือว่าก็ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย คนกลุ่มนี้ยังคงโหวตให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สนับสนุนรัสเซียหลังจากการปฏิวัติยูโรไมดานเมื่อปี 2014 การผนวกรวมไครเมีย และหลังเกิดสงครามในดอนบาส คนเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีความเป็นจริงอีกแบบ อาจเป็นได้ทั้งเพราะหวนรำลึกความหลังจากสมัยโซเวียต หรือก็แค่เพราะว่ารักรัสเซียจริงๆ ตอบยากครับว่าเพราะอะไรกันแน่

แต่ถ้าถามในฐานะผู้กำกับและคนสัมภาษณ์ ต้องบอกว่ายากมากที่จะเจอผู้โดยสารบนรถไฟที่ออกความเห็นต่อต้านชาตินิยมยูเครน ผมรู้ว่ามีหลายคนที่มีความเห็นทางการเมืองแบบนั้นแต่ตัดสินใจเงียบไม่ออกความเห็น หรือไม่ค่อยเปิดใจคุยเท่าไหร่ แต่ประเด็นคือความเห็นต่อต้านยูเครนก็คือความเห็น มีคนยูเครนในสังคมคิดแบบนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นความเห็นแบบนี้ต้องมีที่ทางในสารคดีด้วย ผมไม่อยากทำภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติที่ทั้งขบวนรถไฟพูดว่า “Slava Ukraini!” (“ยูเครนจงเจริญ!”) หรอก ถ้าทำสารคดีแบบนี้ในรัสเซียด้วยเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ รถไฟทั้งขบวนต้องมีแต่ความเห็นสนับสนุนรัสเซียแน่ๆ แต่ยูเครนเป็นประเทศประชาธิปไตย จะออกความเห็นต่อต้านชาตินิยมยูเครนหรือจะวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้ แต่ถามว่ารถไฟขบวนคีฟ-สงครามคือภาพแทนของสังคมยูเครนไหม ผมว่าก็ไม่ใช่ 100% เพราะสารคดีก็สร้างผ่านมุมมองของผม

ในสารคดี คุณเล่าว่ามีหลายคนที่ไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับสงครามด้วย คิดว่าเป็นเพราะอะไร

ผมคิดว่ามี 2 แบบ แบบแรกคือ บางคนก็แค่ไม่สนใจสงครามหรือการเมืองจริงๆ อย่างที่ผมเล่าว่าสังคมยูเครนส่วนมากไม่ได้สนใจสงครามดอนบาสจนกระทั่งเมื่อเดือนกุมภาฯ ที่ผ่านมา แบบที่สองคือ คนไม่ค่อยอยากคุยเรื่องการเมืองระหว่างทางจากคีฟไปดอนบาสเท่าไหร่ เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังเดินทางจากพื้นที่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไปยังพื้นที่ยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยึดครองอาจใช้เสียงที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสงครามมาจับคุณก็ได้ โดยเฉพาะถ้าวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดอะไรแย่ๆ เกี่ยวกับรัสเซียหรือฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่ปกครองพื้นที่ยึดครองอยู่ ไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ยึดครอง

เซอร์เก พูดิช (Sergiy Pudich) โปรดิวเซอร์ของ Train «Kyiv–War» เล่าที่งานฉายภาพยนตร์ที่กรุงเทพฯ ว่าคุณต้องนั่งรถไฟไปกลับระหว่างคีฟ-ดอนบาส / ดอนบาส-คีฟหลายรอบมาก อยากรู้ว่าบรรยากาศของรถไฟที่มุ่งหน้าไปดอนบาสกับบรรยากาศของรถไฟที่มุ่งหน้าไปคีฟส่งผลอะไรต่อการคุยกับผู้โดยสารไหม

ตอนนั้นน่าจะถ่ายทำบนรถไฟขบวนเดิมอยู่ประมาณ 20-25 คืนได้ คิดว่าความต่างที่ชัดที่สุดที่เห็นได้คือบรรยากาศบนเส้นทางจากคีฟไปยังดอนบาสจะหนักหน่วงและตึงเครียดกว่า เพราะก่อนรถไฟจะไปถึงคอสเตียนตินิฟกา (สถานีปลายทางของเส้นทางก่อนเข้าสู่เขตสงครามในโดเนตสก์ – ผู้เขียน) ผู้โดยสารในรถไฟจะเริ่มคิดแล้วว่าอีกกี่ชั่วโมงจะต้องเตรียมเอกสาร เตรียมสัมภาระสำหรับผ่านด่านตรวจ บางทีก็กังวลว่าจะต้องใช้เวลาที่ด่านตรวจนานกี่ชั่วโมงกว่าจะผ่านออกไปได้ บางคนก็กังวลว่าจะมีอะไรอันตรายไหมเพราะตรงนั้นใกล้เขตสงครามมาก แต่บรรยากาศบนรถไฟจากดอนบาสไปคีฟจะสบายๆ กว่ามาก เพราะผ่านด่านตรวจมาแล้ว และทุกคนก็รู้ดีว่าทุกๆ วินาที รถไฟกำลังแล่นออกห่างจากสงครามไปสู่เมืองที่ปลอดภัยกว่าอย่างคีฟ เลยคุยกับผู้โดยสารได้ง่ายกว่า เต็มใจจะคุยด้วยมากกว่า

ล่าสุดที่ Train «Kyiv–War» ฉายในไทย ผู้ชมหลายคนรู้สึกเหมือนกันว่าต้องเข้าใจบริบทการเมืองยูเครนอยู่พอสมควรเหมือนกันถึงจะดูสารดคีของคุณสนุก แม้ว่าแมสเสจของสารคดีจะชัดมากก็ตาม

สำหรับผม เป้าหมายหลักในการทำสารคดีคือสำหรับผู้ชมชาวยูเครน แต่ผมเห็นด้วยและเข้าใจมากๆ นะว่า Train «Kyiv–War» เป็นสารคดีที่เข้าใจค่อนข้างยากสำหรับผู้ชมต่างประเทศ บางเรื่องเล่าหรือบทสนทนาบนรถไฟ ถ้าไม่คุ้นกับบริบทการเมืองหรือสังคมยูเครนก็อาจจะไม่เข้าใจเลยว่ากำลังพูดถึงอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น พอสงครามเกิดขึ้น สถานการณ์เปลี่ยนไป ผมเลยให้ความสำคัญมากๆ ว่าจะต้องพยายามอธิบายให้ผู้ชมต่างชาติฟังหรือไปร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในยูเครน หรือเกิดอะไรขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

แต่รวมๆ อย่างที่คุณบอก แมสเสจที่สารคดีต้องการจะสื่อคือ ไม่ว่าคนเราจะต่างกันเพราะความเห็นทางการเมือง ความเห็นต่อสงคราม ต่างกันเพราะเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมที่ต่างกัน หรือต่างกันเพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่ท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ยังเป็นคนยูเครนและต้องอยู่ร่วมประเทศเดียวกันอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าจะจบสงครามดอนบาสลงได้ ต้องไม่เพียงแค่ชนะรัสเซียเท่านั้น แต่เราชาวยูเครนเองต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า propaganda ฝ่ายรัสเซียและการยึดครองพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนทำให้สังคมแตกแยกแบ่งขั้วไม่น้อยเลย แต่คนยูเครนที่เชื่อในรัสเซียสุดท้ายอย่างไรก็ยังเป็นคนยูเครน และการพูดคุยคือหนทางที่จะช่วยให้เราเข้าใจความคิดของกันและกันได้

นั่นคือแมสเสจของสารคดีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ สารคดีไม่ได้ต้องการจะบอกว่าเราชาวยูเครนต้องหันหน้าไปพูดคุยกับคนรัสเซีย เราไม่เคยคุยกันมาก่อนและไม่อยากจะคุยด้วยในอนาคต มันเลยจุดที่เราจะเจรจากันได้แล้ว ผมไม่อยากทำสารคดี Train Kyiv–Moscow แน่ๆ เพราะผมไม่อยากทำความเข้าใจรัสเซียที่บุกมาฆ่าคนยูเครนและทำลายยูเครน มีทางเดียวคือยูเครนจะต้องชนะสงครามเท่านั้น 

แมสเสจของสารคดีอาจจะไม่ได้ตรงกับสถานการณ์เสียทีเดียวหลังจากรัสเซียประกาศรุกรานยูเครน แต่คิดว่าหลังสงครามจบในอนาคต แมสเสจจาก Train «Kyiv–War» จะกลับมาเป็นคำตอบของปัญหาที่สังคมยูเครนจะต้องเผชิญคือ เราจะทำความเข้าใจคนที่เห็นต่างจากเราได้อย่างไร เพราะแน่นอนว่าก็ยังมีคนที่อาศัยในเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลรัสเซียมานานกว่า 8 ปีอย่างไครเมีย หรือในพื้นที่ยึดครองในโดเนตสก์และลูฮานสก์

สมมติว่าคุณถ่ายทำ Train «Kyiv–War» ในปี 2022 อีกครั้ง คุณคิดว่าความคิดเห็นของผู้โดยสารบนรถไฟจะเปลี่ยนไปจากในปี 2019 อย่างไร

เมื่อเดือนเมษาหลังจากสงครามเริ่มไปได้ 2 เดือน เพื่อนร่วมงานผมคนหนึ่งเดินทางไปถ่ายทำสารคดีสั้นเรื่องรถไฟกลางคืนที่ใช้อพยพพลเรือนจากดอนบาสไปที่คีฟ เขาเล่าให้ฟังว่าผู้โดยสารในรถไฟทุกคนมีความเห็นต่อต้านรัสเซียหมด เพราะได้เห็นกับตาแล้วว่ารัสเซียทำอะไรลงไปบ้างในยูเครนตะวันออก และได้เห็นแล้วว่า ‘Russian world’ (Russkiy Mir) จริงๆ เป็นอย่างไร ไม่ได้อยู่แค่ในบางพื้นที่อย่างในปี 2014 อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ผมว่าถ้าสร้าง Train «Kyiv–War» ขึ้นมาอีกครั้ง ผู้โดยสารบนรถไฟเกือบทั้งขบวนน่าจะออกความเห็นต่อต้านรัสเซียหนักมาก เพราะไม่ว่าอย่างไร รัสเซียก็ยืนยันจะเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป

ผมคิดว่ารัสเซียตัดสินใจทำอะไรไม่เข้าท่าหลายอย่างเลย แต่ที่คิดว่าโง่เขลาที่สุดก็น่าจะเป็นการบุกโจมตีและทำลายภาคตะวันออกกับภาคใต้ที่คนที่นั่นไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นศัตรู หรือจริงๆ จะเรียกว่าเป็นภูมิภาคที่โปรรัสเซียที่สุดก็ได้ด้วยซ้ำ แต่พอหลังจากรัสเซียตัดสินใจบุก คนในสองภูมิภาคนี้อยากตัดขาดกับทุกอย่างที่เป็นรัสเซียไปให้หมด และอาจจะกลายเป็นภูมิภาคที่เกลียดรัสเซียที่สุดเสียด้วยซ้ำ อย่างการประชามติลงคะแนนเสียงให้ผนวกโดเนตสก์ ลูฮานสก์ เคอร์ซอน ซาโปริซเซียรวมกับรัสเซียเมื่อเดือนกันยาที่ผ่านมาที่ผลออกมาว่าทั้ง 4 แคว้นเห็นด้วย 99% นี่ไร้สาระมาก ที่ยูเครนเราเล่นมุกกันขำๆ ว่าถ้ารัสเซียจะประกาศผลประชามติว่ามีคนโหวตเห็นด้วย 200% ได้ก็คงทำไปแล้ว แต่ถือว่ารัสเซียก็ยังไนซ์พอที่ประกาศว่ามีคนเห็นด้วยแค่ 99%

ได้ยินมาว่าคนยูเครนหลายคนที่เคยพูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ตอนนี้เปลี่ยนไปพูดภาษายูเครนแทนแล้ว

ใช่ครับ จริงๆ ปรากฏการณ์นี้เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติยูโรไมดานแล้ว ผมว่ายูโรไมดานเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนยูเครนหันมาตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ความเป็นชาติเลยว่าเราเป็นใคร และก็ทำให้คนยูเครน โดยเฉพาะคนรุ่นที่เกิดยุคหลังประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตรู้สึกชัดเจนว่ายูเครนไม่ใช่รัสเซีย อย่างผมเกิดและโตที่ดอนบาสใช่ไหม เกือบตลอดทั้งชีวิตผมพูดภาษารัสเซียมาตลอด แต่หลังจากยูโรไมดานก็ตัดสินใจพูดภาษายูเครนในที่สาธารณะเวลาไปร่วมงานฉายภาพยนตร์หรือให้สัมภาษณ์นักข่าว พอหลังรัสเซียบุกโจมตียูเครนเต็มรูปแบบ ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนไปพูดภาษายูเครนตลอดในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ว่าจะกับเพื่อน คนในคีฟ หรือคนจากยูเครนตะวันออก คนหนุ่มสาวหลายคนที่เคยพูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่มาตลอดชีวิตก็เริ่มไม่อยากพูดภาษารัสเซียแล้วเปลี่ยนมาพูดภาษายูเครนกันหมด หลังเริ่มสงคราม คนหันมาใช้ภาษายูเครนกันอย่างแพร่หลายมากๆ

ขอเล่าว่าจริงๆ ตอนนี้เรามีมุกตลกเสียดสีกันขำๆ ว่า ปูตินคือคนที่ทำให้ยูเครนร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้มากกว่านักการเมืองคนไหนๆ อีก เพราะหลายอย่างที่ปูตินทำลงไปยิ่งทำให้คนยูเครนรู้สึกว่ายูเครนต่างจากรัสเซียในทุกๆ มิติ ภาษาก็เป็นหนึ่งในนั้น

คุณเกิดและโตที่ดอนบาส ตอนที่อยู่ที่นั่นคุณรู้สึกถึงอิทธิพลของรัสเซียมากน้อยขนาดไหน

คำถามน่าสนใจ (นิ่งคิด) สำหรับผมที่เกิดช่วงที่ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต รัสเซียเป็นแค่ประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งเท่านั้นเอง เหมือนกับที่โปแลนด์เป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก เบลารุสที่เป็นเพื่อนบ้านทางเหนือ หรือโรมาเนีย มอลโดวา ญาติที่รัสเซียก็ไม่มี

ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนยูเครนมาตลอดอย่างไม่ต้องตั้งคำถามเลย โอเค ผมพูดรัสเซียเป็นภาษาแม่ก็จริง แต่กว่าครึ่งของคนยูเครนก็พูดภาษารัสเซียเหมือนกัน ถ้าเป็นตอนก่อนสงครามน่ะนะ อิทธิพลรัสเซียในดอนบาสก็รู้สึกถึงได้ก็เหมือนกัน แต่มันไม่เคยได้ผลกับคนรุ่นผมหรือคนรุ่นใหม่เลย เพราะเราไม่มีความทรงจำร่วมจากสมัยสหภาพโซเวียต  สำหรับเรามันเป็นแค่อะไรบางอย่างที่อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง บางอย่างก็เป็นเรื่องขำขันชวนหัวเสียด้วยซ้ำ

แต่แน่นอนว่ามันได้ผลกับคนรุ่นก่อนที่เกิดทันสมัยสหภาพโซเวียต มีความทรงจำสมัยที่รัสเซียและยูเครนเคยเป็นประเทศเดียวกัน และจำมายาคติที่ว่ารัสเซียคือพี่ใหญ่ ยูเครนคือน้องเล็ก การหวนรำลึกความหลังแบบนี้ไม่ใช่แค่ได้ผลกับคนในดอนบาสเท่านั้น แต่ในอีกหลายๆ ภูมิภาคในยูเครนด้วย รัสเซียเองก็ใช้ประโยชน์จากการหวนรำลึกความหลังและความทรงจำที่ยังหลงเหลืออยู่ในยูเครน

คิดว่าหลังยูโรไมดาน รัสเซียเองก็รู้ว่าคนยูเครนในอีก 1-2 รุ่นในอนาคตจะไม่มีความรู้สึกหรือเหลืออะไรยึดโยงกับรัสเซียอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ช่วงเวลานี้น่าจะถือเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับรัสเซียแล้วที่จะยึดและปกครองยูเครนในฐานะรัฐของรัสเซีย หรืออาจสร้างรัฐใหม่ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน-เบลารุส ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ารัสเซียคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆ นี่คือโอกาสสุดท้ายของรัสเซีย

เห็นได้ชัดเลยว่านี่เป็นความไม่ลงรอยเรื่องอัตลักษณ์ ถ้าความเป็นยูเครนไม่ได้เกี่ยวพันกับความเป็นรัสเซียอย่างที่รัสเซียพยายามอ้าง แล้วความเป็นยูเครนเกี่ยวพันกับความเป็นยุโรปแค่ไหน

ส่วนตัวผมคิดว่าความเป็นยูเครนค่อนข้างจะผูกโยงอยู่กับความเป็นยุโรปนะ เพราะเราต้องการเสรีภาพ ประชาธิปไตย และต้องการอยู่กับฝ่ายโลกเสรีไม่ต่างไปจากชาติยุโรปอื่น คิดว่าความเป็นยูเครนกับความเป็นยุโรปไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง

แน่นอนว่าเราเป็นคนยูเครน แต่เราอยากเห็นความเป็นยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นยุโรปด้วย ถือเป็นความท้าทายของยุคสมัยเหมือนกัน ผมมองว่าเราเลือกทางเลือกนี้ตั้งแต่ช่วงปฏิวัติยูโรไมดานแล้วว่ายูเครนจะเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับยุโรป เราไม่อยากเป็นเหมือนรัสเซีย เราไม่อยากเป็นเหมือนเบลารุส คุณน่าจะยังพอจำได้ว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เบลารุสมีประท้วงใหญ่ต่อต้านระบอบเผด็จการของลูกาเช็งกา แต่คนเบลารุสแพ้ เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น? เบลารุสยังเป็นประเทศเอกราชก็จริง แต่ในทางปฏิบัติ เบลารุสกลายเป็นพื้นที่ยึดครองของรัสเซียไปแล้ว แล้วรัสเซียก็ใช้พรมแดนเบลารุสโจมตียูเครน ชายแดนเบลารุสห่างจากคีฟไปแค่ 100 กว่ากิโลเมตรเอง

ส่วนในทางการเมืองหรือทางความมั่นคง ถ้ายูเครนจะอยู่รอดต่อไปในฐานะชาติเอกราช หนทางเดียวคือยูเครนต้องเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปและนาโต ที่ผ่านมายูเครนเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ที่ยากลำบากพอสมควร หากไปดูแผนที่จะเห็นว่าประเทศตั้งอยู่บริเวณที่เป็นกันชนระหว่างยุโรปและรัสเซีย ซึ่งอันตรายมาก บางช่วงเวลาก็เคยมีหลายจักรวรรดิที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปกครอง ซึ่งบางส่วนของยูเครนก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปด้วยในอดีต จะมองว่ายูเครนเป็นประเทศหลังอาณานิคมก็ได้

ผมและคนยูเครนคนอื่นๆ ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่มีเวลามีคนบอกว่าสงครามครั้งนี้เป็น ‘สงครามของปูติน’ มันไม่ใช่สงครามของปูตินคนเดียว แต่เป็นสงครามของรัสเซียต่างหาก ในวันพรุ่งนี้อาจจะมีผู้นำรัสเซียที่เลวร้ายกว่านี้ ก้าวร้าวกว่านี้ รุกรานยูเครนหนักกว่านี้เพราะปูตินพลาดทำรัสเซียแพ้สงครามก็ได้ นี่เป็นคำถามสำคัญต่อการดำรงอยู่ของยูเครนในโลกเลยครับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะประกันความมั่นคงให้ยูเครนจากรัสเซียต่อไปในอนาคตโดยที่ยังรักษาเอกราชได้ดีที่สุดมีแค่สหภาพยุโรปและนาโตเท่านั้น โอเค ยูเครนต้องยอมยกอำนาจการตัดสินใจบางอย่างไปที่สหภาพยุโรปบ้างหากได้เป็นรัฐสมาชิก แต่ประเด็นคือยุโรปอยากร่วมมือกับยูเครน ไม่ได้อยากมายึดยูเครนเหมือนที่รัสเซียทำ

แก่นสำคัญของ Train «Kyiv–War» คือสงครามดอนบาสก็จริง แต่หลังจากรัสเซียบุกโจมตียูเครนจนยกระดับกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบก็มีการนำ Train «Kyiv–War» กลับมาฉายอีกครั้งในงานฉายภาพยนตร์หลายที่ทั่วโลก คิดว่าอะไรคือแมสเสจที่สารคดีมีต่อสงครามที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้

ผมคิดว่าสิ่งที่ Train «Kyiv–War» พยายามจะบอกกับผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมในต่างประเทศคือ สงครามไม่ได้เพิ่งเริ่มในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 แต่มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮานสก์ และสถานการณ์ก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในปีนี้จนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

อีกอย่างคือยูเครนต้องการให้สงครามจบลงและต้องการความช่วยเหลือจากโลก เพราะที่สารคดีสะท้อนภาพให้เห็นออกมาอย่างชัดเจนคือ สงครามส่งผลต่อชีวิตของผู้คน เรื่องเล่าของผู้โดยสารบนรถไฟทำให้เห็นว่าการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาวะสงคราม ซึ่งไม่ได้แค่เกิดมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี แต่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และเป็นเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับยูเครน

ขอเสริมอีกหน่อยว่า สงครามครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของคนยูเครนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย ถ้าโลกและยุโรปอยากให้สงครามจบลง โลกต้องช่วยยูเครน เพราะโลกเราทุกวันนี้เชื่อมต่อและสัมพันธ์กันอย่างมาก เมื่อ 100 ปี หรือ 50 ปีก่อน ถ้ามีสงครามเกิดขึ้นที่หนึ่งในโลก อีกฟากหนึ่งของโลกอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เมื่อเกิดสงครามขึ้นที่หนึ่งในโลก ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปพึ่งพาการส่งออกข้าวสาลีจากยูเครน แต่พอรัสเซียพยายามส่งกองเรือมาปิดทางออกท่าเรือของยูเครนบริเวณทะเลดำจนไม่สามารถส่งออกข้าวสาลีได้ วิกฤตอาหารก็ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้น เพราะฉะนั้น สงครามครั้งนี้เป็นเรื่องของทั้งโลก

นอกจากนี้ Train «Kyiv–War» ยังพยายามเราเตือนอีกว่า ในอนาคตเราต้องจัดการความขัดแย้งก่อนที่มันจะลุกลามบานปลาย

คิดว่าสารคดีทำงานอย่างไรกับสังคมในช่วงเวลาแบบนี้

สารคดีสำคัญกับสังคมในทุกช่วงเวลา แต่แน่นอนว่ามันยิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับสงครามกับรัสเซีย

พูดในมุมคนยูเครนนะครับ สารคดีมีส่วนสำคัญในการบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับสงครามต่อโลก สงครามไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่จริงบนโลกอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นในโลกของข้อมูลข่าวสาร บนโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย รัสเซียเองก็ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการเผยแพร่ propaganda เพราะฉะนั้น ยูเครนต้องสู้กับรัสเซียในพื้นที่ของการรับรู้ข้อมูลด้วย ต้องสู้ด้วยทุกวิถีทางที่จะทำได้

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้เดินทางไปงานฉายภาพยนตร์ที่เยอรมนีและได้คุยกับผู้สร้างภาพยนตร์จากหลายๆ ประเทศ บางคนมีแพลนว่าจะมาทำภาพยนตร์หรือสารคดีที่ยูเครน แต่ผมประทับใจมากที่มีคนบอกว่า “ที่ยูเครนมีผู้กำกับที่มีความสามารถเยอะมากและเข้าใจสงครามได้ดีมากกว่าใคร เพราะฉะนั้น นี่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องฟังเสียงพวกเขา เราไม่อยากเดินทางไปถ่ายทำอะไรสักอย่างที่ยูเครนแล้วพอถ่ายเสร็จก็หนีไปที่ปลอดภัยอย่างเยอรมนีหรือฝรั่งเศสหรอก” ผมดีใจมากที่คนยุโรปเคารพคนสร้างภาพยนตร์หรือนักข่าวยูเครนที่พยายามสื่อสารเรื่องสงครามต่อโลกในช่วงเวลาแบบนี้

ขอถามคุณเหมือนที่คุณถามผู้โดยสารบนรถไฟใน Train «Kyiv–War» บ้าง คุณอยากเห็นสงครามครั้งนี้จบลงแบบไหน

ถ้าไม่พูดถึงฉากทัศน์ว่าสงครามจะจบลงได้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง ผมคิดว่าอย่างไรก็ตามยูเครนจะชนะสงครามครั้งนี้ เพราะรัสเซียไม่มีทางชนะสงครามแล้ว รัสเซียแพ้ไปแล้วในทางการทหาร ความสำเร็จของกองทัพยูเครนในการปลดปล่อยเคอร์ซอนสะท้อนให้เห็นชัดเลย หรือต่อให้รัสเซียจะทำลายยูเครนให้ราบเป็นหน้ากลอง ถล่มด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือจะฆ่าคนยูเครนจนตายให้หมด นั่นก็ไม่ใช่ชัยชนะ เพราะนั่นคือการทำลายล้าง แต่ชัยชนะของยูเครนก็มีราคาที่ต้องจ่ายที่แพงมาก ตอนนี้แทบทุกครอบครัวต้องมีใครสักคนที่อยู่ในกองทัพ มีทั้งทหารและพลเรือนจำนวนมากที่เสียชีวิตไปด้วยน้ำมือของรัสเซีย มือของรัสเซียตอนนี้เปื้อนเลือดมากและจะไม่มีทางล้างออก

สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดคือ มีแต่คนดีๆ ที่ตัดสินใจเข้ากองทัพ จับปืนเพื่อปกป้องประเทศ ปกป้องประชาชนชาวยูเครน และเสรีภาพของพวกเราต้องมาเสียชีวิตจากการไปรบ มันเลวร้ายมากที่ต้องเห็นข้อความบนโซเชียลมีเดียว่ามีคนที่ต้องตายเพราะสงครามทุกวัน ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้น่าจะทำอะไรดีๆ ให้แก่ประเทศได้อีกเยอะถ้าไม่มีสงคราม เราต้องจ่ายไปเพื่อชัยชนะแพงมากจริงๆ

แน่นอนว่าเราอยากเห็นสงครามจบลงเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และตอนนี้ไม่มีใครในยูเครนอยากจะให้รัฐบาลเจรจาหรือประนีประนอมกับรัสเซียอีกต่อไปแล้ว ส่วนตัวผมไม่อยากเห็นข้อเจรจายุติสงครามที่ยูเครนจะต้องยอมแลกดินแดนที่รัสเซียยึดครองได้ทางตะวันออกกับทางใต้ หรือยอมให้รัสเซียจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามชดเชยจากที่รัสเซียปลิดชีวิตคนยูเครนและทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อแลกให้สงครามยุติลง คนยูเครนหลายคนตอนนี้ก็มองว่ายูเครนจะสู้ไม่ถอยและจะสู้กับรัสเซียให้ถึงที่สุด

แต่รัสเซียจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตก็ยากที่จะตอบเหมือนกัน ที่แน่ๆ ผมอยากเห็นรัสเซียเป็นประเทศที่ไม่สามารถครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้อีก และต้องมีกลไกระหว่างประเทศอะไรบางอย่างที่ทำให้รัสเซียไม่สามารถเป็นประเทศที่ก้าวร้าว มีอำนาจ และมีศักยภาพในการรุกรานประเทศอื่นอีกในอนาคต เพราะไม่ได้มีแค่ยูเครนประเทศเดียวเท่านั้น แต่จอร์เจีย มอลโดวาก็เคยโดนรัสเซียโจมตีเหมือนกัน แล้วรัสเซียก็ยังทำสงครามลูกผสม (hybrid war) กับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตในหลายๆ ประเทศอีกด้วย เพราะฉะนั้น ต้องทำให้รัสเซียเลิกเป็นรัฐก้าวร้าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะต้องทำลายระบอบปูตินทิ้ง แล้วให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาจัดการรัสเซียหลังสงครามอย่างที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตเคยเข้ามาจัดการเยอรมนีหลังยุคนาซี และต้องมีกระบวนการจัดการสะสางอดีตเพื่อให้สังคมรัสเซียและคนรัสเซียเข้าใจถึงความผิดที่รัสเซียเคยก่อไว้

มีแพลนจะสร้างสารคดีเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนไหมในอนาคต

ตอนนี้กำลังพัฒนาอยู่โปรเจ็กต์หนึ่ง แต่ก็ยากที่จะเดาเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรหรือได้ลงมือตอนไหน อาจจะหลังสงครามจบ หรือเริ่มระหว่างสงครามยังไม่จบก็ได้ เดายากจริงๆ เพราะอย่างที่เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่หลังตุลาฯ เป็นต้นมาเรามีปัญหาเรื่องไฟฟ้ากับอินเทอร์เน็ต ในวันหนึ่งคุณเปิดแลปท็อปขึ้นมาทำงานได้ไม่ค่อยนานเท่าไหร่หรอก ไม่อยากพูดให้ฟังดูเศร้านะ จริงๆ สถานการณ์ในคีฟรวมๆ ค่อนข้างโอเค มีปัญหาหลักๆ คือเรื่องไฟฟ้านี่แหละ เลยทำให้คิดวางแผนไปในอนาคตยาก

นอกจากนี้ก็เพิ่งมีโปรเจ็กต์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของยูเครนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา รายการชื่อ ‘เราจะสร้างขึ้นมาใหม่’ แต่ละตอนจะเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สนามกีฬา หรืออื่นๆ ที่ถูกทำลายไปในสงคราม น่าจะเริ่มออนแอร์ไปแล้วเมื่อประมาณสองสามสัปดาห์ที่แล้ว

โปรเจ็กต์นี้สำคัญกับผมมาก เพราะได้เดินทางไปในหลายพื้นที่ในยูเครน ได้เห็นกับตาว่าพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครองเป็นอย่างไรและผลกระทบจากสงครามทำให้เมืองเสียหายได้ขนาดไหน

ถ้าสนใจอยากดูสารคดีของคุณจะหาดูจากที่ไหนได้บ้าง

สำหรับ Train «Kyiv–War» กับ 20/20: Deserted Country mockumentary เรื่องแรกของผมสามารถดูได้ที่ Takflix ครับ ไม่ใช่ Netflix นะ แต่เป็น Takflix ‘Tak’ ที่แปลว่า ‘ใช่’ ในภาษายูเครน มันคือสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่รวมภาพยนตร์และสารคดีโดยผู้สร้างและผู้กำกับยูเครนไว้ คนก่อตั้งคือเพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นโปรดิวเซอร์กับผู้จัดฉาย สามารถดูได้จากทั่วโลกเลยครับ อาจจะมีแค่หนัง blockbuster บางเรื่องที่ดูนอกยูเครนไม่ได้ แต่สารคดีคิดว่าดูได้หมดนะ

20/20: Deserted Country สามารถดูได้ฟรีเลย ส่วน Train «Kyiv–War» ราคาน่าจะประมาณ 2 ดอลลาร์กว่าๆ ส่วน Eurodonbas จะนำมาลงในแพลตฟอร์มเร็วๆ นี้ เพราะว่าตอนนี้ยังใหม่อยู่ เพิ่งออกฉายมาได้ไม่นาน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save