fbpx

ยาสมิน ซัตตาร์ และปลายทางของการชุมนุม ‘สตรี-ชีวิต-อิสรภาพ’ ในอิหร่านที่อาจไม่ง่ายนัก

การประท้วงในอิหร่านเริ่มแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังประชาชนลงถนนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ มาห์ซา อามินี หญิงสาวที่ถูกตำรวจศีลธรรมทำร้ายจนเสียชีวิตหลังจับกุมเธอโทษฐานไม่สวมฮิญาบให้ตรงตามที่รัฐบาลกำหนดเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา และรัฐตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงจนถึงเวลานี้ มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมแล้วทั้งสิ้น 326 คน รวมทั้งเด็กและผู้หญิง

การแข่งขันฟุตบอลโลกระหว่างทีมชาติอิหร่านกับอังกฤษ โลกได้เห็นทีมชาติอิหร่านยืนคล้องแขนและปฏิเสธร้องเพลงชาติเพื่อต่อต้านความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะที่ชาวอิหร่านหลายคนที่มาร่วมดูฟุตบอลในสนามที่กรุงการ์ตา ก็สวมเสื้อหรือชูป้ายที่เขียนคำว่า “สตรี, ชีวิต, อิสรภาพ” (Woman, Life, Freedom) อันเป็นคำขวัญหลักของการประท้วงในบ้านเกิด ขณะที่ในอิหร่านเองนั้น สถานการณ์ยังระส่ำระส่ายเมื่อสมาชิกรัฐสภาลงนามถึงศาลยุติธรรม เรียกร้องให้มีการออกโทษประหารชีวิตแก่ผู้ประท้วง

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการประท้วงขึ้นในอิหร่าน ที่ผ่านมามีการชุมนุมหลายต่อหลายครั้ง -ทั้งในระดับใหญ่และเล็ก- ล้วนแล้วแต่ถูกรัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงท่ามกลางการจับตามองของประชาคมโลก

หรือกล่าวกันให้ชัด ภายหลังประท้วงปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ก็แทบไม่มีการประท้วงครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จอีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว การชุมนุมในปี 2022 นี้อาจจะเดินรอยตามการชุมนุมครั้งก่อนๆ ของอิหร่านได้ ตราบใดที่ผู้นำยังกุมอำนาจและยืนกรานจะปราบความเห็นต่างให้ราบด้วยกระสุนปืน 

101 สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงทิศทางการชุมนุมและการเปลี่ยนแปลงของอิหร่าน อะไรที่ทำให้การประท้วงในโลกอาหรับเกิดขึ้นได้ยากและไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และยังจะมีความหวังเรื่อเรืองอยู่ตรงไหนสักแห่งหรือไม่ในสนามการต่อสู้ครั้งนี้

อิหร่านดูจะเป็นประเทศที่มีการประท้วงบ่อยเหมือนกัน ทั้งจากเรื่องปากท้องไปจนถึงเรื่องสิทธิ แต่อะไรที่ทำให้การประท้วงเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ

อิหร่านเป็นประเทศที่มีการประท้วงบ่อยมาก ถ้านับตั้งแต่หลังอาหรับสปริงก็มีการประท้วงครั้งใหญ่ๆ อยู่บ่อยครั้งจนถึงปัจจุบัน 

กรณีของคุณอามินีที่ทำให้ประชาชนลงถนนอีกครั้ง ส่วนหนึ่งสะสมมาจากการประท้วงที่ผ่านๆ มาซึ่งจบด้วยการโดนรัฐบาลปราบปราม อย่างไรก็ตาม การปราบปรามยิ่งทำให้คนที่รู้สึกกับประเด็นเหล่านี้ขยายตัวมากขึ้น คนที่ลงถนนก็ขยายตัวมากขึ้น เมื่อมีการพยายามออกกฎหมายใช้โทษประหารชีวิตกับผู้ชุมนุม ก็ยิ่งทำให้การชุมนุมปะทุขึ้นมาอีกรอบ

หากถามว่าอะไรที่ทำให้การชุมนุมในอิหร่านไม่ค่อยประสบความสำเร็จก็พูดยาก เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งสำรวจว่า ถ้าพิจารณาตั้งแต่อาหรับสปริง (คลื่นปฏิวัติครั้งใหญ่ในโลกอาหรับเมื่อปี 2010) เป็นต้นมา การประท้วงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบมาใช้และไม่ทำให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศส่วนใหญ่ของพื้นที่ตะวันออกกลาง อันที่จริง ถ้าพูดถึงอาหรับสปริง ก็ต้องถามต่อว่าในวันนี้มีประเทศไหนที่ยังแข็งแรงดีอยู่บ้าง ก็จะพบว่ามีอยู่ประเทศเดียวคือที่ตูนีเซีย เพราะในภาพรวม ลิเบียก็มีสงคราม ซีเรียมีสงครามกลางเมือง กล่าวได้ว่าหลังอาหรับสปริงนั้นเกือบทุกประเทศไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่กรณีของตูนีเซียที่ดูได้ผลหน่อยนั้นเป็นเพราะหลังการประท้วงเขาก็เข้าสู่เส้นทางของการพัฒนา เข้าสู่กระบวนการวิถีประชาธิปไตยแม้ว่าจะดูเหมือนก็ยังทุลักทุเลไม่น้อยกับอนาคตภายหลังจากนี้

แต่สำหรับอิหร่านจะพบว่าผู้นำก็อาจเข้าข่ายมีความเป็นเผด็จการ กล่าวคืออิหร่านมีประธานาธิบดีในแง่ของการนำประเทศ และมีผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการเมืองอิหร่าน คือผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีอิทธิพลทางการเมืองตลอดมาหลังการปฏิวัติในปี 1979 ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งยังคงเชื่อมั่นต่อตัวของผู้นำทางจิตวิญญาณ ประกอบกับรัฐบาลก็สามารถคุมกองทัพได้ ทำให้วิธีรับมือต่อการชุมนุมในลักษณะการปราบปรามยังสามารถทำได้ เทียบกันแล้วอาจคล้ายคลึงกับกรณีที่เกิดขึ้นในอียิปต์ คือมีคนที่สนับสนุน อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี (ประธานาธิบดีอียิปต์ เป็นผู้นำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ทำให้เขายังอยู่ในตำแหน่งได้

อีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นนั้นไปแตะประเด็นที่คนอิหร่านกลุ่มใหญ่ที่เป็นเจเนอเรชันใหญ่ของประเทศอาจยังรับไม่ได้กับข้อเสนอที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง คือการไม่ต้องสวมฮิญาบ เพราะคนกลุ่มใหญ่นี้เขาเคยผ่านประสบการณ์การปฏิวัติอิหร่านซึ่งเรียกร้องประเด็นความเป็นอิสลามในแบบชีอะห์มาก่อน จากสภาพของสังคมก่อนหน้าการปฏิวัติที่อาจไม่มีพื้นที่ของศาสนาได้มากนัก

ลักษณะเช่นนี้จะพบได้ที่ซีเรียด้วย แต่ในกรณีซีเรียอาจจะไปไกลกว่าหน่อยเพราะมีต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องจนการประท้วงของประชาชนกลายเป็นสงครามไปในที่สุด ดังนั้น ถ้าถามถึงกรณีการชุมนุมอื่นๆ ในตะวันออกกลางในทศวรรษที่ผ่านมา ก็มักจะลงเอยลักษณะที่อาจไม่เห็นถึงการบรรลุข้อเรียกร้องของการชุมนุมและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนนัก

การเป็นรัฐอิสลาม ถือเป็นลักษณะเฉพาะที่ส่งผลให้การประท้วงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรหรือเปล่า 

ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับความเป็นรัฐอิสลามแบบชีอะห์ของอิหร่าน แต่ก็เกิดคำถามว่าอาจจะมองได้ไหมว่า การประท้วงไม่ใช่หนทางเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง  ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าคือหนทางไหน แต่สำหรับประเทศในตะวันออกกลางเอง การประท้วงอาจไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ในแง่หนึ่งแล้วส่วนใหญ่ของประเทศในแถบตะวันออกกลางก็อาจมีเรื่องธรรมชาติของผู้คนในแถบนั้นด้วย คือเราจะไม่ค่อยเห็นผู้นำของพวกเขาดำรงตำแหน่งในระยะเวลาสั้นๆ และความที่เขาอาจจะมีกันหลายฝักหลายฝ่ายด้วย ทำให้ไม่อาจสร้างพลังต่อรองหรือความเป็นหนึ่งเดียวในการเคลื่อนไหวได้

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้น่าสนใจตรงที่ว่า นำโดยประเด็นว่าด้วยผู้หญิง และมีประเด็นอื่นที่ถูกหยิบมารวมจนเกิดการขยับขยายต่อ แต่ต้องบอกว่ามีการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงในอิหร่านมาโดยตลอดนะ และกลุ่มของพวกเขาก็เข้มแข็ง โดยเฉพาะหลังการปฏิวัติก็มีผู้หญิงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนตลอดเวลา แต่พอไปสู่ขั้นตอนของการเปลี่ยนในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงและความเห็นที่ไม่ตรงกัน กระทั่งกลายเป็นประเด็นถึงตอนนี้ ต้องยอมรับว่าแม้ว่าก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องประเด็นการศึกษา การเลือกตั้ง หรือสิทธิในมิติอื่นๆ ของผู้หญิง ที่ก็มีการถกเถียงกันบ้างแหละแต่ก็อาจจะไม่ได้กลายเป็นประเด็นที่ใหญ่เช่นครั้งนี้

การชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มาเงียบลงไปเองเนื่องจากถูกรัฐกำราบ มองว่าครั้งนี้จะเป็นเหมือนกันไหม

(คิดนาน) ให้มองแบบลองดูเลยแล้วกันนะ คิดว่าคงเหมือนเดิม คืออาจยังมีคนที่มาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมโดยเฉพาะในระดับนโยบายทางการเมืองหรือรัฐบาลที่มีอำนาจในมือได้ไม่มากพอ จึงไม่สามารถดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากเนื้อหาของการชุมนุมครั้งนี้คือผู้ประท้วงเขาต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องการคลุมฮิญาบหรือการแต่งกาย คำถามคือแล้วในรัฐบาลตอนนี้ มีใครที่จะเอาประเด็นนี้เข้าสภาเพื่อไปเปลี่ยนถึงระดับนโยบายได้ ก็ยังไม่เห็นตรงนั้น 

เอบรอฮีม แรอีซี ประธานาธิบดีอิหร่าน เขาก็มีความเป็นอนุรักษนิยม มีข่าวว่าเขาถูกวางตัวว่าอาจจะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณคนต่อไปด้วย การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายจึงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดหวังในเวลานี้เหมือนกัน แต่ในอนาคต ระยะยาวกว่านี้ ถ้าผู้ชุมนุมสามารถมีเครื่องมือต่อรองอื่นๆ ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่เขาหวังได้ แต่สถานการณ์ตอนนี้ เวลานี้ หากดูจากการที่รัฐบาลออกมาตรการประหารชีวิตผู้ชุมนุม เราจึงไม่คิดว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีของฝั่งผู้ชุมนุมสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม หากเราเปลี่ยนคำถามว่าแล้วการประท้วงเหล่านี้มันเปลี่ยนผู้คนได้ไหม อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะเราคิดว่าการเคลื่อนไหวก็เปลี่ยนแปลงวิธีคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอิหร่านด้วยเหมือนกัน รวมทั้งอาจจะเปลี่ยนคนรุ่นเก่าที่เขาเองก็เห็นถึงปัญหาบางอย่างให้แสดงออกถึงประเด็นเหล่านี้มากขึ้น แต่การจะไปให้ไกลกว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนนั้น อาจจะยังยากอยู่

Members of Iranian community living in Poland and supporting Polish people participate in a demonstration in front Representation Office of the European Commission in Warsaw, October 1, 2022, for Mahsa Amini who died in custody of Iran’s morality police. (Photo by Wojtek RADWANSKI / AFP)

ด้านหนึ่งการที่แรอิซีได้เป็นประธานาธิบดี ก็น่าจะยังสะท้อนว่าในอิหร่านก็ยังมีคนที่ขวาจัดอยู่เยอะหรือเปล่า

ใช่เลย เราจึงบอกว่ายังมีคนอิหร่านอีกกลุ่มหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในอิหร่านเชื่อว่าระบบที่เป็นอยู่นี้คือระบบที่ดี เป็นระบบที่ทำให้ความเชื่อทางศาสนา วิธีคิดเชิง way of life ของเขาดำเนินไปต่อได้ เราก็ต้องยอมรับว่ามันคือความคิด ความเชื่อในแบบเขา 

ปัจจัยอะไรทำให้ฝั่งขวาในอิหร่านแข็งแรงขนาดนี้

(คิดนาน) ประการแรกคือฝั่งขวาเติบโตขึ้นมาด้วยความเชื่อแบบหนึ่งที่หล่อหลอมตัวตนและวิธีคิดของพวกเขา ประการต่อมาก็อาจเป็นเพราะตะวันตกเองด้วยหรือเปล่า เพราะถ้ามองในแง่ของการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ทำให้อิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเยอะโดยเฉพาะน้ำมัน กลับไม่อาจเติบโตทางเศรษฐกิจได้เท่าที่ควรจะเป็น ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมิติของการคว่ำบาตร อาจคิดและเชื่อในทางที่ผู้นำประเทศพยายามบอกเขา ว่าอิหร่านเป็นแบบนี้เพราะตะวันตก ถึงขั้นที่พูดกันว่าถ้าคุณเชื่อในความเป็นเสรีนิยม เท่ากับคุณกำลังสนับสนุนตะวันตกอยู่ มันมีวิธีคิดแบบนี้อยู่นะ

ถ้าอย่างนั้น การชุมนุมครั้งนี้ส่งผลต่อฝั่งขวาในอิหร่านอย่างไรบ้าง

เขาอาจจะกังวลมากขึ้นนะ เห็นได้จากการต่อต้านความเป็นเสรีนิยม ต่อต้านตะวันตกซึ่งก็มีเสมอมาอยู่แล้ว รวมทั้งการที่สุดท้ายแล้วผู้นำทางจิตวิญญาณก็ออกมาบอกว่า การชุมนุมครั้งนี้มีชาติตะวันตกมาหนุนหลัง กลุ่มคนที่ขวาจัดมากๆ ก็จะมองว่า นี่ไงล่ะ เขากำลังทำลายอิหร่านที่กำลังเฟื่องฟู จากก่อนเดิมที่มาทำลายเศรษฐกิจ ตอนนี้ยังจะมาทำลายวัฒนธรรม ความเชื่อด้วย เลยทำให้คนกลุ่มหนึ่งพร้อมจะปกป้องความคิดและความเชื่อของเขาต่อไป

รัฐอิสลามในประเทศอื่นๆ ประนีประนอมกับวิธีคิดของโลกเสรีนิยมอย่างไรบ้าง 

ไม่แน่ใจว่าหากจะนิยามคำว่ารัฐอิสลามแล้วจะหมายถึงประเทศไหน แต่หากพูดถึงประเทศที่มีมุสลิมจำนวนมากและอิทธิพลต่อการเมืองในโลกมุสลิมและตะวันออกกลาง อย่างตุรกีและซาอุดิอาระเบียแล้ว ทั้งสองก็มีแนวปฏิบัติที่ต่างกันออกไป

อย่างตุรกีนี่ชัดมากว่ามีการประนีประนอมค่อนข้างสูง คนตุรกีก็มีความหลากหลายในตัวเองทั้งในแง่ชาติพันธุ์ และการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีก็ถูกตั้งด้วยแนวคิดแบบ secular state แยกศาสนากับการเมืองออกจากกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้น ครั้งหนึ่งศาสนาก็ถูกกดลงใต้ดินไปเลยนะ คือไม่เปิดให้คนได้มีสิทธิเสรีภาพแสดงออกและในการดำเนินชีวิตตามศาสนาตามที่เขาตั้งใจ และตุรกีก็ผ่านการทดลองมาหลายวิธี มีการตั้งพรรคการเมืองที่ลงไปแข่งในระบบจนชนะ แต่ก็อยู่ไม่ได้เพราะช่วงหนึ่งถูกทหารกดดันจนต้องลาออก กลุ่มที่มีแนวคิดด้านศาสนาในตุรกีก็มาถอดบทเรียน ต้องหาทางอื่นในการบอกว่าสิทธิในการประกอบพิธีทางศาสนานั้นก็จำเป็นต้องมีในประเทศด้วยเหมือนกัน เกิดการผลักดันประเด็นนี้ขึ้น จนจากที่ก่อนหน้าปี 2002 คนคลุมฮิญาบในที่สาธารณะไม่ได้ ก็กลายเป็นคลุมได้ ซึ่งก็เพิ่งจะมี ส.ส. ในสภาที่คลุมฮิญาบได้เมื่อไม่นานมานี้เอง

อีกประการหนึ่งน่าจะเพราะภูมิประเทศของตุรกีด้วย ตุรกีเป็นประเทศที่ฝั่งหนึ่งอยู่ยุโรป อีกฝั่งอยู่เอเชีย และย่อมส่งผลต่อวิธีคิดคนด้วย มีคนตุรกีที่จบการศึกษาจากยุโรปเยอะ กับอีกส่วนที่ก็มีความคิด-ความเชื่อแบบศาสนานิยม แต่ก็เห็นถึงคนอื่นด้วยเหมือนกัน 

หรือเทียบกับซาอุดิอาระเบียก็เป็นอีกแบบหนึ่ง คือเขาเป็นประเทศที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมมาก แต่พอเจ้าชาย มูฮัมมัด บิน ซัลมาน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นมามีอำนาจ เขาก็มีความคิดความเชื่อบางอย่าง เช่น ต้องการเปลี่ยนประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ก็จะเห็นว่าซาอุดิอาระเบียอยู่ในช่วงการพยายามแสวงหาจุดที่เหมาะสมในการยืนของตนเอง หลายกรณีพอจะเปลี่ยนเลยก็อาจเป็นประเด็นถกเถียงได้ เช่น การให้จัดงานฮัลโลวีนในซาอุดิอาระเบีย ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเนื่องจากซาอุฯ เป็นประเทศที่มีความหมายในเชิงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับมิติทางศาสนาด้วย คือเป็นพื้นที่ที่มีเมืองสำคัญที่เป็นจุดศูนย์รวมด้านจิตใจของมุสลิมอยู่คือมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์ 

ดังนั้น ตะวันออกกลางแต่ละประเทศจึงมีหนทางในแสวงหาจุดยืนท่ามกลางกระแสโลกในเรื่องความเป็นเสรีนิยมที่กำลังดำเนินไปกับความคิดความเชื่อในแบบอิสลามที่หลายสถานการณ์อาจประนีประนอมกันได้ แต่ในหลายสถานการณ์อาจเกิดการปะทะต่อรองกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในบางจุดหากเรื่องความเชื่อทางศาสนาถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังเสียทั้งหมด ก็ไม่แปลกที่จะเกิดกระแสต่อต้านเสรีนิยมขึ้นมา ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือจะมีพื้นที่ให้กับความต่างที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันได้อย่างไร น่าจะเป็นโจทย์สำคัญ

หลายคนวิเคราะห์ว่าการชุมนุมครั้งนี้อาจเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐอิสลาม มองว่าเกิดขึ้นได้จริงไหม และมันจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อมุสลิมมากกว่ากัน

มันไม่ง่ายเลย และต้องบอกว่าการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อโลกมุสลิมเยอะมาก มันจึงมีอิทธิพลในแง่ความคิดเชิงการเมืองสูง การปฏิวัติอิหร่านคือช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนลุกขึ้นมาแล้วบอกว่า เขาไม่โอเคกับการที่คุณเอาคุณค่าความเป็นศาสนาไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ ทั้งยุคนั้นยังมีการด้อยค่าคุณค่าความเป็นศาสนา เขาจึงลุกขึ้นมาเพื่อบอกว่าฉันต้องการคุณค่าศีลธรรมเหล่านี้กลับมา ประเด็นนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นๆ ในเรื่องที่ว่า อย่างน้อยประเด็นเรื่องศาสนาไม่ควรถูกผลักออกจากพื้นที่ทางการเมือง แต่จะอยู่ในแบบไหนนั้นแต่ละประเทศต่างก็มีหนทางของตัวเอง เพราะแต่ละประเทศก็มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่ง เราคิดว่ามันอยู่ที่ชื่อเรียกด้วย อิหร่านอาจจะเรียกตัวเองว่าเป็นรัฐอิสลาม ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นรัฐอิสลาม แต่เขาใช้วิธีคิด วิถีปฏิบัติแบบอิสลาม ปรับใช้ในการดำเนินการทางการเมืองของเขา แต่เขาก็เปิดพื้นที่สำหรับคนอื่นๆ ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนได้ด้วย มันจึงมีการปรับใช้ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น หากว่ารัฐอิสลามสิ้นสุดที่อิหร่านจริง ก็ไม่แน่ใจว่าจะไปสิ้นสุดกับที่อื่นหรือไม่

กับกรณีของอิหร่าน เราอาจจะมองด้วยสายตาแห่งความจริงไปหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ว่ารัฐเริ่มใช้การปราบปรามด้วยความรุนแรงแล้ว มีการพยายามใช้โทษประหารชีวิตด้วย ซึ่งเราคิดว่าถ้ามาทางนี้ สุดท้ายการชุมนุมก็อาจจะจบด้วยการถูกปราบปราม 

ที่กล่าวเช่นนี้อาจเพราะเรามักจะนึกถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในซีเรียด้วย กรณีซีเรียสมัยอาหรับสปริงนี่คนออกมาเยอะมากเพื่อต่อต้านบัชชาร อัลอะซัด (ประธานาธิบดีซีเรีย) ที่เป็นรัฐบาลตอนนี้ ในตอนนั้นก็เกือบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่สุดท้ายก็มีมือที่สามซึ่งคือรัสเซียรวมทั้งอิหร่านเองที่เข้ามาสนับสนุนบัชชาร ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ กลายเป็นสงครามที่ยาวนาน ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้

สำหรับอิหร่านเอง หากเขาเปิดช่องให้มีจุดที่ทำให้ต่างชาติเข้ามาได้ ความขัดแย้งนี้ก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย อาจจะกลายเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ได้เพราะในเวลานี้อิหร่านเขาก็ไปทำสงครามตัวแทนกับประเทศอื่นอยู่เหมือนกัน ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับมหาอำนาจก็ไม่ได้ดีนัก มันจึงมีปัจจัยที่มาหนุนเสริม และทำให้สถานการณ์กลายเป็นการจลาจล (riot) หรือกระทั่งสงครามได้ในอนาคต แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนกรณีซีเรียนักสำหรับกรณีของอิหร่านที่มีศักยภาพในด้านการทหารอยู่ไม่น้อย

ในอิหร่านเอง ตอนนี้ก็ยังมีคนที่ยังอินกับการปฏิวัติอิหร่านหรือภูมิใจกับการเปลี่ยนประเทศจากระบอบที่มีลักษณะกดขี่คนที่เชื่อศาสนาก่อนหน้าการปฏิวัติอยู่มาก แล้วในอิหร่านเองนั้น คนข้างในส่วนใหญ่อยู่ในจุดที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกันกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือยัง อันนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวอาจมองว่าคงยังไม่เกิดในเวลาอันใกล้นี้ 

‘ระบอบที่มีลักษณะกดขี่คนที่เชื่อศาสนาก่อนหน้าการปฏิวัติ’ คือระบอบแบบไหน

เวลาบางประเทศเปิดความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ทำให้หลายครั้งคนที่เขาเชื่อหรือปฏิบัติตนในหนทางของศาสนา ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อไม่ได้ เช่น เขาอาจจะไม่สามารถคลุมฮิญาบได้เพราะจะถูกมองแปลกๆ มันเหมือนการกลับด้านกันกับเวลานี้น่ะ ตุรกีในเวลานึงเองก็เช่นกัน คือมันเกิดภาวะที่ใครก็ตามที่มีอำนาจ เขาก็จะเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความคิดความเชื่อต่างไปจากเขาอีกแบบ คือบีบไม่ให้มีพื้นที่เลย ทำให้เกิดความอัดอั้น ความหวาดกลัวขึ้นมาในสังคม และเกิดการตั้งคำถามว่า ถ้าเราเปิดประเทศเป็นเสรี ดังที่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง สุดท้ายความเสรีนั้นจะย้อนกลับมากระทบตัวเรา อำนาจของเรา หรือคนที่มีความคิดความเชื่อในเชิงศาสนาหรือเปล่า

มันไม่มีทางประนีประนอมตรงกลางเลยหรือ เช่น เสรีของเธอคือการคลุมฮิญาบ เสรีของฉันคือไม่คลุม

มีโอกาสอยู่ แต่ต้องเป็นคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งไปเลย เพราะคนรุ่นหนึ่งเขาถูกปลูกฝัง เขาโตมากับโลกอีกแบบ หรือโลกที่เขาถูกกระทำในภาวะที่คนอีกฝ่ายมีอำนาจ และเมื่อเขามีอำนาจเขาก็เลยคิดว่ามันอาจจะมีบางอย่างที่ยอมได้ และมีบางอย่างที่ยอมไม่ได้ เช่น การอนุญาตให้ไม่ต้องสวมฮิญาบอาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขา คือถ้าเรามองอย่างเข้าใจแบบนี้มันก็ยังพอนึกภาพออกได้

กรณีที่ตุรกีก็เป็นบทเรียนที่ดี ในการพยายามประนีประนอมระหว่างโลกความเป็นตะวันตกกับโลกมุสลิม ก่อนหน้านี้เขาจะเป็นรัฐที่ไม่ยุ่งกับศาสนา (secular state) มาก ยกตัวอย่างเช่นคนใส่ฮิญาบไม่ได้เลย จนเมื่อพรรครัฐบาลปัจจุบันเข้ามา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ก็ให้คนที่อยากใส่ฮิญาบกลับมาใส่ได้ ให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวในการจะปฏิบัติตนตามทางของศาสนา แต่ก็ไม่ได้บังคับให้คนที่เลือกจะไม่ใส่จะต้องถูกทำโทษอะไร แต่ละประเทศจึงมีพัฒนาการของตัวเอง

A lock of hair is seen on a placard during a demonstration in support of Iran protests in the Israeli coastal city of Tel Aviv on October 29, 2022. (Photo by JACK GUEZ / AFP)

มองท่าทีของมหาอำนาจอย่างไร หลังทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน รวมทั้งเดโมแครตก็ไม่ได้สนับสนุนร่างกฎหมายที่รีพับลิกันเสนอให้คว่ำบาตรผู้นำอิหร่าน

ถึงตอนนี้สหรัฐฯ ก็คว่ำบาตรต่อนะ คือสหรัฐฯ ช่วงหนึ่งก็เหมือนกำลังเล็งว่าจะถอนการคว่ำบาตรดีไหม แต่หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว หลายอย่างก็เปลี่ยนไป อิหร่านเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ฝั่งรัสเซียกับจีน มันจึงอาจจะเป็นเรื่องว่า สมมติไม่คว่ำบาตรตอนนี้ ผลลัพธ์นั้นจะส่งผลอย่างไรต่อฐานเสียงของเดโมแครต เพราะฐานเสียงของเขาเองก็ยังมีความคิด ความเชื่อว่าสหรัฐฯ ต้องปกป้องความเป็นเสรีนิยมอยู่ ดังนั้นจึงอาจต้องรอดูต่อไป 

แต่ที่แน่ๆ คือวิธีที่สหรัฐฯ ปฏิบัติต่อโลกมุสลิมเปลี่ยนไป เห็นการประนีประนอมขึ้น เนื่องจากพันธมิตรเดิมอย่างซาอุฯ หันไปทำการค้ากับรัสเซียและจีน สหรัฐฯ เลยพยายามหาสมดุล พยายามสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับโลกมุสลิมมากขึ้น ตุรกีเองแม้เป็นสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ -North Atlantic Treaty Organisation หรือ NATO) แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียและจีน ทั้งยังพยายามเล่นบทบาทในการวางสมดุลอำนาจอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น เมื่ออำนาจขนาดกลางในภูมิภาคเริ่มเปลี่ยน สหรัฐฯ ก็เริ่มปรับตัวเหมือนกัน เห็นได้ชัดๆ คือหนังฮอลลีวูดตอนนี้ ภาพลักษณ์มุสลิมดีขึ้นมา ทั้งที่ช่วงหลังเหตุการณ์ 911 นี่เต็มไปด้วยหนังที่มีตัวร้ายเป็นมุสลิม ตอนนี้มีถึงขั้นมีมิสมาร์เวลที่เป็นมุสลิม 

คิดว่าการเมืองอิหร่านพยายามกันไม่ให้อำนาจต่างชาติเข้ามาแทรกแซงมากน้อยแค่ไหน

ค่อนข้างสูงทีเดียว ด้วยความที่เขาพยายามบอกเสมอว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการชุมนุม แม้สหรัฐฯ จะปฏิเสธเรื่อยมาก็ตาม จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้เพราะมันเป็นทฤษฎีสมคบคิด

ซีเรียนี่ต่างกับอิหร่านอย่างหนึ่งคือ อิหร่านมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ยิ่งตอนนี้ก็มีจีนด้วย หากสหรัฐฯ จะเข้ามาแทรกแซงจริงๆ ก็คงยากอยู่เหมือนกัน คงทำได้ในแบบเดิมคือคว่ำบาตรต่อไป แต่จะเอาอาวุธเข้ามาเหมือนที่ทำในซีเรียนั้น เราว่ายังยากอยู่ เพราะยิ่งมองเรื่องกำลังพลของทหารในอิหร่านเอง เทียบกับซีเรียแล้วกำลังพลเขาก็สูงกว่า ศักยภาพเหล่านี้เลยอาจทำให้สหรัฐฯ แทรกแซงทางการทหารยาก และการพยายามบอกว่าอิหร่านอย่าไปถึงขั้นทำอาวุธนิวเคลียร์นะ แปลว่าแง่หนึ่งสหรัฐฯ ก็รู้ว่า อิหร่านก็มีศักยภาพที่จะทำ มันเลยเป็นโจทย์ที่อาจจะต่างจากบริบทของซีเรีย

มีโอกาสแค่ไหนที่การประท้วงจะบานปลายไปสู่จุดที่รุนแรงและสาหัสกว่า

ไม่อยากมองโลกแง่ร้ายเกินไป แต่ยังมองว่าการประท้วงครั้งนี้น่าจะจบที่การปราบปราม เราอาจจะผิดก็ได้นะ แต่ถ้ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง อันนี้ก็น่าสนใจและจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่มุสลิมประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเรามองในความเป็นจริงที่การชุมนุมจบแค่การถูกปราบปราม อนาคตก็อาจมีการรวมตัวกันใหม่อีกครั้ง และอาจมีคนมาเยอะกว่าเดิมก็ได้

ถึงที่สุดก็อาจต้องกลับไปเรื่องที่ว่า อาจต้องสู้กันในระดับโครงสร้างทางการเมืองที่จะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้ ซึ่งหลายๆ คำถามในโลกสมัยใหม่ตอนนี้ รวมทั้งคำถามที่ว่าจะจัดการประเด็นความเชื่ออย่างไร มันจะไปในทิศทางไหน ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นโจทย์หนึ่งของโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save