fbpx

‘คลื่นสีแดง’ หายไปไหนในการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ 2022?

การเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันแล้วว่าพรรคเดโมแครต (Democrat) ทำได้ดีกว่าการคาดการณ์ชนิดหักปากกาเซียนนักวิเคราะห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก รวมถึงผู้ว่าการรัฐของพรรคหลายคนที่มีแนวโน้มจะเพลี่ยงพล้ำให้กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน (Republican) กลับสามารถรักษาเก้าอี้ของตนเองไว้ได้อย่างฉิวเฉียด ส่งผลให้เดโมแครตยังสามารถรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสมาชิกไว้ได้ และยังมีโอกาสได้เพิ่มอีกหนึ่งที่นั่งหากตัวแทนของพรรคสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบสองในจอร์เจียได้สำเร็จ

จากที่เคยประเมินกันไว้ว่าผลการเลือกตั้งจะนำไปสู่ ‘คลื่นสีแดง’ (red wave) ให้รีพับลิกันสามารถกวาดที่นั่งได้อย่างถล่มทลายในระดับหลายสิบเหนือเดโมแครต และพลิกกลับมาเป็นเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ แต่ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นกลับสูสีกว่าที่คิด และยังต้องรอผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในบางเขตที่ยังนับไม่แล้วเสร็จ ถึงจะได้รู้ว่าดุลแห่งอำนาจในการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงสองปีที่เหลือก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นอย่างไร

แต่อย่างไรเสีย สิ่งแน่ใจได้อย่างเต็มร้อยคือคลื่นสีแดงในการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 แบบที่ผู้นำพรรครีพับลิกันฝันถึงนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

อาถรรพ์การเลือกตั้งมิดเทอม

แทบจะเป็นธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าพรรคที่อยู่ในทำเนียบขาวและเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกจะต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการเลือกตั้งมิดเทอม การเลือกตั้งมิดเทอมครั้งแรกของบารัค โอบามา ในปี 2010 เกิดคลื่นสีแดงครั้งใหญ่เมื่อรีพับลิกันกวาดที่นั่งที่เคยเป็นของเดโมแครตไปได้ถึง 63 ที่นั่ง ส่งให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนมือมาเป็นของรีพับลิกัน ในขณะที่ชะตากรรมของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ต่างกัน ประธานาธิบดีคนที่ 45 จากรีพับลิกันก็ต้องเจอกับ ‘คลื่นสีน้ำเงิน’ (blue wave) บ้างในการเลือกตั้งมิดเทอม 2018 เมื่อเดโมแครตมีที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มมากขึ้นถึง 41 ที่นั่ง และยึดเสียงข้างมากในสภาล่างกลับมาได้

เดโมแครตเข้าสู่สนามการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 ด้วยการครองเสียงข้างมากในทั้งสองสภาคองเกรส รวมถึงยังมีประธานาธิบดีอยู่ในทำเนียบขาว สำหรับในสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งหมด 435 เสียง เดโมแครตมีเสียงข้างมากอยู่ที่ 220 เสียงต่อ 212 เสียงของรีพับลิกัน (ว่าง 3 ที่นั่ง) ส่วนในวุฒิสภา ทั้งสองพรรคใหญ่มีสมาชิกเท่ากันพรรคละ 50 ที่นั่ง แต่ยังถือว่าเดโมแครตยังเป็นเสียงข้างมากเนื่องจาก กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีจะเป็นผู้ตัดสินในกรณีคะแนนโหวตออกมาเท่ากัน

เมื่อเดโมแครตมีเสียงปริ่มน้ำ บวกกับความนิยมที่ตกต่ำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่เหลือเพียงราว 40 เปอร์เซ็นต์และยังเต็มไปด้วยปัญหารุมเร้ารอบด้าน ก็แทบไม่ต้องหวังเลยว่าอีกสองปีที่เหลือจะบริหารได้อย่างใจนึก ยามชายฝั่งจึงเริ่มเห็นคลื่นสีแดงเตรียมเข้าซัดมาแต่ไกล รีพับลิกันดูจะยึดเสียงข้างมากในทั้งสองสภาคองเกรสกลับมาได้ไม่ยาก

เศรษฐกิจ-สิทธิทำแท้ง-ประชาธิปไตย

สถานการณ์ในสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมไม่ค่อยดีนัก โดยในสนามเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้มี 3 ประเด็นร้อนที่กลายมาเป็นวาระทางการเมือง ประเด็นแรกคือสภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อกำลังพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้คนธรรมดาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ประเด็นที่สองคือสิทธิในการทำแท้ง ซึ่งต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อศาลสูงสุดที่นำโดยผู้พิพากษาอนุรักษนิยมมีมติกลับคำตัดสินเดิมที่อยู่มานานนับครึ่งศตวรรษ (Roe v. Wade) และให้สิทธิในการทำแท้งไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป จากนี้ไปรัฐจึงสามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งแบบเด็ดขาดได้เอง และประเด็นสุดท้ายคือสุขภาพของประชาธิปไตย สังคมอเมริกันยังไม่สามารถเดินหน้าไปจากเหตุการณ์ช็อกโลก ‘กบฏ 6 มกรา‘ (January 6 Insurrection) เมื่อผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อหยุดการรับรองผลการเลือกตั้งให้ไบเดนชนะในปี 2020 และยังมีนักการเมืองและผู้สนับสนุนรีพับลิกันอีกจำนวนมากที่เชื่อว่าการเลือกตั้งถูกเดโมแครต ‘ขโมย’

แนวทางการหาเสียงโดยรวมของทั้งสองพรรคเข้าใจได้ไม่ยาก ในขณะที่รีพับลิกันพยายามโจมตีจุดอ่อนของอีกฝ่าย โดยเน้นย้ำสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เดโมแครตก็เลี่ยงที่จะไม่พูดหรือพูดถึงเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด และเปลี่ยนไปย้ำถึงคำสัญญาว่าจะผ่านร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิในการทำแท้ง และชูคุณค่าของประชาธิปไตยที่กำลังโงนเงนอย่างมากในสหรัฐฯ ในคำปราศรัยสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมของไบเดน ประธานาธิบดีพุ่งตรงไปประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ไบเดนเตือนว่าอย่าให้ความสนใจเรื่อง ณ ปัจจุบันมากเท่ากับคุณค่าประชาธิปไตยที่กำลังเป็นสิ่งเดิมพันในการเลือกตั้งมิดเทอมนี้ “ไม่บ่อยนักที่เราต้องเจอกับคำถามว่า คะแนนเสียงของเราจะรักษาประชาธิปไตยไว้ได้หรือไม่ แต่ในปีนี้กลับเป็นเช่นนั้น”

คลื่นสีแดงหายไปไหน?

กระนั้น การเลือกตั้งมิดเทอมในครั้งนี้ไม่ได้ซ้ำรอยอาถรรพ์เสียทีเดียว

ผลการเลือกตั้งสร้างความผิดหวังให้กับรีพับลิกันอย่างมาก นิวยอร์กไทมส์ประเมินว่าในตอนนี้รีพับลิกันจะได้เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วย 224 ที่นั่งจากที่ต้องการ 218 ที่นั่ง จากในทีแรกที่คาดการณ์ว่าคลื่นสีแดงจะพัดพาเสียงให้เพิ่มขึ้นถึง 240 ที่นั่ง ส่วนวุฒิสภานั้นยิ่งน่าผิดหวังยิ่งกว่า ไม่เพียงรีพับลิกันจะทำผลงานได้ต่ำกว่าความคาดหวัง ยังมีโอกาสเสียที่นั่งไปด้วย ชัยชนะในเนวาดาทำให้เดโมแครตสามารถรักษาเสียงข้างมากที่ 50 ที่นั่งได้สำเร็จ และหากคว้าชัยได้อีกในการเลือกตั้งรอบสองในจอร์เจีย ก็จะได้เพิ่มอีกหนึ่งที่นั่งเป็นเครื่องหมายชัยชนะอย่างสมบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ผู้นำพรรคเดโมแครตใจชื้นเหมือนรอดจากสงครามมาได้

คำถามที่สำคัญคือ แนวทางของเดโมแครตที่เน้นหาเสียงโดยใช้เรื่องสิทธิในการทำแท้งและพยายามวาดภาพว่ารีพับลิกันเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ประสบความสำเร็จในการป้องกันคลื่นสีแดงในการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 หรือไม่ คำตอบอย่างกว้างๆ คือทั้งใช่และไม่ใช่

สิ่งที่ต้องพึงตระหนักคือ แนวคิดเรื่อง ‘คลื่น’ มักถูกอธิบายภายใต้บริบทและวาระทางการเมืองในระดับชาติ ราวกับว่าอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวอร์ชิงตันจะกระพือเพื่อมส่งไปถึงชาวอเมริกันอย่างเท่าเทียมกัน จริงอยู่ที่วาระทางการเมืองในระดับชาติเป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิออกเสียงคิดอยู่ในใจเมื่อโหวต แต่น้ำหนักที่ประชาชนจะให้ในแต่ละประเด็นนั้นกลับต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ และการเลือกตั้งมิดเทอมที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นความสำคัญของพื้นที่อย่างชัดเจน

เนต โคห์น (Nate Cohn) ผู้สื่อข่าวจากสำนักนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) เสนอคำอธิบายปรากฏการณ์ด้านพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในรัฐไหนก็ตามที่มีการทำประชามติเรื่องการทำแท้งและผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 รวมถึงใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มากเกินไป ผู้สมัครจากเดโมแครตจะทำผลงานได้ดีกว่าความนิยมของพรรคในระดับชาติ ในขณะที่ในรัฐที่ไม่มีประเด็นเรื่องสิทธิในการทำแท้ง และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันไม่ได้โอบรับทรัมป์แบบเปิดเผยนัก ผู้สมัครจากรีพับลิกันมีแนวโน้มจะทำผลงานได้ดี สอดคล้องกับแนวโน้มและความนิยมของเดโมแครตที่ตกต่ำ

พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ว่าประชาชนจะโหวตสวนพรรคของประธานาธิบดีนั้นยังคงเกิดขึ้น เพียงแต่จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ที่ประเด็นการทำแท้งและประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องร้อนในใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเท่านั้น หากเราไม่มองในภาพระดับชาติ ก็อาจจะยังพบพานคลื่นสีแดงเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ อยู่บ้างในบางพื้นที่ แต่อาจไม่มากเท่าที่หลายคนคาดไว้ในทีแรก

ท่วมท้นให้กับสิทธิในการทำแท้ง

หลังจากคำวินิจฉัยของศาลสูงสุด สิทธิในการทำแท้งก็กลายเป็นเรื่องที่แต่ละรัฐจะตัดสินใจเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ในการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 จึงเป็นโอกาสแรกที่รัฐจะได้ถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับสิทธิในการทำแท้งผ่านการทำประชามติที่จัดควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีทั้งหมดห้ารัฐที่ถามความเห็นของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต่อประเด็นการทำแท้ง ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย เวอร์มอนต์ เคนทักกี้ มิชิแกน และมอนทานา รวมกับอีกหนึ่งรัฐ แคนซัส ที่ทำประชามติไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าคำถามจะต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่ผลการลงคะแนนทั้งหมดต่างเห็นด้วยกับสิทธิในการทำแท้งไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งทั้งสิ้น

สำหรับในรัฐอย่างแคลิฟอร์เนียและเวอร์มอนต์ ความเห็นออกไปในทางเห็นด้วยกับสิทธิในการทำแท้งคงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจนัก เพราะทั้งสองรัฐนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘สีน้ำเงินเข้ม’ และโหวตให้กับผู้สมัครเดโมแครตมาโดยตลอด แต่สำหรับแคนซัสและเคนทักกี้ ซึ่งเป็นฐานของรีพับลิกันอยู่แล้ว รวมถึงมิชิแกนที่ถือเป็น ‘รัฐสีม่วง’ ที่พร้อมจะเปลี่ยนข้างในทุกการเลือกตั้ง การใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อยืนยันสิทธิในการทำแท้งของประชาชนจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลสูงสุดแล้ว การออกมายืนยันสิทธิในการทำแท้งยังมีแนวโน้มส่งผลต่อไปให้ผู้สมัครจากเดโมแครตที่ลงเลือกตั้งในรัฐนั้นได้ประโยชน์ไปด้วย

ในมิชิแกน ซึ่งผ่านประชามติให้บรรจุสิทธิในการทำแท้งไว้ในรัฐธรรมนูญของรัฐได้อย่างถล่มทลาย ตัวแทนจากเดโมแครตสามารถเอาชนะไปได้ในสามสนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าจะสูสี (key race) ในขณะเดียวกัน เกรทเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง หลังจากมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครจากรีพับลิกันไปกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ก่อนการเลือกตั้ง วิตเมอร์เป็นหนึ่งในคนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงว่าอาจจะต้องหลุดจากเก้าอี้ ผู้ว่ารัฐจากพรรคเดโมแครตเคยทะเลาะกับทรัมป์ในสมัยที่ยังเป็นประธานาธิบดีเรื่องนโยบายโควิด และทำให้เธอต้องกลายเป็นดั่งตำบลกระสุนตกของฝ่ายขวา ถึงขั้นที่มีผู้ถูกจับกุมฐานวางแผนจะลักพาตัวเธออีกด้วย

ตาราง 1: ผลกการเลือกตั้งที่ถูกจัดให้เป็นสนามสำคัญ (key race) ในรัฐที่มีการออกเสียงประชามติสิทธิในการทำแท้ง เปรียบเทียบกับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020
*ผลการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 >95% จากการรายงานของนิวยอร์กไทมส์

เมื่อดูผลการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 ในตาราง 1 จะเห็นว่าผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงในสนามการเลือกตั้งสำคัญในสัดส่วนที่มากกว่าที่ไบเดนเคยได้รับในการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 วิตเมอร์ในปี 2022 ได้คะแนนมากกว่าไบเดนเมื่อสองปีก่อน 7.8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตอื่นๆ ก็เอาชนะผู้สมัครจากรีพับลิกันไปได้ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าไบเดนเช่นเดียวกัน แม้ว่าสัดส่วนจะไม่มากเท่ากับคะแนนเสียงที่เห็นด้วยสิทธิในการทำแท้งในมิชิแกน ซึ่งมากกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยถึง 14 เปอร์เซ็นต์

ส่วนในอีกรัฐหนึ่งที่ถือว่าเป็น ‘สีแดง’ อย่างแคนซัส และมีสนามเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐที่สูสีที่สุดในประเทศ ตัวแทนจากเดโมแครตก็เอาชนะไปได้อย่างฉิวเฉียดในรัฐที่โหวตให้กับทรัมป์อย่างท่วมท้นในปี 2020 ด้านผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตสามจากเดโมแครตก็รักษาเก้าอี้ของตนเองไว้ได้เช่นกัน สวนทางกับคะแนนของไบเดนในปี 2020 แถมยังได้คะแนนมากขึ้นจากการเลือกตั้งในสมัยที่แล้วที่เธอชนะไป 10 เปอร์เซ็นต์

หรือทรัมป์จะเริ่มขายไม่ได้แล้ว?

สำหรับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน หากทรัมป์ยอมเอ่ยปากแสดงการสนับสนุน หรือแม้กระทั่งลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียงก็ราวกับได้ยินเสียงของสวรรค์ก็มิปาน แม้ว่าจะออกจากตำแหน่งไปแล้ว อดีตประธานาธิบดีก็ยังมีสาวกอย่างเหนียวแน่น และทรัมป์ก็พยายามใช้อิทธิพลของตนเองในการเลือกคนที่จะมาเป็นผู้สมัครในนามพรรค ในขณะที่ใครที่ไม่แสดงความจงรักภักดีมากพอก็อาจจะถูกทำลายได้โดยง่ายผ่านโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

เนื่องจากผู้สมัครที่สมาทานและศรัทธาในตัวทรัมป์ มักจะถูกตีตราว่าเป็นฝ่ายขวา ‘สุดโต่ง’ และเป็นหน้าใหม่ในการเมือง จำนวนมากยังเป็นผู้ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 ถูกขโมยไปโดยเดโมแครต หรือแม้กระทั่งมีส่วนร่วมในกบฏ 6 มกรา เดโมแครตจึงไม่รอช้าโจมตีผู้สมัครเหล่านี้ว่าจะเป็นภัยต่อประชาธิปไตย เรียกทฤษฎีสมคบคิดว่ามีการโกงเลือกตั้งว่า ‘โกหกคำโต’ (Big Lie) ในขณะที่ผู้นำพรรครีพับลิกันก็เหมือนจะตระหนักดีว่าตัวแทนของพรรคเหล่านี้คือจุดอ่อนสำคัญ มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำรีพับลิกันในวุฒิสภา และหนึ่งในผู้ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพรรคแสดงความกังวลก่อนการเลือกตั้งมิดเทอมว่า ‘คุณภาพของผู้สมัคร’ จะกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้รีพับลิกันไม่สามารถยึดเสียงข้างมากในสภาสูงกลับมาได้

คำทำนายของแมคคอนเนลล์ดูจะกลายเป็นจริง เพนซิลเวเนียเป็นสนามเลือกตั้งที่สำคัญมากสำหรับทั้งสองพรรค โดยมีการต่อสู้หลักคือในสนามผู้ว่าการรัฐและวุฒิสมาชิกที่เก้าอี้ว่างลง เนื่องจากเจ้าของคนเก่าจากรีพับลิกันไม่ลงเลือกตั้งต่อ หากรีพับลิกันสามารถรักษาเก้าอี้ที่ไว้ได้ หนทางสู่การเป็นเสียงข้างมากในสภาสูงก็จะสดใส โดยทรัมป์หมายมั่นปั้นมือว่าจะส่งเมห์เหม็ด ออซ อดีตดาวโทรทัศน์ เข้าลงชิงชัยกับจอห์น เฟตเตอร์แมน รองผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันผู้ซึ่งก่อนการเลือกตั้งไพรมารีไม่นานต้องเจอกับโรคหลอดเลือดสมองและยังคงอยู่ในช่วงฟื้นฟูร่างกาย

ผลการเลือกตั้งเก้าอี้วุฒิสภาชิกเพนซิลเวเนียกลายเป็นพาดหัวข่าวหลังการเลือกตั้งมิดเทอม เฟตเตอร์แมนเอาชนะออซไปได้ 4.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เดโมแครตสามารถพลิกเพนซิลเวเนียจากแดงให้เป็นน้ำเงินได้สำเร็จ อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นว่าเดโมแครตจะสามารถรักษาเสียงข้างมากในสภาสูงไว้ได้ คนที่เสียหน้าที่สุดในเรื่องนี้ก็คงไม่พ้นทรัมป์ เพราะเป็นผู้ที่ประกาศตัวสนับสนุนและช่วยหาเสียงให้กับออซ ถึงกับมีรายงานข่าวว่าทรัมป์โทษภรรยาของตนเองในฐานะผู้มีส่วนในการตัดสินใจเลือกอ๊อซเป็นผู้สมัคร

ภาพของความพ่ายแพ้ของผู้สมัครขวาสุดโต่งยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อดูสนามเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนีย ตัวแทนของรีพับลิกัน ดัก มาสทริอาโน เป็นที่รู้จักมาจากการไลฟ์เฟซบุ๊กจนกลายเป็นหัวหอกสำคัญในพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้งในเพนซิลเวเนีย แน่นอนว่ามาสทริอาโนไม่มีประสบการณ์มาก่อน เป็นหนึ่งในผู้ไม่เชื่อว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งในปี 2020 แถมยังเป็นผู้จัดหารถบัสให้คนไปอาคารรัฐสภาก่อนเกิดเหตุกบฏ 6 มกรา ผู้สมัครเช่นนี้คือภาพในอุดมคติที่เดโมแครตพยายามจะวาดให้รีพับลิกันเป็น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะได้ผล จอช ชาร์ปิโร ตัวแทนจากเดโมแครตเอาชนะมาสทริอาโนได้อย่างขาดลอย คว้าเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียไปได้สำเร็จ

ผลการเลือกตั้งเช่นนี้กลายเป็นตลกร้าย แทนที่การเลือกตั้งมิดเทอมที่ผ่านมาจะเป็นการวัดความนิยมต่อตัวไบเดน แต่เพราะเงาของทรัมป์ยังไม่หายไปไหนในการเมืองสหรัฐฯ ท้ายที่สุดการเลือกตั้งจึงกลายเป็นประชามติต่อตัวทรัมป์ไปด้วย และชาวอเมริกันจำนวนมากก็ตอบแทนด้วยการออกมาใช้สิทธิเพื่อปฏิเสธอดีตประธานาธิบดีและความพยายามทำลายระบอบประชาธิปไตย

ตาราง 2: ดัชนีบ่งชี้แนวโน้มสนับสนุนพรรค (partisan-lean indicator) เปรียบเทียบกับการประเมินผลการเลือกตั้ง ส.ว. ในสนามสำคัญ

538 สื่อที่วิเคราะห์สถิติผลการเลือกตั้ง นำดีชนีบ่งชี้แนวโน้มสนับสนุนพรรค (partisan-lean indicator) ของแต่ละรัฐว่ามีแนวโน้มจะสนับสนุนพรรคใด มาเปรียบเทียบกับการประเมินผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในสนามสำคัญ พบว่าผู้สมัครจากเดโมแครตส่วนใหญ่ทำผลงานได้ดีกว่าดัชนีมาก ในแอริโซนาและนิวแฮมเชียร์ เดโมแครตสามารถรักษาเก้าอี้ไว้สำเร็จ โดยได้คะแนนเสียงมากกว่าดัชนีถึงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั่งในรัฐที่เดโมแครตแพ้รีพับลิกัน ช่องว่างกลับไม่ห่างเท่ากับแนวโน้มของรัฐ โดยมีเพียงไวโอมิงและฟลอริดาเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น ตารางที่ 2 ยิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 สำหรับรีพับลิกันน่าผิดหวังเพียงใด

ปรากฏการณ์แดงเป็นหย่อมๆ

แต่ก็ใช่ว่ารีพับลิกันจะแพ้การเลือกตั้งไปเสียหมด ในพื้นที่ที่เรื่องสิทธิในการทำแท้งไม่ได้เป็นประเด็น และผู้สมัครจากรีพับลิกันพยายามเดินสายกลางและไม่ใกล้ชิดกับทรัมป์มากนัก ยังพบคลื่นสีแดงได้เป็นหย่อมๆ สอดคล้องตามสมมติฐานว่าพรรคที่อยู่ในอำนาจจะต้องแพ้ในการเลือกตั้งมิดเทอม

ในนิวยอร์ก รัฐที่เดโมแครตมักจะครองอำนาจมาโดยตลอด และสิทธิในการทำแท้งได้รับการยอมรับโดยทั่วไปกลับเกิดปรากฏการณ์ตรงข้ามกับเพนซิลเวเนียทั้งที่ทั้งสองรัฐนี้อยู่ติดกัน ผู้สมัครจากรีพับลิกันทำผลงานได้ดีจนน่าประหลาดใจในนิวยอร์ก โดยสามารถกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสนามการเลือกตั้งที่มีการประเมินกันว่าจะสูสีได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งผลการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐก็สูสีกว่าที่คาด ผู้สมัครจากเดโมแครตเอาชนะตัวแทนจากรีพับลิกันไปได้ 5.9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ไบเดนกวาดคะแนนเสียงในรัฐ ‘บิ๊กแอปเปิล’ มากกว่าทรัมป์ในปี 2020 ถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ตัวแทนจากรีพับลิกันถึงกับซื้อโฆษณาเพื่อยืนยันว่าตนจะไม่แก้กฎหมายการทำแท้งในนิวยอร์กเด็ดขาด

โดยรวมแล้ว รีพับลิกันก็ยังชนะมากกว่าแพ้ และจะมีที่นั่งในสภาคองเกรสเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าเทียบกับการประเมินก่อนการเลือกตั้งมิดเทอม เดโมแครตก็คงได้แต่ยิ้มกระหย่องใจใน ‘ชัยชนะบนความพ่ายแพ้’

จอร์เจีย จอร์เจีย จอร์เจีย (อีกแล้ว)

การเมืองสหรัฐฯ ในตอนนี้ คงไม่มีรัฐไหนสำคัญไปกว่าจอร์เจีย ในการเลือกตั้ง 2020 จอร์เจียกลายเป็นจุดสนใจของทั้งประเทศ เนื่องจากผู้สมัครวุฒิสมาชิกของทั้งสองพรรคไม่มีใครได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตามกฎหมายเลือกตั้งของจอร์เจียจึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งรอบสอง ซึ่งผลปรากฏว่าเดโมแครตเอาชนะไปได้ และกลายเป็นที่นั่งสำคัญที่ส่งให้พรรคเป็นเสียงข้างมากในสภาสูงได้สำเร็จ

ในการเลือกตั้งมิดเทอม 2022 ก็เหมือนว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง ราฟาเอล วอร์นอค ผู้สมัครจากเดโมแครตและเจ้าของเก้าอี้เดิม มีคะแนนนำผู้สมัครจากรีพับลิกัน เฮอร์เชล วอร์คเกอร์ แต่ก็ไม่มากพอถึงกึ่งหนึ่ง โดยจะต้องไปตัดสินกันอีกครั้งหนึ่งในคูหาต้นเดือนธันวาคม

แม้จะการันตีแล้วว่าเดโมแครตจะเป็นเสียงข้างมากในวุฒิสภาในอีกสองปีที่เหลือ แต่การมีเพิ่มเป็น 51 เสียงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะจะยิ่งทำให้พรรคได้เปรียบในสัดส่วนของกรรมาธิการและเมื่อมีการลงคะแนนโหวตร่างกฎหมาย

ความน่าสนใจของจอร์เจียไม่อยู่แค่การเลือกตั้งรอบสอง อีกสนามการเลือกตั้งหนึ่งคือผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเป็นการพบกันอีกครั้งหนึ่งระหว่างผู้ท้าชิงจากเดโมแครต สเตซีย์ อับรามส์ ผู้มีชื่อเสียงอย่างมากจากการสร้างฐานแคมเปญรากหญ้า กับไบรอัน เคมป์ เจ้าของเก้าอี้คนปัจจุบันจากรีพับลิกัน ย้อนกลับไปการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 เคมป์มีบทบาทสำคัญในการทัดทานแรงกดดันจากทรัมป์ให้เปลี่ยนผลการเลือกตั้งในจอร์เจีย แล้วประกาศให้ทรัมป์เป็นผู้ชนะแทน หลังจากเหมือนถูกหักหน้า ทรัมป์ก็ผูกจิตผูกใจอาฆาตเคมป์มาก โดยพยายามดันผู้สมัครของตนเองมาแข่งในการเลือกตั้งไพรมารี แต่เคมป์ก็เอาชนะแคนดิเดตของทรัมป์ไปได้อย่างสบายๆ

สำหรับผลการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ ปรากฏว่าเคมป์เอาชนะอับรามส์ไปได้เช่นกัน ในขณะที่ วอล์คเกอร์ ผู้สมัครวุฒิสมาชิกจากพรรคเดียวกันยังไม่สามารถรู้ผลแพ้ชนะกับเดโมแครตได้ หมายความว่ามีชาวจอร์เจียจำนวนมากที่โหวต ‘บัตรสองใบ’ ไม่เหมือนกัน คือใบหนึ่งเลือกเคมป์ แต่อีกใบกลับไปเลือกผู้สมัครจากเดโมแครต ฐานเสียงของเคมป์ก็ยังแข็งแรงแม้จะตกเป็นเป้าโจมตีของทรัมป์และผู้สนับสนุนก็ตาม

ฝ่ายขวายังไม่ตาย เตรียมพบกับ DeFUTURE!

เห็นแบบนี้แล้วก็อย่างเพิ่งด่วนใจคิดว่าอนาคตของฝ่ายขวาและพรรครีพับลิกันกำลังตกต่ำ ต้องอย่าลืมว่ามีผู้สมัครจากรีพับลิกันที่แสดงออกว่าไม่เชื่อในผลการเลือกตั้ง 2020 อย่างน้อย 124 คนที่ชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือผู้ว่าการรัฐ อีกทั้งยังมีอีกหลายเก้าอี้ในระดับรัฐที่ตัวแทนจากรีพับลิกันสามารถเอาชนะไปได้ อีกทั้งหากสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนมือไปอยู่ในการควบคุมของรีพับลิกัน ก็ยังทำให้พรรคยังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในการเมืองสหรัฐฯ ผ่านการตรวจสอบรัฐบาลไบเดน และใช้การผ่านงบประมาณเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง

นอกจากนี้ รีพับลิกันยังประสบความสำเร็จในรัฐฟลอริดาและเท็กซัสอย่างถล่มทลาย โดยเฉพาะในฟลอริดา ผู้ว่าการรัฐจากรีพับลิกัน รอน เดอแซนทิส สามารถรักษาเก้าอี้ของตัวเองไว้ได้ โดยกวาดคะแนนไปได้เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่ทรัมป์เคยชนะในปี 2020 เสียอีก เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะที่แทบจะเปลี่ยนฟลอริดาจากเดิมที่เป็นรัฐสีม่วงให้กลายเป็นรัฐสีแดงไปแล้ว

คำถามต่อจากนี้ของรีพับลิกันคือใครจะเป็นผู้นำทัพคนต่อไปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า ความพ่ายแพ้ในหลายสนามเลือกตั้งของผู้สมัครที่ทรัมป์สนับสนุนไม่ได้สามารถหยุดอดีตประธานาธิบดีจากการประกาศตัวเป็นแคนดิเดตการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เสียงสนับสนุนให้เดอแซนทิสลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีในนามรีพับลิกันเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ หนึ่งในสื่ออนุรักษ์นิยมในเครือของตระกูลเมอร์ดอค พาดหัวให้กับชัยชนะของเดอแซนทิสว่า DeFUTURE

หากทรัมป์ต้องลงแข่งกับเดอแซนทิสจริง การเลือกตั้งไพรมารีครั้งหน้าเพื่อสรรหาตัวแทนพรรคลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024 ก็จะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งหนึ่งของรีพับลิกัน ว่าจะเลือกเดินไปในทางใด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save