fbpx

เก็บตก 4 ประเด็นใหญ่: สหรัฐฯ มองเห็นอะไรจากการประชุมซัมมิตอาเซียน-สหรัฐฯ

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (ASEAN-US Special Summit) ถูกจัดขึ้นท่ามกลางกระแสโรคระบาดที่เริ่มผ่อนคลาย สวนทางกับกระแสการเมืองโลกที่ยังคุกกรุ่นและเต็มไปด้วยประเด็นท้าทาย

ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อุปทูตสหรัฐฯ รักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ได้เปิดบ้านต้อนรับสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก โดยฮีธเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันของอาเซียนและสหรัฐฯ ในการเป็นภูมิภาคที่เสรี รุ่งเรือง เชื่อมต่อกัน และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

“เราต้องร่วมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ร่วมกันจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเคารพเอกภาพ ความเป็นอิสระทางการเมือง และบูรณภาพระหว่างดินแดน”

นอกจากนี้ ฮีธยังได้มีโอกาสตอบคำถามของสื่อมวลชนไทยหลายสำนัก ไล่เรียงตั้งแต่ประเด็นใหญ่ระดับโลกไปจนกระทั่งถึงประเด็นใกล้ตัวอย่างการเมืองไทย ซึ่งอาจเป็นการแสดงแนวโน้มทิศทางต่อไปของการเมืองโลกและการเมืองไทยในยุคที่โควิด-19 เริ่มสร่างซาลง

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ และจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป สหรัฐฯ มองเรื่องที่เกิดขึ้นในยูเครนอย่างไร อะไรคือประเด็นน่าสนใจจากกรอบความร่วมมือใหม่ (IPEF) และสหรัฐฯ มองการเมืองไทยอย่างไรในยุคที่หลายประเด็นยังถูกซุกซ่อนไว้ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็ง นี่คือสารอย่างเป็นทางการที่ ‘พญาอินทรี’ ส่งถึงสังคมไทยผ่านสื่อกลางหลายสำนัก

ที่มาภาพ: สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

1

มองความสัมพันธ์ ‘อาเซียน-สหรัฐฯ’

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศในอาเซียนเป็นอย่างมาก หลายคนมองว่าการประชุมครั้งนี้คือ ‘รูปธรรม’ สำคัญที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลโจ ไบเดน และวอชิงตันจะกลับมาให้ความสำคัญกับอาเซียนอีกครั้ง หลังจากที่มีระยะห่างในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

การกลับมา ‘ปักหมุด’ ในอาเซียนอยู่ในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ และจีนกำลังแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มข้น หลายคนจึงมองว่าการกลับมาของนโยบายด้านอาเซียนของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อต้องการแข่งขันกับจีนเป็นหลัก ทว่าสำหรับฮีธ การกลับมาของสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับใคร แต่มาเพื่อต่อยอดสถานะของสหรัฐฯ ในภูมิภาคที่เข้มแข็งอยู่แล้ว และจะยิ่งเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

“ถ้าลองดูสถิติ คุณจะเห็นว่าเราเป็นนักลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในเศรษฐกิจของอาเซียน บริษัทของเราลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจน เราลงทุนถึง 969 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

ฮีธอธิบายว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก เมื่อมองที่ภูมิภาคนี้ ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยฉันทมติเป็นหลัก ในเงื่อนไขปัจจุบัน สถานการณ์ในพม่าคือประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายกังวลร่วมกัน ในเรื่องนี้ฮีธระบุชัดเจนว่า สหรัฐฯ ยังคงกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าหลังจากเกิดรัฐประหารที่ไม่เป็นธรรมเมื่อปีก่อน อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ สนับสนุนฉันทมติของอาเซียนในการหาหนทางเพื่อแก้ปัญหานี้เช่นกัน

“เราสนับสนุนผู้แทนพิเศษ (special envoy) ของทั้งอาเซียนและสหประชาชาติในการแก้ปัญหาเรื่องพม่า และเราหวังจะเห็นความร่วมมือระหว่างผู้แทนพิเศษทั้งสองท่าน พร้อมกับความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อแก้วิกฤตนี้” ฮีธเน้นย้ำ

2

อ่านสถานการณ์ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ และ ‘สหรัฐฯ-จีน’

หากสถานการณ์ในพม่าเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อพูดถึงอาเซียน สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนก็เป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันเมื่อพูดถึงการเมืองโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่สหรัฐฯ คล้ายจะเรียกร้องให้ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่วางตัวเป็นกลางในเรื่องนี้แสดงท่าทีคว่ำบาตรรัสเซียอย่างชัดเจน

ทว่าในประเด็นนี้ ฮีธระบุอย่างชัดเจนว่า “ผมคิดว่าทุกประเทศมีวิธีการจัดการเป็นของตัวเองในการแก้ปัญหา” อย่างไรก็ดี เขากล่าวเสริมว่า “ถ้อยแถลงการณ์ของเราค่อนข้างชัดเจน การกระทำ (ของรัสเซีย) เป็นการกระทำที่ยั่วยุ ก้าวร้าว เป็นการรุกรานรัฐเอกราชและขัดกับกฎบัตรของสหประชาชาติ (UN Charter) ที่ประชาคมโลกปฏิบัติตาม

“เพราะฉะนั้น ผมจึงคิดว่าทุกประเทศจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลรัสเซียหยุดการรุกรานนี้ และหาวิธีแก้ปัญหาที่สันติและเป็นวิธีทางการทูต”

แม้สถานการณ์ในรัสเซียและยูเครนจะห่างไกลกับอาเซียนในเชิงภูมิศาสตร์ แต่ปรากฏการณ์นี้ได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในกรณีไต้หวันและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ว่าจะลุกลามบานปลายหรือไม่

เมื่อต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ ฮีธย้ำว่าแนวคิดเรื่องสันติและการสร้างความร่วมมือกับจีนยังคงเป็นส่วนสำคัญของนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และจีน “นอกจากโควิด-19 ที่เป็นปัญหาปัจจุบันของเราแล้ว เรายังเห็นปัญหาในอนาคต เช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ได้ด้วยประเทศใดเพียงประเทศเดียว จึงแน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนความร่วมมือและการสื่อสารที่แข็งแกร่งกับจีนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้”

อย่างไรก็ดี ฮีธไม่ได้ปฏิเสธเรื่องคุณค่าที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เขากล่าวอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ และจีนมีหลายความคิดและวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ทั้งในประเด็นสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติกับประชากรเปราะบางหรือการปฏิบัติต่อประเทศอื่นๆ หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด “พวกเรามีความไม่เห็นพ้องต้องกันอย่างมาก (strong disagreement) ในหลายเรื่อง

“แต่เมื่อพูดถึงปัญหาของประชาคมโลก นี่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ (zero-sum game) แต่เป็นอะไรที่พวกเราต้องมาร่วมมือกัน”

ที่มาภาพ: สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

3

‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)’ สู่ความร่วมมือในบริบทของศตวรรษที่ 21

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลังมานี้ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นภูมิภาคที่ ‘เนื้อหอม’ จนอาจกลายเป็นเกมกระดานการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ที่ต่างมาพร้อมกับกลยุทธ์ที่มุ่งช่วงชิงอำนาจนำเหนือพื้นที่ตรงนี้

และหนึ่งในกลยุทธ์ใหม่ล่าสุดคือ ‘กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ที่ไบเดนได้นำเสนอในที่ประชุมซัมมิตเมื่อช่วงกลางพฤษภาคมที่ผ่านมา ทว่าอันที่จริงแล้ว กรอบ IPEF ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 โดยมีนัยสำคัญในการเป็นกรอบความร่วมมือที่จะเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยกรอบความร่วมมือ IPEF ประกอบด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ เสาแรก การอำนวยความสะดวกด้านการค้า (trade facilitation) เสาที่สอง ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain resilience) เสาที่สาม โครงสร้างพื้นฐานและการลดการปล่อยคาร์บอน (infrastructure and decarbonisation) และ เสาที่สี่ ภาษีและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน (taxation and anti-corruption)

อย่างไรก็ดี เมื่อมองเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ประเด็นที่น่าสนใจคือสหรัฐฯ ไม่ได้ตั้งใจจะเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเข้าร่วมกรอบ IPEF แต่ตั้งใจจะเชิญแค่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เข้าร่วม ประเด็นเรื่องกรอบ IPEF จึงกลายเป็นอีกหนึ่งคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในวงสนทนา

“กรอบ IPEF ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และผมคิดว่ามันน่าจะเหมาะสมมากกว่า ถ้าประเทศไทยจะเข้าร่วมเมื่อมีการวางกฎเกณฑ์ (formulated) อะไรมากกว่านี้แล้ว” ฮีธกล่าว “ตอนนี้ เรามีหุ้นส่วนความร่วมมือทั้งหมด 12 ประเทศ และเราจะพยายามจบการอภิปรายเรื่องนี้ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า”

ฮีธเน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่ ‘สนธิสัญญา’ (treaty) แต่เป็น ‘กรอบความร่วมมือ’ (framework) ดังนั้น ทั้ง 4 เสาความร่วมมือจะถูกพัฒนาต่อไป

“หุ้นส่วนความร่วมมือในกรอบ IPEF มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม พวกเขาต้องการห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานที่สะอาด (clean) และการต่อต้านคอร์รัปชันซึ่งจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่เที่ยงธรรม ทั้งนี้ ผมต้องบอกว่าเราไม่ได้ตั้งเกณฑ์อะไรไว้สำหรับการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF แต่เราจะพิจารณาว่าประเทศนั้นๆ สนใจจะเข้าร่วมกรอบนี้จริงๆ หรือไม่ และพวกเขาสามารถที่จะสนับสนุนมาตรฐานต่างๆ ของเราได้ไหม”

อีกประเด็นน่าสนใจหนึ่งที่ฮีธกล่าวถึงคือ กรอบความร่วมมือเป็นไปตามความสมัครใจ (voluntary) ดังนั้น หุ้นส่วนความร่วมมือในกรอบนี้จะสามารถเลือกได้ว่าตนเองจะเข้าร่วมในเสาหลักไหนบ้างตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ

“ผมคิดว่าประเทศไทยจะประยุกต์ใช้ทั้ง 4 เสาหลักได้ดี เพราะพวกเราต่างต้องการมาตรฐานที่คงเส้นคงวาในเรื่องการค้าดิจิทัลและการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเปิดพื้นที่ให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงปีที่กำลังจะมาถึง และเป็นช่วงที่เรากำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดด้วย

“เพราะฉะนั้น เราจึงอยากเน้นเศรษฐกิจที่มีห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น มีความมั่นคงและแข็งแรง แต่ผมต้องบอกก่อนว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ผมหมายถึงไม่จำเป็นต้องแทนที่ห่วงโซ่เดิมที่แต่ละประเทศมีอยู่ แต่ผมคิดว่า หลายๆ บริษัทกำลังมองหาห่วงโซ่อุปทานสำรอง เพราะถ้าห่วงโซ่ถูกดิสรัปต์ เขาก็จะมีทางเลือกอื่น”

นอกจากนี้ ฮีธยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรที่อายุยังน้อยจำนวนมาก (ประชากรประมาณร้อยละ 65 มีอายุต่ำกว่า 35 ปี) ผนวกกับการที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็น ‘เครื่องยนต์หลัก’ (main engine) ที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ที่ดึงดูดบริษัทจำนวนมากให้เข้ามาลงทุน รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีด้วย

“ผมคิดว่าตอนนี้บริษัทด้านเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในระดับโลก พวกเขาลงทุนทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ในสหรัฐฯ เอง เพราะฉะนั้น เราจึงอยากอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ เป็นการค้าการลงทุนสองทาง (two ways) มีห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น พร้อมทั้งรวมเอาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปด้วย ซึ่งประเทศไทยสามารถที่จะเลือกเข้าร่วมเสาหลักใดก็ได้ในนี้

“นี่ไม่ใช่เกมที่ต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่เป็นความพยายามในการสนับสนุนกฎระเบียบนานาชาติที่ตั้งอยู่บนหลักการที่จะให้ประโยชน์แก่พวกเราทุกคน และพูดจริงๆ เลยนะ บางทีเวลาเราพิจารณาเศรษฐกิจโลก เราชอบคิดว่ามันเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่า ตั้งแต่ช่วงสงครามโลก เราเห็นความเจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นทั่วทุกแห่งหนของอารยธรรมมนุษย์และให้ผลประโยชน์กับทุกประเทศในโลก

“เราเห็นมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และจากประสบการณ์ของผมที่เคยทำงานในจีน ผมรู้ว่าคนจีนทำงานหนักแค่ไหน และนักวิทยาศาสตร์ของพวกเขามีความสร้างสรรค์แค่ไหน จนกระทั่งจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) จากการสนับสนุนของสหรัฐฯ และอย่างที่ผมบอกไปแล้ว นี่ไม่ใช่เกมที่ต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่เป็นเกมที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win game) มามากกว่า 7 ทศวรรษแล้ว” ฮีธกล่าว

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายกฎระเบียบของประเทศไทย เพื่อให้พร้อมรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งฮีธมองว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องนี้ ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าประเทศไทยมีคู่แข่งขันมากมายในภูมิภาคนี้ อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างจากในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตของภูมิภาคนี้

“ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าแต่ละประเทศต่างทุ่มเทเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ถ้าเกิดมีบริษัทสักแห่งกำลังมองหาประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ การเข้าถึงท่าเรือและกำลังแรงงานที่มีการศึกษา ผมคิดว่าประเทศไทยมีการเติบโตในปัจจัยเหล่านี้ และนี่คือเหตุผลที่เราเห็นบริษัทเทคโนโลยีหลายแหล่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและคิดถึงการทำให้ไทยเป็นฮับ (hub) ด้านดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

4

ภาพ ‘การเมืองไทย’ ในสายตาพญาอินทรี

เมื่อขยับจากภาพของการเมืองระหว่างประเทศมาที่การเมืองไทย ที่แม้อาจจะยังไม่ได้มีประเด็นแหลมคมเด่นชัดเหมือนอย่างในรอบปีที่ผ่านมา ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายประเด็นในการเมืองไทยยังคงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ซุกซ่อนรอวันปะทุออกมา และหนึ่งในประเด็นนั้นคือความพยายามในการบัญญัติกฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ซึ่งอาจนำไปสู่การลิดรอนเสรีภาพของกลุ่มประชาสังคม NGOs ในประเทศไทย

“ที่ผ่านมา เราเคยหารือกับประเทศไทยเกี่ยวกับจุดยืนในการเคารพสิทธิมนุษยชน และความสำคัญในการยึดถือเรื่องนี้ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ที่พวกเรายึดถือ และสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือสำคัญในเรื่องนี้”

ทั้งนี้ ฮีธกล่าวว่าความพยายามในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงในการประชุมซัมมิตที่ผ่านมา เนื่องจากยังเป็นเพียง ‘ร่าง’ กฎหมายเท่านั้น พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า นี่เป็นเรื่องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและประชาชนไทยในการตัดสินใจ โดยอาจต้องรับฟังความเห็นของ NGOs ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศด้วย

ในตอนท้าย ฮีธยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยของไทยและความต้องการเห็นเสถียรภาพในประเทศไทย

“เราเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในรอบ 9 ปี ผมคิดว่านี่เป็นสัญญาณของความมีเสถียรภาพและความเคารพในกระบวนการประชาธิปไตย”

“ถ้าพูดให้ถึงที่สุด นี่เป็นสัญญาณที่ดูค่อนข้างดีทีเดียว”

ที่มาภาพ: สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save