fbpx

มองผลเลือกตั้งโคลอมเบีย 2022 เมื่อโคลอมเบียเอียงซ้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมากลายเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของโคลอมเบียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของโคลอมเบียเข้าคูหาเลือกตั้ง เลือกกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) นักการเมืองที่มีแนวนโยบายการบริหารประเทศไปทางซ้ายขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โคลอมเบียที่ได้ผู้นำหัวเอียงซ้าย แต่ก่อนที่จะเล่าถึงกุสตาโว เปโตร กระผมอยากย้อนกลับไปเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโคลอมเบียเสียก่อน เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจการเมืองของโคลอมเบียได้ดียิ่งขึ้น

โคลอมเบีย ประเทศที่มีจำนวนประชากรเป็นลำดับ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากบราซิล และเม็กซิโก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาค ถัดจากบราซิล เม็กซิโก และอาร์เจนตินา โคลอมเบียเคยตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาตลอด นับตั้งแต่ซิมอน โบลิวาร์ (Simón Bolívar) หรือที่รู้จักกันในนาม El Libertador ทำสงครามประกาศเอกราชจากการปกครองของพวกสเปนใน ค.ศ. 1810 ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองอยู่เป็นระยะ ระหว่างผู้สนับสนุน 2 พรรคการเมืองสำคัญของโคลอมเบีย คือพรรคอนุรักษนิยม (The Conservative Party) และพรรคเสรีนิยม (The Liberal Party)

สงครามกลางเมืองครั้งที่รุนแรงอันนำไปสู่การสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากได้แก่ ‘สงครามหนึ่งพันวัน’ (The Thousand Days War) ในช่วงระหว่างปี 1899-1902 ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเสรีนิยมล้มตายไปนับแสนคน และส่งผลกระทบทางอ้อมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของโคลอมเบีย อันนำไปสู่การแยกตัวของปานามาออกจากโคลอมเบียในปี 1903 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการขุดคลองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งขณะนั้นดินแดนที่เป็นปานามาในปัจจุบันเป็นของโคลอมเบีย รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของโคลอมเบียในขณะนั้นกำลังบอบช้ำจากสงครามหนึ่งพันวัน ได้ปฏิเสธข้อเสนอขอสัมปทานในการขุดคลองของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกาหนุนหลังผู้นำท้องถิ่นในปานามาให้แยกตัวออกมาจากโคลอมเบีย

เหตุการณ์การนองเลือดครั้งสำคัญที่ยังเป็นที่จดจำของชาวโคลอมเบียในปัจจุบัน คือเหตุการณ์ ‘โบโกตาโซ’ (The Bogotazo) ซึ่งเป็นความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากคอร์เก ไกทัง (Jorge Gaitán) อดีตผู้ว่ากรุงโบโกตา และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสังกัดพรรคเสรีนิยมที่ได้รับการคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้ง ถูกลอบสังหารในวันที่ 9 เมษายน 1948 ทันทีที่ผู้สนับสนุนเขาทราบข่าว ก็ได้ออกไปทำลายข้าวของตามท้องถนน เผาหน่วยงานของรัฐบาล เกิดเป็นการจลาจลนองเลือดใจกลางกรุงโบโกตา ความรุนแรงได้ขยายตัวออกไปทั่วประเทศ นำไปสู่ช่วง 10 ปีของความรุนแรงที่เรียกกันว่า ‘ลาวิโอเลนเซีย’ (La Violencia) ระหว่างปี 1948-1958 มีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 300,000 คนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ขณะที่มีผู้ต้องหนีภัยความรุนแรงทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนไปนับล้านคน

หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนพรรคเสรีนิยมที่ถูกปราบปรามในช่วงลาวิโอเลนเซีย ได้ละทิ้งแนวการต่อสู้แบบประชาธิปไตยเปลี่ยนไปยึดวิถีทางแบบคอมมิวนิสต์ แล้วลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้านรัฐบาล ก็คือมานูเอล มารูลันดา (Manuel Marulanda) เขาได้ก่อตั้ง ‘กองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย’ (The Revolutionary Armed Forces of Colombia – FARC) ในปี 1964 เพื่อทำการโค่นล้มรัฐบาล โดยยึดแนวทางมากซ์-เลนิน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อนับตั้งแต่นั้นมา

กระนั้นความวุ่นวายทางการเมืองก็หาได้หยุดที่คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายไม่ เพราะได้เกิดตัวละครใหม่เข้าร่วมวงโรมรัมพันตูกลายเป็นสงครามกลางเมือง 3 ฝ่ายด้วยกัน จะว่าไปแล้วตัวละครตัวใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเนื้อแท้ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลโคลอมเบียมีส่วนในการก่อกำเนิดขึ้นมา เนื่องจากการที่รัฐบาลกลางไม่สามารถให้ความดูแล ปกป้องพวกพ่อค้า นักธุรกิจ เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ (รวมถึงพ่อค้ายาเสพติด) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกกองกำลังฝ่ายซ้ายเรียกเก็บค่าคุ้มครอง ไม่ก็ถูกลักพาตัวเพื่อไปเรียกค่าไถ่ ตามแนวความคิดเรื่องภาษีการปฏิวัติ (revolutionary tax) ของพวกฝ่ายซ้ายที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในการที่จะกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยจากคนรวยไปสู่คนจน (คล้ายๆ กับโรบินฮูด ในประวัติศาสตร์บอกเล่าของอังกฤษ) ในเมื่อรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้จัดสร้างกองทหารส่วนตัวขึ้นมา เพื่อดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของตัวเองและครอบครัว จากการตกเป็นเหยื่อของพวกกองกำลังฝ่ายซ้าย ขณะที่รัฐบาลเองก็ให้การสนับสนุน เนื่องจากต่างก็มีศัตรูร่วมกัน โดยรัฐบาลคอยป้อนข้อมูลข่าวสารทางการทหาร รวมทั้งอำนวยความสะดวกในเรื่องการจัดหาอาวุธ

กองกำลังกึ่งทหาร (the paramilitary groups) นี้ค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะนับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980s อันเนื่องมาจากพวกนี้ได้หันไปเป็นผู้ค้ายาเสพติดเสียเอง จนรัฐบาลโคลอมเบียเองก็ควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้กองกำลังกึ่งทหารยังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยการสังหารและทรมานประชาชนที่ถูกสงสัยว่าเห็นอกเห็นใจหรือเข้าข้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือผู้ที่ไม่ยอมยกที่ดินให้เพื่อใช้ในการปลูกต้นโคคาซึ่งเป็นพืชที่ใช้ผลิตโคเคน โคลอมเบียถือว่าเป็นประเทศที่มีปัญหาผู้อพยพย้ายถิ่นภายในประเทศอันเนื่องมาจากปัญหาสงครามกลางเมือง (Forced Internal Displacement) สูงสุดเป็นลำดับ 2 ของโลกรองจากซูดาน กองกำลังกึ่งทหารนี้ได้ร่วมมือกันจัดตั้งเป็นศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบีย (The United Self-Defense of Colombia – AUC) ในเดือนเมษายน 1997 ภายใต้การนำของคาร์ลอส คาสตานโย (Carlos Castaño)

จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ซับซ้อน ทำให้โคลอมเบียถูกมองว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state) ในสมัยของประธานาธิบดีแอนเดรส พาสตรานา (Andrés Pastrana) ระหว่างปี 1998-2002 พื้นที่ซึ่งมีขนาดเท่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ถูกยกให้กับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียในระหว่างเจรจาหยุดยิง ขณะที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยาเสพติดโดยศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบีย ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ประชาชนเบื่อหน่ายกับนโยบายของพาสตรานาที่เน้นแต่การเจรจา แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นความเข้มแข็งที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนอกกฎหมายทั้ง 2 กลุ่ม

เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2002 ประชาชนจึงเทคะแนนเสียงเลือกอัลวาโร อูริเบ (Álvaro Uribe) ผู้สมัครอิสระที่มาพร้อมกับนโยบายประชาธิปไตยเพื่อความเข้มแข็งปลอดภัยของประชาชน (democratic security) เขามีความมุ่งมั่นและใช้นโยบายอย่างแข็งกร้าวในการปราบปรามกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเฉพาะกับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย (บิดาของเขาถูกฆ่าโดยกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียระหว่างโดนจับตัวเรียกค่าไถ่) เขาพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลสามารถที่จะคุ้มครองและดูแลความสงบสุขให้กับประชาชนได้ ซึ่งนโยบายของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการฟื้นฟูความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้กับสังคมโคลอมเบียอย่างที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนในอดีตทำได้มาก่อน ขณะเดียวกันความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาก็มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ 9/11 เงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แพลนโคลอมเบีย (Plan Colombia) ที่เดิมมีเป้าหมายใช้ในการปราบปรามปัญหายาเสพติดเท่านั้น ได้ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงปัญหาการก่อการร้ายด้วย กองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียได้ถูกปราบปรามอย่างหนัก ขณะที่ศูนย์กลางกองกำลังป้องกันตนเองแห่งโคลอมเบียได้ยอมวางอาวุธ เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดี

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ประชาชนลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญอนุญาตให้อูริเบสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ติดต่อกันได้ในปี 2006[1] เขาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และด้วยความนิยมในตัวอูริเบที่อยู่ในระดับสูงตลอดช่วง 4 ปีในการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 ของเขา ทำให้เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2010 แต่แล้วความฝันของเขาและผู้สนับสนุนก็พังทลาย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลงมติไม่อนุญาตให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เปิดโอกาสให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฮวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ซึ่งถือเป็นมือขวาของอูริเบ ลงสมัคร และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ถึงแม้ว่าการบริหารประเทศของซานโตสจะเน้นสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนตามแนวทาง democratic security ของอดีตประธานาธิบดีอูริเบ แต่ทางด้านการต่างประเทศ เขาได้สร้างความประหลาดใจให้ผู้ที่ติดตามการเมืองของโคลอมเบียเป็นอย่างยิ่ง เพราะในช่วงที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของอูริเบนั้น เขามีนโยบายที่แข็งกร้าวในการปรามปรามกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย อันนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) และเอกวาดอร์ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย (Rafael Correa) เนื่องจากกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียได้หนีเข้าไปอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดต่อกับทั้ง 2 ประเทศ กองทัพโคลอมเบียได้ติดตามเข้าไปทำลายฐานที่มั่นของกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย อันนำไปสู่การละเมิดอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน จนเกือบนำไปสู่สงครามหลายครั้ง แต่เมื่อซานโตสได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้ง 2 ประเทศจนเข้าสู่ระดับปกติ คงไม่มีใครคาดคิดว่าอดีตผู้นำฝีปากกล้าของเวเนซุเอลาอย่างชาเวซ จะออกมาพูดจาชื่นชมซานโตสอย่างออกนอกหน้า ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรนี้ส่งผลดีต่อโคลอมเบียในการที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดการปัญหากองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย และส่งเสริมการค้าตามพรมแดนโดยเฉพาะระหว่างโคลอมเบียและเวเนซุเอลา เนื่องจากเวเนซุเอลานำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคจากโคลอมเบียสูงมาก ขณะที่โคลอมเบียก็ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากเวเนซุเอลาเช่นเดียวกัน

โคลอมเบียและสหรัฐอเมริกายังคงรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกัน ในสมัยประธานาธิบดีซานโตส โคลอมเบียถือได้ว่าเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคลาตินอเมริกา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคมีรัฐบาลที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Pink Tide (Turn to Left หรือเปลี่ยนเป็นซ้าย)[2] ความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารภายใต้แพลนโคลอมเบีย ยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อการจัดการปัญหาภายในของโคลอมเบีย แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้นำเอาประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและการคอร์รัปชันของพวกพ้องของอูริเบ เข้ามาเป็นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐบาลของซานโตสจัดการ ก่อนที่รัฐสภาอเมริกันจะอนุมัติในการต่อสัญญาความช่วยเหลือ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (free trade agreement) ระหว่าง 2 ประเทศที่ได้ลงนามไปในสมัยรัฐบาลของซานโดส

ความนิยมในตัวซานโตส ทำให้ประชาชนตัดสินใจลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มบทเฉพาะกาลให้ซานโตสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ยากเย็นนัก ต่อมาเขายังสามารถเจรจาสันติภาพกับกองกำลังปฏิวัติแห่งโคลอมเบียได้สำเร็จ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2016 และยังถือเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในลาตินอเมริกา ซึ่งกินเวลาถึง 52 ปี กว่าจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้

แต่ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ อีวาน ดูเก มาร์เกรซ (Iván Duque Márquez) ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2018-2022 กลับมีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาสันติภาพที่ซานโตสทำไว้ก่อนหน้านั้นเท่าไหร่นัก และยังมีการใช้กองทัพในการปราบปรามกลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายที่เหลืออยู่อย่างรุนแรง ทำให้เขาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน ดังนั้นในวันที่ 19 มิถุนายน ประชาชนจึงเทคะแนนเสียงให้กับ กุสตาโว เปโตร รวมทั้งยังเลือกรองประธานาธิบดีที่สนับสนุนเปโตรด้วย คือฟรานเซีย มาร์เกรซ (Francia Márquez) ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

เปโตรชนะคู่แข่งของเขาในการเลือกตั้งรอบ 2 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 50.50 โดยคู่แข่งขันของเขาคือโรดอลโฟ เฮอร์นานเดซ (Rodolfo Hernández) มหาเศรษฐีที่ลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งมีนโยบายหลักในการต่อต้านการคอร์รัปชัน นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของโคลอมเบีย ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนโคลอมเบียต้องการการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มีแต่รัฐบาลที่เอียงขวาหรือขวาตกขอบเท่านั้น

สำหรับประวัติของเปโตรนั้น ปัจจุบันเขามีอายุ 62 ปี เคยเป็นสมาชิกกองกำลังฝ่ายซ้าย M-19 ที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสกปรกในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970s โดยกองกำลังฝ่ายซ้าย M-19 นี้มีนโยบายต่อต้านความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่สูงมากในโคลอมเบีย ต่อมาในปี 1985 M-19 ได้บุกยึดศาลฎีกาในกรุงโบโกตา เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีในขณะนั้นลาออก และเข้ารับการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรม แต่รัฐบาลโคลอมเบียในขณะนั้นตอบโต้อย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน

เปโตรเข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายซ้าย M-19 ตั้งแต่เขาอายุได้ 17 ปี และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่เป็นเวลาถึง 10 ปี ในระหว่างนั้น เขาเคยถูกจับขังคุกเป็นระยะเวลาเกือบปีในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังฝ่ายซ้ายดังกล่าว ทั้งยังถูกทรมานในระหว่างการคุมขัง แต่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์บุกยึดศาลฎีกาในปี 1985 เพราะในขณะนั้นเขาถูกควบคุมตัวอยู่ หลังได้รับอิสรภาพ เขาก็เข้าสู่แวดวงการเมือง เคยเป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงผู้ว่ากรุงโบโกตาอีกด้วย จนกระทั่งตัดสินใจลงสู้ศึกประธานาธิบดี ด้วยความพยายาม 3 ครั้ง จนคว้าชัยชนะได้ในครั้งหลังสุด

เปโตรหาเสียงโดยเน้นเรื่องการต่อต้านความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำของโคลอมเบียที่ประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งยังตกอยู่ในกับดักความยากจนอยู่ ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเพิ่มภาษีที่ดินที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และยังต้องการผลักดันให้มีการศึกษาฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา เขายังสัญญาด้วยว่าจะหาแนวทางใหม่ๆ ในการต่อสู้กับสงครามยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงอย่างประธานาธิบดีคนก่อนหน้าอย่างดูเกทำมาตลอด นอกจากนั้นเขายังมีนโยบายที่จะจูงใจให้เกษตรกรที่ปลูกโคคา หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน เพราะปัจจุบันโคลอมเบียเป็นผู้ผลิตโคเคนรายใหญ่ที่สุดของโลก ยิ่งไปกว่านั้น เขายังมีแนวนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยลดการบุกเบิกพื้นที่เพื่อแสวงหาแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติลง ทั้งที่น้ำมันปิโตรเลียมถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญลำดับต้นๆ ของโคลอมเบียและเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลมาโดยตลอด

ส่วนทางด้านรองประธานาธิบดีอย่างฟรานเซีย มาร์เกรซนั้น เธอมาจากครอบครัวชนชั้นล่าง โดยผ่านการเป็นคนรับใช้มาก่อน การได้รับการเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีของเธอได้จุดประกายความหวังให้กับคนโคลอมเบียว่า ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร ก็ยังมีโอกาสในการไต่เต้าทางการเมืองได้ ตรงข้ามกับที่เป็นมาในอดีตที่ตำแหน่งทางการเมืองถูกสงวนไว้ให้กับคนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น นอกจากนั้นมาร์เกรซยังเคยเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยในปี 2014 เธอเป็นผู้นำผู้หญิงกว่า 80 คนเดินเท้ากว่า 560 กิโลเมตรจากบ้านเกิดของตนเองมายังเมืองหลวง เพื่อรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองทองผิดกฎหมาย ส่งผลให้ในเวลาต่อมา รัฐบาลโคลอมเบียประกาศยกเลิกการทำเหมืองทองผิดกฎหมายทั่วประเทศ และทำให้มาร์เกรซได้รับรางวัลนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่นในเวลาต่อมา

พื้นเพและภูมิหลังของมาร์เกรซเองส่งผลให้ตัวเธอเปรียบเสมือนสะพานเชื่อมต่อให้คนที่อยู่ล่างสุดในสังคมโคลอมเบีย มีโอกาสไต่เต้าขึ้นมาต่อสู้กับความยากจนข้นแค้นที่ติดตัวมาแต่เกิดได้ ซึ่งก็ถือว่ามาร์เกรซได้ช่วยให้เปโตรได้รับคะแนนเสียงจากคนเหล่านี้อีกด้วย

ชัยชนะของเปโตรและมาร์เกรซเปรียบเสมือนชัยชนะของคนที่ถูกลืมหรือไม่มีโอกาสจำนวนมากในสังคมโคลอมเบีย พวกเขาใช้เวลากว่า 200 ปี กว่าจะได้ผู้นำประเทศที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขา แน่นอนว่าทั้งคู่จะต้องเผชิญกับความยากลำบากไม่น้อยในการบริหารประเทศเพื่อให้สำเร็จตามความฝันของเขาทั้งสอง แต่อย่างน้อยทั้งคู่ก็ได้เปิดประตูแห่งความหวังให้กับคนโคลอมเบียทั้งประเทศให้ได้เปล่งเสียงความต้องการของเขาออกมา เราคงต้องเฝ้าติดตามดูการเมืองของโคลอมเบียภายใต้การนำของทั้งสองว่าจะมีสีสันเพียงใด พวกเขาจะทำสำเร็จในสิ่งที่สัญญาไว้หรือไม่

นับแต่นี้ไปการเมืองของโคลอมเบียคงเป็นที่น่าติดตามอย่างมากในภูมิภาคลาตินอเมริกา


[2]  

References
1 รัฐธรรมนูญโคลอมเบียฉบับปัจจุบัน ซึ่งประกาศใช้ในปี 1991 กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งได้วาระเดียว 4 ปี ห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกัน การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้อูริเบลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกในปี 2006 เป็นการอนุญาตเฉพาะคราวเท่านั้น ไม่มีผลสืบเนื่องสำหรับครั้งต่อไป
2 การที่ประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกามีรัฐบาลที่มีนโยบายเอียงซ้ายในช่วงนี้ เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ตามฉันทามติวอชิงตัน (The Washington Consensus) อันนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นในเม็กซิโก บราซิล หรือ อาร์เจนติน่า บทวิเคราะห์เรื่องฉันทามติวอชิงตัน โปรดดูรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทามติวอชิงตัน (กรุงเทพฯ: 2548) และสำหรับบทวิเคราะห์ปรากฏการณ์ Pink Tide โปรดดู D.L. Raby, Democracy and revolution: Latin America and socialism today (London, 2006); K. Weyland, R.L. Madrid and W. Hunter (eds.), Leftist governments in Latin America: successes and shortcomings (Cambridge, England, 2010) และ S. Edwards, Left behind: Latin America and the false promise of populism (Chicago, IL and London, 2010).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save