fbpx

Is America Back? สหรัฐฯ โลก และเอเชียแปซิฟิกหลัง America must lead again – ประพีร์ อภิชาติสกล

“America is back. America is back. Diplomacy is back at the center of our foreign policy.”

ถ้อยแถลงว่าด้วยวิสัยทัศน์ต่อนโยบายการต่างประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ณ กระทรวงการต่งประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2020 3 เดือนหลังจากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีถือเป็น ‘จุดเริ่มต้นของจุดจบ’ หลังโดนัลด์ ทรัมป์พาสหรัฐฯ หันหลังให้โลกภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First)

นี่คือสัญญาณว่า ‘พญาอินทรี’ จะกลับมานำการเมืองโลกอีกครั้ง

สหรัฐฯ หมายมั่นว่าจะกลับมานำการจัดระเบียบโลกและการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อฟื้นฟูสถานะนำในโลกอีกครั้ง พร้อมทั้งสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศผ่านคุณค่าเสรีนิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนและทำให้นโยบายการต่างประเทศนำพาความมั่นคงและมั่งคั่งมาสู่พลเมืองอเมริกัน

แน่นอนนโยบายการต่างประเทศแบบ ‘America Must Lead Again’ ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อช่วงชิงการนำจากจีน เอเชียแปซิฟิกจึงเป็นหนึ่งในบริเวณสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องกลับมาปักหมุดให้ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โลกไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป การ ‘Lead Again’ ของสหรัฐฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

คำถามสำคัญคือ 2 ปีผ่านไปหลังสหรัฐฯ หันกลับมาหาโลกอีกครั้ง สหรัฐฯ กลับมานำโลกได้อย่างที่ใจหวังหรือไม่?

101 สนทนากับ ประพีร์ อภิชาติสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์บทบาทการนำโลกและการกลับมาปักหมุดในเอเชียของสหรัฐฯ หลังออกจากโหมดโดดเดี่ยว ไปจนถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในยุคที่ซับซ้อนผันผวนมากที่สุดยุคหนึ่ง

ตลอดเกินกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทนำของสหรัฐฯ ไม่เคยหายไปจากโลก แต่แน่นอนว่าสหรัฐฯ ในวันนี้คงไม่ได้เหมือนเดิมสักทีเดียว ภาพจำการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ในวันนี้ต่างจากสหรัฐฯ ที่โลกเคยรู้จักในยุคก่อนอย่างไร เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

จริงๆ เหมือนว่าเราจะยังคุ้นชินกับภาพสหรัฐฯ แบบในช่วงสงครามเย็นหรือช่วงต้นศตวรรษที่ 2000 อยู่ คือสามารถเล่นบทบาทนำในโลกอย่างในอดีตได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันเราต้องเข้าใจก่อนว่าบริบทและสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเปลี่ยนไปจากในอดีตมากแล้ว

อย่างในช่วงสงครามเย็น โลกแบ่งออกเป็นสองขั้วอำนาจที่มีความเป็นมหาอำนาจเท่าเทียมกันระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ บริบทระหว่างประเทศในตอนนั้นคือมีประเด็นเดียวที่สองมหาอำนาจแข่งขันกันคือการแข่งกันด้านอุดมการณ์ ซึ่งเน้นในมิติความมั่นคงเป็นหลัก มีการแบ่งค่ายแสวงหาและเลือกฝ่ายพันธมิตรระหว่างโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อย่างไทยเองก็มองว่าคอมมิวนิสต์คือภัยคุกคามร่วมกันกับสหรัฐฯ

การที่สหรัฐฯ ชักจูงและสร้างภาพลักษณ์ให้สหภาพโซเวียตดูเหมือนเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว เลวร้าย หรือใช้หลักศีลธรรม หลักจิตวิทยาเพื่อสร้างความชอบธรรมว่าการปกครองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ คือสิ่งที่ดีกว่านั้น มันง่ายกว่าในการสร้างสถานะในการเป็นผู้นำโลกฝ่ายเสรีประชาธิปไตยและแสวงหาพันธมิตรในยุคนั้นได้ เพราะฉะนั้น ด้วยบริบทโลกและโหมดของการแข่งขันทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกในฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยได้ไม่ยาก

พอหลังสงครามเย็นสิ้นสุด สหภาพโซเวียตล่มสลาย สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเปลี่ยน เหลือแค่สหรัฐฯ ที่เป็นอภิมหาอำนาจโลกหนึ่งเดียว สหรัฐฯ ก็มาจัดระเบียบโลก ชูระเบียบโลกเสรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการเงินโลก การเมือง สันติภาพ สิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นบทบาทของสหรัฐฯ จึงเด่นมาก ง่ายที่จะดำเนินนโยบายและพันธมิตรก็พร้อมยอมรับ เราเลยเห็นภาพสหรัฐฯ ในยุคนั้นเป็นเหมือนพี่ใหญ่ของโลก

หลายคนตั้งคำถามเหมือนกันว่าหลังช่วงสงครามเย็นเพิ่งสิ้นสุดลง สหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวจริงหรือเปล่า เพราะมีมหาอำนาจระดับรองๆ ที่พยายามจะคานสหรัฐฯ อยู่ อย่างเช่นญี่ปุ่นหรือสหภาพยุโรป จะมองว่าเป็นยุคที่มีหลายขั้วอำนาจก็ได้ แต่ส่วนตัวมองว่าสหรัฐฯ ก็ยังสามารถคงสถานะตัวเองไว้ได้

แต่หลังจากสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีบุชชูประเด็นการก่อการร้ายเป็นปัญหาความมั่นคงโลก สหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนมาใช้นโยบายทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในช่วงต้นทศวรรษที่ 21 และแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยที่สอง อย่างที่เห็นว่ามีการใช้นโยบายการต่างประเทศแบบฝ่ายเดียว (unilateral) ที่พยายามจะจัดการปัญหาการก่อการร้ายเองโดยอ้างว่าเป็น preemptive war ไม่พึ่งพิงกลไกระหว่างประเทศอย่าง UN แล้ว ตัดสินใจโจมตีอิรัก ส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถาน ก็ทำให้หลายประเทศตั้งคำถามและข้อสงสัยเรื่องศีลธรรมหรือการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ตลอด 8 ปีในสมัยบุชก็เสียภาพลักษณ์ไปในส่วนนั้น บทบาทนำก็ดรอปลงไปเรื่อยๆ และก็ดรอปไปพร้อมๆ กับการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน

จากนั้นพอบารัก โอบามาขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ต้องมาฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของสหรัฐฯ พยายามกลับมาทวงบทบาทนำในโลกเหมือนที่ไบเดนกำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้ หลังจากที่ทรัมป์หันไปใช้นโยบายแบบ American First แต่ถ้าถามว่าบทบาทนำเด่นชัดมากหรือเปล่า ก็ไม่ได้ชัดเหมือนสมัยสงครามเย็นแล้ว

พอมาถึงสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ บทบาทนำของสหรัฐฯ ก็ยิ่งแย่ใหญ่ เพราะแนวทางแบบ America First ทำให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวตัวเองออกจากกิจการโลก แล้วหันกลับไปมุ่งเน้นวาระภายในประเทศอย่างเดียว ไม่ได้มามีส่วนร่วมกับความร่วมมือระดับพหุภาคีต่างๆ ส่วนนโยบายต่างประเทศที่ปรากฏออกมาก็เรียกได้ว่าคาดเดาอะไรไม่ได้ ค่อนข้างวุ่นวายพอสมควร อย่างการลอบสังหารนายพลสุไลมานีแห่งอิหร่านหรือสงครามการค้ากับจีน หรือแม้แต่การเมืองภายในที่สังคมแตกแยกจากฝ่ายขวาสุดโต่งก็แรงขึ้นในยุคทรัมป์

เพราะฉะนั้น ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาพของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำโลกก็ถือว่าดรอปลงไปไม่น้อย

แต่หลังจากโจ ไบเดนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2020 และได้ประกาศว่า “America is Back” นี่นับว่าคือสัญญาณว่านโยบายแบบ ‘America First’ ของทรัมป์ถูกแทนที่ด้วยนโยบายการต่างประเทศแบบ ‘America Must Lead Again’ ที่สหรัฐฯ ต้องนำโลกอีกครั้ง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ กลับมาเล่นบทบาทนำโลกได้จริงอย่างที่ตั้งโจทย์ไว้ขนาดไหน

พอเปลี่ยนผ่านมาสู่สมัยไบเดน ไบเดนเองก็ไม่ได้กลับลำจาก America First ไปสู่ America Must Lead Again เสียทีเดียว เพราะส่วนหนึ่งของหลักนโยบายของไบเดนที่ประกาศออกมาคือ foreign policy for middle class หรือนโยบายต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและทำให้คนอเมริกามีกินได้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการพยายามเอาใจกลุ่มคนบางส่วนที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์

ปกติคนอเมริกันไม่ค่อยชอบให้สหรัฐฯ ยุ่งเกี่ยวการกับการเมืองระหว่างประเทศ หรือเข้าไปแทรกแซงกับปัญหาของประเทศอื่นมากนัก อย่างสมัยสงครามเวียดนาม คนอเมริกาก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากลงไปกับสงคราม เวลาเลือกตั้ง ปกตินโยบายการต่างประเทศจริงๆ ก็เป็นประเด็นที่หาเสียงไม่ได้ คนอเมริกันไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะดูห่างไกลจากตัว ห่วงเรื่องของปากท้องตัวเองมากกว่า การ lead again ของสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนจึงทิ้งคนอเมริกันไม่ได้ เพราะผ่านโควิดมา สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ก็แย่มาก ความแตกแยกภายในก็ยังมีอยู่ จะ lead again แบบสมัยสงครามเย็นที่สร้างพันธมิตรผ่านการให้ความช่วยเหลือลงทุนในการพัฒนาก็ค่อนข้างยาก

ถ้าถามว่าที่ 2 ปีผ่านมา ความพยายามทำตามหลักนโยบายนี้เป็นอย่างไรบ้าง เท่าที่เห็นรัฐบาลก็พยายามจะผ่านกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือ เช่น สนับสนุนการพัฒนาและสนับสนุนการผลิตและลงทุนการวิจัยภายในประเทศ ซึ่งก็โยงกับการแข่งขันกับจีนด้วย

อีกหลักนโยบายการต่างประเทศที่ไบเดนประกาศออกมาคือ การทวงหัวโต๊ะในการเจรจาระหว่างประเทศและการจัดระเบียบโลกและร่วมมือกับหุ้นส่วนพันธมิตรในการรับมือภัยคุกคามระดับโลกด้วย

สหรัฐฯ เองก็พยายามจะฟื้นบทบาทนำในการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ เหมือนเดิม เหมือนตามกวาดล้างสิ่งที่ทรัมป์กลับลำไว้ แต่ถามว่าทำได้มากแค่ไหน ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สหรัฐฯ ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะประเด็นโลกตอนนี้ซับซ้อนกว่าสมัยก่อนเยอะ การแข่งขันก็เยอะขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาโควิด-19 ปัญหาสิ่งแวดล้อม สนามแข่งขันใหม่อย่างสนามเทคโนโลยีที่ต้องลงไปแข่งขันด้วย การถอนตัวของสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถาน ก็เกิดคำถามในเรื่องมนุษยธรรมที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ปีนี้ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก หรือกระทั่งปัญหาการเมืองภายในของสหรัฐฯ เองที่ยังคงวุ่นวาย

แต่ที่สำคัญคือในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป จีนขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น พอสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนพยายามจะกลับมาทวงคืนบทบาทผู้นำโลก ต้องบอกว่าก็เป็นไปได้ยากขึ้น ไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน หากดูสภาพระเบียบระหว่างประเทศตอนนี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาไม่ใช่การแข่งขันทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ไบเดนพยายามจะชูประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นมา อย่างหนึ่งที่เห็นเมื่อปีที่แล้วคือ Summit for Democracy ซึ่งตอนนั้นที่ไทยสะเทือนใจมากเพราะไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม อาจมองได้ว่าเป็นการพยายามจะแบ่งค่ายแบบช่วงสงครามเย็นก็ได้

นโยบายการต่างประเทศอีกอย่างที่สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนพยายามดันกลับมาคือ พยายามหวนคืนกลับสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แต่แน่นอนว่าการกลับมาใช้คุณค่าประชาธิปไตยเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการสร้างพันธมิตรและประสานความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มเป็นรัฐอำนาจนิยมภายใต้สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศตอนนี้ ก็น่าตั้งคำถามว่าล้าหลังไปแล้วหรือเปล่า

ถามว่าสหรัฐฯ แคร์คุณค่าเหล่านี้จริงไหมในระดับระหว่างประเทศ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องภาพลักษณ์มากกว่า สำหรับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ก็มีข้อสงสัยว่าคุณค่าประชาธิปไตยที่สหรัฐฯ พยายามจะใช้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศเป็นเหมือนการสร้างแรงกดดันหรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งคือพอมีจีน หากจะศรัทธาหรือเลื่อมใสในสหรัฐฯ ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น คิดว่ารัฐขนาดเล็กหลายรัฐก็รู้สึกแบบนี้

สหรัฐฯ ในตอนนี้อาจเป็นผู้นำได้ในบางประเด็น แต่จุดที่น่าตั้งข้อสังเกตคือมีประเทศอื่นเล่นตามด้วยขนาดไหน ถ้าให้ประเมิน ส่วนตัวมองว่าพอใช้แนวทางนโยบายการต่างประเทศแบบนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศก็ยังไม่ได้สนใจปรับท่าทีให้ไปทางสหรัฐฯ อย่างพม่าหรือไทยก็ตาม

ไม่ปฏิเสธว่าคุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนโดยหลักการเองเป็นหลักสากลนิยมที่ดีและต้องมี แต่ประเด็นคือการใช้ประเด็นนี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศทำให้พื้นที่ความร่วมมือน้อยลง หรืออาจทำให้กลายเป็นการกล่าวหาหรือตอกย้ำว่าอีกฝ่ายเป็นตัวร้ายไปโดยปริยาย และเพิ่มความตึงเครียดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้นเข้าไปอีก

จริงๆ ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกก็เริ่มมาตั้งแต่สมัยทรัมป์ อินโด-แปซิฟิกในมือไบเดนต่างจากสมัยทรัมป์อย่างไร

ต้องอธิบายก่อนว่า หากมองเผินๆ ดูเหมือนทรัมป์กับไบเดนเหมือนจะมีแนวทางการต่างประเทศที่ต่างกันสิ้นเชิง คือมีแนวทางนโยบายต่างประเทศคนละอย่าง นโยบายภายในประเทศก็ต่างกัน แต่มีอย่างหนึ่งที่ทั้งสองคนหรือทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมองตรงกัน (bipartisan) คือจีนเป็นภัยคุกคาม เพราะฉะนั้นท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีนในสมัยไบเดนก็ยังคงแข็งกร้าวเหมือนเดิม แต่วิธีการที่ใช้จะต่างกันอยู่เยอะ

อย่างทรัมป์จะเน้นผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ทรัมป์ไม่ชอบพหุภาคี เน้นใช้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีตลอดในการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับจีน เช่น ทำสงครามการค้า เผชิญหน้าตรงๆ กับจีน ในความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ทิ้ง แค่เน้นทวิภาคีกับประเทศที่สานประโยชน์ทางธุรกิจได้ ถ้าไม่มีผลประโยชน์ก็ไม่คุย และในสมัยทรัมป์ก็แทบไม่สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จริงๆ เลย แต่ในกรณีของไบเดนก็ชัดเจนว่าใช้พหุภาคีเป็นหลัก เพราะฉะนั้นก็จะพยายามใช้แนวนโยบายหาพันธมิตรมากยิ่งขึ้น และกลับเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ มีนักวิชาการท่านหนึ่งเสนอว่า ลักษณะการกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียของไบเดนจะต้องสร้างพันธมิตรเหมือนใยแมงมุมขึงไว้เพื่อล้อมกันไม่ให้จีนเข้ามามีอิทธิพล เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในตอนนี้จึงเข้ามายุ่งเกี่ยวในเอเชียมากกว่าเดิมเพื่อหาพันธมิตรเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้นนโยบายอินโด-แปซิฟิกก็ยังคงอยู่ เพียงแต่มีการเปลี่ยนแนวทางและต่อยอดการมีปฏิสัมพันธ์ให้มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการเสนอกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ในประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ (ASEAN-US Special Summit) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงพยายามกลับเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือในหลายประเด็น

กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกพอจะทำให้สหรัฐฯ สามารถกลับมาปักหมุดในเอเชียเพื่อคานอิทธิพลของจีนมากน้อยแค่ไหน

กรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกมีมาพักใหญ่แล้ว แต่คำถามคือทำไมสหรัฐฯ เพิ่งเริ่มคิดว่าจะใช้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จากในประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ คิดว่ากลุ่มประเทศอาเซียนไม่ได้มองสหรัฐฯ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว กลับมีความรู้สึกว่าความร่วมมือที่สหรัฐฯ เสนออย่างกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกไม่ได้เป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากนัก ยังมีเพียงแค่หลักการหลวมๆ เป็นกรอบความร่วมมือกว้างๆ ในเรื่องการค้า โครงสร้างพื้นฐาน การลดการปล่อยคาร์บอน หรือการธรรมาภิบาลในการค้าเท่านั้น ยังไม่ได้มีพันธกรณีหรือข้อตกลงอะไร และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สหรัฐฯ จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ขณะที่จีนเสนอความร่วมมือและผลประโยชน์ให้แก่ประเทศในอาเซียนที่เป็นรูปธรรมมาก อย่างเช่นการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่ลาว ซึ่งก็ตั้งคำถามได้เหมือนกันว่าถึงสหรัฐฯ บอกว่าสนใจอยากใกล้ชิดหาพันธมิตร แต่ความตั้งใจที่กลับมาปักหมุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะจริงจังมากขนาดไหน

จริงๆ ยังเร็วไปหรือเปล่าที่จะตัดสิน หรือสหรัฐฯ เดินหมากช้าไปจริงๆ 

ช้าไป แล้ว 2 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ลงมืออะไรมากเท่าไหร่ คือช่วงระหว่าง 4 ปีในยุคทรัมป์ สหรัฐฯ หายไปเลย แน่นอนว่าประเทศอื่นๆ ก็ต้องหาทางเลือกอื่น ไม่มีใครรอได้ เพราะทุกรัฐมีความจำเป็นต้องแสวงหาผลประโยชน์ รักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐตัวเองอยู่แล้ว

ถ้าพูดแค่ในช่วง 2 ปีนี้ก็ต้องบอกว่าช้า ช้าจริงๆ และไม่ได้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านเงิน หรือช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ เหมือนในสมัยก่อน ยกตัวอย่าง กรณีกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เรายังไม่เห็นความตกลงที่มีลักษณะเป็นข้อผูกพันใดๆ ที่ชัดเจนในกรอบความร่วมมือนี้เลย

สหรัฐฯ บอกว่าจะกลับมา lead again แต่คำถามคือ นี่คือการ lead จริงหรือ บอกตรงๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนไม่ค่อยมีความไว้เนื้อเชื่อใจในสหรัฐฯ ไม่ใช่ว่าไม่อยากร่วมมือกับสหรัฐฯ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในอาเซียนรวมทั้งไทยเรายินดีจะร่วมมือ แต่อาจจะเป็นการร่วมมือในประเด็นทางเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นความมั่นคงหรือการเมือง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสหรัฐฯ ต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงจังและจริงใจ และไม่กดดันให้เราเลือกข้างด้วย

แต่ในภาพกว้างของการปักหมุดในเอเชีย เราก็เห็นความร่วมมือด้านความมั่นคงอย่าง QUAD ด้วยเหมือนกัน

กรณี QUAD เป็นกรณีที่เห็นได้ชัดว่าประเทศในอินโด-แปซิกที่เข้ามารวมกลุ่มมีผลประโยชน์ร่วมชัดเจนอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย คือเป็นประเทศที่เริ่มมองการผงาดขึ้นมาของจีนเป็นภัยคุกคามเหมือนสหรัฐฯ อย่างออสเตรเลียนี่แน่นอน เพราะบริเวณ South China Sea ถือว่ามีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ทั้งทางทรัพยากรและความมั่นคง เพราะฉะนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐต่างๆ เห็นถึงประโยชน์ร่วมกัน และนี่เป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอนมาทุกยุคทุกสมัย ที่กล่าวว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร หากมีผลประโยชน์ร่วมกัน

อย่างหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือ นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันที่วางอยู่บนยุทธศาสตร์แบบคลุมเครือ (strategic ambiguity) ในบริบทความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ แต่หลังจากที่ไบเดนออกมาแถลงว่า หากจีนโจมตีไต้หวัน สหรัฐฯ จะปกป้องแน่นอน หรือการตัดสินใจไปเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไปหรือเปล่า หรือยุทธศาสตร์แบบคลุมเครือก็ยังเหมาะสมต่อบริบทโลกตอนนี้อยู่

หลายคนอาจมองว่าตอนที่ไบเดนกล่าวแบบนี้จะเป็นการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ หรือเป็นการกำหนดท่าทีที่คลุมเครือในนโยบายกับจีน-ไต้หวัน แต่ไม่นานหลังจากนั้นทำเนียบขาวก็ออกมาแถลงให้ชัดเจนว่าไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนโยบายของสหรัฐฯใดๆ ต่อจีน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไบเดนออกมาพูดแสดงความขึงขังจริงจังเพื่อตอบโต้จีน ปรามจีน ก็ไม่แปลกและไม่ต่างกับกรณีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็รีบทวีตทันที

แต่เอาจริงๆ นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันก็ยังอยู่บนหลักการใน Taiwan Relations Act ที่ว่าด้วยการมีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งในส่วนที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารเพื่อปกป้องไต้หวันจริงๆ ถ้าตีความแล้ว ไม่ได้ตีความไปถึงว่าสหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าไปช่วยขนาดนั้น คิดว่าสหรัฐฯ ก็จะยังคงยึดอยู่บนจุดยืนตาม U.S.-China Communiqués ที่ ‘รับทราบ’ ถึงหลักการจีนเดียว (One China Policy) และอาศัยความคลุมเครือตรงนี้ในนโยบายจีน-ไต้หวันต่อไปตลอด อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลานี้แน่ๆ เพราะจีนแข็งกร้าวขึ้นกว่าเดิมเยอะ แล้วจีน สหรัฐฯ ก็มี tension กันอยู่แล้วจากการแข่งขันทั้งการเมือง เศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี สหรัฐฯ เองคงไม่ต้องการเผชิญหน้ากับจีนให้มากขึ้นกว่านี้โดยไม่จำเป็น เพราะในอีกแง่หนึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ยังมีประโยชน์ต่อกัน อาจร่วมมือกันได้บ้างในบางประเด็น

ส่วนกรณีที่แนนซี เพโลซีไปเยือนไต้หวัน เป็นปกติอยู่แล้วที่ ส.ส. หรือ ส.ว. จะไปเยือนประเทศอื่น ไม่ได้ถือเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการส่งตัวแทนไปในฐานะรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นรองประธานาธิบดีหรือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนเพโลซีเองก็เป็นที่รู้กันดีว่ามีจุดยืนต่อต้านจีนอยู่แล้ว พอมีตำแหน่งประธานสภา ส.ส. การไปเยือนจึงกลายเป็นจุดสนใจ แต่ประเด็นคือจังหวะที่เดินทางไปเยือนอาจจะไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่าไหร่ ไม่ผิดที่มีจุดยืนสนับสนุนไต้หวัน แต่จังหวะที่ไปเยือนเป็นจังหวะที่สุ่มเสี่ยงมากเพราะความตึงเครียดมีเยอะ เคลื่อนไหวนิดหน่อยจีนก็ขู่เตือนแล้ว หลังจากนั้นจีนก็ประกาศระงับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในบางประเด็นพอเป็นพิธี เป็นการตอบโต้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่พอใจ ซึ่งก็มีแค่นี้แล้วก็จบกันไป แต่ก็ไม่ได้ยกระดับความขัดแย้งไปถึงขั้นการปะทะกันอย่างที่ทุกคนกลัวว่าอาจจะบานปลายเป็นสงคราม

ขณะที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปักหมุดในเอเชีย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญในการเมืองโลก อยากทราบว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนทิศของยุทธศาสตร์และลำดับความสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไปบ้างไหม

จะเห็นว่าตั้งแต่เริ่มสงคราม แนวทางนโยบายของสหรัฐฯ ต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภายใต้รัฐบาลของไบเดนก็เหมือนกับความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เดโมแครตเป็นรัฐบาลเลย จริงๆ ตั้งแต่ก่อนโดยที่เราดูได้จากตั้งแต่ก่อนรัสเซียจะตัดสินใจบุกยูเครน สหรัฐฯ ใช้แนวทางที่เริ่มต้นจากการเจรจา และค่อยยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการเจรจายับยั้งความขัดแย้งไม่เกิดผล ก็ยกระดับไปสู่การประณาม และต่อไปคือใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับประเทศในยุโรป เพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัสเซีย ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบการระงับความขัดแย้งโดยสันติวิธี ไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างใด สหรัฐฯ เองใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียมาตลอดตั้งแต่ตอนที่รัสเซียผนวกไครเมียแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้เมื่อสหรัฐฯ กับยุโรป ยกระดับการคว่ำบาตรขึ้นอีก ก็มีผลกระทบสะท้อนกลับโดยเฉพาะต่อประเทศในยุโรป เช่น การที่รัสเซียตอบโต้การคว่ำบาตรกลับด้วยการปิดท่อก๊าซส่งมาที่ยุโรป ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป กำลังก้าวสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามมา

หลังจากนั้นมีประเด็นที่อาจสงสัยกันว่าสหรัฐฯให้ความช่วยเหลือยูเครนโดยใช้วิธีการผ่านกฎหมายอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครน วิธีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสหรัฐฯ เคยใช้วิธีนี้ช่วยเหลือประเทศพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว คนที่กังวลกันหรือแม้แต่คนในสหรัฐฯ ก็กลัวคือ สหรัฐฯ จะเข้าไปเป็นผู้เผชิญหน้ากับรัสเซียเอง แต่ตอนนี้ก็คือสนับสนุนงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทางยูเครน ก็ยังถือว่าเป็นแนวทางเดิมๆ ที่สหรัฐฯ ใช้มาตลอด ดังนั้นสหรัฐฯ จึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างระมัดระวัง และอยู่ในกรอบการไม่ใช้กำลัง ไม่ได้ส่งกองกำลังเข้าไปจัดการกับรัสเซียด้วยตัวเอง การปะทะกับรัสเซียยิ่งทำให้สถานการณ์โลกตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เพราะแม้กระทั่งตอนนี้แค่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ถึงขั้นการใช้กำลังก็ส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายแล้ว

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้สหรัฐฯ ยังไม่ฉีกแนวนโยบายแล้วเข้าไปในสงครามรัสเซีย-ยูเครนเต็มตัวคือความเห็นของภาคประชาชน ซึ่งสำคัญมาก จะดำเนินนโยบายอย่างไรต้องดูด้วยว่าได้รับความสนับสนุนจากประชาชนไหม ผลสำรวจความเห็นของคนอเมริกันที่ผ่านมาปรากฏว่าคนอเมริกันก็เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ถ้าถามว่าถ้าให้สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนรวมในความขัดแย้งโดยตรง คนอเมริกันไม่เห็นด้วยแน่นอน นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ไบเดนระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย

ถ้าอ่านความเห็นในข่าว จะเห็นว่าคนชอบเชียร์กันให้สหรัฐฯ ลุยจัดการรัสเซีย ในความเป็นจริงมันต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แม้แต่นาโตเอง ตอนที่ยูเครนเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนาโตกำหนดเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าของยูเครน โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการโจมตีจากรัสเซีย แต่นาโตก็ปฏิเสธไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเพราะเกรงว่าอาจทำให้สงครามขยายวงมากขึ้น

แต่ถ้าถามว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลต่อการจัดลำดับของพื้นที่ที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจไหม ก็ไม่ คิดว่าจีนกับเอเชียยังคงเป็นหลักอยู่ สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจแค่ทำให้สหรัฐฯ เบนไปให้ความสำคัญเพิ่มกับรัสเซียและยุโรป รัสเซียเองสถานะทางอำนาจเทียบจีนไม่ได้ มีความเป็นไปได้ที่จีนจะเลือกฝ่ายรัสเซียอยู่บ้างก็จริง แต่ดูจากท่าทีจีน จีนก็ระมัดระวังพอสมควรเหมือนกันกับกรณีนี้ จะเห็นได้ว่าจีนวางท่าทีค่อนข้างนิ่ง ไม่ได้บุ่มบ่ามในกรณีนี้

การที่โลกต้องตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ไหม โลกจะหลีกเลี่ยงการ ‘แบ่งขั้ว’ (decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ไหม

ถ้ามองจากมิติเศรษฐกิจ คิดว่ายากนะที่จะแบ่งขั้วออกไปเลยโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทั้งใน 2 ประเทศจะมียุทธศาสตร์ที่มุ่งลดการพึ่งพากันและตอบโต้กันในการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยี อย่างจีนก็มี Made in China 2030 สหรัฐฯ ก็มีการออกกฎหมายพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์เองภายในประเทศเพื่อที่จะไม่ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในไต้หวัน แต่อย่าลืมว่าตั้งแต่โลกาภิวัตน์ ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน อาจจะสะดุดไปบ้างช่วงโควิด แต่ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ตลอด รัฐบาลอยากวางยุทธศาสตร์แบบนั้นก็จริง แต่คำถามคือภาคธุรกิจและภาคเอกชนเห็นด้วยหรือเปล่า เพราะมันคือธุรกิจ นักธุรกิจก็มองว่าตลาดจีนจริงๆ แล้วสำคัญ จีนเองก็ต้องพึ่งพาการพัฒนาเทคโนโลยี ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นคำถามคือโลกจะแบ่งขั้วได้ชัดขนาดนั้นหรือไม่ในเมื่อยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน

สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องระวังในสภาวะแบบนี้หากจะยังเล่นบทผู้นำโลกคือความศรัทธาและความเลื่อมใสของประเทศต่างๆ ที่มีต่อสหรัฐฯ ไม่ค่อยเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะฉะนั้นในแนวทางการแสวงหาพันธมิตรที่ประสานผลประโยชน์กันไม่ได้ชัดเจนเหมือนสมัยก่อนแล้ว สหรัฐฯ ต้องกลับไปคิดยุทธศาสตร์มาใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ร่วมมือกับพันธมิตรได้ และอะไรคือสิ่งที่จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันได้

ทำไมการกลับมานำโลกอีกครั้งจึงถือว่าเป็นผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ จำเป็นต้องกลับมา เพราะหนึ่ง ที่สำคัญมากๆ คือภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ เสียไปในยุคทรัมป์ ตอนนี้สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนก็เหมือนมาตามกู้ภาพลักษณ์ที่เสียไป ไม่ต่างกับในสมัยที่โอบามาเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงแรกที่ต้องรีบกู้ภาพลักษณ์อันดีงามด้านความเป็นผู้นำอุดมการณ์ประชาธิปไตย การยึดมั่นในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การร่วมมือแบบพหุภาคี ให้กลับมา เพื่อลบล้างภาพจำที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุชที่ทำให้โลกมองว่าสหรัฐฯ แข็งกร้าว ไปรุกรานประเทศอื่น และไม่สนใจระเบียบกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ

อย่างที่สองคือ การได้กลับมาเป็นผู้นำโลกจะทำให้สหรัฐฯ สามารถมีความสัมพันธ์และดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆ แสวงหาความร่วมมือได้ง่ายขึ้น สหรัฐฯ ก็ยังคิดหวังว่าจะทำให้โลกกลับไปเป็นเหมือนในอดีตที่สหรัฐฯ สามารถจัดระเบียบโลกได้อีก สามารถสร้างกรอบต่างๆ ให้ทุกประเทศยอมรับไปปฏิบัติตาม สหรัฐฯ นั่งอยู่บนหัวโต๊ะเหมือนเดิม ลองคิดดูว่าถ้าตอนนี้จีนกับรัสเซียมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผู้นำไม่ใช่ปูตินหรือสีจิ้นผิง สหรัฐฯ จะดีลทุกอย่างง่ายกว่านี้เยอะเลย ซึ่งสมัยก่อนเขาทำได้ และตอนนี้สหรัฐฯ พยายามจะใช้วิธีเดิมในการแสวงหาพันธมิตรผ่านการใช้อุดมการณ์

สหรัฐฯ พยายามจะบอกโลกว่าโลกขาดสหรัฐฯ ไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ ทำให้โลกสงบสุขและมีเสถียรภาพภายใต้แนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นประชาธิปไตยในมุมมองของแบบสหรัฐฯ ไม่ได้เปิดกว้างยอมรับว่าบนโลกนี้ก็มีแนวคิดการปกครองในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับประเทศเหล่านั้นด้วย แต่อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ก็พยายามจะบอกว่าการรักษาเสถียรภาพโลกต้องมีผู้นำ ตัวอย่างเช่น โอบามาเคยกล่าวว่าสันติภาพหรือความมั่นคงใดๆ ในสหรัฐฯ เองก็จะเผื่อแผ่ไปสู่ระดับโลกด้วย ถือเป็นการแชร์ผลประโยชน์ร่วมกัน พูดอีกอย่างคือสหรัฐฯ พยายามจะบอกว่าผลประโยชน์ของอเมริกาก็คือผลประโยชน์ของทุกประเทศในโลก เมื่ออเมริกามั่นคงปลอดภัย ชาติอื่นก็มั่นคงปลอดภัย เกิดสันติภาพบนโลกนี้ด้วยเช่นกัน

แล้วมันจริงไหม หรือจริงๆ แล้วโลกขาดสหรัฐฯ ได้

สหรัฐฯ พยายามจะสร้างภาพให้ตัวเองเป็นชาติที่มีความสำคัญที่โลกจะขาดสหรัฐฯ ไม่ได้ (indispensable nation) ก็จริง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะอย่างที่บอกไปว่าการแสวงหาความร่วมมือไม่ได้ง่ายเหมือนเดิมแล้ว

แต่ถ้าถามว่าโลกขาดสหรัฐฯ ได้ไหม ก็ต้องดูว่าสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เริ่มมีการตั้งคำถามขึ้นมาแล้วว่าถ้าไม่มีสหรัฐฯ แล้วสมมติว่าจีนจะขึ้นมานำแทนจะเป็นไปได้ไหม แต่หากมองประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนต้องมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐมหาอำนาจอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ้ามองว่าโลกต้องมีหรือควรมีสหรัฐฯ เป็นรัฐมหาอำนาจนำ ในเวลาเดียวกันก็ต้องปล่อยให้มีรัฐอื่นๆ เข้ามาถ่วงดุลอำนาจด้วยเช่นกัน

ถามอีกแบบ แล้วสหรัฐฯ จำเป็นต่อโลกขนาดไหน

ขึ้นอยู่กับว่าตัวสหรัฐฯ มีความเป็นผู้นำและคุณค่าอะไร อย่างตอนที่สหรัฐฯ นำการวางกรอบหรือระเบียบโลกเสรีนิยมที่น่าเชื่อถือ โลกก็จำเป็นต้องมีสหรัฐฯ แต่หากสหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาสถานะผู้นำ ไม่มีความสามารถจะชักจูงใครให้มาทำตาม นั่นก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องพิจารณาทบทวนตัวเองว่ายังเป็นชาติที่โลกขาดไม่ได้อยู่อีกหรือไม่

ถ้ามองในมุมสหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ว่าสภาวะในปัจจุบันจะนำไปสู่อะไรต่อ รัฐบาลเองก็พยายามมาก เพราะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการเสื่อมลงของอำนาจสหรัฐฯ มีการพูดถึงกันว่าสหรัฐฯ จะ decline จริงไหม หรือจะฟื้นจากสภาวะ in decline ได้ไหม อย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าสหรัฐฯ in decline แล้ว เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะมีทั้งตัวแสดงที่ขึ้นมาท้าทายและประเด็นปัญหาหลายๆ อย่างที่ซับซ้อนอย่างที่บอกไปแล้ว

หันกลับมามองการเมืองภายในสหรัฐฯ อะไรคือสิ่งที่ต้องจับตามองในการเลือกตั้งมิดเทอมที่กำลังจะถึงนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าการเลือกตั้งมิดเทอมก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะชี้ชะตาการเมืองและทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ

จริงๆ อยากให้ติดตามดูว่าเดโมแครตจะพลิกให้ตัวเองขึ้นมาได้รับคะแนนเสียงได้ไหม เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีไบเดนต่ำมาก อย่างที่เห็นกันว่ามีปัญหาเยอะมาก ไบเดนต้องรับศึกหนักทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การจัดการการระบาดของโควิดช่วงแรกที่เข้ามาก็เหมือนจะสำเร็จดีแล้ว แต่ปรากฏว่าพอเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดอีกระลอก ก็ทำเอาคนอเมริกันไม่พอใจต่อแนวทางการรับมือโรคระบาดของไบเดน ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐฯ ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ชาวอเมริกันดูเหมือนจะยังไม่พอใจแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อของไบเดน

นอกจากนี้ การเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในช่วงหลังจากที่สงครามยืดเยื้อออกไป มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ไม่ได้ผล ชาวอเมริกันจึงมองเห็นว่าการคว่ำบาตรส่งผลกระทบกับปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง อาหารแพง น้ำมันราคาสูง เงินเฟ้อ นอกจากนี้การที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือยูเครนก็เกิดคำถามว่าจะทุ่มเทเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ แล้วคนอเมริกันได้อะไร? ส่วนนโยบายการถอนทหารจากอัฟกานิสถานของไบเดน ก็มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากที่ไบเดนไม่ได้เตรียมแผนการ มาตรการรองรับที่รอบคอบก่อนจะถอนกำลังออกมาทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น อีกอย่างการถอนทหารในครั้งนี้ก็ถูกมองว่าทำให้อัฟกานิสถานถูกกลุ่มก่อการร้ายยึดครองไปได้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่านโยบายการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไม่ใช่เพิ่งมี แต่เริ่มมีนโยบายต้องการให้เริ่มถอนกำลังทหารมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา และต่อเนื่องมาถึงในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน แต่ทหารคนสุดท้ายที่ออกจากอัฟกานิสถานมาเกิดในช่วงไบเดนพอดี เลยทำให้เป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์

คิดว่าพรรคเดโมแครตจะได้เสียงข้างมากในสภาไหม

ในช่วงเวลาที่คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีไบเดนตกต่ำมาก ก็มีการคาดการณ์จากผลสำรวจต่างๆว่า เดโมแครต อาจสูญเสียเสียงข้างมากในสภาใดสภาหนึ่งให้กับพรรครีพลับบลิกัน หรือเลวร้ายที่สุดคือทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และถ้าผลออกมาเป็นแบบนั้นก็จะสร้างความลำบากใจกับประธานาธิบดีไบเดน ในการทำงานต่อไปจากนี้ ครึ่งเทอมที่เหลือ การผ่านกฎหมาย หรือนโยบายต่างๆ ที่ตั้งใจ อาจจะไม่ได้ง่าย หรือไม่สำเร็จและขาดความต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อพรรคเดโมแครตต่อไปในการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอีก 2 ปีข้างหน้า 

และถึงแม้ว่าสุดท้ายผลจะออกมาในรูปที่เดโมแครตยังสามารถรักษาเสียงไว้ได้ทั้งสองสภา ก็ยังต้องทำงานหนักต่อไปเพื่อประคองฐานเสียงตัวเองให้ได้มากที่สุด เตรียมตัวไว้เพื่อสนับสนุนพรรคสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 และถ้าถึงเวลานั้นเดโมแครตยังไม่สามารถทำผลงานให้ประชาชนประทับใจได้ ประกอบกับข่าวที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็จะสร้างความหนักใจเพราะจะถูกโจมตีสารพัดอย่างไม่ไว้หน้าเลย

กลับมาที่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย ล่าสุดเพิ่งมีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยไปเมื่อกลางปี อยากทราบว่าการเปลี่ยนครั้งนี้มีนัยสำคัญอะไรบ้าง

ต้องเท้าความก่อนว่า เอกอัครราชทูตคนปัจจุบัน (โรเบิร์ต เอฟ โกเดค) เป็นนักการทูตที่เป็นข้าราชการประจำกระทรวงต่างประเทศ เป็นข้าราชการอาชีพ มีประสบการณ์เกี่ยวกับด้านแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย

ประเด็นคือ เอกอัครราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาประจำในสถานทูตสหรัฐฯ ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ได้เป็นนักการทูตอาชีพ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนก่อนคือไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ความแตกต่างของทูตท่านนี้คือไม่ใช่นักการทูตอาชีพและไม่ได้มาจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่เป็นนักธุรกิจ นักกฎหมายผู้มีประสบการณ์ด้านการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในเอเชีย เพราะในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีอาจแต่งตั้งทูตที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากคนคุ้นเคยจากผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐบาลมาก่อน ซึ่งเรียกว่าเป็นทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองก็ได้ จากประสบการณ์ที่ร่วมทำกิจกรรมกับสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยในช่วงระยะเวลา 4 ปีในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะเป็นด้วยเรื่องของโควิดด้วยหรือเรื่องงบประมาณการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยทำให้กิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ของสหรัฐฯในระงับภาคประชาชนไม่ค่อยมีมากเท่าอดีต

แต่จากนี้ต่อไปหลังจากที่มีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตมาเป็นคนปัจจุบัน ก็เชื่อว่าน่าจะนำแนวทางเดิมๆ และการทูตสาธารณะที่เคยมีมาก่อนกลับมา กลับมาให้ความสำคัญกับภาคประชาชนอีกครั้ง มีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยด้วย ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป

ประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมาคือ ไบเดนจะไม่มาเข้าร่วมประชุม APEC ที่ไทยเป็นประธานในการจัดประชุม ท่าทีเช่นนี้สะท้อนอะไร

คำถามนี้วิเคราะห์ยากมาก เราไม่อาจทราบสาเหตุที่แท้จริงได้เลย และสหรัฐฯ เองก็ไม่จำเป็นต้องบอกถึงสาเหตุที่แท้จริงของการไม่มาในครั้งนี้ให้เราทราบเช่นกัน เพราะการบอกว่าไปงานแต่งงานหลานสาวก็น่าจะบอกถึงว่าเป็นงานสำคัญแล้ว ซึ่งสหรัฐฯ ก็อาจจะคิดแบบนั้น

แต่ถ้าอยากให้วิเคราะห์ว่า อะไรคือสาเหตุที่เป็นไปได้บ้างของการที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่มาเข้าร่วมงานครั้งนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองแง่ใด ซึ่งมองแบบลบที่สุดคือดูว่าสถานะ บทบาท และความสำคัญของประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้อยู่ในสายตาของสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากการเมืองไทยเอง การโอนเอียงไปหาจีน แนวความคิดและจุดยืนของประเทศไทยที่ไม่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใดก็เป็นได้ แต่ส่วนตัวมองว่าการที่ไบเดนมอบหมายให้กมลา แฮร์ริส ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาร่วมประชุมแทน ก็ให้เกียรติประเทศไทยระดับหนึ่งแล้ว

ถ้าวิเคราะห์สาเหตุว่ามาจากประเด็นการเมืองภายใน คำถามคือแล้วทำไมไบเดนถึงไปร่วม G20 ที่อินโดนีเซียล่ะ ช่วงเวลาที่จัดประชุมก็ใกล้เคียงกัน ก็น่าคิดว่าอินโดนีเซียมีท่าทีเชิงรุกมากกว่าไทยหรือเปล่า นอกจากนี้วาระการประชุมยังมีประเด็นสำคัญอย่างรัสเซีย-ยูเครนด้วย

หากมองให้ไกลกว่าว่าไทยเป็นประธานในการจัดงาน จริงๆ กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ APEC ก็ถือว่าน่าจะสำคัญต่อสหรัฐฯ ที่อยากจะกลับมาปักหมุดในเอเชีย-แปซิฟิกอีกครั้งไม่น้อยหรือเปล่า

เข้าใจได้ว่าหากมองว่าสหรัฐฯ ต้องการจะกลับถ้าอยากจะกลับปักหมุดในเอเชีย ไบเดนก็ควรจะมา ไทยในฐานะเจ้าภาพแน่นอนว่าก็อยากให้มาเพราะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศต่อประชาคมโลก แต่ที่น่าสนใจมากกว่าว่าผู้นำสหรัฐฯ จะมาปรากฏตัวในการประชุมหรือไม่คือภาพรวมในการกลับมาปักหมุดในเอเชีย

ความตั้งใจในการกลับมาปักหมุดในเอเชียหรืออินโด-แปซิฟิกต้องอยู่ที่การทำข้อตกลงหรือความร่วมมือที่ชัดเจนมากกว่า ที่มองแบบนี้เพราะตลอดทั้งปี 2022 ผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ อย่างกมลา แฮร์ริส หรือแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนเอเชียตลอด การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ไบเดนก็มาร่วมประชุม ประเด็นคือความคืบหน้ามีมากน้อยแค่ไหน

มองในภาพกว้าง ในบริบทโลกปัจจุบัน จริงๆ แล้วไทยยังมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ขนาดไหน ไทยในสายตาของผู้กำหนดนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นอย่างไรกันแน่ หรือเราอยู่นอกเรดาห์ของสหรัฐฯ ไปแล้ว

ถ้ามองแค่หลักยุทธศาสตร์ จริงๆ ไทยคือจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ หากดูแผนที่ ไทยคือจุดศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าถ้าสหรัฐฯ ได้ไทยเป็นพันธมิตรก็เหมือนล้อมกรอบจีนเอาไว้แล้ว จีนก็อยากมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยเหมือนกัน เพราะไทยคือหลังบ้านของจีน

ถ้าถามว่า ณ ปัจจุบัน ไทยยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ อยู่ไหม แน่นอนว่าไทยก็มีความสำคัญต่อสหรัฐฯ อยู่แล้วในหลายๆ ด้าน เพียงแต่พอมาถึงในรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีไบเดนที่พยายามใช้แนวทางในการสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับการเมืองประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน นำเอาเรื่องพวกนี้เข้ามาอยู่ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้เปิดกว้างกับประเด็นนี้เท่าไหร่ จึงอาจทำให้สหรัฐฯ มองว่าเข้าถึงไทยได้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าประเทศไทยควรจะแสดงจุดยืนให้โลกเห็นว่าไทยยังคงยึดมั่นในประเด็นประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักสากล ถ้าไทยยึดหลักตรงนี้ ทางเลือกในการดำเนินนโยบายก็เพิ่มขึ้น และจากจุดนี้ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถกระชับความสัมพันธ์และเข้าใกล้สหรัฐฯ ได้มากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะของการเมืองสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปมาทุก 4 ปีด้วยเหมือนกัน อย่างถ้าเกิดปรากฏการณ์แบบทรัมป์อีก ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ประเด็นเลยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญไทยมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ ก็เหมือนประเทศอื่นๆ ที่มองผลประโยชน์ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศเป็นหลักนั่นแหละ อยู่ที่ว่าตอนไหนที่สหรัฐฯ จะต้องการ

แล้วสหรัฐฯ ยังสำคัญกับไทยอยู่หรือเปล่า เพราะช่วงที่ผ่านมาไทยก็โน้มเอนหาจีนค่อนข้างมาก

สหรัฐฯ ยังมีความสำคัญกับประเทศไทยแน่นอน แต่ในยุคที่เรารอคอยความร่วมมือและการกลับมาสนใจไทยของสหรัฐฯ นานเกินไป มองในมุมของรัฐบาลไทยเรารอไม่ได้ เราต้องแสวงหาความร่วมมือกับรัฐอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะมีการกำหนดนโยบายต่างประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป

แต่ตามหลักในฐานะรัฐขนาดเล็ก ไทยควรจะกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศและระเบียบโลก ซึ่งวันนี้ดูเหมือนเข้าใกล้การแบ่งออกเป็นสองขั้วระหว่างมหาอำนาจขึ้นไปเรื่อยๆ แต่จะดึงมหาอำนาจให้สนใจไทยด้วยอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การกำหนดนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับไทยจริงๆ คือต้องประสานผลประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เน้นให้ตอบสนองผลประโยชน์เป็นหลัก และต้องเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรุกด้วยเพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น แต่ ณ ตอนนี้ ต้องยอมรับว่านโยบายต่างประเทศไทยอยู่ในโหมดเชิงรับและเอาตัวรอดมากกว่า

มีอย่างหนึ่งที่ต้องระมัดระวังคือ พอไทยเอนไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป อีกฝ่ายอาจมองว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้ามและนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ไม่ไว้ใจกันคล้ายๆ ช่วงสงครามเย็นนั่นแหละ แต่ปัจจุบันมันซับซ้อนและดำเนินนโยบายยากกว่าเยอะ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save