fbpx

การเมืองเรื่องการเลือกตั้งบราซิล 2022

บราซิลเพิ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้นไป 2 รอบ รอบแรกคือวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 2 ท่านผ่านเข้าไปชิงดำในรอบสุดท้าย คนแรกคือ ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลูลา’ อดีตประธานาธิบดีของคนที่ 35 จากพรรคแรงงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2003-2010 โดยลูลาได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งรอบแรกนั้นไป 57,259,504 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48.43 ของผู้ที่มาใช้สิทธิ ส่วนผู้ที่ได้คะแนนเป็นลำดับ 2 คือประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) แห่งพรรคเสรีนิยม ซึ่งได้คะแนนเสียงใป 51,072,345 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 43.20 ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงเกินกว่าความคาดหมายของโพลทุกสำนักที่คาดไว้ก่อนหน้านั้นว่า ลูลาจะชนะโดยได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ตั้งแต่รอบแรก จนไม่ต้องการมีรอบ 2 แต่เมื่อผลเป็นเช่นนี้ จึงมีการจัดเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ก่อนที่จะรู้ผลว่าใครเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในรอบที่สอง กระผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักบราซิลเสียก่อนว่าเป็นเช่นไร

ชื่ออย่างเป็นทางการของบราซิลคือสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดทั้งในทวีปอเมริกาใต้และภูมิภาคลาตินอเมริกา ด้วยเนื้อที่ 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร (3,300,000 ตารางไมล์) ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 47.3 ของทวีป ใหญ่กว่าประเทศไทย 16.5 เท่า และมีประชากรกว่า 217 ล้านคน จึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (เป็นรองรัสเซีย แคนาดา จีน และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ) และมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 ของโลก (เป็นรองจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไนจีเรีย ตามลำดับ)

บราซิลมีเมืองหลวงคือกรุงบราซิเลีย ส่วนเมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือนครเซาเปาลู บราซิลนั้นประกอบขึ้นจากการรวมตัวกันของรัฐทั้งสิ้น 26 รัฐ และเขตเมืองหลวงของสหพันธ์ เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ นอกจากนั้นบราซิลยังเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อันเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นเข้ามาของผู้คนจากทั่วโลกมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ รวมทั้งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

พรมแดนของบราซิลติดกับทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ยกเว้นแต่เพียงชิลีและเอกวาดอร์ ส่วนลุ่มน้ำแอมะซอนในบราซิลเป็นที่ตั้งของป่าฝนเขตร้อนอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งยังมีระบบนิเวศที่หลากหลายและทรัพยากรธรรมชาติที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่คุ้มครองหลายแห่ง

บราซิลเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าชนหลายเผ่าก่อนที่เปดรู อัลวารึช กาบรัล (Pedro Álvares Cabral) นักสำรวจชาวโปรตุเกสจะมาขึ้นฝั่งใน ค.ศ. 1500 และอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นี้ในนามจักรวรรดิโปรตุเกส บราซิลจึงมีฐานะเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสเรื่อยมาจนกระทั่ง ค.ศ. 1808 เมื่อเมืองหลวงของจักรวรรดิย้ายจากลิสบอนมายังรีโอเดจาเนโร ต่อมาใน ค.ศ. 1815 อาณานิคมบราซิลได้รับการยกฐานะเป็นราชอาณาจักรเมื่อมีการจัดตั้งสหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ

หลังจากนั้น บราซิลได้รับเอกราชใน ค.ศ. 1822 ด้วยการก่อตั้งจักรวรรดิบราซิลซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา การให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับแรกใน ค.ศ. 1824 นำไปสู่การก่อตั้งสภานิติบัญญัติระบบสองสภา บราซิลกลายเป็นสาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1889 หลังการรัฐประหารโดยทหาร ต่อมาคณะทหารเข้ายึดอำนาจอีกครั้งใน ค.ศ. 1964 และปกครองประเทศจนถึง ค.ศ. 1985 จากนั้นเมื่ออำนาจการปกครองกลับสู่รัฐบาลพลเรือนอีกครั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของบราซิลซึ่งตราขึ้นใน ค.ศ. 1988 ก็ได้กำหนดให้ประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย

ภาพที่ 1: แผนที่ประเทศบราซิล

เห็นได้ว่าบราซิลพึ่งกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ไม่นาน แต่ก็มีความเข้มแข็งอยู่ไม่น้อยเพราะนับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีการปกครองโดยทหารอีกเลย

เมื่อย้อนกลับมาดูการเลือกตั้งรอบที่ 2 ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับชัยชนะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปซี่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2023 คือลูลาซึ่งกวาดคะแนนเสียงไปทั้งสิ้น 60,345,999 คะแนนของผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 50.9 ขณะที่โบลโซนารูได้รับคะแนนเสียง 58,206,354 หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1 จะเห็นได้ว่ามีคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก

โบลโซนารูมีความพยายามสืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ย้อนไปเมื่อปี 2018 เข้าได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ภายใต้สังกัดพรรคสังคมนิยมเสรีประชาธิปไตย แต่ต่อมาในปี 2019 เขาก็ลาออกจากพรรคพร้อมๆ กันที่รัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาก็ลาออกจากตำแหน่งไปเป็นจำนวนมาก หลังจากล้มเหลวในการจัดตั้งพรรคพันธมิตรบราซิล กระทั่งในปี 2021 โบลโซนารูก็เข้าสู่สังกัดพรรคเสรีนิยม และเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งในปี 2022 เพื่อเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แม้โพลต่างๆ ชี้ว่าลูลาจะได้รับชัยชนะ แต่โบลโซนารูก็ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ว่า ถ้าลูลาชนะ ก็มาจากการโกงการเลือกตั้ง และเขาจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

จนถึงปัจจุบันหลังผ่านการเลือกตั้งมาเกือบสัปดาห์ โบลโซนารูก็ไม่เคยปริปากยอมรับผลการเลือกตั้ง ได้แต่ขอบคุณผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้กับเขา ทั้งที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ผู้แพ้การเลือกตั้งจะโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับผู้ชนะ และมีถ้อยแถลงยอมรับความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามมีแต่เพียงเลขาคณะรัฐมนตรีที่ออกมากล่าวว่า การผ่องถ่ายอำนาจจะเป็นไปอย่างราบรื่น ถือได้ว่าการกระทำของโบลโซนารูมีลักษณะคล้ายกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020

ส่วนลูลานั้นสังกัดพรรคแรงงานมาตั้งแต่เริ่ม เขาลงชิงชัยเพื่อตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 หลังเคยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2002 และ 2006 ต่อมาเมื่อลูลาสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ในปี 2010 ผู้สมัครพรรคเดียวกับเขาอย่างจิลมา วานา รูเซฟ (Dilma Vana Rousseff) ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และยังได้รับเลือกต่อเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2014 แต่รูเซฟก็ถูกถอดถอนจากตำแหน่งในปี 2016 ด้วยข้อหาบริหารราชการผิดพลาดก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน

ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva)
Photo by CARL DE SOUZA / AFP

เดิมทีลูลาจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2018 แต่เขากลับถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการคอร์รัปชัน โดยถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินจากบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในบราซิลเพื่อแลกกับการที่บริษัทจะได้รับสัญญาทำการค้ากับบริษัทน้ำมันใหญ่ของรัฐในชื่อ Petrobras เขาถูกจำคุกอยู่ 580 วัน กระทั่งได้รับการปล่อยตัวในปี 2019 และได้รับสิทธิการเลือกตั้งคืนมาในปี 2021 ทำให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ในปีนี้

หลังจากได้รับชัยขนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้นำชาติมหาอำนาจพร้อมกันแสดงความยินดีต่อเขา อาทิ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน (Joe Biden) ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ และเขาหวังจะได้ทำงานร่วมกับลูลาในอนาคต ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซียก็ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทระ โมที (Narendra Modi) ก็กล่าวไว้ว่า เขารอคอยที่จะได้ร่วมมือกับบราซิลในอนาคตอันใกล้อีกครั้งหนึ่ง ส่วนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ริชี ซูแน็ก (Rishi Sunak) ได้เน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบราซิลและอังกฤษในการร่วมกันสร้างความเจริญเติบโดให้กับเศรษฐกิจโลก พิทักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมวัฒนธรรมประขาธิปไตย ส่วนผู้นำจีนอย่างสี จิ้นผิง (XI Jinping) ก็ได้แสดงความยินดีกับเขาเช่นกัน

ภาพที่ 2: แสดงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครทั้งสอง
ที่มา https://www.bbc.com/news/world-latin-america-63451470

นโยบายหลักในการหาเสียงของลูลาคือการเอาชนะความยากจน โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่บราซิลได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอนที่ถูกบุกรุกจากมนุษย์ที่เข้าไปทำลายพื้นที่ป่า โดยตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ในสมัยประธานาธิบดีโบลโซนารูให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่าจะคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ลูลาประกาศว่าเขาจะร่วมมือกับนานาชาติเพื่อนำผืนป่ากลับมาให้ได้ นอกจากนี้ลูลายังต้องการให้ประชาชนในประเทศรวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความสงบ ความเป็นเอกภาพ และความก้าวหน้าของประเทศ เขาสัญญาด้วยว่าจะบริหารประเทศเพื่อคนบราซิลทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อคนที่เลือกเขาเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ลูลาได้รับชัยชนะในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กระแสลมแห่งฝ่ายซ้ายได้หวนกลับคืนมาสู่ลาตินอเมริกาอีกครั้ง หลังจากที่เคยพัดผ่านมาในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2000s ก่อนถูกกระแสลมฝ่ายขวาตีโต้กลับในคริสต์ทศวรรษถัดมา โดยในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ ผู้นำของ 4 ประเทศใหญ่ในลาตินอเมริกาล้วนมีแนวคิดการเมืองเอียงซ้าย ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ (Andrés Manuel López Obrador) ของเม็กซิโก, ประธานาธิบดี อัลเบร์โต อังเฆล เฟร์นันเดซ (Alberto Ángel Fernández) ของอาร์เจนตินา, ประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) ของโคลอมเบีย และล่าสุดก็คือลูลา

นอกจากนี้ผู้นำทั้ง 4 ประเทศใหญ่นี้ต่างก็มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาที่ยึดโยงอยู่กับการเลือกตั้ง ไม่มีการแทรกแซงโดยกองทัพ เพราะฉะนั้นไม่ว่าประเทศจะได้รัฐบาลที่มีนโยบายทางขวาหรือซ้าย ก็ล้วนมาจากการตัดสินของประชาชนเอง

สำหรับบราซิล บทบาทของประเทศในประชาคมโลกน่าจะเพิ่มมากขึ้นในสมัยของลูลา จากประสบการณ์ในอดีตในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2003-2010 บราซิลได้รับการยอมรับจากผู้นำในประเทศลาตินอเมริกาให้เป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภูมิภาคในประชาคมโลก และในสมัยนั้น บราซิลยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกในอนาคตช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2000s ร่วมกับอินเดีย รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อกลุ่มประเทศ BRICS แต่บทบาทของ BRICS ก็ได้ลดลงไปมากในคริสต์ทศวรรษต่อมา เนื่องจากเกิดความแตกแยกในทางความคิดระหว่างสมาชิกในกลุ่ม เช่นบราซิลที่ไม่เห็นด้วยกับการโจมตียูเครนของรัสเซีย ดังนั้นบราซิลในยุคลูลาครั้งที่ 2 นี้ จึงมีแนวนโยบายทางการต่างประเทศที่สำคัญ คือการผลักดันตัวเองให้เข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ในฐานะตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ลูลาจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2023 นี้เราคงยังต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของโบลโซนารูและผู้สนับสนุนของเขาว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ พวกเขาจะขัดขวางอย่างไรไม่ให้ลูลาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ บราซิลในช่วง 2 เดือนต่อไปนี้จึงเป็นที่น่าสนใจและเป็นที่เฝ้ามองของประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save