ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

เป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากยิงขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกจากฉนวนกาซาใส่อิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่อิสราเอลโต้กลับด้วยการส่งกองทัพเข้าโจมตีพื้นที่บริเวณฉนวนกาซาภาคพื้นดิน และนับตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงนาทีนี้ ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ร่วม 3,000 ราย ยังไม่นับคนที่ต้องอพยพและพลัดถิ่นจากการสู้รบ

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ดำเนินมาอย่างยาวนาน มันถูกพินิจพิเคราะห์ว่ามีต้นธารมาจากแง่มุมทางศาสนาและความเชื่อซึ่งหยั่งรากลึกมานับพันปี และอีกเช่นกัน ที่มันก็ถูกพิจารณาว่ามีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์ด้านเชื้อชาติ ขณะที่ในเวลาต่อมา มันถูกมองในแง่มุมการเป็นข้อพิพาทที่มีมหาอำนาจเป็นผู้กุมส่วนได้ส่วนเสียอยู่ฉากหลัง และทั้งหมดนี้ย่อมเป็นความขัดแย้งที่ข้องเกี่ยวกับโลกอาหรับอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไล่เรื่อยมาตั้งแต่การก่อตั้งรัฐมาจนถึงสงครามหกวัน (Six-Day War) อันเป็นการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับที่เป็นข้อบ่งชี้ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับโลกตะวันออกกลาง และการก่อตั้งขบวนการเรียกร้องปลดแอกของปาเลสไตน์ ที่กลายมาเป็นเงื่อนปมหนึ่งของความขัดแย้งที่ฝังรากลึกจนถึงนาทีนี้

ในโมงยามที่การสู้รบยังดำเนินอยู่และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ในเร็ววัน 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

ตอนนี้การกระทำของฮามาสรุนแรงมาก เราจะพิจารณาและทำความเข้าใจการบุกโจมตีครั้งนี้ของฮามาสได้อย่างไร

ถ้าเราดูปฏิบัติการของฮามาสในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่ามองอย่างผิวเผินเราก็ฟันธงได้ว่า นั่นเป็นปฏิบัติการที่ล้ำเส้นเพราะการเข้าไปของฮามาสสร้างความเสียหายและทำให้คนอิสราเอลเสียชีวิต

แต่อีกด้าน ผมคิดว่าเราควรทำความเข้าใจภาพรวมว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2007 ที่อิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซา และนับจากนั้นเป็นต้นมา อิสราเอลก็เข้าไปถล่มโจมตีฉนวนกาซาเป็นระลอกๆ ซึ่งการโจมตีฉนวนกาซาแต่ละครั้งในสงครามที่ผ่านมา มีคนปาเลสไตน์จำนวนมากเสียชีวิต บางครั้งถึงหลักพัน ขณะที่เราประณามฮามาส เราเองก็คงต้องประณามอิสราเอลเช่นกัน ฮามาสเองเวลายิงจรวดเข้ามาในดินแดนของอิสราเอล จะเห็นว่าไม่ได้สร้างความเสียหายมากนักเนื่องจากถูกระบบโดมเหล็ก (Iron Dome) สกัดไว้เกือบหมด เพราะจรวดของฮามาสเป็นจรวดบ้านๆ ผมกำลังจะบอกว่าก่อนที่จะตัดสินใจ ด่วนสรุปว่าใครผิดใครถูกนั้น เราต้องทำความเข้าใจให้ครบในทุกมิติ 

ขณะนี้ ผมคิดว่าเส้นแบ่งสำคัญที่เราควรนำมาพิจารณาคือเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ หลังสงครามหกวันปี 1967 อิสราเอลเข้าไปยึดครองดินแดนต่างๆ ของชาติอาหรับ รวมถึงดินแดนของชาวปาเลสไตน์ในหลายภาคส่วน สหประชาชาติหลังสงครามหกวันก็มีมติ 242 และ 338 เรียกร้องให้อิสราเอลถอนกองกำลังของตนเองออกจากดินแดนภายใต้การยึดครอง ซึ่งสหประชาชาติเรียกว่า ‘occupied territories’ ซึ่งอิสราเอลควรปฏิบัติตาม และหากอิสราเอลปฏิบัติตาม โดยถอนตัวออกจากเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาตามมติดังกล่าว ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงคงไม่เกิดตามมา ปัญหาคืออิสราเอลไม่ปฏิบัติตาม แถมยังเข้าไปยึดครองยาวนาน ทั้งยังมีนโยบายกลืนกินดินแดนชาวปาเลสไตน์ ขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิดของตัวเอง ที่สำคัญคือเข้าไปขยายนิคมชาวยิวในดินแดนเวสต์แบงก์ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ยังเข้าไปรุกมัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa Mosque -หนึ่งศาสนสถานสำคัญของชาวมุสลิม)

ผมคิดว่าความเข้าใจประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องแรกที่เราควรนำมาพิจารณาเป็นพื้นฐานว่า การกระทำของอิสราเอลถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และการที่อิสราเอลเข้าไปยึดครอง นำมาสู่กระบวนการต่อต้านการยึดครอง กระบวนการนี้ชอบธรรมหรือไม่ หลักการของสหประชาชาติก็พูดถึง Self-determination (การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง) อิสราเอลไม่ได้ผนวกดินแดนฉนวนกาซาหรือเวสต์แบงก์เป็นประเทศของตัวเอง ไม่ได้ให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่ชาวปาเลสไตน์ ไม่ได้ให้สัญชาติอิสราเอลแก่ชาวปาเลสไตน์ นอกจากนั้นยังละเมิดสิทธิในหลายๆ ด้าน เรื่องเหล่านี้เราสามารถดูได้จากรายงานของสหประชาชาติหรือองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งตอนหลังบางรายงานถึงกับใช้คำว่า ‘Apartheid State’ เมื่ออ้างถึงอิสราเอล (หมายถึงลักษณะการปกครองที่มีรากฐานแนวคิดแบบการแบ่งแยกสีผิว)

ประเด็นที่เกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่เป็นความขัดแย้งยาวนาน เป็นการต่อสู้กันจนขณะนี้เราไม่สามารถระบุได้แล้วว่า ใครเริ่มต้น ใครเป็นคนกระทำก่อน ใครตอบโต้ ใครเป็นคนผิดและถูก เพราะสถานการณ์ลากยาวมานานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อพิจารณาคือ เราคงต้องอิงจากหลักการของประชาคมระหว่างประเทศ อิงจากหลักการของสหประชาชาติ แล้วนำมาพิจารณาประกอบ

แต่เราก็ยังจำเป็นต้องย้ำอยู่ใช่ไหมว่าฮามาสไม่ได้เป็นตัวแทนของคนมุสลิม และไม่ได้เป็นตัวแทนของปาเลสไตน์ เพราะก็มีหลายคนเหมือนกันที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของฮามาส

ใช่ครับ เราต้องเข้าใจว่ากลุ่มขบวนการฮามาสเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านการยึดครองปาเลสไตน์ ไม่ใช่ทั้งหมดของชาวปาเลสไตน์ มีขบวนการภาคประชาชนมากมายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนภายใต้การยึดครองโดยใช้สันติวิธี เราเห็นรัฐบาลปาเลสไตน์ที่มีแนวคิดอุดมการณ์แตกต่างจากฮามาส ฉะนั้น ฮามาสจึงไม่ใช่ภาพสะท้อนของชาวปาเลสไตน์หรือโลกมุสลิมทั้งหมด อันนี้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เราต้องยอมรับว่า คนปาเลสไตน์ให้การยอมรับฮามาสมากยิ่งขึ้นหลังจากพวกเขาหมดหวังจากกระบวนการสันติภาพ หลังถูกกระทำมาอย่างยาวนานและถูกละเลยจากสื่อและประชาคมระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั้งรัฐอาหรับที่เคยเป็นที่พึ่งของตัวเอง พวกเขาต้องเห็นพี่น้องชาวปาเลสไตน์ที่ต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในประเทศต่างๆ จำนวนหลายล้านคน ไม่ได้กลับมาสู่ดินแดนบ้านเกิด หลายคนบาดเจ็บล้มตายไปต่อหน้าต่อตา ถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกจับขังคุกแบบไม่มีข้อหา ฯลฯ ความท้อแท้สิ้นหวังของชาวปาเลสไตน์ขณะนี้ทำให้พวกเขาบางส่วนต้องเลือกฮามาส ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นความหวังสุดท้ายที่จะมีรัฐเป็นของตนเอง

ที่ผ่านมา อิสราเอลกับปาเลสไตน์เคยเข้าสู่กระบวน The Oslo Accords (ข้อตกลงสันติภาพออสโล -ว่าด้วยการที่อิสราเอลรับรองสถานะขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ โดยที่ปาเลสไตน์เองก็รับรองสถานะความเป็นประเทศของอิสราเอล) ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990s แล้ว แต่อะไรที่ทำให้ยังเกิดการต่อสู้อยู่

เรื่องนี้สลับซับซ้อน กระบวนการสันติภาพมีเป้าหมายในการสร้างรัฐปาเลสไตน์ในอีกห้าปีนับจากปี 1993 เท่ากับว่าปี 1998 ควรมีรัฐปาเลสไตน์แล้ว แต่สุดท้ายมันก็ไม่เกิดขึ้น การเจรจาขั้นสุดท้ายระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีปัญหาหลายประการที่แก้ไม่ตก ทั้งเรื่องเยรูซาเลมว่าควรเป็นเมืองหลวงของใคร จะหาทางออกให้ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่มีจำนวนกว่าห้าล้านคนอย่างไร พวกเขาจะมีสิทธิกลับมาสู่บ้านเกิดของตัวเองหรือไม่ ขอบเขตรัฐปาเลสไตน์ในอนาคตจะอยู่ตรงไหน จะทำอย่างไรกับนิคมชาวยิว (Jewish Settlement) ที่มีอยู่มากมายในเขตเวสต์แบงก์ เหล่านี้เป็นข้อถกเถียงที่วงเจรจาไม่อาจหาข้อสรุปได้

ปัจจัยอีกประการที่สำคัญคือ การที่รัฐบาลอิสราเอลในระยะหลังเป็นฝ่ายขวาที่ไม่ยอมรับให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ ดังนั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามผลักดันอย่างหนักในกระบวนการเจรจาเหล่านี้ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ระยะหลัง กระบวนการสันติภาพแทบไม่ถูกพูดถึง และไม่ได้มีการพูดคุยกันโดยตรงระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลมาเป็นสิบปีแล้ว พูดอีกอย่างก็คือกระบวนการออสโลได้ตายจากเราไปนานแล้ว

ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างที่เป็นพัฒนาการต่อมาของประเด็นปัญหานี้คือ กระแสการเกิดขึ้นของกลุ่มขบวนการติดอาวุธนิยมแนวทางอิสลาม ซึ่งเป็นตัวแปรใหม่ของประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

กองทัพอิสราเอลรุกคืบเข้าสู่ฉนวนกาซา (Photo by RONALDO SCHEMIDT / AFP)

ทำไมอาจารย์ใช้คำว่า ‘กระแส’ 

ตอนหลัง ในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือในโลกมุสลิม กลุ่มขบวนการนิยมแนวทางอิสลามซึ่งเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองแบบปกติ ได้รับการยอมรับจากประชาชนปาเลสไตน์มากขึ้น กระแส ‘political Islam’ เติบโตในภูมิภาคตะวันออกกลางแทนที่อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ (Arab Nationalism) 

อุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลางก่อนหน้านี้คือพวกชาตินิยมอาหรับ แต่ตอนหลังอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับนี้เสื่อมลงไปอันเป็นผลมาจากสงครามหกวันในปี 1967 ซึ่งอาหรับแพ้อิสราเอลราบคาบ อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับที่มีเป้าหมายสร้างเอกภาพในโลกอาหรับเพื่อต่อต้านอิสราเอลและสร้างรัฐปาเลสไตน์ก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป เพราะไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุด คนอาหรับจึงหันไปหาอีกอุดมการณ์หนึ่ง นั่นคือ ‘political Islam’ หรืออุดมการณ์นิยมแนวทางอิสลาม ซึ่งขบวนการเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย หากแต่เป็นกลุ่มขบวนการภาคประชาสังคมที่ตอนหลังพัฒนาเป็นพรรคการเมือง ซึ่งมีแนวทางที่จะสอดแทรกอิสลามเข้าไปในเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ พวกนี้ได้รับความนิยมชมชอบมากขึ้นดูได้จากการที่พวกเขาชนะการเลือกตั้งทุกครั้งในตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริง

เช่นเดียวกันกับประเด็นปาเลสไตน์ เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2005 ฮามาสก็ชนะการเลือกตั้ง ปัญหาคือสหรัฐฯ และอิสราเอลไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และให้การช่วยเหลืออำนาจเก่าอย่างกลุ่มฟาตะห์ (Fatah -พรรคการเมืองชาตินิยมของปาเลสไตน์) ส่งอาวุธให้ ส่งความช่วยเหลือให้ เพื่อให้ฟาตะห์ดำเนินการกำจัดกลุ่มฮามาส เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ฮามาสจึงตัดสินใจยึดดินแดนฉนวนกาซา หลังจากนั้น มะห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas -ประธานาธิบดีปาเลสไตน์) จึงปกครองในเขตเวสต์แบงก์ ส่วนฮามาสปกครองในกาซา นี่จึงเป็นที่มาของปรากฏการณ์ ‘หนึ่งประชาชาติ สองแผ่นดิน’ ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันตลอดมานับจากนั้น 

หลังการเลือกตั้งปี 2005 เราเห็นอิสราเอลปรับเปลี่ยนนโยบาย คือมีนโยบายปิดล้อมฉนวนกาซาและให้ความสำคัญกับอับบาส ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนให้อับบาสเป็นประธานาธิบดีต่อไปเพราะอิสราเอลทำงานกับอับบาสได้ง่าย อับบาสจึงได้ประโยชน์ เพราะเงินจากประชาคมโลกหลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือปาเลสไตน์เยอะ มีการคอร์รัปชันในคณะปกครองปาเลสไตน์ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศรัทธาของคนปาเลสไตน์ต่อรัฐบาลชุดนี้เสื่อมลงมาก และทำให้ฮามาสชนะการเลือกตั้ง แต่พออับบาสจะโค่นหรือปราบฮามาส ฮามาสก็ไปควบคุมดินแดนที่ฉนวนกาซา หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นภาพอิสราเอลเข้าไปปิดล้อมฉนวนกาซา และเกิดการโจมตีทางอากาศเข้ามาในกาซาเป็นระลอก ฮามาสก็ตอบโต้กลับด้วยการยิงจรวดอย่างที่เราเห็นอยู่หลายครั้งตั้งแต่ปี 2008 เรื่อยมา เป็นลักษณะการตอบโต้ทางอากาศ

สิ่งหนึ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ขณะนี้คืออิสราเอลไม่ได้ต่อสู้กับรัฐอาหรับเหมือนเดิมแล้ว แต่กำลังต่อสู้อยู่กับ non-state actors (ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ -หมายถึงตัวแสดงที่มีอิทธิพลต่อระเบียบการเมืองโลก กรณีนี้คือองค์การระหว่างประเทศระดับระหว่างรัฐ, องค์การระหว่างประเทศระดับเหนือรัฐและขบวนการระหว่างประเทศ เป็นต้น) เป็นขบวนการต่อต้านการยึดครองของประชาชนปาเลสไตน์ที่ก่อตัวขึ้น และมีหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่ในดินแดนฉนวนกาซาเท่านั้น เราเห็นกลุ่มขบวนการอย่างฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah -หมายถึงพรรคการเมืองของชาวมุสลิมชีอะฮ์ในเลบานอน) เกิดขึ้นหลังอิสราเอลยึดครองเลบานอนปี 1982 เราเห็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธหลายกลุ่มในเวสต์แบงก์ ตอนหลังกลุ่มขบวนการเหล่านี้ก็ใช้วิธีสู้รบกับกองทัพอิสราเอลในที่ต่างๆ จนอิสราเอลออกมาตรการปราบปรามกลุ่มขบวนการติดอาวุธเหล่านี้อย่างหนักในระยะหลัง 

นี่คือพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้เราเห็นว่าศัตรูที่สำคัญของอิสราเอลไม่ใช่รัฐอาหรับอีกต่อไป แต่เป็นขบวนการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการฮามาสที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดากลุ่มขบวนการที่เป็น non-state actors ทั้งหลายในปาเลสไตน์ แต่น้อยกว่ากลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน

นอกจากในแง่ว่านี่เป็นการปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับ non-state actors แล้ว ส่วนตัวแล้วอาจารย์มองว่าการต่อสู้ในครั้งนี้ มีอะไรที่น่าสังเกตเป็นพิเศษไหม

หลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ วันนี้รัฐอาหรับดูเหมือนว่าจะทอดทิ้งประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ และไปปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ติดตาม

รัฐอาหรับปรับตัวมาตั้งแต่พ่ายแพ้สงครามหกวัน หลังจากนั้นในปี 1979 อียิปต์ก็เป็นประเทศแรกที่ไปทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล พอปี 1994 จอร์แดนก็ตัดสินใจทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลเช่นกัน ในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump -อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ก็มีประเทศอาหรับอีกสี่ประเทศที่ปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล มีการติดต่อค้าขาย มีการแลกเปลี่ยนทางการทูตเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, โมร็อกโก และซูดาน ล่าสุด สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีเพราะถ้าดูจากการให้สัมภาษณ์ของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman -มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบีย) พระองค์ก็บอกว่าการปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลนั้นใกล้เข้ามาทุกวัน เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu -นายกรัฐมนตรีอิสราเอล) ก็พูดบนเวทีสหประชาชาติว่า การปรับความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียคืบหน้าไปมากและจะเกิดขึ้นในเร็ววัน นี่เป็นเรื่องที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอล และเปลี่ยนไปในดินแดนปาเลสไตน์ด้วย เนื่องจากกระทบต่อขบวนการต่อสู้และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวปาเลสไตน์ เพราะวันนี้ก็เห็นชัดเจนว่ารัฐอาหรับเริ่มทอดทิ้งปาเลสไตน์แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ในมุมประชาชนอาหรับ เขาคิดอีกแบบหนึ่ง เพราะมีการสำรวจปี 2018 พบว่าคนอาหรับ 87 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐอาหรับจะไปมีสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอล โดยที่ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ฉะนั้น จึงมีรอยห่างระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่ นี่คือปัญหาความแปลกแยกประการหนึ่งในตะวันออกกลาง

หลายคนมองว่าระยะหลัง ชาตินิยมของรัฐอาหรับเจือจางลงไปด้วย อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง มันส่งผลต่อการสนับสนุนที่รัฐอาหรับมีต่อปาเลสไตน์ในเวลานี้ไหม

อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับค่อนข้างล้มเหลว เป้าหมายของอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับคือการสร้างเอกภาพในหมู่รัฐอาหรับและประชาชนอาหรับทั้งหลาย ปรากฏว่า เป้าหมายนี้ล้มเหลวมาก ไม่เฉพาะหลังสงครามหกวัน แต่ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990 รัฐอาหรับก็แตกแยก มองสงครามที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาขับไล่กองกำลังของ ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein -อดีตประธานาธิบดีอิรัก) ออกจากประเทศคูเวตแตกต่างกันมาก และมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้โลกอาหรับแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เอกภาพของความเป็นอาหรับจึงไม่เกิดขึ้น 

ขณะเดียวกัน อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับก็ถูกท้าทายจากขบวนการนิยมแนวทางอิสลามในทุกๆ ดินแดนของภูมิภาคตะวันออกกลางหลังกระบวนการอาหรับสปริง (Arab Spring -หมายถึงคลื่นปฏิวัติการประท้วงในโลกอาหรับเมื่อปี 2010-2012) จะพบว่าที่ใดก็ตามที่มีการเลือกตั้ง ผู้นำแบบเก่าจะพ่ายแพ้ ผู้นำที่มีแนวคิดแบบอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และกลุ่มที่ชนะการเลือกตั้งคือกลุ่มเคลื่อนไหวนิยมแนวทางอิสลามทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ซึ่งขบวนการภราดรภาพมุสลิม (The Muslim Brotherhood -หนึ่งในขบวนการนิยมอิสลามที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอียิปต์) ก็ขึ้นสู่อำนาจในเวลานั้น ในตูนีเซียก็มีขบวนการอัล-นะเฏาะห์ (Ennahda -พรรคการเมืองอิสลาม) ที่ชนะการเลือกตั้งและขึ้นมาเป็นรัฐบาลอยู่พักหนึ่ง 

ประเด็นคือ ในดินแดนปาเลสไตน์ก็มีกระแสเดียวกันกับภูมิภาคตะวันออกกลางในภาพรวม อับบาสเป็นผู้นำที่อยู่ในสายอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ สาย secular แต่กลุ่มขบวนการฮามาสเป็นกลุ่มขบวนการนิยมแนวทางอิสลาม เป็นกลุ่มขบวนการรากหญ้า เติบโตมาจากการช่วยเหลือสังคมจนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มการเมืองขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สร้างความแตกแยกให้ชาวปาเลสไตน์ ฝ่ายหนึ่งก็เป็นฝ่ายอับบาสที่ถูกท้าทายโดยขบวนการนิยมแนวทางอิสลาม และทั้งสองฝ่ายนี้ก็ต่อสู้กันจนกลายเป็นข้ออ้างของอิสราเอลในการปัดแนวทางเจรจาสันติภาพกับพวกปาเลสไตน์

อาจารย์มองเรื่องความเป็นขวาจัดของเนทันยาฮูยังไง นโยบายของเขาส่งผลต่อความขัดแย้งกับปาไลสไตน์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอื่นๆ ในแง่ไหนบ้าง

ตอนหลังต้องยอมรับว่าการเมืองอิสราเอลเปลี่ยนไปมาก และกลุ่มขวาก็ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการปลุกกระแสชาตินิยมและการต่อสู้กับปาเลสไตน์กลุ่มต่างๆ ทำให้กลุ่มการเมืองเหล่านี้ได้รับการยอมรับ จากเมื่อก่อนที่เรายังได้เห็นบทบาทของพรรคการเมืองอย่างพรรคแรงงานในอิสราเอลซึ่งค่อนข้างมีท่าทีรอมชอมต่อประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ แต่ตอนหลังเราไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้แล้ว และพรรคการเมืองอย่างพรรคลิคุด (Likud -พรรคของเนทันยาฮู) ก็ได้รับการยอมรับ ตอนหลังปรากฏว่าเนทันยาฮูชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายสมัย

ฉะนั้น การขึ้นมาของฝ่ายขวาในการเมืองอิสราเอลจึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาปาเลสไตน์ และบางครั้งการเมืองของอิสราเอลก็ถูกเชื่อมโยงกับปัญหาปาเลสไตน์ด้วย เช่น เมื่อใดก็ตามที่เกิดวิกฤตศรัทธาต่อเนทันยาฮู จะเกิดสงครามในฉนวนกาซา ตอนหลัง เนทันยาฮูโดนประชาชนลุกขึ้นประท้วงหนัก กรณีกระบวนการปฏิรูปตุลาการ ด้วยเหตุนี้ เนทันยาฮูจึงได้ใช้กำลังปราบปรามกลุ่มขบวนการติดอาวุธต่างๆ ในเวสต์แบงก์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากประชาชนของตัวเองออกจากการเมืองภายใน แต่ผลที่ออกมาคือเมื่อมีการปราบปรามขบวนการเหล่านี้ ก็เกิดการลุกฮือขึ้นสู้กลับ เราจึงเห็นภาพของการที่คนปาเลสไตน์ไปจ้วงแทงคนในประเทศอิสราเอล ฉนวนกาซาในเวลานี้ก็เป็นวิกฤตอีกครั้ง เนทันยาฮูก็รีบออกมาประกาศสงครามเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ จนนำไปสู่วิกฤตสงครามกับฮามาสอย่างที่เราเห็น

หลายคนมองว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มาจากคัมภีร์และศาสนา แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้ยังใช้อ้างอิงได้อยู่ไหม หรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสริมด้วย

ในความเข้าใจของผม ปัญหาปาเลสไตน์ที่หลายคนมองว่าเชื่อมโยงกับเรื่องศาสนาชาติพันธุ์นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สื่อพยายามทำให้เราเข้าใจในลักษณะนี้ เนื่องจากหากเรามองว่าเป็นประเด็นความขัดแย้งทางเชื้อชาติศาสนา เท่ากับว่ามันไม่มีทางแก้ไขหรอก ไม่มีใครถูกใครผิดเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมายาวนานมากเลย เหมือนถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน คนจะมองไม่เห็นว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร คิดว่าคงหาทางแก้ปัญหาในเชิงรูปธรรมไม่ได้เลย และความเชื่ออย่างนี้สร้างความชอบธรรมให้อิสราเอลในการยึดครองปาเลสไตน์มาตลอด 

ผมอยากอธิบายว่า จริงๆ แล้วในมุมมองของศาสนาอิสลามเอง เขามองคนยิวและคนคริสเตียนว่าเป็น People of the Book หรือเป็นชาวคัมภีร์เหมือนกัน ฉะนั้น สามศาสนาจึงมีความคล้ายกัน นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน มีหลักความเชื่อหลายอย่างที่คล้ายกัน และศาสนาอิสลามก็ให้ความเคารพต่อศาสนาเหล่านี้สูงมาก ศาสดาของศาสนายิวและศาสนาคริสต์ในมุมมองของศาสนาอิสลามคือมีสถานะเทียบเท่ากับศาสดามูฮัมหมัด เพราะศาสดาของยิวและคริสต์คือศาสดาของศาสนาอิสลามเหมือนกัน คนมุสลิมให้ความสำคัญและความเท่าเทียมแก่ศาสดาทุกพระองค์เหมือนกัน

นี่จึงไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนา และถ้าเราไปดูในเยรูซาเล็ม คนยิว คนอิสลามและคริสเตียนอยู่ร่วมกันได้ และเขาอยู่อย่างนั้นมาเป็นพันปีแล้วโดยไม่มีปัญหาความขัดแย้ง ความขัดแย้งถูกส่งมาจากข้างนอกต่างหาก ขณะเดียวกัน ในเรื่องชาติพันธุ์นั้น หลายคนมองว่ายิวกับอาหรับเป็นคนละชาติพันธุ์ คงจะขัดแย้งกันมานานหลายพันปี แต่หารู้ไม่ว่ายิวกับอาหรับคือคนกลุ่มเซมิติก มาจากชาติพันธฺุ์เดียวกัน มีบิดาคนเดียวกันคือ อับราฮัม (Abraham -บุคคลสำคัญทางศาสนา เรื่องราวถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ฮีบรูของศาสนายูดาห์และคัมภีร์ไบเบิล โดยศาสนาอิสลามนับถืออับราฮัมเป็นผู้ส่งสารจากพระเจ้า) 

ฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจใหม่คือ ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นปัญหาอันเกิดมาจากเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ เรื่องเหล่านั้นถูกอ้างเพื่อเป็นเงื่อนไขสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ จริงๆ มันเป็นปัญหาเรื่องการยึดครองดินแดน

หากว่าเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาอ้าง อย่างนั้นแล้วอาจารย์มองว่ามีปัจจัยอะไรที่ยังส่งผลต่อความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันนี้

ประเด็นสำคัญคือเรื่องการอ้างสิทธิเหนือดินแดนปาเลสไตน์ว่าจะเป็นของใคร ขบวนการยิวไซออนิสต์ (Zionism -หมายถึงอุดมการณ์และแนวคิดชาตินิยมในกลุ่มชาวยิว) ซึ่งเติบโตมาจากยุโรปและดีลกับอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในดินแดนปาเลสไตน์ขณะนั้น ขอให้อังกฤษช่วยเหลือแล้วอพยพเข้ามาอาศัยในดินแดนปาเลสไตน์ได้ คนเหล่านี้ก็อ้างว่าดินแดนตรงนี้คือดินแดนแห่งพันธสัญญา และอ้างว่าพระผู้เป็นเจ้าได้มอบดินแดนส่วนนี้ให้แก่พวกเขาผ่านพระคัมภีร์ตั้งแต่หลายพันปีก่อนโน้นแล้ว นี่คือการเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือ และบอกว่านี่คือดินแดนที่พระเจ้ามอบให้แก่พวกเราแล้ว 

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจอาจไม่ได้เกี่ยวข้องมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ ดินแดนปาเลสไตน์เป็นดินแดนที่ไม่ค่อยมีทรัพยากรมากนัก ค่อนข้างแห้งแล้ง อาจจะทำการเกษตรได้บ้างแต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญทางเศรษฐกิจขนาดนั้น ไม่ได้มีแหล่งพลังงานหรือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ ถ้าอิสราเอลจะเอาดินแดนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทำไมไม่ไปเอากลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแหล่งพลังงานโลก หรือดินแดนอื่นๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์

อย่างนั้นแล้วอะไรทำให้อิสราเอลมุ่งมั่นอยากได้พื้นที่ตรงนี้ขนาดนั้น

เราต้องย้อนกลับไปในอดีต ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดกระแส anti-semite (กระแสต่อต้านชาวยิว) ในยุโรป คนไม่ค่อยชอบชาวยิวนัก และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ขบวนการยิวไซออนิสต์ที่เติบโตที่นั่นก็นึกถึงว่า หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ชาวยิวก็ควรจะมีรัฐเป็นของตัวเอง คำถามคือที่ไหนล่ะที่จะเป็นรัฐของชาวยิวในอนาคต เขาก็เลือกไว้หลายที่ ไม่ใช่ว่าจะพุ่งเป้ามายังปาเลสไตน์ที่เดียว ดินแดนอูกันดาก็เคยเป็นเป้าหมายของการจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมาก่อน แต่ท้ายที่สุด ก็ทำสิ่งเหล่านี้ได้ยากในหลายดินแดน นอกจากดินแดนปาเลสไตน์ เพราะดินแดนปาเลสไตน์มีพื้นฐานรากเหง้าทางศาสนาอยู่ ง่ายต่อขบวนการยิวไซออนิสต์ในยุโรปจะอธิบายให้ชาวโลกเข้าใจว่ามีการเชื่อมโยงกันระหว่างดินแดนตรงนี้ซึ่งเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญากับชาวยิวทั่วโลก 

เรามองได้ไหมว่ารากความขัดแย้งมันมาจาก geopolitics 

รากเดิมที่อิสราเอลเขาเชื่อคือ ดินแดนจากลุ่มแม่น้ำไนล์จนถึงลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรทีสซึ่งใหญ่กว่าอิสราเอลในปัจจุบัน คือดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้อิสราเอล เรื่องนี้ได้รับการเผยแพร่โดยขบวนการยิวไซออนิสต์เพื่อเชิญชวนให้ชาวยิวซึ่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ในโลก อพยพเข้ามาอยู่ และอิสราเอลมีนโยบายขยายดินแดนของตัวเองออกไปเรื่อยๆ (expansionism) ถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญของประเทศอิสราเอล จะพบว่าเขาไม่มีการระบุขอบเขตดินแดนของประเทศอิสราเอลไว้ว่าอยู่ตรงไหน 

ถามว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับ geopolitics หรือไม่ ผมคิดว่าจริงๆ คงไม่ได้เกี่ยวข้องในแง่มุมของประเทศอิสราเอล แต่เกี่ยวกับเรื่องมหาอำนาจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ดินแดนในตะวันออกกลางเป็นดินแดนที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตัวสหรัฐฯ มองว่าดินแดนในตะวันออกกลางมีทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อโลกที่สำคัญ ฉะนั้น สหรัฐฯ จึงให้ความสำคัญต่อดินแดนส่วนนี้มาก แต่ใครล่ะที่จะเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ให้แก่สหรัฐฯ 

สำหรับสหรัฐฯ เขาจึงมองว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่น่าจะเป็นตำรวจให้สหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ และในขณะเดียวกัน ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง อิทธิพลของนายทุนชาวยิวก็แผ่ไปทั่วสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้งยังมีอิทธิพลทางการเมืองด้วย เมื่อมีปัจจัยเช่นนี้ ก็ทำให้อิสราเอลและประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ถูกมองในแง่ของ geopolitics และในแง่การที่มหาอำนาจพยายามขยายอำนาจเข้ามา อย่างน้อยก็ใช้อิสราเอลเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

เรื่องนี้น่าสนใจ โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่สหรัฐฯ แข่งขันกับจีน และตอนหลังจีนก็มีอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลาง สามารถจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบียได้ ตอนหลังสหรัฐฯ ก็แก้เกม พยายามเอาพันธมิตรตัวเองทั้งสองฝ่ายคืออิสราเอลกับซาอุดิอาระเบียมาปรับความสัมพันธ์กัน เพราะระยะหลังทั้งสองประเทศเข้าไปคุยกับจีนและรัสเซียมากขึ้น หนึ่งในวิธีที่สหรัฐฯ จะเอาสองประเทศนี้มาสร้างข้อตกลงสันติภาพ ปรับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอล และหากว่าสองประเทศนี้ปรับความสัมพันธ์กันได้ ก็จะเป็นสองประเทศที่คอยทำงานให้สหรัฐฯ ในยามที่สหรัฐฯ ต้องไปยุ่งวุ่นวายกับสงครามยูเครนและแข่งขันกับรัสเซียและจีน 

ถ้ามองในภาพรวม ความขัดแย้งครั้งนี้สั่นสะเทือนระเบียบโลกอย่างไร

วันนี้เราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน จากโลกที่เป็นขั้วมหาอำนาจเดียวอย่างสหรัฐอเมริกา ไปสู่โลกที่มีหลายขั้วมหาอำนาจ เราเห็นการผงาดขึ้นมาของหลายตัวแสดง ไม่ว่าจะจีน, อินเดีย หรือรัสเซีย ที่พยายามกลับเข้ามาสู่การเป็นมหาอำนาจอีกครั้ง ในสภาวะโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างนี้ จึงเกิดการแข่งขันกันก็ค่อนข้างดุเดือด เพราะมหาอำนาจหนึ่งเดียวอย่างสหรัฐฯ ก็ต้องมีเป้าหมายในการทำให้สหรัฐฯ ดำรงอยู่ในความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวให้ยาวนานที่สุด ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องพยายามโค่นอำนาจของสหรัฐฯ โค่นความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวลงให้ได้ ลักษณะอย่างนี้เราจึงเห็นการแข่งขันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกันในดินแดนที่เกิดความขัดแย้ง 

วันนี้เราเห็นสงครามในยูเครน อันนั้นชัดเจนว่าส่วนหนึ่งคือการแข่งขันกันของมหาอำนาจโลก เพื่อที่จะช่วงชิงการบรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่าย เราเห็นวิกฤตปาเลสไตน์เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แล้วดูเหมือนว่าวิกฤตนี้จะเป็นจุดหนึ่งของ proxy (ตัวแทน) ระหว่างมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ เพราะจากรายงานข่าวหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นว่าอิสราเอลมีพันธมิตร มีผู้สนับสนุนที่ดีอย่างสหรัฐฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิหร่าน แต่ตอนหลังอิหร่านก็ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย เป็นพันธมิตรที่ดีกับจีน อิหร่านก็เป็นฝ่ายที่ให้การสนับสนุนกลุ่มขบวนการฮามาส กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ที่อยู่ในเลบานอน หรือแม้แต่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในซีเรียขณะนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เป็นควันหลงของงครามกลางเมืองซีเรีย ลักษณะอย่างนี้ทำให้ตะวันออกกลางอาจเป็นอีกสนามหนึ่งในการจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากโลกที่เป็นโลกขั้วอำนาจเดียวมาสู่โลกที่มีหลายขั้วมหาอำนาจ 

ควันไฟลุกท่วมบริเวณฉนวนกาซ่า (Photo by MAHMUD HAMS / AFP)

อาจารย์มองว่า worst-case scenario ที่จะเกิดขึ้นคืออะไรบ้าง

คือการขยายวงของความขัดแย้งไปในระดับภูมิภาคหรือในระดับโลก อย่าลืมว่า นอกจาก non-state actors ที่เป็นกลุ่มฮามาสต่อสู้กับอิสราเอลในครั้งนี้ เรายังเห็นกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนที่พร้อมโจมตีอิสราเอล เราเห็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธในซีเรียที่อยู่ใกล้ที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ซึ่งจริงๆ ที่ราบสูงนี้เป็นของซีเรีย แต่ว่าหลังสงครามหกวัน อิสราเอลเข้ายึดครองและขณะนี้ก็ออกกฎหมายผนวกดินแดนที่ราบสูงโกลันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอลไปเรียบร้อยแล้ว 

การเกิดวิกฤตครั้งนี้ หากยืดเยื้อจะทำให้ขบวนการที่เป็น non-state actors รอบๆ อิสราเอลเข้าไปร่วมวง และจะขยายความขัดแย้งออกไป ขณะเดียวกัน อิหร่านเองก็ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าสนับสนุนการจู่โจมของฮามาสในครั้งนี้ 

ฉะนั้น สิ่งที่เป็น worst-case scenario คือสถานการณ์ในดินแดนปาเลสไตน์ จะขยายไปสู่ระดับภูมิภาค และขณะเดียวกัน หากว่าเนทันยาฮูตัดสินใจส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซา ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ในแง่มนุษยธรรมร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น เพราะการเข้าไปในฉนวนกาซ่าซึ่งมีคนแออัด และมีการสู้รบกันอยู่ จะทำให้มีคนเสียชีวิตมหาศาล และภาพเช่นนี้จะถูกกระจายออกไปทั่วโลก ทำให้โลกมุสลิมลุกฮือขึ้นด้วยความเดือดดาล

ฉากทัศน์อีกแบบที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การที่อิสราเอลอาจเข้าไปกาซาโดยใช้ปฏิบัติการแบบจำกัด เป้าหมายคือการทำลายโครงสร้างและศักยภาพของกลุ่มฮามาส เสร็จแล้วก็ถอนตัวออกมาในเวลาที่รวดเร็ว หากเป็นเช่นนี้สงครามที่เกิดขึ้นอาจไม่ยืดเยื้อ และสถานการณ์ก็อาจกลับสู่สภาวะปรกติ แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ก็คงไม่สามารถกลับมาอยู่ในจุดเดิมอีกต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มีโอกาสไหมที่ประเทศมหาอำนาจจะเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงเล่นด้วยหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง

ผมมองว่ามหาอำนาจพยายามยุติปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือจีน หรือรัสเซียก็ตามที เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการไปเปิดศึกอีกด้านนอกจากยูเครน วันนี้สหรัฐฯ, NATO (North Atlantic Treaty Organization -องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และ EU (European Union -สหภาพยุโรป) ก็ให้ความช่วยเหลือและทุ่มสรรพกำลังให้แก่ยูเครน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ปัญหายูเครนก็ชวนปวดหัวอยู่แล้ว จะมาช่วยเหลืออิสราเอลในอีกสมรภูมิหนึ่งได้อย่างไร ขณะที่รัสเซียกับจีนเอง ท่าทีก็ชัดเจนว่าไม่อยากให้สถานการณ์ลุกลาม เพราะรัสเซียกับจีนจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อดินแดนตะวันออกกลางมีเสถียรภาพ เนื่องจากเป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่การไปต่อสู้กับสหรัฐฯ ด้านความมั่นคง แต่เป็นการขยาย soft power การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจการค้าและสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ กับภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยสรุปคือคือจีนกับรัสเซียคงไม่ต้องการเห็นตะวันออกกลางที่ไร้เสถียรภาพ

ดังนั้น หากมองอย่างมีเหตุมีผลในภาพรวม ผมคิดว่ามหาอำนาจไม่ต้องการเห็นความยืดเยื้อในวิกฤตการณ์ปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ความขัดแย้งนี้จะขยายในระดับภูมิภาคหรือไม่ เพราะมีตัวแสดงกลุ่มติดอาวุธหลากหลายที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล และอิสราเอลก็ต้องต่อสู้กับกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งอิสราเอลไม่ค่อยมีประสบการณ์เท่าไหร่ อิสราเอลเคยแต่ต่อสู้แบบสงครามตามรูปแบบ (Conventional War) กับรัฐ ไม่เคยทำสงครามที่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ หรือเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งไม่มีศักยภาพด้านการทหาร แต่เขาสามารถโจมตีเข้าไปทำร้ายประชาชนหรือทำลายผลประโยชน์ของอิสราเอลได้ตลอดเวลา รวมทั้งต่อสู้กับทหารภาคพื้นดินและลอบโจมตีได้ ทำให้อิสราเอลมีปัญหาหนัก และวิธีการตอบโต้ของอิสราเอลก็จะรุนแรงมากขึ้น และเมื่อรุนแรงมากขึ้นก็จะกระทบกับประเทศอาหรับหลายประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอิสราเอล 

กล่าวสำหรับประเทศไทยเอง อาจารย์มองว่าเรามีปัจจัยอะไรเร่งด่วนสุดและเราควรตั้งหลักเรื่องนี้ยังไง กรณีมีการประณามฮามาสในฐานะที่ก่อความรุนแรงและสังหารผู้บริสุทธิ์ เราทำได้ไหม

ถ้าจะประณามอย่างนั้น ก็ต้องประณามทั้งสองฝ่าย เพราะที่ผ่านมา การที่อิสราเอลเข้าไปโจมตีฉนวนกาซา ก็มีคนตายหลายพันคน มากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้หลายเท่า และในเมื่อเราต้องการประณามฮามาส เราก็ควรประณามการปิดล้อมและการปฏิบัติการทางการทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซามานานกว่า 16 ปีด้วย

ท่าทีของไทยต่อประเด็นปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นสำคัญมาก ท่าทีของเราเชื่อมโยงกับความปลอดภัยของคนไทยที่อยู่ที่นั่น การแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ดีต่อผลประโยชน์ของไทยในภาพรวม ซึ่งจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างเรากับกลุ่มตะวันออกกลางและอิสราเอล ตลอดจนผลกระทบในแง่เศรษฐกิจ แรงงาน และอื่น ๆ

ฉะนั้น ทางที่ดีคือเราไม่ควรประณามฝ่ายไหน ประชาคมโลกทราบดีว่าปัญหาปาเลสไตน์ซับซ้อนอย่างไร ไม่มีใครว่าประเทศไทยถ้าเราไม่ประณาม

ประการต่อมา การที่เรามีจุดยืนอิงอยู่กับหลักการของประชาคมระหว่างประเทศ หลักการในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี สนับสนุนกระบวนการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติภาพ รื้อฟื้นข้อตกลงออสโลกลับมา และอิงอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาแบบทางออกสองรัฐ (Two-state solution) ซึ่งประชาคมโลกก็อิงอยู่กับหลักการนี้แทบทุกประเทศ เพราะเป็นหลักการที่ช่วยแก้ปัญหามากกว่าซ้ำเติมให้เกิดปัญหาเพิ่ม นี่น่าจะเป็นจุดยืนและท่าทีของไทย 

ขณะเดียวกัน ผมคิดว่าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องที่ทำให้ไทยได้รับการชื่นชมจากประชาคมโลก วันนี้เกิดวิกฤตสงคราม เกิดความรุนแรง มีลักษณะยืดเยื้อ และอาจกลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมร้ายแรงขึ้นได้ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่ช่วยเหลือคนไทยเท่านั้น แต่ช่วยเหลือทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน เราก็ควรให้ความสำคัญกับคนไทยที่เป็นแรงงานในอิสราเอลเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนการอพยพ แต่เบื้องต้น ต้องเอาคนที่ตกอยู่ในพื้นที่เสี่ยงในภาคใต้ของอิสราเอล ใกล้ๆ ฉนวนกาซาออกมาก่อน และสร้างที่พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัยในอิสราเอลให้คนไทยเหล่านั้น ก่อนที่เขาจะตัดสินใจว่าจะกลับบ้านหรืออยู่ต่อ 

วันนี้เราเห็นแล้วว่าตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่ไม่มีมั่นคงแน่นอน เกิดวิกฤตการณ์ได้ทุกเมื่อ และหากเราไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีการเตรียมการไว้ จะกลายเป็นว่าคนที่จะได้รับอันตรายคือคนไทยที่นั่น และประเทศไทยก็จะเสียผลประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจ การค้า หรือถ้าเราแสดงท่าทีในลักษณะเอียงข้าง เราก็จะสูญเสียพันธมิตรของเรา เราเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศในโลกมุสลิมแทบทุกประเทศ และเราก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอลด้วย นี่เป็นจุดแข็งของไทย ถ้าเราเล่นดีๆ จะทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเลือกข้าง เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัญหาที่มันเป็นวิกฤตอยู่ในขณะนี้ให้มีความซับซ้อนมากกว่าเดิม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save